แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันเสาร์ สัปดาห์ที่ 2 เทศกาลมหาพรต

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 15:1-3,11-32)    

เวลานั้น บรรดาคนเก็บภาษีและคนบาปเข้ามาใกล้เพื่อฟังพระเยซูเจ้า ชาวฟาริสีและธรรมาจารย์ต่างบ่นว่า “คนนี้ต้อนรับคนบาปและกินอาหารร่วมกับเขา” พระองค์จึงตรัสเรื่องอุปมานี้ให้เขาฟัง

      พระองค์ยังตรัสอีกว่า “ชายผู้หนึ่งมีลูกสองคน ลูกคนเล็กพูดกับบิดาว่า ‘พ่อครับ โปรดให้ทรัพย์สมบัติส่วนที่เป็นมรดกแก่ลูกเถิด’ บิดาก็แบ่งทรัพย์สมบัติให้แก่ลูกทั้งสองคน ต่อมาไม่นาน ลูกคนเล็กรวบรวมทุกสิ่งที่มีแล้วเดินทางไปยังประเทศห่างไกล ที่นั่นเขาประพฤติเสเพลผลาญเงินทองจนหมดสิ้น

      เมื่อเขาหมดตัว ก็เกิดกันดารอาหารอย่างหนักทั่วแถบนั้น และเขาเริ่มขัดสน ‘จึงไปรับจ้างอยู่กับชาวเมืองคนหนึ่ง คนนั้นใช้เขาไปเลี้ยงหมูในทุ่งนา เขาอยากกินฝักถั่วที่หมูกินเพื่อระงับความหิว แต่ไม่มีใครให้ เขาจึงรู้สำนึกและคิดว่า ‘คนรับใช้ของพ่อฉันมีอาหารกินอุดมสมบูรณ์ ส่วนฉันอยู่ที่นี่ หิวจะตายอยู่แล้ว ฉันจะกลับไปหาพ่อ พูดกับพ่อว่า ‘พ่อครับ ลูกทำบาปผิดต่อสวรรค์และต่อพ่อ ลูกไม่สมควรได้ชื่อว่าเป็นลูกของพ่ออีก โปรดนับว่าลูกเป็นผู้รับใช้คนหนึ่งของพ่อเถิด’’ เขาก็กลับไปหาพ่อ

      ขณะที่เขายังอยู่ไกล พ่อมองเห็นเขา รู้สึกสงสาร จึงวิ่งไปสวมกอดและจูบเขา ลูกจึงพูดกับพ่อว่า ‘พ่อครับ ลูกทำบาปผิดต่อสวรรค์และต่อพ่อ ลูกไม่สมควรได้ชื่อว่าเป็นลูกของพ่ออีก’ แต่พ่อพูดกับผู้รับใช้ว่า ‘เร็วเข้า จงไปนำเสื้อสวยที่สุดมาสวมให้ลูกเรา นำแหวนมาสวมนิ้ว นำรองเท้ามาใส่ให้ จงนำลูกวัวที่ขุนอ้วนแล้วไปฆ่า แล้วกินเลี้ยงฉลองกันเถิด เพราะลูกของเราผู้นี้ตายไปแล้วกลับมีชีวิตอีก หายไปแล้ว ได้พบกันอีก’ แล้วการฉลองก็เริ่มขึ้น

      ส่วนลูกคนโตอยู่ในทุ่งนา เมื่อกลับมาใกล้บ้าน ได้ยินเสียงดนตรีและการร้องรำ จึงเรียกผู้รับใช้คนหนึ่งมาถามว่าเกิดอะไรขึ้น ผู้รับใช้บอกเขาว่า ‘น้องชายของท่านกลับมาแล้ว พ่อสั่งให้ฆ่าลูกวัวที่ขุนอ้วนแล้ว เพราะเขาได้ลูกกลับคืนมาอย่างปลอดภัย’ ลูกคนโตรู้สึกโกรธ ไม่ยอมเข้าไปในบ้าน พ่อจึงออกมาขอร้องให้เข้าไป แต่เขาตอบพ่อว่า ‘ลูกรับใช้พ่อมานานหลายปีแล้ว ไม่เคยฝ่าฝืนคำสั่งของพ่อเลย พ่อก็ไม่เคยให้ลูกแพะแม้แต่ตัวเดียวแก่ลูกเพื่อเลี้ยงฉลองกับเพื่อนๆ แต่พอลูกคนนี้ของพ่อกลับมา เขาคบหญิงเสเพล ผลาญทรัพย์สมบัติของพ่อจนหมด พ่อยังฆ่าลูกวัวที่ขุนอ้วนแล้วให้เขาด้วย’

    พ่อพูดว่า ‘ลูกเอ๋ย ลูกอยู่กับพ่อเสมอมา ทุกสิ่งที่พ่อมีก็เป็นของลูก แต่จำเป็นต้องเลี้ยงฉลองและชื่นชมยินดี เพราะน้องชายคนนี้ของลูกตายไปแล้ว กลับมีชีวิตอีก หายไปแล้ว ได้พบกันอีก’”


ลก 15:1-32 พระวรสารบทนี้ไปถึงหัวใจของพระวรสารเอง กล่าวคือ : พระเมตตาและการให้อภัยอย่างไม่มีขอบเขตของพระเจ้าที่ได้เปิดเผยโดยผ่านทางพระคริสตเจ้า 

  CCC ข้อ 1846 พระวรสารเป็นการเปิดเผยพระเมตตาที่พระเจ้าทรงมีต่อคนบาปในพระเยซูคริสตเจ้าทูตสวรรค์แจ้งข่าวนี้แก่โยเซฟว่า “ท่านจงตั้งชื่อเขาว่าเยซู เพราะเขาจะช่วยประชากรของเขาให้รอดพ้นจากบาป” (มธ 1:21) ข้อความนี้ยังเป็นจริงอีกด้วยกับศีลมหาสนิท ศีลแก่การไถ่กู้ “นี่เป็นโลหิตของเรา โลหิตแห่งพันธสัญญาที่หลั่งออกมาเพื่ออภัยบาปมนุษย์ทั้งหลาย” (มธ 26:28)

CCC ข้อ 1847 พระเจ้า “ผู้ทรงเนรมิตสร้างท่านมาโดยที่ท่านไม่ต้องทำอะไรนั้นทำให้ท่านเป็นผู้ชอบธรรมไม่ได้ถ้าท่านไม่ร่วมมือด้วย” การจะรับพระเมตตาของพระเจ้าได้นั้นเรียกร้องให้เราสารภาพว่าเราได้ทำผิด “ถ้าเราพูดว่าเราไม่มีบาป เรากำลังหลอกตนเอง และความจริงไม่อยู่ในเรา ถ้าเราสารภาพบาป พระองค์จะทรงอภัยบาปของเราและจะทรงชำระเราให้สะอาดจากความอธรรมทั้งปวง” (1 ยน 1:8-9)

  CCC ข้อ 1848 นักบุญเปาโลกล่าวไว้ว่าดังนี้ “ที่ใดบาปทวีขึ้น ที่นั่นพระหรรษทานก็ยิ่งทวีขึ้นมากกว่า” (รม 5:20) แต่เพื่อพระหรรษทานจะทำงานได้ก็จำเป็นต้องเปิดเผยบาปเพื่อเปลี่ยนใจของเราและเพื่อให้ “ความชอบธรรมนำเราไปสู่ชีวิตนิรันดรเดชะพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา” (รม 5:21) พระเจ้าทรงเป็นเสมือนนายแพทย์ที่ตรวจดูบาดแผลก่อนที่จะรักษา ทรงใช้พระวาจาและพระจิตของพระองค์ ทรงส่องแสงสว่างให้เราแลเห็นบาปได้ชัดเจน

           “การกลับใจเรียกร้องให้เรายอมรับว่าได้ทำบาป ยังรวมไปถึงการตัดสินของมโนธรรมภายใน การตัดสินนี้เป็นการพิสูจน์ของพระจิตเจ้าแห่งความจริงภายในส่วนลึกของมนุษย์ ในขณะเดียวกันยังกลายเป็นจุดเริ่มต้นของพระกรุณาที่ประทานพระหรรษทานและความรัก ‘จงรับพระจิตเจ้าเถิด’ ดังนั้น ในการ ‘แสดงให้เห็นความหมายของบาป’ ที่พระเยซูเจ้าตรัสถึงนั้น เราพบของประทานสองประการ คือพระพรแห่งความจริงจากมโนธรรมและพระพรแห่งความมั่นใจว่าเราจะได้รับการไถ่กู้ พระจิตเจ้า องค์ความจริงทรงเป็น ‘พระผู้บรรเทา’ อีกด้วย”


ลก 15:1-10 การแบ่งปันอาหาร เป็นเครื่องหมายของมิตรภาพและการคืนดีกันกัน ดังนั้น                 พระคริสตเจ้าจึงทรงแสดงแก่ชาวฟาริสีว่า ทรงเป็นผู้ยอมรับคนบาป พระองค์ทรงใช้โอกาสนี้เพื่อแสดงว่าพันธกิจของพระองค์ คือการเรียกคนบาปให้กลับใจ เพราะเหตุนี้จึงมีเหตุผลที่จะชื่นชมยินดีมากกว่าการที่คนหนึ่งไม่เคยหลงทางจากความเชื่อเลย 

  CCC ข้อ 1443  ขณะที่ทรงเทศน์สอนประชาชน พระเยซูเจ้าไม่เพียงแต่ทรงอภัยบาปเท่านั้น แต่ยังทรงแสดงผลของการอภัยบาปนี้ด้วย พระองค์ทรงคืนคนบาปที่ทรงอภัยบาปให้แล้วกลับคืนให้แก่ชุมชนที่บาปได้ทำให้เขาห่างเหินหรือแม้กระทั่งแยกตัวออกไป เครื่องหมายของเรื่องนี้เห็นได้ชัดเจน พระเยซูเจ้าทรงต้อนรับคนบาปให้มาร่วมโต๊ะกับพระองค์ ยิ่งกว่านั้นยังเสด็จไปร่วมโต๊ะกับพวกเขาด้วย การที่ทรงปฏิบัติเช่นนี้แสดงด้วยวิธีการน่าประทับใจในเวลาเดียวกันให้เห็นการได้รับอภัยจากพระเจ้า และการกลับเข้ามาอยู่ในอ้อมอกของประชากรของพระเจ้าด้วย

  CCC ข้อ 589 พระเยซูเจ้าทรงทำให้ชาวฟาริสีไม่พอใจโดยเฉพาะ เพราะทรงประกาศว่าการที่ทรงแสดงพระทัยเมตตากรุณาต่อคนบาปนั้นเป็นเหมือนกับที่พระเจ้าทรงปฏิบัติต่อพวกเขาด้วย พระองค์ยังตรัสเป็นนัยอีกว่าการที่ทรงร่วมโต๊ะกับพวกคนบาปนั้น เป็นการที่ทรงรับพวกเขาให้ร่วมโต๊ะในยุคพระเมสสิยาห์แต่โดยเฉพาะเมื่อทรงอภัยบาป พระเยซูเจ้าทรงทำให้ผู้นำทางศาสนาของอิสราเอลจนตรอก เขากล่าวถูกต้องแล้วด้วยความขัดเคืองมิใช่หรือว่า “ใครอภัยบาปได้นอกจากพระเจ้าเท่านั้น” (มก 2:7)? ดังนั้น เมื่อพระเยซูเจ้าทรงอภัยบาป ก็หมายความว่าพระองค์กล่าวดูหมิ่นพระเจ้า เป็นมนุษย์ผู้ตั้งตนเสมอเท่าพระเจ้าหรือมิฉะนั้นก็ทรงกล่าวความจริง และพระองค์ก็ทรงเปิดเผยและทำให้พระนามของพระเจ้าเป็นที่รู้จักแก่ทุกคน

  CCC ข้อ 545 พระเยซูเจ้าทรงเชิญคนบาปเข้ามาร่วมโต๊ะของพระอาณาจักร “เราไม่ได้มาเพื่อเรียกคนชอบธรรม แต่เรามาเพื่อเรียกคนบาป” (มก 2:17) พระองค์ทรงเชิญคนเหล่านี้ให้กลับใจ ถ้าไม่กลับใจก็จะเข้าพระอาณาจักรไม่ได้ แต่ก็ยังทรงแสดงทั้งด้วยพระวาจาและการกระทำให้เขาเหล่านั้นแลเห็นพระกรุณาหาขอบเขตมิได้ของพระบิดาต่อเขาทั้งหลายด้วย และยังตรัสด้วยว่า “จะมีความยินดียิ่งใหญ่ในสวรรค์เพราะคนบาปคนหนึ่งกลับใจ” (ลก 15:7) การพิสูจน์สูงสุดของความรักนี้ก็คือการถวายชีวิตของพระองค์เองเป็นบูชา “เพื่ออภัยบาปของมนุษย์ทั้งหลาย” (มธ 26:28)


ลก 15:3-10 ดังผู้เลี้ยงแกะที่รวบรวมฝูงแกะของเขาที่ได้กระจัดกระจายไป และออกตามหาแกะตัวที่พลัดหลง พระคริสตเจ้าผู้เลี้ยงแกะที่ดีนั้น ทรงปรารถนาที่จะเรียกประชากรทั้งครบของพระองค์ให้รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน และให้คนบาปที่ดื้อรั้นได้คืนดีกลับสู่พระศาสนจักรเสียใหม่ ในฐานะผู้สืบตำแหน่งจากบรรดาอัครสาวก ทั้งบิชอป รวมไปถึงพระสงฆ์และสังฆานุกรผู้ช่วยเหลือบิชอปนั้น ต่างมีหน้าที่สำคัญในการเป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดี อย่างไรก็ตาม คริสตชนทุกคนถูกเรียกให้เป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดีด้วยเช่นกัน สำหรับสมาชิกในครอบครัวและเพื่อนๆ  ด้วยการนำพวกเขาเข้าหาองค์พระคริสตเจ้าเสมอ  

  CCC ข้อ 545 อ่านเพิ่มเติมได้ที่ด้านบน ลก 15:1-10


ลก 15:11-32 ในช่วงแรกของการอยู่ห่างไกลจากบิดาของตน ลูกล้างผลาญรู้สึกร่าเริงยินดีในเสรีภาพในทางที่ผิด อย่างไรก็ตาม ต่อมาไม่นานนัก เขาได้สูญเสียศักดิ์ศรี ความชื่นชมยินดี และแม้กระทั่งความหมายของชีวิต แต่กระนั้นบิดาของเขาก็ยังกระตือรือร้นที่จะให้อภัยแก่บุตรชายของตนตั้งแต่ในครั้งแรกที่เขาได้เห็นบุตรกลับบ้าน และต้อนรับเขาไม่ใช่ในฐานะคนใช้ แต่เป็นสมาชิกที่สมบูรณ์ของครอบครัว หลังจากที่ได้พบกับบุตรชาย บิดาก็รู้สึกดีใจที่สุดที่ลูกชาย “กลับมีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง” อุปมานี้แสดงให้เห็นถึงความเมตตาและการให้อภัยอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้า

CCC ข้อ 1436 ศีลมหาสนิทและศีลอภัยบาป การกลับใจและปรับปรุงชีวิตใหม่ทุกวันพบจุดกำเนิดและสิ่งหล่อเลี้ยงในศีลมหาสนิท เพราะการถวายบูชาของพระคริสตเจ้าที่ทำให้เราคืนดีกับพระเจ้าเป็นปัจจุบันอยู่ในศีลนี้ ผู้ที่มีชีวิตจากพระชนมชีพของพระคริสตเจ้ารับอาหารหล่อเลี้ยงและเสริมพลังชีวิตจากศีลมหาสนิท ศีลนี้เป็น “โอสถที่ช่วยเราให้พ้นจากความผิดประจำวันและปกป้องเราไว้จากบาปหนัก”

CCC ข้อ 1437 การอ่านพระคัมภีร์ การสวดภาวนาทำวัตร และบท “ข้าแต่พระบิดา” กิจกรรมของคารวกิจหรือกิจศรัทธาต่างๆที่ทำจากใจจริงย่อมปลุกจิตตารมณ์การกลับใจและการปรับปรุงชีวิตช่วยนำเราไปรับการอภัยบาป

  CCC ข้อ 1438 เทศกาลและวันกลับใจใช้โทษบาปที่กำหนดไว้ในปีพิธีกรรม (เทศกาลมหาพรต ทุกวันศุกร์เพื่อระลึกถึงการสิ้นพระชนม์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า) เป็นช่วงเวลาพิเศษของพระศาสนจักรเพื่อการปฏิบัติการกลับใจและชดเชยบาป ช่วงเวลาเหล่านี้เหมาะเป็นพิเศษสำหรับการฝึกด้านจิตใจ พิธีกรรมชดเชยบาป การเดินทางแสวงบุญเป็นเครื่องหมายของการกลับใจชดเชยบาป การสละตนโดยสมัครใจเช่นการจำศีลอดอาหารและการให้ทาน การแบ่งปันฉันพี่น้อง (กิจการเมตตาธรรมและแพร่ธรรม)

  CCC ข้อ 1439 กระบวนการการกลับใจและชดเชยบาปที่พระเยซูเจ้าทรงบรรยายไว้ในอุปมาที่เรียกกันว่าเรื่อง “ลูกล้างผลาญ” ที่มี “บิดาผู้ใจดี” เป็นศูนย์กลาง กล่าวถึงความหลงใหลต่ออิสรภาพจอมปลอม การละทิ้งบ้านของบิดา ความน่าทุเรศอย่างที่สุดที่ลูกต้องประสบหลังจากที่ได้ผลาญทรัพย์สมบัติหมดแล้ว ความตกต่ำที่สุดของเขาที่เห็นว่าตนจำเป็นต้องไปเลี้ยงสุกรและเลวร้ายกว่านั้น การที่เขาอยากกินอาหารที่สุกรกิน การคิดคำนึงถึงทรัพย์สมบัติที่เขาได้สูญเสียไป ความเสียใจและตัดสินใจยอมรับผิดที่ตนได้ทำต่อบิดา การเดินทางกลับบ้าน การได้รับการต้อนรับด้วยใจกว้างจากบิดา ความยินดีของบิดา เรื่องนี้บรรยายถึงลักษณะเฉพาะต่างๆ ของกระบวนการการกลับใจ เสื้อผ้างดงาม แหวนและการเลี้ยงอาหารฉลองเป็นสัญลักษณ์บางประการของชีวิตใหม่นี้ที่บริสุทธิ์ มีเกียรติ เปี่ยมด้วยความยินดีที่เป็นชีวิตของมนุษย์ผู้กลับมาหาพระเจ้าและเข้ามาในอ้อมอกของครอบครัวของเขา ได้แก่พระศาสนจักร พระหทัยของพระคริสตเจ้าเท่านั้นที่รู้จักความลึกซึ้งของความรักของพระบิดาของพระองค์สามารถเผยแสดง พระกรุณาลึกซึ้งของพระบิดาให้เรารู้ด้วยวิธีการซื่อๆ และงดงามอย่างยิ่งเช่นนี้ได้

CCC ข้อ 2838  คำวอนขอข้อนี้ทำให้เราแปลกใจ ถ้าคำวอนขอนี้มีแต่เพียงส่วนแรก – “โปรดประทานอภัยแก่ข้าพเจ้า(ทั้งหลาย)” [แปลตามตัวอักษรว่า “โปรดยกหนี้ของเราให้แก่เรา”] – คำวอนขอข้อนี้น่าจะรวมเป็นนัยอยู่แล้วในคำวอนขอสามข้อแรกของบทข้าแต่พระบิดา เพราะการที่พระคริสตเจ้าทรงถวายพระองค์เป็นบูชานั้นก็เพื่อ “เป็นการอภัยบาป” อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาดูส่วนที่สองของประโยคนี้ พระเจ้าจะไม่ทรงฟังคำวอนขอของเราถ้าเราไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขประการหนึ่งเสียก่อน คำวอนขอของเรามองไปถึงอนาคต คำตอบของเราต้องมาก่อน มีคำหนึ่งที่เชื่อมข้อความทั้งสองนี้ คือคำว่า “เหมือน”

CCC ข้อ 2839  เราเริ่มวอนขอพระบิดาของเราด้วยความมั่นใจอย่างกล้า(บ้าบิ่น) เมื่อวอนขอพระองค์ให้พระนามจงเป็นที่สักการะ เราได้วอนขอให้เราเองได้รับความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งๆ ขึ้นด้วยเสมอ แต่แม้ว่าเราได้สวมอาภรณ์ของศีลล้างบาปแล้ว เราก็ยังไม่เลิกทำบาปและหันเหไปจากพระเจ้า บัดนี้ ในคำวอนขอประการใหม่นี้ เรากลับมาหาพระองค์เหมือนกับลูกล้างผลาญ และยอมรับต่อพระองค์ว่าเราเป็นคนบาป เหมือนกับคนเก็บภาษี คำวอนขอของเราเริ่มด้วย “การสารภาพบาป” ที่เรากล่าวถึงความน่าสงสารของเราและกล่าวถึงพระกรุณาของพระองค์ ความหวังของเรามั่นคง เพราะในพระบุตรของพระองค์ “เราได้รับการไถ่กู้และได้รับการอภัยบาป” (คส 1:14) เราพบเครื่องหมายการอภัยบาปที่มีประสิทธิผลอย่างไม่ต้องสงสัยในศีลศักดิ์สิทธิ์ของพระศาสนจักรของพระองค์


ลก 15:18-24 การกลับมาของลูกล้างผลาญสะท้อนให้เห็นถึงการสำนึกผิดในศีลแห่งการคืนดีและอภัยบาป บุตรชายได้พิจารณามโนธรรมของเขา รู้สึกเสียใจในความผิดของตน จึงปรารถนาจะชดเชยและได้เดินทางกลับบ้าน สารภาพบาปของเขาและมอบตัวเองไว้ในความเมตตาของบิดา เขาได้รับการให้อภัยและได้รับการต้อนรับด้วยความยินดีกลับเข้าสู่ครอบครัว เสื้อคลุมแหวนและงานเลี้ยงเป็นสัญลักษณ์ถึงชีวิตใหม่ของผู้สำนึกผิดที่ได้คืนดีกับพระเจ้าและพระศาสนจักร

CCC ข้อ 1447  ตลอดเวลาหลายศตวรรษที่ผ่านมา ระเบียบการที่เป็นรูปธรรมซึ่งพระศาสนจักรใช้อำนาจที่ได้รับมาจากองค์พระผู้เป็นเจ้านี้ได้เปลี่ยนแปลงแตกต่างไปอย่างมาก ในศตวรรษแรกๆ ของคริสตศาสนา ระเบียบการคืนดีของคริสตชนที่ได้ทำบาป โดยเฉพาะบาปหนัก หลังจากรับศีลล้างบาปแล้ว (เช่น การนับถือรูปเคารพ ฆาตกรรม หรือการมีชู้) เคร่งครัดมาก ระเบียบนี้กำหนดให้ผู้ที่เป็นทุกข์กลับใจต้องทำกิจการใช้โทษบาปของตนอย่างเปิดเผย และบางครั้งเป็นเวลานานหลายปีก่อนจะได้รับการอภัยบาป ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึง “ระเบียบการสำหรับผู้เป็นทุกข์กลับใจ” เช่นนี้ (ที่ใช้เพียงกับบาปหนักบางประการเท่านั้น) ได้นั้นมีเพียงนานๆ ครั้ง และในบางท้องถิ่น เพียงครั้งเดียวเท่านั้นในชีวิต ในช่วงเวลาคริสตศตวรรษที่ 7 บรรดาธรรมทูตชาวไอริช ซึ่งได้รับอิทธิพลบันดาลใจจากธรรมประเพณีสำนักพรตของพระศาสนจักรทางตะวันออก ได้นำแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการกลับใจเพื่อรับอภัยบาป “แบบส่วนตัว” เข้ามาใช้ในแผ่นดินใหญ่ของทวีปยุโรป แนวปฏิบัติเช่นนี้ไม่ไม่เรียกร้องให้มีการปฏิบัติกิจกรรมที่แสดงการกลับใจอย่างเปิดเผยเป็นเวลานานก่อนจะรับการคืนดีกับ พระศาสนจักร ศีลศักดิ์สิทธิ์นี้จึงประกอบพิธีอย่างค่อนข้างลับๆ ระหว่างผู้เป็นทุกข์กลับใจและพระสงฆ์ แนวปฏิบัติแบบใหม่นี้จึงเอื้อให้มีการรับศีลนี้ซ้ำได้และดังนี้จึงเปิดทางให้การรับศีลนี้บ่อยๆ เป็นแนวปฏิบัติตามปกติ การปฏิบัติเช่นนี้อนุญาตให้รวมการอภัยทั้งบาปหนักและบาปเบาของคนบาปได้ในพิธีรับศีลครั้งเดียวกัน ในรายละเอียดที่สำคัญ นี่จึงเป็นรูปแบบของศีลอภัยบาปที่พระศาสนจักรปฏิบัติมาจนถึงวันนี้

CCC ข้อ 1448 แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เหล่านี้ที่ระเบียบการและการประกอบพิธีของศีลนี้ได้ผ่านมาตลอดเวลาหลายศตวรรษ เราก็ยังเห็นโครงสร้างหลักเดียวกันได้อยู่ โครงสร้างหลักนี้มีองค์ประกอบสำคัญสองส่วน ส่วนที่หนึ่งคือกิจกรรมของมนุษย์ที่พระจิตเจ้าทรงบันดาลให้กลับใจ ได้แก่ความทุกข์ถึงบาป การสารภาพบาปและการทำกิจใช้โทษบาป อีกส่วนหนึ่งคือกิจกรรมของพระเจ้าผ่านทางพระศาสนจักร พระ ศาสนจักรซึ่งผ่านทางพระสังฆราชและพระสงฆ์ของท่าน ประทานการอภัยบาปเดชะพระนามของพระเยซูคริสตเจ้า และยังกำหนดวิธีการทำกิจใช้โทษบาป และยังอธิษฐานภาวนาเพื่อคนบาปและประกอบกิจการใช้โทษบาปพร้อมกับเขาด้วย ด้วยวิธีนี้ คนบาปจึงได้รับการเยียวยารักษาและกลับมีความสัมพันธ์กับพระศาสนจักรอีกครั้งหนึ่ง

  CCC ข้อ 1449  สูตรอภัยบาปที่พระศาสนจักรละตินใช้นั้นแสดงให้เห็นองค์ประกอบสำคัญของศีลนี้ นั่นคือ พระบิดาผู้ทรงพระกรุณาทรงเป็นบ่อเกิดการอภัยบาปทั้งหลาย พระองค์ทรงบันดาลให้คนบาปได้รับการคืนดีโดยปัสกาของพระบุตรและพระพรของพระจิตเจ้า และโดยการอธิษฐานภาวนาและศาสนบริการของพระศาสนจักร “พระเป็นเจ้า พระบิดาผู้ทรงพระเมตตา ได้ทรงทำให้โลกคืนดีกับพระองค์อาศัยการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนชีพของพระบุตร  และทรงส่งพระจิตมาเพื่ออภัยบาปมนุษย์ ขอพระองค์ประทานพระเมตตาและสันติสุขแก่ท่านอาศัยศาสนบริการของพระศาสนจักร ข้าพเจ้าจึงอภัยบาปทั้งสิ้นของท่าน เดชะพระนามพระบิดา และพระบุตรและพระจิต”

CCC ข้อ 1482 อาจประกอบพิธีศีลอภัยบาปได้เป็นพิธีกรรมส่วนรวม ซึ่งในพิธีกรรมนี้ผู้เป็นทุกข์กลับใจรับการเตรียมตัวพร้อมกันเพื่อสารภาพบาป และขอบพระคุณพร้อมกันเมื่อรับอภัยบาปแล้ว ที่ตรงนี้ การสารภาพบาปเป็นส่วนตัวและการให้อภัยบาปทีละคนแทรกอยู่ในวจนพิธีกรรมพร้อมกับบทอ่านจากพระคัมภีร์และการเทศน์อธิบายพระคัมภีร์ มีการนำพร้อมกันให้พิจารณามโนธรรม วอนขออภัยโทษร่วมกัน สวดบท “ข้าแต่พระบิดา” และการขอบพระคุณร่วมกัน การประกอบพิธีเป็นส่วนรวมเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าศีลอภัยบาปมีลักษณะเป็นกิจกรรมของพระศาสนจักรได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ศีลอภัยบาป ไม่ว่าจะประกอบพิธีอย่างไร โดยธรรมชาติแล้วก็เป็นกิจการของพิธีกรรม ดังนั้น จึงเป็นกิจกรรมของพระศาสนจักรและเป็นกิจกรรมสาธารณะ

  CCC ข้อ 1483 ในกรณีความจำเป็นเร่งด่วนอาจใช้การประกอบพิธีคืนดีเป็นส่วนรวมโดยการสารภาพบาปและรับการอภัยบาปแบบรวมได้ ความจำเป็นเร่งด่วนเช่นนี้อาจเกิดได้เมื่อใกล้จะมีอันตรายถึงตายโดยที่พระสงฆ์องค์หนึ่งหรือหลายองค์ไม่มีเวลาเพียงพอเพื่อฟังการสารภาพบาปของผู้กลับใจแต่ละคนได้  ความจำเป็นเร่งด่วนยังอาจมีได้เมื่อพิจารณาถึงจำนวนผู้กลับใจแล้ว ไม่มีพระสงฆ์เพียงพอที่จะฟังการสารภาพบาปเป็นการส่วนตัวทีละคนภายในเวลาที่มีได้อย่างเหมาะสมจนทำให้ผู้กลับใจต้องเสียโอกาสรับพระหรรษทานของศีลศักดิ์สิทธิ์หรือศีลมหาสนิทโดยต้องรอคอยอีกเป็นเวลานานไม่ใช่จากความผิดของตน ในกรณีเช่นนี้ เพื่อจะให้การให้อภัยบาปถูกต้องตามกฎหมาย บรรดาผู้มีความเชื่อต้องมีความตั้งใจที่จะสารภาพบาปหนักของตนเป็นการส่วนตัวในเวลาที่ควร เป็นหน้าที่ของพระสังฆราชผู้ปกครองท้องถิ่นที่จะตัดสินว่ามีเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับการอภัยบาปเป็นส่วนรวมได้หรือไม่ การมีผู้มีความเชื่อจำนวนมากในโอกาสฉลองใหญ่หรือการแสวงบุญไม่ก่อให้เกิดสถานการณ์ความจำเป็นเร่งด่วนเช่นว่านี้

CCC ข้อ 491 ศีลอภัยบาปประกอบด้วยสามกิจกรรมของผู้เป็นทุกข์กลับใจและการอภัยบาปจากพระสงฆ์ กิจกรรมของผู้เป็นทุกข์กลับใจคือ ความทุกข์ถึงบาป การสารภาพบาปหรือบอกบาปให้พระสงฆ์ทราบ ความตั้งใจที่จะชดเชยบาปและการทำกิจการชดเชยดังกล่าวจนสำเร็จ

CCC ข้อ 1492 การเป็นทุกข์กลับใจ (ยังเรียกอีกว่า “ความทุกข์ถึงบาป”) ต้องได้รับแรงบันดาลใจที่ออกมาจากความเชื่อ ถ้าความทุกข์ถึงบาปเกิดจากความรักต่อพระเจ้า ก็ได้ชื่อว่า “ความทุกข์สมบูรณ์” แต่ถ้าความทุกข์นี้ตั้งอยู่บนเหตุผลอื่นก็ได้ชื่อว่า “ความทุกข์ไม่สมบูรณ์”

CCC ข้อ 1699 ชีวิตในพระจิตเจ้าทำให้กระแสเรียกของมนุษย์สมบูรณ์ (บทที่หนึ่ง) ชีวิตนี้ประกอบด้วยความรักของพระเจ้าและความร่วมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของมนุษย์ (บทที่สอง) พระเจ้าประทานชีวิตนี้ให้เราเปล่าๆเป็นความรอดพ้น (บทที่สาม)

CCC ข้อ 1700 ศักดิ์ศรีความเป็นบุคคลของมนุษย์มีรากฐานอยู่ในการที่พระเจ้าทรงเนรมิตสร้างเขาตามภาพลักษณ์ให้เหมือนพระองค์ (ตอนที่หนึ่ง) ศักดิ์ศรีนี้บรรลุความสมบูรณ์ในการที่พระเจ้าทรงเรียกเขาไปรับความสุขกับพระองค์ (ตอนที่สอง) มนุษย์จึงต้องดำเนินชีวิตโดยอิสระให้บรรลุถึงความสมบูรณ์ดังกล่าวนี้ (ตอนที่สาม) บุคคลมนุษย์ใช้การกระทำตามเจตนาของตนเพื่อปฏิบัติพันธกิจ (ตอนที่สี่) ให้สอดคล้องหรือไม่กับความดีที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้และที่มโนธรรมด้านศีลธรรมเป็นพยานได้ (ตอนที่ห้า) มนุษย์เสริมสร้างตนเองและเจริญเติบโตภายใน ใช้ชีวิตทั้งหมดของตน ทั้งด้านจิตวิญญาณและประสาทสัมผัสสร้างการเจริญเติบโตนี้ (ตอนที่หก) เขาเจริญเติบโตขึ้นด้านคุณธรรมอาศัยความช่วยเหลือจากพระหรรษทาน (ตอนที่เจ็ด) หลีกเลี่ยงบาป และถ้าได้ทำบาปไปแล้ว ก็ปฏิบัติตนเหมือนกับลูกล้างผลาญ มอบตนแก่พระเมตตาของพระบิดาเจ้าสวรรค์ของเรา (ตอนที่แปด) และดังนี้ย่อมบรรลุถึงความรักที่สมบูรณ์


ลก 15:18 ฉันจะกลับไปหาพ่อ ...และต่อพ่อ : การกลับใจเป็นขั้นตอนแรกของการกลับไปหาพระบิดาหลังจากที่ได้ถูกแยกจากพระองค์ด้วยความบาป โดยอาศัยการกลับใจด้วยสุดจิตใจเท่านั้นที่ทำให้เราคืนดีกับพระเจ้าได้ การกลับใจเรียกร้องการสำนึกผิดหรือความเสียใจ ตลอดจนความตั้งใจที่จะชดใช้บาป ในเวลาเดียวก็เรียกร้องการรู้จักตนเองและความจริงใจในการตระหนักถึงบาปส่วนตัว การสำนึกผิดและความตั้งใจที่จะชดเชยใช้โทษบาปเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการรับศีลแก้บาปอย่างดี 

CCC ข้อ 1422 “ส่วนผู้ที่เข้าไปรับศีลอภัยบาป ย่อมได้รับการอภัยความผิดที่เขาได้ทำต่อพระเจ้าจากพระกรุณาของพระองค์ และพร้อมกันนั้นเขายังรับการคืนดีกับพระศาสนจักรที่เขาได้ทำให้ได้รับบาดแผลเมื่อทำบาป และพระศาสนจักรก็ยังใช้ความรัก แบบฉบับ และการอธิษฐานภาวนาทำงานเพื่อช่วยให้เขากลับใจด้วย”

CCC ข้อ 1423 ศีลนี้มีชื่อว่า ศีลแห่งการกลับใจ (Conversionis sacramentum) เพราะทำให้การที่พระเยซูเจ้าทรงใช้ศีลศักดิ์สิทธิ์เรียกให้กลับใจกลายเป็นความจริง นั่นคือทรงแนะนำให้เขากลับมาหาพระบิดาที่เขาได้จากไปเพราะบาป ศีลนี้มีชื่อว่า ศีลแห่งการเปลี่ยนแปลงชีวิต (Poenitentiae sacramentum) เพราะบันดาลความศักดิ์สิทธิ์ให้แก่การเดินทางของคริสตชนคนบาปเป็นการส่วนตัวและร่วมกับพระศาสนจักรที่จะกลับใจและชดเชยบาปที่ได้ทำ

CCC ข้อ 2794 สำนวนนี้ของพระคัมภีร์ไม่ได้หมายถึงสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง (“พื้นที่”) แต่หมายถึงวิถีความเป็นอยู่ ไม่ได้หมายความว่าพระเจ้าทรงอยู่ห่างไกล แต่หมายถึงพระมหิทธานุภาพของพระองค์ พระบิดาของเราไม่ได้อยู่ “ที่อื่น” พระองค์ทรงอยู่ “เหนือทุกสิ่ง” ที่เราอาจคาดคิดได้ถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ จากเหตุผลที่ว่าพระองค์ทรงความศักดิ์สิทธิ์อย่างยิ่ง พระองค์จึงทรงอยู่ใกล้ชิดอย่างยิ่งกับจิตใจที่สุภาพถ่อมตนและเป็นทุกข์

 “เราเข้าใจวลีที่ว่า ‘ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย พระองค์สถิตในสวรรค์’ ได้ถูกต้องก็เมื่อเราเข้าใจว่าพระองค์ประทับอยู่ในใจของบรรดาผู้ชอบธรรม เหมือนประทับอยู่ในพระวิหารศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ และยังมีความหมายอีกว่าผู้อธิษฐานภาวนาต้องมีความปรารถนาให้พระองค์ผู้ที่ตนเรียกหานั้นมาประทับอยู่ในตนเองด้วย” “สวรรค์ยังอาจหมายถึงผู้ที่มีภาพของสวรรค์อยู่ในตัว ซึ่งพระเจ้าประทับอยู่และทรงพระดำเนินในตัวเขาด้วย”

  CCC ข้อ 2795 สัญลักษณ์ของสวรรค์ชวนให้เราหันไปคิดถึงพระธรรมล้ำลึกเรื่องพันธสัญญาที่เราดำเนินชีวิตอยู่เมื่อเราอธิษฐานภาวนาต่อพระบิดาของเรา พระองค์สถิตในสวรรค์ ที่ประทับของพระองค์ บ้านของพระบิดาจึงเป็น “บ้านเกิดเมืองนอน” ของเรา บาปทำให้เราถูกเนรเทศจากแผ่นดินแห่งพันธสัญญา และการกลับใจทำให้เรากลับไปหาพระบิดา กลับไปสวรรค์ ดังนั้นสวรรค์และแผ่นดินจึงคืนดีกันในพระคริสตเจ้า เพราะพระบุตร “ได้เสด็จลงมาจากสวรรค์” เพียงพระองค์เดียว และพระองค์ทรงบันดาลให้เราไปสวรรค์พร้อมกับพระองค์ อาศัยไม้กางเขน การกลับคืนพระชนมชีพ และการเสด็จสู่สวรรค์ของพระองค์


ลก 15:22-32 อุปมาเรื่องนี้ให้ความเข้าใจในเชิงลึกว่าเหตุใดพระคริสตเจ้าจึงสมาคมกับคนบาป พระองค์ทรงเชื้อเชิญพวกเขาให้กลับใจและสำนึกผิด เพื่อให้พวกเขาได้กลับคืนสู่สมาชิกภาพในครอบครัวของตนอย่างสมบูรณ์อีกครั้งหนึ่ง มีการกล่าวถึงอย่างยอดเยี่ยมว่าจุดประสงค์ของการรับเอาธรรมชาติมนุษย์ของพระเยซูเจ้า คือการนำคนบาปไปสู่ชีวิตนิรันดร์

CCC ข้อ 589 อ่านเพิ่มเติมด้านบน (ลก 15:1-10)


ลก 15: 32 น้องชายคนนี้ของลูกตายไปแล้ว กลับมีชีวิตอีก : ศีลแห่งการคืนดีและการอภัยบาป เป็นการกลับคืนชีพฝ่ายจิตที่แท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เป็นบาปหนัก ซึ่งได้ทำให้คนบาปต้องสูญเสียพระหรรษทานศักดิ์สิทธิกร

CCC ข้อ 468  “พลังทั้งหมดของศีลอภัยบาปจึงอยู่ที่ว่า ศีลนี้ทำให้เราได้รับพระหรรษทานของพระเจ้าคืนมา ทำให้เราได้รับมิตรภาพสูงสุดมีความสัมพันธ์กับพระองค์อีก” ดังนั้น จุดประสงค์และผลของศีลนี้ก็คือการกลับคืนดีกับพระเจ้า ผู้ที่รับศีลอภัยบาปด้วยจิตใจที่เป็นทุกข์ถึงบาปและมีศรัทธาต่อพระเจ้า “ย่อมได้รับสันติและความสงบในมโนธรรมพร้อมกับความบรรเทาจิตใจอย่างใหญ่หลวง” อันที่จริง ศีลแห่งการกลับคืนดีกับพระเจ้าย่อมนำ “การกลับคืนชีพฝ่ายจิต” ที่แท้จริง การได้รับศักดิ์ศรีและพระพรต่างๆ ของชีวิตบุตรของพระเจ้ามาให้ สิ่งที่ประเสริฐสุดในพระพรเหล่านี้ก็คือมิตรภาพกับพระเจ้า

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)