วันอาทิตย์ที่ 2 เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า

ข่าวดี    มัทธิว 3:1-12
(1)ในครั้งนั้น ยอห์น ผู้ทำพิธีล้างมาประกาศสอนในถิ่นทุรกันดารแห่งยูเดีย (2)ยอห์น กล่าวว่า “จงกลับใจเถิดอาณาจักรสวรรค์อยู่ใกล้แล้ว” (3) ยอห์นผู้นี้คือผู้ที่ประกาศกอิสยาห์ได้กล่าวถึงว่า
คนคนหนึ่งร้องตะโกนในถิ่นทุรกันดารว่า
“จงเตรียมทางขององค์พระผู้เป็นเจ้า
จงทำทางเดินของพระองค์ให้ตรงเถิด”
(4)ยอห์นนุ่งห่มด้วยผ้าขนอูฐ มีสายหนังรัดเอว กินตั๊กแตนและน้ำผึ้งป่าเป็นอาหาร (5)ประชาชนจากกรุงเยรูซาเล็ม จากทั่วแคว้นยูเดีย และจากทั่วเขตแม่น้ำจอร์แดนพากันไปพบเขา  (6)รับพิธีล้างจากเขาในแม่น้ำจอร์แดนโดยสารภาพบาปของตน (7)เมื่อยอห์นเห็นชาวฟาริสีและสะดูสีหลายคนมารับพิธีล้าง จึงกล่าวว่า “เจ้าสัญชาติงูร้าย ผู้ใดแนะนำเจ้าให้หนีการลงโทษที่กำลังจะมาถึง (8)จงประพฤติตนให้สมกับที่ได้กลับใจแล้วเถิด  (9)อย่าอวดอ้างเองว่า “เรามีอับราฮัมเป็นบิดา” ข้าพเจ้าบอกท่านทั้งหลายว่า พระเจ้าทรงบันดาลให้ก้อนหินเหล่านี้กลายเป็นลูกของอับราฮัมได้  (10)บัดนี้ขวานกำลังจ่ออยู่ที่รากของต้นไม้แล้ว ต้นไม้ต้นใดที่ไม่เกิดผลดีจะถูกโค่นและโยนใส่ไฟ  (11)ข้าพเจ้าใช้น้ำทำพิธีล้างให้ท่านทั้งหลาย เพื่อให้สำนึกผิดกลับใจ แต่ผู้ที่จะมาภายหลังข้าพเจ้า ทรงอำนาจยิ่งกว่าข้าพเจ้า และข้าพเจ้าไม่สมควรแม้แต่จะถือรองเท้าของเขา เขาจะทำพิธีล้างให้ท่านเดชะพระจิตเจ้าและไฟ  (12)เขากำลังถือพลั่วอยู่แล้ว จะชำระลานนวดข้าวให้สะอาด จะรวบรวมข้าวใส่ยุ้ง ส่วนฟางนั้นจะเผาทิ้งในไฟที่ไม่รู้ดับ”


    ชาวยิวไม่ได้ยินเสียงของประกาศกเป็นเวลานานสี่ร้อยปีแล้ว แต่เมื่อยอห์นปรากฏตัวเทศน์สอนและทำพิธีล้าง ประชาชนกลับเชื่อและยอมรับว่าท่านเป็น “ประกาศก”  คำเทศน์สอนของท่านมีลักษณะพิเศษประการใดหรือ ?
    1.    ท่านติเตียนคนผิดโดยไม่เกรงกลัวสิ่งใด ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์เฮโรดที่เอานางเฮโรเดียส ภรรยาของฟิลิปพระอนุชา มาเป็นภรรยา ท่านก็ทูลว่า “ไม่ถูกต้องที่พระองค์ทรงรับนางมาเป็นมเหสี” (มธ 14:4)  หรือพวกฟาริสีและสะดูสีซึ่งเป็นถึงผู้นำทางศาสนาก็ไม่วายถูกตำหนิว่าเป็น “เจ้าสัญชาติงูร้าย” (มธ 3:7) เพราะปล่อยให้ประชาชนจมมืดอยู่ในกฎเกณฑ์และจารีตพิธีต่างๆ  หรือเมื่อประชาชนดำเนินชีวิตราวกับไม่รู้จักพระเจ้า ท่านก็ไม่ลังเลเลยที่จะเตือนพวกเขาให้หันกลับมาทำสิ่งที่ถูกต้อง
        ไม่ว่าความผิดพลาดนั้นจะเกิดกับผู้มีอำนาจรัฐ ผู้มีอำนาจในพระศาสนจักร หรือกับหมู่ประชาชน  ยอห์นเป็นเสมือนแสงที่ส่องสว่างขับไล่ความมืดออกไป
        ตรงกันข้าม บ่อยครั้งทีเดียวเราระมัดระวังตัวเกินกว่าจะกล้าตักเตือนผู้กระทำผิดเฉกเช่นที่ยอห์นได้กระทำ

    2.    ท่านสั่งสอนประชาชนให้เป็นผู้ชอบธรรม  นอกจากติเตียนความผิดที่พวกเขาได้กระทำแล้ว ท่านยังเชิญชวนและท้าทายพวกเขาให้กระทำทั้งสิ่งที่ “ควรทำ” (should) และสิ่งที่ “ทำได้” (could) ด้วย  ท่านเป็นเสมือนเสียงที่กระตุ้นประชาชนให้ทำในสิ่งที่สูงส่งกว่า
         น่าเสียดายที่หลายครั้งเรามัวสลวนอยู่กับการห้ามประชาชนทำผิด แต่ใส่ใจเพียงนิดเดียวที่จะทำให้พวกเขาดำเนินชีวิตตามจิตตารมณ์อันสูงส่งของพระเยซูเจ้า
        สำหรับพระเยซูเจ้า การไม่ทำความผิดอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ แต่ต้องทำทุกสิ่งให้ดีที่สุดด้วย !
     3.    ท่านมาจากพระเจ้า  ท่านใช้ชีวิตตามลำพังในถิ่นทุรกันดารเพื่อพระเจ้าจะได้เตรียมท่านสำหรับหน้าที่ประกาศก  เพราะฉะนั้นเมื่อปรากฏตัวเทศน์สอน ท่านไม่ได้ประกาศความคิดเห็นส่วนตัวของท่าน แต่ประกาศสารของพระเจ้าอย่างแท้จริงและอย่างจริงจัง
        เราไม่มีทางทำหน้าที่ประกาศกได้เลย หากเราออกมายืนต่อหน้าสัตบุรุษโดยไม่ได้ออกมาจากเบื้องพระพักตร์ของพระเจ้า
    4.    ท่านนำทางสู่พระเจ้า  ท่านไม่ได้มาเพื่อตัวของท่านเอง แต่เพื่อเตรียมทางให้แก่ผู้ที่จะเสด็จมาภายหลังซึ่งทรงอำนาจยิ่งกว่าท่าน และท่านไม่สมควรแม้แต่จะถือรองเท้าของเขา (มธ 3:11)
        “ยอห์นนุ่งห่มด้วยผ้าขนอูฐ มีสายหนังรัดเอว” นี่เป็นเครื่องแต่งกายของประกาศกเอลียาห์ (1 พกษ 1:8) ซึ่งชาวยิวเชื่อว่าท่านจะกลับมาเพื่อเตรียมทางเสด็จให้แก่พระเมสสิยาห์ (มลค 4:5)
        ท่านคือผู้ที่ประกาศกอิสยาห์ทำนายไว้ว่า “คนคนหนึ่งร้องตะโกนในถิ่นทุรกันดารว่า จงเตรียมทางขององค์พระผู้เป็นเจ้า จงทำทางเดินของพระองค์ให้ตรงเถิด” (อสย 40:3)
         ถนนในปาเลสไตน์มีสภาพไม่ต่างจากทางเกวียน พื้นผิวเป็นดินแข็ง ขรุขระ  โยเซฟุสเล่าว่ามีถนนสู่กรุงเยรูซาเล็มเพียงบางเส้นที่กษัตริย์โซโลมอนสร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้จาริกแสวงบุญและเพื่อแสดงถึงความมั่งคั่งยิ่งใหญ่ของพระองค์  พื้นผิวปูด้วยหินสีดำเนื้อละเอียดจากภูเขาไฟ  ถนนเหล่านี้ได้ชื่อว่า “ถนนกษัตริย์” (the king’s highway) เพราะสร้างขึ้นโดยกษัตริย์และเพื่อกษัตริย์ และจะได้รับการซ่อมแซมก็ต่อเมื่อมีผู้นำสารมาแจ้งให้ประชาชนทราบล่วงหน้าว่ากษัตริย์จะเสด็จผ่านเส้นทางนี้เท่านั้น
     ประชาชนยอมรับยอห์นเป็น “ประกาศก” เพราะท่านเป็นดังแสงสว่างที่ขับไล่ความมืดและความชั่วออกไป  ท่านเป็นเสียงที่เรียกร้องประชาชนให้ตั้งมั่นอยู่ในความชอบธรรม  ที่สุดท่านเป็นผู้ชี้พระเมสสิยาห์แก่ประชาชนเพื่อจะได้เตรียมทางรับเสด็จพระองค์
    วันนี้ยอห์นได้นำสารมาแจ้งแก่เราแล้ว เราได้เตรียมทางรับเสด็จพระกุมารเจ้าแล้วหรือยัง ?!

สารที่ยอห์นประกาศให้ประชาชนทราบคือ….
“จงกลับใจ” (มธ 3:2)  นี่คือคำสั่งที่เป็นพื้นฐานคำเทศน์สอนของยอห์น
คำสั่งเดียวกันนี้ พระเยซูเจ้าทรงเรียกร้องเช่นเดียวกันเมื่อทรงตรัสว่า “เวลาที่กำหนดไว้มาถึงแล้ว พระอาณาจักรของพระเจ้าอยู่ใกล้แล้ว จงกลับใจ และเชื่อข่าวดีเถิด” (มก 1:15)
    สำหรับชาวยิว การกลับใจคือหนทางเดียวที่จะนำเรากลับมาหาพระเจ้าเพื่อรับการอภัยและได้รับความโปรดปรานจากพระองค์
ตามความคิดของชาวยิว “การกลับใจ” คือ
    1.    ภาษาฮีบรู shub (ฉูบ) ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า “การกลับใจ” นั้นหมายถึง “หมุน, หัน” (to turn)  พวกรับบีจึงสอนว่าสาระสำคัญของ “การกลับใจ” คือ “การเปลี่ยนแปลงจิตใจชนิดหันกลับและส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงชีวิตและความประพฤติของตน”
     พระคัมภีร์กล่าวถึง “การกลับใจ” ซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าหมายถึง “การหันจากบาปกลับมาหาพระเจ้า” ตัวอย่างเช่น “พระเจ้าตรัสว่า เรามีชีวิตอยู่แน่ฉันใด เราไม่พอใจในความตายของคนอธรรม แต่พอใจที่คนอธรรมหันจากทางของเขาและมีชีวิตอยู่ จงหันกลับ จงหันกลับจากทางชั่วของเจ้า” (อสค 33:11)
        ชัดเจนว่าการกลับใจของชาวยิวไม่ใช่เพียงความรู้สึก “เสียใจ” ที่ได้กระทำบาป แต่หมายถึงการหันจากบาปมาหาพระเจ้าพร้อมกับเปลี่ยนแปลงการกระทำให้สอดคล้องกัน
        สำหรับยอห์น “การกลับใจ” ที่ขาด “การเปลี่ยนจิตใจ” หรือขาด “การเปลี่ยนการกระทำ” อย่างใดอย่างหนึ่ง ล้วนส่งผลทำให้เราเป็น “ต้นไม้ที่ไม่เกิดผลดีซึ่งจะถูกโค่นและโยนใส่ไฟ” (มธ 3:10)
    2.    พระเจ้าทรงประทานโอกาสให้เรากลับใจได้ทุกเวลาตราบเท่าที่ยังมีลมหายใจ แม้ที่ผ่านมาเราจะเป็นคนบาปสักปานใดก็ตาม (อสค 33:12)
3.    พระเจ้าทรงเมตตายอมรับการกลับใจแบบสองต่อสองระหว่างเรากับพระองค์ แม้เราได้ดูหมิ่นเหยียดหยามพระองค์ในที่สาธารณะก็ตาม  ต่างจากมนุษย์ที่เรียกร้องการขอโทษในที่สาธารณะให้สมน้ำสมเนื้อกันหากเราได้กระทำผิดต่อเขาในที่สาธารณะ
4.    โดยธรรมชาติ พระเจ้าไม่ทรงหลงลืม  แต่หากเรากลับใจ พระองค์พร้อมจะลืมและให้อภัยความผิดบาปทั้งมวลของเรา (มคา 7:18; สดด 85:2)
5.    การกลับใจที่แท้จริงต้องมีการสารภาพความผิดและชดใช้ความเสียหายรวมถึงการคืนดีกับเพื่อนพี่น้อง ดังที่พระเจ้าตรัสสั่งโมเสสให้บอกชาวอิสราเอลว่า “ถ้าชายหรือหญิงคนใดทำผิดต่อผู้อื่น ทำให้เขาได้รับความเสียหาย ผู้นั้นก็ทำบาปผิดต่อพระยาห์เวห์ ผู้นั้นจะต้องสารภาพบาปที่ได้ทำ และชดใช้ความเสียหายที่เขาได้ทำทั้งสิ้น แล้วเพิ่มอีกหนึ่งในห้าของราคาความเสียหายนั้นแก่ผู้เสียหายด้วย” (กดว 5:6-7)
6.    ไม่มีการสิ้นหวังที่จะกลับใจไม่ว่ากรณีใดก็ตาม แม้แต่กษัตริย์มนัสเสห์ผู้หันไปนับถือพระบาอัลและชักนำพระเท็จเทียมเข้าสู่กรุงเยรูซาเล็ม กระทั่งเผาลูกของตนถวายแด่เทพเจ้าโมลอกที่หุบเขาฮินโนม  หลังจากถูกกวาดต้อนไปอัสซีเรีย พระองค์ทรงเป็นทุกข์กลับใจและ “อธิษฐานต่อพระเจ้า และพระเจ้าทรงรับคำวิงวอนของท่าน ทรงฟังคำอ้อนวอนของท่าน และนำท่านกลับมายังกรุงเยรูซาเล็มในราชอาณาจักรของท่านอีก” (2 พศด 33:13)
    การกลับใจจึงเป็นศูนย์กลางความเชื่อทั้งของชาวยิวและของคริสตชน !

“จงประพฤติตนให้สมกับที่ได้กลับใจแล้วเถิด” (มธ 3:8) นี่คืออีกหนึ่งคำสั่งที่สืบเนื่องจากคำสั่งพื้นฐาน “จงกลับใจ”
ชาวยิวเชื่อว่าอับราฮัมคือผู้ชอบธรรมที่พระเจ้าทรงโปรดปรานมาก ความดีของท่านพ่ออับราฮัมส่งผลให้ลูกหลานพลอยได้รับอานิสงส์ไปด้วย  พวกเขาปักใจเชื่อว่าชาวยิวทุกคนต้องได้รับความรอดอย่างแน่นอนเพราะต่างก็เป็นลูกหลานของอับราฮัม
แต่ยอห์นกล่าวว่า “จงประพฤติตนให้สมกับที่ได้กลับใจแล้วเถิด  อย่าอวดอ้างเองว่า “เรามีอับราฮัมเป็นบิดา” ข้าพเจ้าบอกท่านทั้งหลายว่า พระเจ้าทรงบันดาลให้ก้อนหินเหล่านี้กลายเป็นลูกของอับราฮัมได้” (มธ 3:8-9)โคราช
สำหรับยอห์น ความรอดไม่ได้ขึ้นอยู่กับความดีของบรรพบุรุษ แต่ขึ้นอยู่กับการ “ประพฤติตนให้สมกับที่ได้กลับใจแล้ว”  หาไม่แล้วเราจะกลายเป็นต้นไม้ที่ไม่เกิดผลดี และถูกโค่นโยนใส่กองไฟ
สำหรับคริสตชนก็เช่นเดียวกัน เราจะอวดอ้างคุณธรรมความดีของบรรพบุรุษ ญาติพี่น้อง หรือของนักบุญที่เรารู้จักและศรัทธา โดยที่ตัวเราเองไม่ “ประพฤติตนให้สมกับที่ได้กลับใจแล้ว” ไม่ได้
    เพราะฉะนั้น “จงกลับใจเถิด อาณาจักรสวรรค์อยู่ใกล้แล้ว” (มธ 3:2)