ปีลาตไต่สวนพระเยซูเจ้า

ข่าวดี    ยน 18:28-19:16
(28)เขาเหล่านั้นนำพระเยซูเจ้าจากบ้านของคายาฟาสไปยังจวนผู้ว่าราชการ ขณะนั้นเป็นเวลาเช้าตรู่ คนเหล่านั้นไม่เข้าไปในจวน เพื่อมิให้เป็นมลทินแก่ตน จะได้กินปัสกาได้  (29)ปีลาตจึงออกมาพบเขาข้างนอก กล่าวว่า “ท่านทั้งหลายมีข้อกล่าวหาอะไรมาฟ้องชายคนนี้” เขาตอบว่า  (30)“ถ้าคนนี้ไม่ใช่ผู้ร้าย เราคงไม่นำมามอบให้ท่าน”  (31)ปีลาตพูดกับเขาว่า “ท่านทั้งหลายจงนำเขาไปพิพากษากันเองตามกฎหมายของท่านเถิด” ชาวยิวตอบว่า “พวกเราไม่มีอำนาจประหารชีวิตผู้ใดได้  (32)ดังนี้ พระวาจาของพระเยซูเจ้าจึงเป็นจริงตามที่ตรัสไว้ล่วงหน้าว่า พระองค์จะต้องสิ้นพระชนม์อย่างไร  (33)ปีลาตกลับเข้าไปในจวน และเรียกพระเยซูเจ้ามาถามว่า “ท่านเป็นกษัตริย์ของชาวยิวหรือ”  (34)พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “ท่านถามดังนี้ด้วยตนเอง หรือผู้อื่นบอกท่านถึงเรื่องของเรา”  (35)ปีลาตตอบว่า “ข้าพเจ้าเป็นชาวยิวหรือ ชนชาติของท่าน และบรรดาหัวหน้าสมณะมอบท่านให้ข้าพเจ้า ท่านทำผิดสิ่งใด”  (36)พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “อาณาจักรของเรามิได้มาจากโลกนี้ ถ้าอาณาจักรของเรามาจากโลกนี้ ผู้รับใช้ของเราก็คงจะต่อสู้เพื่อมิให้เราถูกมอบให้ชาวยิว แต่อาณาจักรของเราไม่ได้เป็นของโลกนี้”  (37)ปีลาตจึงถามพระองค์ว่า “ถ้าเช่นนั้น ท่านเป็นกษัตริย์ใช่ไหม” พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “ท่านพูดว่าเราเป็นกษัตริย์นั้นถูกต้องแล้ว เราเกิดมาเพื่อเป็นกษัตริย์ เรามาในโลกนี้เพื่อเป็นพยานถึงความจริง ผู้ใดอยู่ฝ่ายความจริงก็ฟังเรา”  (38)ปีลาตจึงถามว่า “ความจริงคืออะไร” พูดดังนี้แล้ว เขาก็กลับออกมาพบชาวยิวข้างนอกอีก พูดว่า “ข้าพเจ้าไม่พบข้อกล่าวหาอะไรปรักปรำชายผู้นี้ได้  (39)แต่ท่านทั้งหลายมีธรรมเนียมให้ปล่อยนักโทษคนหนึ่งในเทศกาลปัสกา ท่านทั้งหลายต้องการให้ข้าพเจ้าปล่อยกษัตริย์ของชาวยิวหรือ”  (40)เขาเหล่านั้นจึงร้องตะโกนว่า “อย่าปล่อยคนนี้ แต่จงปล่อยบารับบัส” บารับบัสผู้นี้เป็นโจร
     19  (1)ปีลาตสั่งให้นำพระเยซูเจ้าไปเฆี่ยน  (2)บรรดาทหารนำหนามมาสานเป็นมงกุฎสวมพระเศียร ให้พระองค์ทรงเสื้อคลุมสีแดง  (3)ทหารเข้ามาหาพระองค์และพูดว่า “กษัตริย์ของชาวยิว ขอทรงพระเจริญ” แล้วตบพระพักตร์พระองค์  (4)ปีลาตออกมาข้างนอกอีกครั้งหนึ่ง พูดกับคนเหล่านั้นว่า “ดูเถิด เรานำชายผู้นี้ออกมา ให้ท่านรู้ว่าเราไม่พบว่าเขามีความผิดประการใด”  (5)แล้วพระเยซูเจ้าเสด็จออกมาข้างนอก ทรงมงกุฎหนามและเสื้อคลุมสีแดง ปีลาตพูดกับประชาชนว่า “นี่คือ คนคนนั้น”  (6)เมื่อบรรดาหัวหน้าสมณะและยามรักษาพระวิหารเห็นพระองค์ก็ตะโกนว่า “เอาไปตรึงกางเขน เอาไปตรึงกางเขน” ปีลาตสั่งว่า “ท่านทั้งหลาย จงนำเขาไปตรึงกางเขนกันเองเถิด เพราะเราไม่พบว่าเขามีความผิดประการใด  (7)ชาวยิวตอบว่า “พวกเรามีกฎหมาย และตามกฎหมายนั้น เขาต้องตาย เพราะตั้งตนเป็นบุตรของพระเจ้า”  (8)เมื่อปีลาตได้ยินถ้อยคำนี้ ก็มีความกลัวมากขึ้น  (9)จึงเข้าไปในจวนอีก ถามพระเยซูเจ้าว่า “ท่านมาจากไหน” พระเยซูเจ้าไม่ตรัสตอบแต่ประการใด  (10)ปีลาตจึงถามพระองค์ว่า “ท่านไม่อยากพูดกับเราหรือ ท่านไม่รู้หรือว่า เรามีอำนาจจะปล่อยท่านก็ได้ จะตรึงกางเขนท่านก็ได้  (11)พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “ท่านไม่มีอำนาจใดเหนือเราเลย ถ้าท่านมิได้รับอำนาจนั้นมาจากเบื้องบน  ดังนั้น ผู้ที่มอบเราให้ท่านก็มีบาปมากกว่าท่าน”
     (12)นับตั้งแต่นั้น ปีลาตพยายามหาทางปล่อยพระองค์ ชาวยิวตะโกนว่า “ถ้าท่านปล่อยผู้นี้ไป ท่านก็ไม่เป็นมิตรของพระจักรพรรดิ ผู้ใดตั้งตนเป็นกษัตริย์ ก็เป็นศัตรูของพระจักรพรรดิ”  (13)เมื่อปีลาตได้ยินถ้อยคำเหล่านี้ จึงสั่งให้นำพระเยซูเจ้าออกมาข้างนอก ให้นั่งบนบัลลังก์พิพากษาในสถานที่ที่เรียกว่า “ลานศิลา” ภาษาฮีบรูว่า กับบาธา  (14)วันนั้นเป็นวันเตรียมฉลองปัสกาเวลาประมาณเที่ยงวัน ปีลาตบอกชาวยิวว่า “นี่คือกษัตริย์ของท่านทั้งหลาย”  (15)เขาเหล่านั้นตะโกนว่า “เอาตัวไป เอาตัวไปตรึงกางเขน” ปีลาตถามเขาว่า “จะให้เราตรึงกางเขนกษัตริย์ของท่านหรือ” บรรดาหัวหน้าสมณะตอบว่า “พวกเราไม่มีกษัตริย์อื่น นอกจากพระจักรพรรดิ”  (16)ปีลาตจึงมอบพระองค์ให้เขาเหล่านั้นนำไปตรึงกางเขน


    พระวรสารตอนนี้แสดงให้เห็นทั้งความขัดแย้งและความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันของบุคคลหลายฝ่าย  จึงขอแยกอธิบายตามกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ครั้งนี้
   
ชาวยิว
    ในสมัยพระเยซูเจ้า ปาเลสไตน์เป็นเมืองขึ้นของโรมก็จริง แต่โรมให้สิทธิส่วนใหญ่ในการปกครองตนเองแก่ชาวยิว ยกเว้นสิทธิในการประหารชีวิตที่ยังคงเป็นของโรมฝ่ายเดียว
    โยเซฟุสบันทึกไว้ว่า ผู้ว่าราชการคนแรกของปาเลสไตน์คือโคโปนีอุส (Coponius)  เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนของซีซาร์และมี “อำนาจเหนือชีวิตและความตาย” อยู่ในมือ
    โยเซฟุสยังเล่าอีกว่า มีมหาสมณะผู้หนึ่งชื่ออานานัส (Ananus) ได้ตัดสินประหารชีวิตบรรดาศัตรูของเขา ชาวยิวประท้วงไปยังกรุงโรม ผลคืออานานัสถูกปลดออกจากตำแหน่งเพราะก้าวล่วงอำนาจของโรม
    กรณีของนักบุญสเตเฟนบ่งบอกได้ชัดเจนว่าชาวยิวละเมิดกฎหมายของโรม
    อนึ่ง หากชาวยิวมีอธิปไตยเหนือดินแดนและมีสิทธิลงโทษประหารชีวิต วิธีการลงโทษต้องเป็น “ทุ่มหิน” เพราะกฎหมายกำหนดไว้ว่า “ผู้ใดกล่าวดูหมิ่นถึงพระยาห์เวห์จะต้องถูกประหารชีวิต ทุกคนในชุมนุมอิสราเอลจะต้องเอาหินทุ่มเขาให้ตาย” (ลนต 24:16) โดยโจทก์ต้องเป็นคนแรกที่ลงมือทุ่มหิน (ฉธบ 17:7)
    แต่พระเยซูเจ้าทรงทราบล่วงหน้าแล้วว่าพระองค์จะไม่ถูกทุ่มหิน ดังที่ยอห์นเล่าว่า “ดังนี้ พระวาจาของพระเยซูเจ้าจึงเป็นจริงตามที่ตรัสไว้ล่วงหน้า” (ยน 18:32)  สิ่งที่พระองค์ตรัสไว้ล่วงหน้าคือ “เมื่อเราจะถูกยกขึ้นจากแผ่นดิน เราจะดึงดูดทุกคนเข้ามาหาเรา” (ยน 12:32)
    “ถูกยกขึ้น” คือ “ถูกตรึงกางเขน”
    เพราะวิธีการที่โรมใช้ประหารชีวิตนักโทษคือ “ตรึงกางเขน” ไม่ใช่ “ทุ่มหิน”
    ชาวยิวรู้ดีว่าไม่มีอำนาจประหารชีวิตผู้ใดได้ (ยน 18:31) จึงพาพระองค์มาหาปีลาต  พวกเขาตั้งใจใช้ปีลาตเป็นเครื่องมือและยืมมือชาวโรมันฆ่าพระองค์
    สิ่งเหล่านี้แสดงถึง ความเกลียดชังที่พวกเขามีต่อพระเยซูเจ้า  และความเกลียดชังนี้ได้พัฒนาขึ้นเรื่อยจนเข้ากระดูกดำและแสดงออกเหมือนคนบ้าคลั่ง ขาดเหตุผล ขาดความเมตตา  พวกเขาทำได้เพียงร้องตะโกนว่า “เอาตัวไป เอาตัวไปตรึงกางเขน” (ยน 19:15)
    เมื่อใดก็ตามที่เราปล่อยให้ความเกลียดชังเข้าครอบงำจิตใจ เราจะไม่สามารถคิด มอง หรือฟังสิ่งใดได้แบบตรงไปตรงมาโดยปราศจากการบิดเบือน เพราะความเกลียดชังได้ทำลายสติและความมีเหตุมีผลของเราไปจนหมดสิ้นแล้ว ดังที่ชาวยิวกระทำกับพระเยซูเจ้า เช่น
    1.    พวกเขาไม่รู้ว่าอะไรควรหรือไม่ควร  พวกเขาไม่เข้าไปในจวนของผู้ว่าเพื่อมิให้เป็นมลทินแก่ตนเอง จะได้กินปัสกาได้  แต่กลับพยายามทุกวิถีทางที่จะตรึงกางเขนพระบุตรของพระเจ้าให้จงได้ !
        กฎหมายยิวกำหนดไว้ว่า “การเข้าไปในที่พักของคนต่างศาสนาเป็นมลทิน”  และอีกประการหนึ่ง การเข้าไปในจวนของผู้ว่าย่อมมีโอกาสสัมผัสเชื้อแป้งซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามในเทศกาลปัสกา
        แต่ถึงจะมีมลทินเพราะเข้าไปในจวน มลทินนี้ก็คงอยู่ถึงตอนเย็นเท่านั้น หากพวกเขาทำพิธีชำระล้าง ก็จะสะอาดปราศจากมลทินและร่วมกินเลี้ยงปัสกาในวันรุ่งขึ้นได้
        ดูสิ !  พวกเขาถือกฎเกณฑ์หยุมหยิมมากมายอย่างเคร่งครัด แต่ในเวลาเดียวกัน พวกเขาก็ไล่ล่าจะตรึงกางเขนพระเยซูเจ้าให้จงได้
        หลายครั้ง เราทำตัวไม่แตกต่างจากชาวยิว  เราใส่ใจกฎเกณฑ์และขั้นตอนต่าง ๆ ในพิธีกรรมอย่างเคร่งครัด รวมถึงพิถีพิถันในรายละเอียดเรื่องอาภรณ์และภาชนะศักดิ์สิทธิ์  แต่กลับละเลยสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “ความยุติธรรมและความรัก” (ลก 11:42)
        น่าเสียดายหากเราสูญเสียสติจนไม่สามารถ “Put the first thing first” !
    2.    พวกเขาพร้อมจะบิดเบือนความจริง  ขณะไต่สวนพระเยซูเจ้า มหาสมณะฉีกเสื้อของตนแล้วกล่าวว่า “เขาพูดดูหมิ่นพระเจ้า เราจะต้องการพยานอะไรอีกเล่า ท่านทั้งหลายต่างได้ยินเขาพูดดูหมิ่นพระเจ้าแล้ว ท่านคิดอย่างไร” ทุกคนตอบว่า “เขาสมควรต้องตาย” (มธ 26:65-66)
        แม้ต่อหน้าปีลาต พวกเขากล่าวหาพระองค์ว่า “เขาต้องตาย เพราะตั้งตนเป็นบุตรของพระเจ้า” (ยน 19:7)
        แต่เมื่อเห็นว่าปีลาตคงไม่ตัดสินคดีข้อหา “ดูหมิ่นพระเจ้า” หรือ “ตั้งตนเป็นบุตรของพระเจ้า”  พวกเขาจึงเปลี่ยนข้อหาใหม่เพื่อบีบบังคับปีลาตให้ตัดสินคดีตามที่พวกเขาต้องการ “ถ้าท่านปล่อยผู้นี้ไป ท่านก็ไม่เป็นมิตรของพระจักรพรรดิ ผู้ใดตั้งตนเป็นกษัตริย์ ก็เป็นศัตรูของพระจักรพรรดิ” (ยน 19:12)
        ข้อหาใหม่นั้นหนักหนายิ่งนัก พวกเขากล่าวหาพระเยซูเจ้าว่าตั้งตนเป็นกษัตริย์ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ พระองค์เป็นกบฏ
        ความเกลียดชังทำให้พวกเขาไม่ลังเลเลยที่จะบิดเบือนความจริง !
    3.    พวกเขาพร้อมทรยศต่อหลักการ เพียงเพื่อกำจัดพระเยซูเจ้าให้ได้  ต่อหน้าปีลาตพวกเขาพูดว่า “พวกเราไม่มีกษัตริย์อื่น นอกจากซีซาร์” (ยน 19:15)
        ก่อนหน้านี้ ชาวยิวถือว่าพระยาเวห์เพียงพระองค์เดียวคือกษัตริย์ปกครองพวกเขา (เทียบ 1ซมอ 12:12)  คราวที่พวกเขาขอร้องกิเดโอนให้เป็นกษัตริย์ กิเดโอนตอบกลับว่า “ข้าพเจ้าและบุตรของข้าพเจ้าจะไม่เป็นกษัตริย์ปกครองท่านทั้งหลาย พระยาห์เวห์ต่างหากจะทรงเป็นกษัตริย์ปกครองท่าน” (วนฉ 8:23)
        เมื่อโรมมีอำนาจเหนือปาเลสไตน์และสั่งให้มีการสำรวจสำมะโนประชากรเพื่อจัดเก็บภาษี  ชาวยิวก่อการจลาจลนองเลือดด้วยเหตุผลว่า พระยาเวห์ทรงเป็นกษัตริย์ของพวกเขา และพวกเขาจะจ่ายภาษีให้แก่พระยาเวห์เท่านั้น
        แต่เพื่อจะประหารพระเยซูเจ้า พวกเขากลับละทิ้งหลักการอย่างไร้ยางอายด้วยการยอมรับซีซาร์เป็นกษัตริย์  ปีลาตคงได้แต่ถอนหายใจด้วยความพิศวงงงงวยระคนเยาะเย้ยขบขัน
        พวกเขาพร้อมจะละทิ้งหลักการเพื่อกำจัดพระเยซูเจ้า !
    ช่างเป็นภาพที่น่าสะพรึงกลัวจริง ๆ ที่ความเกลียดชังได้เปลี่ยนชาวยิวให้กลายเป็นม็อบที่บ้าคลั่ง ขาดสติ ขาดความยุติธรรม ไร้ความเมตตา และพร้อมจะละทิ้งหลักการหรือแม้แต่พระยาเวห์พระเจ้าของตน

ปีลาต
    ปีลาตเป็นบุคคลที่เข้าใจได้ยากมาก  ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าข้อกล่าวหาของชาวยิวไม่เป็นความจริง อีกทั้งตนเองก็ประทับใจพระเยซูเจ้าและรู้อยู่แก่ใจว่าพระองค์เป็นผู้บริสุทธิ์  เขาไม่ต้องการประหารชีวิตพระองค์ แต่ที่สุดกลับยอมให้ชาวยิวนำพระองค์ไปตรึงกางเขน
    ปีลาตเริ่มด้วยการบ่ายเบี่ยงไม่ยอมตัดสินคดีของพระเยซูเจ้า “ท่านทั้งหลายจงนำเขาไปพิพากษากันเองตามกฎหมายของท่านเถิด” (ยน 18:31)  ต่อมาเขาพยายามปล่อยพระองค์ด้วยการอ้างธรรมเนียมของชาวยิว “ข้าพเจ้าไม่พบข้อกล่าวหาอะไรปรักปรำชายผู้นี้ได้  แต่ท่านทั้งหลายมีธรรมเนียมให้ปล่อยนักโทษคนหนึ่งในเทศกาลปัสกา ท่านทั้งหลายต้องการให้ข้าพเจ้าปล่อยกษัตริย์ของชาวยิวหรือ” (ยน 18:38-39)  เมื่อชาวยิวยืนกรานให้ปล่อยบารับบัส เขาก็สั่งทหารให้นำพระองค์ไปเฆี่ยน (ยน 19:1) แล้วอ้อนวอนชาวยิวให้สงสารพระองค์ “ดูเถิด เรานำชายผู้นี้ออกมา ให้ท่านรู้ว่าเราไม่พบว่าเขามีความผิดประการใด” (ยน 19:4)
    แต่เขาก็ไม่ยอมทุบโต๊ะเพื่อยับยั้งแผนการชั่วร้ายของชาวยิว !
    เพื่อจะเข้าใจพฤติกรรมของปีลาต เราควรศึกษาภูมิหลังของเขาเท่าที่โยเซฟุสและฟีโลได้บันทึกไว้
    เมื่อกษัตริย์เฮโรดมหาราชสิ้นพระชนม์สี่ปีก่อนคริสตศักราช พระองค์แบ่งอาณาจักรปาเลสไตน์ออกเป็น 3 ส่วนให้บุตร 3 คนปกครอง เฮโรด อันติพาส และเฮโรด ฟีลิปสามารถปกครองดินแดนที่ได้รับมอบหมายอย่างสงบราบรื่น  แต่เฮโรด อาร์เคเลาสซึ่งปกครองดินแดนอิดูเมอา ยูเดีย และสะมาเรียเมื่ออายุเพียง 18 ขวบ กลับล้มเหลวและกลายเป็นทรราช จนชาวยิวพากันร้องเรียนไปยังกรุงโรมขอให้ปลดพระองค์และแต่งตั้งผู้ว่าราชการมาปกครองแทน
    ปี ค.ศ. 6 จักรพรรดิออกัสตัสส่งผู้ว่าราชการคนแรกมาปกครองปาเลสไตน์  ปีลาตได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าระหว่างปี ค.ศ. 26-35  ต้องยอมรับว่าเขาคงมีความสามารถมากจึงได้มาปกครองดินแดนที่เต็มไปด้วยปัญหาและความวุ่นวายมากมายเช่นนี้
    แต่มีหลายเหตุการณ์ที่แสดงว่าปีลาตไม่ประสบความสำเร็จในตำแหน่งผู้ว่ามากนัก
    เหตุการณ์แรกเกิดขึ้นเมื่อปีลาตมาเยี่ยมกรุงเยรูซาเล็มพร้อมกองทหารติดตาม  กองทหารของเขามีธงประจำกอง บนยอดธงมีรูปจักรพรรดิครึ่งองค์ทำด้วยโลหะประดับอยู่  สำหรับชาวโรมัน จักรพรรดิคือเทพเจ้าของพวกเขา  มีหรือที่ชาวยิวจะยอมให้นำเทพเจ้าอื่นเข้ามาในนครเยรูซาเล็มอันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้
    ชาวยิวขอร้องปีลาตให้ถอดรูปจักรพรรดิออกจากธงก่อนเข้ากรุงเยรูซาเล็มเหมือนที่ผู้ว่าคนก่อน ๆ เคยปฏิบัติ แต่ปีลาตไม่ยินยอม  เมื่อเขาเดินทางกลับซีซารียาซึ่งเป็นเมืองหลวง ชาวยิวเดินตามประท้วงเป็นเวลา 5 วัน  ที่สุดปีลาตยอมนัดเจรจากับฝูงชนที่สมรภูมิแห่งหนึ่ง ระหว่างการเจรจาเขาสั่งทหารเข้าปิดล้อมฝูงชน  แต่แทนที่ชาวยิวจะเกรงกลัว พวกเขากลับยื่นคอเข้าไปใต้คมดาบของทหาร  ปีลาตไม่กล้าสังหารหมู่ เลยต้องจำยอมเสียหน้าปฏิบัติตามคำขอของชาวยิวในที่สุด
    เหตุการณ์ที่สองเกิดขึ้นเมื่อกรุงเยรูซาเล็มประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ  ปีลาตตั้งใจสร้างระบบส่งน้ำโดยใช้เงินงบประมาณจากคลังของพระวิหาร ซึ่งชาวยิวถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์เด็ดขาดของพระเจ้าแต่เพียงพระองค์เดียว  ชาวยิวต่อต้านนโยบายดังกล่าวด้วยการก่อความไม่สงบตามถนนหนทาง  ปีลาตสั่งให้ทหารปลอมตัวเป็นชาวบ้านโดยซ่อนอาวุธไว้ภายในเสื้อคลุมแล้วเดินปะปนกับฝูงชน เมื่อได้รับสัญญาณ พวกทหารเข้าสลายฝูงชน  มีชาวยิวจำนวนมากถูกฆ่าตาย  พวกเขาจึงรายงานให้จักรพรรดิทรงทราบ
    เหตุการณ์ที่สามเกิดขึ้นเมื่อปีลาตเข้าพักที่ปราสาทของเฮโรดในกรุงเยรูซาเล็ม พร้อมกับนำโล่ซึ่งจารึกชื่อของจักรพรรดิตีเบรีอุสเข้าไปด้วย  ชาวยิวต่อต้านการนำทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับจักรพรรดิซึ่งเป็นเทพเจ้าองค์หนึ่งเข้ามาในนครศักดิ์สิทธิ์  ผู้หลักผู้ใหญ่หลายคนพยายามอ้อนวอนปีลาตให้ยอมเก็บโล่ แต่เขาปฏิเสธ  ที่สุดชาวยิวฟ้องจักรพรรดิตีเบรีอุส และจักรพรรดิทรงสั่งให้ปีลาตเก็บโล่
    หลังจากพระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์  ชาวสะมาเรียซึ่งปกติจงรักภักดีต่อโรม ได้ก่อการจลาจลย่อย ๆ ในปี ค.ศ. 35  แต่ปีลาตกลับสั่งทหารเข้าปราบปรามด้วยความรุนแรงและได้สังหารชาวเมืองมากมายจนผู้ว่าราชการแห่งซีเรียต้องเข้าแทรกแซง  จักรพรรดิตีเบรีอุสทรงสั่งให้ปีลาตกลับโรม  แต่ระหว่างเดินทางกลับโรม จักรพรรดิได้สิ้นพระชนม์
    เท่าที่ทราบ ปีลาตไม่เคยถูกดำเนินคดี และชื่อของเขาก็หายไปจากประวัติศาสตร์
    จากภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ ทำให้เราเห็นว่า ชาวยิวกำลังข่มขู่ปีลาตให้ตรึงกางเขนพระเยซูเจ้า  เมื่อพวกเขาพูดว่า “ถ้าท่านปล่อยผู้นี้ไป ท่านก็ไม่เป็นมิตรของพระจักรพรรดิ” (ยน 19:12) ความหมายที่พวกเขาต้องการบอกปีลาตจริง ๆ ก็คือ “ประวัติของท่านไม่สู้ดีนักนะ ท่านเคยถูกรายงานมาแล้ว  ถ้าท่านไม่ทำตามที่เราบอก เราจะรายงานจักรพรรดิอีก แล้วเก้าอี้ท่านจะร้อน”
    วันนั้น ปีลาตอยากจะทำสิ่งที่ถูกต้อง แต่ความผิดพลาดในอดีตได้ตามหลอกหลอนเขา จนเขาไม่กล้าขัดขืนชาวยิว
เขาตรึงกางเขนพระเยซูเจ้าเพื่อจะรักษาเก้าอี้ของเขาไว้ !
    เมื่อได้รู้ภูมิหลังของปีลาตแล้ว คราวนี้เราหันมาดูสิ่งที่เขาได้กระทำต่อหน้าพระเยซูเจ้า
    1.    เขาพยายามโยนความรับผิดชอบให้ผู้อื่น “ท่านทั้งหลายจงนำเขาไปพิพากษากันเองตามกฎหมายของท่านเถิด” (ยน 18:31) เขาไม่ต้องการรับผิดชอบจัดการเรื่องพระเยซูเจ้า
        แต่ไม่มีใครที่จะหนีความรับผิดชอบนี้ไปได้  เราต้องจัดการเรื่องระหว่างเรากับพระเยซูเจ้าด้วยตัวของเราเอง
    2.    เขาพยายามหลีกเลี่ยงการพัวพันกับพระเยซูเจ้า ด้วยการอ้างธรรมเนียมของชาวยิวที่จะปล่อยนักโทษในเทศกาลปัสกา (ยน 18:39)
        แต่เมื่อข้องเกี่ยวกับพระเยซูเจ้าแล้ว เราจะหลีกเลี่ยงการตัดสินใจไม่ได้  เราต้องเลือกเอาระหว่าง “ยอมรับ” หรือ “ปฏิเสธ” พระองค์
    3.    เขาพยายามประนีประนอม ด้วยการสั่งเฆี่ยนแทนการสั่งประหารชีวิตพระองค์
         แต่เราจะประนีประนอมกับพระเยซูเจ้า ด้วยการพบกันครึ่งทาง หรือด้วยการรับใช้นายสองคนในเวลาเดียวกันไม่ได้
         เพราะ ถ้าเราไม่อยู่ข้างพระองค์ก็เท่ากับอยู่ตรงข้ามพระองค์ !
    4.    เขาพยายามอ้อนวอนฝูงชนเพื่อพระเยซูเจ้า  หลังจากให้ทหารทรมานพระองค์แล้ว เขานำพระองค์มาปรากฏตัวต่อหน้าฝูงชนโดยหวังว่าฝูงชนจะสงสารและปล่อยพระองค์
        แต่เราจะออดอ้อนผู้อื่น เช่น นักบุญหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่น ๆ แทนการตัดสินใจเรื่องพระเยซูเจ้าด้วยตัวของเราเองไม่ได้ !
    นอกจากสิ่งที่ปีลาตกระทำต่อหน้าพระเยซูเจ้าดังได้กล่าวมาแล้ว เรายังอาจสรุปลักษณะนิสัยใจคอของเขาได้จากเหตุการณ์ครั้งนี้ด้วย
    1.    เขามีท่าทีเหยียดหยามผู้อื่นฝังอยู่ในกระดูก  เมื่อเขาถามพระเยซูเจ้าว่า “ท่านเป็นกษัตริย์ของชาวยิวหรือ” แล้วพระองค์ตรัสตอบว่า “ท่านถามดังนี้ด้วยตนเอง หรือผู้อื่นบอกท่านถึงเรื่องของเรา”  ปีลาตเย้ยหยันว่า “ข้าพเจ้าเป็นชาวยิวหรือ” (ยน 18:33-35)
        ความหมายของเขาคือ “ข้าไม่ใช่ชาวยิว เรื่องอะไรจะต้องไปรู้เรื่องของพวกเจ้า”   เขาหยิ่งจองหองเกินกว่าจะนำตัวเองเข้าไปพัวพันกับความขัดแย้งและความเชื่อผิด ๆ ของชาวยิว
        ความหยิ่งจองหองนี่เองที่ทำให้เขาล้มเหลวในการเป็นผู้ปกครอง เพราะไม่มีใครปกครองคนอื่นได้หากเขาไม่พยายาม “เข้าถึงและเข้าใจ” ความคิดและจิตใจของผู้อื่น
    2.    เขากลัวอำนาจเร้นลับ  เมื่อปีลาตทราบข้อหาว่าพระเยซูเจ้าอ้างตนเป็นบุตรของพระเจ้า เขากลัวมากและพยายามถามพระองค์ว่า “ท่านมาจากไหน” (ยน 19:7-9)
        เขากลัวที่จะตัดสินเข้าข้างพระเยซูเจ้า และในเวลาเดียวกันก็กลัวที่จะตัดสินประหารชีวิตพระองค์เพราะพระองค์อาจเกี่ยวข้องกับพระเจ้าจริง ๆ ก็ได้
        เท่ากับว่าสาเหตุที่เขาพยายามช่วยพระเยซูเจ้า หาใช่เพราะความศรัทธาไม่ แต่เป็นเพราะเขากลัวอำนาจเร้นลับมากกว่า
        เช่นเดียวกัน พวกเราหลายคนก็กลัวตกนรก กลัวฟ้าผ่า กลัวธรณีสูบ หรือกลัวทำกินไม่ขึ้น มากกว่าจะรักพระเจ้าและรักเพื่อนมนุษย์จริง ๆ
    3.    เขากระหายหาความจริง ซึ่งเป็นด้านดีของเขา  เขาเป็นคนเดียวที่ถามพระเยซูเจ้าว่า “ความจริงคืออะไร” (ยน 18:38)
    ตามมาตรฐานของโลกต้องถือว่าปีลาตเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างสูง เขาเป็นข้าราชการระดับสูงของอาณาจักรโรมันอันยิ่งใหญ่ไพศาล
    แต่ในค่ำคืนวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ เขาคงตระหนักถึงความผิดพลาดใหญ่หลวงที่ได้มีโอกาสพบพระเยซูเจ้า แต่ไม่อาจยืนอยู่เคียงข้างพระองค์และมีอนาคตอันรุ่งโรจน์พร้อมกับพระองค์
    เพราะเขาไม่กล้าหาญพอที่จะลุกจากอดีตอันขมขื่นของเขา !

พระเยซูเจ้า
    จากการไต่สวนครั้งนี้ เราสามารถเห็นบุคลิกอันโดดเด่นของพระเยซูเจ้าได้อย่างชัดเจน
    1.    ความสง่างาม  ระหว่างการไต่สวนของปีลาต (ยน 18:28-19:16) ไม่มีข้อความตอนใดเลยที่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าพระเยซูเจ้ากำลังถูกไต่สวน  เป็นพระองค์เองที่สามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ทั้งหมดโดยปราศจากความเกรงกลัวหรือการอ้อนวอนขอความเมตตาใด ๆ จากปีลาต  กลับเป็นฝ่ายปีลาตนั่นเองที่หัวหมุนและต้องดิ้นรนหนีจากความตื่นตระหนกเมื่อเผชิญหน้ากับ “พระบุตรของพระเจ้า” ผู้ทรงย้อนถามเขาว่า “ท่านถามดังนี้ด้วยตนเอง หรือผู้อื่นบอกท่านถึงเรื่องของเรา” (ยน 18:34)
        พระองค์ทรงไว้ซึ่งความสง่างามแม้ยามอยู่ต่อหน้าผู้ที่กำลังจะตัดสินประหารชีวิตพระองค์ !
        นี่เป็นเพราะพระองค์เสด็จมาเพื่อเป็นกษัตริย์ของชาวเราโดยแท้
    2.    ความซื่อตรง  ชาวยิวมุ่งมั่นที่จะเป็นอิสระจากโรมเสมอมา ปัสกาเป็นเทศกาลที่มีชาวยิวมาชุมนุมกันในกรุงเยรูซาเล็มมากที่สุด บรรยากาศจึงร้อนระอุด้วยไฟปฏิวัติ  ปีลาตรู้ปัญหานี้ดีจึงส่งกองทหารเข้ามาเสริมกำลังในกรุงเยรูซาเล็ม แต่คงมีจำนวนไม่มากนักเพราะเขามีทหารในบังคับบัญชาประมาณสามพันคนเท่านั้น  ไหนจะต้องวางกำลังส่วนใหญ่ไว้ที่ซีซารียาซึ่งเป็นเมืองหลวง  ไหนจะต้องกระจายกำลังไปตามค่ายทหารหลายแห่งในสะมาเรีย  แล้วจะมีทหารเหลือสำหรับติดตามเขาสักกี่คนกัน
     หากพระเยซูเจ้าคิดจะชักธงรบ ปีลาตคงไม่มีทางต้านทานกำลังมหาศาลของผู้สนับสนุนพระองค์ได้
     แต่พระองค์กลับตรัสตรงไปตรงมาและชัดถ้อยชัดคำว่า “อาณาจักรของเรามิได้มาจากโลกนี้  ถ้าอาณาจักรของเรามาจากโลกนี้ ผู้รับใช้ของเราก็คงจะต่อสู้เพื่อมิให้เราถูกมอบให้ชาวยิว” (ยน 18:36)
     พระองค์ไม่ทรงพึ่งพากองกำลังจากโลกนี้    เพราะอาณาจักรของพระองค์อยู่ภายในจิตใจของเรา ซึ่งจะพิชิตได้ก็โดยอาศัย “ความรัก” เท่านั้น
3.    ความจริง  พระเยซูเจ้าไม่เคยหยุดหย่อนที่จะบอกความจริงเกี่ยวกับพระเจ้า เกี่ยวกับมนุษย์ และเกี่ยวกับชีวิตของเรา
    แม้เมื่ออยู่ต่อหน้าปีลาต พระองค์ทรงย้ำอย่างไม่เกรงกลัวผู้ใดว่า “เรามาในโลกนี้เพื่อเป็นพยานถึงความจริง ผู้ใดอยู่ฝ่ายความจริงก็ฟังเรา” (ยน 18:37)
    นั่นเป็นเพราะพระองค์มิได้เป็นเพียง “พยาน” ถึงความจริงเท่านั้น แต่ทรงเป็น “องค์ความจริง” เอง
    ดังนั้น หากเราอยู่ฝ่ายความจริง ก็จงฟังพระองค์เถิด !
4.    ความเข้มแข็งและอดทน  แส้ที่ใช้เฆี่ยนพระองค์เป็นเชือกทำด้วยหนัง มีก้อนตะกั่วเล็ก ๆ และกระดูกแหลมคมติดอยู่เป็นระยะ  มีน้อยคนนักที่ยังครองสติไว้ได้หลังถูกเฆี่ยน หลายคนเป็นบ้า และบางคนถึงตาย
    แต่พระเยซูเจ้าทรงยืนหยัดอยู่ได้และยังคงมีพละกำลังแบกไม้กางเขนจนถึงเนินกัลวารีโอ !
5.    ความนบนอบ  ปีลาตพูดกับพระองค์ว่า “ท่านไม่อยากพูดกับเราหรือ ท่านไม่รู้หรือว่า เรามีอำนาจจะปล่อยท่านก็ได้ จะตรึงกางเขนท่านก็ได้” (ยน 19:10)
    เท่ากับปีลาตแบะท่าออกมาแล้วว่าจะปล่อยพระองค์ก็ได้หากพูดกับเขาดี ๆ หน่อย  แต่พระองค์กลับตอบตรงไปตรงมาแบบไม่รักษาน้ำใจของปีลาตเลยว่า “ท่านไม่มีอำนาจใดเหนือเราเลย ถ้าท่านมิได้รับอำนาจนั้นมาจากเบื้องบน” (ยน 19:11)
         แสดงว่าพระองค์มิได้ถูกไล่ล่าให้จนตรอกและตายบนไม้กางเขน แต่ทรงมุ่งหน้าไปสู่กางเขนอย่างผู้มีชัย
        พระองค์ “มีชัย” เพราะทรงนบนอบพระบิดาจนถึงที่สุด !
    6.    ความรอบรู้  เมื่อปีลาตถามพระองค์ว่ามาจากไหน พระองค์ทรงนิ่งเงียบ (ยน 19:9) เพราะทราบดีว่าพูดไปปีลาตก็ไม่เข้าใจ หรือเข้าใจก็ไม่มีทางยอมรับ
         เหมือนอยู่กันคนละโลก พูดกันคนละภาษา
         เราจึงต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง “อย่าให้พระองค์นิ่งเงียบกับเรา” เพราะนั่นย่อมหมายความว่าเราออกนอกลู่นอกทางจนกู่ไม่กลับ และพูดกับพระองค์ไม่รู้เรื่องอีกแล้ว
    อนึ่ง เมื่อถูกชาวยิวข่มขู่ว่าจะฟ้องจักรพรรดิหากปล่อยพระเยซูเจ้าเป็นอิสระ ด้วยความกลัวว่าจะกระทบกระเทือนต่อตำแหน่ง ปีลาตจึงสั่งให้นำพระองค์ออกมาข้างนอก ให้นั่งบนบัลลังก์พิพากษาในสถานที่ที่เรียกว่า “ลานศิลากับบาธา” แล้วกล่าวกับชาวยิวว่า “นี่คือกษัตริย์ของท่านทั้งหลาย” (ยน 19:13,14)
    ไม่ว่าปีลาตจะกระทำไปเพื่อหาทางช่วยเหลือพระองค์ หรือเพราะต้องการล้อเลียนด้วยการให้นั่งบนบัลลังก์พิพากษาก็ตาม  สักวันหนึ่งตัวเขาและชาวยิวจะตระหนักดีว่าผู้ที่พวกเขาล้อเลียนนั้นคือกษัตริย์ที่จะพิพากษาพวกเขาจริง ๆ
ในการไต่สวนครั้งนี้ เราได้เห็นความยิ่งใหญ่ ความสง่างาม ความกล้าหาญ และความเต็มพระทัยรับการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนของพระเยซูเจ้า
ไม่มีครั้งใดอีกแล้วที่ความเป็นกษัตริย์ของพระองค์จะฉายแสงเจิดจ้าเท่าครั้งนี้.... ครั้งที่มนุษย์พยายามจะลดพระเกียรติของพระองค์ด้วยไม้กางเขน !

บรรดาทหาร
    ทหารเหล่านี้มาจากเมืองหลวงซีซารียา จึงไม่ทราบเรื่องราวเกี่ยวกับพระเยซูเจ้า คิดว่าพระองค์เป็นเพียงอาชญากรคนหนึ่ง
    พวกเขาเฆี่ยนพระองค์ นำหนามมาสานเป็นมงกุฎสวมพระเศียรและให้พระองค์ทรงเสื้อคลุมสีแดง พร้อมกับพูดล้อเลียนพระองค์ว่า “กษัตริย์ของชาวยิว ขอทรงพระเจริญ” แล้วตบพระพักตร์พระองค์ (ยน 19:1-3)
    พวกเขาไม่รู้อีกอย่างหนึ่งว่า ผู้ที่เขาล้อเลียนนั้น ทรงเป็นกษัตริย์เที่ยงแท้แต่เพียงพระองค์เดียว
    ภายใต้การล้อเลียนนั้น มีความจริงนิรันดร์แฝงอยู่ !

บารับบัส
    ยอห์นบอกเพียงว่าบารับบัสเป็นโจร  แต่พระวรสารเล่มอื่นบอกเพิ่มเติมว่าเขามีส่วนในการก่อความไม่สงบและได้กระทำฆาตกรรม (มธ 27:15-26; มก 15:6-15; ลก 23:17-25; กจ 3:14)
    ชื่อ Barabbas อาจมาจาก Bar + Abba ซึ่งแปลว่า “บุตรของบิดา”  หรือมาจาก Bar + Rabban ซึ่งแปลว่า “บุตรของรับบี” ก็ได้
    เป็นไปได้มากว่าบารับบัสเป็นบุตรของรับบีคนหนึ่ง เขาเกิดในครอบครัวที่มีชื่อเสียงแต่หลงผิดไปเป็นนักรบในกองโจรเหมือนโรบินฮูด  และเป็นไปได้สูงอีกเช่นกันที่เขาจะเป็นหนึ่งในพวกคลั่งชาติที่สาบานว่าจะปลดปล่อยปาเลสไตน์ให้เป็นอิสระจากโรมไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม แม้จะต้องปล้นหรือฆ่าก็เอา
    เขาจึงอาจเป็นที่ชื่นชอบของชาวยิว แต่เป็นบุคคลที่โรมต้องการตัวมากที่สุด !
    บารับบัสเป็นนามสกุล  มีพระคัมภีร์ภาษากรีกโบราณ รวมถึงภาษาซีเรียและอาร์เมเนียบางสำเนา ระบุว่าชื่อแรกของเขาคือ “เยซู” ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะชื่อนี้มาจาก “โยชูอา” ในพระธรรมเก่าและนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย
    ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็เท่ากับชาวยิวกำลังร้องตะโกนว่า “อย่าปล่อยเยซูชาวนาซาเร็ธ แต่ปล่อยเยซูบารับบัส !”
    บารับบัสเป็นผู้ที่กระหายเลือดและใช้ความรุนแรงเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย  ส่วนพระเยซูเจ้าทรงใช้ “ความรักและความอ่อนโยน”  อีกทั้งเป้าหมายของพระองค์ก็คือการสถาปนาพระอาณาจักรซึ่งอยู่ภายในจิตใจของเรานี่เอง
    น่าเศร้าที่ประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่า มนุษย์เราเลือกหนทางของบารับบัส และไม่ยอมรับหนทางของพระเยซูเจ้า !
    เราไม่ทราบเรื่องราวของบารับบัสหลังได้รับการปล่อยตัว  อาจเป็นไปได้ว่าเขาติดตามพระเยซูเจ้าไปถึงเนินกัลวารีโอพร้อมกับคิดว่า “ฉันควรเป็นคนแบกกางเขน  ฉันควรเป็นคนที่ถูกแขวนอยู่บนไม้กางเขน ไม่ใช่เขา”
    ไม่ว่าชีวิตของบารับบัสจะลงเอยเช่นใด  เขาคือคนหนึ่งที่พระเยซูเจ้าทรงยอมสิ้นพระชนม์เพื่อช่วยชีวิตของเขาไว้ !