วันอาทิตย์ที่ 5 เทศกาลปัสกา

ข่าวดี    ยอห์น 13:31-33ก; 34-35
(31)เมื่อยูดาสออกไปแล้ว พระเยซูเจ้าตรัสว่า
“บัดนี้บุตรแห่งมนุษย์ได้รับพระสิริรุ่งโรจน์
และพระเจ้าทรงได้รับพระสิริรุ่งโรจน์ในบุตรแห่งมนุษย์ด้วย
(32)ถ้าพระเจ้าทรงได้รับพระสิริรุ่งโรจน์ในบุตรแห่งมนุษย์
พระเจ้าจะทรงให้บุตรแห่งมนุษย์ได้รับพระสิริรุ่งโรจน์ในพระองค์ด้วย
และจะทรงให้บุตรแห่งมนุษย์ได้รับพระสิริรุ่งโรจน์ในทันที
(33)ลูกทั้งหลายเอ๋ย
เราจะอยู่กับท่านอีกไม่นาน
ท่านจะแสวงหาเรา
 (34)เราให้บทบัญญัติใหม่แก่ท่านทั้งหลาย
ให้ท่านรักกัน
เรารักท่านทั้งหลายอย่างไร
ท่านก็จงรักกันอย่างนั้นเถิด
(35)ถ้าท่านมีความรักต่อกัน
ทุกคนจะรู้ว่า
ท่านเป็นศิษย์ของเรา”

**********************

    หลังจากทรงล้างเท้าให้บรรดาอัครสาวกระหว่างงานเลี้ยงอาหารค่ำครั้งสุดท้ายแล้ว พระเยซูเจ้าทรงทำนายถึงผู้ที่จะทรยศต่อพระองค์โดยตรัสเป็นนัยว่าคือ “ผู้ที่เราจะจุ่มขนมปังส่งให้” (ยน 13:26) แล้วทรงจุ่มขนมปังชิ้นหนึ่งส่งให้ยูดาส  เมื่อยูดาสรับชิ้นขนมปังแล้วก็ออกไปทันที (ยน 13:30)
    เมื่อยูดาสออกไปแล้ว พระองค์ทรงกล่าวคำปราศรัยอำลาบรรดาอัครสาวก โดยตรัสถึง “พระสิริรุ่งโรจน์” และ “บัญญัติใหม่”
    พระองค์ทรงให้หนทางสู่ “พระสิริรุ่งโรจน์” ไว้ 3 แนวทางด้วยกันคือ
    1.    กางเขน  พระองค์ทรงทราบดีว่ายูดาสออกไปเพื่อนำทหารมาจับกุมพระองค์ ซึ่งเท่ากับว่า “กางเขน” อยู่ใกล้พระองค์แค่เอื้อม  แต่พระองค์กลับตรัสว่า “บัดนี้ บุตรแห่งมนุษย์ได้รับพระสิริรุ่งโรจน์” (ยน 13:31)
     แปลว่า “พระสิริรุ่งโรจน์” ของพระองค์อยู่ที่ “กางเขน” !
    และนี่คือความจริงของทุกชีวิต !
    ความจริงที่ว่าความรุ่งโรจน์สูงสุดอยู่ที่ “กางเขน”   ดังเช่น กรณีเกิดสงคราม เกียรติยศสูงสุดย่อมเป็นของผู้ที่พลีชีพเพื่อชาติ หาใช่ผู้ที่รอดชีวิตไม่
    เพราะฉะนั้น หนทางแรกที่จะนำเราไปสู่พระสิริรุ่งโรจน์จึงได้แก่ “หนทางของไม้กางเขน”
    2.    ความนบนอบ  พระเยซูเจ้าตรัสว่า “พระเจ้าทรงได้รับพระสิริรุ่งโรจน์ในบุตรแห่งมนุษย์” (ยน 13:31)
         พระองค์ตรัสเช่นนี้เพราะว่า พระองค์ทรงนบนอบพระบิดา จนกระทั่งยอมสิ้นพระชนม์ แม้เป็นการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน
         ความนบนอบของพระองค์ทำให้พระบิดาได้รับเกียรติฉันใด เด็กที่นบนอบเชื่อฟังบิดามารดา ก็ทำให้บิดามารดาได้รับเกียรติฉันนั้น
         เช่นเดียวกัน สามีภรรยาที่เคารพเชื่อฟังซึ่งกันและกันก็ให้เกียรติแก่กันและกัน  และผู้ที่นบนอบเชื่อฟังผู้บังคับบัญชาก็ให้เกียรติแก่ผู้บังคับบัญชาฉันนั้นด้วย
    3.    พระเจ้า  พระองค์คือที่มาของความรุ่งโรจน์สูงสุด !
     อันที่จริง พระเยซูเจ้าทรงได้รับเกียรติสูงสุดแล้วเมื่อทรงยอมสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนตามพระประสงค์ของพระเจ้า
         แต่พระองค์ยังตรัสอีกว่า “พระเจ้าจะทรงให้บุตรแห่งมนุษย์ได้รับพระสิริรุ่งโรจน์ในพระองค์ด้วย และจะทรงให้บุตรแห่งมนุษย์ได้รับพระสิริรุ่งโรจน์ในทันที” (ยน 13:32)
        พระสิริรุ่งโรจน์ที่พระเจ้าจะประทานให้แก่พระบุตรในทันทีคือ การกลับคืนพระชนมชีพ และการเสด็จสู่สวรรค์
         และที่จะประทานให้อีกในอนาคตคือ การเสด็จกลับมาครั้งที่สองเพื่อพิพากษาทั้งผู้เป็นและผู้ตาย และเพื่อเป็นกษัตริย์แห่งสากลจักรวาล !
        สำหรับพระเยซูเจ้าแล้ว ไม่ต้องสงสัยเลยว่า พระเจ้าเท่านั้นคือที่มาของพระสิริรุ่งโรจน์สูงสุด !
        แล้วคริสตชนอย่างเรายังมัวแสวงหาเกียรติยศจอมปลอมที่โลกหยิบยื่นให้อยู่อีกหรือ ?

    หนึ่งในคำอำลาที่ฟังแล้วหดหู่ใจอย่างยิ่งคือ “ลูกทั้งหลายเอ๋ย เราจะอยู่กับท่านอีกไม่นาน” (ยน 13:33)
    จริง ๆ แล้วเวลาของพระองค์เหลืออีกไม่กี่นาที  พระองค์กำลังจะถูกจับกุมและจะต้องเดินทางตามลำพังไปยังสถานที่ที่บรรดาอัครสาวกยังไม่อาจติดตามไปได้
    ในห้วงเวลาแห่งการอำลาอาลัยนี้เอง พระองค์ทรงประทาน “บัญญัติใหม่” ให้แก่ทุกคน
    พระองค์ทรงสั่งให้เรา “รักกันและกัน เหมือนที่พระองค์ทรงรักเรา” (เทียบ ยน 13:34)
    แล้วพระองค์ทรงรักเราอย่างไร ?
    1.    อย่างไม่เห็นแก่ตัว
         ปกติความรักตามประสามนุษย์มักมี “ความเห็นแก่ตัว” เจือปนอยู่ด้วยเสมอ  เมื่อเรารักใครสักคนหนึ่ง ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม เรามักคิดถึงตัวเองเป็นลำดับแรก เช่น เขาจะให้ความสุขและความมั่นคงแก่เราได้หรือไม่  หากเขาปฏิเสธความรักของเรา เราจะอับอาย โดดเดี่ยว เจ็บปวด หรือทรมานมากน้อยเพียงใด ฯลฯ
        เรามักคิดถึงประโยชน์ที่เราจะได้จาก “ความรัก” จนอาจกล่าวได้ว่าเบื้องหลังของความรักก็คือ “ความสุข” ของตัวเรานั่นเอง
        แต่ความรักของพระเยซูเจ้าไม่มีความเห็นแก่ตัวเจือปนอยู่แม้แต่นิดเดียว  ไม่มีครั้งใดที่พระองค์ทรงคิดถึงตัวพระองค์เองเลย…
         ทุกสิ่งที่ทรงมี แม้กระทั่งชีวิตของพระองค์เอง พระองค์ทรงมอบแก่เราทั้งหมด !
    2.    อย่างเสียสละ
         หากเราคิดว่าความรักคือความสุข เราคิดผิด  เพราะที่ถูกคือ ความรักย่อมมีทั้งความสุขและความทุกข์คลุกเคล้ากันไป !
         มีแต่ “ความเสียสละ” เท่านั้นที่ช่วยคลุกเคล้าความทุกข์ให้เป็นความสุขได้ !
        สำหรับพระเยซูเจ้าแล้ว ความเสียสละของพระองค์ไร้ขีดจำกัด !
        หากความรักเรียกร้องให้พระองค์ “เสียสละ” แม้กระทั่งชีวิตของพระองค์เอง พระองค์ไม่ทรงลังเลพระทัยเลยที่จะมอบชีวิตนั้นเพื่อเรา !
เพราะความเสียสละอย่างไร้ขีดจำกัดนี้เอง พระองค์จึงได้รับการยกย่องสูงสุด
        เช่นเดียวกัน ความรักอย่างเสียสละที่พร้อมเผชิญหน้ากับปัญหาและความทุกข์ยากต่าง ๆ ไม่เว้นแม้แต่ความตายนี้เอง ที่สามารถนำความสุขและความมั่นคงแท้จริงมาสู่ชีวิตของเราได้
    3.    อย่างเข้าใจ
         เราเคยได้ยินคำพูดว่า “ความรักคือตาบอด” ซึ่งหมายความว่าเราต้องรู้จักหลับหูหลับตา “มองข้าม” ความบกพร่องหรือความอ่อนแอของคนรักบ้าง
        แต่นี่ไม่ใช่วิถีทางแบบพระเยซูเจ้า !
         ปกติ ผู้ที่รู้จักกันเพียงผิวเผิน จะพบเห็นเฉพาะส่วนที่ดีที่สุดของกันและกันเท่านั้น  แต่พระเยซูเจ้าทรงใช้ชีวิตร่วมหัวจมท้ายกับบรรดาศิษย์เป็นเวลานาน จนล่วงรู้ปัญหา ความอ่อนแอ และข้อบกพร่องต่าง ๆ ของศิษย์แต่ละคนเป็นอย่างดี
        กระนั้นก็ตาม พระองค์ยังทรงรักศิษย์ทุกคน ไม่ใช่เพราะทรง “มองข้าม”  แต่เพราะทรง “เข้าใจ” และ “ยอมรับ” ข้อบกพร่องของพวกเขาทุกคน
    พระองค์ทรงรักพวกเขาอย่างที่พวกเขาเป็น และทรงรักพวกเขาจนถึงที่สุดด้วย !
        การปิดหูปิดตาไม่ยอมรับความจริงว่าคนรักของเรามีข้อบกพร่อง  แล้วพยายามคิดสร้างภาพว่าเขาเป็นคนดีอย่างที่เราต้องการ  ผลที่จะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้นคือความผิดหวังและความเจ็บปวดแสนสาหัสของตัวเรานั่นเอง
    4.    อย่างให้อภัย
         ในบรรดาศิษย์ของพระองค์ ไม่มีใครเลยที่เข้าใจพระองค์จริง ๆ  พวกเขาเรียนรู้ช้าและดื้อ
         ยามที่พระองค์ถูกจับกุมและต้องการพวกเขามากที่สุด  พวกเขากลับหลบหนีแล้วปล่อยให้พระองค์ตกอยู่ในกำมือของศัตรูตามลำพัง
         แม้แต่หัวหน้าของพวกเขาก็ปฏิเสธพระองค์ถึงสามครั้ง
         แต่พระองค์ไม่เคยถือโทษพวกเขา เพราะไม่มีความผิดใดที่พระองค์ “ให้อภัย” ไม่ได้ !!
        นี่คือความรักแบบพระเยซูเจ้า !
        ปกติ มนุษย์เรามีธรรมชาติที่สุดแสนโหดร้ายอยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือเรามักแสดงอัธยาศัยไมตรีอันดีแก่ผู้ที่ไม่คุ้นเคย  ส่วนผู้ที่เราคุ้นเคยและรักมากที่สุด เรากลับทำร้ายพวกเขาไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม  เช่นเมื่อเหน็ดเหนื่อยหรือมีปัญหานอกบ้าน เรามักพูดกับคนอื่นว่า “ไม่เป็นไร”  แต่กับสมาชิกในครอบครัวที่เรารักมากที่สุด พวกเขากลับต้องรองรับอารมณ์ของเราไปเต็ม ๆ
         ความรักที่พร้อมให้อภัยแบบพระเยซูเจ้าจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน  หากเราไม่เรียนรู้ที่จะ“ให้อภัย” ซึ่งกันและกัน ความรักของเราก็มีแต่จะเหี่ยวแห้งเฉาตายไป
        ความรักที่ยืนนานต้องมีพื้นฐานอยู่บนการให้อภัยเสมอ เพราะความรักที่ไม่รู้จักให้อภัยมีแต่จะเหี่ยวแห้งเฉาตายไป !!!