แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันศุกร์ สัปดาห์ที่ 8 เทศกาลธรรมดา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก (มก 11:11-26)   

เวลานั้น พระเยซูเจ้าเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็ม เข้าไปในพระวิหาร เมื่อทอดพระเนตรสิ่งต่าง ๆ โดยรอบแล้ว พระองค์ก็เสด็จออกไปยังหมู่บ้านเบธานี พร้อมกับอัครสาวกสิบสองคน ขณะนั้นเป็นเวลาค่ำแล้ว

      วันรุ่งขึ้น ขณะที่พระเยซูเจ้าเสด็จออกจากหมู่บ้านเบธานีพร้อมกับบรรดาศิษย์ พระองค์ทรงรู้สึกหิว เมื่อทอดพระเนตรแต่ไกล ทรงเห็นมะเดื่อเทศต้นหนึ่งมีใบ จึงเสด็จเข้าไปทอดพระเนตรว่ามีผลหรือไม่ ทรงพบแต่ใบ เพราะมิใช่ฤดูมะเดื่อเทศ พระองค์จึงตรัสแก่มะเดื่อเทศต้นนั้นว่า “ตั้งแต่นี้ต่อไป อย่าให้ใครได้กินผลของเจ้าอีกเลย” บรรดาศิษย์ได้ยินพระวาจานี้

      พระเยซูเจ้าเสด็จไปยังกรุงเยรูซาเล็มพร้อมกับบรรดาศิษย์ เมื่อเสด็จเข้าสู่พระวิหาร พระองค์ทรงขับไล่บรรดาคนซื้อขายในพระวิหาร ทรงคว่ำโต๊ะของคนแลกเงิน และม้านั่งของคนขายนกพิราบ พระองค์ไม่ทรงยอมให้ใครแบกสัมภาระเดินผ่านพระวิหาร พระองค์ตรัสสอนประชาชนว่า “มีเขียนไว้ในพระคัมภีร์มิใช่หรือว่า บ้านของเราจะได้ชื่อว่าบ้านแห่งการอธิษฐานภาวนาสำหรับนานาชาติ แต่ท่านทั้งหลายกลับมาทำให้เป็นซ่องโจร” เมื่อบรรดามหาสมณะและบรรดาธรรมาจารย์ได้ยินเรื่องนี้ ก็หาช่องทางที่จะกำจัดพระองค์ แต่เขากลัวพระองค์ เพราะประชาชนกำลังประทับใจในคำสั่งสอนของพระองค์ ครั้นถึงเวลาเย็น พระองค์ก็เสด็จออกจากเมืองพร้อมกับบรรดาศิษย์

      เช้าวันรุ่งขึ้น ขณะที่บรรดาศิษย์ผ่านมา ได้เห็นต้นมะเดื่อเทศเหี่ยวเฉาไปจนถึงราก เปโตรจำได้จึงทูลพระเยซูเจ้าว่า “พระอาจารย์เจ้าข้า ดูซิ ต้นมะเดื่อเทศที่พระองค์ทรงสาปแช่งนั้นเหี่ยวเฉาไปแล้ว” พระเยซูเจ้าจึงตรัสกับบรรดาศิษย์ว่า “จงมีความเชื่อในพระเจ้าเถิด เราบอกความจริงกับท่านว่า ถ้าผู้ใดบอกภูเขาลูกนี้ว่า “จงยกตัวขึ้น และทิ้งตัวลงไปในทะเลเถิด” โดยไม่มีใจสงสัย แต่เชื่อว่าสิ่งที่เขาพูดนั้นจะเป็นจริง มันก็จะเป็นเช่นนั้น ดังนั้น เราบอกท่านทั้งหลายว่า ทุกสิ่งที่ท่านวอนขอในการอธิษฐานภาวนา จงเชื่อว่าท่านจะได้รับ และท่านก็จะได้รับ ขณะที่ท่านยืนอธิษฐานภาวนา จงให้อภัย ถ้าท่านมีเรื่องบาดหมางกับผู้ใด เพื่อว่าพระบิดาของท่านผู้สถิตบนสวรรค์จะทรงอภัยความผิดให้ท่านด้วย”


มก 11:12-25 เรื่องราวของต้นมะเดื่อเทศเน้นถึงความจำเป็นของการเกิดผลแม้ว่าจะไม่ใช่ฤดูกาลก็ตาม ถ้าเราวางใจในพระเจ้าอย่างเต็มที่ และทำในส่วนของเรา คำภาวนาของเราจะเกิดอัศจรรย์อย่างใหญ่หลวงในงานประกาศข่าวดี พระคริสตเจ้าทรงเรียกร้องให้ผู้ติดตามพระองค์ให้อภัยความผิดของผู้อื่น ดังเป็นเงื่อนไขของการภาวนาที่มีค่าและมีประสิทธิผล พระเจ้าพระบิดาของเราจะทรงอภัยบาปของเราเองเหมือนที่เราให้อภัยแก่ผู้อื่น

CCC ข้อ 2607 เมื่อพระเยซูเจ้าทรงอธิษฐานภาวนา พระองค์ก็ทรงสอนเราแล้วให้อธิษฐานภาวนาด้วย การอธิษฐานภาวนาของพระองค์เป็นหนทางนำเราไปพบพระเจ้า [เป็นหนทางความเชื่อ ความหวังและความรัก] ไปพบพระบิดาของพระองค์ แต่พระวรสารก็ยังให้คำสอนที่ชัดเจนของพระเยซูเจ้าเกี่ยวกับการอธิษฐานภาวนาแก่เราด้วย คล้ายกับครูพี่เลี้ยง พระองค์ทรงรับเราตามที่เราเป็น และทรงค่อยๆ นำเราไปพบพระบิดา เมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จออกไปพบประชาชนที่ติดตามพระองค์ พระองค์ทรงเริ่มจากจุดที่เขารู้จักเรื่องการอธิษฐานภาวนาตามพันธสัญญาเดิมและเปิดความรู้ใหม่ๆ เรื่องพระอาณาจักรที่กำลังมาถึงให้เขาทราบ แล้วนั้นจึงทรงใช้เรื่องอุปมาเปิดเผยความใหม่นี้แก่เขา และในที่สุดพระองค์จะตรัสอย่างเปิดเผยเรื่องพระบิดาและพระจิตเจ้ากับบรรดาศิษย์ที่จะต้องเป็นครูสอนผู้อื่นให้รู้จักการอธิษฐานภาวนาในพระศาสนจักร

CCC ข้อ 2610 เช่นเดียวกับที่พระเยซูเจ้าทรงอธิษฐานภาวนาและขอบพระคุณพระบิดาก่อนที่จะได้รับของประทานจากพระองค์ พระเยซูเจ้าจึงทรงสอนให้เรามีความกล้าเยี่ยงบุตร “ทุกสิ่งที่ท่านวอนขอในการอธิษฐานภาวนา จงเชื่อว่าท่านจะได้รับ และท่านก็จะได้รับ” (มก 11:24) พลังของการอธิษฐานภาวนาเป็นเช่นนี้ “ทุกสิ่งเป็นไปได้ทั้งนั้นสำหรับผู้มีความเชื่อ” (มก 9:23) ความเชื่อที่ไม่สงสัย พระเยซูเจ้าทรงเศร้าพระทัยที่บรรดาพระประยูรญาติของพระองค์ “ไม่มีความเชื่อ” (มก 6:6) และเพราะความเชื่อที่น้อยเกินไปของบรรดาศิษย์ จนทรงประหลาดพระทัยเมื่อทรงเห็นความเชื่อของนายร้อยชาวโรมัน และของหญิงชาวคานาอัน

CCC ข้อ 2805 คำวอนขอกลุ่มที่สองยังขยายความมากขึ้นในข้อความของบท Epiclesis (อัญเชิญพระจิตเจ้า) ในพิธีบูชาขอบพระคุณบางแบบ ในฐานะที่บท Epiclesis นี้เป็นการถวายการรอคอยของเราและทูลเชิญพระบิดาผู้ทรงพระเมตตาให้ทอดพระเนตรมาหาเรา คำวอนขอเหล่านี้ขึ้นไปจากเราแล้วตั้งแต่เวลานี้ อยู่ในโลกนี้ และเกี่ยวข้องกับเรา “โปรดประทาน [...] แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย โปรดประทานอภัยแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย [...] โปรดช่วยข้าพเจ้าทั้งหลายไม่ให้ [...] โปรดช่วยข้าพเจ้าทั้งหลายให้พ้น...เทอญ” คำวอนขอที่สี่และห้าเกี่ยวข้องกับชีวิตของเราโดยตรง ไม่ว่าเพื่อหล่อเลี้ยง หรือช่วยบำบัดรักษาให้พ้นจากบาป  ส่วนคำวอนขอสองข้อสุดท้ายเกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อชัยชนะของชีวิต – เพื่อการต่อสู้ให้อธิษฐานภาวนาได้


มก 11:12 บ้านแห่งการอธิษฐานภาวนา : วัด เปรียบเสมือนวิหารเก่าแก่ เป็นสถานที่เฉพาะสำหรับการประกอบคารวกิจส่วนรวม อีกทั้งยังเป็นสถานที่สำหรับการนมัสการพระคริสตเจ้าผู้ประทับอยู่อย่างแท้จริงในศีลมหาสนิท นอกจากนี้ยังเป็นการเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะมีสถานที่หนึ่งในบ้านที่เอื้อต่อการสวดภาวนาและการรำพึงพระวาจา

CCC ข้อ 2691 โบสถ์ บ้านของพระเจ้าเป็นสถานที่เฉพาะของการอธิษฐานภาวนาตามพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์สำหรับชุมชนวัด ที่เดียวกันนี้ยังเป็นสถานที่พิเศษเพื่อนมัสการการประทับอยู่อย่างแท้จริงของพระคริสตเจ้าในศีลมหาสนิท การเลือกสถานที่โดยเฉพาะไม่ใช่เรื่องไม่สำคัญสำหรับการอธิษฐานภาวนาแท้จริง

          - สำหรับการอธิษฐานภาวนาส่วนตัวอาจเป็น “มุมสำหรับการอธิษฐานภาวนา” ที่มีหนังสือพระคัมภีร์และรูปภาพศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเราจะได้อยู่ “ตามลำพัง” ต่อหน้าพระบิดาของเรา ในครอบครัวคริสตชน ห้องอธิษฐานภาวนาเล็กๆ เช่นนี้ช่วยให้มีการอธิษฐานภาวนาร่วมกันได้เป็นอย่างดี

          - ในท้องที่ที่มีอารามตั้งอยู่ กระแสเรียกของชุมชนเหล่านี้ก็คือช่วยส่งเสริมการภาวนาทำวัตรร่วมกับบรรดาสัตบุรุษและช่วยให้มีความสงบเงียบที่จำเป็นสำหรับการอธิษฐานภาวนาส่วนตัวอย่างเข้มข้นยิ่งขึ้นด้วย

          - การแสวงบุญเชิญชวนให้เราคิดถึงการเดินทางของเราในโลกนี้ไปยังสวรรค์ โดยธรรมเนียมปฏิบัติยังเป็นเวลาพิเศษเพื่อรื้อฟื้นการอธิษฐานภาวนา สักการสถานต่างๆ จึงเป็นสถานที่พิเศษสำหรับผู้แสวงบุญ ให้เป็นดัง “พระศาสนจักร” ที่แสวงหาพุน้ำทรงชีวิต นำรูปแบบของการอธิษฐานภาวนาแบบคริสตชนมาเป็นชีวิต

CCC ข้อ 2696 สถานที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการอธิษฐานภาวนาได้แก่ห้องอธิษฐานภาวนาส่วนตัวหรือในครอบครัว อารามนักพรต สักการสถานสำหรับการจาริกแสวงบุญ และโดยเฉพาะโบสถ์ซึ่งเป็นสถานที่เฉพาะของพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์สำหรับชุมชนเขตวัดและเป็นสถานที่พิเศษเพื่อนมัสการศีลมหาสนิท


มก 11:25 พระเจ้าทรงอภัยบาปของเราเองตามขอบเขตที่เราให้อภัยผู้อื่น พระคริสตเจ้าทรงเรียกร้องให้ผู้ติดตามของพระองค์ให้อภัยความผิดของผู้อื่นก่อนที่จะภาวนา ยืนอธิษฐานภาวนา : ยืนอธิษฐาน: ชาวยิวมักจะยืนเมื่ออธิษฐานภาวนาตามธรรมเนียมของพวกเขา อันเป็นเครื่องหมายของการแสดงความเคารพ

CCC ข้อ 2646 การอภัยบาป การขอให้พระอาณาจักรมาถึง เช่นเดียวกับความจำเป็นจริงๆ ทุกอย่างเป็นสิ่งที่เราอธิษฐานภาวนาวอนขอได้

CCC ข้อ 2840 แต่ทว่า – และนี่เป็นเรื่องน่ากลัว – การหลั่งไหลของพระเมตตานี้ไม่อาจเข้าไปในใจของเราได้ ตราบใดที่เราไม่ได้ให้อภัยแก่ผู้ที่ทำผิดต่อเรา ความรักเป็นสิ่งที่แบ่งแยกไม่ได้เหมือนกับพระวรกายของพระคริสตเจ้า เราไม่อาจรักพระเจ้าที่เราไม่อาจแลเห็นได้ นอกจากเราจะรักพี่น้องชายหญิงที่เราแลเห็นได้ เมื่อเราไม่ยอมให้อภัยแก่พี่น้องชายหญิงของเรา ใจของเราย่อมปิดสนิทและความแข็งแกร่งนี้ก็ทำให้ความรักที่ทรงเมตตาของพระบิดาเข้าไปไม่ได้ เมื่อเราสารภาพบาปของเรา ใจของเราก็เปิดออกรับพระหรรษทานของพระองค์

CCC ข้อ 2841 คำวอนขอข้อนี้มีความสำคัญมาก จนกระทั่งว่าเป็นคำวอนขอเพียงข้อเดียวที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงกล่าวถึงอีกครั้งหนึ่งและทรงขยายความในบทเทศน์บนภูเขา ข้อเรียกร้องประการหลักของพระธรรมล้ำลึกแห่งพันธสัญญาข้อนี้เป็นไปไม่ได้สำหรับมนุษย์ “แต่สำหรับพระเจ้า ทุกอย่างเป็นไปได้” (มธ 19:26)


มก 11:25 ผู้นิพนธ์พระวรสารองค์อื่นบันทึกเพิ่มเติมว่า “แต่ถ้าท่านไม่ให้อภัย พระบิดาของท่านบนสวรรค์ก็จะไม่ทรงอภัยความผิดของท่านด้วยเช่นกัน”

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)