แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ สมโภชพระเยซูเจ้า กษัตริย์แห่งสากลจักรวาล

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 18:33ข-37)                                                                                                                                

เวลานั้น ปีลาตกลับเข้าไปในจวน และเรียกพระเยซูเจ้ามาถามว่า “ท่านเป็นกษัตริย์ของชาวยิวหรือ”  พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “ท่านถามดังนี้ด้วยตนเอง หรือผู้อื่นบอกท่านถึงเรื่องของเรา”  ปีลาตตอบว่า “ข้าพเจ้าเป็นชาวยิวหรือ ชนชาติของท่าน และบรรดาหัวหน้าสมณะมอบท่านให้ข้าพเจ้า ท่านทำผิดสิ่งใด”  พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “อาณาจักรของเรามิได้มาจากโลกนี้ ถ้าอาณาจักรของเรามาจากโลกนี้ ผู้รับใช้ของเราก็คงจะต่อสู้เพื่อมิให้เราถูกมอบให้ชาวยิว แต่อาณาจักรของเราไม่ได้เป็นของโลกนี้”  ปีลาตจึงถามพระองค์ว่า “ถ้าเช่นนั้น ท่านเป็นกษัตริย์ใช่ไหม” พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “ท่านพูดว่าเราเป็นกษัตริย์นั้นถูกต้องแล้ว เราเกิดมาเพื่อเป็นกษัตริย์ เรามาในโลกนี้เพื่อเป็นพยานถึงความจริง ผู้ใดอยู่ฝ่ายความจริงก็ฟังเรา” 


ยน 18:33-38  พระคริสตเจ้ามิได้ปฏิเสธว่า พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ อันที่จริงความเป็นกษัตริย์แห่งสวรรค์ของพระองค์คือการปกครองตามลักษณะแห่งความทรมานที่ยอห์นได้เล่าไว้ พระองค์เพียงปฏิเสธว่าทรงเป็นกษัตริย์ของโลกนี้ในทางการเมือง และมิได้มาเพื่อปลดปล่อยประชาชนจากการถูกกดขี่ของชาวโรมัน แต่เพื่อปลดปล่อยมนุษย์จากการครอบงำของบาปและปีศาจซึ่งเป็นรูปแบบแห่งการเป็นทาสที่ยิ่งใหญ่ที่สุด พันธกิจของพระองค์คือการกล่าวความจริงด้วยแบบอย่างและวาจา  ความจริงคืออะไร: คำตอบของปีลาตบ่งชี้ถึงการปฏิเสธความจริงโดยปริยายซึ่งแสดงถึงความไร้สามารถของเขาที่จะเข้าใจในสิ่งที่พระเยซูเจ้าตรัส  ข้าพเจ้าไม่พบข้อกล่าวหาอะไรกล่าวโทษชายผู้นี้ได้: เมื่อปีลาตแน่ใจแล้วว่าพระคริสตเจ้าไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่อซีซาร์และกฎหมายโรมัน เขาก็ปรารถนาจะปล่อยพระองค์ไป     

CCC ข้อ 160 เพื่อให้การตอบสนองความเชื่อเป็นการกระทำอย่างมนุษย์ “ก่อนอื่นหมด มนุษย์ต้องตอบสนองต่อพระเจ้าโดยเชื่อจากใจจริง จึงไม่ต้องมีผู้ใดถูกบังคับให้ยอมรับความเชื่อ เพราะการแสดงความเชื่อนั้นโดยธรรมชาติแล้วต้องเป็นการกระทำโดยสมัครใจ” “พระเจ้าทรงเรียกมนุษย์ให้มารับใช้พระองค์ด้วยจิตและความจริง มนุษย์จึงมีพันธะผูกมัดอยู่ในมโนธรรม แต่ไม่ใช่ถูกบังคับ […] ความจริงประการนี้ปรากฏชัดอย่างยิ่งในพระเยซูคริสตเจ้า” พระคริสตเจ้าทรงเชิญทุกคนให้กลับใจ แต่ก็มิได้ทรงบังคับโดยวิธีใดเลย “พระองค์ทรงเป็นพยานถึงความจริง แต่ไม่ทรงปรารถนาจะใช้กำลังบังคับผู้ที่ขัดขืนความจริง เพราะพระอาณาจักรของพระองค์ […] เจริญเติบโตขึ้น [….] ด้วยความรักที่พระคริสตเจ้า เมื่อทรงถูกยกขึ้นตรึงบนไม้กางเขน ทรงใช้เพื่อดึงดูดมนุษย์ทุกคนมาหาพระองค์”       

CCC ข้อ 217 พระเจ้าทรงความจริงเมื่อทรงเปิดเผยพระองค์ด้วย ความรู้ที่มาจากพระเจ้าเป็น “คำสั่งสอนที่ถูกต้อง” (มลค 2:6) พระองค์ทรงส่งพระบุตร “เข้ามาในโลก” ก็เพื่อให้พระบุตร “ทรงเป็นพยานถึงความจริง” (ยน 18:37) “เรารู้ว่าพระบุตรของพระเจ้าเสด็จมาแล้ว พระองค์ประทานความเข้าใจให้เราเพื่อเราจะได้รู้จักพระเจ้าแท้” (1 ยน 5:20)       

CCC ข้อ 549 เมื่อพระเยซูเจ้าทรงทำเครื่องหมายอัศจรรย์ที่แสดงว่าทรงเป็นพระเมสสิยาห์ ช่วยให้บางคนพ้นจากความชั่วร้ายในโลก เช่นความหิว ความอยุติธรรม โรคภัยไข้เจ็บและความตาย ถึงกระนั้นพระองค์ก็ไม่ได้เสด็จมาเพื่อทำลายความชั่วร้ายทั้งหมดในแผ่นดิน แต่เสด็จมาเพื่อช่วยมนุษย์ให้พ้นจากการเป็นทาสที่เลวร้ายที่สุด นั่นคือการเป็นทาสของบาป ซึ่งเป็นอุปสรรคขัดขวางเขาที่ได้รับเรียกให้เป็นบุตรของพระเจ้าและเป็นสาเหตุของการเป็นทาสทุกรูปแบบของมนุษย์      

CCC ข้อ 559 กรุงเยรูซาเล็มจะต้อนรับพระเมสสิยาห์ของตนอย่างไร พระเยซูเจ้าผู้ทรงหลีกเลี่ยงอยู่เสมอไม่ให้ประชาชนพยายามต้องการจะแต่งตั้งพระองค์เป็นกษัตริย์ ทรงเลือกเวลาเสด็จอย่างพระเมสสิยาห์เข้าในนคร “ของกษัตริย์ดาวิดบรรพบุรุษของพระองค์” (ลก 1:32) และทรงจัดเตรียมการเสด็จเข้านี้โดยละเอียด พระองค์ทรงรับการโห่ร้องต้อนรับดุจพระโอรสของกษัตริย์ดาวิด เหมือนผู้นำความรอดพ้นมาให้ (คำว่า “โฮซานนา” แปลว่า “จงช่วยให้รอดพ้นเถิด”) แต่บัดนี้ “กษัตริย์ผู้ทรงพระสิริรุ่งโรจน์” (สดด 24:7-10) “ประทับบนหลังลา” (ศคย 9:9) เสด็จเข้านครของพระองค์ ทรงพิชิตธิดาแห่งศิโยน ซึ่งเป็นภาพของ  พระศาสนจักรมาอยู่ใต้พระอานุภาพ มิใช่ด้วยกลอุบายหรือความรุนแรง แต่ด้วยความถ่อมตนซึ่งเป็นพยานถึงความจริง เพราะเหตุนี้ ในวันนั้นพวกเด็กๆ และ “ผู้ยากจนของพระเจ้า” ซึ่งโห่ร้องต้อนรับพระองค์เหมือนกับที่บรรดาทูตสวรรค์เคยแจ้งข่าวแก่พวกคนเลี้ยงแกะ จะเป็นผู้อยู่ใต้ปกครองของพระอาณาจักร  พระศาสนจักรจะนำคำโห่ร้องของพวกเด็กๆ เหล่านี้ที่ว่า “ท่านผู้มาในพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้าจงได้รับพระพร” (สดด 118:26) มาขับร้องอีกในบท “Sanctus [ศักดิ์สิทธิ์]” ของพิธีบูชาขอบพระคุณเพื่อเริ่มต้นการระลึกถึงงานฉลองปัสกาขององค์พระผู้เป็นเจ้า      

CCC ข้อ 2471 การเป็นพยานเท็จและสาบานเท็จ คำพูดที่ขัดกับความจริง เมื่อพูดออกมาในที่สาธารณะ มีความหนักเป็นพิเศษ การทำเช่นนี้ในศาลกลายเป็นการเป็นพยานเท็จ ถ้าทำเช่นนี้โดยสาบานด้วยก็เป็นการสาบานเท็จ (ทวนสาบาน) การทำเช่นนี้หรือว่าทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องถูกตัดสินลงโทษ หรือทำให้ผู้ผิดพ้นผิดไปหรือเป็นการเพิ่มโทษมากกว่าที่ผู้ถูกกล่าวหาพึงได้รับ เป็นการนำความเสียหายอย่างหนักมาสู่กระบวนการความยุติธรรมและความชอบธรรมของคำตัดสินจากผู้พิพากษา     

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)