แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

พระเยซูเจ้าทรงถูกตรึงบนไม้กางเขน

ข่าวดี    ยน 19:17-22
บรรดาทหารนำพระเยซูเจ้าไปประหาร  (17)พระองค์ทรงแบกไม้กางเขน เสด็จออกไปยังสถานที่ที่เรียกว่า “เนินหัวกะโหลก” ภาษาฮีบรูว่า “กลโกธา”  (18)เขาตรึงพระองค์บนไม้กางเขนที่นั่นพร้อมกับนักโทษอีกสองคน อยู่คนละข้าง พระเยซูเจ้าทรงอยู่ตรงกลาง  (19)ปีลาต เขียนป้ายประกาศติดไว้บนไม้กางเขนเป็นข้อความว่า “เยซู ชาวนาซาเร็ธ กษัตริย์ของชาวยิว”  (20)ชาวยิวจำนวนมากได้อ่านป้ายประกาศนี้เพราะสถานที่ที่พระเยซูเจ้าทรงถูกตรึงนั้นอยู่ใกล้กรุงและป้ายประกาศนั้นเขียนไว้เป็นภาษาฮีบรู ละติน และกรีก  (21)บรรดาหัวหน้าสมณะของชาวยิวกล่าวกับปีลาตว่า ‘อย่าเขียนว่า กษัตริย์ของชาวยิว’ แต่จงเขียนว่าคนนี้ได้กล่าวว่า ‘ข้าพเจ้าเป็นกษัตริย์ของชาวยิว’  (22)ปีลาตตอบว่า “เขียนแล้ว ก็แล้วไปเถอะ”


ไม่มีความตายใดน่าขนพองสยองเกล้าเท่าการตรึงกางเขน  แม้ชาวโรมันเองยังขนลุกเมื่อเอ่ยถึงกางเขน  ชิเชโรกล่าวว่าการตรึงกางเขนเป็น “ความตายที่โหดร้ายและน่ากลัวที่สุด”
    การตรึงกางเขนมีต้นกำเนิดจากเปอร์เซีย  ชาวเปอร์เซียเชื่อว่าผืนดินเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อปกป้องผืนดินอันศักดิ์สิทธิ์มิให้เป็นมลทินจากร่างของคนชั่ว พวกเขาจึงจับนักโทษประหารตรึงแขวนไว้บนไม้กางเขน  ต่อมาชาวคาร์เทจนำวิธีประหารชีวิตแบบนี้มาใช้  และชาวโรมันรับวิธีตรึงกางเขนมาจากชาวคาร์เทจอีกต่อหนึ่ง
    โรมไม่เคยตรึงกางเขนชาวโรมันด้วยกันเอง แต่ใช้กับทาสในดินแดนที่เป็นเมืองขึ้นเท่านั้น  นักโทษจะถูกตรึงไว้ที่ไม้กางเขนจนกว่าจะตาย บางคนใช้เวลาเป็นอาทิตย์  ระหว่างนี้นักโทษต้องทนทรมานสุดขีด ไหนจะหิว ไหนจะกระหาย ไหนจะร้อนจัดเวลากลางวัน ไหนจะหนาวจัดเวลากลางคืน ไหนริ้นและแมลงจะไต่ตอมตามบาดแผลโดยไม่สามารถป้องกันตัวหรือทำอะไรได้เลย เว้นแต่เฝ้าดูฝูงแร้งและฝูงกาที่บินวนเวียนรอจิกกินตัวเขาเอง
    พวกเขานำความตายที่น่าสะพรึงกลัวที่สุด  ความตายสำหรับทาส  และความตายสำหรับอาชญากรมาใช้กับพระเยซูเจ้า !
    เมื่อถูกตัดสินว่าผิด ผู้พิพากษาจะสั่งว่า “จงไปสู่กางเขน” (Ibis ad crucem) แล้วขั้นตอนการประหารจะเริ่มทันทีโดยไม่เปิดโอกาสให้นักโทษล่ำลาญาติมิตรหรืออุทธรณ์ฎีกาใด ๆ ทั้งสิ้น  นักโทษประหารต้องแบกกางเขนของตนท่ามกลางทหาร 4 คนไปตามเส้นทางที่ยาวที่สุดและมีผู้คนพลุกพล่านมากที่สุดเพื่อให้เกิดความเกรงกลัวและไม่กล้าทำผิด  มีทหารคนหนึ่งคอยลงแส้หรือใช้ประตัก (ไม้ที่ฝังเหล็กแหลมข้างปลาย ใช้แทงสัตว์พาหนะเช่น วัว) ทิ่มแทงเพื่อกระตุ้นให้นักโทษเดินไปสู่สถานที่ประหาร  หน้าขบวนมีทหารคนหนึ่งถือป้ายระบุความผิด เผื่อว่าอาจมีคนไม่เห็นด้วยกับข้อกล่าวหาและเป็นพยานยืนยันความบริสุทธิ์ให้นักโทษ ซึ่งหากเกิดกรณีนี้ ต้องหยุดขั้นตอนการประหารแล้วกลับมาเริ่มไต่สวนกันใหม่
    แต่สำหรับพระเยซูเจ้า ช่างไม่มีสักคนเชียวหรือที่กล้ายืนอยู่ข้างพระองค์ ?
    “เนินหัวกะโหลก” ตรงกับภาษาฮีบรู “กลโกธา” และภาษาละติน “กัลวารีโอ” สันนิษฐานว่าชื่อนี้ได้มาจากรูปทรงของเนินที่ดูเหมือนกะโหลก  ตั้งอยู่นอกกำแพงกรุงเยรูซาเล็ม เพราะกฎหมายยิวห้ามการตรึงกางเขนภายในนครศักดิ์สิทธิ์ 
    ปีลาตเขียนป้ายประกาศติดไว้บนไม้กางเขนความว่า “เยซู ชาวนาซาเร็ธ กษัตริย์ของชาวยิว” (ยน 19:19) ดูเหมือนเขาต้องการกวนชาวยิวเล่น เพราะชาวยิวพึ่งจะประกาศว่าซีซาร์เป็นกษัตริย์เพียงองค์เดียวของพวกเขา (ยน 19:15)
    บรรดาหัวหน้าสมณะจึงทนไม่ได้และพยายามขอให้ปีลาตแก้ไขข้อความในป้ายประกาศ  แต่ปีลาต ตอบว่า “เขียนแล้ว ก็แล้วไปเถอะ” (ยน 19:22)
นี่คือบุคลิกของปีลาต เขายอมหักแต่ไม่ยอมงอ
     เขายอมหักเรื่องป้ายประกาศ เขายอมหักเรื่องนำธงจักรพรรดิเข้านครศักดิ์สิทธิ์ เขายอมหักเรื่องนำเงินของพระวิหารมาใช้  แต่ในกรณีของพระเยซูเจ้า เขากลับโลเลและยอมให้ชาวยิวนำพระองค์ไปตรึงกางเขน....!
    ขออย่าให้เรา “ดึงดันในเรื่องไม่เป็นเรื่อง แต่กลับหละหลวมในเรื่องสำคัญที่สุดดังเช่นปีลาตเลย” !?