แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ สัปดาห์ที่ 7 เทศกาลธรรมดา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 6:27-38)            

เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสกับบรรดาศิษย์ว่า “แต่เรากล่าวกับท่านทั้งหลายที่กำลังฟังอยู่ว่า จงรักศัตรู จงทำดีต่อผู้ที่เกลียดชังท่าน จงอวยพรผู้ที่สาปแช่งท่าน จงอธิษฐานภาวนาให้ผู้ที่ทำร้ายท่าน ผู้ใดตบแก้มท่านข้างหนึ่ง จงหันแก้มอีกข้างหนึ่งให้เขาตบด้วย ผู้ใดเอาเสื้อคลุมของท่านไป จงปล่อยให้เขาเอาเสื้อยาวไปด้วย จงให้แก่ทุกคนที่ขอท่าน และอย่าทวงของของท่านคืนจากผู้ที่ได้แย่งไป ท่านอยากให้เขาทำต่อท่านอย่างไร ก็จงทำต่อเขาอย่างนั้นเถิด ถ้าท่านรักเฉพาะผู้ที่รักท่าน ท่านจะเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้าได้อย่างไร คนบาปก็ยังรักผู้ที่รักเขาด้วย ถ้าท่านทำดีเฉพาะต่อผู้ที่ทำดีต่อท่าน ท่านจะเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้าได้อย่างไร คนบาปก็ยังทำเช่นนั้นด้วย

ถ้าท่านให้ยืมเงินโดยหวังจะได้คืน ท่านจะเป็นที่พอพระทัยพระเจ้าได้อย่างไร คนบาปก็ให้คนบาปด้วยกันยืมโดยหวังจะได้เงินคืนจำนวนเท่ากัน แต่ท่านจงรักศัตรู จงทำดีต่อเขา จงให้ยืมโดยไม่หวังอะไรกลับคืน แล้วบำเหน็จรางวัลของท่านจะใหญ่ยิ่ง ท่านจะเป็นบุตรของพระผู้สูงสุด เพราะพระองค์ทรงพระกรุณาต่อคนอกตัญญูและต่อคนชั่วร้าย

จงเป็นผู้เมตตากรุณาดังที่พระบิดาของท่านทรงพระเมตตากรุณาเถิด อย่าตัดสินเขา แล้วพระเจ้าจะไม่ทรงตัดสินท่าน อย่ากล่าวโทษเขา แล้วพระเจ้าจะไม่ทรงกล่าวโทษท่าน จงให้อภัยเขา แล้วพระเจ้าจะทรงให้อภัยท่าน จงให้ แล้วพระเจ้าจะประทานแก่ท่าน ท่านจะได้รับเต็มสัดเต็มทะนานอัดแน่นจนล้น เพราะว่าท่านใช้ทะนานใดตวงให้เขา พระเจ้าก็จะทรงใช้ทะนานนั้นตวงตอบแทนให้ท่านด้วย”


ลก 6:27-38 โดยทั่วไปเราเรียกศูนย์กลางแห่งคำสอนของศาสนบริการของพระคริสตเจ้าว่า กฎปฏิบัติ และเป็นส่วนขยายของ Shema (เทียบ ฉธบ 6:4-9) พระเจ้าทรงเรียกเราสู่ความรักที่ไม่มีเงื่อนไขต่อศัตรูของเราและผู้ที่เบียดเบียนเรา และให้เราเสียสละตนเองด้วยใจกว้างแก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ

การเลือกปฏิบัติตามมโนธรรม

CCC ข้อ 1789 ในทุกกรณีเหล่านี้จึงต้องใช้กฎบางประการ คือ

- ต้องไม่มีวันอนุญาตให้ทำชั่วเพื่อจะได้ผลดีจากการนั้น

- “กฎทางปฏิบัติ” ก็คือ “ท่านอยากให้เขาทำกับท่านอย่างไร ก็จงทำกับเขาอย่างนั้นเถิด” (มธ 7:12)

- ความรักต้องคำนึงถึงเพื่อนพี่น้องและมโนธรรมของเขาเสมอ “ถ้าท่านทำบาปต่อพี่น้องและ ทำร้ายมโนธรรมที่อ่อนไหวของเขา ท่านก็ย่อมทำบาปต่อพระคริสตเจ้า” (1คร 8:12) “เป็นการดีที่จะงด [...] [ทำ] ทุกสิ่งที่เป็นเหตุทำให้พี่น้องของท่านไม่สบายใจ” (รม 14:21)

ธรรมบัญญัติใหม่ หรือ กฎแห่งพระวรสาร

CCC ข้อ 1970 กฎแห่งพระวรสารเรียกร้องให้มีการเลือกระหว่าง “ทางสองแพร่ง” และให้นำพระวาจาขององค์พระผู้เป็นเจ้ามาปฏิบัติ ทั้งหมดนี้รวมกันเรียกว่า “กฎปฏิบัติ” (Golden Rule) ที่สรุปได้ดังนี้ “ท่านอยากให้เขาทำกับท่านอย่างไร ก็จงทำกับเขาอย่างนั้นเถิด นี่คือธรรมบัญญัติและบรรดา ประกาศก” (มธ 7:12) กฎแห่งพระวรสารทั้งหมดรวมอยู่ในบัญญัติใหม่ของพระเยซูเจ้า ที่สั่งให้เรารักกันเหมือนกับที่พระองค์ทรงรักเรา

กฎปฏิบัติในกรณีเฉพาะ

CCC ข้อ 2510 กฎปฏิบัติในกรณีเฉพาะช่วยให้เราตัดสินว่า ควรจะเปิดเผยความจริงแก่ผู้ที่ขอให้ทำเช่นนั้นหรือไม่


ลก 6:28  จงอวยพรผู้ที่สาปแช่งท่าน : การอวยพร คือรูปแบบหนึ่งของสิ่งคล้ายศีล การกระทำอย่างศรัทธานั้นไม่หมายถึงการได้รับพระหรรษทาน แต่เป็นความพร้อมของเราที่จะรับพระหรรษทาน คริสตชนที่ได้รับศีลล้างบาปสามารถอวยพรอย่างไม่เป็นทางการได้ แต่การอวยพรที่เชื่อมโยงไปถึงศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ หรือการอวยพรของพระศาสนจักรนั้น ตามปกติจะถูกสงวนไว้สำหรับบิชอป บาทหลวง และสังฆานุกรเท่านั้น

ลักษณะสำคัญของสิ่งคล้ายศีล

CCC ข้อ 1669 สิ่งคล้ายศีลต่างๆ เกิดจากสมณภาพที่สืบเนื่องมาจากศีลล้างบาป ผู้รับศีลล้างบาปทุกคนได้รับเรียกมาให้เป็น “การอวยพร” และเพื่อ “อวยพร” เพราะเหตุนี้ ฆราวาสจึงอาจประกอบพิธีอวยพรบางอย่างได้ ยิ่งการเสกหรือการอวยพรเกี่ยวข้องกับชีวิตพระศาสนจักรหรือศีลศักดิ์สิทธิ์มากขึ้นเท่าใด การเป็นประธานประกอบพิธีดังกล่าวก็ยิ่งสงวนไว้ให้เป็นหน้าที่ของศาสนบริกรที่ได้รับศีลบวช (พระสังฆราช พระสงฆ์ หรือสังฆานุกร)

CCC ข้อ 1670 สิ่งคล้ายศีลไม่ประทานพระหรรษทานของพระจิตเจ้าเหมือนกับศีลศักดิ์สิทธิ์ แต่ใช้คำอธิษฐานภาวนาของพระศาสนจักรเตรียมเราไว้เพื่อรับพระหรรษทานและช่วยเราให้พร้อมที่จะร่วมงานกับพระหรรษทาน “สำหรับบรรดาผู้มีความเชื่อที่เตรียมพร้อมอย่างดี แทบทุกเหตุการณ์ในชีวิตย่อมรับความศักดิ์สิทธิ์จากพระหรรษทานของพระเจ้าที่หลั่งไหลมาจากพระธรรมล้ำลึกปัสกาแห่งการรับทรมาน การสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า ศีลศักดิ์สิทธิ์และสิ่งคล้ายศีลทั้งหลายย่อมได้รับประสิทธิผลของตนจากพระธรรมล้ำลึกนี้เอง จึงแทบไม่มีการใช้วัสดุใดๆ อย่างถูกต้องที่ไม่อาจบันดาลความศักดิ์สิทธิ์แก่มนุษย์และสรรเสริญพระเจ้า” ได้


ลก 6:35  บุตรของพระผู้สูงสุด : ดังที่บิดามารดาถ่ายทอดลักษณะทางกายภาพให้แก่บุตรของตนฉันใด บรรดาผู้ที่เชื่อในพระวาจาของพระเจ้าก็สะท้อนถึงความรักและพระเมตตาของพระเยซูคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้า ผู้ทรงรับเอากายเป็นมนุษย์ฉันนั้น

ผลของศีลกำลัง

CCC ข้อ 1303 ดังนั้น ศีลกำลังจึงเป็นการเพิ่มและเข้าลึกซึ้งยิ่งขึ้นในพระหรรษทานของศีลล้างบาป

- ทำให้เราหยั่งรากลึกยิ่งขึ้นในการเป็นบุตรของพระเจ้าที่ทำให้เราร้องออกมาว่า “อับบาพระบิดาเจ้าข้า” (รม 8:15)

- ทำให้เราร่วมสนิทกับพระคริสตเจ้าแนบแน่นยิ่งขึ้น

- เพิ่มพระพรของพระจิตเจ้าในเรา

- ทำให้ความสัมพันธ์ของเรากับพระศาสนจักรสมบูรณ์ขึ้น


ลก 6:36  โดยการอ้างอิงถึงพันธสัญญาเดิมเพื่อค้นพบความศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า (เทียบ ลนต 19:2) พระคริสตเจ้าทรงกำหนดให้ความเมตตาเป็นเครื่องหมายสูงสุดของความศักดิ์สิทธิ์ และทรงบัญชาให้ผู้ที่เชื่อในพระองค์ปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความเมตตาตามแบบอย่างของพระบิดา ผู้ทรงพระเมตตาประทานการอภัยบาปแก่เรา

การสารภาพบาป

CCC ข้อ 1457 ตามกฎข้อบังคับของพระศาสนจักร “ผู้มีความเชื่อทุกคน หลังจากถึงอายุรู้ความแล้ว จำเป็นต้องสารภาพบาปหนักอย่างซื่อสัตย์อย่างน้อยปีละครั้ง” ผู้ที่สำนึกว่าตนได้ทำบาปหนัก ต้องไม่ไปรับศีลมหาสนิท ก่อนจะได้รับการอภัยบาปในศีลศักดิ์สิทธิ์ แม้เขาจะรู้สึกเป็นทุกข์ถึงบาปอย่างมากก็ตาม นอกจากจะมีเหตุผลสำคัญต้องรับศีลมหาสนิทและยังไม่อาจไปรับศีลอภัยบาปได้ บรรดาเด็กๆ ต้องไปรับศีลอภัยบาปก่อนจะรับศีลมหาสนิทครั้งแรก

CCC ข้อ 1458 แม้ว่าการสารภาพความผิดที่ทำทุกๆ วัน (บาปเบา) จะไม่จำเป็นนัก พระศาสนจักรก็ยังสนับสนุนอย่างจริงจังให้ปฏิบัติด้วย อันที่จริง การสารภาพบาปเบาของเราเป็นประจำย่อมช่วยเราให้จัดรูปแบบมโนธรรมของเรา เพื่อต่อสู้กับแนวโน้มทางชั่วของเรา เพื่อเปิดโอกาสให้พระคริสตเจ้าทรงบำบัดรักษาเรา ให้เราก้าวหน้าในชีวิตจิต เมื่อเรารับพระกรุณาเป็นของประทานจากพระบิดาผ่านทางศีลนี้บ่อยๆ เราก็ยิ่งรับการผลักดันให้มีความเมตตากรุณาเหมือนพระองค์มากขึ้น

เหมือนข้าพเจ้าให้อภัยแก่ผู้อื่น

CCC ข้อ 2842 คำว่า “เหมือน” นี้ไม่ได้มีเพียงครั้งเดียวในคำสอนของพระเยซูเจ้า “ฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงเป็นคนดีอย่างสมบูรณ์ เหมือนกับที่พระบิดาเจ้าสวรรค์ของท่านทรงความดีอย่างสมบูรณ์เถิด” (มธ 5:48) “(ท่าน) จงเป็นผู้เมตตากรุณาดังที่พระบิดาของท่านทรงพระเมตตากรุณาเถิด” (ลก 6:36) “เราให้บทบัญญัติใหม่แก่ท่านทั้งหลาย ให้ท่านรักกัน เรารักท่านทั้งหลายอย่างไรท่านก็จงรักกันอย่างนั้นเถิด” (ยน 13:34) การปฏิบัติตามพระบัญชาขององค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นไปไม่ได้ ถ้าเป็นเพียงการปฏิบัติตามพระแบบฉบับของพระเจ้าเพียงภายนอก แต่นี่เป็นเรื่องการมีส่วนความศักดิ์สิทธิ์ ความเมตตากรุณา และความรักของพระเจ้าอย่างมีชีวิตชีวา “จากส่วนลึกของจิตใจ” มีเพียงพระจิตเจ้า “ที่เราดำเนินชีวิต” (กท 5:25) ตามพระองค์เท่านั้น อาจทำให้ความรู้สึกนึกคิด “ของเรา” เป็นเหมือนกันกับความรู้สึกนึกคิดที่อยู่ในพระคริสต์เยซู เมื่อนั้นแหละ การให้อภัยหนึ่งเดียวกันจึงเป็นไปได้ เมื่อเรา “ให้อภัยกันดังที่พระเจ้าทรงให้อภัยท่านในองค์พระคริสตเจ้า” (อฟ 4:32)

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)