แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันศุกร์สัปดาห์ที่ 7 เทศกาลปัสกา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 21:15-19)    

เมื่อบรรดาศิษย์กินเสร็จแล้ว พระเยซูเจ้าตรัสกับซีโมนเปโตรว่า “ซีโมน บุตรของยอห์น ท่านรักเรามากกว่าคนเหล่านี้รักเราไหม” เปโตรทูลตอบว่า “ใช่แล้ว พระเจ้าข้า พระองค์ทรงทราบว่าข้าพเจ้ารักพระองค์” พระเยซูเจ้าตรัสกับเขาว่า “จงเลี้ยงลูกแกะของเราเถิด” พระองค์ตรัสถามเขาอีกเป็นครั้งที่สองว่า “ซีโมน บุตรของยอห์น ท่านรักเราไหม” เขาทูลตอบว่า “ใช่แล้ว พระเจ้าข้า พระองค์ทรงทราบว่าข้าพเจ้ารักพระองค์” พระองค์ตรัสกับเขาว่า “จงดูแลลูกแกะของเราเถิด พระองค์ตรัสถามเป็นครั้งที่สามว่า “ซีโมน บุตรของยอห์น ท่านรักเราไหม” เปโตรรู้สึกเป็นทุกข์ที่พระองค์ตรัสถามตนถึงสามครั้งว่า “ท่านรักเราไหม” เขาทูลตอบว่า “พระเจ้าข้า พระองค์ทรงทราบทุกสิ่ง พระองค์ทรงทราบว่าข้าพเจ้ารักพระองค์” พระเยซูเจ้าตรัสกับเขาว่า “จงเลี้ยงดูแกะของเราเถิด เราบอกความจริงกับท่านว่า เมื่อท่านยังหนุ่ม ท่านคาดสะเอวด้วยตนเอง และเดินไปไหนตามใจชอบ แต่เมื่อท่านชรา ท่านจะยื่นมือ แล้วคนอื่นจะคาดสะเอวให้ท่าน พาท่านไปในที่ที่ท่านไม่อยากไป” พระเยซูเจ้าตรัสเช่นนี้เพื่อแสดงว่าเปโตรจะถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าโดยตายอย่างไร เมื่อตรัสดังนี้แล้ว ทรงเสริมว่า “จงตามเรามาเถิด”


ยน 21:15-19 พระคริสตเจ้าทรงเรียกพระองค์เองว่าผู้เลี้ยงที่ดี ในตอนนี้พระองค์ทรงมอบให้เปโตรเป็นผู้ดูแลฝูงแกะของพระองค์ ความรักของเปโตรต่อพระคริสตเจ้า ที่เพิ่งได้ยืนยันถึงสามครั้งนั้น จะเห็นได้ชัดจากการดูแลฝูงแกะของพระองค์ ซึ่งก็คือประชากรของพระเจ้า

CCC ข้อ 553 พระเยซูเจ้าทรงมอบอำนาจพิเศษแก่เปโตร “เราจะมอบกุญแจอาณาจักรสวรรค์ให้ท่าน ทุกสิ่งที่ท่านจะผูกบนแผ่นดินนี้ จะผูกไว้ในสวรรค์ด้วย ทุกสิ่งที่ท่านจะแก้ในแผ่นดินนี้ ก็จะแก้ในสวรรค์ด้วย” (มธ 16:19) “อำนาจถือกุญแจ” หมายถึงอำนาจดูแลบ้านของพระเจ้า คือพระศาสนจักร พระเยซูเจ้า “ผู้เลี้ยงแกะที่ดี” (ยน 10:11) ทรงยืนยันถึงบทบาทนี้หลังจากทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว “จงเลี้ยงดูแกะของเราเถิด” (ยน 21:15-17) อำนาจ “ผูกและแก้” จึงหมายถึงอำนาจที่จะอภัยบาป ที่จะตัดสินเรื่องคำสอนและระเบียบการปกครองในพระศาสนจักร พระเยซูเจ้าทรงมอบ อำนาจนี้ให้แก่พระศาสนจักรผ่านทางการปฏิบัติงานของบรรดาอัครสาวก และโดยเฉพาะของเปโตร ซึ่งเป็นผู้เดียวที่ทรงเจาะจงมอบกุญแจพระอาณาจักรให้

CCC ข้อ 880 เมื่อพระคริสตเจ้าทรงเรียกศิษย์สิบสองคนนั้น “ทรงแต่งตั้งเขาไว้ให้เป็นกลุ่มหรือคณะถาวร และทรงเลือกเปโตรให้เป็นหัวหน้า” “เช่นเดียวกับองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงแต่งตั้ง นักบุญเปโตรและอัครสาวกคนอื่นๆ ก็รวมกันเป็นคณะอัครสาวกกลุ่มเดียว ในทำนองเดียวกันสมเด็จพระสันตะปาปาผู้สืบตำแหน่งต่อจากเปโตรและบรรดาพระสังฆราชก็รวมกันเป็นผู้สืบตำแหน่งต่อมาจากบรรดาอัครสาวกด้วย”

CCC ข้อ 881 องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงตั้งให้ซีโมนคนเดียวที่ทรงให้นามว่า “เปโตร” เป็นศิลาตั้งพระศาสนจักรของพระองค์ และทรงมอบกุญแจ(พระศาสนจักร)ให้เขา ทรงแต่งตั้งเขาให้เป็นผู้อภิบาลดูแลฝูงแกะทั้งหมด “เห็นได้ชัดว่าบทบาทที่จะผูกและแก้ที่เปโตรได้รับนี้ยังได้ทรงมอบให้แก่ คณะอัครสาวกที่รวมอยู่กับประมุขของตนอีกด้วย” บทบาทผู้อภิบาลนี้ของเปโตรและอัครสาวกคนอื่นๆ เกี่ยวข้องกับรากฐานของพระศาสนจักร บรรดาพระสังฆราชสืบต่อบทบาทนี้โดยมีสมเด็จพระสันตะปาปาทรงเป็นประมุข

CCC ข้อ 882 สมเด็จพระสันตะปาปา พระสังฆราชแห่งกรุงโรมและผู้สืบตำแหน่งของนักบุญเปโตร “เป็นบ่อเกิดและเป็นรากฐานถาวรที่เราแลเห็นได้ของเอกภาพทั้งของบรรดาพระสังฆราชและของบรรดาผู้มีความเชื่อทั้งหลาย” “สมเด็จพระสันตะปาปาทรงอำนาจบริบูรณ์สูงสุดเหนือพระศาสนจักรตามบทบาทหน้าที่ในฐานะผู้แทนของพระคริสตเจ้าและผู้อภิบาลดูแลพระศาสนจักรทั้งหมดและทรงใช้อำนาจนี้ได้อย่างอิสระเสรีเสมอ”

CCC ข้อ 883 “ส่วนคณะพระสังฆราชมีอำนาจปกครองร่วมกับสมเด็จพระสันตะปาปา […] ในฐานะที่ทรงเป็นหัวหน้าคณะเท่านั้น” สภาพระสังฆราชนี้ในตนเอง “แม้จะอยู่ใต้บังคับ(ของพระสันตะปาปา)ก็ยังมีอำนาจสูงสุดและสมบูรณ์เหนือพระศาสนจักรสากล แต่อำนาจนี้อาจมีผลบังคับได้โดยที่พระสันตะปาปาทรงเห็นชอบด้วยเท่านั้น”

CCC ข้อ 884 “สภาพระสังฆราชใช้อำนาจเหนือพระศาสนจักรสากลนี้ด้วยวิธีการอย่างสง่าในสภาสังคายนาสากล” “แต่สภาสังคายนาสากลก็เป็นเช่นนั้นไม่ได้ถ้าไม่ได้รับการรับรองหรืออย่างน้อยการรับรู้จากผู้สืบตำแหน่งของเปโตร”

CCC ข้อ 885 “สภาพระสังฆราชในฐานะที่รวบรวมมาจากพระสังฆราชจำนวนมาก จึงแสดงให้เห็นความแตกต่างและความเป็นสากลของประชากรของพระเจ้า ในฐานะที่แสดงให้เห็นเอกภาพของฝูงแกะของพระคริสตเจ้าที่อยู่ใต้ปกครองของประมุขหนึ่งเดียว”

CCC ข้อ 886 “พระสังฆราชแต่ละองค์เป็นที่มาและรากฐานที่แลเห็นได้ของเอกภาพภายในพระศาสนจักรท้องถิ่นของตน” ในฐานะนี้บรรดาพระสังฆราช “ปฏิบัติงานอภิบาลปกครองของตนเหนือประชากรของพระเจ้าส่วนที่ถูกมอบหมายไว้ให้ปกครองดูแล” โดยมีคณะสงฆ์และสังฆานุกรเป็นผู้ช่วยเหลือ แต่ในฐานะที่เป็นสมาชิกของสภาพระสังฆราช พระสังฆราชแต่ละองค์จึงมีส่วนร่วมความเอาใจใส่ดูแลพระศาสนจักรท้องถิ่นทุกแห่ง ซึ่งเขาทำได้โดยเฉพาะ “เมื่อปกครองพระศาสนจักรของตนอย่างดีในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของพระศาสนจักรสากล” และทำเช่นนี้ “เพื่อผลประโยชน์ของพระกายทิพย์ทั้งหมด ซึ่งเป็นประหนึ่งพระศาสนจักร(ท้องถิ่น)ทั้งหลายที่รวมเป็นร่างกายเดียวกันด้วย” ความเอาใจใส่ดูแลนี้จะต้องขยายโดยเฉพาะไปสู่คนยากจน และผู้ที่ถูกเบียดเบียนเพราะความเชื่อ และยังขยายไปสู่บรรดาธรรมทูตผู้ทำงานอยู่ทั่วโลกด้วย

CCC ข้อ 887 พระศาสนจักรท้องถิ่นต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกันและมีวัฒนธรรมเดียวกันมักรวมกันเป็นเขตปกครองที่ใหญ่ขึ้นซึ่งเรียกว่า “ภาคปกครองของพระสังฆัยกา” (Patriarchatus) หรือ “ภาค” บรรดาพระสังฆราชของเขตปกครองเหล่านี้อาจมาร่วมประชุมสมัชชาหรือสภาสังคายนาประจำแคว้นได้ “โดยวิธีคล้ายกันนี้ สภาพระสังฆราชต่างๆในปัจจุบันจึงอาจช่วยเหลือได้อย่างมากและมีประสิทธิผลเพื่อทำให้จิตตารมณ์การรวมตัวกันถูกนำมาปฏิบัติได้อย่างจริงจัง”

CCC ข้อ 1548 ในงานรับใช้ของศาสนบริกรที่รับศีลบวช พระคริสตเจ้าเองประทับอยู่ในพระศาสนจักรของพระองค์ในฐานะที่ทรงเป็นศีรษะของพระกายทิพย์ เป็นผู้อภิบาลผู้มีความเชื่อซึ่งเป็นเสมือนฝูงแกะของพระองค์ เป็นมหาสมณะถวายบูชาเพื่อไถ่กู้ เป็นพระอาจารย์สั่งสอนความจริง นี่คือความหมายของข้อความที่พระศาสนจักรยืนยันว่าพระสงฆ์ปฏิบัติงานในพระบุคคลของพระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็นศีรษะ (in persona Christi Capitis  agere) อาศัยอำนาจที่ได้รับจากศีลบวช

“เป็นพระสมณะองค์เดียวกัน คือพระคริสต์เยซูที่ศาสนบริกรปฏิบัติหน้าที่รับใช้ในพระบุคคลของพระองค์ เดชะการเจิมถวายเป็นสมณะที่เขาได้รับมา ศาสนบริกรผู้นี้เป็นเหมือนกับพระมหาสมณะ และสามารถปฏิบัติงานโดยอำนาจและพระบุคคลของพระคริสตเจ้าเอง”

“พระคริสตเจ้าทรงเป็นต้นกำเนิดของสมณภาพทั้งหมด สมณะในพันธสัญญาเดิมเป็นรูปแบบของพระองค์ ส่วนสมณะในพันธสัญญาใหม่ก็ปฏิบัติงานในพระบุคคลของพระองค์นั่นเอง”

CCC ข้อ 1549 การประทับอยู่ของพระคริสตเจ้าในชุมชนผู้มีความเชื่อ เป็นศีรษะของพระศาสนจักรนั้น เราแลเห็นได้โดยศาสนบริการของผู้ที่ได้รับศีลบวช โดยเฉพาะพระสังฆราชและพระสงฆ์ ตามที่นักบุญอิกญาซีโอ ชาวอันติโอค กล่าวไว้อย่างน่าฟังว่า พระสังฆราชเป็นเสมือนรูปภาพทรงชีวิตของพระเจ้าพระบิดา (typos tou Patros)

CCC ข้อ 1550 เราต้องไม่เข้าใจว่าการประทับอยู่ของพระคริสตเจ้าในบรรดาศาสนบริกรนี้เป็นประกันจากความอ่อนแอทุกอย่างประสามนุษย์ ความคิดที่จะมีอำนาจเหนือผู้อื่น ความผิดหลง นั่นคือเป็นประกันจากบาป พระอานุภาพของพระจิตเจ้าไม่เป็นประกันกิจการทุกอย่างของศาสนบริกรโดยวิธีเดียวกัน ขณะที่ในศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เรามีประกันนี้อย่างที่ว่าบาปของศาสนบริกรไม่อาจขัดขวางผลของพระหรรษทานได้ ยังมีกิจการอื่นๆ อีกหลายประการที่ธรรมชาติมนุษย์ของศาสนบริกรยังคงทิ้งร่องรอยไว้ที่ไม่ใช่เครื่องหมายแสดงความซื่อสัตย์ต่อพระวรสาร และดังนั้นจึงอาจทำร้ายต่อประสิทธิภาพพันธกิจของพระศาสนจักรได้

CCC ข้อ 1551 สมณภาพนี้เป็นสมณภาพเพื่อศาสนบริการ “บทบาทที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบแก่บรรดาผู้อภิบาลประชากรนั้นเป็นการรับใช้จริงๆ” บทบาทนี้เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่กับพระคริสตเจ้า และกับมนุษย์โดยตรง สืบเนื่องอย่างเต็มที่จากพระคริสตเจ้าและจากสมณภาพหนึ่งเดียวของพระองค์ ตั้งขึ้นไว้สำหรับมวลมนุษย์และชุมชนพระศาสนจักร ศีลบวชถ่ายทอด “อำนาจศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากพระอำนาจของพระคริสตเจ้า การใช้อำนาจนี้จึงต้องถูกวัดตามพระแบบฉบับของพระคริสตเจ้าผู้ทรงยอมเป็นคนเล็กน้อยที่สุดและเป็นผู้รับใช้ของทุกคน “ดังนั้น จึงถูกต้องแล้วที่องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสว่าการเอาใจใส่ดูแลฝูงแกะเป็นข้อพิสูจน์ความรักต่อพระองค์”

CCC ข้อ 1552 สมณภาพศาสนบริการมีบทบาทไม่เพียงแต่เป็นผู้แทนพระคริสตเจ้า – พระประมุขของพระศาสนจักร – ต่อหน้าชุมชนผู้มีความเชื่อเท่านั้น แต่ยังปฏิบัติงานในนามของพระศาสนจักรทั้งหมดด้วย เมื่อนำคำอธิษฐานภาวนาของพระศาสนจักรแด่พระเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถวายบูชาขอบพระคุณ


ยน 21:15-17 เช่นเดียวกับที่เปโตรปฏิเสธพระคริสตเจ้าถึงสามครั้งตอนที่กำลังยืนผิงไฟ ในขณะที่พระคริสตเจ้ากำลังถูกสอบสวน (เทียบ ยน 18:27) ที่รอบกองไฟตรงริมทะเลเปโตรก็ได้ยืนยันถึงสามครั้งเช่นกันว่าเขารักพระคริสตเจ้า

CCC ข้อ 1429 การกลับใจของนักบุญเปโตรหลังจากที่ได้ปฏิเสธพระอาจารย์ของตนถึงสามครั้งเป็นพยานถึงเรื่องนี้ การทอดพระเนตรด้วยพระกรุณาหาขอบเขตมิได้ของพระเยซูเจ้าทำให้เปโตรต้องร้องไห้เสียใจที่ได้ทำผิด และหลังจากที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วยังยืนยันถึงสามครั้งถึงความรักของตนต่อพระองค์ การกลับใจครั้งที่สองนี้ยังมีมิติด้านชุมชนด้วย เรื่องนี้ปรากฏชัดเมื่อองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกพระศาสนจักรทั้งหมดว่า “(ท่านทั้งหลาย)จงกลับใจเถิด” (วว 2:5,16) นักบุญอัมโบรสกล่าวถึงการกลับใจทั้งสองนี้ว่า “พระศาสนจักรมีทั้งน้ำ และมีน้ำตา คือน้ำของศีลล้างบาปและน้ำตาของศีลอภัยบาป”


21:18-19 ท่านจะยื่น...ท่านไม่อยากไป : พระคริสตเจ้าทรงทำนายว่างานแพร่ธรรมของเปโตรจะพบกับความทุกข์ยากที่ร้ายแรงและจบลงด้วยการเป็นมรณสักขี ธรรมประเพณีระบุว่าเปโตรถูกประหารโดยถูกตรึงกางเขนแบบกลับหัวในราว ค.ศ. 67 ที่กรุงโรม หลังจากที่ท่านคัดค้านว่าท่านไม่สมควรตายแบบเดียวกับพระคริสตเจ้า

CCC ข้อ 618 ไม้กางเขนเป็นการถวายบูชาเพียงหนึ่งเดียวของพระคริสตเจ้า คนกลางเพียงผู้เดียวระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ แต่เนื่องจากว่าพระองค์ “ทรงประหนึ่งว่ารวมเป็นหนึ่งเดียวกับมนุษย์ทุกคน”ในพระบุคคลพระเจ้าผู้ทรงรับสภาพมนุษย์ “พระองค์จึงประทานให้มนุษย์ทุกคนมีโอกาสร่วมส่วนในพระธรรมล้ำลึกปัสกาได้โดยวิธีการที่พระเจ้าทรงทราบ”พระองค์ทรงเรียกร้องให้บรรดาศิษย์แบกไม้กางเขนของตนและตามพระองค์ เพราะพระองค์ทรงรับทรมานเพื่อเราและประทานแบบฉบับไว้ให้เราดำเนินตามรอยพระบาท พระองค์ทรงประสงค์ให้ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการถวายบูชาไถ่กู้ของพระองค์ก่อนผู้อื่นได้มีส่วนร่วมในการถวายบูชานี้ด้วย การนี้เป็นจริงอย่างสมบูรณ์ในองค์พระมารดาของพระองค์ ผู้ทรงมีส่วนร่วมพระธรรมล้ำลึกพระทรมานไถ่กู้ของพระองค์อย่างลึกซึ้งมากกว่าผู้ใดทั้งสิ้น

                 “นี่คือบันไดแท้จริงเพียงหนึ่งเดียวเพื่อขึ้นสวรรค์ และไม่มีบันไดอื่นใดอีกนอกจากไม้กางเขนที่เราจะใช้เดินขึ้นสวรรค์ได้”

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)