อาทิตย์ที่ 5 เทศกาลมหาพรต

ข่าวดี    ยอห์น 12:20-33
พระเยซูเจ้าตรัสล่วงหน้าถึงการสิ้นพระชนม์ และการรับพระสิริรุ่งโรจน์
(20)ผู้ที่ขึ้นไปนมัสการที่กรุงเยรูซาเล็มในงานฉลองนั้น บางคนเป็นชาวกรีก  (21)เขาไปหาฟิลิป ซึ่งมาจากหมู่บ้านเบธไซดา ในแคว้นกาลิลี แล้วถามว่า “ท่านขอรับ พวกเราอยากเห็นพระเยซูเจ้า” (22)ฟิลิปจึงไปบอกอันดรูว์ แล้วอันดรูว์กับฟิลิปจึงไปทูลพระเยซูเจ้า (23)พระเยซูเจ้าตรัสตอบเขาว่า “เวลาที่บุตรแห่งมนุษย์จะได้รับพระสิริรุ่งโรจน์มาถึงแล้ว (24)เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ถ้าเมล็ดข้าวไม่ได้ตกลงในดินและตายไป มันก็จะเป็นเพียงเมล็ดเดียวเท่านั้น แต่ถ้ามันตาย มันก็จะบังเกิดผลมากมาย (25)ผู้ที่รักชีวิตของตนย่อมจะเสียชีวิตนั้น ส่วนผู้ที่พร้อมจะสละชีวิตของตนในโลกนี้ ก็ย่อมจะรักษาชีวิตนั้นไว้สำหรับชีวิตนิรันดร (26)ผู้ใดรับใช้เรา ผู้นั้นจงตามเรามา เราอยู่ที่ใด ผู้รับใช้ของเราก็จะอยู่ที่นั่นด้วย ผู้ใดรับใช้เรา ผู้นั้นจงตามเรามา เราอยู่ที่ใด ผู้รับใช้ของเราก็จะอยู่ที่นั่นด้วย ผู้ใดรับใช้เรา พระบิดาจะประทานเกียรติแก่เขา
(27)บัดนี้ ใจของเราหวั่นไหว เราจะพูดอะไรเล่า จะพูดหรือว่า ข้าแต่พระบิดาเจ้า โปรดช่วยข้าพเจ้าให้พ้นจากเวลานี้ ไม่ใช่ เพราะข้าพเจ้ามาก็เพื่อเวลานี้ (28)ข้าแต่พระบิดาเจ้า โปรดประทานพระสิริรุ่งโรจน์แด่พระนามของพระองค์เถิด” แล้วมีเสียงดังจากฟ้าว่า “เราได้ให้พระสิริรุ่งโรจน์แล้ว และจะให้อีก”
(29)ประชาชนที่ยืนอยู่ที่นั่นได้ยินเสียง จึงพูดว่า “ฟ้าร้อง” แต่บางคนว่า “ทูตสวรรค์พูดกับเขา” (30)พระเยซูเจ้าตรัสว่า “เสียงนี้เกิดขึ้นมิใช่เพื่อเรา แต่เพื่อท่านทั้งหลาย (31)บัดนี้ ถึงเวลาที่จะพิพากษาโลกแล้ว บัดนี้ เจ้านายแห่งโลกนี้กำลังจะถูกขับไล่ออกไป (32)และเมื่อเราจะถูกยกขึ้นจากแผ่นดิน เราจะดึงดูดทุกคนเข้ามาหาเรา”
(33)พระเยซูเจ้าตรัสเช่นนี้ แสดงว่า พระองค์ทรงทราบว่าจะสิ้นพระชนม์อย่างไร


ชาวกรีกมีนิสัยชอบท่องเที่ยวไปทั่วโลกเพื่อทำการค้าขายและแสวงหาสิ่งใหม่ ๆ  จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะพบชาวยิวในกรุงเยรูซาเล็มระหว่างเทศกาลปัสกาอันยิ่งใหญ่เช่นนี้
นอกจากชอบแสวงหาสิ่งใหม่ ๆ แล้ว ชาวกรีกยังชอบแสวงหาความจริงเป็นชีวิตจิตใจ  พวกเขาชอบศึกษาลัทธิปรัชญา และศาสนาต่าง ๆ  และมักเปลี่ยนอาจารย์ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้ความจริงที่น่าพอใจ
ชาวยิวกลุ่มนี้คงได้เข้าไปในพระวิหารที่ลานชั้นนอกสำหรับคนต่างศาสนา และมีโอกาสเห็นพระเยซูเจ้าชำระพระวิหาร จนเกิดแรงบันดาลใจให้อยากรู้จักพระองค์
พวกเขาไปหาฟิลิป อาจเป็นเพราะชื่อฟิลิปเป็นภาษากรีก แต่ฟิลิปไม่รู้จะทำอย่างไรดี เขาจึงไปปรึกษาอันดรูว์ซึ่งเคยพาเปโตร และเด็กชายเล็ก ๆ พร้อมกับขนมปัง 5 ก้อนและปลา 2 ตัวไปพบพระเยซูเจ้าแล้ว
อันดรูว์รู้ดีว่าไม่มีใครน่ารำคาญหรือน่าเบื่อหน่ายสำหรับพระเยซูเจ้า พระองค์ไม่เคยขับไล่ไสส่งคนที่มีหัวใจแสวงหาพระองค์ให้กลับไปมือเปล่า !

“เวลาที่บุตรแห่งมนุษย์จะได้รับพระสิริรุ่งโรจน์มาถึงแล้ว” (ข้อ 23)
คำพูดของพระเยซูเจ้าประโยคนี้คงทำให้ผู้ฟังพากันกั้นหายใจด้วยความตื่นเต้น เพียงแต่ว่าสิ่งที่พวกเขาคาดหวังนั้นช่างต่างกับสิ่งที่พระเยซูเจ้าต้องการหมายถึงราวหน้ามือกับหลังมือ
คำ “บุตรแห่งมนุษย์” มีที่มาจากหนังสือประกาศกดาเนียลบทที่ 7 ข้อ 13-14 ที่ว่า “ดูเถิด มีท่านผู้หนึ่งเหมือนบุตรมนุษย์มาพร้อมกับบรรดาเมฆของสวรรค์ และท่านมาหาผู้เจริญด้วยวัยวุฒินั้น เขานำท่านมาเฝ้าต่อเบื้องพระพักตร์พระองค์  ราชอำนาจ ศักดิ์ศรี กับราชอาณาจักร เขานำมามอบไว้กับท่าน เพื่อบรรดาชนชาติ ประชาชาติทั้งปวง และภาษาทั้งหลายจะปรนนิบัติท่าน ราชอาณาจักรของท่านเป็นราชอาณาจักรนิรันดร์”
    เบื้องหลังของคำทำนายนี้คือ โลกในยุคของดาเนียลตกอยู่ภายใต้อำนาจของอาณาจักรใหญ่สี่แห่งอันได้แก่ อัสซีเรีย บาบิโลน มีเดีย และเปอร์เซีย  ผู้คนของทั้งสี่อาณาจักรล้วนมีจิตใจโหดร้ายเหมือนสัตว์ป่าซึ่งดาเนียลเปรียบตัวแรกเป็นสิงโตมีปีกนกอินทรี  ตัวที่สองเหมือนหมีที่มีกระดูกซี่โครงสามซี่อยู่ระหว่างฟัน  ตัวที่สามเป็นเสือดาวสี่หัวพร้อมกับปีกนกสี่ปีก  และตัวสุดท้ายเป็นสัตว์ร้ายพร้อมฟันเหล็กมหึมาที่น่ากลัวที่สุด
    จึงเป็นความใฝ่ฝันของชาวยิวที่จะเห็นอำนาจใหม่และอาณาจักรใหม่ ที่ผู้คนมีจิตใจอ่อนโยนเหมือน “บุตรมนุษย์” ไม่ใช่ดุร้ายเหมือน “ลูกสัตว์ป่า”
    แต่ยุคทองแห่งอำนาจใหม่จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ในเมื่อชาวยิวเป็นเพียงชนชาติเล็ก ๆ และอ่อนแอ  หนทางเดียวที่จะเป็นไปได้คืออาศัย “พระหัตถ์อันทรงฤทธิ์ของพระเจ้า”
    บุคคลที่มีจิตใจเหมือน “บุตรมนุษย์” ในภาพนิมิตของดาเนียล จึงถูกนำมาใช้เพื่อหมายถึง “บุตรแห่งมนุษย์” ที่พระเจ้าจะส่งมาเพื่อนำพาชาวยิวไปสู่ยุคใหม่แห่งอำนาจและสถาปนาอาณาจักรอันยิ่งใหญ่เที่ยงแท้ถาวร
    เพราะฉะนั้น เมื่อพระองค์ตรัสว่า “เวลาที่บุตรแห่งมนุษย์จะได้รับพระสิริรุ่งโรจน์มาถึงแล้ว” ย่อมหมายความว่าปี่กลองรบได้ลั่นแล้ว  ขบวนการกู้ชาติได้เริ่มต้นแล้ว
    แต่ “พระสิริรุ่งโรจน์” ของพระเยซูเจ้าไม่ได้หมายถึงอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ทางโลก ตรงกันข้าม พระองค์หมายถึง “กางเขน”
น่าเสียดายที่ชาวยิวไม่เข้าใจคำสอนของพระองค์ อีกทั้งไม่พยายามที่จะเข้าใจอีกด้วย !
    นอกจากจะสอนว่า “กางเขน” เป็นหนทางสู่ “พระสิริรุ่งโรจน์” แล้ว พระองค์ยังได้ประทานคำสอนอันเป็นอมตะแก่เราอีก 3 ประการด้วยกัน
    1.    ความตายก่อให้เกิดชีวิต  เมล็ดข้าวสาลีจะไม่บังเกิดผลเลยหากมันถูกเก็บรักษาไว้ในที่ปลอดภัยและมั่นคง ต่อเมื่อมันถูกโยนและจมลงบนพื้นดินที่เย็นชุ่มดุจดังหลุมศพนั่นแหละ มันจึงจะเจริญงอกงามและบังเกิดผล
        ในอดีต ไม่ใช่เป็นเพราะโลหิตของบรรดามรณสักขีดอกหรือที่ทำให้พระศาสนจักรเจริญเติบโตดังเช่นปัจจุบัน ?
        สำหรับตัวเราก็เช่นกัน เมื่อใดก็ตามที่เราฝังความต้องการและความทะเยอทะยานส่วนตัว เมื่อนั้นเราจะกลายเป็นข้ารับใช้ที่มีประโยชน์ยิ่งสำหรับพระเจ้า
    2.    การสละชีวิตจะรักษาชีวิตไว้  ผู้ที่รักชีวิตของตนมักมีสาเหตุ 2 ประการคือ เห็นแก่ตัว และต้องการความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต
        ให้เราลองจินตนาการดูว่าโลกของเราจะสูญเสียอะไรบ้าง หากไม่มีผู้ใดพร้อมจะสละความเห็นแก่ตัวหรือความมั่นคงในชีวิตของตน เพื่องานพัฒนาวิจัยด้านต่าง ๆ ที่เต็มไปด้วยอันตรายและเสี่ยงภัย  โลกของเราเป็นหนี้บุญคุณผู้ที่พลีแรงกายและแรงใจอุทิศตนแด่พระเจ้าและเพื่อนมนุษย์มากมายมหาศาลจริง ๆ
        พระเยซูเจ้าจึงตรัสย้ำหลายครั้งหลายโอกาสว่า “ผู้ที่รักชีวิตของตนย่อมจะเสียชีวิตนั้น ส่วนผู้ที่พร้อมจะสละชีวิตของตนในโลกนี้ ก็ย่อมจะรักษาชีวิตนั้นไว้สำหรับชีวิตนิรันดร” (มก 8:35; มธ 16:25; 10:39; ลก 9:24; 17:33)
    3.    การรับใช้นำมาซึ่งเกียรติอันยิ่งใหญ่  บุคคลที่โลกจดจำด้วยความรักคือผู้ที่อุทิศตนรับใช้ผู้อื่น แต่น่าเสียดายที่โลกยุคใหม่รู้จักการรับใช้น้อยลงทุกที สิ่งที่พวกเขาสนใจคือผลประโยชน์ทางธุรกิจ ซึ่งแม้จะทำให้เขาร่ำรวยเป็นเศรษฐีหมื่นล้านได้ แต่จะไม่มีผู้ใดรักเขา
         บังเอิญว่า “ความรัก” คือ “ความมั่งคั่ง” ที่แท้จริงของชีวิต
        ยิ่งเป็นการรับใช้พระเยซูเจ้าด้วยแล้ว เกียรติที่ได้รับนั้นช่างยิ่งใหญ่จริง ๆ เพราะพระองค์ตรัสว่า “ผู้ใดรับใช้เรา พระบิดาจะประทานเกียรติแก่เขา”

“บัดนี้ ใจของเราหวั่นไหว...บัดนี้ เจ้านายแห่งโลกนี้กำลังจะถูกขับไล่ออกไป” (ข้อ 27,31)
    ยอห์นไม่ได้เล่าเรื่องความทุกข์ทรมานของพระเยซูเจ้าในสวนเกทเสมนีเหมือนผู้เขียนพระวรสารคนอื่น  แต่ท่านเล่าตอนนี้ว่าพระองค์พยายามหลีกหนีกางเขนเช่นกัน “ข้าแต่พระบิดาเจ้า โปรดช่วยข้าพเจ้าให้พ้นจากเวลานี้” (ข้อ 27)
    แน่นอน ไม่มีใครอยากตายขณะอายุ 33 ปี  ยิ่งเป็นความตายบนไม้กางเขนด้วยแล้วยิ่งไม่มีใครต้องการ  พระเยซูเจ้าก็กลัวและไม่ต้องการเช่นเดียวกัน
เพราะกลัว คุณค่าแห่งความนบนอบที่พระองค์มีต่อพระบิดาจึงสูงส่งเป็นอย่างยิ่ง  หากพระองค์นบนอบได้ง่าย ๆ แล้วจะมีคุณค่าได้อย่างไร ?
    เพราะ “ความกล้าหาญ” ที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่ “ไม่กลัว” แต่อยู่ที่ แม้กลัวจนตัวสั่นก็ยัง “ทำในสิ่งที่ควรทำ”
    ทั้ง ๆ ที่กลัวและเครียด พระเยซูเจ้าก็ยังมีความบรรเทาใจ เพราะทรงมองเห็นชัยชนะรออยู่เบื้องหน้า !
หากพระองค์นบนอบพระบิดาและยอมรับไม้กางเขน ผลที่จะตามมาคือ “เจ้านายแห่งโลกนี้ (ซาตาน) จะถูกขับไล่ออกไป”
นอกจากอำนาจของซาตานจะถูกทำลายแล้ว พระองค์ยังมองเห็นภาพที่พระองค์ถูกยกขึ้นบนไม้กางเขน สามารถดึงดูดมนุษย์ทุกคนให้มาหาพระองค์
“เมื่อเราจะถูกยกขึ้นจากแผ่นดิน เราจะดึงดูดทุกคนเข้ามาหาเรา” (ข้อ 32)
พระองค์ตระหนักดีว่า หนทางสู่ชัยชนะขั้นสูงสุดอยู่ที่ “พลังดึงดูดของไม้กางเขน” และประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์แล้วว่าพระองค์เป็นฝ่ายถูก
“พลังรัก” ไม่มีวันตาย  ส่วน “พลังอำนาจ” ตายหมด !
นครนินีเวห์ เมืองไทระอันยิ่งใหญ่ รวมถึงบรรดาชาติมหาอำนาจทั้งในอดีตและปัจจุบันล้วนล่มสลายไปหมดแล้ว หรือกำลังจะล่มสลายในเร็ววันนี้
แต่อาณาจักรของพระคริสตเจ้าซึ่งมีรากฐานอยู่ที่ “ไม้กางเขน” ยังคงอยู่ และกำลังแผ่ขยายออกไปทุกวัน
หากพระองค์เลือกหนทางของพระเมสสิยาห์ผู้พิชิตตามที่ชาวยิวคาดหวัง อาจมีนักประวัติศาสตร์จารึกผลงานของพระองค์ไว้ในหนังสือบ้างบางเล่ม
แต่พระองค์เลือกเป็นกษัตริย์แห่งความรักที่มีบัลลังก์จารึกอยู่ในหัวใจของมนุษย์ทุกคนชั่วกัลปวสาน
อาณาจักรของพระองค์มีพื้นฐานอันมั่นคงอย่างยิ่งนั่นคือ “ความรักอันเสียสละ” !

เกิดอะไรขึ้นระหว่างการเริ่มต้นด้วยความกลัว แล้วลงเอยด้วยชัยชนะหรือ ?
คำตอบคือ “พระสุรเสียงของพระเจ้า”
ก่อนหน้านี้ ชาวยิวเชื่อมั่นว่าพระเจ้าตรัสกับมนุษย์ตรง ๆ เช่น ทรงตรัสกับซามูแอล (1 ซมอ 3:1-14) กับประกาศกเอลียาห์ (1 พกษ 19:1-18) และกับเอลีฟาซ (โยบ 4:16)
แต่ในสมัยของพระเยซูเจ้า การที่พระเจ้าตรัสกับมนุษย์ตรง ๆ กลายเป็นอดีตที่ไม่มีวันหวนกลับ  แม้แต่การตรัสผ่านประกาศกก็ยังไม่มี  สิ่งเดียวที่ชาวยิวเชื่อว่ามีอยู่คือ Bath qol (บาธ โคล) แปลว่า “ธิดาแห่งเสียง” ซึ่งหมายถึงเสียงก้อง เสียกระซิบ เสียงอันแผ่วเบายากแก่การได้ยิน  ไม่ใช่เสียงพูดตรง ๆ อันมีชีวิตชีวาเหมือนยุคอดีตอันยิ่งใหญ่
แต่เสียงที่ตรัสกับพระเยซูเจ้าครั้งนี้เป็น “พระสุรเสียงของพระเจ้า” จริง ๆ
น่าสังเกตว่าพระสุรเสียงของพระเจ้ามีมาถึงพระเยซูเจ้าในโอกาสสำคัญทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นคราวที่พระองค์ทรงรับพิธีล้างเพื่อเริ่มต้นภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากพระบิดา (มก 1:11) หรือคราวที่พระองค์ทรงจำแลงพระกายอย่างรุ่งโรจน์เพื่อตัดสินใจว่าจะเดินหน้าต่อไปยังกรุงเยรูซาเล็มเพื่อรับการตรึงบนไม้กางเขนหรือไม่ (มก 9:7)
และครั้งนี้ที่ร่างกายและจิตใจของพระองค์เหนื่อยล้า และต้องการความช่วยเหลือจากพระเจ้า !!!
เป็นบุญอย่างยิ่งที่พระเจ้าทรงกระทำเช่นเดียวกันนี้กับเราทุกคนด้วย  พระองค์ไม่เคยมอบหมายภารกิจแล้วปล่อยให้เราต่อสู้ดิ้นรนตามลำพังเลย
เมื่อเราเครียด  เมื่อเราอ่อนแรง  หากเราฟัง เราจะได้ยินพระสุรเสียงของพระองค์  พระสุรเสียงที่จะทำให้เรามีพลังสู้ชีวิตต่อไป !
น่าเสียดายที่ทุกวันนี้ ไม่ใช่พระเจ้าไม่ตรัสกับเรา แต่เป็นเราที่ไม่ฟัง !