แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

chaiya1

อาทิตย์ที่ 21 เทศกาลธรรมดา


ข่าวดี    ยอห์น 6:60-69
(60)เมื่อศิษย์หลายคนได้ยินพระองค์ตรัสดังนี้ ก็กล่าวว่า “ถ้อยคำนี้ขัดหูจริง ใครจะฟังได้” (61)พระเยซูเจ้าทรงทราบด้วยพระองค์ว่าบรรดาศิษย์กำลังบ่นกันเรื่องนี้ จึงตรัสกับเขาว่า “เรื่องนี้ทำให้ท่านเคลือบแคลงใจเราหรือ  (62)แล้วถ้าท่านจะเห็นบุตรแห่งมนุษย์กลับขึ้นสู่สถานที่ที่เคยอยู่แต่ก่อนเล่า ท่านจะว่าอย่างไร” (63)‘พระจิตเจ้าเป็นผู้ประทานชีวิต ลำพังมนุษย์ทำอะไรไม่ได้ วาจาที่เรากล่าวแก่ท่านทั้งหลายนั้นให้ชีวิต เพราะมาจากพระจิตเจ้า (64)”แต่บางท่านไม่เชื่อ” พระเยซูเจ้าทรงทราบตั้งแต่แรกแล้วว่าผู้ใดไม่เชื่อ และผู้ใดจะทรยศต่อพระองค์ (65)พระองค์ตรัสต่อไปว่า “ดังนั้น เราจึงบอกท่านทั้งหลายว่า ไม่มีผู้ใดมาหาเราได้ เว้นแต่ผู้ที่พระบิดาประทานให้เขามา”  (66)หลังจากนั้น ศิษย์หลายคนเปลี่ยนใจ ไม่ติดตามพระองค์อีกต่อไป (67)พระเยซูเจ้าจึงตรัสกับอัครสาวกสิบสองคนว่า “ท่านทั้งหลายจะไปด้วยหรือ”  (68)ซีโมนเปโตรทูลตอบว่า “พระเจ้าข้า พวกเราจะไปหาใครเล่า พระองค์มีพระวาจาแห่งชีวิตนิรันดร  (69)พวกเราเชื่อ และรู้ว่าพระองค์ทรงเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า”

************************


เมื่อได้ยินพระเยซูเจ้าตรัสว่า “เราเป็นปังทรงชีวิตที่ลงมาจากสวรรค์ ใครที่กินปังนี้จะมีชีวิตอยู่ตลอดไป” (ยน 6:51) และ “ผู้ที่กินเนื้อของเรา และดื่มโลหิตของเรา ก็มีชีวิตนิรันดร” (ยน 6:54) ศิษย์หลายคนรู้สึกว่า “ถ้อยคำนี้ขัดหูจริง ใครจะฟังได้” (ข้อ 60)
“ขัดหู” ซึ่งตรงกับภาษากรีก sklēros (สเคลรอส) ไม่ได้หมายความว่า “เข้าใจไม่ได้” แต่หมายความว่า “ยอมรับไม่ได้”
พวกเขาเข้าใจดีว่า ผู้ที่สามารถให้เนื้อและให้โลหิตของตนเป็นอาหารเพื่อบันดาลชีวิตนิรันดรได้นั้นมีอยู่เพียงผู้เดียวคือ “พระเจ้า”
แต่ถ้ายอมรับว่าพระองค์คือพระเจ้าที่เสด็จลงมาจากสวรรค์ ผลสืบเนื่องที่ตามมานั้นมันยุ่งยากเกินกว่าจะยอมรับได้ !
ประการแรก พวกเขาต้องสละตนเอง และมอบตนเองทั้งหมดแด่พระเยซูเจ้าในฐานะพระเจ้าผู้ประทานชีวิตเที่ยงแท้แต่เพียงพระองค์เดียว
ประการที่สอง พวกเขาต้องดำเนินชีวิตตามมาตรฐานด้านศีลธรรมอันสูงสุด ที่พระองค์ทรงสอนและทรงเป็นแบบอย่างด้วยชีวิตของพระองค์เอง
เจอเข้า 2 ข้อนี้ “ศิษย์หลายคนเปลี่ยนใจ ไม่ติดตามพระองค์อีกต่อไป” (ข้อ 66)

ทุกวันนี้ ยังคงมีคริสตชนจำนวนมากที่เปลี่ยนใจ และเลิกติดตามพระองค์เช่นเดียวกัน  พวกเขาหันหลังให้วัดเพราะรับมาตรฐานด้านศีลธรรมที่พระองค์ทรงเรียกร้องไม่ได้  มิหนำซ้ำบางคนยังไม่วายอ้างเหตุผลอื่นเพื่อปัดความรับผิดชอบให้พ้นไปจากตัว
เมื่อทรงเห็นพวกศิษย์ลังเลที่จะเชื่อว่าพระองค์คือ “ปังทรงชีวิตที่ลงมาจากสวรรค์”  พระองค์จึงยืนยันด้วยคำทำนายว่า “ท่านจะเห็นบุตรแห่งมนุษย์กลับขึ้นสู่สถานที่ที่เคยอยู่แต่ก่อน” (ข้อ 62) นั่นคือ พระองค์ทรงยกเรื่องการกลับคืนชีพ และการเสด็จสู่สวรรค์ของพระองค์มาเป็นข้อพิสูจน์และหลักประกันสิ่งที่ทรงตรัสสอน
แต่สิ่งที่ประเสริฐกว่าข้อพิสูจน์อื่นใดคือ คำสอนอันเป็นหลักธรรมนำชีวิตสำหรับเราทุกคน นั่นคือ “เป็นจิตต่างหากที่ทำให้มีชีวิต เนื้อหนังใช้อะไรมิได้เลย ถ้อยคำที่เราบอกแก่ท่านนั้น เป็นจิตและเป็นชีวิต” (ข้อ 63)
ขอย้ำพระวาจาอีกครั้งว่า เป็นจิตที่ให้ชีวิต ไม่ใช่เนื้อหนัง !
ความหมายของพระองค์คือ กิจกรรมทั้งหลายทั้งมวลซึ่งจะสำเร็จลุล่วงไปได้ล้วนต้องอาศัยร่างกายหรือเนื้อหนังของเรามนุษย์นั้น จะมี “คุณค่า” หรือไม่ย่อมขึ้นอยู่กับเป้าหมาย วัตถุประสงค์ เจตนารมณ์ หรือเรียกรวมกันว่า “จิตวิญญาณ” (spirit) ของผู้กระทำ
ปราศจาก “จิตวิญญาณ” (spirit) กิจการนั้นย่อมไร้ความหมาย และไร้ชีวิต
ขอยกตัวอย่างเรื่อง “การกิน”  ถ้าเรากินเพราะอยากกิน  การกินนั้นแทนที่จะให้คุณกลับเป็นโทษเพราะทำให้อ้วนและกลายเป็นคนโลภอาหารเปล่า ๆ  แต่ถ้าเรากินเพื่อจะได้ประทังชีวิต และทำให้ร่างกายแข็งแรง สามารถทำงานรับใช้พระเจ้าและมนุษย์ได้ดีกว่า  การกินของเราก็จะมีคุณค่า และทำให้ชีวิตของเรามีความหมายอย่างแท้จริง
เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสว่า “ถ้อยคำที่เราบอกแก่ท่านนั้น เป็นจิตและเป็นชีวิต”  พระองค์ต้องการย้ำว่า มีเพียงพระองค์เท่านั้นที่สามารถบอกเราว่า เป้าหมาย วัตถุประสงค์ เจตนารมณ์ หรือจิตวิญญาณที่ถูกต้องของแต่ละกิจกรรมคืออะไร
เป็นพระองค์ที่บอกเราว่า เป้าหมายที่แท้จริงของชีวิตคืออะไร ?
เป็นพระองค์ที่แสดงให้เห็นว่า เกียรติยศและความยิ่งใหญ่ที่แท้จริงที่มนุษย์กระตือรือร้น หรือถึงขั้นดิ้นรนแสวงหากันนั้นคืออะไร ?
และเป็นพระองค์ที่สอนว่า ความสุขแท้จริงอันเป็นสุดยอดปรารถนาของทุกคนคืออะไร ?
ที่สำคัญคือ นอกจากจะบอกเคล็ดลับที่ทำให้ชีวิตของเรามีเป้าหมายและมีคุณค่าอย่างแท้จริงแล้ว พระองค์ยังประทานพละกำลังให้เราดำเนินชีวิตเพื่อ “ทำฝันให้เป็นจริง” อีกด้วย
ฝันที่จะทำให้เรามีชีวิตอย่างที่พระเจ้าทรงเป็น นั่นคือ “ชีวิตนิรันดร”

“แต่บางท่านไม่เชื่อ” (ข้อ 64)
หากลองไล่เรียงเหตุการณ์ย้อนหลังดู  เราจะพบว่าถ้อยคำ “แต่บางท่านไม่เชื่อ” นี้ช่างสะท้อนความสะเทือนใจอันใหญ่หลวงของพระองค์จริง ๆ !
ยอห์นเล่าว่า “ขณะที่พระองค์ประทับอยู่ที่กรุงเยรูซาเล็มในเทศกาลปัสกา คนจำนวนมากเชื่อในพระนามของพระองค์เพราะได้เห็นเครื่องหมายอัศจรรย์ต่าง ๆ ที่ทรงกระทำ” (ยน 2:23)
แม้ชาวสะมาเรียซึ่งเป็นคนต่างชาติก็เชื่อพระองค์ (ยน 4:39)
และ “เมื่อพระองค์เสด็จมาถึงแคว้นกาลิลี ชาวกาลิลีต้อนรับพระองค์อย่างดี เพราะเห็นการกระทำต่าง ๆ ของพระองค์ที่กรุงเยรูซาเล็มในระหว่างวันฉลองที่เขาไปร่วมด้วย” (ยน 4:45)
เรียกว่าประชาชนทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นชาวเยรูซาเล็มทางใต้ ชาวสะมาเรียตอนกลาง และชาวกาลิลีทางเหนือ ล้วนเชื่อและยอมรับพระองค์ !!!
และล่าสุด “ประชาชนจำนวนมากตามพระองค์ไป เพราะเห็นเครื่องหมายอัศจรรย์ที่ทรงกระทำแก่ผู้เจ็บป่วย” (ยน 6:2) หลังจากนั้นพระองค์ทรงทำอัศจรรย์ทวีขนมปังห้าก้อนและปลาสองตัวเลี้ยงพวกเขา
แต่วันนี้ ทุกอย่างเปลี่ยนไป.....
บางคนไม่เชื่อ บางคนตีจาก มิหนำซ้ำบางคนคิดทรยศพระองค์อีกด้วย !!!
ช่างน่าสะเทือนใจจริง ๆ
ทั้งหมดนี้เป็นเพราะสถานการณ์เริ่มตึงเครียดมากขึ้นทุกที  ความเกลียดชังของพวกฟาริสีและผู้นำทางศาสนายิวเริ่มก่อตัว และขยายตัวมากขึ้นจนถึงจุดสูงสุดบนไม้กางเขน
ท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าว พระวรสารวันนี้ได้เผยให้เห็น “ธาตุแท้” ของมนุษย์ 3 กลุ่มด้วยกัน กล่าวคือ
1.    ละทิ้ง  บางคนหันหลังกลับ เลิกติดตามพระองค์ด้วยเหตุผลต่าง ๆ กัน (ข้อ 66)
บางคนเห็นชัดว่าพระองค์มีความขัดแย้งกับบรรดาผู้นำทางศาสนา ซึ่งคงไม่แคล้วลงเอยด้วยความหายนะ  ทางที่ดีรีบถอนตัวออกมาก่อนจะสายเกินไปดีกว่า
คนกลุ่มนี้เลือกคบแต่ “ผู้มีบารมี” ที่อยู่ในช่วงขาขึ้นเท่านั้น  เมื่อเห็นใครอยู่ในช่วงขาลงอย่างเช่นพระเยซูเจ้าซึ่งกำลังมุ่งหน้าสู่ไม้กางเขนอันอัปยศอดสูนั้น พวกเขาก็รีบตีจากพระองค์ไปอย่างไม่มีเยื่อใย
แล้วคนพวกนี้จะได้พบกับความรุ่งโรจน์ยิ่งใหญ่อันเกิดจากการกลับคืนชีพได้อย่างไร ????
ยังมีคนอีกบางพวกที่ติดตามพระองค์เพียงเพราะหวังจะ “ได้” บางสิ่งบางอย่างจากพระองค์ เช่นอาหาร การรักษาโรค ฯลฯ  แต่เมื่อถึงคราวที่จะต้อง “เสียสละ” หรือ “ให้” บางสิ่งบางอย่างแก่พระองค์บ้าง พวกเขาก็ใส่เกียร์ถอยหลังทันที
2.    เลวลง ดังเช่นยูดาสซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดาอัครสาวก  พระองค์ทรงเลือกเขาเพราะคาดหวังว่าเขาจะช่วยพระองค์ได้  ยูดาสน่าจะเป็นวีรบุรุษแต่กลับกลายเป็นคนทรยศที่ผู้คนกล่าวถึงด้วยความเหยียดหยามและเกลียดชัง
มีเรื่องเล่าว่า ศิลปินผู้หนึ่งต้องการวาดภาพ “อาหารค่ำครั้งสุดท้าย” ให้เป็นผลงานยิ่งใหญ่ที่สุด  เขาเริ่มต้นด้วยการวาดภาพพระเยซูเจ้าโดยอาศัยเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่มีใบหน้าบริสุทธิ์ ผ่องใส และน่ารักเป็นนายแบบ  เวลาผ่านไปหลายปี เขาค่อย ๆ เติมภาพของอัครสาวกทีละเล็กทีละน้อยจนถึงคนสุดท้ายคือยูดาส  เขาออกตระเวนไปตามสลัมและแหล่งเสื่อมโทรมอื่น ๆ เพื่อค้นหานายแบบที่มีใบหน้าชั่วร้ายที่สุด  ที่สุดเขาพบชายคนหนึ่งมีลักษณะตรงตามความต้องการของเขา  เมื่อนายแบบนั่งลง เขาเอ่ยขึ้นว่า “คุณเคยวาดภาพผมมาก่อน”  ศิลปินตอบว่า “ไม่มีทาง”  เขายืนยันว่า “เคยสิ ผมเคยนั่งเป็นแบบให้คุณวาดภาพพระเยซูเจ้า !”
“วันเวลา” ที่ผ่านไปสามารถพรากความใฝ่ฝัน อุดมการณ์ ความกระตือรือร้น และความจงรักภักดีที่เรามีต่อพระเยซูเจ้าไปจากเราได้
เราจึงต้องหมั่นวอนขอพระเจ้า โปรดอย่าให้วันเวลาที่พระองค์ประทานให้ทำให้ชีวิตของเราถอยห่างจากพระองค์และเลวร้ายลง  แต่ขอโปรดให้เรารักและดำเนินชีวิตละม้ายคล้ายพระองค์มากขึ้นทุกวันด้วยเทอญ !
3.    ตัดสินใจเด็ดขาด  ดังที่ซีโมน เปโตรทูลตอบพระองค์ว่า “พระเจ้าข้า พวกเราจะไปหาใครเล่า พระองค์มีพระวาจาแห่งชีวิตนิรันดร” (ข้อ 68)
คำพูดของเปโตรไม่ได้เกิดจากความรู้ความเข้าใจสิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงตรัสสอน  แต่เกิดจากความรักและความสัมพันธ์แน่นแฟ้นที่ท่านมีต่อพระองค์ ชนิดที่พร้อมยอมตายเพื่อพระองค์ได้ทุกเวลา
สำหรับเปโตร “ความรู้” เทียบชั้นอะไรกับ “ความรัก” ไม่ได้เลย !
ท่านรักพระเยซูเจ้าจนเต็มหัวใจ
ท่านไม่รู้จะไปหาใคร เพราะท่านไม่มีหัวใจให้ใครอีกแล้ว

แล้วเราจะไปหาใครเล่า ???!......