เราได้เลือกท่าน

ยน 15:11-17
(11)เราบอกเรื่องเหล่านี้แก่ท่านทั้งหลายแล้ว เพื่อให้ความยินดีของเราอยู่กับท่าน และความยินดีของท่านจะสมบูรณ์ (12)นี่คือบทบัญญัติของเรา ให้ท่านทั้งหลายรักกัน เหมือนดังที่เรารักท่าน (13)ไม่มีใครมีความรักยิ่งใหญ่ กว่าการสละชีวิตของตนเพื่อมิตรสหาย (14)ท่านทั้งหลายเป็นมิตรสหายของเราถ้าท่านทำตามที่เราสั่งท่าน (15)เราไม่เรียกท่านว่าเป็นผู้รับใช้อีกต่อไป เพราะผู้รับใช้ไม่รู้ว่านายของตนทำอะไร เราเรียกท่านเป็นมิตรสหายเพราะเราแจ้งให้ท่านรู้ทุกสิ่งที่เราได้ยินมาจากพระบิดาของเรา (16)มิใช่ท่านทั้งหลายได้เลือกเรา แต่เราได้เลือกท่าน มอบภารกิจให้ท่านไปทำจนเกิดผล และผลของท่านจะคงอยู่ เพื่อว่าท่านจะขอสิ่งใดจากพระบิดาในนามของเรา พระบิดาจะประทานแก่ท่าน (17)เราสั่งท่านทั้งหลายดังนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงรักกัน



“มิใช่ท่านทั้งหลายได้เลือกเรา แต่เราได้เลือกท่าน” 
พระเยซูเจ้าทรงเลือกเราเพื่อ
    1.    “เพื่อให้ความยินดีของเราอยู่กับท่าน และความยินดีของท่านจะสมบูรณ์”  แม้ว่าหนทางชีวิตของคริสตชนจะยากลำบาก  แต่เพราะเรามีชีวิตใหม่ที่ได้รับการไถ่กู้โดยพระเยซูเจ้าแล้ว ชีวิตของเราในโลกนี้จึงต้องเต็มเปี่ยมไปด้วยความยินดี และยิ่งไปกว่านั้น เป้าหมายชีวิตของเราในโลกหน้ายังได้แก่ความยินดีอย่างสมบูรณ์อีกด้วย  เพราะฉะนั้น ความทุกข์และความโศกเศร้าจึงสวนทางกับชีวิตของคริสตชนโดยสิ้นเชิง
    2.    “ให้ท่านทั้งหลายรักกัน เหมือนดังที่เรารักท่าน”  พระองค์ทรงเลือกสรรเราเพื่อให้พวกเรารักกันและกัน ไม่ใช่แก่งแย่งกัน ถกเถียงกัน หรือทะเลาะเบาะแว้งกัน
        พระองค์ตรัสว่า “ไม่มีใครมีความรักยิ่งใหญ่ กว่าการสละชีวิตของตนเพื่อมิตรสหาย” และพระองค์ไม่เพียงแต่พูด แต่ได้ทรงกระทำแล้วโดยทรงยอมสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนเพื่อเราทุกคน  และเพราะพระองค์ได้ทรงแสดงความรักอันยิ่งใหญ่ต่อเราก่อน พระองค์จึงมีสิทธิ์เรียกร้องให้เราทุกคนรักกันและกัน
        หลายครั้ง การเทศน์สอนหรือการประกาศข่าวดีของเราไม่บังเกิดผล เพราะเราเรียกร้องให้ผู้อื่นรักกัน ในขณะที่ตัวเราเองดำเนินชีวิตราวกับว่าการแสดงความรักต่อผู้อื่นเป็นสิ่งสุดท้ายที่เราตั้งใจจะทำ
    3.    “เราเรียกท่านเป็นมิตรสหาย”  พระองค์ทรงเลือกเรามาเพื่อเป็น “เพื่อน”
        พระองค์ตรัสว่า “เราไม่เรียกท่านว่าเป็นผู้รับใช้อีกต่อไป”  คำ “ผู้รับใช้” ตรงกับภาษากรีก Doulos (ดูลอส) ซึ่งแปลว่า “ทาส”
        คำว่า “ทาสของพระเจ้า” หรือ “ผู้รับใช้ของพระเจ้า” เป็นคำที่บรรดามหาบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ใช้เรียกตนเองด้วยความภาคภูมิใจ เช่น โมเสส (ฉธบ 34:5), โยชูวา (ยชว 24:29), ดาวิด (สดด 89:20), เปาโล (ทต 1:1), และ ยากอบ (ยก 1:1) เป็นต้น
        แต่พระเยซูเจ้าทรงมีสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าอีกสำหรับเราทุกคน นั่นคือ  เราไม่ใช่ผู้รับใช้หรือทาสอีกต่อไป  แต่เราเป็นพระสหายของพระองค์
        สมัยก่อน ในพระราชสำนักของจักรพรรดิโรมันและบรรดากษัตริย์ทางตะวันออก จะมีบุคคลกลุ่มหนึ่งได้รับเลือกให้เป็น “พระสหาย”  พวกเขาเหล่านี้เป็นคนที่ใกล้ชิดและสนิทกับกษัตริย์มากที่สุด สามารถเข้านอกออกในได้ทุกแห่งและทุกเวลา แม้ในห้องบรรทมของกษัตริย์เอง  ทุก ๆ เช้ากษัตริย์จะพูดคุยกับพวกเขาก่อนออกพบปะกับบรรดาแม่ทัพนาย กอง และนักการเมืองเสียอีก
        เมื่อพระเยซูเจ้าทรงเลือกเรามาเป็น “สหายของพระเจ้า” จึงเป็นข้อเสนออันยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับเรามนุษย์  เพราะนับจากนี้ไป เราไม่ต้องชะเง้อมองพระเจ้าจากที่ไกล ๆ  เราไม่เหมือนทาสซึ่งไม่มีสิทธิ์ปรากฏกายต่อหน้าพระพักตร์  และเราไม่เหมือนฝูงชนที่มีโอกาสพบเห็นกษัตริย์เพียงชั่วครู่ชั่วยามเมื่อมีพิธีการสำคัญ
        ตรงกันข้าม เราเป็นสหายที่สนิทและใกล้ชิดพระเจ้ามากที่สุด !
    4.    นอกจากเป็น “เพื่อน” แล้ว พระองค์ยังเลือกเรามาเป็น “หุ้นส่วน” ของพระองค์อีกด้วย เพราะพระองค์ทรงตรัสว่า “เราแจ้งให้ท่านรู้ทุกสิ่งที่เราได้ยินมาจากพระบิดาของเรา”
        นับเป็นเกียรติอันยิ่งใหญ่ที่พระองค์ทรงเลือกเราเป็นหุ้นส่วนของพระองค์  และทรงบอกเราว่าพระองค์กำลังจะทำอะไร และทำไปทำไม ตามที่ทรงทราบมาจากพระบิดา
        จึงขึ้นกับเราแต่ละคนว่าจะ “ตอบรับ” หรือ “ปฏิเสธ” การเป็นหุ้นส่วนกับพระองค์ในอันที่จะทำให้โลกรู้จักพระเจ้า
    5.    พระองค์ทรงเลือกเรามาเพื่อ “มอบภารกิจให้ท่านไปทำ” นั่นคือให้เราเป็น “ทูต” หรือเป็น “ผู้แทนพระองค์” เพื่อนำพระองค์ไปสู่ประชาชนที่ยังไม่รู้จักพระองค์
        วงจรชีวิตของคริสตชนจึงได้แก่การเข้ามาหาพระเยซูเจ้า เพื่อให้พระองค์ส่งเราไปทำภารกิจ และวนเวียนอยู่เช่นนี้จนกว่าพระองค์จะเรียกเราไปอยู่กับพระองค์
    6.    พระองค์ทรงเลือกเรามาเพื่อให้ “ทำจนเกิดผล” และเป็นผลที่คงอยู่ชั่วนิรันดร
        ทุกวันนี้ เราจะเห็นว่าบริษัทที่ประสบความสำเร็จ คือบริษัทที่สามารถทำโฆษณาจนสามารถดึงดูดผู้อ่าน ผู้ฟัง หรือผู้ชมให้สนใจสินค้าของตนได้
        การทำให้ภารกิจของพระเยซูเจ้าประสบความสำเร็จก็เช่นเดียวกัน เราต้องโฆษณาศาสนาคริสต์ด้วยการดำเนินชีวิตเยี่ยงคริสตชนที่ดี เพื่อว่าเมื่อผู้อื่นเห็นผลของการเป็นคริสตชนของเราแล้ว พวกเขาจะถูกดึงดูดให้อยากเป็นคริสตชนเช่นเดียวกับเรา
        การถกเถียงเอาชนะกันด้วยปัญญา ด้วยสิ่งก่อสร้าง ด้วยการติดสินบน หรือด้วยการข่มขู่ใด ๆ ก็ตาม ล้วนไม่ใช่หนทางของพระเยซูเจ้า
    7.    พระองค์ทรงเลือกเรามาเพื่อให้ “มีอภิสิทธิ์ในฐานะสมาชิกของครอบครัวพระเจ้า” จนพระองค์กล้าตรัสว่า “เพื่อว่าท่านจะขอสิ่งใดจากพระบิดาในนามของเรา พระบิดาจะประทานแก่ท่าน”
        เงื่อนไขในการใช้อภิสิทธิ์
        7.1    ต้องวอนขอด้วยความเชื่อ (ยก 5:15) ถ้าเราวอนขอพระเจ้าให้เป็นคนดีโดยที่ตัวเราไม่เชื่อว่าเราจะเป็นคนดีได้ คำวอนขอนั้นย่อมไม่เกิดผล
            เราต้องพยายามทดแทนการท่องบทสวดซ้ำซากด้วยความเคยชิน ให้เป็นคำภาวนาที่เปี่ยมล้นด้วยความเชื่อในความรักของพระเจ้า
        7.2    ต้องวอนขอในนามของพระเยซูเจ้า นั่นคือต้องมั่นใจว่าพระองค์จะเห็นชอบให้ทูลขอจากพระบิดาได้  แน่นอนว่าพระองค์ย่อมไม่อนุมัติให้เราส่งคำขอให้ศัตรูจงพินาศไปยังพระบิดา
        7.3    ต้องวอนขอให้น้ำพระทัยจงสำเร็จไป  เพราะไม่มีใครรู้ดีเท่าพระเจ้า การวอนขอให้เราพร้อมรับน้ำพระทัยของพระองค์จึงเป็นคำวอนขอที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน
        7.4    ต้องวอนขออย่างไม่เห็นแก่ตัว พระเยซูเจ้าตรัสว่า “ถ้าท่านสองคนในโลกนี้พร้อมใจกันอ้อนวอนขอสิ่งหนึ่งสิ่งใด พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์จะประทานให้” (มธ 18:19) ความหมายก็คือเราแต่ละคนต้องไม่ยึดเอาความต้องการของตนเองเป็นใหญ่
            อะไรจะเกิดขึ้น หากวันนี้เราจะไปธุระนอกบ้าน จึงวอนขอไม่ให้ฝนตก  ในขณะที่ชาวนาต้องการฝนใจจะขาด ?
            ทางออกคือ เราแต่ละคนต้องเชื่อและไว้ใจในพระปรีชาญาณและความรักของพระเจ้า และพร้อมน้อมรับทุกอย่างที่พระองค์โปรดประทานแก่เรา
    ยิ่งเรารักพระเจ้ามากเท่าใด เรายิ่งพร้อมน้อมรับน้ำพระทัยของพระองค์มากเท่านั้น !