วันอาทิตย์มหาทรมาน
แห่ใบลาน

ข่าวดี    มัทธิว 21:1-11  (บทอ่านก่อนแห่ใบลาน)
(1)เมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จพร้อมกับบรรดาศิษย์เข้ามาใกล้กรุงเยรูซาเล็ม และเสด็จมาที่หมู่บ้านเบทฟายีบนภูเขามะกอกเทศ พระองค์ทรงใช้ศิษย์สองคน  (2) ตรัสสั่งว่า “จงไปที่หมู่บ้านข้างหน้า แล้วท่านจะพบแม่ลาตัวหนึ่งผูกอยู่ มีลูกอยู่ด้วย จงแก้เชือกและจูงมาให้เราเถิด (3) ถ้ามีใครถาม จงตอบว่า “พระอาจารย์ต้องการใช้มัน และจะส่งกลับคืนให้ทันทีเมื่อใช้เสร็จ” (4) เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพื่อพระดำรัสที่ตรัสทางประกาศกจะได้เป็นความจริงว่า
    (5)จงบอกธิดาแห่งศิโยนว่า
    ดูซิ กษัตริย์ของท่านเสด็จมาพบท่าน
    มีพระทัยอ่อนโยน ประทับบนแม่ลา
    บนลูกลา สัตว์ใช้งาน
(6)ศิษย์ทั้งสองคนไปทำตามที่พระเยซูเจ้าทรงสั่ง  (7)เขาจูงแม่ลาและลูกลามาถวายพระองค์ ปูเสื้อคลุมของตนบนหลังลา พระองค์ประทับบนหลังลา  (8)ประชาชนจำนวนมากปูเสื้อคลุมของตนบนทางเดิน บางคนตัดกิ่งไม้มาวางตามทางเดิน  (9)ประชาชนทั้งที่เดินไปข้างหน้าและที่ตามมาข้างหลัง ต่างโห่ร้องว่า
    โฮซานนาแด่โอรสของกษัตริย์ดาวิด
    ขอถวายพระพรแด่ผู้มาในพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้า
    โฮซานนา ณ สวรรค์สูงสุด
(10)เมื่อพระองค์เสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มแล้ว ประชาชนทั่วทั้งเมืองต่างแตกตื่นถามว่า “ผู้นี้เป็นใครหนอ” (11) ประชาชนที่ติดตามพระเยซูเจ้าก็ตอบว่า “ผู้นี้คือพระเยซู ประกาศกจากนาซาเร็ธ แคว้นกาลิลี”


    ในพระธรรมเก่า เมื่อประชาชนไม่สนใจฟังคำเตือนหรือฟังแล้วแต่ไม่พยายามเข้าใจ สิ่งที่บรรดาประกาศกนิยมปฏิบัติกันคือ เปลี่ยนจากการ “พูด” มาเป็น “ทำ” ในสิ่งที่ทุกคนสามารถเห็นและเข้าใจได้แทน
    ตัวอย่างเช่น เมื่อกษัตริย์ซาโลมอนไม่ซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า ประกาศกอาหิยาห์ชาวชิโลห์ได้สวมเสื้อคลุมตัวใหม่ไปพบเยโรโบอัมในทุ่งนาตามลำพัง  เขาถอดเสื้อคลุมตัวนั้นออกมาฉีกเป็นสิบสองชิ้นแล้วพูดกับเยโรโบอัมว่า “ท่านจงเอาไปสิบชิ้นเถิด เพราะพระยาห์เวห์ พระเจ้าแห่งอิสราเอลตรัสว่า ‘เราจะฉีกอาณาจักรไปจากมือของซาโลมอนแล้วมอบให้ท่านสิบเผ่า เขาจะมีเหลือเพียงเผ่าเดียว เพราะเห็นแก่ดาวิดผู้รับใช้ของเรา และเพราะเห็นแก่กรุงเยรูซาเล็มเมืองที่เราเลือกไว้เป็นของเราจากทุกเผ่าของอิสราเอล” (1 พกษ 11:29-32)

    อีกครั้งหนึ่ง เมื่อประกาศกเยเรมีย์เห็นว่าปาเลสไตน์ต้องตกอยู่ภายใต้เงื้อมมือของบาบิโลนอย่างแน่นอน แต่บรรดาประกาศกเทียมกลับยุว่า “พวกเจ้าจะไม่ต้องรับใช้กษัตริย์บาบิโลน”  ท่านจึงทำแอกจากไม้พร้อมสายรัดคล้องคอของท่านเอง อีกทั้งส่งแอกพร้อมสายรัดไปให้กษัตริย์แห่งเอโดม โมอับ อัมโมน ไทระ และไซดอน เพื่อเตือนให้ยอมสยบต่อกษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์แห่งบาบิโลน จะได้ไม่เกิดสงคราม การกันดารอาหาร โรคระบาด หรือถึงขั้นสิ้นชาติ (ยรม 27:1-11)
    เช่นเดียวกัน เมื่อตระหนักว่ามีน้อยคนที่เชื่อและยอมรับพระองค์เป็นพระเมสสิยาห์ พระเยซูเจ้าจึงตัดสินพระทัยกระทำดุจเดียวกับบรรดาประกาศกในอดีต
    นั่นคือ ทรงเปลี่ยนจาก “พูด” มาเป็น “ทำ”
    พระองค์เสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มอย่างสง่าและเปิดเผยในช่วงเฉลิมฉลองเทศกาลปัสกาซึ่งสำคัญที่สุด ยิ่งใหญ่ที่สุด และมีประชาชนมาร่วมงานมากที่สุด !!
    หากคำนวณจากจำนวนลูกแกะที่ถูกฆ่าเป็นเครื่องบูชาโอกาสปัสกาปีละสองแสนห้าหมื่นตัว แต่ละตัวต้องมีคนรวมกลุ่มกันกินเนื้อแกะที่ถวายแล้วอย่างน้อยสิบคนตามบทบัญญัติ ก็จะได้จำนวนประชาชนที่มาร่วมฉลองปัสกาอย่างน้อยปีละสองล้านห้าแสนคน
    แสดงว่าพระองค์ทรงเลือก “กระทำ” ในโอกาสที่ประชาชนผู้มีศาสนาอยู่ในหัวใจจำนวนมากที่สุดมารวมตัวกันที่กรุงเยรูซาเล็ม
    นอกจากทรงเลือกโอกาสอย่างพิถีพิถันแล้ว พระองค์ยังทรงเตรียมการอย่างรอบคอบที่สุดอีกด้วย
    พระองค์ทรงส่งศิษย์สองคนไปที่หมู่บ้านซึ่งมาระโกระบุว่าคือเบธานี (มก 11:1) เพื่อพบเพื่อนของพระองค์ที่ได้ตกลงกันล่วงหน้าให้เตรียมลาพร้อมกับลูกที่ยังไม่เคยมีผู้ใดขี่มาก่อน โดยใช้รหัสลับว่า “พระอาจารย์ต้องการใช้มัน” (มธ 21:3)
    ในเมื่อทรงเตรียมการล่วงหน้าอย่างพิถีพิถันเช่นนี้ พระองค์ทรงมีพระประสงค์จะสื่อสารสิ่งใดหรือ ?
    1.    พระองค์ทรงเป็นพระเมสสิยาห์
        ประกาศกเศคาริยาห์กล่าวทำนายถึงการเสด็จมาของกษัตริย์แห่งศิโยนไว้ว่า “ธิดาแห่งศิโยนเอ๋ย จงชื่นชมยินดีเหลือล้น  ธิดาแห่งเยรูซาเล็มเอ๋ย จงโห่ร้อง  ดูเถิด กษัตริย์ของเจ้าเสด็จมาหาเจ้า ทรงชอบธรรมและนำความรอดมา ทรงอ่อนโยนและประทับมาบนหลังลา ทรงลูกลาเสด็จมา” (ศคย 9:9)
        การประทับบนหลังลูกลาเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มจึงสื่อความหมายชัดเจนว่า พระองค์ทรงเป็น “พระเมสสิยาห์” และ “กษัตริย์” ที่ประกาศกเศคาริยาห์ได้ทำนายไว้
        นับว่าไม่เสียแรงเปล่าเพราะมีประชาชนจำนวนมากเข้าใจความหมายที่พระองค์ต้องการสื่อและ “ปูเสื้อคลุมของตนบนทางเดิน” (มธ 21:8) ซึ่งเป็นสิ่งที่บรรดาแม่ทัพผู้เป็นเพื่อนของเยฮูกระทำหลังจากทราบว่าพระเจ้าทรงส่งประกาศกเอลีชามาเจิมตั้งเยฮูให้เป็นกษัตริย์เหนืออิสราเอล (2 พกษ 9:13)
        ยิ่งไปกว่านั้น “บางคนตัดกิ่งไม้มาวางตามทางเดิน” (มธ 21:8) เช่นเดียวกับชาวยิวที่ “ขับร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า โบกกิ่งปาล์ม ดีดพิณเล็กพิณใหญ่ ตีฉิ่งฉาบ” (1 มคบ 13:51) โอกาสฉลอง “ชัยชนะอันยิ่งใหญ่” ที่ซีโมน มัคคาบีสามารถยึดป้อมอาคราในกรุงเยรูซาเล็มและขับไล่ข้าศึกออกไปจากอิสราเอลได้
        บางคนอาจแปลกใจว่าในเมื่อพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ แต่ไฉนจึงประทับบนหลังลาเล่า ?
        ความแปลกใจนี้เกิดจากภาพพจน์ของ “ลา” ซึ่งไม่สู้ดีนักในสายตาของเรา  แต่ในปาเลสไตน์กษัตริย์ประทับบนหลังม้ายามออกศึกสงครามเท่านั้น  เมื่อบ้านเมืองสงบสุขและมีสันติพระองค์จะประทับบนหลังลา
        เพราะฉะนั้น พระเยซูเจ้าจึงไม่เพียงสื่อสารว่าทรงเป็นกษัตริย์เท่านั้น แต่ยังสื่อด้วยว่าทรงเป็นกษัตริย์แห่ง “ความรักและสันติ”  ไม่ใช่กษัตริย์ซึ่งจะพิชิตโลกด้วยกองทัพและความรุนแรงตามที่ชาวยิวจำนวนมากคาดหวัง
    2.    ทรงเชื้อเชิญแม้แต่ศัตรู
         ก่อนจะเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็ม “บรรดาหัวหน้าสมณะและชาวฟาริสีได้ออกคำสั่งว่า ถ้าใครรู้ว่าพระองค์อยู่ที่ไหน ก็ให้มารายงาน เพื่อจะได้จับกุมพระองค์” (ยน 11:57)
     เรียกว่าพระองค์ถูกออกหมายจับแล้ว !
        แต่แทนที่จะหลบ ๆ ซ่อน ๆ เข้าเมือง  พระองค์กลับเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มอย่างสง่าผ่าเผย ชนิดสายตาทุกคู่พากันจับจ้องมาที่พระองค์
     ทำไมพระองค์จึงกล้าเสี่ยงตายปานนี้ ?
        คำตอบคือ พระองค์กล้าเสี่ยงเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ก็ด้วยความหวังว่าจะเชื้อเชิญบรรดาศัตรูที่จ้องกำจัดพระองค์ให้หันมายอมรับและ “เชื่อ” พระองค์
        เพราะพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์แห่งความรักและสันติ
        เพราะพระองค์คือพระผู้ช่วยให้รอด
        ดังที่ประชาชนจำนวนมากได้ “เชื่อ” และโห่ร้องต้อนรับพระองค์ว่า “โฮซานนาแด่โอรสของกษัตริย์ดาวิด  ขอถวายพระพรแด่ผู้มาในพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้า โฮซานนา ณ สวรรค์สูงสุด” (มธ 21:9)
        “โฮซานนา” แปลว่า “โปรดช่วยให้รอดเทอญ” (สดด 118:25)
         ดังนั้น “โฮซานนา ณ สวรรค์สูงสุด” จึงหมายถึง ขอให้เทวดาบนสวรรค์ชั้นสูงสุดร้องทูลพระเจ้าว่า “โปรดช่วยให้รอดด้วยเทอญ”

         ในเมื่อเทวดา ณ สวรรค์ชั้นสูงสุด ยังทูลขอพระองค์ผู้ทรงเป็นโอรสของกษัตริย์ดาวิดและเสด็จมาในพระนามของพระเจ้าว่า “โปรดช่วยให้รอดด้วยเทอญ”  แล้วเราซึ่งโบกใบลานต้อนรับพระองค์ในฐานะกษัตริย์ ไม่คิดจะร้อง “โฮซานนา” บ้างดอกหรือ ?
        อย่าให้วันนี้ผ่านไปโดยเรายังไม่ได้กราบทูลพระองค์จากห้วงลึกแห่งหัวใจว่า “โปรดช่วยลูกให้รอดด้วยเทอญ !”