แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันศุกร์ สัปดาห์ที่ 2 เทศกาลปัสกา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 6:1-15)  

หลังจากนั้น พระเยซูเจ้าเสด็จข้ามทะเลสาบกาลิลีหรือทิเบเรียส ประชาชนจำนวนมากตามพระองค์ไป เพราะเห็นเครื่องหมายอัศจรรย์ที่ทรงกระทำแก่ผู้เจ็บป่วย พระองค์เสด็จขึ้นไปบนภูเขา ประทับที่นั่นพร้อมกับบรรดาศิษย์ ขณะนั้นใกล้จะถึงวันฉลองปัสกาของชาวยิว

      พระเยซูเจ้าทรงเงยพระพักตร์ ทอดพระเนตรเห็นประชาชนจำนวนมากที่มาเฝ้า จึงตรัสกับฟีลิปว่า “พวกเราจะซื้อขนมปังที่ไหนให้คนเหล่านี้กิน” พระองค์ตรัสดังนี้เพื่อทดลองใจเขา แต่พระองค์ทรงทราบแล้วว่าจะทรงทำประการใด ฟีลิปทูลตอบว่า “ขนมปังสองร้อยเหรียญแจกให้คนละนิดก็ยังไม่พอ” ศิษย์อีกคนหนึ่ง คือ อันดรูว์ น้องของซีโมนเปโตรทูลว่า “เด็กคนหนึ่งที่นี่มีขนมปังบาร์เลย์ห้าก้อนกับปลาสองตัว ขนมปังและปลาเพียงเท่านี้จะพออะไรสำหรับคนจำนวนมากเช่นนี้” พระเยซูเจ้าตรัสว่า “จงบอกประชาชนให้นั่งลงเถิด” ที่นั่นมีหญ้าขึ้นอยู่ทั่วไป เขาจึงนั่งลง นับจำนวนผู้ชายได้ถึงห้าพันคน พระเยซูเจ้าทรงหยิบขนมปังขึ้น ทรงขอบพระคุณพระเจ้า แล้วทรงแจกจ่ายให้แก่ผู้ที่นั่งอยู่ตามที่เขาต้องการ พระองค์ทรงกระทำเช่นเดียวกันกับปลา เมื่อคนทั้งหลายอิ่มแล้ว พระองค์ตรัสแก่บรรดาศิษย์ว่า “จงเก็บเศษขนมปังที่เหลือ อย่าให้สิ่งใดสูญไปเปล่าๆ” บรรดาศิษย์จึงเก็บเศษขนมปังบาร์เลย์ห้าก้อนที่เหลือนั้นได้สิบสองกระบุง เมื่อคนทั้งหลายเห็นเครื่องหมายอัศจรรย์ที่ทรงทำก็พูดว่า “ท่านผู้นี้เป็นประกาศกแท้ซึ่งจะต้องมาในโลก” พระเยซูเจ้าทรงทราบว่าคนเหล่านั้นจะใช้กำลังบังคับพระองค์ให้เป็นกษัตริย์ จึงเสด็จไปบนภูเขาตามลำพังอีกครั้งหนึ่ง


ยน 6:1-15 พระวรสารในบทนี้เป็นพื้นฐานสำหรับเทววิทยาของศีลมหาสนิท ในพระวรสารสหทรรศ์ ความเชื่อมโยงระหว่างการทวีขนมปังและศีลมหาสนิท สามารถสันนิษฐานได้อย่างสมเหตุสมผล ในพระวรสารนักบุญยอห์น ความเชื่อมโยงนั้นชัดเจนและทำหน้าที่เป็นดั่งผู้มาล่วงหน้าของศีลมหาสนิท ในกรณีนี้ มีความไว้วางใจในพระคริสตเจ้าพร้อมกับความใจกว้างในการสละขนมปังห้าก้อน และปลาสองตัว บทเรียนตลอดกาลเกี่ยวกับการอัศจรรย์เกือบทั้งหมดของพระคริสตเจ้า เกี่ยวข้องกับการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างการกระทำด้วยความเชื่อ ซึ่งประกอบด้วยการมอบตนเองทั้งครบ และการใช้อำนาจจากพระเจ้า

CCC ข้อ 549 เมื่อพระเยซูเจ้าทรงทำเครื่องหมายอัศจรรย์ที่แสดงว่าทรงเป็นพระเมสสิยาห์ ช่วยให้บางคนพ้นจากความชั่วร้ายในโลก เช่นความหิว ความอยุติธรรม โรคภัยไข้เจ็บและความตาย ถึงกระนั้นพระองค์ก็ไม่ได้เสด็จมาเพื่อทำลายความชั่วร้ายทั้งหมดในแผ่นดิน แต่เสด็จมาเพื่อช่วยมนุษย์ให้พ้นจากการเป็นทาสที่เลวร้ายที่สุด นั่นคือการเป็นทาสของบาป ซึ่งเป็นอุปสรรคขัดขวางเขาที่ได้รับเรียกให้เป็นบุตรของพระเจ้าและเป็นสาเหตุของการเป็นทาสทุกรูปแบบของมนุษย์

CCC ข้อ 1338 พระวรสารสหทรรศน์ทั้งสามฉบับและนักบุญเปาโลเล่าเรื่องการตั้งศีลมหาสนิทถ่ายทอดไว้ให้เราทราบ ส่วนนักบุญยอห์นกล่าวถึงพระวาจาของพระเยซูเจ้าในศาลาธรรมที่เมืองคาเปอร์นาอุมพระวาจาเหล่านี้เตรียมทางไว้สำหรับการตั้งศีลมหาสนิท พระคริสตเจ้าตรัสถึงพระองค์ว่าทรงเป็นขนมปัง/อาหารให้ชีวิตที่ลงมาจากสวรรค์


ยน 6:4 อัศจรรย์นี้เกิดขึ้นในช่วงประมาณเทศกาลปัสกา และข้อเท็จจริงที่ยอห์นกล่าวถึงในที่นี้ แสดงถึงความเชื่อมโยงระหว่างงานเลี้ยงของชาวยิว กับความสำเร็จและความสมบูรณ์สูงสุดในศีลมหาสนิทซึ่งเป็นปัสกาใหม่

CCC ข้อ 1335  อัศจรรย์การทวีขนมปัง เมื่อองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงถวายพระพร บิขนมปังและทรงให้บรรดาศิษย์นำไปแจกเพื่อเลี้ยงประชาชนนั้น เป็นภาพล่วงหน้าของความอุดมสมบูรณ์ของขนมปังศีลมหาสนิทหนึ่งเดียวของพระองค์นี้ เครื่องหมายอัศจรรย์ที่ทรงเปลี่ยนน้ำให้เป็นเหล้าองุ่นที่หมู่บ้านคานาก็ประกาศถึงการรับพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเยซูเจ้าแล้ว เครื่องหมายอัศจรรย์นี้แสดงถึงความสำเร็จเป็นจริงอย่างสมบูรณ์ของงานเลี้ยงวิวาห์มงคลในพระอาณาจักรของพระบิดา ในงานเลี้ยงนี้บรรดาผู้มีความเชื่อจะดื่มเหล้าองุ่นใหม่ที่เปลี่ยนเป็นพระโลหิตของพระคริสตเจ้าแล้ว


ยน 6:11 รูปแบบที่แสดงในที่นี้ ใกล้เคียงกับคำอธิบายในพระวรสารสหทรรศ์ เกี่ยวกับการกระทำของพระคริสตเจ้าในงานเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้าย ที่ซึ่งพระองค์ทรงสถาปนาศีลมหาสนิท (เทียบ มธ 26:26; มก 14:22; ลก 22:19) ขอบพระคุณ : คำนี้ในภาษากรีกคือ eucharistesas มาจาก “ ศีลมหาสนิท”

CCC ข้อ 1360 พิธีบูชาขอบพระคุณเป็นการถวายบูชาขอบพระคุณแด่พระบิดา เป็นการถวายพระพรที่พระศาสนจักรใช้เพื่อแสดงความขอบพระคุณสำหรับพระพรต่างๆที่ได้รับจากพระองค์ สำหรับทุกสิ่งที่พระองค์ทรงกระทำโดยการเนรมิตสร้าง การกอบกู้และการบันดาลความศักดิ์สิทธิ์ คำว่า “Eucharistia” ก่อนอื่นหมดหมายความว่า “การขอบพระคุณ”


ยน 6:15 พระเยซูทรงถอนตัว: ประชาชนสรรเสริญพระคริสตเจ้าเพราะการอัศจรรย์ของพระองค์ แต่พวกเขาพยายามที่จะทำให้พระองค์เป็นกษัตริย์ชั่วคราวเพื่อที่จะจัดหาสิ่งที่จำเป็นสำหรับพวกเขา อาทิเช่น กำลังทหารและปลดปล่อยชาวยิวจากการปกครองของโรมัน พระคริสตเจ้าทรงออกจากที่นี้ ก่อนที่การกระทำนี้จะเกิดขึ้น แม้ว่าพระองค์จะเป็นกษัตริย์ แต่อาณาจักรของพระองค์ก็ไม่ได้เป็นของโลกนี้

CCC ข้อ 439 ชาวยิวจำนวนมาก และแม้แต่ชนต่างชาติบางคนที่ร่วมความหวังของชาวยิว ยอมรับคุณลักษณะพื้นฐานของพระเมสสิยาห์ในองค์พระเยซูเจ้า คือการที่ทรงเป็น “พระโอรสของกษัตริย์ดาวิด” ที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้กับอิสราเอล พระเยซูเจ้าทรงยอมรับตำแหน่งพระเมสสิยาห์ตามสิทธิที่ทรงมี แต่ก็ยังคงสงวนท่าที เพราะผู้ร่วมสมัยของพระองค์หลายคนเข้าใจตำแหน่งนี้ตามความเข้าใจแบบมนุษย์มากเกินไป คือเข้าใจตามความหมายทางการเมืองโดยเฉพาะ

CCC ข้อ 559 กรุงเยรูซาเล็มจะต้อนรับพระเมสสิยาห์ของตนอย่างไร พระเยซูเจ้าผู้ทรงหลีกเลี่ยงอยู่เสมอไม่ให้ประชาชนพยายามต้องการจะแต่งตั้งพระองค์เป็นกษัตริย์ ทรงเลือกเวลาเสด็จอย่างพระเมสสิยาห์เข้าในนคร “ของกษัตริย์ดาวิดบรรพบุรุษของพระองค์” (ลก 1:32) และทรงจัดเตรียมการเสด็จเข้านี้โดยละเอียด พระองค์ทรงรับการโห่ร้องต้อนรับดุจพระโอรสของกษัตริย์ดาวิด เหมือนผู้นำความรอดพ้นมาให้ (คำว่า “โฮซานนา” แปลว่า “จงช่วยให้รอดพ้นเถิด”) แต่บัดนี้ “กษัตริย์ผู้ทรงพระสิริรุ่งโรจน์” (สดด 24:7-10) “ประทับบนหลังลา” (ศคย 9:9) เสด็จเข้านครของพระองค์ ทรงพิชิตธิดาแห่งศิโยน ซึ่งเป็นภาพของ  พระศาสนจักรมาอยู่ใต้พระอานุภาพ มิใช่ด้วยกลอุบายหรือความรุนแรง แต่ด้วยความถ่อมตนซึ่งเป็นพยานถึงความจริง เพราะเหตุนี้ ในวันนั้นพวกเด็กๆ และ “ผู้ยากจนของพระเจ้า” ซึ่งโห่ร้องต้อนรับพระองค์เหมือนกับที่บรรดาทูตสวรรค์เคยแจ้งข่าวแก่พวกคนเลี้ยงแกะ จะเป็นผู้อยู่ใต้ปกครองของพระอาณาจักรพระศาสนจักรจะนำคำโห่ร้องของพวกเด็กๆ เหล่านี้ที่ว่า “ท่านผู้มาในพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้าจงได้รับพระพร” (สดด 118:26) มาขับร้องอีกในบท “Sanctus [ศักดิ์สิทธิ์]” ของพิธีบูชาขอบพระคุณเพื่อเริ่มต้นการระลึกถึงงานฉลองปัสกาขององค์พระผู้เป็นเจ้า

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)