แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 18 เทศกาลธรรมดา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 6:24-35)                                                     

เมื่อประชาชนเห็นว่าทั้งพระเยซูเจ้า และบรรดาศิษย์ไม่อยู่ที่นั่นแล้ว ก็ลงเรือ มุ่งไปที่เมืองคาเปอรนาอุมเพื่อตามหาพระเยซูเจ้า เมื่อพบพระองค์ที่ฝั่งตรงข้าม จึงทูลถามว่า “พระอาจารย์ ท่านมาที่นี่เมื่อไร” พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า

“เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ท่านแสวงหาเรา มิใช่เพราะได้เห็นเครื่องหมายอัศจรรย์ แต่เพราะได้กินขนมปังจนอิ่ม อย่าขวนขวายหาอาหารที่กินแล้วเสื่อมสลายไป แต่จงหาอาหารที่คงอยู่และนำชีวิตนิรันดรมาให้ อาหารนี้บุตรแห่งมนุษย์จะประทานให้ท่าน เพราะพระเจ้าพระบิดาทรงประทับตรา รับรองบุตรแห่งมนุษย์ไว้แล้ว”

เขาเหล่านั้นจึงทูลว่า “พวกเราจะต้องทำอะไรเพื่อให้กิจการของพระเจ้าสำเร็จ” พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “กิจการของพระเจ้าก็คือให้ท่านทั้งหลายเชื่อในผู้ที่พระองค์ทรงส่งมา” ประชาชนจึงทูลถามว่า “ท่านทำเครื่องหมายอัศจรรย์ใดเพื่อพวกเราจะได้เห็น และจะได้เชื่อในท่าน ท่านทำอะไร บรรพบุรุษของเราได้กินมานนาในถิ่นทุรกันดาร ดังที่มีเขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า พระองค์ประทานขนมปังจากสวรรค์ให้เขากิน”

พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า มิใช่โมเสสที่ให้ขนมปังจากสวรรค์แก่ท่าน แต่เป็นพระบิดาของเราที่ประทานขนมปังแท้จากสวรรค์ให้ท่าน เพราะขนมปังของพระเจ้า คือขนมปังซึ่งลงมาจากสวรรค์ และประทานชีวิตให้แก่โลก”

ประชาชนจึงทูลว่า “นายขอรับ โปรดให้ขนมปังนี้แก่พวกเราเสมอเถิด” 35พระเยซูเจ้าตรัสแก่เขาว่า “เราเป็นปังแห่งชีวิต ผู้ที่มาหาเราจะไม่หิว และผู้ที่เชื่อในเราจะไม่กระหายอีกเลย 


ยน 6:22-34  กลุ่มชนได้ติดตามพระคริสตเจ้าไปยังเมืองคาเปอรนาอุม ที่ซึ่งพระองค์ทรงสอนพวกเขาในศาลาธรรมเกี่ยวกับเรื่องความหมายแท้ของเรื่องการทวีขนมปัง พวกเขาแสวงหาเครื่องหมายคล้ายกับเครื่องหมายของมานนาที่ชาวอิสราเอลได้รับในที่เปลี่ยวในขณะที่พวกเขาเดินทางผ่านที่เปลี่ยวไปยังดินแดนแห่งพระสัญญา มานนาที่มาจากสวรรค์นั้นหล่อเลี้ยงได้เฉพาะฝ่ายกายเท่านั้น แต่พระคริสตเจ้าทรงมอบพระองค์เองโดยแท้จริงให้เป็นปังแห่งชีวิตที่หล่อเลี้ยงวิญญาณด้วย   

CCC ข้อ 423 เราเชื่อและประกาศว่าพระเยซูเจ้าจากเมืองนาซาเร็ธ ซึ่งทรงถือกำเนิดเป็นชาวยิวจากธิดาแห่งอิสราเอลที่เมืองเบธเลเฮม ในรัชสมัยของกษัตริย์เฮโรดมหาราชและพระจักรพรรดิซีซาร์ออกัสตัสที่ 1 มีอาชีพเป็นช่างไม้ ได้สิ้นพระชนม์โดยทรงถูกตรึงบนไม้กางเขนที่กรุงเยรูซาเล็ม ขณะที่ปอนติอัสปีลาตเป็นข้าหลวงปกครองในรัชสมัยพระจักรพรรดิทีเบริอัส ทรงเป็นพระบุตรนิรันดรของพระเจ้าผู้ทรงรับธรรมชาติมนุษย์ “พระองค์ทรงมาจากพระเจ้า” (ยน 13:3) “เสด็จลงมาจากสวรรค์” (ยน 3:13; 6:33) มารับสภาพมนุษย์ เพราะ “พระวจนาตถ์ทรงรับสภาพมนุษย์และเสด็จมาประทับอยู่ท่ามกลางเรา เราได้เห็นพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ เป็นพระสิริรุ่งโรจน์ที่ทรงรับจากพระบิดาในฐานะพระบุตรเพียงพระองค์เดียว เปี่ยมด้วยพระหรรษทานและความจริง [.....] และจากความไพบูลย์ของพระองค์ เราทุกคนได้รับพระหรรษทานต่อเนื่องกัน” (ยน 1:14,16)     

CCC ข้อ 1094 จากความสอดคล้องของพันธสัญญาทั้งสองนี้เอง เราจึงจัดคำสอนเรื่องการกลับคืนพระชนมชีพขององค์พระผู้เป็นเจ้า แล้วจึงเป็นคำสอนของบรรดาอัครสาวกและบรรดาปิตาจารย์ของพระศาสนจักร คำสอนนี้เปิดเผยสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้ข้อความที่เขียนไว้ในพันธสัญญาเดิม นั่นคือพระธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้า วิธีการนี้เรียกว่าคำสอน “อธิบายรูปแบบ” เพราะเปิดเผยความใหม่ของพระคริสตเจ้าจาก “รูปแบบ” (types) ที่กล่าวล่วงหน้าถึงพระองค์โดยใช้เหตุการณ์ คำพูดและสัญลักษณ์ในพันธสัญญาเดิม รูปแบบในพันธสัญญาเดิมเหล่านี้ได้รับการเปิดเผยโดยการอ่านแบบใหม่เช่นนี้ในพระจิตเจ้าแห่งความจริงที่พระคริสตเจ้าประทานให้ ดังนี้ น้ำวินาศและเรือของโนอาห์เป็นรูปแบบของความรอดพ้นอาศัยศีลล้างบาป เช่นเดียวกับเมฆและการข้ามทะเลแดง รวมทั้งน้ำจากหินผาล้วนเป็นรูปแบบของพระพรฝ่ายจิตที่พระคริสตเจ้าประทานให้ มานนาในถิ่นทุรกันดารเป็นรูปแบบหมายล่วงหน้าถึงศีลมหาสนิท “ขนมปังแท้จากสวรรค์” (ยน 6:32)    

CCC ข้อ 1095 เพราะเหตุนี้ พระศาสนจักร โดยเฉพาะในเทศกาลเตรียมรับเสด็จฯ เทศกาลมหาพรต และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในคืนปัสกา จึงอ่านและรื้อฟื้นเหตุการณ์ยิ่งใหญ่ต่างๆ เหล่านี้ทั้งหมดให้เป็นปัจจุบัน หรือเป็น “วันนี้” อีกครั้งหนึ่งในพิธีกรรมของตน แต่เรื่องนี้ยังเรียกร้องให้การสอนคำสอนช่วยบรรดาผู้มีความเชื่อเปิดตนเพื่อเข้าใจแผนการความรอดพ้นในมิติด้านจิตตามที่พิธีกรรมของพระศาสนจักรเปิดเผยและช่วยให้ดำเนินชีวิตตามแผนการดังกล่าว     

CCC ข้อ 1096 พิธีกรรมของชาวยิวและพิธีกรรมของชาวคริสต์ การรู้จักความเชื่อและชีวิตด้านศาสนาของประชากรชาวยิวดีขึ้น ดังที่ทุกวันนี้ยังแสดงให้เห็นในการยืนยันความเชื่อและการปฏิบัติในชีวิต อาจช่วยให้เข้าใจลักษณะบางประการของพิธีกรรมของชาวคริสต์ได้ดียิ่งขึ้น พระคัมภีร์เป็นส่วนสำคัญของพิธีกรรมทั้งสำหรับชาวยิวและชาวคริสต์ เพื่อประกาศพระวาจาของพระเจ้า ตอบรับพระวาจานี้ อธิษฐานภาวนาสรรเสริญและวอนขอสำหรับผู้เป็นและผู้ตาย เพื่อเข้ามาขอพระเมตตากรุณาจากพระเจ้า โดยโครงสร้างแล้ว วจนพิธีกรรมมีต้นกำเนิดมาจากพิธีกรรมของชาวยิว พิธีกรรมสวดทำวัตรและบทภาวนาอื่นๆ รวมทั้งสูตรทางพิธีกรรมก็มีรูปแบบและเนื้อหาคล้ายๆ กัน เช่นเดียวกับรูปแบบบทภาวนาที่น่าเคารพที่สุดของเรา เช่นบท “ข้าแต่พระบิดา” บท “ขอบพระคุณ” ก็ได้รับแรงบันดาลใจจากบทภาวนาในธรรมประเพณีของชาวยิว ความสัมพันธ์ของพิธีกรรมของชาวยิวและพิธีกรรมของคริสตชน รวมทั้งความแตกต่างของเนื้อหาด้วย เห็นได้ชัดเป็นพิเศษในวันฉลองใหญ่ๆ ของปีพิธีกรรม เช่นในวันฉลองปัสกา ทั้งคริสตชนและชาวยิวฉลองปัสกา สำหรับชาวยิว ฉลองปัสกามุ่งสู่อนาคตของประวัติศาสตร์ แต่สำหรับคริสตชน ฉลองปัสกาสำเร็จไปแล้วในการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าแม้ว่ายังมีการรอคอยอยู่ตลอดเวลาให้ปัสกานี้สำเร็จโดยสมบูรณ์  

CCC ข้อ 1338 พระวรสารสหทรรศน์ทั้งสามฉบับและนักบุญเปาโลเล่าเรื่องการตั้งศีลมหาสนิทถ่ายทอดไว้ให้เราทราบ ส่วนนักบุญยอห์นกล่าวถึงพระวาจาของพระเยซูเจ้าในศาลาธรรมที่เมืองคาเปอร์นาอุมพระวาจาเหล่านี้เตรียมทางไว้สำหรับการตั้งศีลมหาสนิท พระคริสตเจ้าตรัสถึงพระองค์ว่าทรงเป็นขนมปัง/อาหารให้ชีวิตที่ลงมาจากสวรรค์   


ยน 6:27  ทรงประทับตรา: คือสัญลักษณ์หนึ่งซึ่งคล้ายกันมากกับการเจิมที่ให้ผลอย่างถาวร เราเรียก “เครื่องหมาย” หรือ “ลักษณะ” อันลบเลือนไม่ได้ซึ่งศีลล้างบาป ศีลกำลัง และศีลบวชมอบให้แก่ผู้รับศีลว่า “ตราประทับ” ตราประทับของพระจิตเจ้าทำให้เรากลายเป็นของพระคริสตเจ้า ได้รับการเสริมพลังให้เข้มแข็งจากพระองค์ และอุทิศตนเพื่อรับใช้พระองค์ การยืนยันนี้หมายถึงการเสด็จมาของพระจิตเจ้าในอนาคต     

CCC ข้อ 698 “ตราประทับ” เป็นสัญลักษณ์คล้ายกับสัญลักษณ์ “การเจิม” พระคริสตเจ้าคือผู้ที่ “พระเจ้าพระบิดาทรงประทับตราไว้แล้ว” (ยน 6:27) และพระบิดายังทรงประทับตราพวกเราไว้กับ พระบุตรด้วยเนื่องจากตราประทับหมายความว่าการเจิมของพระจิตเจ้ามีผลที่ไม่อาจลบออกได้ในศีลล้างบาป ศีลกำลัง และศีลบวช ธรรมประเพณีทางเทววิทยาบางสายจึงใช้ภาพของ “ตราประทับ” (ภาษากรีกว่า “sphragos”) เพื่อแสดงถึง “คุณสมบัติ” ที่ไม่อาจลบออกได้จากผู้ที่ได้รับศีลเหล่านี้ จึงทำให้ไม่อาจรับศีลทั้งสามนี้ซ้ำได้อีก   

CCC ข้อ 728 พระเยซูเจ้ามิได้ทรงเปิดเผยเรื่องพระจิตเจ้าเต็มที่จนกระทั่งพระองค์ทรงได้รับพระสิริรุ่งโรจน์โดยการสิ้นพระชนม์และทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วเท่านั้น ถึงกระนั้นพระองค์ก็ทรงกล่าวพาดพิงถึงพระจิตเจ้าบ้างแล้วเมื่อตรัสสอนประชาชน เมื่อทรงเปิดเผยว่าพระกายของพระองค์เป็นอาหารเพื่อชีวิตในอนาคตของโลก พระองค์ยังตรัสพาดพิงถึงพระจิตเจ้าด้วยกับนิโคเดมัส กับหญิงชาวสะมาเรีย และกับประชาชนที่มาร่วมฉลองเทศกาลอยู่เพิงพร้อมกับพระองค์ พระองค์ตรัสอย่างเปิดเผยแก่บรรดาศิษย์เมื่อตรัสเกี่ยวกับการอธิษฐานภาวนา และการเป็นพยานที่พวกเขาจะต้องแสดงถึงพระองค์   

CCC ข้อ 1296 พระเยซูเจ้าเองทรงประกาศว่าพระองค์ทรงได้รับประทับตราของพระบิดา คริสตชนก็ได้รับการประทับตราอย่างหนึ่งด้วย “ผู้ที่ทรงตั้งเราและท่านทั้งหลายในพระคริสตเจ้าและทรงเจิมเรานั้นคือพระเจ้า พระองค์ทรงประทับตราเราและประทานพระจิตเจ้าไว้ในดวงใจของเราเป็นเครื่องประกันด้วย” (2 คร 1:21-22) ตราประทับของพระจิตเจ้านี้หมายถึงการเป็นกรรมสิทธิ์ของพระคริสตเจ้าโดยสิ้นเชิง หมายความว่าคนหนึ่งต้องรับใช้พระองค์ตลอดไป และยังเป็นคำสัญญาว่าพระเจ้าจะทรงปกป้องเขาในการพิพากษายิ่งใหญ่เมื่อสิ้นพิภพด้วย     


ยน 6:26-71  เราเรียกบทเทศน์ของพระคริสตเจ้านี้ว่า “ปาฐกถาเรื่องปังแห่งชีวิต” พระองค์ทรงใช้อัศจรรย์เรื่องการทวีขนมปังเพื่อเปิดเผยว่า พระองค์ทรงเป็นปังแห่งชีวิต ผู้เสด็จมาจากสวรรค์เพื่อหล่อเลี้ยงเราให้มีความเชื่อ ความหวัง และความรัก ทำให้เราสามารถแบ่งปันชีวิตของพระคริสตเจ้าได้อย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น ความศักดิ์สิทธิ์และการเป็นประจักษ์พยานถึงพระวรสารเรียกร้องให้เรามีความรักที่ร้อนรนและการรับศีลมหาสนิทบ่อยๆ     

CCC ข้อ 2835 การวอนขอนี้และความรับผิดชอบที่มากับการวอนขอนี้ ยังใช้ได้กับความหิวอีกอย่างหนึ่งที่ทำร้ายชีวิตมนุษย์ “มนุษย์มิได้ดำรงชีวิตด้วยอาหารเท่านั้น แต่ดำรงชีวิตด้วยพระวาจาทุกคำที่ออกจากพระโอษฐ์ของพระเจ้า” (มธ 4:4) นั่นคือด้วยพระวาจาและพระจิตของพระองค์ คริสตชนทุกคนต้องใช้ความพยายามทุกอย่างเพื่อ “ประกาศข่าวดีแก่คนยากจน” ในโลกนี้มีหลายคนที่มีความหิว“ไม่ใช่หิวอาหารหรือหิวน้ำ แต่หิวที่จะฟังพระวาจา” (อมส 8:11)  เพราะฉะนั้น ความหมายพิเศษสำหรับคริสตชนของคำขอข้อสี่นี้จึงหมายถึงอาหารสำหรับชีวิต นั่นคือพระวาจาของพระเจ้าที่จะต้องรับด้วยความเชื่อ และพระกายของพระคริสตเจ้าที่เรารับในศีลมหาสนิท     

CCC ข้อ 2836 ในวันนี้” ยังเป็นข้อความที่หมายถึงความไว้วางใจที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงสอนเรา เราไม่อาจสรุปเรื่องนี้ได้เอง เพราะเกี่ยวข้องโดยเฉพาะกับพระวาจาและพระกายของพระบุตรของพระองค์ วลี “วันนี้” วลีนี้ไม่หมายความถึงเพียงเวลาของเราที่รู้จักตาย แต่เป็น “วันนี้” ของพระเจ้า “ถ้าท่านรับ(อาหารนี้)ทุกวัน ‘ทุกวัน’ ก็คือ ‘วันนี้’ สำหรับท่าน ถ้าพระคริสตเจ้าเป็นของท่าน ‘วันนี้’ พระองค์ก็ทรงกลับคืนพระชนมชีพสำหรับท่าน ‘ทุกวัน’ การนี้เป็นไปได้อย่างไร ‘ท่านเป็นบุตรของเรา วันนี้เราให้กำเนิดท่านแล้ว’ (สดด 2:7) ดังนั้น ‘วันนี้’ ก็คือวันที่พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพ”     

CCC ข้อ 2837  “ประจำวัน” คำนี้ในภาษากรีกว่า ‘epiousion’ ไม่มีใช้ที่อื่นในพันธสัญญาใหม่ ในความหมายบอกเวลา คำนี้เป็นการย้ำวลี “วันนี้” เพื่อย้ำให้เรายึดมั่นในความไว้วางใจ(ต่อพระเจ้า) “โดยไม่มีข้อยกเว้น” แต่ถ้าเข้าใจในความหมายเชิงคุณภาพก็หมายถึงสิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิต และมีความหมายกว้างกว่าสิ่งที่เพียงพอเพื่อการดำรงชีพ ถ้าเข้าใจความหมายตามตัวอักษร (epiousion = เหนือจำเป็น [super-substantiale, super-essential]) จึงมีความหมายโดยตรงถึงอาหาร(ที่จำเป็นสำหรับ)เลี้ยงชีวิต นั่นคือพระกายของพระคริสตเจ้า “โอสถบันดาลความไม่รู้จักตาย” ซึ่งถ้าไม่มี เราจะมีชีวิตในตัวเราไม่ได้ ในที่สุด ถ้านำคำนี้มารวมกับคำที่อยู่ก่อนหน้านั้น ความหมายเกี่ยวกับเมืองสวรรค์ก็ย่อมชัดเจน “วัน” ที่กล่าวถึงนี้ก็คือ “วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า” วัน “งานเลี้ยงของพระอาณาจักร” ที่ถูกกล่าวถึงล่วงหน้าแล้วในศีลมหาสนิท (หรือ “พิธีบูชาขอบพระคุณ”) ซึ่งเป็นการชิมลางของพระอาณาจักรที่จะมาถึง เพราะเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องถวายบูชาขอบพระคุณ “ทุกๆ วัน”

“ดังนั้น ศีลมหาสนิทจึงเป็นอาหารประจำวันของเรา […] พลังที่มาจากอาหารนี้ก็คือเอกภาพ เพื่อให้เราที่มารวมกันในพระกายของพระองค์ กลายเป็นส่วนพระวรกายของพระองค์ เป็นสิ่งที่เรารับมา […] และสิ่งที่ท่านได้ยินทุกๆ วันในวัด ก็เป็นอาหารประจำวัน และบทเพลงสรรเสริญที่ท่านได้ยินและเรียนรู้ก็เป็นอาหารประจำวันด้วย ทุกสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเดินทางของเราในโลกนี้”

 พระบิดาในสวรรค์ทรงเตือนพวกเราให้เป็นเสมือนบุตรเมืองสวรรค์ วอนขออาหารจากสวรรค์ พระคริสตเจ้า “ผู้ทรงเป็นอาหารที่หว่านไว้ในพระนางพรหมจารี ฟูขึ้นในร่างกาย ถูกนวดในพระทรมาน ถูกอบในพระคูหาเหมือนในเตาอบ ได้รับการปรุงรสในวัดต่างๆ ถูกนำมาวางไว้บนพระแท่นบูชาเป็นดังอาหารจากสวรรค์ทุกๆ วันสำหรับผู้มีความเชื่อทั้งหลาย”   

 

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)