แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ ฉลองครอบครัวศักดิ์สิทธิ์

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 2:41-52)                                                                                 

โยเซฟพร้อมกับพระมารดาของพระเยซูเจ้าเคยขึ้นไปยังกรุงเยรูซาเล็มในเทศกาลปัสกาทุกปี  เมื่อพระองค์มีพระชนมายุสิบสองพรรษา โยเซฟพร้อมกับพระมารดาก็ขึ้นไปกรุงเยรูซาเล็มตามธรรมเนียมของเทศกาลนั้น  เมื่อวันฉลองสิ้นสุดลง ทุกคนก็เดินทางกลับ แต่พระเยซูเจ้ายังประทับอยู่ที่กรุงเยรูซาเล็มโดยที่บิดามารดาไม่รู้  เพราะคิดว่า พระองค์ทรงอยู่ในหมู่ผู้ร่วมเดินทาง เมื่อเดินทางไปได้หนึ่งวันแล้ว โยเซฟพร้อมกับพระนางมารีย์ตามหาพระองค์ในหมู่ญาติและคนรู้จัก  เมื่อไม่พบจึงกลับไปกรุงเยรูซาเล็ม เพื่อตามหาพระองค์ที่นั่น  ในวันที่สามโยเซฟพร้อมกับพระนางมารีย์พบพระองค์ในพระวิหารประทับนั่งอยู่ในหมู่อาจารย์ ทรงฟังและทรงไต่ถามพวกเขา  ทุกคนที่ได้ฟังพระองค์ต่างประหลาดใจในพระปรีชาที่ทรงแสดงในการตอบคำถาม  เมื่อโยเซฟพร้อมกับพระนางมารีย์เห็นพระองค์ก็รู้สึกแปลกใจ พระมารดาจึงตรัสถามพระองค์ว่า “ลูกเอ๋ย ทำไมจึงทำกับเราเช่นนี้ ดูซิ พ่อกับแม่ต้องกังวลใจตามหาลูก”  พระองค์ตรัสตอบว่า  “พ่อกับแม่ตามหาลูกทำไม พ่อแม่ไม่รู้หรือว่า ลูกต้องอยู่ในบ้านของพระบิดาของลูก”  โยเซฟพร้อมกับพระนางมารีย์ไม่เข้าใจที่พระองค์ตรัส

พระเยซูเจ้าเสด็จกลับไปที่เมืองนาซาเร็ธกับบิดามารดาและเชื่อฟังท่านทั้งสอง พระมารดาทรงเก็บเรื่องทั้งหมดเหล่านี้ไว้ในพระทัย  พระเยซูเจ้าทรงเจริญขึ้นทั้งในพระปรีชาญาณ พระชนมายุ และพระหรรษทานเฉพาะพระพักตร์ของพระเจ้าและต่อหน้ามนุษย์ 


ลก 2:41-52  เทศกาลปัสกาซึ่งเริ่มต้นในวันที่สิบห้าของเดือนนิสานของชาวยิว เป็นการฉลองที่ระลึกถึงอิสรภาพของชาวยิวจากการเป็นทาสของอียิปต์ ในสมัยของพระคริสตเจ้านั้นชายชาวยิวทุกคนต้องเดินทางไปยังพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม บรรดาผู้ชายมักพาครอบครัวของตนเดินทางไปเป็นขบวนใหญ่พร้อมกับครอบครัวอื่นๆ โดยชายและหญิงแยกกันเดินอยู่คนละกลุ่ม ส่วนเด็กๆ จะคละอยู่ในทั้งสองกลุ่ม เป็นวิธีปฏิบัติแบบนี้เองที่ทำให้การหายตัวไปของพระคริสตเจ้าไม่ได้เป็นที่สังเกตุในทันที คำตอบที่พระคริสตเจ้าทรงให้ในพระวิหารบ่งบอกว่าพระองค์ทรงเข้าใจในอัตลักษณ์ของพระองค์ในฐานะพระบุตรของพระเจ้า และในพันธกิจแห่งการไถ่กู้มนุษยชาติของพระองค์ เหตุการณ์นี้ชี้ไปยังพระมหาทรมานที่จะเกิดขึ้นในกรุงเยรูซาเล็มนครศักดิ์สิทธิ์ โยเซฟและมารีย์ต่างน้อมรับภารกิจของพระบุตรด้วยความเชื่อที่สุภาพ เวลาสามวันของพระคริสตเจ้าในพระวิหารยังสามารถมองได้ว่าเป็นการบอกล่วงหน้าถึงเวลาสามวันของพระองค์ในพระคูหาก่อนการกลับคืนชีพของพระองค์ด้วย 

CCC ข้อ 534 การพบพระเยซูเจ้าในพระวิหาร เป็นเพียงเหตุการณ์เดียวที่ทำลายความเงียบของพระวรสารเกี่ยวกับช่วงเวลาพระชนมชีพซ่อนเร้นของพระเยซูเจ้า ในเรื่องนี้พระเยซูเจ้าทรงอนุญาตให้เราแลเห็นพระธรรมล้ำลึกของการที่ทรงเป็นพระบุตรพระเจ้าและทรงถวายพระองค์อย่างสมบูรณ์ต่อพันธกิจที่ทรงรับมาจากพระบิดา “พ่อแม่ไม่รู้หรือว่าลูกต้องอยู่ในบ้านของพระบิดาของลูก” โยเซฟพร้อมกับพระนางมารีย์ “ไม่เข้าใจ” ที่พระองค์ตรัส แต่ก็ยอมรับพระวาจานี้ด้วยความเชื่อ และพระนางมารีย์ “ทรงเก็บเรื่องทั้งหมดเหล่านี้ไว้ในพระทัย” ตลอดช่วงเวลาหลายปีที่พระเยซูเจ้าทรงดำเนินพระชนมชีพซ่อนเร้นอย่างเงียบๆ ตามปรกติเหมือนคนทั่วไป

CCC ข้อ 583 เช่นเดียวกับบรรดาประกาศกที่มาก่อนหน้าพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงแสดงความเคารพอย่างลึกซึ้งต่อพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม ที่นั่นโยเซฟและพระนางมารีย์นำพระองค์ไปถวายหลังจากทรงสมภพได้สี่สิบวัน เมื่อทรงพระชนมายุสิบสองพรรษาพระองค์ทรงตัดสินพระทัยค้างอยู่ในพระวิหารเพื่อทรงเตือนบิดามารดาให้ระลึกว่าพระองค์จำเป็นต้องทำธุรกิจของ พระบิดา ทุกปีในช่วงเวลาที่ทรงพระชนมชีพซ่อนเร้น พระองค์เสด็จขึ้นไปที่นั่นอย่างน้อยในเทศกาลปัสกา ช่วงเวลาที่ทรงเทศน์สอนประชาชนดูเหมือนจะถูกกำหนดโดยช่วงเวลาที่เสด็จขึ้นไปกรุงเยรูซาเล็มในโอกาสฉลองสำคัญของชาวยิว

CCC ข้อ 2599  เมื่อพระบุตรของพระเจ้าทรงเป็นพระบุตรของพระนางพรหมจารีแล้วยังทรงเรียนรู้ที่จะอธิษฐานภาวนาตามพระทัยมนุษย์ของพระองค์ด้วย พระองค์ทรงเรียนรู้สูตรการอธิษฐานภาวนาจากพระมารดาของพระองค์ที่ทรงเก็บ “กิจการยิ่งใหญ่” ทั้งหมดของพระผู้ทรงสรรพานุภาพไว้ในพระทัยของพระนาง พระองค์ทรงอธิษฐานภาวนาโดยถ้อยคำและตามจังหวะการอธิษฐานภาวนาของประชากรของพระองค์ในศาลาธรรมที่เมืองนาซาเร็ธและในพระวิหาร แต่การอธิษฐานภาวนาของพระองค์ออกมาจากบ่อเกิดที่ลึกซึ้งกว่านั้น ดังที่เมื่อทรงพระชนมายุสิบสองพรรษาทรงเผยให้เรารู้สึกได้ “ลูกต้องทำธุรกิจของพระบิดาของลูก” (หรือ “ลูกต้องอยู่ในบ้านของพระบิดาของลูก”) (ลก 2:49) ที่นี่ความใหม่ของการอธิษฐานภาวนาเมื่อเวลาที่กำหนดมาถึงแล้วเริ่มได้รับการเปิดเผย นั่นคือ การอธิษฐานภาวนาในแบบของบุตร ที่พระบิดาทรงรอคอยจะได้รับจากบรรดาบุตรของพระองค์ และในที่สุดพระบุตรเพียงพระองค์เดียวในพระธรรมชาติมนุษย์จะทรงทำให้เป็นชีวิตแท้จริงพร้อมกับมวลมนุษย์และเพื่อมวลมนุษย์


ลก 2:51-52  ที่นี่ก็เช่นกัน เป็นเพียงไม่กี่ประโยคที่อธิบายถึงช่วงชีวิตอันยาวของพระคริสตเจ้าซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่พระชนมายุสิบสองปีจนถึงประมาณสามสิบปี นักวิชาการเรียกช่วงเวลานี้ว่า “ปีที่ซ่อนเร้น” ของพระคริสตเจ้า เหตุว่ามีการกล่าวถึงชีวิตของพระองค์ในช่วงนี้น้อยมาก ดูเหมือนว่าพระองค์ทรงดำเนินชีวิตที่เรียบง่ายและธรรมดาตลอดช่วงเวลาสิบแปดปีนั้น ดังนี้ พระองค์ทรงมอบแบบอย่างแห่งการทำชีวิตปกติธรรมดาให้ศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่พอพระทัยพระเจ้า    

CCC ข้อ 471 อโปลลีนาริส ชาวลาวดีเซียสอนว่าพระวจนาตถ์อยู่แทนที่พระวิญญาณหรือจิตในพระคริสตเจ้า พระศาสนจักรประณามความหลงผิดนี้ ประกาศยืนยันว่าพระบุตรนิรันดรยังทรงรับเอาวิญญาณมนุษย์ที่คิดตามเหตุผลได้ด้วย   

CCC ข้อ 472  พระวิญญาณมนุย์ที่พระบุตรของพระเจ้าทรงรับนี้มีความรู้แบบมนุษย์จริงๆ ความรู้นี้โดยธรรมชาติแล้วไม่อาจเป็นความรู้ที่ไร้ขอบเขตได้ แต่ทำงานในสภาพความเป็นอยู่ของตนทางประวัติศาสตร์ตามสถานที่และเวลา เพราะเหตุนี้ พระบุตรของพระเจ้าเมื่อทรงรับเป็นมนุษย์จึงทรงรับสมรรถนะที่จะ “เจริญขึ้นทั้งในพระปรีชาญาณ พระชนมายุ และพระหรรษทาน” (ลก 2:52) ได้ด้วย และดังนี้จึงต้องทรงค้นคว้าหาความรู้เรื่องต่างๆ เช่นเดียวกับที่มนุษย์ทั่วไปต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ สภาพเช่นนี้สอดคล้องกับความเป็นจริงที่ทรงประสงค์จะสละพระองค์มาทรงรับ “สภาพดุจทาส”   

CCC ข้อ 517 พระชนมชีพทั้งหมดของพระคริสตเจ้าเป็นพระธรรมล้ำลึกแห่งการไถ่กู้ การไถ่กู้มาถึงเราโดยเฉพาะโดยทางพระโลหิตที่ทรงหลั่งบนไม้กางเขน แต่พระธรรมล้ำลึกนี้ทำงานอยู่ตลอดพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า นับตั้งแต่การที่ทรงรับสภาพเป็นมนุษย์ ที่ทรงยอมกลายเป็นคนยากจนเพื่อเราจะได้ร่ำรวยเพราะความยากจนของพระองค์ ในพระชนมชีพซ่อนเร้น พระองค์ทรงยอมเชื่อฟัง เพื่อชดเชยความไม่เชื่อฟังของเรา ในพระวาจาที่ชำระเราผู้ฟังให้สะอาด ในการที่ทรงรักษาคนเจ็บป่วยและขับไล่ปีศาจที่ “พระองค์ทรงรับเอาความอ่อนแอของเราไว้ และทรงแบกความเจ็บป่วยของเรา” (มธ 8:17) ในการทรงกลับคืนพระชนมชีพที่ทรงทำให้เราเป็นผู้ชอบธรรม    

CCC ข้อ 531 ตลอดเวลาส่วนใหญ่ในพระชนมชีพของพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงดำเนินพระชนมชีพในสภาพแวดล้อมคล้ายกับมนุษย์ส่วนมาก ทรงทำงานที่ต้องออกแรงเหมือนคนทั่วไป ทรงอยู่ใต้ธรรมบัญญัติทางศาสนาของชาวยิว ทรงดำเนินพระชนมชีพในชุมชน ตลอดช่วงเวลานี้ พระวรสารบอกเราว่าพระเยซูเจ้าทรงเชื่อฟังบิดามารดา และ “ทรงเจริญขึ้นทั้งในพระปรีชาญาณ พระชนมายุและพระหรรษทานเฉพาะพระพักตร์ของพระเจ้าและต่อหน้ามนุษย์” (ลก 2:52)     

CCC ข้อ 2599  เมื่อพระบุตรของพระเจ้าทรงเป็นพระบุตรของพระนางพรหมจารีแล้วยังทรงเรียนรู้ที่จะอธิษฐานภาวนาตามพระทัยมนุษย์ของพระองค์ด้วย พระองค์ทรงเรียนรู้สูตรการอธิษฐานภาวนาจากพระมารดาของพระองค์ที่ทรงเก็บ “กิจการยิ่งใหญ่” ทั้งหมดของพระผู้ทรงสรรพานุภาพไว้ในพระทัยของพระนาง[41] พระองค์ทรงอธิษฐานภาวนาโดยถ้อยคำและตามจังหวะการอธิษฐานภาวนาของประชากรของพระองค์ในศาลาธรรมที่เมืองนาซาเร็ธและในพระวิหาร แต่การอธิษฐานภาวนาของพระองค์ออกมาจากบ่อเกิดที่ลึกซึ้งกว่านั้น ดังที่เมื่อทรงพระชนมายุสิบสองพรรษาทรงเผยให้เรารู้สึกได้ “ลูกต้องทำธุรกิจของพระบิดาของลูก” (หรือ “ลูกต้องอยู่ในบ้านของพระบิดาของลูก”) (ลก 2:49) ที่นี่ความใหม่ของการอธิษฐานภาวนาเมื่อเวลาที่กำหนดมาถึงแล้วเริ่มได้รับการเปิดเผย นั่นคือ การอธิษฐานภาวนาในแบบของบุตร ที่พระบิดาทรงรอคอยจะได้รับจากบรรดาบุตรของพระองค์ และในที่สุดพระบุตรเพียงพระองค์เดียวในพระธรรมชาติมนุษย์จะทรงทำให้เป็นชีวิตแท้จริงพร้อมกับมวลมนุษย์และเพื่อมวลมนุษย์    

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)