แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันจันทร์ สัปดาห์ที่ 32 เทศกาลธรรมดา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 17:1-6)                                                                                                           

เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสกับบรรดาศิษย์ว่า “เหตุที่ชักนำให้ทำบาปจะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่วิบัติจงเกิดแก่ผู้ที่เป็นเหตุให้บาปเกิดขึ้น ถ้าจะเอาหินโม่แขวนคอเขาและโยนเขาลงทะเล จะเป็นการดีกว่าปล่อยให้เขาเป็นเหตุชักนำคนธรรมดาๆ เหล่านี้แม้เพียงคนเดียวให้ทำบาป ท่านทั้งหลายจงระวังตนให้ดีเถิด ถ้าพี่น้องของท่านทำผิด จงตักเตือนเขา ถ้าเขากลับใจ จงให้อภัยแก่เขา ถ้าเขาทำผิดต่อท่านวันละเจ็ดครั้ง และกลับมาหาท่านทั้งเจ็ดครั้ง พูดว่า “ฉันเสียใจ” ท่านจงให้อภัยเขาเถิด”

บรรดาอัครสาวกทูลองค์พระผู้เป็นเจ้าว่า “โปรดเพิ่มความเชื่อให้พวกเราเถิด” องค์พระผู้เป็นเจ้าจึงตรัสว่า “ถ้าท่านมีความเชื่อเท่าเมล็ดมัสตาร์ด และพูดกับต้นหม่อนต้นนี้ว่า ‘จงถอนรากแล้วไปขึ้นอยู่ในทะเลเถิด’ ต้นหม่อนต้นนั้นก็จะเชื่อฟังท่าน” 


ลก 17:1-10  พระคริสตเจ้าทรงเตือนให้ระวังบาปร้ายแรง อันเป็นต้นเหตุของการเป็นที่สะดุด เป็นการกระทำที่นำผู้อื่นไปสู่การทำบาปหรือความผิดพลาด ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม ซึ่งเกิดขึ้นได้ผ่านทางคำแนะนำ การให้กำลังใจหรือแบบอย่าง พระองค์ทรงเน้นถึงความจำเป็นของการให้อภัยในทุกเวลา และทรงยืนยันถึงพลังของความเชื่อ ท้ายที่สุด พระองค์ทรงให้ความสำคัญในเรื่องของการรับใช้พระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกคาดหวังจากผู้เป็นสานุศิษย์ของพระคริสตเจ้า 

CCC ข้อ 2284 การชักนำให้ผู้อื่นทำบาปเป็นท่าทีหรือวิธีปฏิบัติที่นำผู้อื่นให้ทำผิด ผู้ชักนำให้ผู้อื่นทำบาปก็เป็นผู้ผจญเพื่อนพี่น้องให้ทำผิด การนี้ทำให้คุณธรรมและความถูกต้องได้รับความเสียหาย อาจชักนำเพื่อนพี่น้องให้รับความตายด้านจิตใจได้ การชักนำให้ผู้อื่นทำบาปนับเป็นความผิดหนักถ้าโดยการกระทำหรือการละเว้นดังกล่าวจงใจนำผู้อื่นให้ทำผิดหนัก

CCC ข้อ 2285 การชักนำให้ผู้อื่นทำบาปมีความหนักเป็นพิเศษ ถ้าผู้เป็นเหตุทำให้ผู้อื่นทำบาปนั้นมีอำนาจปกครอง หรือผู้รับการชักนำนั้นไม่อาจทัดทานได้ การกระทำเช่นนี้ชวนให้องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสสาปแช่งว่า “ผู้ใดเป็นเหตุให้คนธรรมดาๆ เหล่านี้ […] ทำบาป ถ้าเขาจะถูกแขวนคอด้วยหินโม่ใหญ่ถ่วงลงใต้ทะเลก็ยังดีกว่าสำหรับเขา” (มธ 18:6) การชักนำให้ผู้อื่นทำบาปเป็นความผิดหนักถ้าเป็นการกระทำของผู้ที่โดยธรรมชาติหรือโดยหน้าที่ต้องเป็นผู้สอนหรือให้การอบรมผู้อื่น พระเยซูเจ้าทรงตำหนิบรรดาธรรมาจารย์และชาวฟาริสี ทรงเปรียบเทียบว่าพวกนี้เป็นเหมือนสุนัขป่าที่ปลอมตัวเป็นลูกแกะ

CCC ข้อ 2286  การชักนำให้ผู้อื่นทำบาปอาจเกิดจากกฎหมายหรือสถาบัน จากธรรมเนียมปฏิบัติหรือความเห็นก็ได้  ดังนี้ผู้ที่ตรากฎหมายหรือกำหนดโครงสร้างทางสังคมที่นำไปสู่ความเสื่อมทรามทางศีลธรรมหรือทำลายวิถีชีวิตด้านศาสนา หรือนำไปสู่ “สภาพสังคมที่ ไม่ว่าจะโดยจงใจหรือไม่ ทำให้วิธีดำเนินชีวิตแบบคริสตชนตามกฎเกณฑ์ของพระเจ้าผู้ประทานพระบัญญัติยากลำบากหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้” หลักการเดียวกันนี้ยังใช้ได้กับผู้นำทางธุรกิจที่เปิดโอกาสส่งเสริมการทุจริต กับครูผู้สอนที่ทำให้เด็ก “ท้อแท้หมดกำลังใจ” หรือกับผู้ที่ใช้ความชาญฉลาดเปลี่ยนแปลงความเห็นของสาธารณะให้หันเหออกไปจากคุณค่าทางศีลธรรม

CCC ข้อ 2287 ผู้ที่ใช้อำนาจที่ตนมีโดยเงื่อนไขที่ชักนำให้ผู้อื่นทำผิด ก็มีความผิดฐานชักนำให้ผู้อื่นทำบาป และต้องรับผิดชอบในผลร้ายที่เขาช่วยทำให้เกิดขึ้นทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อม “เหตุที่ชักนำให้ทำบาปจะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่วิบัติจงเกิดแก่ผู้ที่เป็นเหตุให้บาปเกิดขึ้น” (ลก 17:1)


ลก 17:2  หินโม่: คือหินขนาดใหญ่และหนักที่ใช้สำหรับโม่แป้งและเมล็ดข้าว พระเยซูเจ้าทรงใช้เปรียบเทียบกับการลงโทษผู้เป็นต้นเหตุแห่งการเป็นที่สะดุด ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความร้ายแรงของบาปนี้      

CCC ข้อ 2227 บรรดาบุตรเองก็มีบทบาทที่จะช่วยเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ของบิดามารดาด้วย ทุกคนและแต่ละคนจะต้องเต็มใจที่จะให้อภัยแก่กันโดยใจกว้างและอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยที่ความผิด การทะเลาะเบาะแว้ง ความอยุติธรรมและการไม่สนใจต่อกันเรียกร้อง ความรักต่อกันเชิญชวนเช่นนี้ ความรักของพระคริสตเจ้ายังเรียกร้องเช่นนี้ด้วย     

CCC ข้อ 2845 การให้อภัยนี้ ซึ่งในสาระสำคัญเป็นคุณลักษณะของพระเจ้า ไม่มีขอบเขตและไม่มีขนาด ถ้าเป็นเรื่องของ “ความผิด” (“บาป” ตาม ลก 11:4 หรือ “หนี้” ตาม มธ 6:12 ในต้นฉบับภาษากรีก) พวกเราทุกคนล้วนเป็น “ลูกหนี้” เสมอ “อย่าเป็นหนี้ผู้ใด นอกจากเป็นหนี้ความรักซึ่งกันและกัน” (รม 13:8)ความสัมพันธ์ของพระตรีเอกภาพเป็นบ่อเกิดและมาตรการของความจริงในความสัมพันธ์ทุกรูปแบบ ความสัมพันธ์นี้ยังเป็นชีวิตในการอธิษฐานภาวนา โดยเฉพาะในพิธีบูชาขอบพระคุณ “พระเจ้าไม่ทรงรับเครื่องบูชาของผู้ก่อให้เกิดการแตกแยก และทรงสั่งให้เขาละพระแท่นบูชากลับไปคืนดีกับพี่น้องเสียก่อน เพื่อจะได้มีใจสงบและอธิษฐานภาวนาขอให้พระเจ้าทรงพระกรุณาได้ ของถวายของเราที่มีค่ามากกว่าสำหรับพระเจ้าก็คือสันติและความสามัคคีกันฉันพี่น้องของเรา และการเป็นประชากรที่รวมเป็นหนึ่งเดียวกันด้วยเอกภาพของพระบิดาและพระบุตรและพระจิตเจ้า”    


ลก 17:4  เจ็ดครั้ง: ไม่ใช่การจำกัดตามตัวอักษรที่ว่าความโกรธเคืองครั้งที่แปดจะอภัยให้มิได้ แต่ต้องการบ่งชี้ว่าความเมตตากรุณานั้นต้องไม่มีขอบเขต    

CCC ข้อ 2227 (อ่านเพิ่มเติมด้านบน ลก 17:2)      

CCC ข้อ 2845 (อ่านเพิ่มเติมด้านบน ลก 17:2)     


ลก 17:5  โปรดเพิ่มความเชื่อให้พวกเราเถิด: ความเชื่อเป็นของประทานที่ให้เปล่าจากพระเจ้า เราต้องหล่อเลี้ยงความเชื่อด้วยการรำพึงไตร่ตรองพระวาจาของพระเจ้าด้วยความตั้งใจที่จะนำพระวาจามาปฏิบัติในชีวิตและโดยทางการรับศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ความเชื่อของเราจะเติบโตขึ้นและกลับกลายเป็นชีวิตเมื่อเราภาวนาและกระทำกิจการต่างๆ ด้วยความรักต่อพระเจ้าและต่อเพื่อนมนุษย์         

CCC ข้อ 162 ความเชื่อเป็นของประทานที่พระเจ้าประทานให้เปล่าๆ เราอาจสูญเสียของประทานล้ำค่านี้ได้ นักบุญเปาโลเตือนทิโมธีว่า “ข้าพเจ้าขอแนะนำท่าน [….] เพื่อท่านจะได้ [....] ต่อสู้อย่างกล้าหาญ โดยยึดความเชื่อและมโนธรรมที่ดีไว้ บางคนละทิ้งมโนธรรมที่ดี ความเชื่อของเขาจึงต้องพินาศ” (1ทธ 1:18-19) เพื่อจะมีชีวิต มีความเชื่อ และยืนหยัดในความเชื่อจนถึงวาระสุดท้าย เราต้องได้รับการเลี้ยงดูด้วยพระวาจาของพระเจ้า เราต้องอธิษฐานภาวนาต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าให้พระองค์ทรงเพิ่มพูนความเชื่อให้แก่เรา ความเชื่อต้องแสดงออกเป็นการกระทำ “อาศัยความรัก” (กท 5:6) ต้องได้รับการส่งเสริมจากความหวัง และฝังรากอยู่ในความเชื่อของพระศาสนจักร    

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)