แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันศุกร์ สัปดาห์ที่ 11 เทศกาลธรรมดา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว (มธ 6:19-23)                 

ท่านทั้งหลายจงอย่าสะสมทรัพย์สมบัติบนแผ่นดินนี้เลย ที่นี่ทรัพย์สมบัติทั้งหลายถูกสนิมและตัวขมวนทำลาย ถูกขโมยเจาะช่องเข้ามาขโมยไปได้ แต่จงสะสมทรัพย์สมบัติในสวรรค์เถิด ที่นั่นไม่มีสนิมและตัวขมวนทำลาย ขโมยก็เจาะช่องเข้ามาขโมยไปไม่ได้ เพราะทรัพย์สมบัติของท่านอยู่ที่ใด ใจของท่านก็จะอยู่ที่นั่นด้วย  


มธ 6:21  ทรัพย์สมบัติ : พระคริสตเจ้าทรงเป็นทรัพย์สมบัติที่เติมความปรารถนาที่ลึกที่สุดของจิตใจมนุษย์ให้เต็มได้  ใจ : ในที่นี้บ่งบอกถึงความปรารถนาต่างๆ ที่ลึกที่สุดของเรา และใจที่ชอบธรรมเป็นหนทางนำสู่พระคริสตเจ้า เราต้องหลีกเลี่ยงการยึดติดกับสิ่งฝ่ายวัตถุ หรือบุคคล หรือเสพติดสิ่งต่างๆ เพื่อให้ใจของเราบริสุทธิ์ ดังนั้นการปฏิบัติสารแห่งพระวรสารทั้งครบนั้นจึงเรียกร้องการต่อสู้ภายใน ทุกสิ่งทุกอย่างต้องมุ่งสู่ความเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้าอย่างลึกซึ้งและสู่พระอาณาจักรพระเจ้า      

CCC ข้อ 368 ธรรมประเพณีของพระศาสนจักรในด้านจิตยังเน้นถึง “ดวงใจ” ตามความหมายในพระคัมภีร์ซึ่งหมายถึง “ส่วนลึกที่สุด” (“ในใจ” เทียบ ยรม 31:33) ที่บุคคลหนึ่งตัดสินใจเพื่อพระเจ้าหรือต่อสู้พระเจ้า

CCC ข้อ 2533 การมีใจบริสุทธิ์เรียกร้องให้มีความสงบเสงี่ยมซึ่งเป็นความรู้จักอดกลั้น การแต่งกายเรียบร้อยถูกกาลเทศะ ความสงบเสงี่ยมปกปักรักษาความรู้สึกนึกคิดภายในจิตใจของบุคคลด้วย

CCC ข้อ 2551 “ทรัพย์สมบัติของท่านอยู่ที่ใด ใจของท่านก็จะอยู่ที่นั่นด้วย” (มธ 6:21)

CCC ข้อ 2552 พระบัญญัติประการที่สิบห้ามความโลภที่เกิดจากกิเลสตัณหาเกินขอบเขต อยากได้ทรัพย์สมบัติและอำนาจที่เกิดจากทรัพย์สมบัติเหล่านี้

CCC ข้อ 2553 ความอิจฉาริษยาคือความทุกข์ที่ผู้หนึ่งรู้สึกเมื่อเห็นทรัพย์สมบัติของผู้อื่นและมีความปรารถนาเกินขอบเขตที่จะทำให้ทรัพย์สมบัตินั้นมาเป็นของตน ความอิจฉาริษยาเป็นบ่อเกิดของบาปอื่นได้ (บาปต้นกำเนิด)

CCC ข้อ 2729 ความยากลำบากที่มักจะเกิดขึ้นเมื่อเราอธิษฐานภาวนาก็คือการเสียสมาธิ (การมีใจวอกแวก) การนี้อาจเกี่ยวกับการไม่คิดถึงถ้อยคำที่เรากล่าวและความหมายของถ้อยคำเหล่านี้เมื่อเราอธิษฐานภาวนาโดยเปล่งเสียง (ในพิธีกรรมหรือในการอธิษฐานภาวนาส่วนตัว) ในการรำพึงภาวนา และในการอธิษฐานภาวนาโดยพิศเพ่งฌาน ความพยายามที่จะขับไล่การมีใจวอกแวกอาจทำให้เราตกในกับดักของมันได้ ในเมื่อความพยายามที่จะกลับมาสำรวมใจเสียใหม่ก็เพียงพอแล้ว ความมีใจวอกแวกแสดงให้เราเห็นว่าใจของเราติดอยู่กับอะไร และการยอมรับเรื่องนี้ด้วยความสุภาพถ่อมตนต่อพระเจ้าต้องปลุกความรักต่อพระองค์ให้มากขึ้น ตั้งใจถวายใจของเราแด่พระองค์เพื่อทรงชำระให้บริสุทธิ์ การต่อสู้อยู่ที่นี่ คือการเลือกองค์พระผู้เป็นเจ้าเพื่อจะรับใช้พระองค์

CCC ข้อ 2848 “ไม่ให้แพ้การผจญ” (ตามตัวอักษรว่า “ไม่ถูกนำเข้าสู่การผจญ”) ยังหมายถึงการตัดสินใจ “ทรัพย์สมบัติของท่านอยู่ที่ใด ใจของท่านก็จะอยู่ที่นั่นด้วย […] ไม่มีใครเป็นข้าสองเจ้าบ่าวสองนายได้” (มธ 6:21,24) “ถ้าเรามีชีวิตเดชะพระจิตเจ้า เราจงดำเนินชีวิตตามพระจิตเจ้าด้วย” (กท 5:25) พระบิดาประทานพลังให้เราในการ “เห็นพ้อง” เช่นนี้กับพระจิตเจ้า “ท่านทั้งหลายไม่เคยเผชิญกับการผจญใดๆ ที่เกินกำลังมนุษย์ พระเจ้าทรงซื่อสัตย์ พระองค์จะไม่ทรงอนุญาตให้ท่านถูกผจญเกินกำลังของท่าน แต่เมื่อถูกผจญ พระองค์จะประทานความสามารถให้ท่านยืนหยัดมั่นคงและหาทางออกได้” (1 คร 10:13)


มธ 6:22-23  พระเยซูเจ้าทรงใช้คำว่า แสงสว่าง และ ดวงตา เป็นดังภาพเปรียบเทียบ กล่าวคือ ดวงตาเป็นดวงประทีบของร่างกาย ดวงตาแสดงถึงเจตจำนงหรือแรงจูงใจ หากบุคคลหนึ่งกำหนดทิศทางเจตจำนงของตนสู่พระประสงค์ของพระเจ้าแล้ว ทุกกิจการของเขาก็จะดำเนินไปอย่างสอดคล้องกับพระประสงค์ของพระเจ้าด้วยเช่นกัน (เทียบ นักบุญโทมัส อไควนัส, Super Evangelium Matthaei)    

CCC ข้อ 1707 “ถึงกระนั้น ตั้งแต่แรกเริ่มประวัติศาสตร์แล้ว มนุษย์ได้ถูกปีศาจชักชวนให้ใช้อิสรภาพของตนอย่างไม่ถูกต้อง” เขาพ่ายแพ้ต่อการผจญและได้ทำผิด เขายังรักษาความปรารถนาที่จะทำดีไว้ แต่ธรรมชาติของเขาก็มีบาดแผลของบาปกำเนิดอยู่ด้วย เขาจึงมีความโน้มเอียงไปหาความชั่วและอยู่ในอำนาจของความหลงผิด

“ดังนั้น มนุษย์จึงถูกแบ่งแยกในตนเอง เพราะเหตุนี้ ชีวิตทั้งหมดของมนุษย์ ไม่ว่าแต่ละคนหรือส่วนรวม จึงปรากฏว่าอยู่ในการต่อสู้ และเป็นการต่อสู้ที่น่าตื่นเต้นเร้าใจด้วย ระหว่างความดีและความชั่ว ระหว่างความสว่างและความมืด” 

CCC ข้อ 1783 มโนธรรมต้องมีความแน่นอนยิ่งๆ ขึ้นและการตัดสินว่าอะไรดีอะไรชั่วต้องชัดเจน มโนธรรมที่ได้รับการพัฒนาอย่างดีจึงถูกต้องและสะท้อนความจริง ตัดสินถูกต้องตามเหตุผล สอดคล้องกับความดีแท้จริงตามที่ปรีชาญาณของพระผู้สร้างต้องการ การอบรมมโนธรรมจึงจำเป็นสำหรับมนุษย์ที่อยู่ใต้อิทธิพลด้านลบและถูกผจญจากบาปให้ตัดสินตามใจตนเองและไม่ยอมรับคำสั่งสอนตามอำนาจ(ของพระเจ้า) 

CCC ข้อ 1784 การอบรมมโนธรรมเป็นงานที่ต้องทำตลอดชีวิต ตั้งแต่เยาว์วัย การอบรมนี้ต้องปลุกเยาวชนให้รู้จักและปฏิบัติตามกฎในใจที่รู้ได้จากมโนธรรมทางศีลธรรม การอบรมที่รอบคอบสอนให้รู้จักคุณธรรม ปกป้องหรือบำบัดรักษาให้พ้นจากความกลัว จากความรักตนเองอย่างตาบอด (“ความเห็นแก่ตัว”) และจากความเย่อหยิ่งจองหอง จากความขุ่นเคืองรู้สึกผิด และจากความรู้สึกพึงพอใจซึ่งเกิดจากความอ่อนแอและความผิดประสามนุษย์ การอบรมมโนธรรมก่อให้เกิดอิสรภาพและสันติภายในใจ 

CCC ข้อ 1785 พระวาจาของพระเจ้าเป็นแสงสว่างส่องทางในการเสริมสร้างมโนธรรม จึงจำเป็นที่เราจะต้องทำให้พระวาจาเป็นของเราโดยความเชื่อและการอธิษฐานภาวนาพร้อมกับนำมาปฏิบัติด้วย เรายังต้องพิจารณามโนธรรมของเราด้วยโดยพิจารณาไม้กางเขนขององค์พระผู้เป็นเจ้า เราได้รับความช่วยเหลือจากพระพรของพระจิตเจ้า จากการเป็นพยานชีวิตและคำแนะนำของผู้อื่น และยังรับการนำทางจากคำสอนทางการของพระศาสนจักรอีกด้วย  

 

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)