แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

สมโภชพระจิตเจ้า

ข่าวดี    ยอห์น 20:19-23
(19)ค่ำวันนั้นซึ่งเป็นวันต้นสัปดาห์ ประตูห้องที่บรรดาศิษย์กำลังชุมนุมกันปิดอยู่เพราะกลัวชาวยิว พระเยซูเจ้าเสด็จเข้ามาประทับยืนอยู่ตรงกลาง ตรัสกับเขาทั้งหลายว่า “สันติสุขจงสถิตอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด”  (20)ตรัสดังนี้แล้ว พระองค์ทรงให้บรรดาศิษย์ดูพระหัตถ์และด้านข้างพระวรกาย เมื่อเขาเหล่านั้นเห็นองค์พระผู้เป็นเจ้า ก็มีความยินดี  (21)พระองค์ตรัสกับเขาอีกว่า “สันติสุขจงสถิตอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด พระบิดาทรงส่งเรามาฉันใด เราก็ส่งท่านทั้งหลายไปฉันนั้น”
(22)ตรัสดังนี้แล้ว พระองค์ทรงเป่าลมเหนือเขาทั้งหลาย ตรัสว่า “จงรับพระจิตเจ้าเถิด
(23)ท่านทั้งหลายอภัยบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นก็ได้รับการอภัย ท่านทั้งหลายไม่อภัยบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นก็ไม่ได้รับการอภัยด้วย”


1. พระบิดาทรงส่งเรามาฉันใด เราก็ส่งท่านทั้งหลายไปฉันนั้น
    หลังจากพระเยซูเจ้าทรงถูกตรึงตายบนไม้กางเขน  บรรดาอัครสาวกหวนกลับมาหลบซ่อนอยู่ในห้องที่เคยใช้เลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้ายด้วยความหวาดกลัว คอยเงี่ยหูฟังเสียงคนขึ้นบันไดหรือเคาะประตู เกรงว่าเจ้าหน้าที่ของสภาสูงจะมาจับกุมและคงไม่แคล้วถูกตัดสินประหารชีวิตให้ตายตกตามพระอาจารย์ไป
ทันใดนั้น ทั้ง ๆ ที่ประตูห้องยังปิดอยู่ พระเยซูเจ้าเสด็จมาประทับยืนอยู่ท่ามกลางพวกเขาตรัสว่า “สันติสุขจงสถิตอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด” (ยน 20:19)
คำ “สันติสุข” หรือ shalōm (ชาโลม) ในภาษาฮีบรู ไม่ได้หมายถึงเพียง “พ้นทุกข์” แต่หมายรวมถึง “การบรรลุความดีและความสมบูรณ์สูงสุด” ด้วย
พระองค์จึงไม่เพียงวอนขอให้บรรดาอัครสาวกรอดพ้นจากการถูกจับกุมเท่านั้น แต่ทรงวอนขอพระบิดาเจ้าโปรดประทานสิ่งที่ “ดีที่สุด” แก่พวกเขาด้วย
หลังจากประทานพรและให้บรรดาอัครสาวกดูพระหัตถ์และด้านข้างพระวรกายจนพวกเขาเชื่อว่าทรงเป็น “องค์พระผู้เป็นเจ้า” แล้ว (ยน 19:20) พระองค์ทรงเข้าสู่ประเด็นสำคัญทันที นั่นคือทรงตรัสสั่งว่า “พระบิดาทรงส่งเรามาฉันใด เราก็ส่งท่านทั้งหลายไปฉันนั้น” (ยน 20:21)
คำสั่งนี้แฝงนัยสำคัญ 3 ประการ คือ
    1.    พระเยซูเจ้าทรงต้องการพระศาสนจักร เพราะเมื่อเสด็จกลับไปหาพระบิดาแล้ว พระองค์ทรงต้องการให้พระศาสนจักรเป็นดั่งปาก มือ และเท้าของพระองค์เพื่อนำข่าวดีไปสู่มนุษย์ทุกคน โดยไม่เลือกชาติ ศาสนา เพศ วัย หรือฐานะ
        พระศาสนจักรจึงเป็นดั่ง “พระวรกาย” ของพระองค์ โดยมีพระองค์ทรงเป็น “ศีรษะ” (อฟ 1:23; 1คร 12:12)
    2.    พระศาสนจักรต้องการพระเยซูเจ้า เพราะพระองค์คือ “ผู้ส่ง” พระศาสนจักรออกไป เหมือนดังที่พระบิดาทรงส่งพระองค์มา
         นอกจากเป็น “ผู้ส่ง” แล้ว พระองค์ยังทรงเป็นผู้มอบข่าวดี ผู้สนับสนุน ผู้ส่องสว่างจิตใจ และผู้ประทานพละกำลังและความกล้าหาญในการปฏิบัติภารกิจของพระศาสนจักร
         หากปราศจาก “ผู้ส่ง” ดังเช่นพระองค์ พระศาสนจักรย่อมไม่มีข่าวดีจะประกาศ และย่อมไม่มีอำนาจอันใดเลยที่จะอภัยบาปแก่มนุษย์
    3.    พระศาสนจักรต้องนบนอบพระเยซูเจ้า เพราะพระองค์ตรัสว่า “พระบิดาทรงส่งเรามาฉันใด เราก็ส่งท่านทั้งหลายไปฉันนั้น” (ยน 20:21)
          พระบิดาทรงส่งพระองค์มาประกาศข่าวดีและไถ่บาปมนุษย์  พระองค์ทรงน้อมรับภารกิจดังกล่าวด้วยความรักและความนบนอบเชื่อฟังสูงสุดจนถึงกับยอมสิ้นพระชนม์ แม้เป็นการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน
         เช่นเดียวกัน พระศาสนจักรจะปฏิบัติภารกิจที่พระองค์ทรงมอบหมายให้สำเร็จลุล่วงได้ก็โดยอาศัย “ความรักและการนบนอบเชื่อฟังพระองค์ด้วยสิ้นสุดจิตใจ” เท่านั้น
         ความรักและความนบนอบนี้เอง เรียกร้องให้พระศาสนจักรประกาศข่าวดีของพระเยซูเจ้า ไม่ใช่ข่าวดีของพระศาสนจักร   อีกทั้งต้องพร้อมเผชิญหน้าและแก้ไขปัญหาต่างๆ ตามพระประสงค์ของพระองค์ ไม่ใช่ตามนโยบายหรือตามความนึกคิดประสามนุษย์ของพระ ศาสนจักรเอง
    หากยึดพระประสงค์ของพระองค์เป็นที่ตั้งดังนี้แล้ว ปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้าพระ ศาสนจักรก็จะคลี่คลายลง

2. จงรับพระจิตเจ้าเถิด
นอกจากส่งบรรดาอัครสาวกซึ่งเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของ “พระวรกายของพระคริสตเจ้า” ไปประกาศข่าวดีแล้ว พระองค์ยังทรงเป่าลมเหนือเขาทั้งหลายตรัสว่า “จงรับพระจิตเจ้าเถิด” (ยน 20:22)
เมื่อพูดถึง “เป่าลม” ยอห์นกำลังคิดถึงการสร้างมนุษย์ในพระธรรมเก่าที่มีบันทึกไว้ว่า “พระเจ้าทรงปั้นมนุษย์ด้วยผงคลีดิน ระบายลมปราณเข้าทางจมูก มนุษย์จึงเป็นผู้มีชีวิต” (ปฐก 2:7)  และเรื่องกระดูกแห้งในหุบเขามรณะที่พระเจ้าตรัสกับลมว่า “ลมปราณเอ๋ย จงมาจากลมทั้งสี่ทิศ และเข้าสู่ร่างที่ถูกสังหารเหล่านี้เพื่อพวกเขาจะมีชีวิต” (อสค 37:9)
    เห็นได้ชัดว่า “ลม” คือ “ชีวิต”
    เมื่อพระเยซูเจ้าทรงเป่า “ลม” เหนือบรรดาอัครสาวกพร้อมกับตรัสว่า “จงรับพระจิตเจ้าเถิด” จึงแปลเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจาก “ลม” คือ “พระจิตเจ้า”
เราจึงสรุปได้ว่า “พระจิตเจ้า” คือ “ชีวิต”
     เท่ากับว่า พระองค์ทรงประทานชีวิตใหม่ให้แก่บรรดาอัครสาวกและพระศาสนจักร โดยทางพระจิตเจ้า
    หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือ พระจิตเจ้าทรงทำให้พระศาสนจักรและเราทุกคนมีชีวิต
    เมื่อได้รับชีวิตใหม่อาศัยพระจิตเจ้าแล้ว บรรดาอัครสาวกเลิกกลัว เลิกหลบซ่อน  ทุกคนพากันแยกย้ายไปปฏิบัติภารกิจตามที่ได้รับมอบหมาย
    แล้วเราจะใช้ชีวิตใหม่ที่ได้รับมาอย่างไร ?

3. ท่านทั้งหลายอภัยบาปของผู้ใดบาปของผู้นั้นก็ได้รับการอภัย
    ภารกิจแรกของพระเยซูเจ้าหลังกลับคืนพระชนมชีพคือการส่งพระศาสนจักรออกไปประกาศข่าวดี และข่าวดีแรกที่พระองค์ทรงสั่งให้ประกาศคือ “การอภัยบาป” (ยน 20:23)
    แต่การจะอภัยบาปหรือไม่อภัยบาปแก่ผู้ใด หาได้ขึ้นกับอำเภอใจของพระศาสนจักรหรือของพระสงฆ์องค์ใดองค์หนึ่งแต่ประการใดไม่
    ย้อนกลับไปเมื่อพระเยซูเจ้าทรงเริ่มภารกิจเปิดเผย พระองค์ทรงประกาศว่า “จงกลับใจเถิด เพราะอาณาจักรสวรรค์อยู่ใกล้แล้ว” (มธ 4:17)
    เพราะฉะนั้น พระศาสนจักรต้องประกาศการอภัยบาปแก่ผู้ที่เป็นทุกข์กลับใจ !!
ส่วนผู้ที่ยังไม่เป็นทุกข์กลับใจ พระศาสนจักรต้องตักเตือน ต้องสั่งสอน และต้องพยายามทุกวิถีทางเพื่อช่วยให้เขาเป็นทุกข์กลับใจและได้รับการอภัยบาป
    เราจึงต้องหันกลับมาดูตัวเองว่าได้เป็นทุกข์กลับใจ และได้ช่วยผู้อื่นให้เป็นทุกข์กลับใจจนได้รับการอภัยบาปบ้างแล้วหรือยัง ?

    เพื่อให้การสมโภชพระจิตเจ้าในวันนี้ มีความหมายและเกิดประโยชน์แก่ชีวิตของเรามากที่สุด  เราจึงควรปฏิบัติตามสิ่งที่พระวรสารเรียกร้อง ดังนี้
1.    ดำเนินชีวิตให้สมกับ “ชีวิตใหม่” ที่ได้รับจากพระจิตเจ้า
2.    ประกาศ “ข่าวดีของพระเยซูเจ้า”  ไม่ใช่ข่าวดีของตนเอง
3.    กลับใจ และเพียรพยายามช่วยผู้อื่นให้ “กลับใจ” เพื่อจะได้รับการ “อภัยบาป”