คำอธิษฐานของพระเยซูเจ้า


ยอห์น 17:1-26

(1) พระเยซูเจ้าตรัสดังนี้แล้ว ทรงเงยพระพักตร์ขึ้นเบื้องบนตรัสว่า “ข้าแต่พระบิดา ถึงเวลาแล้ว โปรดประทานพระสิริรุ่งโรจน์กับพระบุตรของพระองค์เถิด เพื่อพระองค์จะทรงรับพระสิริรุ่งโรจน์จากพระบุตร (2 ) ดังที่พระองค์ได้ประทานอำนาจกับพระบุตรเหนือมนุษย์ทั้งมวล เพื่อพระบุตรจะได้ประทานชีวิตนิรันดรกับทุกคนที่พระองค์ทรงมอบไว้ให้ (3) ชีวิตนิรันดรคือการรู้จักพระองค์พระเจ้าแท้จริงแต่พระองค์เดียว และรู้จักผู้ที่พระองค์ทรงส่งมาคือพระเยซูคริสตเจ้า (4) ข้าพเจ้าทำให้พระองค์ทรงได้รับพระสิริรุ่งโรจน์ในโลกนี้แล้ว โดยปฏิบัติภารกิจจนสำเร็จตามที่ทรงมอบหมายกับข้าพเจ้า (5) บัดนี้ พระบิดาเจ้าข้า โปรดประทานพระสิริรุ่งโรจน์กับข้าพเจ้า พระสิริรุ่งโรจน์ที่ข้าพเจ้าเคยมีร่วมกับพระองค์ตั้งแต่ก่อนสร้างโลก

กางเขนชัย
    สำหรับพระเยซูเจ้า จุดสูงสุดในชีวิตของพระองค์คือ “ไม้กางเขน” เพราะไม้กางเขนนำพระสิริรุ่งโรจน์มาสู่พระองค์ในชีวิตนี้ และเป็นหนทางสู่พระสิริรุ่งโรจน์ชั่วนิรันดรในโลกหน้าด้วย
    พระองค์หมายความว่าอะไรเมื่อตรัสว่า “เวลาที่บุตรแห่งมนุษย์จะได้รับพระสิริรุ่งโรจน์มาถึงแล้ว” (ยน 12:23) หรือพูดง่าย ๆ คือเวลาที่พระองค์จะถูกตรึงบนไม้กางเขนมาถึงแล้ว ความตายบนไม้กางเขนนำความรุ่งโรจน์มาสู่พระองค์ได้อย่างไร ?
    1.    ข้อเท็จจริงจากประวัติศาสตร์พิสูจน์ให้เห็นว่า ความรุ่งโรจน์ของบรรดาวีรบุรุษและวีรสตรีจำนวนมากอยู่ที่ “ความตาย” ของพวกเขา
        โยนออฟอาร์คถูกชาวอังกฤษเผาทั้งเป็นข้อหาเป็นแม่มดและมีความเชื่อผิด ๆ  ท่ามกลางฝูงชนที่มุงดูการประหาร มีชาวอังกฤษคนหนึ่งซึ่งเคยสัญญาว่าจะเป็นคนเติมฟืนเข้าไปในกองไฟที่กำลังเผาผลาญโยนออฟอาร์คด้วยตัวเอง แต่เมื่อเห็นความตายของเธอ เขากลับร้องอุทานออกมาว่า “ขอให้วิญญาณของข้าพเจ้าได้อยู่ที่เดียวกับวิญญาณของหญิงผู้นี้ด้วยเถิด”  และหนึ่งในบรรดาเลขาของกษัตริย์แห่งอังกฤษกลับไปพร้อมกับกล่าวว่า “พวกเราทำผิดใหญ่หลวงเพราะได้เผานักบุญไปองค์หนึ่ง”
        ครั้งแล้วครั้งเล่าที่ความยิ่งใหญ่ของบรรดามรณสักขีปรากฏเวลาพวกเขาตาย  พระเยซูเจ้าก็เช่นกัน ที่เชิงไม้กางเขน นายร้อยและบรรดาทหารที่เฝ้าพระเยซูเจ้า เมื่อเห็นแผ่นดินไหวและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็ตกใจกลัวยิ่งนัก กล่าวว่า “ชายคนนี้เป็นบุตรของพระเจ้าแน่ทีเดียว” (มธ 27:54)
        “กางเขน” เป็นเสมือนแม่เหล็กที่ดึงดูดมนุษย์ทุกชาติทุกภาษามาหาพระองค์ ซึ่งมีจำนวนมากชนิดเทียบกันไม่ได้เลยกับจำนวนศิษย์ขณะที่พระองค์ยังมีพระชนม์ชีพอยู่ !
     2.     กางเขนคือการสิ้นสุดภารกิจของพระองค์ ดังที่ทรงตรัสว่า “ข้าพเจ้าทำให้พระองค์ทรงได้รับพระสิริรุ่งโรจน์ในโลกนี้แล้ว โดยปฏิบัติภารกิจจนสำเร็จตามที่ทรงมอบหมายกับข้าพเจ้า” (ข้อ 4)
        พระองค์เสด็จมาเพื่อบอกและแสดงให้เห็นว่าพระเจ้าทรงรักมนุษย์มากสักเพียงใด หากพระองค์ไม่ยอมเผชิญหน้ากับไม้กางเขนก็ย่อมแสดงว่าพระเจ้าทรงรักมนุษย์แค่ระดับหนึ่งเท่านั้น
        แต่ถ้าพระองค์ยอมรับความตายบนไม้กางเขน นั่นย่อมแสดงว่า “ไม่มีสิ่งใดที่จะกีดกั้นความรักของพระเจ้าจากการทนทุกข์เพื่อเรามนุษย์ได้”
    3.    กางเขนทำให้พระบิดาได้รับพระสิริรุ่งโรจน์ ดังที่ทรงตรัสว่า “ข้าพเจ้าทำให้พระองค์ทรงได้รับพระสิริรุ่งโรจน์ในโลกนี้แล้ว” (ข้อ 4)
        เหตุผลคือ หนทางเดียวที่จะทำให้พระบิดาได้รับพระสิริรุ่งโรจน์ก็คือการ “นบนอบพระองค์”  เหมือนบุตรทำให้พ่อแม่ได้รับเกียรติโดยการนบนอบพ่อแม่  ศิษย์ทำให้ครูได้รับเกียรติโดยการเชื่อฟังคำสั่งสอนของท่าน เป็นต้น
        พระเยซูเจ้าจะหลีกหนีกางเขนโดยไม่เสด็จไปกรุงเยรูซาเล็มก็ได้ แต่พระองค์เลือกที่จะให้เกียรติพระบิดาด้วยการนบนอบพระองค์แบบสุด ๆ
        สิ่งเดียวที่เรามนุษย์พูดได้คือ “ดูสิ พระองค์ช่างรักพระบิดาจริง ๆ  ดูสิ พระองค์ช่างนบนอบพระบิดาจนถึงที่สุด !”
    4.    กางเขนทำให้พระเยซูเจ้าเองได้รับพระสิริรุ่งโรจน์  ดังที่ทรงวอนขอพระบิดาว่า “โปรดประทานพระสิริรุ่งโรจน์กับพระบุตรของพระองค์เถิด” (ข้อ 1)
        พระสิริรุ่งโรจน์ที่พระบิดามอบให้พระบุตรคือ “การกลับคืนชีพ”  เพราะฉะนั้นกางเขนจึงไม่ใช่จุดจบ แต่เป็นหนทางสู่ความรุ่งโรจน์ของพระเยซูเจ้า
        กางเขนคือความเลวร้ายที่สุดเท่าที่มนุษย์สามารถหยิบยื่นให้แก่พระองค์ได้ แต่นี่มิใช่ความอัปยศอดสูหรือความพ่ายแพ้ เพราะความรุ่งโรจน์แห่งการกลับคืนชีพทำให้ความอดสูทั้งมวลของไม้กางเขนหมดสิ้นไป
    5.    กางเขนคือหนทางกลับไปหาพระบิดา  พระองค์จึงวอนขอว่า “บัดนี้ พระบิดาเจ้าข้า โปรดประทานพระสิริรุ่งโรจน์กับข้าพเจ้า พระสิริรุ่งโรจน์ที่ข้าพเจ้าเคยมีร่วมกับพระองค์ ตั้งแต่ก่อนสร้างโลก” (ข้อ 5)
        พระเยซูเจ้ามาจากพระเจ้าและกำลังจะกลับไปหาพระองค์  หนทางเดียวที่จะนำพระองค์กลับไปหาพระบิดาคือ “ไม้กางเขน”
        หากพระองค์ปฏิเสธไม้กางเขน พระองค์จะไม่มีวันได้เข้าสู่พระสิริรุ่งโรจน์เลย

ชีวิตนิรันดร
    พระเยซูเจ้าตรัสว่า “ชีวิตนิรันดรคือการรู้จักพระองค์พระเจ้าแท้จริงแต่พระองค์เดียว และรู้จักผู้ที่พระองค์ทรงส่งมาคือพระเยซูคริสตเจ้า” (ข้อ 3)
    นี่คือคำจำกัดความของชีวิตนิรันดร !
    ชีวิตนิรันดรคือ “การรู้จักพระเจ้า”
    ในพระธรรมเก่า การรู้จักพระเจ้าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งดังตัวอย่างที่ยกมาเช่น “ปัญญาเป็นต้นไม้แห่งชีวิตแก่ผู้ที่ยึดเธอไว้” (สภษ 3:18) “จงยอมรับรู้พระองค์ในทุกทางของเจ้า และพระองค์จะทรงกระทำให้วิถีของเจ้าราบรื่น” (สภษ 3:6) “คนชอบธรรมได้รับการช่วยให้พ้นด้วยอาศัยความรู้” (สภษ 11:9) “ประชากรของเราถูกทำลายเพราะขาดความรู้” (ฮชย 4:6)
    เมื่อการรู้จักพระเจ้าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการมีชีวิตที่แท้จริง ปัญหาคือการรู้จักพระเจ้าหมายความว่าอะไร ?
    1.    สิ่งแรกสุดเป็นเรื่องของสติปัญญาคือ “รู้ว่าพระเจ้าเป็นเช่นใด”  และความรู้เช่นนี้ย่อมทำให้วิถีดำเนินชีวิตของเราแตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง
        ตั้งแต่โบราณ มนุษย์เชื่อว่ามีเทพเจ้ามากมาย  ต้นไม้ทุกต้น ลำธาร แม่น้ำ เนินเขา ภูเขา หรือแม้แต่ก้อนหินทุกก้อนล้วนมีวิญญาณของเทพเจ้าสิงสถิตอยู่ วิญญาณเหล่านี้เป็นศัตรูและชอบหลอกหลอนมนุษย์ให้เกรงกลัว จะได้ไม่กล้าขัดขืนเทพเจ้า
        มิชชันนารี่จำนวนมากเล่าถึงความยินดีปรีดาของมนุษย์มากมายหลายเผ่าพันธุ์ที่ทราบข่าวดีว่ามีพระเจ้าเพียงพระองค์เดียว แถมยังไม่เกรี้ยวกราดดุร้าย แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก ซึ่งเราไม่มีทางทราบได้เลยหากพระเยซูเจ้าไม่เสด็จมาบอกเรา
        อนึ่งคำ “นิรันดร” ตรงกับภาษากรีก “aionis” ซึ่งมีความหมายเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ กล่าวคือชีวิตนิรันดรไม่ใช่ชีวิตที่ยืนยาวนานไม่มีที่สิ้นสุด แต่หมายถึงชีวิตที่มีคุณภาพสูงสุด และมีเพียงผู้เดียวที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับคำนี้ นั่นคือ “พระเจ้า”
        เพราะฉะนั้น ชีวิตนิรันดรจึงได้แก่ชีวิตแบบพระเจ้า  ผู้ที่มีชีวิตนิรันดรคือผู้ที่ได้ลิ้มรสความรุ่งเรือง ความยิ่งใหญ่ ความร่าเริงยินดี ความสุขสันติ และความศักดิ์สิทธิ์ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นคุณลักษณะของชีวิตแบบพระเจ้า
         อาศัยพระเยซูเจ้า นอกจากเราจะรู้ว่าพระเจ้าทรงเป็นเช่นใดแล้ว พระองค์ยังช่วยให้เราเริ่มมีส่วนในชีวิตแบบพระองค์ตั้งแต่ในโลกนี้ และจะสมบูรณ์แบบในโลกหน้า
        ชีวิตนิรันดรจึงได้แก่ การรู้จักและการดำเนินชีวิตแบบพระเจ้า ด้วยประการฉะนี้
    2.    ในพระธรรมเก่า ความรู้ยังบ่งบอกถึงความสัมพันธ์อันลึกซึ้งดังเช่น “อาดัมรู้จักเอวาภรรยาของตน แล้วนางก็ตั้งครรภ์และให้กำเนิดกาอิน” (ปฐก 4:1)
        จะเห็นว่าความรู้ระหว่างสามีและภรรยาก่อให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวสูงสุดทั้งทางความคิด สติปัญญา จิตใจ และร่างกาย
        การรู้จักพระเจ้าจึงไม่ใช่เพียงรู้ว่าพระองค์เป็นเช่นใดเท่านั้น แต่ยังต้องมีความสัมพันธ์ส่วนตัวอันใกล้ชิดเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ เหมือนกับที่เรามีต่อคนที่ใกล้ชิดและเรารักมากที่สุด
        และเช่นเดิม หากปราศจากพระเยซูเจ้า ความเป็นหนึ่งเดียวนี้ย่อมไม่มีทางเป็นไปได้แม้แต่จะคิด  เป็นพระองค์เองที่ทรงสอนเราว่าพระเจ้ามิได้อยู่ห่างไกล แต่เป็นบิดาที่อยู่ใกล้ชิดและทรงรักเรามนุษย์ทุกคน


(6) ข้าพเจ้าได้แสดงพระนามของพระองค์กับมนุษย์ที่พระองค์ทรงนำจากโลกมามอบให้ข้าพเจ้า เขาทั้งหลายเป็นของพระองค์และพระองค์ทรงมอบเขากับข้าพเจ้า เขาได้ปฏิบัติตามพระวาจาของพระองค์ (7) บัดนี้ เขารู้แล้วว่าทุกสิ่งที่พระองค์ทรงมอบให้ข้าพเจ้านั้นมาจากพระองค์ (8) เพราะพระวาจาที่พระองค์ทรงมอบให้ข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้ามอบให้เขาแล้ว เขาได้รับไว้และรู้แน่นอนว่าข้าพเจ้ามาจากพระองค์ และเขาก็เชื่อว่าพระองค์ทรงส่งข้าพเจ้ามา (9) ข้าพเจ้าอธิษฐานภาวนาสำหรับเขาเหล่านี้ ข้าพเจ้ามิได้อธิษฐานภาวนาสำหรับโลก แต่สำหรับผู้ที่พระองค์ทรงมอบให้ข้าพเจ้าเพราะเขาเป็นของพระองค์ (10) ทุกสิ่งที่เป็นของข้าพเจ้าเป็นของพระองค์ ทุกสิ่งที่เป็นของพระองค์ก็เป็นของข้าพเจ้า และข้าพเจ้าได้รับสิริรุ่งโรจน์โดยทางเขา
(11) ข้าพเจ้าไม่อยู่ในโลกอีกต่อไปแต่เขายังอยู่ในโลก และข้าพเจ้ากำลังกลับไปเฝ้าพระองค์
ข้าแต่พระบิดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ โปรดเฝ้ารักษาบรรดาผู้ที่ทรงมอบให้ข้าพเจ้าไว้ในพระนามของพระองค์ เพื่อเขาจะได้เป็นหนึ่งเดียวกันเหมือนกับพระองค์และข้าพเจ้า (12) เมื่อข้าพเจ้าอยู่กับบรรดาผู้ที่พระองค์ทรงมอบให้ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเฝ้ารักษาเขาเหล่านั้นไว้ในพระนามของพระองค์
ข้าพเจ้าเฝ้ารักษาไว้ และไม่มีผู้ใดพินาศเว้นแต่ผู้ที่ต้องพินาศเพื่อให้เป็นจริงตามพระคัมภีร์ (13) แต่บัดนี้ ข้าพเจ้ากำลังกลับไปเฝ้าพระองค์ ข้าพเจ้ากล่าววาจานี้ขณะที่ยังอยู่ในโลก เพื่อบรรดาผู้ที่พระองค์ทรงมอบให้ข้าพเจ้าจะมีความยินดีบริบูรณ์พร้อมกับข้าพเจ้า (14) ข้าพเจ้ามอบพระวาจาของพระองค์ให้เขาเหล่านั้นแล้ว และโลกเกลียดชังเขาเพราะเขาไม่เป็นของโลกเช่นเดียวกับที่ข้าพเจ้าไม่เป็นของโลก (15) ข้าพเจ้าไม่ได้วอนขอพระองค์ให้ทรงยกเขาออกจากโลก แต่วอนขอให้ทรงรักษาเขาให้พ้นจากมารร้าย (16) เขาไม่เป็นของโลกเช่นเดียวกับที่ข้าพเจ้าไม่เป็นของโลก (17) โปรดบันดาลให้เขาศักดิ์สิทธิ์โดยอาศัยความจริง พระวาจาของพระองค์คือความจริง (18) พระองค์ทรงส่งข้าพเจ้ามาในโลกฉันใด ข้าพเจ้าก็ส่งเขาเข้าไปในโลกฉันนั้น (19) ข้าพเจ้าถวายตนเป็นบูชาสำหรับเขา เพื่อเขาจะได้รับความศักดิ์สิทธิ์อย่างแท้จริงด้วย

ภารกิจของพระเยซูเจ้า
    คำภาวนาของพระเยซูเจ้าที่ว่า “ข้าพเจ้าได้แสดงพระนามของพระองค์” นั้นบ่งบอกถึงภารกิจของพระองค์ได้อย่างชัดเจน นั่นคือ “แสดงพระนามของพระเจ้า” (ข้อ 6)
     และเมื่อพูดถึง “นาม” หรือ “ชื่อ” เราอาจสรุปภารกิจของพระองค์ได้ 2 ประการคือ ทำให้มนุษย์รู้จักธรรมชาติของพระเจ้า และทำให้พระเจ้าอยู่ใกล้ชิดกับเรามนุษย์

    1.    ความคิดอันเป็นคุณลักษณะพิเศษของพระธรรมเก่าคือ “นาม” ไม่ใช่เพียงชื่อที่ใช้เรียกคนหนึ่งคนใดเท่านั้น แต่หมายรวมถึงบุคลิกลักษณะเฉพาะที่ทำให้บุคคลนั้นเป็นคน ๆ นั้น ดังตัวอย่างเช่น
        เพลงสดุดีบทที่ 9 ข้อ 10 กล่าวว่า “ผู้ที่รู้จักพระนาม ย่อมวางใจในพระองค์” ความหมายคือ คนที่รู้จักบุคลิกลักษณะและธรรมชาติของพระเจ้าว่าเป็นเช่นใดเท่านั้นจึงจะกล้าวางใจในพระองค์  ไม่ใช่เพียงแค่รู้ว่าต้องเรียกพระเจ้าว่าอะไรแล้วจะวางใจในพระองค์
         “บางคนหวังพึ่งรถศึก บางคนทระนงด้วยม้าศึก แต่เราทั้งหลายเรียกหาพระนามพระยาห์เวห์ พระเจ้าของเรา” (สดด 20:7) ยอมบ่งบอกชัดเจนว่าชาวยิววางใจพระเจ้าเพราะพวกเขารู้ว่าพระองค์ทรงเป็นเช่นใด
        และในเพลงสดุดีที่ 22:22 ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นคำทำนายถึงพระเมสสิยาห์และภารกิจของพระองค์ก็กล่าวไว้ว่า “ข้าพเจ้าจะประกาศพระนามของพระองค์แก่บรรดาพี่น้อง”
        ประกาศกอิสยาห์ทำนายถึงยุคสมัยของพระเมสสิยาห์ไว้ว่า “ประชากรของเราจะรู้จักพระนามของเรา” (อสย 52:6) นั่นคือรู้จริงและรู้อย่างเต็มเปี่ยมว่าพระเจ้าทรงเป็นเช่นใด
        เพราะฉะนั้น เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสว่า “ข้าพเจ้าได้แสดงพระนามของพระองค์” พระองค์กำลังบอกว่า “ข้าพเจ้าได้ทำให้มนุษย์สามารถมองเห็นธรรมชาติที่แท้จริงของพระเจ้าว่าทรงเป็นเช่นใด”
        ซึ่งมีความหมายเหมือนที่เคยตรัสไว้ว่า “ผู้ที่เห็นเรา ก็เห็นพระบิดาด้วย” (ยน 14:9) และนี่เป็นสิทธิอันสูงสุดของพระองค์แต่ผู้เดียวที่ “ในพระองค์” มนุษย์สามารถมองเห็นความคิด จิตใจ และบุคลิกลักษณะของพระเจ้า
    2.    พระนามของพระเจ้าศักดิ์สิทธิ์ มนุษย์ธรรมดาอย่างเราไม่สามารถเรียกนามของพระองค์ได้  มีเพียงมหาสมณะแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้นที่สามารถออกนามของพระองค์ได้ แต่ก็จำกัดเฉพาะในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของพระวิหาร และเอ่ยพระนามได้เพียงปีละครั้งในวันชดเชยบาป
        นามของพระเจ้าประกอบด้วยอักษรฮีบรู 4 ตัวคือ IHWH (อ่านออกเสียงแบบฮีบรูว่า โยด เฮ วาว เฮ) เมื่อประสมกับเสียงสระที่ถูกต้องควรอ่านว่า “ยาห์เวห์” แต่เพราะนามนี้ศักดิ์สิทธิ์เกินกว่ามนุษย์ธรรมดาจะออกเสียงได้  ชาวยิวจึงเลือกประสมเสียงสระแบบคำ Adonai (อะโดนัย) ซึ่งแปลว่า My Lord จึงได้เสียงพระนามของพระเจ้าเป็น Jehovah (ยะโฮวาห์)
        แปลว่าก่อนพระเยซูเจ้าเสด็จมา พระเจ้านั้นอยู่แสนห่างไกล เป็นกษัตริย์ที่มองไม่เห็น แม้แต่พระนามก็ศักดิ์สิทธิ์เกินกว่ามนุษย์จะบังอาจออกเสียงเรียกได้
        แต่บัดนี้ พระองค์กำลังบอกเราว่า “เราได้สอนพวกท่านถึงธาตุแท้ของพระเจ้า เราได้ทำให้พระเจ้าที่อยู่ห่างไกลและมองไม่เห็นมาอยู่ใกล้ชิดกับพวกท่าน จนว่าแม้คนที่ต่ำต้อยที่สุดก็ยังเรียกขานพระนามของพระองค์ได้”
    และเหนือสิ่งอื่นใด พระองค์ทรงอธิษฐานต่อพระบิดาว่า “ทุกสิ่งที่เป็นของข้าพเจ้าเป็นของพระองค์ ทุกสิ่งที่เป็นของพระองค์ก็เป็นของข้าพเจ้า” (ข้อ 10)
    ผู้ที่จะพูดเช่นนี้ได้ก็มีแต่พระเจ้าเท่านั้น !
    นี่แสดงถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างพระบิดาและพระบุตรแบบสุด ๆ จนว่าพระองค์สามารถใช้พระราชอำนาจอันเป็นของพระบิดาได้
    คราวนี้ เป็นพระเจ้าเองที่เสด็จลงมาประทับอยู่ท่ามกลางเรามนุษย์ !
   
ความหมายของการเป็นศิษย์
    จากคำอธิษฐานภาวนาของพระเยซูเจ้า เราอาจสรุปความหมายของการเป็นศิษย์ของพระองค์ได้ดังนี้
    1.    ศิษย์คือผู้ที่ตระหนักว่าพระเยซูเจ้าทรงมาจากพระเจ้า (ข้อ 8) พระองค์เป็นเสมือนทูตของพระเจ้า ทุกวาจาที่ออกจากพระโอษฐ์ของพระองค์คือพระสุรเสียงของพระเจ้า และทุกสิ่งที่พระองค์ทรงกระทำคือกิจการของพระเจ้า  มนุษย์สามารถมองเห็นพระเจ้าได้ในองค์พระเยซูเจ้า
        นี่คือคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของการเป็นศิษย์ของพระองค์
    2.    ศิษย์คือผู้ที่นบนอบ และพร้อม “ปฏิบัติตามพระวาจาของพระเจ้าที่ตรัสผ่านทางพระเยซูเจ้า” (ข้อ 6)
        ตราบใดที่เรายังทำตามใจชอบ เราไม่อาจเป็นศิษย์ของพระองค์ได้เลย
    3.    ศิษย์คือผู้ที่พระเจ้าทรงกำหนดจุดมุ่งหมายไว้แล้ว ดังที่ทรงตรัสว่า “เขาทั้งหลายเป็นของพระองค์ และพระองค์ทรงมอบเขากับข้าพเจ้า” (ข้อ 6)
        กล่าวคือ เป็นแผนการของพระเจ้าที่จะให้สาวกทั้ง 11 คน (ยูดาสออกจากห้องจัดเลี้ยงอาหารค่ำครั้งสุดท้ายไปแล้ว) เป็นศิษย์ของพระเยซูเจ้า  แต่คำกล่าวนี้มิได้หมายความว่าพระเจ้าทรงกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้วว่าใครจะเป็นศิษย์ หรือใครจะทรยศพระองค์
        เราอาจเข้าใจความหมายของพระวาจานี้ได้โดยอาศัยการเปรียบเทียบกับตัวอย่างดังเช่น
        พ่อแม่ย่อมใฝ่ฝันถึงอนาคตอันยิ่งใหญ่ของลูก ๆ และพยายามเตรียมการทุกอย่างเพื่อให้ลูก ๆ บรรลุอนาคตอันยิ่งใหญ่นั้น
        ครูย่อมฝันและเตรียมศิษย์ให้พร้อมสำหรับอนาคตอันยิ่งใหญ่สุด ๆ
        เรียกว่ามนุษย์ทุกคนย่อมใฝ่ฝันและเตรียมแผนการสำหรับความยิ่งใหญ่ของคนที่ตนรัก !
        แต่ลูก ๆ รวมถึงลูกศิษย์และคนที่เรารักก็ยังมีเสรีภาพที่จะเลือกเดินตามแผน หรือปฏิเสธแผนการสู่ความยิ่งใหญ่นี้ได้
        พระเจ้าก็เช่นกัน พระองค์ทรงเตรียมแผนการเพื่อความรุ่งโรจน์และยิ่งใหญ่เหลือพรรณนาสำหรับเรา “ทุกคน”  แต่เราจะเลือกเดินตามแผนของพระองค์หรือไม่ย่อมขึ้นกับตัวเราเอง
        และนี่คือความรับผิดชอบของเราทุกคน !
        เราจะกล้าทำให้พระองค์ผิดหวังหรือในเมื่อพระองค์อธิษฐานว่า “พระวาจาที่พระองค์ทรงมอบให้ข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้ามอบให้เขาแล้ว เขาได้รับไว้” (ข้อ 8)
        คำอธิษฐานนี้แสดงถึงน้ำเสียงแห่งความมั่นใจของพระเยซูเจ้าแบบสุด ๆ  เพราะศิษย์คือผู้ที่พระบิดาทรงกำหนดจุดมุ่งหมายไว้แล้ว  พระองค์จึงมั่นใจว่าศิษย์เหล่านี้จะสืบสานภารกิจของพระองค์ต่อไปในอนาคต
        แม้ศิษย์ของพระองค์จะเป็นเพียงชาวประมงธรรมดา ๆ อีกทั้งชีวิตของพระองค์ก็ดูเหมือนจะไม่ประสบความสำเร็จมากนัก แต่พระองค์ก็มีบรรดาศิษย์เป็นหลักประกันแล้วว่างานของพระองค์จะได้รับการสานต่อในโลกนี้
        เท่ากับว่าพระเยซูเจ้าทรงเชื่อมั่นทั้งในพระเจ้าและในมนุษย์
        นี่คือเกียรติอันยิ่งใหญ่สุด ๆ ที่พระองค์ทรงไว้วางพระทัยในตัวเรา  และเราต้องไม่หวั่นเกรงกับความอ่อนแอหรือด้อยค่าของเรา จนกลายเป็นคนมองอนาคตในแง่ร้าย
        เพราะหากเราเชื่อมั่นในพระเจ้าและในมนุษย์ดังที่พระองค์ทรงให้แบบอย่างไว้แล้ว  ความเป็นไปได้ในชีวิตนี้ย่อมไม่มีที่สิ้นสุด
    4.    ศิษย์คือผู้ที่นำความรุ่งโรจน์มาสู่พระเยซูเจ้า ดังที่ทรงตรัสว่า “ข้าพเจ้าได้รับสิริรุ่งโรจน์โดยทางเขา” (ข้อ 10)
        เหมือนคนไข้ที่หายจากโรคย่อมนำเกียรติยศมาสู่แพทย์ผู้ทำการรักษา  หรือนักกีฬาที่ประสบชัยชนะย่อมนำชื่อเสียงมาสู่ครูผู้ฝึกสอนฉันใด
        พระเยซูเจ้าก็ได้รับสิริรุ่งโรจน์โดยทางบุคคลที่พระองค์ทรงช่วยให้รอดฉันนั้น
    5.    ศิษย์คือผู้ที่ได้รับมอบหมายภารกิจ (ข้อ 18) และภารกิจนั้นคือการนำโลกกลับมาเป็นศิษย์ของพระองค์
        พระเยซูเจ้าตรัสว่า “ข้าพเจ้ามิได้อธิษฐานภาวนาสำหรับโลก”  เพราะคำว่า “โลก” ในพระวรสารของนักบุญยอห์นหมายถึง “สังคมมนุษย์ที่ปราศจากพระเจ้า”
        แต่เนื่องจาก “พระเจ้าทรงรักโลกอย่างมาก” (ยน 3:16) จึงเป็นหน้าที่ของบรรดาศิษย์ที่จะทำให้โลกที่ปราศจากพระเจ้ากลับมาเป็นศิษย์ของพระองค์
    6.    ศิษย์คือผู้ที่มีความยินดี ดังที่พระองค์ทรงวอนขอพระบิดาว่า “เพื่อบรรดาผู้ที่พระองค์ทรงมอบให้ข้าพเจ้าจะมีความยินดีบริบูรณ์พร้อมกับข้าพเจ้า” (ข้อ 13)
    7.    ศิษย์คือผู้ที่แตกต่างจากโลก และดังนั้น “โลกเกลียดชังเขา เพราะเขาไม่เป็นของโลก” (ข้อ 14)
        ค่านิยมและมาตรฐานของบรรดาศิษย์นั้นแตกต่างจากของโลก พวกเขาจึงต้องต่อสู้ดิ้นรนกับกระแสของโลก เพื่อจะได้บรรลุถึงความยินดีอย่างบริบูรณ์

คำอธิษฐานเพื่อบรรดาศิษย์
    สิ่งที่น่าสนใจมากในพระวรสารบทนี้คือ พระเยซูเจ้าทรงวอนขอสิ่งใดเพื่อบรรดาศิษย์ของพระองค์ ?
    เราพอสรุปได้ดังนี้
    1.    สิ่งที่น่าสังเกตเป็นอันดับแรกคือ พระองค์ทรงภาวนาว่า “ข้าพเจ้าไม่ได้วอนขอพระองค์ให้ทรงยกเขาออกจากโลก” (ข้อ 15)
        ความหมายคือ พระองค์ไม่ต้องการให้บรรดาศิษย์หนีจากโลก แต่ต้องเอาชนะโลกโดยการนำโลกกลับมาหาพระเจ้า
        ชีวิตที่หลบหนีจากโลกเพื่อสวดภาวนาหรือรำพึงอยู่ในที่เปลี่ยว ย่อมเป็นความเชื่อฉบับย่อในสายตาของพระเยซูเจ้า
        พระองค์ทรงพลีชีพเพื่อความเชื่อที่ยิ่งใหญ่กว่านี้
        จริงอยู่การหาเวลาสงบเงียบเพื่อรำพึงและสวดภาวนาต่อหน้าพระเจ้าเป็นสิ่งจำเป็น แต่สิ่งนี้เป็นเพียงเครื่องมือ ไม่ใช่จุดหมายปลายทางของชีวิต
        พระองค์ปรารถนาให้เราดำเนินชีวิตเยี่ยงคริสตชนขณะที่เราทำหน้าที่การงานประจำวันของเราในโลกนี้
        การเป็นคริสตชนไม่ได้หมายถึงการถอนตัวจากทุกสิ่ง แต่หมายถึงการเตรียมเราให้พร้อมสำหรับเผชิญหน้ากับทุกสิ่ง
        การเป็นคริสตชนไม่ได้หมายถึงการหลบหนีปัญหา แต่หมายถึงหนทางแก้ปัญหา
        การเป็นคริสตชนไม่ได้หมายถึงสันติภาพ แต่หมายถึงชัยชนะจากการสู้รบ
        การเป็นคริสตชนไม่ได้หมายถึงชีวิตที่ปราศจากปัญหา แต่เป็นชีวิตที่กล้าเผชิญหน้ากับปัญหาและเอาชนะมัน !
        จริงอยู่ คริสตชนไม่ได้เป็นของโลก แต่เราต้องใช้ชีวิตอยู่ในโลก และพยายามนำโลกกลับมาหาพระเจ้า
        นี่คือคำวอนขอประการแรกของพระเยซูเจ้า !
    2.    พระองค์วอนขอให้ศิษย์เป็นหนึ่งเดียวกัน ดังข้อ 11 ที่ว่า “เพื่อเขาจะได้เป็นหนึ่งเดียวกันเหมือนกับพระองค์และข้าพเจ้า”
        ที่ใดมีการแบ่งแยก กีดกัน หรือแข่งขันชิงดีชิงเด่นกัน ความเป็นคริสตชนที่นั่นย่อมตกอยู่ในอันตราย และคำภาวนาของพระเยซูเจ้าย่อมเป็นหมัน
        ไม่มีทางที่เราจะประกาศข่าวดีของพระองค์ได้หากเราไม่เป็นหนึ่งเดียวกัน และเราต้องเป็นหนึ่งเดียวกันแบบเดียวกับที่พระบิดาและพระบุตรเป็นหนึ่งเดียวกัน
        น่าเสียดายที่ไม่มีคำภาวนาใดของพระองค์ที่จะถูกพวกเราละเลยมากเท่าคำภาวนาประการนี้ !
    3.    พระองค์ทรงวอนขอพระบิดาให้ “ทรงรักษาเขาให้พ้นจากมารร้าย” (ข้อ 15)
        แม้พระคัมภีร์ไม่เคยพูดถึงต้นกำเนิดของมารร้าย แต่ก็ยอมรับว่าในโลกนี้มีอำนาจชั่วร้ายที่อยู่ตรงข้ามกับอำนาจของพระเจ้าอยู่
        ช่างน่าอุ่นใจสักเพียงใดที่พระองค์ทรงวอนขอพระบิดาให้เป็นเสมือนยามคอยเฝ้าระวังและปกป้องเราให้พ้นจากอำนาจชั่วร้ายนี้
        แต่ที่เราพลาดท่าพ่ายแพ้ครั้งแล้วครั้งเล่านั้น เป็นเพราะว่าเราต่อสู้กับชีวิตด้วยกำลังของเราเองตามลำพัง โดยลืมที่จะวอนขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าผู้สถิตอยู่และคอยปกป้องพวกเรา
    4.    พระองค์วอนขอให้พวกศิษย์ศักดิ์สิทธิ์โดยอาศัยความจริง ดังสำนวนแปลของคริสเตียนที่ว่า “ข้าพระองค์แยกตัวให้บริสุทธิ์ เพราะเห็นแก่เขาทั้งหลาย เพื่อให้เขารับการแยกให้บริสุทธิ์ด้วยความจริง” (ข้อ 19)
        คำศัพท์ที่ใช้ในภาษาอังกฤษคือ consecrate ภาษากรีกคือ hagiazein (ฮากีอาเซน) ซึ่งมาจากคุณศัพท์ hagios (ฮากีออส) ซึ่งเรามักแปลว่า “ศักดิ์สิทธิ์” แต่ความหมายดั้งเดิมคือ “แตกต่าง” หรือ “แยกออก”
        Hagiazein จึงมีความหมายเป็น 2 นัยคือ
        4.1    การแยกออกต่างหากเพื่อภารกิจพิเศษ  ตัวอย่างเช่นเมื่อพระเจ้าทรงเรียกประกาศกเยเรมีย์ พระองค์ตรัสว่า “ก่อนที่เจ้าคลอดจากครรภ์ เราได้แยก (consecrate) ตัวเจ้าไว้แล้ว” หรือเมื่อพระองค์จะตั้งสถาบันสงฆ์ในอิสราเอล ทรงตรัสสั่งโมเสสให้ “แยก” บรรดาบุตรหลานของอาโรนเพื่อทำหน้าที่สงฆ์ (อพย 28:41)
        4.2    การเตรียมบุคคลหนึ่งให้มีความคิด จิตใจ และคุณลักษณะที่พร้อมสำหรับภารกิจพิเศษนั้น
            หากเราจะรับใช้พระเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์ เราจำเป็นต้องมีความดีของพระเจ้า ปรีชาญาณของพระองค์ และความศักดิ์สิทธิ์อยู่ในตัวเราบ้าง
        ทั้งหมดนี้หมายความว่า พระเยซูเจ้าทรงวอนขอพระบิดาให้ทรงแยกบรรดาศิษย์ออกมาเพื่อภารกิจพิเศษ
        และในเวลาเดียวกันพระองค์ก็แยกตัวพระองค์เองออกมาให้ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อจะได้ทำให้พวกศิษย์มีความศักดิ์สิทธิ์และพร้อมสำหรับภารกิจนั้นด้วย
        พระองค์ทรงวอนขอพระบิดาให้พวกเราศักดิ์สิทธิ์ด้วย !


(20) ข้าพเจ้าอธิษฐานภาวนามิใช่สำหรับคนเหล่านี้เท่านั้น แต่สำหรับผู้ที่จะเชื่อในข้าพเจ้าผ่านทางวาจาของเขาด้วย (21) ข้าแต่พระบิดา ข้าพเจ้าอธิษฐานภาวนาเพื่อให้ทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกัน เช่นเดียวกับที่พระองค์ทรงอยู่ในข้าพเจ้าและข้าพเจ้าอยู่ในพระองค์ เพื่อให้เขาทั้งหลายอยู่ในพระองค์และในข้าพเจ้า โลกจะได้เชื่อว่าพระองค์ทรงส่งข้าพเจ้ามา

อนาคตในสายตาของพระเยซูเจ้า
    หากเทียบสถานการณ์ของพระเยซูเจ้าในขณะนั้นกับสิ่งที่พระองค์กำลังวอนขอพระบิดาแล้ว ต้องถือว่าพระองค์มีวิสัยทัศน์ยาวไกลสุด ๆ
    ขณะนั้น ผู้ที่ติดตามพระองค์มีเพียงน้อยนิด กางเขนก็กำลังรออยู่เบื้องหน้า แต่พระองค์กล้าภาวนาเพื่อผู้ที่จะเชื่อในพระองค์โดยผ่านทางวาจาของบรรดาศิษย์ด้วย (ข้อ 20)
    เรียกว่าพระองค์มองกว้างไปสุดปลายพิภพและไกลไปถึงทุกยุคทุกสมัย !
    จะเห็นว่าที่ผ่านมา พระองค์เริ่มต้นภาวนาเพื่อพระองค์เองให้สามารถเผชิญหน้ากับไม้กางเขนได้  ต่อจากนั้นทรงภาวนาเพื่อบรรดาศิษย์และทรงวอนขอพระบิดาให้ปกป้องพวกเขา  และท้ายสุดพระองค์ทรงภาวนาเพื่อทุกคนที่จะเข้ามาสู่ความเชื่อแบบคริสตชน ซึ่งเราทุกคนต่างก็รวมอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย
    สาเหตุที่พระองค์กล้ามองไกลและกล้าภาวนาเพื่ออนาคตก็เพราะว่า
    1.    พระองค์เชื่อมั่นในพระเจ้าอย่างไม่สั่นคลอนทั้ง ๆ ที่สถานการณ์ขณะนั้นเลวร้ายสุดๆ
    2.    พระองค์เชื่อมั่นในบรรดาศิษย์  ทั้ง ๆ ที่รู้ดีว่าพวกเขายังไม่เข้าใจพระองค์ดีพอ แถมยังจะละทิ้งพระองค์ในยามที่พระองค์ยากลำบากที่สุดอีกด้วย แต่พระองค์ก็มั่นใจในพวกเขาว่าจะประกาศพระนามของพระองค์ไปทั่วโลก
    และสำหรับพระศาสนจักร พระองค์ทรงภาวนาว่า “ข้าแต่พระบิดา ข้าพเจ้าอธิษฐานภาวนา เพื่อให้ทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกัน เช่นเดียวกับที่พระองค์ทรงอยู่ในข้าพเจ้า และข้าพเจ้าอยู่ในพระองค์” (ข้อ 21)
    เห็นได้ชัดเจนว่า “ความเป็นหนึ่งเดียวกัน” ที่พระองค์ต้องการไม่ใช่ความเป็นหนึ่งเดียวกันเรื่องการบริหาร การจัดรูปแบบองค์กร การประชุม การเข้าเงียบ ฯลฯ แต่ต้องเป็นความหนึ่งเดียวกันแบบพระบิดาและพระบุตร ซึ่งเป็นหนึ่งเดียวกันในความรัก และโดยการนบนอบ
    นั่นคือความเป็นหนึ่งเดียวกันของพระศาสนจักรต้องเป็น “ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล” ที่เราแต่ละคนรักกันและกันเพราะเราต่างคนต่างรักและนบนอบพระเยซูเจ้า ! (เทียบข้อ 23)
    ความพยายามใด ๆ ที่จะทำให้เราคิดเหมือนกัน พูดเหมือนกัน หรือทำเหมือนกันจึงเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับคำวอนขอของพระองค์  แต่สิ่งที่เราทุกคนพึงกระทำคือพยายามก้าวข้ามความแตกต่างที่มีอยู่ แล้วรวมเป็นหนึ่งเดียวกันด้วยความรัก พร้อมกับละทิ้งอัตตาของตนเอง ลดความยึดมั่นถือมั่นและความเห็นแก่ตัวให้น้อยลง
    ตราบใดที่เราไม่เป็นหนึ่งเดียวกัน เรากำลังลดคุณค่าความเชื่อของคริสตชนลงจนน่าใจหาย !
    แล้วเราจะนำโลกกลับมาเป็นศิษย์ของพระเยซูเจ้าได้อย่างไรกัน ?


(22) พระสิริรุ่งโรจน์ที่พระองค์ประทานให้ข้าพเจ้านั้นข้าพเจ้าได้ให้กับเขา เพื่อให้เขาเป็นหนึ่งเดียวกันเช่นเดียวกับที่พระองค์และข้าพเจ้าเป็นหนึ่งเดียวกัน (23) ข้าพเจ้าอยู่ในเขาและพระองค์ทรงอยู่ในข้าพเจ้า เพื่อเขาจะได้เป็นหนึ่งเดียวกันโดยสมบูรณ์ โลกจะได้รู้ว่าพระองค์ทรงส่งข้าพเจ้ามา และพระองค์ทรงรักเขาเช่นเดียวกับที่ทรงรักข้าพเจ้า (24) ข้าแต่พระบิดา ผู้ที่พระองค์ประทานให้ข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้าปรารถนาให้เขาอยู่กับข้าพเจ้าทุกแห่งที่ข้าพเจ้าอยู่
เพื่อเขาจะได้เห็นพระสิริรุ่งโรจน์ซึ่งพระองค์ประทานแก่ข้าพเจ้า เพราะพระองค์ทรงรักข้าพเจ้า
ตั้งแต่ก่อนสร้างโลก (25) ข้าแต่พระบิดาผู้ทรงเที่ยงธรรม โลกไม่รู้จักพระองค์แต่ข้าพเจ้ารู้จักพระองค์ และคนเหล่านี้รู้ว่าพระองค์ทรงส่งข้าพเจ้ามา (26) ข้าพเจ้าบอกให้เขารู้จักพระนามของพระองค์และจะบอกให้รู้ต่อไป เพื่อความรักที่พระองค์ทรงรักข้าพเจ้าจะได้อยู่ในเขาและข้าพเจ้าจะได้อยู่ในเขาด้วยเช่นกัน”

คำมั่นสัญญาแห่งความรุ่งโรจน์
    “พระสิริรุ่งโรจน์ที่พระองค์ประทานให้ข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้าได้ให้กับเขา” (ข้อ 22) โอ้ ความรุ่งโรจน์ของคริสตชนนั้นช่างยิ่งใหญ่สักเพียงใด !
    เป็นความรุ่งโรจน์แบบเดียวกับที่พระบิดาทรงมอบให้แก่พระบุตร
    ก่อนอื่นใดหมด เราจึงต้องทำความเข้าใจว่าพระสิริรุ่งโรจน์ที่พระเยซูเจ้าได้รับนั้นเป็นอย่างไร
    1.    กางเขนคือความรุ่งโรจน์ของพระองค์  เมื่อเอ่ยถึงไม้กางเขน พระองค์ไม่ได้พูดเรื่องการถูกตรึง แต่พูดเรื่องการได้รับพระสิริรุ่งโรจน์
        เพราะฉะนั้นความรุ่งโรจน์ของคริสตชนจึงอยู่ที่การแบกกางเขนของตน และการยอมรับความทุกข์ยากเพื่อเห็นแก่พระคริสตเจ้า
        กางเขนยิ่งหนัก ความรุ่งโรจน์ยิ่งเพิ่มพูนเป็นทวีคูณ
    2.    การนบนอบต่อน้ำพระทัยของพระเจ้าอย่างสมบูรณ์คือความรุ่งโรจน์ของพระองค์
        ความรุ่งโรจน์ของคริสตชนจึงอยู่ที่การปฏิบัติตามน้ำพระทัยของพระเจ้า ไม่ใช่ทำตามใจตัวเองซึ่งรังแต่จะนำมาซึ่งความเสียใจและหายนะทั้งแก่ตัวเราเองและแก่ผู้อื่น
        ยิ่งนบนอบน้ำพระทัยของพระเจ้ามากเท่าใด ความรุ่งโรจน์ยิ่งใหญ่หลวงมากเท่านั้น
    3.    ความรุ่งโรจน์ของพระองค์อยู่ที่ความสนิทสัมพันธ์กับพระเจ้า  และไม่มีใครที่จะเจริญชีวิตแบบพระองค์ได้เว้นแต่จะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระเจ้า
        ช่างเป็นความรุ่งโรจน์จริง ๆ หากมนุษย์สามารถมองเห็นพระเจ้าได้ในตัวเรา เหมือนเรามองเห็นพระเจ้าในองค์พระเยซูเจ้า !

    ประการที่สอง เป็นความปรารถนาของพระเยซูเจ้าที่จะให้บรรดาศิษย์ “อยู่กับข้าพเจ้าทุกแห่งที่ข้าพเจ้าอยู่ เพื่อเขาจะได้เห็นพระสิริรุ่งโรจน์ซึ่งพระองค์ประทานแก่ข้าพเจ้า” (ข้อ 24)
    นับเป็นความมั่นใจสูงสุดของคริสตชนว่า “เราจะได้ร่วมประสบการณ์ทุกอย่างของพระเยซูคริสตเจ้า”  หากเราร่วมความรุ่งโรจน์และความทุกข์ทรมานกับพระองค์ในโลกนี้ เราก็จะร่วมความรุ่งโรจน์และชัยชนะกับพระองค์หลังจากชีวิตในโลกนี้จบสิ้นลง
    ดังที่นักบุญเปาโลกล่าวไว้ว่า “ถ้าเราตายพร้อมกับพระองค์ เราจะมีชีวิตอยู่กับพระองค์ ถ้าเราอดทนมั่นคง เราย่อมจะครองราชย์พร้อมกับพระองค์” (2 ทธ 2:11-12)
และความรุ่งโรจน์ในโลกนี้เปรียบเทียบกันไม่ได้เลยกับความรุ่งโรจน์ในโลกหน้า “ในเวลานี้ เราเห็นพระเจ้าเพียงราง ๆ เหมือนเห็นในกระจกเงา แต่เมื่อถึงเวลานั้น เราจะเห็นพระองค์เหมือนพระองค์ทรงอยู่ต่อหน้าเรา” (1 คร 13:12)
    จะมีคำสัญญาใดยิ่งใหญ่ไปกว่านี้อีกไหม ?

    หลังจากคำอธิษฐานภาวนานี้แล้ว พระเยซูเจ้าทรงเดินหน้าสู่การทรยศ การไต่สวน และไม้กางเขน โดยไม่มีโอกาสพูดกับบรรดาศิษย์ของพระองค์อีกเลย……..
    เป็นสิ่งที่มีค่าอย่างยิ่งที่จะจดจำไว้ว่า แม้ถึงเวลาที่น่าสะพรึงกลัวเช่นนี้ ถ้อยคำของพระองค์ไม่ได้แสดงอาการท้อแท้สิ้นหวังเลย แต่กลับเต็มเปี่ยมไปด้วยความหวังและพระสิริรุ่งโรจน์