อาทิตย์ที่ 3 เทศกาลมหาพรต

ข่าวดี    ยอห์น 4:5-42
(5)พระองค์เสด็จมาถึงเมืองหนึ่งในแคว้นสะมาเรียชื่อสิคาร์ ใกล้ที่ดินที่ยาโคบยกให้โยเซฟบุตรชาย  (6)ที่นั่นมีบ่อน้ำของยาโคบ พระเยซูเจ้าทรงเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทาง จึงประทับที่ขอบบ่อ ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณเที่ยงวัน  (7)หญิงชาวสะมาเรียคนหนึ่งมาตักน้ำ พระเยซูเจ้าตรัสแก่นางว่า “ขอน้ำดื่มสักหน่อยเถิด” (8) บรรดาศิษย์ของพระองค์ไปซื้ออาหารในเมือง (9) หญิงชาวสะมาเรียทูลพระองค์ว่า “ท่านเป็นชาวยิว ทำไมจึงขอน้ำดื่มจากดิฉันซึ่งเป็นชาวสะมาเรียเล่า” เพราะชาวยิวไม่ติดต่อกับชาวสะมาเรียเลย (10) พระเยซูเจ้าตรัสตอบนางว่า
“หากท่านรู้จักของประทานของพระเจ้า และรู้จักผู้ที่บอกท่านว่า “ขอน้ำดื่มสักหน่อยเถิด” ท่านคงกลับเป็นผู้ขอ และผู้นั้นจะให้ “น้ำที่ให้ชีวิต” แก่ท่าน (11) นางจึงทูลว่า “นายเจ้าข้า ท่านไม่มีถังตักน้ำ และบ่อก็ลึกมาก ท่านจะเอาน้ำที่ให้ชีวิต มาจากไหน (12) ท่านยิ่งใหญ่กว่ายาโคบ บรรพบุรุษของเราหรือ ยาโคบให้บ่อน้ำนี้แก่เรา ยาโคบลูกหลานและฝูงสัตว์ก็ได้ดื่มน้ำจากบ่อนี้” (13) พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “ทุกคนที่ดื่มน้ำนี้จะกระหายอีก (14) แต่ผู้ที่ดื่มน้ำซึ่งเราจะให้นั้น
จะไม่กระหายอีก น้ำที่เราจะให้เขาจะกลายเป็นธารน้ำในตัวเขา ไหลรินเพื่อชีวิตนิรันดร”(15)หญิงนั้นจึงทูลว่า “นายเจ้าขา โปรดให้น้ำนั้นแก่ดิฉันบ้าง เพื่อดิฉันจะไม่ต้องกระหายหรือต้องมาตักน้ำที่นี่อีก” (16) พระเยซูเจ้าตรัสแก่นางว่า “จงไปเรียกสามีของเธอ และกลับมาที่นี่”  (17)หญิงผู้นั้นทูลตอบว่า “ดิฉันไม่มีสามี” พระเยซูเจ้าตรัสแก่นางว่า “เธอพูดถูกแล้วที่ว่า “ดิฉันไม่มีสามี”  (18)เพราะเธอมีสามีมาแล้วถึงห้าคน และคนที่อยู่กับเธอเวลานี้ ก็ไม่ใช่สามีของเธอด้วย เธอพูดจริงทีเดียว”  (19)หญิงผู้นั้นจึงทูลว่า “ดิฉันเห็นแล้วว่าท่านเป็นประกาศก (20) บรรพบุรุษของเราเคยนมัสการพระเจ้าบนภูเขานี้แต่ท่านพูดว่า สถานที่สำหรับนมัสการพระเจ้าคือกรุงเยรูซาเล็ม”  (21)พระเยซูเจ้าตรัสแก่นางว่า “นางเอ๋ย เชื่อเราเถิด ถึงเวลาแล้วที่ท่านทั้งหลายจะนมัสการพระบิดาเจ้าไม่ใช่เฉพาะบนภูเขานี้ หรือที่กรุงเยรูซาเล็ม (22)ท่านนมัสการพระเจ้าที่ท่านไม่รู้จัก แต่เรานมัสการพระเจ้าที่เรารู้จัก เพราะความรอดพ้นมาจากชาวยิว (23) แต่จะถึงเวลาคือเวลานี้ เมื่อผู้นมัสการแท้จริงจะนมัสการพระบิดาเจ้าเดชะพระจิตเจ้า และตามความจริง เพราะพระบิดาทรงแสวงหาผู้นมัสการพระองค์เช่นนี้ (24)พระเจ้าทรงเป็นจิต ผู้ที่นมัสการพระองค์ จะต้องนมัสการเดชะพระจิตเจ้า และตามความจริง” (25)หญิงผู้นั้นจึงทูลว่า “ดิฉันรู้ว่า พระเมสสิยาห์คือพระคริสต์กำลังจะเสด็จมา และเมื่อเสด็จมา พระองค์จะทรงแจ้งทุกเรื่องให้เรารู้”  (26)พระเยซูเจ้าตรัสว่า “เราที่กำลังพูดอยู่กับเธอคือพระเมสสิยาห์” (27)ขณะนั้น บรรดาศิษย์มาถึง รู้สึกประหลาดใจที่พระองค์ทรงสนทนาอยู่กับหญิงผู้นั้น แต่ไม่มีใครทูลถามว่า “พระองค์ทรงต้องการสิ่งใดจากนาง” หรือว่า “พระองค์กำลังตรัสอะไรกับนาง” (28) หญิงผู้นั้นทิ้งไหน้ำของนางไว้ที่นั่น กลับเข้าไปในเมือง และบอกประชาชนว่า  (29) “มาเถิด มาดูชายคนหนึ่งที่บอกทุกอย่างที่ดิฉันเคยทำ เขาเป็นพระคริสต์กระมัง”  (30)ประชาชนจึงออกจากเมืองมาเฝ้าพระองค์ (31)ระหว่างนั้น บรรดาศิษย์ทูลรบเร้าพระองค์ว่า “รับบี เชิญรับประทานอาหารบ้างเถิด”  (32)แต่พระองค์ตรัสตอบว่า “เรามีอาหารอื่นที่ท่านทั้งหลายไม่รู้จัก”  (33)บรรดาศิษย์จึงถามกันว่า “มีใครนำสิ่งใดมาให้พระองค์รับประทานหรือ”  (34)พระเยซูเจ้าจึงตรัสกับเขาว่า
“อาหารของเราคือการทำตามพระประสงค์ของพระผู้ทรงส่งเรามา และการประกอบภารกิจของพระองค์ให้สำเร็จลุล่วงไป (35) ท่านพูดกันมิใช่หรือ อีกสี่เดือนก็จะถึงเวลาเก็บเกี่ยว ถูกแล้ว เราบอกท่านทั้งหลายว่า จงเงยหน้าขึ้น มองดูทุ่งนาเถิด ทุ่งนาเหลืองอร่ามพร้อมจะเก็บเกี่ยวได้แล้ว
(36)คนเก็บเกี่ยวกำลังจะรับค่าจ้างและรวบรวมผลไว้เพื่อชีวิตนิรันดร เพื่อทั้งคนหว่านและคนเก็บเกี่ยวจะมีความยินดีร่วมกัน (37)ในกรณีนี้ก็เป็นจริงตามคำพูดที่ว่า คนหนึ่งหว่าน อีกคนหนึ่งเก็บเกี่ยว (38)เราส่งท่านทั้งหลายไปเก็บเกี่ยวสิ่งที่ท่านไม่ได้ลงแรงทำงานไว้ คนอื่นลงแรงไว้แล้วท่านเข้ามาเก็บผลจากแรงงานของพวกเขา” (39) ชาวสะมาเรียหลายคนจากเมืองนั้นมีความเชื่อในพระองค์ เพราะคำของหญิงคนนั้นที่ยืนยันว่า “เขาได้บอกทุกสิ่งที่ดิฉันเคยทำ” (40) เมื่อชาวสะมาเรียมาเฝ้าพระองค์แล้ว ก็วอนขอให้ประทับอยู่กับเขา พระองค์ประทับอยู่ที่นั่นสองวัน (41) คนที่มีความเชื่อเพราะพระวาจาของพระองค์มีจำนวนมากขึ้น (42) เขากล่าวแก่หญิงผู้นั้นว่า “เรามีความเชื่อไม่ใช่เพราะคำพูดของท่านอีกแล้ว เราเองได้ยินและรู้ว่า พระองค์เป็นพระผู้ไถ่ของโลกโดยแท้จริง”


    เนื่องจากพระวรสารเรื่องนี้ยาวและมีรายละเอียดมาก จึงขอแยกอธิบายเป็นตอน ๆ ดังนี้

1. ทรงขจัดอุปสรรคขวางกั้น
 (5)พระองค์เสด็จมาถึงเมืองหนึ่งในแคว้นสะมาเรียชื่อสิคาร์ ใกล้ที่ดินที่ยาโคบยกให้โยเซฟบุตรชาย  (6)ที่นั่นมีบ่อน้ำของยาโคบ พระเยซูเจ้าทรงเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทาง จึงประทับที่ขอบบ่อ ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณเที่ยงวัน  (7)หญิงชาวสะมาเรียคนหนึ่งมาตักน้ำ พระเยซูเจ้าตรัสแก่นางว่า “ขอน้ำดื่มสักหน่อยเถิด”  (8)บรรดาศิษย์ของพระองค์ไปซื้ออาหารในเมือง  (9)หญิงชาวสะมาเรียทูลพระองค์ว่า “ท่านเป็นชาวยิว ทำไมจึงขอน้ำดื่มจากดิฉันซึ่งเป็นชาวสะมาเรียเล่า” เพราะชาวยิวไม่ติดต่อกับชาวสะมาเรียเลย

แผ่นดินปาเลสไตน์ในสมัยพระเยซูเจ้า มีความยาวจากเหนือจรดใต้ประมาณ 190 กิโลเมตร  แบ่งออกเป็น 3 แคว้นใหญ่  ทางเหนือสุดคือแคว้นกาลิลี ตอนกลางคือแคว้นสะมาเรีย และใต้สุดคือแคว้นยูเดีย
จากยูเดียขึ้นไปกาลิลี หากใช้เส้นทางสั้นที่สุดคือผ่านสะมาเรียจะใช้เวลาเดินทางเพียงสามวัน  แต่ชาวยิวมีความขัดแย้งฝังรากลึกกับชาวสะมะเรียมายาวนานจึงพยายามหลีกเลี่ยงเส้นทางดังกล่าวด้วยการข้ามไปเดินทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน เมื่อขึ้นเหนือจนพ้นเขตแดนของสะมาเรียแล้วจึงข้ามแม่น้ำกลับมาฝั่งตะวันตกเข้าสู่กาลิลี ซึ่งจะใช้เวลาเพิ่มขึ้นเท่าตัว
สาเหตุของความขัดแย้งพอลำดับได้ดังนี้
    ปี 720 ก.ค.ศ. อาณาจักรทางเหนือคือสะมาเรียถูกรุกราน “กษัตริย์แห่งอัสซีเรียทรงยกทัพมารุกรานแผ่นดินทั้งหมด เสด็จมาถึงกรุงสะมาเรียและทรงล้อมเมืองเป็นเวลาสามปี  ปีที่เก้าในรัชกาลกษัตริย์โฮเชยา กษัตริย์แห่งอัสซีเรียทรงยึดกรุงสะมาเรียได้ ทรงกวาดต้อนชาวอิสราเอลไปเป็นเชลยที่อัสซีเรีย ให้ตั้งหลักแหล่ง บ้างอยู่ที่เมืองฮาลาห์ บ้างอยู่ที่แม่น้ำฮาโบร์ในแคว้นโกซาน บ้างอยู่ตามเมืองต่าง ๆ ของชาวมีเดีย” (2 พกษ 17:5-6)
    นอกจากกวาดต้อนชาวยิวออกไปแล้ว “กษัตริย์แห่งอัสซีเรียทรงนำผู้คนจากบาบิโลน คูธาห์ อัฟวา ฮามัท และเสฟารวาอิมเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองต่าง ๆ ในแคว้นสะมาเรียแทนที่ชาวอิสราเอล” (2 พกษ 17:24)
ชาวยิวที่รอดพ้นจากการถูกกวาดต้อนไปต่างแดน เริ่มแต่งงานกับคนต่างชาติที่อพยพเข้ามาใหม่จนสูญเสียความเป็นยิวซึ่งเป็นความผิดหนักและน่าอดสูอย่างยิ่ง  แม้ทุกวันนี้ ชาวยิวที่เคร่งครัดยังจัดงานศพให้บุตรหลานที่แต่งงานกับคนต่างชาติต่างศาสนาเพราะถือว่าเขาตายจากความเป็นยิวไปแล้ว
ต่อมาอีกร้อยปีเศษ ประมาณ 600 ปี ก.ค.ศ. อาณาจักรทางใต้คือยูเดียก็ถูกชาวบาบิโลนตีแตกเช่นกัน  ชาวยิวถูกกวาดต้อนไปกรุงบาบิโลนแต่ยังสามารถรักษาความเป็น “ยิว” ไว้ได้อย่างเคร่งครัด
ในสมัยของประกาศกเอสราและเนหะมีย์ กษัตริย์เปอร์เซียได้ปล่อยชาวยิวในกรุงบาบิโลนกลับปาเลสไตน์  ภารกิจศักดิ์สิทธิ์และเร่งด่วนที่สุดของพวกเขาคือ สร้างพระวิหารใหม่
ชาวสะมาเรียเสนอตัวช่วยสร้างพระวิหารแต่ถูกปฏิเสธ ซ้ำร้ายยังถูกดูหมิ่นว่าไม่ใช่ยิวแท้จึงหมดสิทธิในพระอาณาจักรของพระเจ้า และไม่มีสิทธิร่วมสร้างพระวิหารถวายแด่พระองค์
จุดเริ่มต้นของความร้าวฉานนี้เกิดขึ้นราว 450 ปีก่อนพระเยซูเจ้า
ต่อมามีชาวยิวผู้ละทิ้งศาสนาคนหนึ่งชื่อมนัสเสห์ เขาเป็น “บุตรชายคนหนึ่งของเยโฮยาดา ผู้เป็นบุตรเอลียาชีบปุโรหิตใหญ่” ได้แต่งงานกับบุตรสาวของสันบาลลัท ชาวโฮโรนาอิม (นหม 13:28) แล้วไปอาศัยอยู่ในสะมาเรีย  มนัสเสห์ได้สร้างวิหารถวายแด่พระเจ้าบนภูเขาเกรีซิมซึ่งตั้งอยู่กึ่งกลางแคว้นเพื่อแข่งกับวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม
ราวปี 129 ก.ค.ศ. ในสมัยของมัคคาบี แม่ทัพชาวยิวชื่อ ยอห์น ฮีร์กานุส ได้ยกทัพตีสะมาเรียและทำลายวิหารบนภูเขาเกรีซิมจนราบคาบ  จากความร้าวฉานที่ก่อตัวขึ้นในปี 450 ก.ค.ศ. ได้พัฒนาจนกลายเป็น ความเกลียดชังฝังกระดูก ในที่สุด
ชาวยิวเรียกชาวสะมาเรียแบบดูหมิ่นเหยียดหยามว่า “ชาวคูเธียน” ซึ่งเป็นชนชาติหนึ่งที่กษัตริย์อัสซีเรียกวาดต้อนมาอยู่ในสะมาเรีย พร้อมกำชับทุกคนมิให้กินขนมปังของชาวคูเธียนมิฉะนั้นจะมีความผิดเหมือนกินเนื้อหมู
ชาวสะมาเรียก็ชอบกลั่นแกล้งและหน่วงเหนี่ยวชาวยิวมิให้เดินทางไปกรุงเยรูซาเล็ม แต่ให้หันไปนมัสการพระเจ้าบนภูเขาเกรีซิมแทน
นี่คือเหตุผลว่าทำไมหญิงชาวสะมาเรียจึงถามพระเยซูเจ้าว่า “ท่านเป็นชาวยิว ทำไมจึงขอน้ำดื่มจากดิฉันซึ่งเป็นชาวสะมาเรียเล่า” (ยน 4:9)
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเวลาเที่ยงวันซึ่งอากาศร้อนที่สุด (ยน 4:6)
    “พระเยซูเจ้าทรงเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทาง จึงประทับที่ขอบบ่อ” (ยน 4:6) บ่อน้ำของยาโคบอยู่ห่างจากเมืองสิคาร์ประมาณหนึ่งกิโลเมตร  ลึกประมาณ 30 เมตร ไม่ใช่บ่อน้ำพุ แต่เป็นบ่อน้ำที่ซึมจากใต้ดินแล้วไหลมารวมกัน
    ความจริงในเมืองสิคาร์ก็มีน้ำใช้อย่างอุดมสมบูรณ์ แต่หญิงคนนี้ต้องเดินทางมาตักน้ำถึงบ่อของยาโคบคงเป็นเพราะถูกชาวเมืองรังเกียจและขับไล่เนื่องจากมีสามีหลายคนนั่นเอง
    เมื่อพระองค์ตรัสกับหญิงชาวสะมาเรียว่า “ขอน้ำดื่มสักหน่อยเถิด” (ยน 4:7) แสดงว่าพระองค์ทรงเป็น “มนุษย์แท้” ที่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ร้อน หิว กระหาย และต้องต่อสู้ดิ้นรนเหมือนเราทุกคน
ที่สำคัญ เมื่อพระองค์ซึ่งเป็นชาวยิวทรงขอน้ำดื่มจากชาวสะมาเรีย ย่อมเท่ากับ “ทรงขจัดอุปสรรคด้านเชื้อชาติ” ที่ขวางกั้นชาวยิวและชาวสะมาเรียมิให้ติดต่อคบหากันมานานหลายร้อยปีลง
และที่น่าสังเกตคือ ลำพังผู้หญิงธรรมดา ๆ เมื่อต้องพบกับคนสำคัญระดับรับบี ก็มักจะอาย กลัว และหลบหน้าหนีแล้ว  แต่หญิงคนนี้ไม่ธรรมดา นางผ่านสามีมาแล้วถึง 5 คน เมื่อต้องพบและพูดคุยกับพระเยซูเจ้าซึ่งยิ่งใหญ่กว่ารับบีเสียอีก นางน่าจะอึดอัดเป็นร้อยเท่า
แต่นางกลับเต็มใจคุยกับพระองค์จนกระทั่งบรรดาศิษย์กลับจากซื้ออาหารในเมือง !
คงเข้าใจเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจาก นางค้นพบความอบอุ่นและความเมตตาในตัวพระองค์  พระองค์ทรงเป็นเพื่อน ไม่ใช่คนที่คอยวิพากษ์วิจารณ์หรือประณามคนอื่น
    นอกจากนี้ พวกรับบีที่เคร่งครัดยังวางกฎว่า “ห้ามรับบีพูดคุยกับผู้หญิงในที่สาธารณะ แม้ว่าผู้หญิงคนนั้นจะเป็นภรรยา บุตรสาว หรือน้องสาวของตนเองก็ตาม”  บางคนเคร่งครัดถึงกับปิดตาตนเองเมื่อเห็นผู้หญิงเดินมาตามถนน แล้วตัวเองก็เดินชนกำแพงบ้าง เข้าบ้านคนอื่นบ้าง จนหัวร้างข้างแตกหรือฟกช้ำดำเขียวไปก็มี
หากมีคนเห็นรับบีพูดคุยกับผู้หญิงในที่สาธารณะ ชื่อเสียงของเขาที่สะสมมานานจะหมดสิ้นทันที และความหวังที่จะเข้าพระอาณาจักรของพระเจ้าก็ดับวูบลงด้วย
    แต่พระเยซูเจ้าทรงทำลายอุปสรรคทางเพศที่ขวางกั้นมนุษย์กับพระเจ้าลง  พระองค์ทรงสนทนากับนางในที่สาธารณะอย่างเปิดเผย
พระองค์ทรงทำลายอุปสรรคที่ขวางกั้นระหว่างมนุษย์ด้วยกันเองและมนุษย์กับพระเจ้าลง อาศัยความรัก ความอบอุ่น และความเมตตาอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ !!

2. น้ำที่ให้ชีวิต
(10)พระเยซูเจ้าตรัสตอบนางว่า “หากท่านรู้จักของประทานของพระเจ้า และรู้จักผู้ที่บอกท่านว่า “ขอน้ำดื่มสักหน่อยเถิด” ท่านคงกลับเป็นผู้ขอ และผู้นั้นจะให้ ”น้ำที่ให้ชีวิต” แก่ท่าน (11)นางจึงทูลว่า “นายเจ้าข้า ท่านไม่มีถังตักน้ำ และบ่อก็ลึกมาก ท่านจะเอาน้ำที่ให้ชีวิต มาจากไหน  (12)ท่านยิ่งใหญ่กว่ายาโคบ บรรพบุรุษของเราหรือ ยาโคบให้บ่อน้ำนี้แก่เรา ยาโคบลูกหลานและฝูงสัตว์ก็ได้ดื่มน้ำจากบ่อนี้”  (13)พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “ทุกคนที่ดื่มน้ำนี้จะกระหายอีก (14)แต่ผู้ที่ดื่มน้ำซึ่งเราจะให้นั้นจะไม่กระหายอีก น้ำที่เราจะให้เขา จะกลายเป็นธารน้ำในตัวเขา ไหลรินเพื่อชีวิตนิรันดร” (15)หญิงนั้นจึงทูลว่า “นายเจ้าขา โปรดให้น้ำนั้นแก่ดิฉันบ้าง เพื่อดิฉันจะไม่ต้องกระหายหรือต้องมาตักน้ำที่นี่อีก”

จากการสนทนากับนิโคเดมัสก่อนหน้านี้ (ยน 3:1-21) เราสามารถวิเคราะห์วิธีสอนของพระเยซูเจ้าซึ่งแบ่งออกเป็น 5 ขั้นตอนดังนี้
ขั้นแรก พระเยซูเจ้าพูดนำ “เราบอกความจริงแก่ท่านว่าไม่มีใครเห็นพระอาณาจักรของพระเจ้าถ้าเขาไม่ได้เกิดใหม่” (ยน 3:3)
ขั้นที่สอง ผู้ฟังเข้าใจผิด จึงถามพระองค์ว่า “คนชราแล้วจะเกิดใหม่ได้อย่างไรกัน เขาจะเข้าไปในครรภ์มารดาอีกครั้งหนึ่ง แล้วเกิดใหม่ได้หรือ” (ยน 3:4)
ขั้นที่สาม พระเยซูเจ้าพูดซ้ำพร้อมขยายความเพิ่มเติม “เราบอกความจริงแก่ท่านว่าไม่มีใครเข้าสู่พระอาณาจักรของพระเจ้า ถ้าเขาไม่เกิดจากน้ำและพระจิตเจ้า….” (ยน 3:5)
ขั้นที่สี่ ผู้ฟังยังคงไม่เข้าใจ “เหตุการณ์เช่นนี้จะเป็นไปได้อย่างไร” (ยน 3:9)
ขั้นสุดท้าย พระเยซูเจ้าทรงกระตุ้นให้ผู้ฟังค้นพบความจริงด้วยตัวเขาเอง “ท่านเป็นอาจารย์ของชาวอิสราเอล ท่านไม่รู้เรื่องเหล่านี้หรือ” (ยน 3:10)
พระองค์ทรงใช้วิธีสอนแบบเดียวกันนี้ กับหญิงชาวสะมาเรีย !
ขั้นที่หนึ่ง พระองค์ตรัสว่า “ผู้นั้นจะให้น้ำที่ให้ชีวิต (living water) แก่ท่าน” (ยน 4:10)
ขั้นที่สอง หญิงชาวสะมาเรียเข้าใจคำ “living water” ตามตัวอักษรคือ “น้ำที่ไหลเวียน” ซึ่งดีกว่า “น้ำนิ่ง” ในบ่อที่ยาโคบบรรพบุรุษของนางต้องขุดหามาด้วยความเหนื่อยยาก  นางจึงโกรธและต่อว่าพระองค์ “ท่านใหญ่กว่ายาโคบหรือจึงสามารถให้น้ำที่ไหลเวียนได้  แค่ถังตักน้ำนิ่ง ๆ จากบ่อนี้ยังไม่มีเลย  ยังมีหน้ามาเสนอให้น้ำที่ไหลเวียนแก่ฉันอีก” (เทียบ ยน 4:11-12)
    อันที่จริงพระองค์ตรัสถึงน้ำฝ่ายจิต !
“น้ำ” นอกจากมีความหมายตามตัวอักษรแล้ว ยังมีความหมายทางศาสนาอีกด้วย “น้ำคือสิ่งดับความกระหายของดวงวิญญาณที่หิวกระหายหาพระเจ้า”
ในอดีต พระเจ้าทรงสัญญากับประชากรที่ทรงเลือกสรรว่า “ท่านจะตักน้ำจากบ่อแห่งความรอดด้วยความยินดี” (อสย 12:3)  “เพราะเราจะเทน้ำลงบนดินที่แตกระแหง ให้มีธารน้ำบนพื้นดินที่แห้งผาก เราจะเทวิญญาณของเราลงเหนือวงศ์วานของเจ้า” (อสย 44:3)
“ประชากรของเราทำบาปถึงสองสถานคือ พวกเขาได้ละทิ้งเราผู้เป็นธารน้ำซึ่งให้ชีวิต และได้สร้างบ่อน้ำรั่วซึ่งเก็บน้ำไว้ไม่อยู่ให้ตนเอง” (ยรม 2:13)
“ในวันนั้น จะมีน้ำพุพลุ่งขึ้นมาสำหรับพงศ์พันธุ์ของดาวิดและชาวเยรูซาเล็ม เพื่อชำระเขาทั้งปวงจากบาปและมลทินของเขา” (ศคย 13:1)
    คำสอนของประกาศกเรื่อง “น้ำที่ให้ชีวิต” ดังที่ยกตัวอย่างมานี้ เป็นสิ่งที่ชาวยิวคุ้นเคยเป็นอย่างดี แต่ชาวสะมาเรียไม่เข้าใจเลย
ขั้นที่สาม พระองค์ทรงขยายความให้ชัดเจนขึ้น “ทุกคนที่ดื่มน้ำนี้จะกระหายอีก แต่ผู้ที่ดื่มน้ำซึ่งเราจะให้นั้นจะไม่กระหายอีก  น้ำที่เราจะให้เขา จะกลายเป็นธารน้ำในตัวเขา ไหลรินเพื่อชีวิตนิรันดร” (ยน 4:13-14)
ประกาศกอิสยาห์ทำนายถึงยุคของพระเมสสิยาห์ไว้ว่า “เขาจะไม่หิวหรือกระหายอีกต่อไป” (อสย 49:10)
เพราะฉะนั้น เมื่อตรัสถึง “น้ำที่ดื่มแล้วไม่กระหายอีก” พระเยซูเจ้ากำลังเผยแสดงแก่นางว่าพระองค์เองทรงเป็น “พระเมสสิยาห์” ผู้สามารถ “ดับกระหาย” ให้แก่ความต้องการลึก ๆ ในจิตใจของนางและของเราทุกคนได้
ขั้นที่สี่  หญิงชาวสะมาเรียยังไม่เข้าใจ จึงพูดเชิงล้อเลียนพระองค์ว่า “นายเจ้าขา โปรดให้น้ำนั้นแก่ดิฉันบ้าง เพื่อดิฉันจะไม่กระหายและไม่ต้องเดินเมื่อยตุ้มมาตักน้ำที่นี่อีก” (ยน 4:15)
พระองค์จึงต้องดำเนินการขึ้นที่ห้า คือกระตุ้นให้นางค้นพบความจริงด้วยการจี้ใจดำนางว่า “จงไปเรียกสามีของเธอ และกลับมาที่นี่” (ยน 4:16)

3. เผชิญหน้ากับความจริง
(16)พระเยซูเจ้าตรัสแก่นางว่า “จงไปเรียกสามีของเธอ และกลับมาที่นี่”  (17)หญิงผู้นั้นทูลตอบว่า “ดิฉันไม่มีสามี” พระเยซูเจ้าตรัสแก่นางว่า “เธอพูดถูกแล้วที่ว่า “ดิฉันไม่มีสามี”  (18)เพราะเธอมีสามีมาแล้วถึงห้าคน และคนที่อยู่กับเธอเวลานี้ ก็ไม่ใช่สามีของเธอด้วย เธอพูดจริงทีเดียว”  (19)หญิงผู้นั้นจึงทูลว่า “ดิฉันเห็นแล้วว่าท่านเป็นประกาศก  (20)บรรพบุรุษของเราเคยนมัสการพระเจ้าบนภูเขานี้แต่ท่านพูดว่า สถานที่สำหรับนมัสการพระเจ้าคือกรุงเยรูซาเล็ม”  (21)พระเยซูเจ้าตรัสแก่นางว่า “นางเอ๋ย เชื่อเราเถิด ถึงเวลาแล้วที่ท่านทั้งหลายจะนมัสการพระบิดาเจ้า ไม่ใช่เฉพาะบนภูเขานี้ หรือที่กรุงเยรูซาเล็ม

ขั้นที่ห้า ด้วยคำพูดที่เสียดแทง พระเยซูเจ้าทรงกระตุ้นความรู้สึกของหญิงชาวสะมาเรียให้หันกลับมาดูตัวเอง  พระองค์ตรัสแก่นางว่า “เธอพูดถูกแล้วที่ว่า ‘ดิฉันไม่มีสามี’ เพราะเธอมีสามีมาแล้วถึงห้าคน และคนที่อยู่กับเธอเวลานี้ ก็ไม่ใช่สามีของเธอด้วย เธอพูดจริงทีเดียว” (ยน 4:17-18)
จะเห็นว่า ไม่มีใครรู้จักตัวเองจริง ๆ จนกว่าจะอยู่ต่อหน้าพระเยซูเจ้า !
เมื่อหญิงชาวสะมาเรียค้นพบตัวตนที่แท้จริง นางตระหนักทันทีว่า “ต้องการพระเจ้า” และปรารถนาจะ “คืนดี” กับพระองค์
หนทางคืนดีกับพระเจ้าคือ “ถวายเครื่องบูชาที่พระวิหาร” แต่ปัญหาคือพระวิหารใด ที่ภูเขาเกรีซิมหรือที่กรุงเยรูซาเล็ม? นางจึงทูลถามพระเยซูเจ้าว่า “บรรพบุรุษของเราเคยนมัสการพระเจ้าบนภูเขานี้ แต่ท่านพูดว่าสถานที่สำหรับนมัสการพระเจ้าคือกรุงเยรูซาเล็ม” (ยน 4:20)
ที่ผ่านมา ชาวสะมาเรียพยายามบิดเบือนประวัติศาสตร์เพื่อเน้นบทบาทและความสำคัญของภูเขาเกรีซิม  เช่นอ้างว่าเป็นภูเขาที่อับราฮัมถวายอิสอัคเป็นเครื่องบูชาแด่พระเจ้า เมลคีเซเดกปรากฏกายมาพบอับราฮัมก็บนภูเขานี้  และเมื่อชาวอิสราเอลจะเข้าสู่แผ่นดินแห่งพระสัญญา พวกเขาก็อ้างว่าโมเสสได้ขึ้นมาถวายเครื่องบูชาแด่พระเจ้าบนภูเขาเกรีซิม ทั้งที่จริง ๆ แล้วเป็นภูเขาเอบาล (ฉธบ 27:4)
ความคิดของหญิงนางนี้คือ “ดิฉันเป็นคนบาป ดิฉันต้องถวายเครื่องบูชาแด่พระเจ้าเพื่อคืนดีกับพระองค์ แต่ดิฉันจะหาพระเจ้าได้ที่ไหน ?”
คำตอบของพระเยซูเจ้าคือ “ถึงเวลาแล้วที่ท่านทั้งหลายจะนมัสการพระบิดาเจ้า ไม่ใช่เฉพาะบนภูเขานี้ หรือที่กรุงเยรูซาเล็ม” (ยน 4:21)
ความหมายของพระองค์ชัดเจนคือ หมดยุคของการนมัสการพระเจ้าในสถานที่ที่น้ำมือของมนุษย์แข่งขันกันสร้างขึ้นมาแล้ว
สมดังคำทำนายของบรรดาประกาศกที่ว่ามนุษย์ “จะนมัสการพระองค์ในดินแดนของตน” (ศฟย 2:11) และ “เขาจะถวายเครื่องหอมและของถวายบริสุทธิ์แด่นามของเราทุกแห่งหน” (มลค 1:11)
    ถึงเวลาแล้วที่เราจะนมัสการพระเจ้าได้ทุกหนทุกแห่ง !!

4. การนมัสการพระเจ้าที่แท้จริง
(22)ท่านนมัสการพระเจ้าที่ท่านไม่รู้จัก แต่เรานมัสการพระเจ้าที่เรารู้จัก เพราะความรอดพ้นมาจากชาวยิว (23)แต่จะถึงเวลาคือเวลานี้ เมื่อผู้นมัสการแท้จริงจะนมัสการพระบิดาเจ้าเดชะพระจิตเจ้า และตามความจริง เพราะพระบิดาทรงแสวงหาผู้นมัสการพระองค์เช่นนี้ (24) พระเจ้าทรงเป็นจิต ผู้ที่นมัสการพระองค์ จะต้องนมัสการเดชะพระจิตเจ้า และตามความจริง”  (25)หญิงผู้นั้นจึงทูลว่า “ดิฉันรู้ว่า พระเมสสิยาห์คือพระคริสต์กำลังจะเสด็จมา และเมื่อเสด็จมา พระองค์จะทรงแจ้งทุกเรื่องให้เรารู้”  (26)พระเยซูเจ้าตรัสว่า “เราที่กำลังพูดอยู่กับเธอคือพระเมสสิยาห์”

ชาวสะมาเรียยอมรับหนังสือพระธรรมเก่าเฉพาะ 5 เล่มแรก (Pentateuch) จึงไม่รู้จักคำสอนและคำตักเตือนอันทรงคุณค่าของบรรดาประกาศก รวมถึงการนมัสการพระเจ้าและความศรัทธาภักดีต่อพระองค์ซึ่งมีอยู่อย่างท่วมท้นในหนังสือเพลงสดุดี
    พระเยซูเจ้าตรัสว่า “ท่านนมัสการพระเจ้าที่ท่านไม่รู้จัก” (ยน 4:22) เพราะประชาชนทั้ง 5 ชาติที่อพยพเข้ามาในสะมาเรีย “ต่างสร้างรูปเคารพของเทพเจ้าของตน” (2 พกษ 17:29)
     นอกจากไม่รู้จักพระเจ้าที่ตนนมัสการแล้ว พวกเขายังไม่รู้จักวิธีนมัสการพระยาห์เวห์อีกด้วย “เมื่อแรกที่คนเหล่านี้มาอาศัยอยู่ที่นั่น เขาไม่ได้นมัสการพระยาห์เวห์ พระองค์จึงทรงส่งสิงโตมากัดบางคนตาย  มีผู้ไปกราบทูลกษัตริย์แห่งอัสซีเรียว่า ‘ประชาชนที่พระองค์ทรงย้ายไปตั้งหลักแหล่งอยู่ตามเมืองต่าง ๆ ในแคว้นสะมาเรียไม่รู้วิธีนมัสการพระเจ้าแห่งแผ่นดินนั้น พระเจ้าองค์นั้นจึงทรงส่งสิงโตมากัดเขาตาย เพราะเขาไม่รู้จักวิธีนมัสการพระเจ้าแห่งแผ่นดินนั้น’  กษัตริย์แห่งอัสซีเรียทรงสั่งว่า ‘จงส่งสมณะคนหนึ่งในบรรดาสมณะที่ท่านทั้งหลายจับมาเป็นเชลย ให้กลับไปอยู่ที่นั่น เขาจะได้สอนคนเหล่านั้นให้รู้จักวิธีนมัสการพระเจ้าแห่งแผ่นดินนั้น’” (2 พกษ 17:25-27)
    เห็นได้ชัดเจนว่าแรงจูงใจที่ทำให้ชาวสะมาเรียหันมานมัสการพระยาห์เวห์นั้น ไม่ใช่เพราะพวกเขา “รู้จักและรัก” พระองค์ แต่เพราะพวกเขา “กลัว” พระองค์จะส่งสิงโตมากัดอีก
ถึงตรงนี้ เราอาจสรุปสาเหตุอันอาจทำให้การนมัสการพระเจ้าเบี่ยงเบนไปได้ดังนี้
1.     การเลือกปฏิบัติ  เช่นอ้างพระคัมภีร์เฉพาะตอนที่ถูกใจแล้วละเลยส่วนอื่น ดังที่ชาวสะมาเรียเลือกรับเฉพาะหนังสือปัญจบรรพแล้วละเลยเล่มอื่น ๆ
     จริงอยู่ไม่มีผู้ใดสามารถรู้ความจริงทั้งหมด แต่อย่างน้อยเราต้องพยายามมุ่งสู่ความจริงทั้งครบ ไม่ใช่ความจริงเป็นเสี้ยว ๆ ดังที่บางคนอ้างว่า “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” เป็นคำสอนของพระเยซูเจ้า ทั้ง ๆ ที่ความจริงทั้งครบคือ “ท่านเคยได้ยินเขากล่าวว่า ‘ตาต่อตา ฟันต่อฟัน’  แต่เรากล่าวแก่ท่านทั้งหลายว่า อย่าโต้ตอบคนชั่ว ผู้ใดตบแก้มขวาของท่าน จงหันแก้มซ้ายให้เขาด้วย” (มธ 5:38-39)
2.     การขาดความรู้ ดุจเดียวกับชาวสะมาเรียที่ไม่รู้จักพระยาห์เวห์
         ลำพังบอกได้ว่า “เชื่ออะไร” ไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันว่าศาสนาได้หยั่งรากอย่างมั่นคงลงในหัวใจของเราแล้ว ต่อเมื่อบอกได้ว่า “ทำไมจึงเชื่อ” นั่นแหละเราจึงจะมีศาสนาอย่างมั่นคงแท้จริง
          ศาสนาคือความหวังก็จริง แต่เป็นความหวังที่มีเหตุผลอยู่เบื้องหลัง ดังที่นักบุญเปโตรสอนว่า “จงพร้อมเสมอที่จะให้คำอธิบายแก่ทุกคนที่ต้องการรู้เหตุผลแห่งความหวังของท่าน” (1 ปต 3:15)
3.     การเชื่อผิด ๆ (superstitious) เช่น เชื่อผี เชื่อลาง เชื่อว่านมัสการพระยาห์เวห์แล้วสิงโตไม่กัด
     ทำนองเดียวกัน พวกเราบางคนไม่ยอมเดินลอดบันได บางคนกลัวอาถรรพ์ของเลข 13  บางคนกลัวจิ้งจกทัก ฯลฯ  คนเหล่านี้ปากก็บอกว่าไม่เชื่อ แต่ในใจกลับยอมรับว่ามีอะไรแฝงอยู่ จึงขอปลอดภัยไว้ก่อนด้วยการพูดทำนองว่า “ไม่เชื่อ อย่าลบหลู่”
    เมื่อได้เห็นแบบอย่างที่ผิดพลาดของชาวสะมาเรียแล้ว คราวนี้มาดูกันว่าการนมัสการพระเจ้าที่ถูกต้องนั้นเป็นอย่างไร
พระเยซูเจ้าตรัสว่า “พระเจ้าทรงเป็นจิต ผู้ที่นมัสการพระองค์ ต้องนมัสการด้วยจิตและความจริง (in spirit and truth)” (ยน 4:24)
“จิต” คือส่วนสำคัญที่สุดของมนุษย์ แม้มองไม่เห็นแต่คงอยู่ชั่วนิรันดร  จิตเป็นที่มาของความนึกคิด ความฝัน ความปรารถนา และจินตนาการต่าง ๆ
การนมัสการที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมนุษย์มี “มิตรภาพ” และเข้าใกล้ชิดพระเจ้าผู้ทรงเป็น “จิต” โดยผ่านทาง “จิต” ของตนเอง
    พูดง่าย ๆ  การนมัสการพระเจ้าที่ถูกต้องคือ การยกจิตใจขึ้นสนิทสัมพันธ์กับพระองค์ ผู้ทรงเป็นจิต
    เมื่อต้องนมัสการพระเจ้าด้วยจิต  สิ่งอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ จารีตพิธีกรรม หรือเครื่องบูชา จึงมีความสำคัญรองลงมา !!
เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสว่า “แต่จะถึงเวลานี้ เมื่อผู้นมัสการแท้จริงจะนมัสการพระบิดาเจ้าด้วยจิตและความจริง” (ยน 4:23) สำหรับหญิงชาวสะมาเรียแล้ว คำพูดนี้ช่างห่างไกลจากความเป็นจริง อย่างดีก็เป็นได้เพียงความฝัน  นางจึงทูลพระองค์ว่า “ดิฉันรู้ว่า พระเมสสิยาห์คือพระคริสต์กำลังจะเสด็จมา และเมื่อเสด็จมา พระองค์จะทรงแจ้งทุกเรื่องให้เรารู้” (ยน 4:25) 
หมายความว่าความฝันของนางจะกลายเป็นความจริงได้ก็ต่อเมื่อพระเมสสิยาห์เสด็จมาแล้วเท่านั้น
ทันทีทันใด พระองค์ตรัสตอบนางว่า “เราที่กำลังพูดอยู่กับเธอคือพระเมสสิยาห์” (ยน 4:26) 
อะไรจะตื่นเต้นและยิ่งใหญ่ปานนี้ไม่มีอีกแล้ว  ความจริงที่มนุษย์เคยใฝ่ฝันถึง บัดนี้ไม่ใช่แค่ “ฝันที่เป็นจริง” เท่านั้น แต่เป็นพระเมสสิยาห์ผู้ทรงเป็น “องค์ความจริง” และเป็น “ของจริง” เองที่ทรงเสด็จมาตรัสกับเรามนุษย์ !!!

5. การแบ่งปันประสบการณ์
(27)ขณะนั้น บรรดาศิษย์มาถึง รู้สึกประหลาดใจที่พระองค์ทรงสนทนาอยู่กับหญิงผู้นั้น แต่ไม่มีใครทูลถามว่า “พระองค์ทรงต้องการสิ่งใดจากนาง” หรือว่า “พระองค์กำลังตรัสอะไรกับนาง”  (28)หญิงผู้นั้นทิ้งไหน้ำของนางไว้ที่นั่น กลับเข้าไปในเมือง และบอกประชาชนว่า (29)“มาเถิด มาดูชายคนหนึ่งที่บอกทุกอย่างที่ดิฉันเคยทำ เขาเป็นพระคริสต์กระมัง”  (30)ประชาชนจึงออกจากเมืองมาเฝ้าพระองค์

“บรรดาศิษย์มาถึง รู้สึกประหลาดใจที่พระองค์ทรงสนทนาอยู่กับหญิงผู้นั้น” (ยน 4:27) เพราะการสนทนากับผู้หญิงในที่สาธารณะถือเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับพวกรับบี  แต่พวกศิษย์เริ่มเรียนรู้จากประสบการณ์แล้วว่าพระองค์ทรงเป็นผู้ใด จึงไม่มีใครทูลถามว่า “พระองค์ทรงต้องการสิ่งใดจากนาง” หรือว่า “พระองค์กำลังตรัสอะไรกับนาง”
ผู้ที่ปรารถนาเป็นศิษย์แท้จริงของพระองค์จึงต้องเข้าใจและไม่ถามเช่นกันว่า “ทำไมพระองค์สอนอย่างนี้ ทำไมสั่งอย่างนั้น ?” หรือ “ทำไมพระองค์จึงเรียกร้องสิ่งนี้จากข้าพเจ้า ทำไมไม่สั่งให้ทำสิ่งโน้น ทำไมไม่สั่งคนอื่นแบบเดียวกัน ?”  ตรงกันข้าม ศิษย์แท้ต้องลดอัตตา ลดอคติ ลดนิสัย ลดความประพฤติเดิมของตนลง แล้วปล่อยให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จไปในตัวเรา
“หญิงผู้นั้นทิ้งไหน้ำของนางไว้ที่นั่น” (ยน 4:28) อาจเป็นเพราะนางเร่งรีบกลับเข้าเมืองไปแบ่งปันข่าวดีแก่ประชาชนจนลืมไหน้ำ  หรืออาจเป็นเพราะนางไม่ได้คิดถึงสิ่งอื่นใดนอกจากตั้งใจกลับมาหาพระเยซูเจ้าอีก
     พฤติกรรมของหญิงชาวสะมาเรียเป็นตัวอย่างบ่งบอกถึงประสบการณ์ที่คริสตชนพึงมี กล่าวคือ
1.    มองเห็นตัวเอง  เพื่อจะมีความสนิทสัมพันธ์กับพระเยซูเจ้า สิ่งแรกที่ต้องทำคือ “หันกลับมามองตัวเอง”  แต่น่าเสียดายที่เรานิยมทำเป็นสิ่งสุดท้าย
2.    ยอมรับพระเยซูเจ้า ว่าสามารถหยั่งรู้เบื้องลึกแห่งหัวใจของเราทั้งด้านดีและด้านเลว  พระองค์ทรงเป็นดุจดังศัลยแพทย์ที่มองเห็นทั้งเนื้อร้ายและสุขภาพดีที่จะตามมาหลังผ่าตัดเอาเนื้อร้ายออกไปแล้ว  เมื่อยอมรับเราก็จะวางใจให้พระองค์ทำงานในตัวเรา
3.    แบ่งปัน  การค้นพบสิ่งใหม่ ๆ จะยังไม่สมบูรณ์จนกว่าจะได้แบ่งปันสิ่งที่ค้นพบแก่ผู้อื่นฉันใด  การค้นพบความสัมพันธ์กับพระเยซูเจ้าจะยังไม่สมบูรณ์จนกว่าเราจะแบ่งปันพระองค์แก่ผู้อื่นฉันนั้น
     พึงระลึกอยู่เสมอว่า เพื่อจะแบ่งปันพระเยซูเจ้าได้ เราจำเป็นต้องค้นพบพระองค์ด้วยตัวของเราเองก่อนแล้วเท่านั้น
4.    พร้อมน้อมรับทุกสิ่งที่เกิดขึ้น  เช่นความอับอายที่ต้องยืนยันว่า “ดูสิ ฉันเคยเป็นคนบาป  แต่ตอนนี้ ดูสิ่งที่พระองค์ได้ช่วยฉันสิ” (เทียบ ยน 4:29)

6. อาหารที่ทำให้พึงพอใจมากที่สุด
(31)ระหว่างนั้น บรรดาศิษย์ทูลรบเร้าพระองค์ว่า “รับบี เชิญรับประทานอาหารบ้างเถิด”  (32)แต่พระองค์ตรัสตอบว่า “เรามีอาหารอื่นที่ท่านทั้งหลายไม่รู้จัก”  (33)บรรดาศิษย์จึงถามกันว่า “มีใครนำสิ่งใดมาให้พระองค์รับประทานหรือ”  (34)พระเยซูเจ้าจึงตรัสกับเขาว่า “อาหารของเรา คือการทำตามพระประสงค์ของพระผู้ทรงส่งเรามา และการประกอบภารกิจของพระองค์ให้สำเร็จลุล่วงไป

น่าสังเกตว่า บทสนทนาเรื่อง “อาหารคืออะไร ?” สอดคล้องกับวิธีสอนของพระเยซูเจ้าดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
บรรดาศิษย์ละทิ้งพระองค์ให้หิวและกระหายเป็นเวลานาน พวกเขาจึงเป็นห่วงและทูลรบเร้าพระองค์ว่า “รับบี เชิญรับประทานอาหารบ้างเถิด” (ยน 4:31) แต่ดูเหมือนพระองค์จะไม่สนพระทัยอาหารที่พวกเขาอุตส่าห์ไปซื้อจากในเมืองเลย
เป็นเรื่องแปลกแต่จริงที่หลายครั้งภารกิจสำคัญทำให้เราลืมความต้องการตามธรรมชาติของร่างกาย และหลายคนคงเคยสัมผัสกับพลังเหนือธรรมชาติที่ช่วยให้เราเอาชนะความต้องการตามธรรมชาติมาแล้วโดยเฉพาะขณะกระทำภารกิจของพระเจ้า
ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงตรัสตอบบรรดาศิษย์ว่า “อาหารของเรา คือการทำตามพระประสงค์ของพระผู้ทรงส่งเรามา และการประกอบภารกิจของพระองค์ให้สำเร็จลุล่วงไป” (ยน 4:34)
ในพระวรสารของนักบุญยอห์นปรากฏคำที่บ่งบอกว่า พระเยซูเจ้าคือผู้ที่พระบิดาทรง “ส่ง” มา 2 คำคือ apostellein (อาปอสเตลเลน) จำนวน 17 ครั้งและ pempein (เปมเปน) อีก 27 ครั้ง รวมเป็นจำนวนถึง 44 ครั้งด้วยกัน  ยิ่งไปกว่านี้ ทรงย้ำด้วยพระองค์เองว่า “งานที่เรากำลังกระทำอยู่นี้ เป็นพยานถึงเราว่าพระบิดาทรงส่งเรามา” (ยน 5:36)  และ “เราลงมาจากสวรรค์มิใช่เพื่อทำตามใจของเรา แต่เพื่อทำตามพระประสงค์ของผู้ทรงส่งเรามา” (ยน 6:38)
จึงกล่าวได้ว่าในโลกนี้ มีเพียงพระเยซูเจ้าเท่านั้นที่ไม่เคยทำตามใจของพระองค์เองเลย  แต่ทรงกระทำทุกสิ่งตามพระประสงค์ของพระบิดาตั้งแต่ประสูติจนกระทั่งสิ้นพระชนม์
    ศิษย์ของพระเยซูเจ้าจึงต้องเลียนแบบอย่างของพระองค์ด้วยการปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดาเจ้า  เพราะนอกจากจะเป็นการเดินตามหนทางของพระอาจารย์เจ้าแล้ว ยังเป็นหนทางสู่
1.    ความสันติ  เราจะมีสันติได้อย่างไรหากมีเรื่องไม่ลงรอยกับผู้เป็นกษัตริย์แห่งสากลจักรวาล
2.    ความสุข  เราผู้โง่เขลาจะมีความสุขได้อย่างไรหากเป็นปรปักษ์กับผู้ทรงเปี่ยมล้นด้วยพระปรีชาญาณ
3.    พลัง  หากทำตามใจตัวเอง เราต้องเผชิญกับอุปสรรคตามลำพัง  แต่ถ้าปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดา เรามีพระบิดาพร้อมกับพระฤทธานุภาพและความรักของพระองค์อยู่เคียงข้างเสมอ

7. ผู้หว่าน ฤดูเก็บเกี่ยว และคนเกี่ยวข้าว
(35)ท่านพูดกันมิใช่หรือ อีกสี่เดือนก็จะถึงเวลาเก็บเกี่ยว ถูกแล้ว เราบอกท่านทั้งหลายว่า จงเงยหน้าขึ้น มองดูทุ่งนาเถิด ทุ่งนาเหลืองอร่ามพร้อมจะเก็บเกี่ยวได้แล้ว (36)คนเก็บเกี่ยวกำลังจะรับค่าจ้าง และรวบรวมผลไว้เพื่อชีวิตนิรันดร เพื่อทั้งคนหว่าน และคนเก็บเกี่ยวจะมีความยินดีร่วมกัน (37)ในกรณีนี้ก็เป็นจริงตามคำพูดที่ว่า คนหนึ่งหว่าน อีกคนหนึ่งเก็บเกี่ยว (38)เราส่งท่านทั้งหลาย ไปเก็บเกี่ยวสิ่งที่ท่านไม่ได้ลงแรงทำงานไว้ คนอื่นลงแรงไว้ แล้วท่านเข้ามาเก็บผลจากแรงงานของพวกเขา”

“ท่านพูดกันมิใช่หรือ อีกสี่เดือนก็จะถึงเวลาเก็บเกี่ยว” (ยน 4:35)  ชาวยิวแบ่งปีเกษตรกรรมออกเป็นหกฤดู ๆ ละสองเดือนคือ ฤดูหว่านเมล็ดพืช ฤดูหนาว ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูเก็บเกี่ยว ฤดูร้อน และฤดูร้อนจัด  หลังจากหว่านเมล็ดพืชแล้วจำต้องรออีกสี่เดือนให้ฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิผ่านพ้นไปเสียก่อนจึงจะถึงฤดูเก็บเกี่ยว
แต่ที่สะมาเรีย พระองค์ตรัสว่า “จงเงยหน้าขึ้น มองดูทุ่งนาเถิด ทุ่งนาเหลืองอร่ามพร้อมจะเก็บเกี่ยวได้แล้ว”  ซึ่งหมายความว่า อาศัยพระหรรษทานของพระเจ้า ชาวสะมาเรียพร้อมให้พระองค์เก็บเกี่ยวโดยไม่ต้องรออีกสี่เดือนแล้ว
“เพื่อทั้งคนหว่าน และคนเก็บเกี่ยวจะมีความยินดีร่วมกัน” (ยน 4:36) แสดงว่ายุคทองที่ประกาศกอาโมสทำนายไว้ได้มาถึงแล้ว “องค์พระผู้เป็นเจ้าประกาศว่า ‘วันเวลาจะมาถึงเมื่อคนที่ไถจะตามทันคนที่เกี่ยว และคนย่ำองุ่นจะตามทันคนที่ปลูก’”  (อมส 9:13)
พระองค์ตรัสต่อว่า “คนหนึ่งหว่าน อีกคนหนึ่งเก็บเกี่ยว เราส่งท่านทั้งหลายไปเก็บเกี่ยวสิ่งที่ท่านไม่ได้ลงแรงทำงานไว้” (ยน 4:37-38)  ผู้ที่ลงแรงทำงานคือพระเยซูเจ้า อาศัยการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน พระองค์ได้หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความรักและอำนาจแห่งการไถ่กู้ไว้แล้ว  ผู้ที่ต้องออกไปเก็บเกี่ยวคือบรรดาอัครสาวก
หลังจากพระเยซูเจ้าเสด็จสู่สวรรค์ ผู้ที่ลงแรงหว่านคือบรรดาอัครสาวกซึ่งส่วนใหญ่ยอมตายเป็นมรณสักขี  ต่อจากนั้นผู้อื่นก็จะเข้ามาเก็บเกี่ยวผลจากแรงงานของพวกท่าน
สิ่งที่เตือนใจเราทุกคนคือ
1.    อย่าลืม “เก็บเกี่ยว” สิ่งที่บรรพบุรุษของเรา ไม่ว่าจะเป็นบรรดาบุญราศี บรรดาผู้แพร่ธรรม พระสงฆ์ นักบวช ตลอดจนฆราวาสทุกท่าน ได้หว่านไว้
2.    อย่าลืม “หว่าน” เมล็ดพันธุ์แห่งความรักและการไถ่บาป  แม้เราจะไม่มีโอกาสเห็นผล แต่อนุชนรุ่นหลังจะได้เก็บเกี่ยวผลอย่างแน่นอน

8. พระผู้ไถ่ของโลก
(39)ชาวสะมาเรียหลายคนจากเมืองนั้นมีความเชื่อในพระองค์ เพราะคำของหญิงคนนั้นที่ยืนยันว่า “เขาได้บอกทุกสิ่งที่ดิฉันเคยทำ”  (40)เมื่อชาวสะมาเรียมาเฝ้าพระองค์แล้ว ก็วอนขอให้ประทับอยู่กับเขา พระองค์ประทับอยู่ที่นั่นสองวัน  (41)คนที่มีความเชื่อเพราะพระวาจาของพระองค์มีจำนวนมากขึ้น  (42)เขากล่าวแก่หญิงผู้นั้นว่า “เรามีความเชื่อไม่ใช่เพราะคำพูดของท่านอีกแล้ว เราเองได้ยินและรู้ว่า พระองค์เป็นพระผู้ไถ่ของโลกโดยแท้จริง”

พัฒนาการ “ความเชื่อ” ของชาวสะมาเรียสามารถสรุปเป็นขั้นตอนได้ดังนี้
    1.    พวกเขา “ได้รับการแนะนำ” โดยหญิงชาวสะมาเรีย
         นักบุญเปาโลกล่าวว่า “ชาวอิสราเอลจะเรียกขานพระองค์ได้อย่างไรถ้าพวกเขาไม่เชื่อ จะเชื่อได้อย่างไรถ้าไม่เคยได้ยิน จะได้ยินได้อย่างไรถ้าไม่มีใครประกาศสอน” (รม 10:14)
     สิ่งที่หญิงชาวสะมาเรียแนะนำแก่ชาวเมือง ไม่ใช่ทฤษฎีความรู้เกี่ยวกับพระเยซูเจ้า (Christology) แต่เป็นประสบการณ์ที่พระองค์ทรงกระทำกับนางเอง
     เราต้องตระหนักอยู่เสมอว่า “เป็นทั้งเกียรติและความรับผิดชอบของเราแต่ละคน ที่จะนำผู้อื่นมาพบพระเยซูเจ้า”
2.    พวกเขาอยู่ “ใกล้ชิดและรู้จักพระองค์” มากขึ้น
     “เมื่อชาวสะมาเรียมาเฝ้าพระองค์แล้ว ก็วอนขอให้ประทับอยู่กับเขา พระองค์ประทับอยู่ที่นั่นสองวัน”     ที่สุดพวกเขากล่าวแก่หญิงผู้นั้นว่า “เรามีความเชื่อไม่ใช่เพราะคำพูดของท่านอีกแล้ว เราเองได้ยินและรู้ว่า พระองค์เป็นพระผู้ไถ่ของโลกโดยแท้จริง” (ยน 4:40,42)
     เป็นความจริงว่าเราต้องการคนอื่นแนะนำให้รู้จักพระเยซูเจ้า แต่เป็นตัวเราเองที่ต้องสร้างมิตรภาพกับพระองค์ให้ลึกซึ้งขึ้น ดุจเดียวกับชาวสะมาเรียที่ร้องขอให้พระองค์ประทับอยู่กับพวกเขา เพื่อพวกเขาจะได้ใกล้ชิดและรู้จักพระองค์มากขึ้นด้วยตัวของพวกเขาเอง ไม่ใช่ผ่านคนอื่น เพราะไม่มีผู้ใดสามารถมีประสบการณ์แทนผู้อื่นได้
3.    พวกเขา “ค้นพบและยอมรับพระเยซูเจ้า” ว่า “พระองค์เป็นพระผู้ไถ่ของโลกโดยแท้จริง” (ยน 4:42)
      ในพระธรรมเก่า พระยาห์เวห์ได้รับการขนานนามว่า “พระเจ้าแห่งความรอด”, “พระผู้ไถ่” และ “พระผู้ช่วยให้รอด” มาก่อนแล้ว   
          ชาวกรีกเรียกเทพเจ้าของตนว่า “พระผู้ไถ่”  ชาวโรมันก็ยกย่องจักรพรรดิของตนเป็น “พระผู้ไถ่ของโลก” เช่นเดียวกัน
         พระเยซูเจ้าทรงช่วยหญิงชาวสะมาเรียผู้ถูกตราหน้าว่าชั่วช้าและถูกขับไล่ออกจากสังคม ให้สามารถเอาชนะอดีตอันขมขื่น และเปิดอนาคตใหม่อันสดใสให้แก่นาง  พระองค์จึงเหมาะสมกับการเป็น “พระผู้ไถ่ของโลก” อย่างแท้จริง
        หาใช่เป็นเพียงสมญานามที่ตั้งเพื่อเป็นเกียรติเท่านั้น !