วันพฤหัสบดี สัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ 

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 13:1-15)

ก่อนวันฉลองปัสกา พระเยซูเจ้าทรงทราบว่าถึงเวลาแล้วที่จะทรงจากโลกนี้ไปเฝ้าพระบิดา พระองค์ทรงรักผู้ที่เป็นของพระองค์ซึ่งอยู่ในโลกนี้ พระองค์ทรงรักเขาจนถึงที่สุด

      ระหว่างการเลี้ยงอาหารค่ำ ปีศาจดลใจยูดาสอิสคาริโอทบุตรของซีโมนให้ทรยศต่อพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงทราบว่าพระบิดาประทานทุกสิ่งไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์แล้ว และทรงทราบว่าพระองค์ทรงมาจากพระเจ้าและกำลังเสด็จกลับไปหาพระเจ้า จึงทรงลุกขึ้นจากโต๊ะ ทรงถอดเสื้อคลุมออกวางไว้ ทรงใช้ผ้าเช็ดตัวคาดสะเอว แล้วทรงเทน้ำลงในอ่าง ทรงเริ่มล้างเท้าบรรดาศิษย์และทรงใช้ผ้าที่คาดสะเอวเช็ดให้

      เมื่อเสด็จมาถึงซีโมนเปโตร เขาทูลพระองค์ว่า “พระเจ้าข้า พระองค์จะทรงล้างเท้าของข้าพเจ้าหรือ” พระเยซูเจ้าตรัสตอบเขาว่า “สิ่งที่เราทำอยู่ขณะนี้ ท่านยังไม่เข้าใจ แต่จะเข้าใจในภายหลัง” เปโตรทูลว่า “ข้าพเจ้าไม่ยอมให้พระองค์ล้างเท้าข้าพเจ้า” พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า ”ถ้าท่านไม่ให้เราล้าง ท่านจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรา” ซีโมนเปโตรทูลว่า “พระเจ้าข้า อย่าทรงล้างเฉพาะเท้าเท่านั้น แต่ล้างทั้งมือและศีรษะด้วย” พระเยซูเจ้าตรัสว่า “ผู้ที่อาบน้ำแล้วก็ไม่จำเป็นต้องล้างอะไรอีกนอกจากเท้า เขาสะอาดทั้งตัวแล้วท่านทั้งหลายก็สะอาดอยู่แล้ว แต่ไม่ทุกคน” ทั้งนี้ทรงทราบว่า ใครกำลังทรยศต่อพระองค์ จึงตรัสว่า “ท่านทั้งหลายสะอาด แต่ไม่ทุกคน”

      เมื่อทรงล้างเท้าของบรรดาศิษย์เสร็จแล้ว พระเยซูเจ้าทรงสวมเสื้อคลุมอีกครั้งหนึ่ง เสด็จกลับไปที่โต๊ะ ตรัสว่า “ท่านเข้าใจไหมว่าเราทำอะไรให้ท่าน ท่านทั้งหลายเรียกเราว่าอาจารย์และองค์พระผู้เป็นเจ้า ก็ถูกแล้ว เพราะเราเป็นอย่างนั้นจริงๆ ในเมื่อเราซึ่งเป็นทั้งองค์พระผู้เป็นเจ้าและอาจารย์ยังล้างเท้าให้ท่าน ท่านก็ต้องล้างเท้าให้กันและกันด้วย เราวางแบบอย่างไว้ให้แล้ว ท่านจะได้ทำเหมือนกับที่เราทำกับท่าน”


ยน 13:1-20 ตามปกติการล้างเท้าผู้มาเยือนเป็นหน้าที่ของทาสในบ้าน บทเรียนที่พระคริสตเจ้าพยายามถ่ายทอดแก่บรรดาอัครสาวกของพระองค์คือ การกระทำที่ได้ผลมากที่สุดย่อมมาจากจิตตารมณ์อันลึกซึ้งแห่งการรับใช้ที่ไม่มีขอบเขตจำกัด พระคริสตเจ้าทรงเป็นแบบอย่างของเรา แม้)พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าผู้ทรงถ่อมพระองค์มารับสภาพมนุษย์เช่นเดียวกับเราเพื่อรับใช้เราและช่วยเราให้พ้นจากบาป พิธีล้างเท้าเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมในวันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์

CCC ข้อ 423 เราเชื่อและประกาศว่าพระเยซูเจ้าจากเมืองนาซาเร็ธ ซึ่งทรงถือกำเนิดเป็นชาวยิวจากธิดาแห่งอิสราเอลที่เมืองเบธเลเฮม ในรัชสมัยของกษัตริย์เฮโรดมหาราชและพระจักรพรรดิซีซาร์ออกัสตัสที่ 1 มีอาชีพเป็นช่างไม้ ได้สิ้นพระชนม์โดยทรงถูกตรึงบนไม้กางเขนที่กรุงเยรูซาเล็ม ขณะที่ปอนติอัสปีลาตเป็นข้าหลวงปกครองในรัชสมัยพระจักรพรรดิทีเบริอัส ทรงเป็นพระบุตรนิรันดรของพระเจ้าผู้ทรงรับธรรมชาติมนุษย์ “พระองค์ทรงมาจากพระเจ้า” (ยน 13:3) “เสด็จลงมาจากสวรรค์” (ยน 3:13; 6:33) มารับสภาพมนุษย์ เพราะ “พระวจนาตถ์ทรงรับสภาพมนุษย์และเสด็จมาประทับอยู่ท่ามกลางเรา เราได้เห็นพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ เป็นพระสิริรุ่งโรจน์ที่ทรงรับจากพระบิดาในฐานะพระบุตรเพียงพระองค์เดียว เปี่ยมด้วยพระหรรษทานและความจริง [.....] และจากความไพบูลย์ของพระองค์ เราทุกคนได้รับพระหรรษทานต่อเนื่องกัน” (ยน 1:14,16)

CCC ข้อ 2235 ผู้มีอำนาจปกครองต้องใช้อำนาจนั้นเพื่อรับใช้สังคม “ในหมู่ท่านทั้งหลาย ผู้ที่ปรารถนาจะเป็นใหญ่จะต้องทำตนเป็นผู้รับใช้” (มธ 20:26) การใช้อำนาจปกครองในฐานะที่สืบเนื่องมาจากพระเจ้า ต้องได้รับการควบคุมด้านศีลธรรมโดยธรรมชาติตามเหตุผลและจุดประสงค์เจาะจงของอำนาจนั้นไม่มีใครอาจสั่งหรือกำหนดให้ทำสิ่งที่ขัดกับศักดิ์ศรีของบุคคลและกฎธรรมชาติได้


ยน 13:1 อาหารค่ำมื้อสุดท้ายที่พระคริสตเจ้าทรงรับประทานกับบรรดาอัครสาวกนั้นเกิดขึ้นในบริบทของงานเลี้ยงปัสกา การเชื่อมโยงที่มีความหมาย: ปัสกาแรกได้ทำให้ชาวอิสราเอลได้รับอิสรภาพฉันใด พระมหาทรมาน การสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าย่อมทำให้มนุษยชาติได้เป็นฉันนั้น พระองค์ทรงรักเขาจนถึงที่สุด : ความรักของพระคริสตเจ้าที่มีต่อประชาชนของพระองค์มาถึงจุดที่เพิ่มมากขึ้นโดยเริ่มจากการล้างเท้าของบรรดาอัครสาวก และในที่สุดโดยทางพระมหาทรมานและการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน นี่แหละคือความรักเที่ยงแท้ "จนถึงที่สุด" ด้วยการให้ชีวิตของพระองค์ ซึ่งทำให้การพลีบูชาของพระองค์มีค่าสำหรับการไถ่กู้  ความรักอันยิ่งใหญ่นี้ยังคงอยู่กับเราต่อไปในลักษณะพิเศษ โดยทางศีลมหาสนิท ซึ่งทำให้การพลีบูชาแห่งการไถ่กู้ของพระคริสตเจ้าคงอยู่ท่ามกลางเราอย่างแท้จริง นอกนั้นเรายังได้สัมผัสกับความรักและความเมตตาที่ไม่สิ้นสุดของพระองค์ในศีลแห่งการคืนดีอีกด้วย การสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนของพระองค์ทำให้พระบัญญัติใหม่ที่พระองค์ประทานให้กับบรรดาศิษย์สมบูรณ์แบบ

CCC ข้อ 609 พระเยซูเจ้าทรงรับความรักของพระบิดาต่อมวลมนุษย์มาไว้ในพระหทัยมนุษย์ของพระองค์ “ทรงรักเขาจนถึงที่สุด” (ยน 13:1) เพราะ “ไม่มีใครมีความรักยิ่งใหญ่กว่าการสละชีวิตของตนเพื่อมิตรสหาย” (ยน 15:13) ดังนี้ พระธรรมชาติมนุษย์ของพระองค์จึงถูกใช้ในพระทรมานและการสิ้นพระชนม์เป็นดังเครื่องมืออิสระและสมบูรณ์แสดงความรักของพระเจ้าที่ต้องการช่วยมนุษย์ให้รอดพ้น โดยแท้จริงแล้ว พระองค์ทรงยอมรับพระทรมานและสิ้นพระชนม์โดยอิสระเสรีเพราะความรักที่ทรงมีต่อพระบิดาและต่อมนุษย์ที่ทรงประสงค์จะช่วยให้รอดพ้น “ไม่มีใครเอาชีวิตไปจากเราได้ แต่เราเองสมัครใจสละชีวิตนั้น” (ยน 10:18) ดังนี้จึงเป็นเสรีภาพสูงสุดของพระบุตรพระเจ้า เมื่อพระองค์เสด็จออกไปเผชิญหน้ากับความตาย

CCC ข้อ 616 ความรัก “จนถึงที่สุด” นี้ทำให้การถวายบูชาของพระคริสตเจ้ามีคุณค่าเป็นการไถ่กู้ แก้ไข ชดเชย และใช้โทษ พระองค์ทรงรู้จักและรักเราทุกคนเมื่อทรงถวายชีวิตของพระองค์ “ความรักของพระคริสตเจ้าผลักดันเรา เราแน่ใจว่าถ้าคนหนึ่งตายเพื่อทุกคน ก็เหมือนกับว่าทุกคนได้ตายด้วย” (2 คร 5:14) ไม่มีมนุษย์คนใด แม้จะศักดิ์สิทธิ์ที่สุด อาจรับเอาบาปของมนุษย์ทุกคนมาไว้กับตนและถวายตนเป็นเครื่องบูชาสำหรับทุกคนได้ การที่พระบุคคลพระเจ้าของพระบุตรสถิตในพระคริสตเจ้า อยู่เหนือและรวมบุคคลมนุษย์ทุกคนไว้เช่นนี้ แต่งตั้งให้พระองค์ทรงเป็นศีรษะของมวลมนุษยชาติ ทำให้การถวายบูชาของพระองค์สามารถกอบกู้มนุษย์ทุกคนได้

CCC ข้อ 622 งานไถ่กู้ของพระคริสตเจ้าอยู่ที่นี่คือ “พระองค์เสด็จมา […] เพื่อมอบชีวิตของพระองค์เพื่อมนุษย์ทั้งหลาย” (มธ 20:28) นั่นคือ “พระองค์ทรงรักผู้ที่เป็นของพระองค์ […] จนถึงที่สุด” (ยน 13:1) เพื่อเขาจะได้รับการไถ่กู้หลุดพ้นจากวิถีชีวิตไร้ค่าที่สืบมาจากบรรพบุรุษ

CCC ข้อ 1380 เป็นการเหมาะสมอย่างยิ่งที่พระคริสตเจ้าจะทรงประสงค์ประทับอยู่กับพระศาสนจักรของพระองค์ด้วยวิธีการพิเศษนี้ เนื่องจากว่าพระคริสตเจ้าในรูปแบบที่เราแลเห็นได้นี้กำลังจะทรงละทิ้งบรรดาศิษย์ของพระองค์ไป พระองค์ทรงประสงค์จะประทานการประทับอยู่ในรูปแบบของศีลศักดิ์สิทธิ์ไว้ให้เรา เนื่องจากกำลังจะทรงถวายพระองค์บนไม้กางเขนเพื่อช่วยเราให้รอดพ้น พระองค์ก็ทรงประสงค์ให้เรามีสิ่งเตือนใจถึงความรักที่ทรงมีต่อเราว่า “ทรงรักจนถึงที่สุด” (ยน 13:1) จนประทานชีวิตของพระองค์ให้เรา จริงแล้ว เมื่อประทับอยู่ในศีลมหาสนิท พระองค์ประทับอยู่ในหมู่เราด้วยวิธีการล้ำลึกเหมือนกับที่ทรงรักเราและทรงมอบพระองค์เพื่อเรา พระองค์ประทับอยู่ภายใต้เครื่องหมายที่แสดงถึงและแบ่งปันความรักนี้“พระศาสนจักรและโลกนี้ต้องการคารวกิจต่อศีลมหาสนิทอย่างมาก พระเยซูเจ้าทรงคอยพวกเราอยู่ในศีลแห่งความรักประการนี้ เราอย่าผัดเวลาที่จะเข้ามาพบและนมัสการพระองค์ด้วยความเชื่ออย่างเต็มเปี่ยมและพร้อมที่จะชดเชยความผิดหนักและอาชญากรรมของโลก ขออย่าให้การนมัสการของเราขาดหายไปเลย”

CCC ข้อ 1823 พระเยซูเจ้าทรงทำให้ความรักเป็นบัญญัติใหม่ของพระองค์ พระองค์ทรงรักบรรดาศิษย์ของพระองค์ “จนถึงที่สุด” (ยน 13:1) ทรงแสดงความรักของพระบิดาที่ทรงรับมา เมื่อบรรดาศิษย์รักกัน เขาก็ประพฤติตามแบบความรักของพระเยซูเจ้าที่เขารับเข้ามาในตนด้วย ดังนั้น พระเยซูเจ้าจึงตรัสว่า “พระบิดาทรงรักเราอย่างไร เราก็รักท่านทั้งหลายอย่างนั้น จงดำรงอยู่ในความรักของเราเถิด” (ยน 15:9) และยังตรัสอีกว่า “นี่คือบทบัญญัติของเรา ให้ท่านทั้งหลายรักกันเหมือนดังที่เรารักท่าน” (ยน 15:12)


ยน 13:10 ผู้ที่อาบน้ำแล้ว : อาจเป็นการอ้างอิงถึงศีลล้างบาป ไม่ว่าบาปใดๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากการรับศีลล้างบาปแล้วนั้น เรียกร้องการรับศีลแห่งการอภัยบาปและการคืนดี

CCC ข้อ 1446 พระคริสตเจ้าทรงตั้งศีลอภัยบาปนี้สำหรับสมาชิกที่ได้ทำบาปทุกคนของพระศาสนจักรของพระองค์ โดยเฉพาะสำหรับสมาชิกที่ได้ตกในบาปหนักหลังจากได้รับศีลล้างบาปแล้ว และดังนี้จึงได้สูญเสียพระหรรษทานแห่งศีลล้างบาปและทำให้ความสัมพันธ์ในพระศาสนจักรมีบาดแผล ศีลอภัยบาปให้โอกาสใหม่แก่คนเหล่านี้ที่จะกลับใจและรับพระหรรษทานที่บันดาลความชอบธรรมได้อีก บรรดาปิตาจารย์ของพระศาสนจักรกล่าวถึงศีลนี้ว่าเป็นเสมือน “ท่อนไม้อีกท่อนหนึ่งหลังจากเรืออัปปาง” ที่นำพระหรรษทานความรอดพ้นที่สูญเสียไปแล้วกลับมาอีก


ยน 13:12-15 การล้างเท้าบรรดาอัครสาวกของพระองค์ เป็นตัวอย่างที่น่าพิศวงของการรับใช้แบบไม่เห็นแก่ตัว ซึ่งพระคริสตเจ้าทรงคาดหวังจากผู้ติดตามของพระองค์ ท่านทั้งหลายเรียกเรา…เพราะเราเป็นอย่างนั้นจริงๆ : พระคริสตเจ้าทรงกล่าวถึงพระองค์เองอย่างชัดเจน ด้วยพระนามว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า” ซึ่งยืนยันถึงความเป็นพระเจ้าของพระองค์

CCC ข้อ 447 เมื่อทรงโต้เถียงกับชาวฟาริสีถึงความหมายของเพลงสดุดีบทที่ 110 พระเยซูเจ้าก็ตรัสเป็นนัยว่าพระองค์ทรงตำแหน่งนี้ แต่ยังตรัสถึงเรื่องนี้อย่างชัดเจนกับบรรดาอัครสาวก ตลอดช่วงเวลาที่ทรงเทศน์สอนประชาชน พระองค์ทรงสำแดงให้ทุกคนเห็นว่าทรงอำนาจเหมือนพระเจ้าเหนือธรรมชาติ เหนือโรคภัยไข้เจ็บ เหนือปีศาจ เหนือความตายและบาป

CCC ข้อ 520 ตลอดพระชนมชีพของพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์เป็นแบบฉบับของเรา พระองค์ทรงเป็น “มนุษย์ครบครัน” และทรงเชื้อเชิญเราให้เป็นศิษย์ติดตามพระองค์ พระองค์ประทานแบบฉบับให้เราปฏิบัติตามโดยการถ่อมพระองค์ ทรงอธิษฐานภาวนาเป็นตัวอย่างการอธิษฐานภาวนา ทรงเรียกเราให้เอาอย่างความยากจนของพระองค์โดยยอมรับความขัดสนและการถูกเบียดเบียน

CCC ข้อ 1269 ผู้ที่รับศีลล้างบาปแล้วเป็นสมาชิกของพระศาสนจักร จึงไม่เป็นของตนเองอีกต่อไป แต่มีชีวิตอยู่เพื่อพระองค์ผู้ได้สิ้นพระชนม์และทรงกลับคืนพระชนมชีพเพื่อเรา ตั้งแต่นี้ไป เขาจึงได้รับเรียกมาเพื่ออยู่ใต้อำนาจของผู้อื่น รับใช้เขาในความสนิทสัมพันธ์ของพระศาสนจักรและเพื่อ “เชื่อฟังและอยู่ใต้อำนาจ” ของผู้ปกครองพระศาสนจักรให้ความเคารพและความรักแก่ท่านเหล่านี้ ศีลล้างบาปเป็นบ่อเกิดความรับผิดชอบและหน้าที่ฉันใด ผู้ที่รับศีลล้างบาปแล้วย่อมมีสิทธิต่างๆ ในพระศาสนจักรด้วยฉันนั้น คือสิทธิที่จะรับศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ สิทธิที่จะรับพระวาจาของพระเจ้าเป็นอาหารเลี้ยงชีวิตและรับความช่วยเหลือฝ่ายจิตอื่นๆ จากพระศาสนจักร

CCC ข้อ 1694 คริสตชนซึ่งได้ร่วมเป็นกายเดียวกันกับพระคริสตเจ้าอาศัยศีลล้างบาป ได้ตายจากบาปแล้ว และดำเนินชีวิตเพื่อพระเจ้าในพระคริสตเยซู ดังนี้จึงมีส่วนร่วมชีวิตของพระองค์ผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วด้วย ขณะที่กำลังติดตามพระคริสตเจ้าและชิดสนิทกับพระองค์ คริสตชนอาจพยายามที่จะเป็นเหมือนพระเจ้าในฐานะบุตรสุดที่รักและดำเนินชีวิตในความรัก ทำให้ความคิด คำพูดและการกระทำของตนสอดคล้องกับของพระองค์ เพื่อจะได้มีความรู้สึกในตนเองเช่นเดียวกับที่มีอยู่ในพระคริสตเยซูและปฏิบัติตามแบบฉบับของพระองค์

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)