แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันเสาร์ สัปดาห์ที่ 5 เทศกาลมหาพรต

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 11:45-57)    

เวลานั้น ชาวยิวหลายคนที่มาเยี่ยมมารีย์ และเห็นสิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำ ก็เชื่อในพระองค์ แต่บางคนไปพบชาวฟาริสี เล่าเรื่องที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำให้ฟัง บรรดาหัวหน้าสมณะและชาวฟาริสีจึงเรียกประชุมสภา ปรึกษากันว่า “พวกเราจะทำอย่างไรดี เพราะคนคนนี้ได้ทำเครื่องหมายอัศจรรย์หลายอย่าง ถ้าเราปล่อยเขาไว้อย่างนี้ ทุกคนจะเชื่อเขา แล้วชาวโรมันก็จะมาทำลายทั้งพระวิหารและชนชาติของเรา” คนหนึ่งในที่ประชุมชื่อคายาฟาส เป็นมหาสมณะในปีนั้นกล่าวว่า “ท่านทั้งหลายไม่เข้าใจอะไรเลย ท่านไม่คิดหรือว่า ถ้าคนคนเดียวจะตายเพื่อประชาชน จะเป็นประโยชน์มากกว่าที่ชนทั้งชาติจะต้องพินาศไป” เขาไม่ได้พูดเช่นนี้ตามใจตนเอง แต่ในฐานะที่เป็นมหาสมณะในปีนั้น เขาประกาศพระวาจาว่า พระเยซูเจ้าจะต้องสิ้นพระชนม์เพื่อชนทั้งชาติ และไม่ใช่เพื่อชนทั้งชาติเท่านั้น แต่เพื่อจะรวบรวมบรรดาบุตรที่กระจัดกระจายอยู่ของพระเจ้าให้กลับเป็นหนึ่งเดียวกัน ตั้งแต่วันนั้น ที่ประชุมได้ตกลงกันที่จะประหารพระองค์ ดังนั้น พระเยซูเจ้าจึงไม่เสด็จไปที่ใดอย่างเปิดเผยในหมู่ชาวยิวอีกต่อไป แต่เสด็จไปที่เมืองชื่อเอฟราอิม ในเขตแดนใกล้ถิ่นทุรกันดาร และทรงพำนักอยู่ที่นั่นกับบรรดาศิษย์

      วันปัสกาของชาวยิวใกล้จะมาถึง ประชาชนจำนวนมากเดินทางจากชนบทขึ้นไปกรุงเยรูซาเล็ม เพื่อชำระตนก่อนวันฉลอง เขาเหล่านั้นเสาะหาพระเยซูเจ้า และขณะที่ยืนอยู่ในพระวิหารก็ถามกันว่า “ท่านทั้งหลายคิดอย่างไร เขาจะมาในวันฉลองหรือไม่”

บรรดาหัวหน้าสมณะและชาวฟาริสีได้ออกคำสั่งว่า ถ้าใครรู้ว่าพระองค์อยู่ที่ไหน ก็ให้มารายงาน เพื่อจะได้จับกุมพระองค์


ยน 11:45-57 ชาวฟาริสีและหัวหน้าสมณะได้ตื่นตระหนกกับปาฏิหาริย์ของการปลุกลาซารัสให้ฟื้นคืนชีพ จึงตัดสินใจหาทางที่จะจับกุมพระคริสตเจ้าหรือทำให้พระองค์ถึงแก่ความตาย งานฉลองปัสกาที่ใกล้เข้ามา จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการจับกุมพระองค์ เนื่องจากพระองค์จะอยู่ในกรุงเยรูซาเล็มเพื่อเฉลิมฉลอง

CCC ข้อ 548  เครื่องหมายอัศจรรย์ที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำเป็นพยานยืนยันว่าพระบิดาทรงส่งพระองค์มา เครื่องหมายอัศจรรย์เหล่านี้เชิญชวนให้ทุกคนมีความเชื่อในพระองค์ พระองค์โปรดให้ผู้ที่มีความเชื่อในพระองค์ได้รับตามที่ขอ อัศจรรย์จึงเสริมความเชื่อต่อพระองค์ผู้ทรงทำกิจการของพระบิดา กิจการเหล่านี้เป็นพยานยืนยันว่าพระองค์ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า แต่อัศจรรย์เหล่านี้ก็อาจเป็นโอกาสความแคลงใจได้เหมือนกัน อัศจรรย์เหล่านี้ไม่มีเจตนาตอบสนองความมักรู้มักเห็นหรือความอยากดูมายากล แม้ทรงทำอัศจรรย์ที่ชัดเจนเช่นนี้แล้ว หลายคนก็ยังไม่ยอมรับพระองค์ และยังทรงถูกกล่าวหาว่าทรงทำเช่นนี้อาศัยอำนาจของปีศาจ

CCC ข้อ 593 พระเยซูเจ้าทรงให้ความเคารพต่อพระวิหาร เสด็จขึ้นไปที่นั่นในวันสมโภชที่ชาวยิวต้องเดินทางไปร่วม และยังทรงมีความรักอย่างยิ่งต่อที่ประทับของพระเจ้าในหมู่มนุษย์แห่งนี้ พระวิหารยังแจ้งล่วงหน้าถึงพระธรรมล้ำลึกของพระองค์ พระองค์ทรงแจ้งล่วงหน้าว่าพระวิหารจะถูกทำลายแต่การที่ทรงแจ้งล่วงหน้าเช่นนี้เป็นการแจ้งถึงการสิ้นพระชนม์ของพระองค์และการเข้าสู่ยุคใหม่ของประวัติศาสตร์ความรอดพ้น ซึ่งในยุคใหม่นี้พระกายของพระองค์จะเป็นพระวิหารสมบูรณ์ที่สุด


ยน 11:48  ชาวโรมันก็จะมาทำลายทั้งพระวิหารและชนชาติของเรา : ผู้นำชาวยิวบางคนกลัวเพราะพระคริสตเจ้าทรงมีผู้นิยมชมชอบมาก และไม่ว่าการลุกฮือใดๆอาจเป็นโอกาสให้ชาวโรมันทำลายพระวิหารและประเทศชาติของพวกเขาได้

CCC ข้อ 596 บรรดาผู้นำศาสนาที่กรุงเยรูซาเล็มมีความเห็นไม่ตรงกันถึงวิธีการที่จะต้องใช้เกี่ยวกับพระเยซูเจ้า ชาวฟาริสีข่มขู่จะลงโทษผู้ที่เป็นศิษย์ติดตามพระองค์ สำหรับผู้ที่กลัวว่า “ทุกคนจะเชื่อเขา แล้วชาวโรมันก็จะมาทำลายทั้งพระวิหารและชนชาติของเรา” (ยน 11:48) มหาสมณะคายาฟาสประกาศพระวาจาเสนอแนะว่า “ถ้าคนคนเดียวจะตายเพื่อประชาชนจะเป็นประโยชน์มากกว่าที่ชนทั้งชาติจะต้องพินาศไป” (ยน 11:50) เมื่อสภาซันเฮดรินตัดสินว่าพระเยซูเจ้ามีความผิดสมควรต้องตายเพราะดูหมิ่นพระเจ้า แต่เขาไม่มีอำนาจประหารชีวิตผู้ใดได้จึงมอบพระองค์แก่ชาวโรมันโดยกล่าวหาว่าพระองค์ยุยงประชาชนให้เป็นกบฏ ข้อกล่าวหานี้จะนำพระองค์มาเทียบกับบารับบัสที่มีความผิด “เพราะก่อการจลาจล” (ลก 23:19) บรรดาหัวหน้าสมณะยังข่มขู่ปีลาตด้วยข้อหาทางการเมืองเพื่อให้ปีลาตตัดสินประหารชีวิตพระเยซูเจ้า


ยน 11:49-52   คำกล่าวของคายาฟาสนี้กลายเป็นคำทำนายแต่ไม่ใช่ในแบบที่เขาจินตนาการไว้ เขาเชื่อว่าพระคริสตเจ้าต้องสิ้นพระชนม์เพื่อช่วยชาติอิสราเอลให้พ้นจากการกดขี่ของชาวโรมัน แต่ที่จริงแล้วพระคริสตเจ้าต้องสิ้นพระชนม์เพื่อช่วยมนุษยชาติให้พ้นจากบาปและความตาย 

CCC ข้อ 457 พระวจนาตถ์ทรงรับธรรมชาติมนุษย์ก็เพื่อช่วยเราให้รอดพ้นโดยทำให้เราคืนดีกับพระเจ้า พระเจ้า “ทรงรักเราและทรงส่งพระบุตรของพระองค์มาเพื่อชดเชยบาปของเรา” (1 ยน 4:10) “พระบิดาทรงส่งพระบุตรของพระองค์มาเป็นพระผู้ไถ่โลก” (1 ยน 4:14) “พระองค์ทรงปรากฏเพื่อทรงลบล้างบาปให้สิ้นไป” (1 ยน 3:5) “ธรรมชาติของเรา เมื่อเจ็บป่วยย่อมต้องการแพทย์ มนุษย์ที่ล้มลงย่อมต้องการผู้ช่วยพยุงให้ลุกขึ้น ผู้ที่สิ้นชีวิตแล้วย่อมต้องการผู้ให้ชีวิต ผู้ที่สูญเสียความดีย่อมต้องการผู้นำกลับมาพบความดีอีก ผู้ที่ถูกกักขังในความมืดย่อมต้องการให้มีแสงสว่าง ผู้ถูกจับเป็นเชลยย่อมแสวงหาผู้ช่วยไถ่ให้รอดพ้น ผู้ถูกจองจำย่อมต้องการผู้ช่วยเหลือ ผู้ที่เป็นทาสย่อมต้องการผู้ช่วยให้มีอิสรภาพ นี่เป็นเรื่องเล็กน้อยไม่พอจะชักชวนพระเจ้าให้เสด็จลงมาเยี่ยมเยียนมนุษยชาติในเมื่อมนุษยชาติตกอยู่ในสภาพเป็นทุกข์และน่าสงสารถึงเพียงนี้ดอกหรือ”


ยน 11: 52   นอกจากจะทำลายความสัมพันธ์ของพระเจ้ากับมนุษยชาติแล้ว บาปยังก่อให้เกิดความขัดแย้งภายในครอบครัวมนุษย์ด้วย คำตอบของพระเจ้าคือ การช่วยมนุษยชาติอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทีละประเทศ ทีละกลุ่มประชากร จนกว่าพระองค์จะสามารถรวบรวมคนทั้งหมดได้อีกครั้งหนึ่ง ลูกหลานของอับราฮัม เป็นประชากรที่ถูกเลือกสรรนั้นเป็นที่มาของพระผู้ช่วยให้รอดของโลก เอกภาพและความยุติธรรมจะกลับคืนสู่โลกอีกครั้ง ในระดับที่แต่ละคนยอมรับพระหรรษทานแห่งการไถ่บาปของพระคริสตเจ้า 

CCC ข้อ 56 เมื่อเอกภาพของมนุษยชาติถูกบาปทำลายลงแล้ว ทันทีพระเจ้าก็ทรงประสงค์จะช่วยมนุษยชาติให้รอดพ้นโดยทรงแทรกเข้าไปในมนุษยชาติแต่ละส่วน พันธสัญญาที่ทรงทำไว้กับโนอาห์ภายหลังน้ำวินาศ แสดงถึงจุดเริ่มต้นของแผนการกอบกู้ของพระองค์ต่อ “นานาชาติ” นั่นคือต่อมนุษย์ “ซึ่งต่างก็มีดินแดน ภาษา เผ่า และชนชาติของตน” (ปฐก 10:5) และมีความสัมพันธ์ต่อกัน

CCC ข้อ 57 การที่มนุษยชาติแตกแยกออกเป็นหลายชาติ ทั้งในด้านขอบเขต สังคมและศาสนา เช่นนี้มีเจตนาที่จะจำกัดความเย่อหยิ่งของมนุษยชาติที่แม้จะเป็นหนึ่งเดียวกันในเจตนาชั่วร้าย ต้องการสร้างเอกภาพตามวิธีการของตนเองดังที่หอบาเบล แต่เนื่องจากบาป การนับถือเทพเจ้าและรูปเคารพของชนชาติและบรรดาผู้นำต่างๆ ยังนับได้ว่าเป็นความชั่วร้ายที่ไม่เคารพนับถือพระเจ้าและเป็นภัยคุกคามต่อแผนความรอดที่ทรงจัดไว้ล่วงหน้านี้ด้วย

CCC ข้อ 58  พันธสัญญาที่พระเจ้าทรงทำไว้กับโนอาห์มีผลใช้บังคับตลอดช่วงเวลาของนานาชาติ จนถึงการประกาศพระวรสารแก่นานาชาติ พระคัมภีร์ให้ความเคารพนับถือแก่บุคคลสำคัญ “ของชาติต่างๆ” บางคน เช่น “อาเบลผู้ชอบธรรม” เมลคีเซเดค กษัตริย์และสมณะซึ่งเป็นรูปแบบของพระคริสตเจ้าหรือ “โนอาห์ ดาเนียลและโยบ” ผู้ชอบธรรม (อสค 14:14) ดังนี้ พระคัมภีร์จึงบอกว่าผู้ดำเนินชีวิตตามพันธสัญญาที่พระเจ้าทรงทำไว้กับโนอาห์อาจบรรลุถึงความศักดิ์สิทธิ์ได้สูงเพียงใด เมื่อเขารอคอยพระคริสตเจ้าผู้ที่จะทรง “รวบรวมบรรดาบุตรของพระเจ้าที่กระจัดกระจายอยู่ให้กลับเป็นหนึ่งเดียวกัน” (ยน 11:52)

CCC ข้อ 59 เพื่อจะทรงรวบรวมมนุษยชาติให้กลับเป็นหนึ่งเดียวกัน พระเจ้าทรงเลือกอับราม โดยทรงเรียกเขาดังนี้ว่า “จงออกจากแผ่นดินของท่าน จากญาติพี่น้อง และจากบ้านบิดาของท่าน” (ปฐก 12:1) ทรงตั้งพระทัยจะทำให้เขาเป็น “อับราฮัม” คือ “บิดาของชนชาติจำนวนมาก” (ปฐก 17:5) “และบรรดาเผ่าพันธุ์ทั้งสิ้นทั่วแผ่นดินจะได้รับพรเพราะท่าน” (ปฐก 12:3)

CCC ข้อ 60 ประชากรที่สืบเชื้อสายมาจากอับราฮัมจะเป็นผู้รักษาพระสัญญาที่พระเจ้าทรงทำไว้กับบรรพบุรุษ เป็นประชากรที่ได้รับการเลือกสรร ที่ทรงเรียกมาเตรียมชุมชนบุตรทุกคนของพระเจ้าเข้ามาในเอกภาพของพระศาสนจักร ประชากรนี้จะเป็นเสมือนเหง้าที่บรรดาชนต่างศาสนาที่เข้ามามีความเชื่อจะถูกนำมาทาบติดไว้

CCC ข้อ 517  พระชนมชีพทั้งหมดของพระคริสตเจ้าเป็นพระธรรมล้ำลึกแห่งการไถ่กู้ การไถ่กู้มาถึงเราโดยเฉพาะโดยทางพระโลหิตที่ทรงหลั่งบนไม้กางเขน แต่พระธรรมล้ำลึกนี้ทำงานอยู่ตลอดพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า นับตั้งแต่การที่ทรงรับสภาพเป็นมนุษย์ ที่ทรงยอมกลายเป็นคนยากจนเพื่อเราจะได้ร่ำรวยเพราะความยากจนของพระองค์ ในพระชนมชีพซ่อนเร้น พระองค์ทรงยอมเชื่อฟัง เพื่อชดเชยความไม่เชื่อฟังของเรา ในพระวาจาที่ชำระเราผู้ฟังให้สะอาด ในการที่ทรงรักษาคนเจ็บป่วยและขับไล่ปีศาจที่ “พระองค์ทรงรับเอาความอ่อนแอของเราไว้ และทรงแบกความเจ็บป่วยของเรา” (มธ 8:17) ในการทรงกลับคืนพระชนมชีพที่ทรงทำให้เราเป็นผู้ชอบธรรม

CCC ข้อ 521 พระคริสตเจ้าทรงบันดาลให้เราดำเนินชีวิตของเราในพระองค์ดังที่พระองค์ทรงดำเนิน และพระองค์ทรงดำเนินพระชนมชีพในเรา “โดยการรับสภาพเป็นมนุษย์ เราอาจกล่าวได้ว่าพระบุตรของพระเจ้าทรงร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับมนุษย์แต่ละคน” เราได้รับเรียกเพื่อให้มาเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ พระองค์ทรงทำให้เราเป็นเสมือนส่วนต่างๆ แห่งพระวรกายของพระองค์  เราจะได้มีส่วนร่วมการที่ทรงดำเนินพระชนมชีพในสภาพมนุษย์เพื่อเราและเป็นตัวอย่างของเรา “เราต้องพยายามทำให้สถานะและพระธรรมล้ำลึกของพระเยซูเจ้าสำเร็จเป็นจริงในตัวเรา และวอนขอพระองค์บ่อยๆ ให้พระธรรมล้ำลึกเหล่านี้สำเร็จเป็นจริงอย่างสมบูรณ์ในตัวเราและในพระศาสนจักรสากล.....เพราะพระบุตรของพระเจ้าทรงประสงค์ให้เราและพระศาสนจักรทั้งหมดมีส่วนในพระธรรมล้ำลึกเหล่านี้และทำให้พระธรรมล้ำลึกนี้แผ่ขยายไปในตัวเราและทั่วพระศาสนจักร...โดยพระหรรษทานที่ทรงประสงค์ประทานแก่เราเพื่อเราจะได้ทำให้พระธรรมล้ำลึกนี้บังเกิดผลตามพระประสงค์”

CCC ข้อ 706 ตรงข้ามกับความหวังที่มนุษย์อาจมีได้ พระเจ้าทรงสัญญาจะประทานลูกหลานแก่อับราฮัมเป็นผลของความเชื่อและพระอานุภาพของพระจิตเจ้า ชนทุกชาติบนแผ่นดินนี้จะได้รับพรผ่านทางเชื้อสายของเขา “เชื้อสาย” นี้ก็คือพระคริสตเจ้า ในพระคริสตเจ้านี้พระพรของพระจิตเจ้าจะนำบรรดาบุตรที่กระจัดกระจายไปของพระเจ้าเข้ามารวมด้วยกันอีก เมื่อทรงสาบานผูกมัดพระองค์ พระเจ้าก็ทรงผูกมัดพระองค์จะประทานพระบุตรสุดที่รักของพระองค์แล้ว รวมทั้งทรงสัญญาจะประทานพระจิตเจ้าซึ่งจะทรงเตรียมการไถ่กู้ประชากรที่พระเจ้าทรงได้มาเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์

CCC ข้อ 1987 พระหรรษทานของพระจิตเจ้ามีพลังที่จะประทานความชอบธรรมแก่เรา นั่นคือ ชำระล้างเราให้พ้นจากบาปและทำให้เราได้รับความชอบธรรมของพระเจ้าอาศัยความเชื่อในพระเยซูคริสตเจ้า และศีลล้างบาป “ถ้าเราตายพร้อมกับพระคริสตเจ้าแล้ว เราก็จะมีชีวิตพร้อมกับพระองค์ด้วย เรารู้ว่าพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตายแล้วจะไม่สิ้นพระชนม์อีก ความตายไม่มีอำนาจเหนือพระองค์อีกต่อไป เพราะเมื่อสิ้นพระชนม์ พระองค์ก็ทรงตายครั้งเดียวจากบาปตลอดไป เมื่อมีพระชนมชีพก็มีพระชนมชีพเพื่อพระเจ้า ดังนี้ ท่านทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน ต้องถือว่าท่านตายจากบาปแล้ว แต่มีชีวิตอยู่เพื่อพระเจ้าในพระคริสตเยซู” (รม 6:8-11)

CCC ข้อ 1995 พระจิตเจ้าทรงเป็นพระอาจารย์สอนชีวิตภายใน การประทานความชอบธรรม เพราะบันดาลให้ “มนุษย์ภายใน” เกิดมา จึงหมายถึง การบันดาลความศักดิ์สิทธิ์ ของมนุษย์ครบทั้งตัว “เมื่อก่อนนี้ ท่านได้มอบร่างกายเป็นทาสของความโสมมและความอธรรมซ้ำแล้วซ้ำอีกฉันใด บัดนี้ ท่านจงมอบร่างกายให้เป็นทาสของความชอบธรรม เพื่อจะได้เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ ฉันนั้นเถิด […] บัดนี้ ท่านได้รับอิสระจากบาปมาเป็นทาสรับใช้พระเจ้าแล้ว ท่านได้รับประโยชน์อันนำไปสู่ความศักดิ์สิทธิ์ผลสุดท้ายก็คือชีวิตนิรันดร” (รม 6:19,22)

CCC ข้อ 2793  ผู้ที่รับศีลล้างบาปแล้วไม่อาจกล่าวว่า “ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย” ได้ถ้าเราไม่นำทุกคนที่พระองค์ทรงสละพระบุตรสุดที่รักเพื่อพวกเขาเข้ามาหาพระองค์ด้วย ความรักของพระเจ้าไม่มีขอบเขต การอธิษฐานภาวนาของเราก็ต้องไม่มีขอบเขตด้วย การสวดบทข้าแต่พระบิดา “ของข้าพเจ้าทั้งหลาย” เปิดใจเราให้มีขนาดความรักของพระองค์ที่แสดงตัวในพระคริสตเจ้า เป็นการอธิษฐานภาวนาพร้อมกับมนุษย์ทุกคนและสำหรับมนุษย์ทุกคนที่ยังไม่รู้จักพระองค์ เพื่อเขาเหล่านั้นจะได้มารวมกันเป็นหนึ่งเดียว ความสาละวนของพระเจ้าต่อมวลมนุษย์และมวลสิ่งสร้างเช่นนี้ได้เป็นพลังบันดาลใจนักอธิษฐานภาวนาผู้ยิ่งใหญ่ทุกคน ความรู้สำนึกเช่นนี้จึงต้องขยายการอธิษฐานภาวนาของเราให้มีความรักที่กว้างใหญ่เมื่อเรากล้ากล่าวว่า “ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย”

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)