แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

สมโภชพระนางมารีย์ พระชนนีพระเป็นเจ้า

ข่าวดี     ลูกา 2:16-21
    (16) เขาจึงรีบไปและพบพระนางมารีย์ โยเซฟ และพระกุมารซึ่งบรรทมอยู่ในรางหญ้า  (17)เมื่อคนเลี้ยงแกะเห็น ก็เล่าเรื่องที่เขาได้ยินมาเกี่ยวกับพระกุมาร  (18)ทุกคนที่ได้ยินต่างประหลาดใจในเรื่องที่คนเลี้ยงแกะเล่าให้ฟัง  (19)ส่วนพระนางมารีย์ทรงเก็บเรื่องทั้งหมดเหล่านี้ไว้ในพระทัยและยังทรงคำนึงถึงอยู่  (20)คนเลี้ยงแกะกลับไปโดยถวายพระพรและสรรเสริญพระเจ้าในเรื่องต่าง ๆ ที่พวกเขาได้ยินและได้เห็น ตามที่ทูตสวรรค์บอกไว้
(21)เมื่อครบกำหนดแปดวัน ถึงเวลาที่พระกุมารจะต้องทรงเข้าสุหนัต เขาถวายพระนามพระองค์ว่าเยซู เป็นพระนามที่ทูตสวรรค์ให้ไว้ก่อนที่พระองค์จะทรงปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระมารดา


    พระวรสารทั้งสี่กล่าวถึงพระนางมารีย์ไม่มากนัก กระนั้นก็ตามลูเธอร์ซึ่งเป็นผู้นำการปฏิรูปของโปรแตสแตนท์ ยังยอมรับว่าพระวรสารได้ยกย่องพระนางมารีย์เป็นอย่างมาก โดยเรียกพระนางว่า “มารดาของพระเยซูเจ้า” ถึง 8 ครั้งด้วยกัน !
    โดยเฉพาะพระวรสารวันนี้ที่ยืนยันว่า หลังทราบข่าวดีจากทูตสวรรค์แล้ว บรรดาคนเลี้ยงแกะ “จึงรีบไปและพบพระนางมารีย์ โยเซฟ และพระกุมารบรรทมอยู่ในรางหญ้า” (ลก 2:16)
    เท่ากับคนเลี้ยงแกะได้เห็นและเป็น “ประจักษ์พยาน” ยืนยันว่า “พระนางมารีย์ได้ให้กำเนิดพระกุมาร” ซึ่งได้รับการถวายพระนามว่า “เยซู” ในวันที่ทรงเข้าสุหนัต (ลก 2:21)
    มีประจักษ์พยาน !
    นอกจากลูกาแล้ว มัทธิวยืนยันเช่นกันว่า “นางให้กำเนิดบุตรชาย  โยเซฟตั้งชื่อกุมารนั้นว่า เยซู” (มธ 1:25)
    ส่วนยอห์นกล่าวถึงพระเยซูเจ้าว่าทรงเป็น “พระวจนาตถ์ผู้ทรงรับธรรมชาติมนุษย์และเสด็จมาประทับอยู่ท่ามกลางเรา” (ยน 1:14) ที่สำคัญท่านย้ำว่า “พระวจนาตถ์ทรงดำรงอยู่แล้ว พระวจนาตถ์ประทับอยู่กับพระเจ้า และ พระวจนาตถ์เป็นพระเจ้า” (ยน 1:1)
    ในเมื่อพระนางมารีย์คือมารดาของพระเยซูเจ้าผู้ทรงเป็นพระวจนาตถ์ และพระวจนาตถ์ทรงเป็นพระเจ้าเช่นนี้แล้ว…
     พระนางจึงเป็น “พระมารดาของพระเจ้า” อย่างไม่ต้องสงสัย !
    ด้วยเหตุนี้ บรรดาปิตาจารย์ของพระศาสนจักรอย่างเช่น นักบุญอิกญาซีโอ (เกิดปี 50) นักบุญอีเรเนอุส (เกิดระหว่างปี 115-125) และแตร์ตุลเลียน (เกิดราวปี 160) จึงไม่ลังเลใจเลยที่จะเรียกพระนางมารีย์ว่า “มารดาของพระเจ้า”
     ที่สุด สภาสังคายนาแห่งเอเฟซัสจึงประกาศให้พระนางเป็น Theotokos (เธโอโตคอส) ซึ่งหมายถึง “มารดาของพระเจ้า” ในปี ค.ศ. 431
นอกจากเป็นมารดาของพระเจ้าแล้ว ออรียิน (เกิดปี 185) ยังเริ่มจุดประกายความคิดว่าพระนางมารีย์ทรงเป็น “มารดาของผู้มีความเชื่อทุกคน” ด้วยเหตุผลว่าในเมื่อทรงเป็นมารดาของพระเยซูเจ้า ก็ควรเป็นมารดาของทุกคนที่เชื่อและมีพระเยซูเจ้าประทับอยู่ด้วย
นับจากศตวรรษที่ 12 เป็นต้นมา นักเทวศาสตร์เริ่มอธิบายพระดำรัสของพระเยซูเจ้าที่ตรัสจากไม้กางเขนกับพระมารดาว่า “แม่ นี่คือลูกของแม่” และกับนักบุญยอห์นว่า “นี่คือแม่ของท่าน” (ยน 19:26-27) ว่าเป็นการแต่งตั้งพระนางมารีย์ให้เป็น “มารดาของเราทุกคน”  และความคิดนี้ได้แพร่หลายไปทั่วพระศาสนจักรตราบจนทุกวันนี้ด้วยเหตุผลอย่างน้อย 2 ประการ คือ
    1.    ต้องมีมารดาเหนือเอวา เหตุว่าเอวาเป็นเพียงมารดาตามธรรมชาติที่ให้กำเนิดได้แต่ร่างกาย จำเป็นต้องมีมารดาเหนือธรรมชาติซึ่งก็คือพระนางมารีย์มารดาของพระเยซูเจ้าผู้ทรงเป็นบ่อเกิดแห่งชีวิตนิรันดร
    2.    เราคือ “น้อง” ของพระเยซูเจ้า เพราะพระองค์ทรงเป็น “บุตรคนแรกในบรรดาพี่น้องจำนวนมาก” (รม 8:29)  ดังนั้น นับจากวินาทีที่พระนางมารีย์ตรัสตอบทูตสวรรค์ว่า “ขอให้เป็นไปกับข้าพเจ้าตามวาจาของท่านเถิด” (ลก 1:38) พระนางจึงกลายเป็นมารดาของพระเยซูเจ้าผู้ทรงเป็น “พี่ชาย” ของเรา และในเวลาเดียวกันก็ทรงเป็นมารดาของเราผู้เป็น “น้องชาย” ของพระองค์ด้วย
   
ด้วยคำพูดเพียงประโยคเดียวคือ “ขอให้เป็นไปกับข้าพเจ้าตามวาจาของท่านเถิด” พระนางมารีย์ได้กลายเป็นมารดาของพระเยซูเจ้าและ “พระชนนีของพระเจ้า” ซึ่งเราร่วมใจกันสมโภชในวันนี้
และด้วยคำพูดเดียวกันนี้เอง พระนางได้กลายเป็น “มารดาของเราทุกคน” ด้วย
น่าภูมิใจสักเพียงใดที่ “มารดาของเรา” ทรงเป็น “มารดาของพระเจ้า” !
และจะยิ่งน่าชื่นชมยินดีมากกว่านี้สักเพียงใดหากเราเป็น “ลูก” ที่พร้อมจะกล่าวเช่นเดียวกับ “แม่” ของเราว่า “ขอให้เป็นไปกับข้าพเจ้าตามวาจาของท่านเถิด”
เพราะเราจะได้เป็นทั้ง “ลูกแม่” และ “ลูกพระเจ้า” พร้อมกันในวันนี้ !