แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันเสาร์ สัปดาห์ที่ 3 เทศกาลมหาพรต

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 18:9-14)  

เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสเล่าเรื่องอุปมานี้ให้บางคนที่ภูมิใจว่าตนเป็นผู้ชอบธรรมและดูหมิ่นผู้อื่นฟังว่า “มีชายสองคนขึ้นไปอธิษฐานภาวนาในพระวิหาร คนหนึ่งเป็นชาวฟาริสี อีกคนหนึ่งเป็นคนเก็บภาษี ชาวฟาริสียืนอธิษฐานภาวนาในใจว่า ‘ข้าแต่พระเจ้า ข้าพเจ้าขอบพระคุณพระองค์ที่ข้าพเจ้าไม่เป็นเหมือนมนุษย์คนอื่น ที่เป็นขโมย อยุติธรรม ล่วงประเวณี หรือเหมือนคนเก็บภาษีคนนี้ ข้าพเจ้าจำศีลอดอาหารสัปดาห์ละสองวัน และถวายหนึ่งในสิบของรายได้ทั้งหมดของข้าพเจ้า’ ส่วนคนเก็บภาษียืนอยู่ห่างออกไป ไม่กล้าแม้แต่จะเงยหน้าขึ้นมองท้องฟ้า ได้แต่ข้อนอก พูดว่า ‘ข้าแต่พระเจ้า โปรดทรงพระกรุณาต่อข้าพเจ้าคนบาปด้วยเถิด’ เราบอกท่านทั้งหลายว่าคนเก็บภาษีกลับไปบ้าน ได้รับความชอบธรรม แต่ชาวฟาริสีไม่ได้รับ เพราะว่าผู้ใดที่ยกตนขึ้นจะถูกกดให้ต่ำลง ผู้ใดที่ถ่อมตนลง จะได้รับการยกย่องให้สูงขึ้น”


ลก 18:9-14 การสวดภาวนาที่แท้จริงและมีประสิทธิภาพนั้น เรียกร้องให้มีท่าทีแห่งความสุภาพอ่อนถ่อมตน ชาวฟาริสีในอุปมานี้ได้ขอบคุณพระเจ้าสำหรับคุณความดีและความสำเร็จของตนเอง แต่กลับเปรียบเทียบคุณธรรมของเขากับบาปและข้อบกพร่องของคนเก็บภาษีอย่างเย่อหยิ่ง ดังนั้นเขาจึงวัดความดีของตัวเองด้วยรายการตรวจสอบการกระทำภายนอก ความพึงพอใจของเขาในพระวิหารนั้นไม่ได้เป็นการขอบพระคุณพระเจ้าอย่างแท้จริง แต่เป็นการการสรรเสริญตนเองต่างหาก เพราะเขาไม่ได้แสดงถึงความจำเป็นในการสำนึกผิดและการกลับใจแม้แต่น้อย ด้วยความสำนึกถึงความไม่ดีพร้อมของตนต่อพระพักตร์พระเจ้าคนเก็บภาษีจึงแสวงหาเพียงพระเมตตาโดยไม่แสดงถึงการอวดอ้างใด ๆ อุปมาเรื่องนี้ที่เตือนใจมิให้ยกย่องตนเอง ทำให้นึกถึงบทเรียนแห่งความสุภาพถ่อมตนที่พระคริสตเจ้าทรงมอบให้ในเรื่องการเลือกที่นั่งในงานเลี้ยง (เทียบ ลก 14: 7-11)

CCC ข้อ 588 พระเยซูเจ้าทรงทำให้ชาวฟาริสีไม่พอใจเมื่อเสวยร่วมโต๊ะกับคนเก็บภาษีและคนบาป อย่างคุ้นเคยเช่นเดียวกับเมื่อทรงร่วมโต๊ะกับพวกเขา พระเยซูเจ้าทรงยืนยันไม่เห็นด้วยกับ “ผู้ที่ภูมิใจว่าตนเป็นผู้ชอบธรรมและดูหมิ่นผู้อื่น” (ลก 18:9) ตรัสว่า “เราไม่ได้มาเพื่อเรียกคนชอบธรรม แต่มาเพื่อเรียกคนบาปให้กลับใจ” (ลก 5:32) พระองค์ยังทรงก้าวไปไกลยิ่งกว่านั้นอีก เมื่อทรงประกาศอย่างเปิดเผยต่อหน้าชาวฟาริสีว่า ในเมื่อมนุษย์ทุกคนเป็นคนบาป พวกเขาที่คิดว่าตนไม่ต้องการ การกอบกู้ย่อมทำตนเป็นคนตาบอด

CCC ข้อ 2559 “การอธิษฐานภาวนาเป็นการยกความคิดจิตใจขึ้นหาพระเจ้าหรือเป็นการวอนขอพระเจ้าประทานให้เราตามพระทัยพระองค์” เพื่ออธิษฐานภาวนาเราพูดจากอะไร? จากความยิ่งใหญ่ของเราและจากความปรารถนาอันสูงส่งของเรา หรือ “จากเหวลึก” (สดด 130:1) ของจิตใจต่ำต้อยและเป็นทุกข์? ผู้ที่ถ่อมตนลงย่อมได้รับการยกย่อง ความสุภาพถ่อมตนเป็นรากฐานของการอธิษฐานภาวนา “เราไม่รู้ว่าจะต้องอธิษฐานภาวนาขอสิ่งใดที่เหมาะสม” (รม 8:26) ความสุภาพถ่อมตนเป็นการเตรียมตนเพื่อรับสิ่งที่เราวอนขอมาโดยไม่ต้องมีอะไรแลกเปลี่ยน มนุษย์เป็นเหมือนขอทานเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า

CCC ข้อ 2613 นักบุญลูกาเล่าเรื่องอุปมาเกี่ยวกับการอธิษฐานภาวนาโดยเฉพาะไว้ให้เราสามเรื่อง    - เรื่องแรกคือ “เรื่องเพื่อนที่ไม่รู้จักกาละเทศะ” เชิญเราให้อธิษฐานภาวนาโดยไม่ลดละ “จงเคาะประตูเถิด แล้วเขาจะเปิดประตูรับท่าน” ดังนี้ พระบิดาผู้สถิตในสวรรค์จะประทานทุกสิ่งที่จำเป็นให้แก่ผู้ที่วอนขอ โดยเฉพาะพระจิตเจ้าที่ทรงรวมพระพรทุกอย่างไว้

    - เรื่องที่สองคือ “เรื่องหญิงม่ายผู้รบเร้า” มีศูนย์กลางอยู่ที่ลักษณะประการหนึ่งของการอธิษฐานภาวนา คือ “จำเป็นต้องอธิษฐานภาวนาอยู่เสมอโดยไม่ท้อถอย” โดยพากเพียรในความเชื่อ “เมื่อบุตรแห่งมนุษย์เสด็จมา จะทรงพบความเชื่อในโลกนี้หรือ”

    - เรื่องที่สามคือ “เรื่องชาวฟาริสีและคนเก็บภาษี” ที่กล่าวถึงใจถ่อมตนของผู้อธิษฐานภาวนา “ข้าแต่พระเจ้า โปรดทรงพระกรุณาต่อข้าพเจ้าคนบาปด้วยเถิด” พระศาสนจักรไม่เคยหยุดยั้งเลยที่จะภาวนาว่า “ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า โปรดทรงเมตตาเทอญ” “Kyrie eleison”


ลก 18:13 คำภาวนาของคนเก็บภาษีเพื่อวอนขอพระเมตตายังเป็นบทภาวนาของพระศาสนจักรที่สะท้อนให้เห็นถึงบท กีรีเอ ในพิธีบูชาของพระคุณที่ว่า “ข้าแต่พระเจ้า ทรงเมตตาเทอญ ข้าแต่พระคริสตเจ้า ทรงเมตตาเทอญ ข้าแต่พระเจ้า ทรงเมตตาเทอญ” การวอนขอพระเมตตาของพระเจ้าควรเป็นมิติที่แฝงอยู่ในคำภาวนาของเราทั้งหมด จิตใจที่สุภาพถ่อมตนและสำนึกผิดทำให้เรามีความไว้วางใจอย่างใหญ่หลวงในพระเจ้าและนำเราไปสู่ความศักดิ์สิทธิ์ในที่สุด รูปแบบหนึ่งที่ยิ่งใหญ่ของคำวอนขอของคนเก็บภาษีคือรูปแบบดั้งเดิมทางตะวันออกที่เรียกว่า บทภาวนาของพระเยซูเจ้า : “ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า พระเยซูคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้า  โปรดทรงเมตตาข้าพเจ้าผู้เป็นคนบาปด้วยเทอญ”

CCC ข้อ 2613 อ่านเพิ่มเติมด้านบน (ลก 18:9-14)

CCC ข้อ 2631 การวอนขออภัยบาป เป็นท่าทีแรกของการอธิษฐานวอนขอ (เช่น คนเก็บภาษีภาวนาว่า “ข้าแต่พระเจ้า โปรดทรงพระกรุณาต่อข้าพเจ้าคนบาปด้วยเถิด” ลก 18:13) การวอนขอนี้เป็นการนำไปสู่การอธิษฐานภาวนาที่ถูกต้องล้วนๆ ความถ่อมตนด้วยความหวังนำเรากลับมาสู่แสงสว่างของสัมพันธภาพกับพระบิดา กับพระเยซูคริสตเจ้า และกับมนุษย์ด้วยกัน ต่อจากนั้น “ถ้าเราวอนขอสิ่งใด เราย่อมจะได้รับสิ่งนั้นจากพระองค์” (1 ยน 3:22) เราจึงวอนขออภัยบาปก่อนพิธีกรรมขอบพระคุณและก่อนการอธิษฐานภาวนาส่วนตัวด้วย

CCC ข้อ 2667 การเรียกหาด้วยความเชื่อแบบซื่อๆ เช่นนี้ในธรรมประเพณีการอธิษฐานภาวนาได้พัฒนาขึ้นในหลายรูปแบบในพระศาสนจักรตะวันออกและตะวันตก สูตรที่พบบ่อยมากจากผลงานของบรรดาผู้เขียนงานด้านชีวิตจิตจากภูเขาซีนาย ซีเรีย และภูเขาอาโทสก็คือคำเรียกหาว่า “ข้าแต่พระเยซูคริสตเจ้า พระบุตรพระเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้า ทรงพระกรุณาต่อข้าพเจ้าทั้งหลายผู้เป็นคนบาปเทอญ” คำเรียกหาเช่นนี้รวมบทเพลงสรรเสริญพระคริสตเจ้าใน ฟป 2:6-11 กับการร้องหาของคนเก็บภาษีและการร้องขอแสงสว่างจากคนตาบอด โดยการร้องหาเช่นนี้ ใจย่อมสัมผัสกับความน่าสงสารของมนุษย์และกับความเมตตากรุณาของพระผู้ไถ่

CCC ข้อ 2839  เราเริ่มวอนขอพระบิดาของเราด้วยความมั่นใจอย่างกล้า(บ้าบิ่น) เมื่อวอนขอพระองค์ให้พระนามจงเป็นที่สักการะ เราได้วอนขอให้เราเองได้รับความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งๆ ขึ้นด้วยเสมอ แต่แม้ว่าเราได้สวมอาภรณ์ของศีลล้างบาปแล้ว เราก็ยังไม่เลิกทำบาปและหันเหไปจากพระเจ้า บัดนี้ ในคำวอนขอประการใหม่นี้ เรากลับมาหาพระองค์เหมือนกับลูกล้างผลาญ และยอมรับต่อพระองค์ว่าเราเป็นคนบาป เหมือนกับคนเก็บภาษี คำวอนขอของเราเริ่มด้วย “การสารภาพบาป” ที่เรากล่าวถึงความน่าสงสารของเราและกล่าวถึงพระกรุณาของพระองค์ ความหวังของเรามั่นคง เพราะในพระบุตรของพระองค์ “เราได้รับการไถ่กู้และได้รับการอภัยบาป” (คส 1:14) เราพบเครื่องหมายการอภัยบาปที่มีประสิทธิผลอย่างไม่ต้องสงสัยในศีลศักดิ์สิทธิ์ของพระศาสนจักรของพระองค์

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)