วันอาทิตย์ที่ 3 เทศกาลปัสกา

ข่าวดี    ลูกา 24:35-48
(35)ศิษย์ทั้งสองคนจึงเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นตามทางและเล่าว่าตนจำพระองค์ได้เมื่อทรงบิขนมปัง
    (36)ขณะที่บรรดาศิษย์สนทนากันอยู่นั้น พระเยซูเจ้าทรงยืนอยู่ในหมู่เขา ตรัสว่า ‘สันติสุขจงดำรงอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด’  (37)เขาต่างตกใจกลัว คิดว่าได้เห็นผี  (38)แต่พระองค์ตรัสว่า ‘ท่านวุ่นวายใจทำไม เพราะเหตุใดท่านจึงมีความสงสัยในใจ  (39)จงดูมือและเท้าของเราซิ เป็นเราเองจริง ๆ จงคลำตัวเราดูเถิด ผีไม่มีเนื้อ ไม่มีกระดูกอย่างที่ท่านเห็นว่าเรามี’  (40)ตรัสดังนี้แล้ว พระองค์ทรงให้เขาดูพระหัตถ์และพระบาท  (41)เขายินดีและแปลกใจจนไม่อยากเชื่อ พระองค์จึงตรัสกับเขาว่า ‘ท่านมีอะไรกินบ้าง’  (42)เขาถวายปลาย่างชิ้นหนึ่งแด่พระองค์  (43)พระองค์ทรงรับมาเสวยต่อหน้าเขา
    (44)หลังจากนั้นพระองค์ตรัสกับเขาว่า ‘นี่คือความหมายของถ้อยคำที่เรากล่าวไว้ขณะที่ยังอยู่กับท่าน ทุกสิ่งที่เขียนไว้เกี่ยวกับเราในธรรมบัญญัติของโมเสส บรรดาประกาศกและเพลงสดุดีจะต้องเป็นความจริง’ (45) แล้วพระองค์ทรงทำให้เขาเกิดปัญญาเข้าใจพระคัมภีร์ (46) ตรัสว่า ‘มีเขียนไว้ดังนี้ว่า พระคริสตเจ้าจะต้องรับทนทรมานและจะกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตายในวันที่สาม (47) จะต้องประกาศในพระนามของพระองค์ให้นานาชาติกลับใจเพื่อรับอภัยบาปโดยเริ่มจากกรุงเยรูซาเล็ม (48) ท่านทั้งหลายเป็นพยานถึงเรื่องทั้งหมดนี้


    บทอ่านวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของพระวรสารโดยนักบุญลูกาบทสุดท้าย ซึ่งกล่าวถึงพระคูหาว่างเปล่าและคำยืนยันของทูตสวรรค์ว่า พระเยซูเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว (ลก 24:1-8)  การปรากฏพระองค์แก่ศิษย์สองคนที่กำลังเดินทางไปหมู่บ้านเอมมาอุส (ลก 24:13-35)  การสำแดงพระองค์และคำแนะนำสุดท้ายแก่บรรดาอัครสาวกซึ่งเป็นเนื้อหาหลักของพระวรสารวันนี้ (ลก 24:36-49)  และท้ายสุดคือการเสด็จสู่สวรรค์ของพระองค์ (ลก 24:50-53)
    จากเนื้อหาที่ยกมา เราอาจกล่าวได้ว่าประเด็นสำคัญที่สุดที่ลูกาต้องการบอกเราในบทนี้คือ “พระเยซูเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพจริง” !
    ขอย้ำคำว่า “จริง” !
เพราะเริ่มมีบางลัทธิดังเช่น Gnosticism สอนว่า “วิญญาณเป็นสิ่งดี วัตถุเป็นสิ่งชั่ว” โดยไม่มีข้อยกเว้นใด ๆ ทั้งสิ้น
    ผลสรุปที่ตามมาคือ พระเจ้าผู้ทรงเป็นจิตล้วนจะรับเอากายเป็นมนุษย์ไม่ได้ เพราะกายเป็นวัตถุและชั่ว  พระเยซูเจ้าจึงไม่เคยมีร่างกายแบบมนุษย์จริง ๆ  แต่เป็นเพียง “เงา” คล้ายผีที่มีรูปร่างเหมือนมนุษย์เท่านั้น  ดังนั้นเวลาพระองค์เดินจะไม่ปรากฏรอยเท้าบนพื้น
    เมื่อพระองค์ไม่มีร่างกายแบบมนุษย์ พระองค์จึงไม่รู้สึกเจ็บปวดทรมานและไม่ได้สิ้นพระชนม์จริง ๆ
    ในเมื่อพระองค์ไม่ได้สิ้นพระชนม์จริง จะมีการกลับคืนพระชนมชีพได้อย่างไรกัน  หรือหากมีการกลับคืนพระชนมชีพจริง ๆ พระองค์ก็ยังคงเป็นเพียง “วิญญาณ” หรือ “ผี” เท่านั้น
    ผู้ที่นิยมลัทธินี้เชื่อว่าพวกเขากำลังยกย่องให้เกียรติพระเยซูเจ้าอย่างสูงสุด ว่าพระองค์ทรงเป็น “พระเจ้า” ไม่ใช่ “มนุษย์”
แต่จริง ๆ แล้วพวกเขากำลังทำลายพระองค์
    ถ้าพระองค์จะไถ่กู้มนุษย์ พระองค์ต้องเป็นมนุษย์  พระองค์จำเป็นต้องเป็นเหมือนเราเพื่อจะทำให้เราเป็นเหมือนพระองค์ !
    ลูกาจึงต้องยืนยันว่า “พระเยซูเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพจริง”……
    เหตุผลแรกคือ บรรดาสตรีไม่พบพระศพในพระคูหา แต่พบทูตสวรรค์สองคนพูดว่า ‘ทำไมท่านมองหาผู้เป็นในหมู่ผู้ตายเล่า พระองค์มิได้ประทับอยู่ที่นี่ พระองค์ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว จงระลึกถึงพระวาจาที่พระองค์ตรัสกับท่านขณะที่ยังประทับอยู่ในแคว้นกาลิลีว่า บุตรแห่งมนุษย์จำต้องถูกมอบในเงื้อมมือของคนบาป จะต้องถูกตรึงกางเขน และจะกลับคืนพระชนมชีพในวันที่สาม’ (ลก 24:5-7)
    เหตุผลที่สองคือ พระเยซูเจ้าทรงประทับที่โต๊ะอาหารร่วมกับศิษย์สองคนแห่งเอมมาอูส “พระองค์ทรงหยิบขนมปัง ทรงถวายพระพร ทรงบิขนมปังและยื่นให้เขา เขาก็ตาสว่างและจำพระองค์ได้” (ลก 24:30-31)
    เหตุผลที่สามคือสิ่งที่เราได้ฟังในวันนี้  นั่นคือพระองค์ทรงสำแดงพระองค์แก่บรรดาอัครสาวกซึ่งกำลังสนทนากันอยู่ใน “ห้องชั้นบน” ที่เคยใช้เลี้ยงอาหารค่ำครั้งสุดท้าย
    พวกอัครสาวกต่างตกใจกลัวคิดว่าเห็นผี จนพระเยซูเจ้าอดตำหนิไม่ได้ว่า “เพราะเหตุใดท่านจึงมีความสงสัยในใจ” พร้อมกับท้าทายพวกอัครสาวกว่า “จงดูมือและเท้าของเราซิ เป็นเราเองจริง ๆ จงคลำตัวเราดูเถิด ผีไม่มีเนื้อ ไม่มีกระดูกอย่างที่ท่านเห็นว่าเรามี”
แล้วพระองค์ทรงให้เขาดูพระหัตถ์และพระบาทจริง ๆ
เท่านั้นยังไม่พอ พระองค์ทรงรับปลาย่างชิ้นหนึ่งมาเสวยต่อหน้าพวกเขาอีกด้วย !
ทั้งหมดนี้แปลเป็นอื่นไปไม่ได้เลยนอกจากว่า พระคริสตเจ้าผู้กลับคืนพระชนมชีพไม่ใช่ผี ไม่ใช่วิญญาณ และไม่ใช่เงา แต่เป็นพระเยซูเจ้าองค์เดียวกับที่ได้สิ้นพระชนม์จริง
เพราะฉะนั้น คริสตศาสนาจึงมิได้มีพื้นฐานอยู่บนความเพ้อฝัน หรือจิตใจที่ฟั่นเฟือนของสาวกบางคน  แต่มีพื้นฐานอยู่บนบุคคลจริงในประวัติศาสตร์ที่ได้เผชิญหน้ากับความตาย ได้ต่อสู้และมีชัยชนะเหนือความตาย และได้กลับคืนพระชนมชีพจริง !
    มาถึงตรงนี้ บางคนอาจนึกตำหนิพวกอัครสาวกที่โลเล เชื่อช้า หลงคิดว่าพระองค์เป็นผี
    จริงอยู่ เราอาจตำหนิคนที่ “เชื่อช้า” ได้  แต่สำหรับเราที่ “เชื่อแล้ว” จำเป็นต้องหันกลับมาทบทวน “คุณภาพ” ความเชื่อของเราด้วย
    พวกอัครสาวกแม้จะเชื่อช้า แต่เมื่อเชื่อแล้ว พวกเขาได้ทุ่มเททั้งชีวิตและส่วนใหญ่ได้พลีชีวิตของตนเพื่อยืนยันสิ่งที่พวกเขาเชื่อ
    ส่วนพวกเรา ไม่ต้องถึงขั้นพลีชีพดอก  เอาแค่สละ “อัตตา” หรือ “ตัวกู-ของกู” ให้เหลือน้อยลงหน่อยก็พอแล้ว
    ทำไมความเชื่อของเราจึงไม่มีพลังช่วยให้เราสละตนเอง เพื่อจะได้มีชีวิตใหม่แบบพระคริสตเจ้า ?
    หรือว่าเราเชื่อพระองค์เพราะได้ยินคุณพ่อเจ้าวัดเทศน์ หรือได้ยินครูสอน โดยที่เราไม่เคยออกแรงแสวงหาจนพบพระองค์ และเชื่อด้วยประสบการณ์ของเราเองเลย ?
    ถ้าเป็นเช่นนี้ “เชื่อช้า” แต่ “เชื่อจริง” ไม่ดีกว่าหรือ ?!?
   
นอกจากประเด็นสำคัญเรื่องการกลับคืนพระชนมชีพซึ่งเป็นของจริงแล้ว พระวรสารวันนี้ยังชี้ให้เห็น “ความสำคัญของกางเขน” อีกด้วย
    พระเยซูเจ้าตรัสว่า “ทุกสิ่งที่เขียนไว้เกี่ยวกับเราในธรรมบัญญัติของโมเสส บรรดาประกาศก และเพลงสดุดีจะต้องเป็นความจริง” นั่นคือ “พระคริสตเจ้าจะต้องรับทนทรมานและจะกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตายในวันที่สาม”
    ธรรมบัญญัติของโมเสสหนึ่ง คำสอนของประกาศกอีกหนึ่ง และข้อเขียนดังเช่นเพลงสดุดีอีกหนึ่ง  ทั้งสามส่วนรวมกันคือเนื้อหาของพระธรรมเก่า ซึ่งในขณะนั้นคือพระคัมภีร์ทั้งหมด
แปลว่า “พระคัมภีร์ทั้งหมด” ล้วนกล่าวถึงและตั้งตาคอย “กางเขน”
    แม้พระเยซูเจ้าเองเมื่อทรงตรัสว่า “นี่คือความหมายของถ้อยคำที่เรากล่าวไว้ขณะที่ยังอยู่กับท่าน” ย่อมแสดงว่าพระองค์ทรงสอนและทรงรอคอยเวลาแห่ง “กางเขน” ด้วยเช่นกัน
    เพราะฉะนั้น “กางเขน” จึงเป็นสิ่งที่รวมอยู่ในแผนการแห่งความรอดของพระเจ้าตั้งแต่เริ่มแรก และเป็นเครื่องหมายถึง “ความรักนิรันดร” ของพระองค์  หาใช่เกิดจากการจนมุมหรือเกิดจากความผิดพลาดทางเทคนิคของพระเยซูเจ้าแต่ประการใดไม่
    เมื่อกางเขนมีความสำคัญในแผนการแห่งความรอดเช่นนี้ พระเยซูเจ้าจึงกำหนดเงื่อนไขในการติดตามพระองค์ไว้ว่า “ถ้าผู้ใดอยากติดตามเราก็จงเลิกนึกถึงตนเอง จงแบกไม้กางเขนของตนทุกวัน และติดตามเรา” (ลก 9:23)
   
ประเด็นสุดท้ายที่พระวรสารวันนี้ต้องการบอกเราคือ “ภารกิจในการประกาศข่าวดีเป็นเรื่องจำเป็นและเร่งด่วน”
    ในเมื่อพระเยซูเจ้าทรง “พิชิตความตายและบาป” ได้แล้ว  เราจะมัวอ้อยอิ่งอยู่ใน “ห้องชั้นบน” ที่ใช้จัดงานเลี้ยงไม่ได้
    พระองค์ทรงกำชับบรรดาอัครสาวกและเราทุกคนว่า “จะต้องประกาศในพระนามของพระองค์ ให้นานาชาติกลับใจเพื่อรับอภัยบาป”
    ความโศกเศร้าอันเนื่องมาจากการสิ้นพระชนม์ของพระองค์จะต้องผ่านพ้นไป  บัดนี้เป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่จะนำ “ความยินดี” ไปสู่มนุษย์ทุกคน
    ความยินดีอันเกิดจาก “การกลับใจ” และได้รับ “การอภัยบาป”
    หรือว่าตัวเราเองยังคงจมอยู่ในความโศกเศร้า ?!