แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ สัปดาห์ที่ 30 เทศกาลธรรมดา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก (มก 10:46-52)                                                                     

พระเยซูเจ้าเสด็จมาถึงเมืองเยรีโคพร้อมกับบรรดาศิษย์ ขณะที่พระองค์เสด็จออกจากเมืองเยรีโคพร้อมกับบรรดาศิษย์และประชาชนจำนวนมาก บารทิเมอัสบุตรของทิเมอัส คนขอทานตาบอดนั่งอยู่ริมทาง เมื่อได้ยินว่าพระเยซูชาวนาซาเร็ธกำลังเสด็จผ่านมา เขาเริ่มส่งเสียงร้องตะโกนว่า “ข้าแต่พระเยซู โอรสของกษัตริย์ดาวิด เจ้าข้า โปรดเมตตาข้าพเจ้าเถิด” หลายคนดุเขาให้เงียบ แต่เขากลับตะโกนดังยิ่งกว่าเดิมว่า “พระโอรสของกษัตริย์ดาวิดเจ้าข้า โปรดเมตตาข้าพเจ้าเถิด” พระเยซูเจ้าทรงหยุด ตรัสว่า “ไปเรียกเขามาซิ” เขาก็เรียกคนตาบอดพลางกล่าวว่า “ทำใจดี ๆ ไว้ ลุกขึ้น พระองค์กำลังเรียกเจ้าแล้ว” คนตาบอดสลัดเสื้อคลุมทิ้ง กระโดดเข้าไปเฝ้าพระเยซูเจ้า พระเยซูเจ้าตรัสว่า “ท่านอยากให้เราทำอะไรให้” คนตาบอดทูลว่า “รับโบนี ให้ข้าพเจ้าแลเห็นเถิด” พระเยซูเจ้าตรัสกับเขาว่า “ไปเถิด ความเชื่อของท่านได้ช่วยท่านให้รอดพ้นแล้ว” ทันใดนั้น เขากลับแลเห็นและเดินทางติดตามพระองค์ไป 


มก 10:46-52  พระวรสารตอนนี้ให้คำแนะนำที่ยอดเยี่ยมมากสำหรับการสวดภาวนา บารทิเมอัสไม่เพียงแค่เรียกหาพระคริสตเจ้าด้วยความเชื่อที่แรงกล้า แต่ได้แสวงหาพระองค์อย่างกระตือรือร้นด้วยการลุกขึ้นและเข้าใกล้พระองค์ให้มากยิ่งขึ้น เขายังคงภาวนาอย่างไม่ลดละ เรียกหาพระเยซูเจ้าต่อไปและรับรู้ว่าพระองค์ทรงเป็นพระเมสสิยาห์ ถึงแม้ว่าคนอื่นจะดุให้เขาเงียบก็ตาม ด้วยความไว้วางใจอย่างเต็มเปี่ยม เขาจึงทูลพระคริสตเจ้าว่าเขาปรารถนาที่จะมองเห็น บารทิเมอัสไม่เพียงแค่เริ่มมองเห็นเท่านั้น แต่เขายังได้รับของขวัญที่ดีที่สุดจากการได้เห็นพระพักตร์ของพระคริสตเจ้าอีกด้วย นักบุญบีดมองเห็นในบารทิเมอัสภาพเปรียบเทียบถึงชาวต่างชาติ ที่ระลึกถึงพระคริสตเจ้า ละทิ้งบาปที่ครอบงำพวกเขาอยู่และลุกขึ้นมาพบพระองค์ เสียงร้องของบารทิเมอัสสะท้อนอยู่ในบทภาวนาสั้นๆ ซึ่งแสดงออกถึงคำวอนขอเดียวกันในความเชื่อที่ว่า “พระเยซู คริสตเจ้า บุตรของพระเจ้า โปรดทรงเมตตาข้าพเจ้าคนบาปด้วยเทอญ” เราพบถ้อยคำในลักษณะนี้ในบทแสดงความทุกข์ ในศีลแห่งการอภัยบาปและการคืนดีด้วย

CCC ข้อ 528 การที่พระเยซูกุมารทรงแสดงองค์(แก่บรรดาโหราจารย์)เป็นการที่พระเยซูเจ้า ในฐานะที่ทรงเป็นพระเมสสิยาห์ของอิสราเอล ทรงสำแดงพระองค์เป็นพระบุตรของพระเจ้าและเป็นพระผู้กอบกู้โลก การสมโภชนี้เฉลิมฉลองการที่บรรดา “โหราจารย์” จากทิศตะวันออกมานมัสการพระเยซูกุมาร พร้อมกันนั้นยังเฉลิมฉลองการที่พระเยซูเจ้าทรงรับพิธีล้างที่แม่น้ำจอร์แดนและงานมงคลสมรสที่หมู่บ้านคานา ในบรรดา “โหราจารย์” เหล่านี้ พระวรสารแลเห็นผู้แทนศาสนาของชนต่างชาติที่อยู่โดยรอบนั้นเป็นคนกลุ่มแรกที่รับข่าวดีถึงความรอดพ้น (ของมนุษยชาติ) ซึ่งพระเยซูคริสตเจ้าทรงนำมาให้โดยการทรงรับสภาพเป็นมนุษย์ การที่บรรดาโหราจารย์มาที่กรุงเยรูซาเล็มเพื่อนมัสการกษัตริย์ของชาวยิวแสดงให้เห็นว่าเขาเหล่านั้นได้รับแรงบันดาลใจจากดวงดาวของกษัตริย์ดาวิดซึ่งหมายถึงพระเมสสิยาห์ ให้มาแสวงหาพระผู้ทรงเป็นกษัตริย์ของนานาชาติ การมาถึงของบรรดาโหราจารย์หมายถึงการที่ชนต่างศาสนามาพบพระเยซูเจ้าและนมัสการพระองค์เป็นพระบุตรของพระเจ้า และยอมรับว่าตนจะมานมัสการพระผู้กอบกู้โลกไม่ได้นอกจากจะหันมาหาชาวยิวและรับพระสัญญาของพระเมสสิยาห์ตามที่มีบันทึกไว้ในพันธสัญญาเดิม วันสมโภชพระคริสต์ทรงแสดงองค์แสดงว่านานาชาติเข้ามาอยู่ในครอบครัวของบรรดาบรรพบุรุษ (ของอิสราเอล) และเข้ามารับ “ศักดิ์ศรีเป็นประชากรอิสราเอล” ด้วย

CCC ข้อ 2616 พระเยซูเจ้าทรงรับฟังการอธิษฐานภาวนาต่อพระองค์แล้วตั้งแต่ในเวลาที่ทรงเทศน์สอนประชาชน ผ่านทางเครื่องหมายที่เกริ่นล่วงหน้าแล้วถึงอานุภาพของการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงฟังคำอธิษฐานภาวนาด้วยความเชื่อที่แสดงออกด้วยคำพูด (จากคนโรคเรื้อน จากไยรัส จากหญิงชาวคานาอัน จากโจรกลับใจ) หรือที่แสดงออกเงียบๆ (จากคนที่แบกคนอัมพาตเข้ามา จากหญิงตกเลือดที่มาสัมผัสฉลองพระองค์ ด้วยน้ำตาและเครื่องหอมของหญิงคนบาป) การพร่ำขอของคนตาบอดว่า “โอรสของกษัตริย์ดาวิดโปรดเมตตาเราเถิด” (มธ 9:27) หรือ “ข้าแต่พระเยซู โอรสของกษัตริย์ดาวิดเจ้าข้า โปรดเมตตาข้าพเจ้าเถิด” (มก 10:47) ซึ่งจะถูกรับไว้ในธรรมประเพณีต่อมาที่เรียกว่า การอธิษฐานภาวนาต่อพระเยซูเจ้า คือวลีว่า “ข้าแต่พระเยซู ข้าแต่พระคริสตเจ้า ข้าแต่พระบุตรของพระเจ้า พระเจ้าข้า โปรดทรงพระเมตตาต่อข้าพเจ้าคนบาปด้วยเถิด” พระเยซูเจ้าทรงตอบการอธิษฐานภาวนาที่อ้อนวอนพระองค์ด้วยความเชื่อเสมอ โดยทรงรักษาโรคหรือประทานอภัยบาป “จงไปเป็นสุขเถิด ความเชื่อของลูกช่วยลูกให้รอดพ้นแล้ว”

นักบุญออกัสตินสรุปสามมิติของการอธิษฐานภาวนาของพระเยซูเจ้าไว้อย่างน่าฟังว่า “พระองค์ทรงอธิษฐานภาวนาเพื่อเราในฐานะพระสงฆ์ของเรา ทรงอธิษฐานภาวนาในตัวเรา ในฐานะที่ทรงเป็นศีรษะของเรา ทรงรับคำอธิษฐานภาวนาจากเรา ในฐานะที่ทรงเป็นพระเจ้าของเรา ดังนั้น เราจงยอมรับเสียงของเราในพระองค์ และเสียงของพระองค์ในเรา”

CCC ข้อ 2667 การเรียกหาด้วยความเชื่อแบบซื่อๆ เช่นนี้ในธรรมประเพณีการอธิษฐานภาวนาได้พัฒนาขึ้นในหลายรูปแบบในพระศาสนจักรตะวันออกและตะวันตก สูตรที่พบบ่อยมากจากผลงานของบรรดาผู้เขียนงานด้านชีวิตจิตจากภูเขาซีนาย ซีเรีย และภูเขาอาโทสก็คือคำเรียกหาว่า “ข้าแต่พระเยซูคริสตเจ้า พระบุตรพระเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้า ทรงพระกรุณาต่อข้าพเจ้าทั้งหลายผู้เป็นคนบาปเทอญ” คำเรียกหาเช่นนี้รวมบทเพลงสรรเสริญพระคริสตเจ้าใน ฟป 2:6-11 กับการร้องหาของคนเก็บภาษีและการร้องขอแสงสว่างจากคนตาบอด โดยการร้องหาเช่นนี้ ใจย่อมสัมผัสกับความน่าสงสารของมนุษย์และกับความเมตตากรุณาของพระผู้ไถ่

 

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)