แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

ข้อคิดข้อรำพึง

อาทิตย์ที่ 2 เทศกาลปัสกา ปี B

“พระองค์ทรงสำแดงพระหัตถ์และด้านข้างพระวรกายแก่บรรดาศิษย์”

2 Easter 2

 นักบุญ ยอห์น ปอล ที่ 2  พระสันตะปาปา  ได้สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 2 เมษายน ค.ศ. 2005  พระองค์ได้ทรงปกครองพระศาสนจักรคาทอลิกเกือบ 27 ปี พระองค์เป็นพระสันตะปาปาที่ทรงรักการเดินทาง  ทรงเฉียดความตายหลายครั้ง  ในช่วงต้นสมณสมัยของพระองค์ทรงถูกลอบปลงพระชนม์ (ปี ค.ศ. 1981) ทรงถูกพบว่าเป็นมะเร็งในลำไส้ใหญ่ ในปี 1992 ทรงทนทุกข์จากอาการบาดเจ็บที่ไหล่และสะโพก ในปี 1992 และ 1993 ทรงได้รับการผ่าตัดไส้ติ่งปี 1996 และในปี 2001 พระองค์ต้องทรงทนทุกข์ทรมานจากโรคพาร์กินสัน  ช่วงบั้นปลายพระชนม์ทรงได้รับความเจ็บปวดอย่างเห็นได้ชัด  แต่พระองค์ทรงนำความเจ็บปวดของพระองค์หลอมให้เป็นหนึ่งเดียวกับของพระเยซูคริสตเจ้า  และทรงอดทนด้วยความสงบ

 วันหนึ่ง ผู้สื่อข่าวคนหนึ่งถามพระองค์ว่า  “พระบิดรผู้ศักดิ์สิทธิ์  โปรดอภัยในความบ้าบิ่นของผม  พระองค์ก็อายุมากแล้ว  พระหัตถ์ก็สั่นด้วยโรคพาร์กินสัน  พระสุรเสียงก็แหบเบาจนแทบไม่ได้ยิน  และการเดินก็ลำบาก  พระองค์คงจะต้องทรงทนทุกข์ทรมานมาก  และก็ทรงงานไม่ได้เต็มที่  ทำไมพระองค์ไม่ทรงลาออกเพื่อพักผ่อน  และเปิดทางให้คนอื่นๆ รับหน้าที่นี้แทน”

2 Easter 1

 พระสันตะปาปาตรัสตอบว่า  “ถ้าพระเยซูเจ้าทรงลงจากกางเขนเมื่อไร  ฉันก็จะลงจากหน้าที่ด้วย  แต่เนื่องจากว่าพระองค์ยังทรงอยู่บนกางเขน  และทรงรับความทรมาน  ฉันก็จะยังรับผิดชอบในหน้าที่ต่อไป  และรับความทรมานด้วย”

 

 การทนรับความทุกข์ทรมานซึ่งพระองค์ทรงรับเพื่อเห็นแก่ความรักต่อพระคริสตเจ้า  และประชากรที่พระคริสตเจ้าทรงมอบไว้ให้พระองค์  ความทุกข์ทรมานของพระสันตะบิดรเป็นสิ่งเดียวกับความรักของพระองค์นั่นเอง

 

 ในพระวรสารของวันนี้  เราได้ยินเรื่องที่พระเยซูเจ้าทรงแสดงบาดแผลของพระองค์ให้แก่บรรดาศิษย์  ทรงแสดงรอยแผลที่พระหัตถ์  และที่ด้านข้างพระวรกายซึ่งถูกตอกด้วยตะปู  และถูกแทงด้วยหอก  พระเยซูเจ้าแม้กลับคืนพระชนมชีพแล้ว  ยังคงเก็บรักษารอยแผลไว้  อันที่จริงบัดนี้พระองค์ทรงมีพระกายทิพย์  จะลบรอยบาดแผลนี้ให้หายไปเลยก็ได้  แต่ยังทรงเก็บรักษาไว้เพราะ :

 

 รอยแผลเหล่านี้แสดงถึงเอกลักษณ์ของพระองค์  คือ ศิษย์เห็นก็รู้ได้ทันทีว่าเป็นพระองค์นั่นเองที่เทศนาข่าวดีอยู่ 3 ปี ที่ทรงถูกจับกุม ถูกทำทรมาน และถูกตรึงกางเขน บาดแผลของพระองค์เป็นความเชื่อมโยงที่ชัดเจนระหว่างพระเยซูเจ้าก่อนสิ้นพระชนม์ และพระเยซูเจ้าหลังกลับฟื้นคืนพระชนม์แล้ว

 

 รอยแผลเหล่านี้แสดงถึงความรักของพระองค์  พระเยซูเจ้าเคยตรัสว่า “นายชุมพาที่ดีต้องยอมสละชีวิตเพื่อฝูงแกะ” และสิ่งที่ทรงกระทำไป ไม่ใช่ทรงทำไปเพราะถูกบังคับ แต่ทรงทำไปเพราะความรัก รอยแผลเหล่านี้เป็นเครื่องหมายแห่งความรักของพระองค์ มันเป็นสิ่งเดียวกับความรักของพระองค์

 

 โทมัสพลาดไปที่ไม่ได้อยู่กับบรรดาศิษย์คนอื่นๆ  เมื่อพระองค์ทรงประจักษ์กับพวกเขาในครั้งแรก เพื่อแสดงให้เห็นถึงรอยแผลของพระองค์  เพื่อแสดงให้เห็นถึงความรักของพระองค์  เพื่อแสดงให้เห็นถึงการมอบองค์เป็นยัญบูชาเพื่อชาวเรา  เขาไม่เห็นและไม่เชื่อ  เขาต้องการพิสูจน์  และการจะพิสูจน์เอกลักษณ์ของพระองค์ให้รู้แจ้งเห็นจริงก็ขึ้นอยู่กับรอยแผลของพระองค์ ถ้าไม่ได้เอานิ้วแยงลงไป ก็จะไม่เชื่อ

 

 เขาต้องรอถึงหนึ่งสัปดาห์  เพราะครั้งแรกที่ทรงประจักษ์เป็นตอนค่ำของวันต้นสัปดาห์  ก็ต้องรอจนถึงวันต้นสัปดาห์อีกครั้งหนึ่ง  เพราะนักบุญยอห์นผู้นิพนธ์พระวรสารต้องการบอกเป็นนัยว่า  หลังกลับฟื้นคืนพระชนมชีพแล้ว  เราอยู่ในห้วงเวลาใหม่ วันใหม่ เดือนใหม่ ปีใหม่  เราเป็นมนุษย์ใหม่  สิ่งสร้างใหม่ และโทมัสก็ได้เห็นรอยแผล  บัดนี้เขาได้เชื่อแล้ว  เขาประกาศว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า และพระเจ้าของข้าพเจ้า”  ท่านยอห์นผู้นิพนธ์พระวรสารต้องการให้ตอนนี้ซึ่งเป็นตอนจบพระวรสารประกาศอย่างสง่าว่า “ท่านทั้งหลายจะได้เชื่อว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระเจ้า”  และตอนจบนี้ก็ไปตรงกับตอนเริ่มต้นพระวรสารของท่านอย่างตั้งใจว่า  “เมื่อแรกเริ่มนั้นพระวจนาตถ์ทรงดำรงอยู่แล้ว…และพระวจนาตถ์เป็นพระเจ้า”

 

 พี่น้องเชื่อหรือยังครับว่า พระเยซูเจ้าทรงเป็นพระเจ้า แม้ไม่ได้เห็นเหมือนโทมัส แต่ถือว่ามีบุญอย่างยิ่ง

 

( คุณพ่อ วิชา  หิรัญญการ เขียนลงสารวัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา วันอาทิตย์ที่ 15 เมษายน ค.ศ. 2012

Based on :  John's Sunday Homilies,  Cycle - B ;  by John  Rose )

2 Easter 32 Easter 42 Easter 52 Easter 62 Easter 7