แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอังคาร สัปดาห์ที่ 7 เทศกาลปัสกา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 17:1-11ก)        

เวลานั้น พระเยซูเจ้าทรงเงยพระพักตร์ขึ้นเบื้องบน ตรัสว่า “ข้าแต่พระบิดา ถึงเวลาแล้ว โปรดประทานพระสิริรุ่งโรจน์แก่พระบุตรของพระองค์เถิดเพื่อพระองค์จะทรงรับพระสิริรุ่งโรจน์จากพระบุตร ดังที่พระองค์ได้ประทานอำนาจแก่พระบุตรเหนือมนุษย์ทั้งมวล เพื่อพระบุตรจะได้ประทานชีวิตนิรันดรแก่ทุกคนที่พระองค์ทรงมอบให้ ชีวิตนิรันดรคือ การรู้จักพระองค์ พระเจ้าแท้จริงแต่พระองค์เดียว และรู้จักผู้ที่พระองค์ทรงส่งมา คือพระเยซูคริสตเจ้า ข้าพเจ้าทำให้พระองค์ทรงได้รับพระสิริรุ่งโรจน์ในโลกนี้แล้ว โดยปฏิบัติภารกิจจนสำเร็จตามที่ทรงมอบหมายให้ข้าพเจ้า บัดนี้ พระบิดาเจ้าข้า โปรดประทานพระสิริรุ่งโรจน์แก่ข้าพเจ้า พระสิริรุ่งโรจน์ที่ข้าพเจ้าเคยมีร่วมกับพระองค์ ตั้งแต่ก่อนสร้างโลก ข้าพเจ้าได้แสดงพระนามของพระองค์ แก่มนุษย์ที่พระองค์ทรงนำจากโลกมามอบให้ข้าพเจ้า เขาทั้งหลายเป็นของพระองค์ และพระองค์ทรงมอบเขาแก่ข้าพเจ้า เขาได้ปฏิบัติตามพระวาจาของพระองค์ บัดนี้ เขารู้แล้วว่า ทุกสิ่งที่พระองค์ทรงมอบให้ข้าพเจ้านั้นมาจากพระองค์ เพราะพระวาจาที่พระองค์ทรงมอบให้ข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้ามอบให้เขาแล้ว เขาได้รับไว้ และรู้แน่นอนว่า ข้าพเจ้ามาจากพระองค์ และเขาก็เชื่อว่า พระองค์ทรงส่งข้าพเจ้ามา ข้าพเจ้าอธิษฐานภาวนาสำหรับเขาเหล่านี้ ข้าพเจ้ามิได้อธิษฐานภาวนาสำหรับโลก แต่สำหรับผู้ที่พระองค์ทรงมอบให้ข้าพเจ้า เพราะเขาเป็นของพระองค์ ทุกสิ่งที่เป็นของข้าพเจ้า ก็เป็นของพระองค์ ทุกสิ่งที่เป็นของพระองค์ ก็เป็นของข้าพเจ้า และข้าพเจ้าได้รับสิริรุ่งโรจน์โดยทางเขา ข้าพเจ้าไม่อยู่ในโลกอีกต่อไป แต่เขายังอยู่ในโลก และข้าพเจ้ากำลังกลับไปเฝ้าพระองค์”


ยน 17:1-26 ในการภาวนา“คำอธิษฐานแห่งสงฆ์”ของพระเยซูเจ้าถึงพระบิดาของพระองค์ ซึ่งเป็นบทภาวนาที่ยาวที่สุดซึ่งถูก)บันทึกไว้ในพระวรสาร พระคริสตเจ้าทรงวอนขอว่า ขอให้พระบิดาทรงได้รับพระสิริรุ่งโรจน์โดยทางพระองค์ พระองค์ทรงมอบชีวิตของพระองค์เป็นเครื่องบูชาด้วยสิ้นสุดจิตใจเพื่อให้แผนแห่งการไถ่กู้ของพระบิดาสำเร็จไป พระองค์ทรงภาวนาขอให้บรรดาผู้ติดตามของพระองค์สะท้อนความสัมพันธ์อันลึกซึ้งของพระองค์กับพระบิดาอย่างซื่อสัตย์ คำอธิษฐานแห่งสงฆ์ของพระคริสตเจ้านั้นรวมไปถึงการวอนขอให้พ้นจากการผจญจากทางโลก องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงปรารถนาให้บรรดาอัครสาวกส่องประกายความสุขที่มีลักษณะเฉพาะของชีวิตของพระคริสตเจ้า

CCC ข้อ 2604  นักบุญยอห์นเล่าถึงเรื่องการอธิษฐานภาวนา(ของพระเยซูเจ้า)อีกเรื่องหนึ่ง[53]ก่อนที่จะทรงปลุกลาซารัสให้กลับคืนชีพ เหตุการณ์ครั้งนี้ก็เริ่มด้วยการขอบพระคุณเช่นเดียวกัน “ข้าแต่พระบิดาเจ้า ข้าพเจ้าขอบพระคุณพระองค์ที่ทรงฟังคำของข้าพเจ้า” ซึ่งมีความหมายเป็นนัยว่าพระบิดาทรงฟังคำขอร้องของพระองค์เสมอ พระเยซูเจ้าจึงตรัสต่อไปทันทีว่า “ข้าพเจ้าทราบดีว่าพระองค์ทรงฟังข้าพเจ้าเสมอ” ซึ่งก็หมายความว่าพระเยซูเจ้าเองก็ทรงวอนขอพระบิดาอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น การอธิษฐานภาวนาของพระเยซูเจ้าที่เริ่มด้วยการขอบพระคุณจึงเปิดเผยให้เรารู้ว่าจะต้องวอนขออย่างไร  ก่อนที่จะทรงได้รับสิ่งที่ทรงขอ พระเยซูเจ้าทรงร่วมสนิทกับพระองค์ผู้ประทานและประทานพระองค์เองในสิ่งที่ประทานให้ พระองค์ผู้ประทานนั้นประเสริฐกว่าของประทาน  พระองค์ทรงเป็น “ขุมทรัพย์” และในพระองค์ก็มีพระทัยของพระบุตร ซึ่งเป็นของประทาน “ที่ทรงเพิ่มให้” อีกด้วย

            “คำอธิษฐานในฐานะสมณะ” ของพระเยซูเจ้ามีที่พิเศษในแผนการความรอดพ้น เราจะพิจารณาคำอธิษฐานภาวนานี้ในปลายของ “ตอนที่หนึ่ง” นี้ คำอธิษฐานภาวนานี้เปิดเผยให้เราเห็นว่าการอธิษฐานภาวนาของพระมหาสมณะของเราเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ และในเวลาเดียวกันก็มีเนื้อหาที่พระองค์ทรงสอนเราในคำอธิษฐานภาวนาของเราต่อพระบิดาซึ่งจะได้รับคำอธิบายในตอนที่สอง

CCC ข้อ 2745 - 2758

CCC ข้อ 2815 คำวอนขอประการนี้ ซึ่งรวมคำวอนขอทุกข้อ พระเจ้าทรงฟังเหมือนกับเป็นการอธิษฐานภาวนาของพระคริสตเจ้า เช่นเดียวกับคำวอนขออีกหกข้อที่เหลือซึ่งตามมา การอธิษฐานภาวนาต่อพระบิดาของเราเป็นการอธิษฐานภาวนาของเรา ถ้าเราอธิษฐานในพระนามของพระเยซูเจ้า พระเยซูเจ้าทรงวอนขอในคำอธิษฐานมหาสมณะของพระองค์ว่า “ข้าแต่พระบิดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ โปรดเฝ้ารักษาบรรดาผู้ที่ทรงมอบให้ข้าพเจ้าไว้ในพระนามของพระองค์” (ยน 17:11)

CCC ข้อ 2849 การต่อสู้เช่นนี้และชัยชนะเช่นนี้ย่อมเป็นไปไม่ได้นอกจากด้วยการอธิษฐานภาวนา อาศัยการอธิษฐานภาวนา พระเยซูเจ้าทรงพิชิตมารผจญตั้งแต่แรก รวมทั้งในการต่อสู้กับการทนทุกข์ทรมานครั้งสุดท้าย ในการวอนขอพระบิดาของเราครั้งนี้ พระคริสตเจ้าทรงรวมเราไว้กับการต่อสู้กับการทนทุกข์ครั้งสุดท้ายของพระองค์ด้วย มีการกล่าวอยู่ตลอดเวลาให้เรามีใจตื่นเฝ้าระวัง ร่วมกับการตื่นเฝ้าระวังของพระองค์ การตื่นเฝ้าเป็น “การคอยเฝ้าระวังจิตใจ” และพระเยซูเจ้าทรงวอนขอพระบิดาให้ทรงเฝ้ารักษาพวกเราไว้ในพระนามของพระองค์พระจิตเจ้าทรงพยายามปลุกเร้าเราไว้ตลอดเวลาให้คอยตื่นเฝ้าเช่นนี้ คำขอข้อนี้มีความหมายจริงจังเป็นพิเศษในความสัมพันธ์กับการผจญในการต่อสู้ครั้งสุดท้ายของเราในโลกนี้ คำวอนขอข้อนี้วอนขอให้เรามีความยืนหยัดมั่นคงจนถึงวาระสุดท้าย “ดูเถิด เรามาเหมือนขโมย ผู้ที่ตื่นเฝ้า....ย่อมเป็นสุข” (วว 16:15)


ยน 17:1 ถึงเวลาแล้ว : พระคริสตเจ้าทรงทราบดีว่า พระมหาทรมานของพระองค์ใกล้มาถึงจุดเริ่มต้นแล้ว

CCC ข้อ 730 ในที่สุดเวลาของพระเยซูเจ้าก็มาถึง ซึ่งหมายถึงเวลาที่พระเยซูเจ้าทรงมอบจิตของพระองค์ไว้ในพระหัตถ์ของพระบิดา และเวลาที่จะทรงพิชิตความตายโดยการสิ้นพระชนม์ เพื่อ “จะทรงกลับคืนพระชนมชีพ […] เดชะพระสิริรุ่งโรจน์ของพระบิดา” (รม 6:4) และต่อมาไม่ช้าจะประทานพระจิตเจ้า “โดยทรงเป่าลม” เหนือบรรดาศิษย์ นับตั้งแต่เวลานี้เป็นต้นไป พระพันธกิจของพระคริสตเจ้าและของพระจิตเจ้าก็กลับเป็นพันธกิจของพระศาสนจักร “พระบิดาทรงส่งเรามาฉันใด เราก็ส่งท่านทั้งหลายไปฉันนั้น” (ยน 20:22)

CCC ข้อ 1085 ในพิธีกรรมของพระศาสนจักร พระคริสตเจ้าทรงหมายถึงและบันดาลให้พระธรรมล้ำลึก ปัสกาของพระองค์เป็นปัจจุบัน ในช่วงเวลาที่ทรงพระชนม์อยู่ในโลกนี้ พระเยซูเจ้าทรงใช้การเทศน์สอนประกาศ และทรงใช้กิจการที่ทรงกระทำเกริ่นล่วงหน้าถึงพระธรรมล้ำลึกปัสกาของพระองค์ เมื่อเวลานั้นมาถึง พระองค์ทรงดำเนินพระชนมชีพเหตุการณ์หนึ่งเดียวที่ไม่ผ่านพ้นไปในประวัติศาสตร์ประการนี้ พระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์ ทรงถูกฝัง กลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตายและประทับอยู่เบื้องขวาของพระบิดา “เพียงครั้งเดียวตลอดไป” (รม 6:10; ฮบ 7:27; 9:12) เป็นเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของเรา แต่ก็เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว เหตุการณ์อื่นๆ ทุกอย่างในประวัติศาสตร์ก็เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวแล้วก็ผ่านไป ถูกเวลาอดีตกลืนหายไป แต่ตรงกันข้าม พระธรรมล้ำลึกปัสกาของพระคริสตเจ้าเท่านั้นไม่อาจคงอยู่ในอดีตเท่านั้นได้ ทั้งนี้ก็เพราะว่าพระองค์ได้สิ้นพระชนม์เพื่อทรงทำลายความตายของเรา และไม่ว่าพระคริสตเจ้าทรงเป็นอะไร ทรงกระทำหรือทนสิ่งใดเพื่อมวลมนุษย์ ล้วนมีส่วนนิรันดรภาพของพระเจ้าและดังนี้จึงอยู่เหนือกาลเวลาทั้งหลาย เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ เหตุการณ์ที่ทรงถูกตรึงบนไม้กางเขนและการกลับคืนพระชนมชีพคงอยู่ตลอดไปและดึงดูดทุกสิ่งมาหาชีวิต

CCC ข้อ 2746 พระเยซูเจ้าทรงอธิษฐานภาวนาเมื่อเวลาของพระองค์มาถึงแล้ว การอธิษฐานภาวนาของพระองค์ ซึ่งยาวที่สุดที่พระวรสารถ่ายทอดมาให้เรา ครอบคลุมแผนการการเนรมิตสร้างและแผนการความรอดพ้นทั้งหมดของพระเจ้า รวมทั้งการสิ้นพระชนม์และกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ด้วย การอธิษฐานภาวนาตามเวลาของพระเยซูเจ้ายังคงเป็นการอธิษฐานภาวนาของพระองค์อยู่เสมอ เช่นเดียวกับการเลี้ยงปัสกาของพระองค์ซึ่งแม้จะเกิดขึ้น “ครั้งเดียวตลอดไป” แล้วนั้น ก็ยังคงดำรงอยู่เป็นปัจจุบันในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของพระศาสนจักร


ยน 17:2-3 การมีส่วนร่วมในชีวิตของพระเจ้าหมายถึงการมีความสัมพันธ์แห่งความรักกับพระเจ้าโดยทางพระเยซูคริสตเจ้า ความรู้เกี่ยวกับพระคริสตเจ้าที่นำไปสู่ชีวิตนิรันดรนี้ไม่สามารถเป็นเพียงแค่ความรู้ทางวิชาการเท่านั้น แต่เป็นความรู้ที่เกิดจากมิตรภาพกับพระตรีเอกภาพที่สร้างขึ้นโดยการสวดภาวนาและกิจเมตตา

CCC ข้อ 217 พระเจ้าทรงความจริงเมื่อทรงเปิดเผยพระองค์ด้วย ความรู้ที่มาจากพระเจ้าเป็น “คำสั่งสอนที่ถูกต้อง” (มลค 2:6)*** พระองค์ทรงส่งพระบุตร “เข้ามาในโลก” ก็เพื่อให้พระบุตร “ทรงเป็นพยานถึงความจริง” (ยน 18:37) “เรารู้ว่าพระบุตรของพระเจ้าเสด็จมาแล้ว พระองค์ประทานความเข้าใจให้เราเพื่อเราจะได้รู้จักพระเจ้าแท้” (1 ยน 5:20)

CCC ข้อ 684 พระจิตเจ้าทรงเป็นพระองค์แรกที่ประทานพระหรรษทานเพื่อปลุกความเชื่อของเราและประทานชีวิตใหม่ซึ่งก็คือการรู้จักพระบิดาแต่พระองค์เดียวและผู้ที่พระบิดาทรงส่งมา คือพระเยซูคริสตเจ้าถึงกระนั้น พระจิตเจ้าทรงเป็นพระบุคคลสุดท้ายของพระตรีเอกภาพที่ทรงได้รับการเปิดเผย นักบุญเกรโกรีแห่งนาซีอันเซน ผู้มีสมญาว่า “นักเทววิทยา” อธิบายว่าการเปิดเผยตามลำดับเช่นนี้เป็นวิธีการสอนของที่พระเจ้าทรง “ปรับให้เข้ากับสภาพของเรามนุษย์”

             “พันธสัญญาเดิมประกาศสอนเรื่องบิดาอย่างเปิดเผย สอนเรื่องพระบุตรอย่างไม่ชัดเจนนัก พันธสัญญาใหม่แสดงพระบุตรให้เรารู้จักอย่างชัดเจน และชี้ให้เรารู้จักพระเทวภาพของพระจิตเจ้าอย่างไม่สู้จะชัดเจนนัก แต่บัดนี้พระจิตเจ้าเองเสด็จมาประทับอยู่กับเราและทรงเปิดเผยพระองค์แก่เราอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะไม่เป็นการรอบคอบที่จะประกาศเรื่องพระบุตรอย่างเปิดเผยขณะที่ยังไม่ได้ประกาศยืนยันพระเทวภาพของพระบิดา และถ้ายังไม่มีการยอมรับพระเทวภาพของพระบุตร การกล่าวเพิ่มเติมถึงพระจิตเจ้าก็จะเป็นเหมือนกับจะพูดว่าเป็นการเพิ่มภาระหนักกว่าให้เราแบก […] แต่การค่อยๆเข้าถึงและก้าวสูงขึ้นไปทีละน้อย ค่อยๆ ก้าวและเพิ่ม “ความชัดเจนให้มากยิ่งๆ ขึ้น” จะช่วยให้ความรู้เรื่องพระตรีเอกภาพได้ส่องแสงสว่างเจิดจ้าจริงๆ”

CCC ข้อ 1721 พระเจ้าทรงวางเราไว้ในโลกเพื่อให้เรารู้จักพระองค์ รับใช้พระองค์ และรักพระองค์ เพื่อเราจะได้บรรลุถึงสวรรค์ ความสุขแท้ทำให้เรา “มีส่วนร่วมในพระธรรมชาติของพระเจ้า” (2 ปต 1:4) และมีส่วนในชีวิตนิรันดร มนุษย์ย่อมเข้าไปรับพระสิริรุ่งโรจน์ของพระคริสตเจ้าและร่วมชีวิตของพระตรีเอกภาพพร้อมกับความสุขแท้

CCC ข้อ 1996 การรับความชอบธรรมของเรามาจากพระหรรษทานของพระเจ้า พระหรรษทานเป็นความโปรดปราน ความช่วยเหลือให้เปล่าที่พระเจ้าประทานแก่เรา เพื่อเราจะได้ตอบสนองการที่ทรงเรียกเราให้มาเป็นบุตรของพระเจ้า เป็นบุตรบุญธรรมของพระองค์ มีส่วนร่วมพระธรรมชาติพระเจ้า และชีวิตนิรันดร


ยน 17:4 งานแห่งการไถ่กู้ของพระคริสตเจ้า ซึ่งเป็นไปตามพระประสงค์ของพระบิดานั้นจะดำเนินต่อไปโดยทางพระศาสนจักรของพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาศัยการเฉลิมฉลองทางพิธีกรรมตราบจนสิ้นพิภพ

CCC ข้อ 1069 คำว่า “Liturgy – Liturgia” ที่เราแปลว่า “พิธีกรรม” นั้น ตามรากศัพท์หมายความว่า “งานสาธารณะ” ธรรมประเพณีของคริสตชนต้องการให้ “งานที่ทำในนามของประชาชน/เพื่อประชาชน” หมายถึงการที่ประชากรของพระเจ้ามีส่วนใน “งานของพระเจ้า” พระคริสตเจ้าพระผู้ไถ่และพระมหาสมณะ ของเรายังทรงงานกอบกู้พวกเราต่อไปโดยทางพิธีกรรมในพระศาสนจักร พร้อมกับพระศาสนจักร และอาศัยพระศาสนจักรของพระองค์


ยน 17:6-10 ส่วนสำคัญในการปฏิบัติภารกิจของพระคริสตเจ้า คือบรรดาศิษย์ของพระองค์ต้องเป็นประจักษ์พยานอย่างซื่อสัตย์ถึงอิสรภาพ ความชื่นชมยินดี และสันติสุขที่มาจากชีวิตพระของพระองค์เอง CCC ข้อ 432 พระนาม “เยซู” หมายความว่าพระนามของพระเจ้าเองอยู่ในพระบุคคลของพระบุตรของพระองค์ ผู้ทรงรับสภาพมนุษย์เพื่อทรงไถ่กู้มวลมนุษย์ให้พ้นจากบาป “เยซู” เป็นพระนามของพระเจ้า เป็นพระนามเดียวที่นำความรอดพ้นมาให้มนุษยชาติ ดังนั้นมนุษย์ทุกคนจึงเรียกหาพระนามนี้ได้ เพราะเมื่อทรงรับสภาพมนุษย์ พระองค์ทรงรวมเป็นหนึ่งเดียวกับมนุษย์ทุกคน จนว่าไม่มีนามอื่นใดอีกแล้ว “ใต้ฟ้านี้ที่พระเจ้าประทานแก่มนุษย์นอกจากนามนี้ที่ช่วยเราให้รอดพ้นได้”

(กจ 4:12)

CCC ข้อ 433 ในอดีต พระนามของพระเจ้าผู้ทรงช่วยให้รอดพ้นได้รับเรียกขานโดยมหาสมณะเพียงปีละครั้งเดียวเพื่อขออภัยบาปของประชากรอิสราเอล เมื่อเขาเข้าไปประพรมเลือดสัตว์ที่ฆ่าเป็นบูชาแล้วบนพระที่นั่งพระกรุณา พระที่นั่งพระกรุณาเป็นที่ประทับของพระเจ้า เมื่อนักบุญเปาโลกล่าวถึงพระเยซูเจ้าว่าทรงเป็นผู้ที่ “พระเจ้าทรงสถาปนาเป็นเครื่องบูชาชดเชยบาป […] โดยอาศัยการหลั่งโลหิต” (รม 3:25) ก็หมายความว่าอาศัยพระธรรมชาติมนุษย์ “พระเจ้าทรงทำให้โลกคืนดีกับพระองค์ในองค์พระคริสตเจ้า” (2 คร 5:19)

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)