วันอาทิตย์สัปดาห์ที่ที่ 25 เทศกาลธรรมดา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก (มก 9:30-37)                       

พระเยซูเจ้าเสด็จออกจากที่นั่นพร้อมกับบรรดาศิษย์ผ่านแคว้นกาลิลี พระองค์ไม่ทรงต้องการให้ผู้ใดรู้ ทรงสั่งสอนบรรดาศิษย์ และตรัสว่า “บุตรแห่งมนุษย์จะถูกมอบในเงื้อมมือของคนทั้งหลาย เขาจะประหารชีวิตพระองค์ แต่เมื่อถูกประหารแล้ว ในวันที่สามพระองค์จะกลับคืนชีพ” บรรดาศิษย์ไม่เข้าใจพระวาจานี้ แต่ก็ไม่กล้าทูลถาม 

พระเยซูเจ้าเสด็จมาถึงเมืองคาเปอรนาอุมพร้อมกับบรรดาศิษย์ เมื่อเสด็จเข้าไปในบ้าน พระองค์ตรัสถามเขาว่า “ท่านถกเถียงกันเรื่องอะไรขณะที่เดินทาง” เขาก็นิ่ง เพราะระหว่างทางเขาถกเถียงกันว่า ผู้ใดยิ่งใหญ่กว่ากัน พระองค์จึงประทับนั่ง แล้วทรงเรียกอัครสาวกสิบสองคนเข้ามา ตรัสว่า “ถ้าผู้ใดอยากเป็นคนที่หนึ่ง ก็ให้ผู้นั้นทำตนเป็นคนสุดท้าย และเป็นผู้รับใช้ของทุกคน” ครั้นแล้วพระองค์ทรงจูงเด็กเล็กๆ คนหนึ่งมายืนกลางกลุ่มพวกเขา ทรงโอบเด็กนั้นไว้ ตรัสว่า ”ผู้ใดที่ต้อนรับเด็กเล็กๆ เช่นนี้ในนามของเรา ก็ต้อนรับเรา และผู้ใดที่ต้อนรับเรา ก็มิใช่ต้อนรับเพียงเราเท่านั้น แต่ต้อนรับผู้ที่ทรงส่งเรามาด้วย”


มก 9:30-32  แม้ด้วยเครื่องหมายทั้งหมดที่พระคริสตเจ้าทรงกระทำและการอบรมเฉพาะที่พระองค์ประทานแก่บรรดาศิษย์ พวกเขาก็ยังไม่สามารถรับเรื่องการทรมานและการสิ้นพระชนม์บนกางเขนของพระเยซูเจ้าได้ พวกเขาจะเข้าใจเรื่องนี้ได้อย่างสมบูรณ์ก็เฉพาะเมื่อได้รับพระจิตเจ้าในวันเปนเตกอสเตแล้วเท่านั้น   

CCC ข้อ 474 ความรู้แบบมนุษย์ของพระคริสตเจ้า จากความสัมพันธ์ที่ทรงมีกับพระปรีชาญาณของพระเจ้าในพระบุคคลของพระวจนาตถ์ผู้ทรงรับสภาพมนุษย์ ยังอาจเข้าใจพระประสงค์นิรันดรของพระเจ้าได้อย่างสมบูรณ์ และเสด็จมาเพื่อเปิดเผยพระประสงค์เหล่านี้ ในเรื่องเหล่านี้ถ้าพระองค์ทรงบอกว่าไม่ทรงทราบ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทรงประกาศว่าไม่ทรงมีพันธกิจให้เปิดเผยเรื่องนี้ให้เรารู้    

CCC ข้อ 557 “เวลาที่พระเยซูเจ้าจะต้องทรงจากโลกนี้ไปใกล้เข้ามาแล้ว พระองค์ทรงตั้งพระทัยแน่วแน่จะเสด็จไปกรุงเยรูซาเล็ม” (ลก 9:51) การตัดสินพระทัยเช่นนี้แสดงว่าทรงพร้อมจะเสด็จขึ้นไปกรุงเยรูซาเล็มเพื่อสิ้นพระชนม์ที่นั่น พระองค์ทรงแจ้งเรื่องพระทรมานและการกลับคืนพระชนมชีพถึงสามครั้ง ขณะที่กำลังทรงพระดำเนินไปยังกรุงเยรูซาเล็ม พระองค์ตรัสว่า “ประกาศกจะตายนอกกรุงเยรูซาเล็มไม่ได้” (ลก 13:33)    


มก 9:33-50  พระคริสตเจ้าทรงมอบบทเรียนแห่งการเป็นผู้นำที่รับใช้ การทำงานร่วมกันในศาสนบริการและในการหลีกเลี่ยงการเป็นที่สะดุด การเป็นที่สะดุดกลายเป็นบาปหนักได้เมื่อผู้หนึ่งตั้งใจทำให้อีกคนหนึ่งกระทำบาปหนัก    

CCC ข้อ 2284 การชักนำให้ผู้อื่นทำบาปเป็นท่าทีหรือวิธีปฏิบัติที่นำผู้อื่นให้ทำผิด ผู้ชักนำให้ผู้อื่นทำบาปก็เป็นผู้ผจญเพื่อนพี่น้องให้ทำผิด การนี้ทำให้คุณธรรมและความถูกต้องได้รับความเสียหาย อาจชักนำเพื่อนพี่น้องให้รับความตายด้านจิตใจได้ การชักนำให้ผู้อื่นทำบาปนับเป็นความผิดหนักถ้าโดยการกระทำหรือการละเว้นดังกล่าวจงใจนำผู้อื่นให้ทำผิดหนัก    

CCC ข้อ 2285 การชักนำให้ผู้อื่นทำบาปมีความหนักเป็นพิเศษ ถ้าผู้เป็นเหตุทำให้ผู้อื่นทำบาปนั้นมีอำนาจปกครอง หรือผู้รับการชักนำนั้นไม่อาจทัดทานได้ การกระทำเช่นนี้ชวนให้องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสสาปแช่งว่า “ผู้ใดเป็นเหตุให้คนธรรมดาๆ เหล่านี้ […]ทำบาป ถ้าเขาจะถูกแขวนคอด้วยหินโม่ใหญ่ถ่วงลงใต้ทะเลก็ยังดีกว่าสำหรับเขา” (มธ 18:6) การชักนำให้ผู้อื่นทำบาปเป็นความผิดหนักถ้าเป็นการกระทำของผู้ที่โดยธรรมชาติหรือโดยหน้าที่ต้องเป็นผู้สอนหรือให้การอบรมผู้อื่น   พระเยซูเจ้าทรงตำหนิบรรดาธรรมาจารย์และชาวฟาริสี ทรงเปรียบเทียบว่าพวกนี้เป็นเหมือนสุนัขป่าที่ปลอมตัวเป็นลูกแกะ    

CCC ข้อ 2286 การชักนำให้ผู้อื่นทำบาปอาจเกิดจากกฎหมายหรือสถาบัน จากธรรมเนียมปฏิบัติหรือความเห็นก็ได้ ดังนี้ผู้ที่ตรากฎหมายหรือกำหนดโครงสร้างทางสังคมที่นำไปสู่ความเสื่อมทรามทางศีลธรรมหรือทำลายวิถีชีวิตด้านศาสนา หรือนำไปสู่ “สภาพสังคมที่ ไม่ว่าจะโดยจงใจหรือไม่ ทำให้วิธีดำเนินชีวิตแบบคริสตชน ตามกฎเกณฑ์ของพระเจ้าผู้ประทานพระบัญญัติยากลำบากหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้” หลักการเดียวกันนี้ยังใช้ได้กับผู้นำทางธุรกิจที่เปิดโอกาสส่งเสริมการทุจริต กับครูผู้สอนที่ทำให้เด็ก “ท้อแท้หมดกำลังใจ” หรือกับผู้ที่ใช้ความชาญฉลาดเปลี่ยนแปลงความเห็นของสาธารณะให้หันเหออกไปจากคุณค่าทางศีลธรรม    

CCC ข้อ 2287 ผู้ที่ใช้อำนาจที่ตนมีโดยเงื่อนไขที่ชักนำให้ผู้อื่นทำผิด ก็มีความผิดฐานชักนำให้ผู้อื่นทำบาป และต้องรับผิดชอบในผลร้ายที่เขาช่วยทำให้เกิดขึ้นทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อม “เหตุที่ชักนำให้ทำบาปจะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่วิบัติจงเกิดแก่ผู้ที่เป็นเหตุให้บาปเกิดขึ้น” (ลก 17:1)    


มก 9:35-37  เป็นผู้รับใช้ของทุกคน: เจตจำนงที่บริสุทธิ์และการรับใช้ ที่ไม่แสวงหาเกียรติอันสูงส่งและอำนาจฝ่ายโลก คือพื้นฐานการนิยามของความยิ่งใหญ่สำหรับบรรดาผู้ติดตามพระคริสตเจ้า  เด็กเล็กๆ คนหนึ่ง: เด็ก ในที่นี้มิได้หมายถึงคนที่ยังเยาว์ แต่หมายถึงทุกคนที่อ่อนแอและยังต้องขึ้นอยู่กับผู้อื่น   

CCC ข้อ 1825 พระคริสตเจ้าสิ้นพระชนม์เพราะความรักต่อเราขณะที่เรายังเป็น “ศัตรูอยู่” (รม 5:10) องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงขอร้องเราให้รักแม้กระทั่งศัตรูของเราเช่นเดียวกับที่พระองค์ได้ทรงกระทำ ให้เราทำให้ผู้อยู่ห่างไกลจากเราเข้ามาอยู่ใกล้ชิดกับเรา ให้เรารักเด็กเล็กๆ และคนยากจน เหมือนกับที่เรารักพระองค์ด้วย            นักบุญเปาโลอัครสาวกบรรยายถึงความรักไว้อย่างไม่มีผู้ใดเทียบได้ “ความรักย่อมอดทน มีใจเอื้อเฟื้อ ไม่อิจฉา ไม่โอ้อวดตนเอง ไม่จองหอง ไม่หยาบคาย ไม่เห็นแก่ตัว ความรักไม่ฉุนเฉียว ไม่จดจำความผิดที่ได้รับ ไม่ยินดีในความชั่ว แต่ร่วมยินดีในความถูกต้อง ความรักให้อภัยทุกอย่าง เชื่อทุกอย่าง   หวังทุกอย่าง อดทนทุกอย่าง” (1 คร 13:4-7)    

 

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)