แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันเสาร์สัปดาห์ที่ 3

บทอ่านจากพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 1:5-25)      

ในรัชสมัยของกษัตริย์เฮโรดผู้ปกครองแคว้นยูเดีย สมณะผู้หนึ่งชื่อเศคาริยาห์ ประจำเวรในหมวดของอาบียาห์ มีภรรยาชื่อเอลีซาเบธ จากตระกูลสมณะอาโรน ทั้งสองคนเป็นผู้ชอบธรรมเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า ปฏิบัติตามบทบัญญัติและข้อกำหนดทุกข้อขององค์พระผู้เป็นเจ้าโดยไม่มีข้อตำหนิ แต่สามีภรรยาคู่นี้ไม่มีบุตร เพราะนางเอลีซาเบธเป็นหมัน และทั้งสองคนชรามากแล้ว

      วันหนึ่ง เศคาริยาห์กำลังปฏิบัติหน้าที่สมณะเฉพาะพระพักตร์ตามเวรในหมวดของตนตามธรรมเนียมของสมณะ เขาจับสลากได้หน้าที่เข้าไปในพระวิหารของพระเจ้าเพื่อถวายกำยาน ขณะที่มีการถวายกำยาน ประชาชนที่มาชุมนุมกันต่างอธิษฐานภาวนาอยู่ภายนอก

      ทันใดนั้น ทูตสวรรค์องค์หนึ่งของพระเจ้าปรากฏองค์ยืนอยู่เบื้องขวาของพระแท่นถวายกำยาน เมื่อเศคาริยาห์เห็นก็รู้สึกวุ่นวายใจและมีความกลัวอย่างมาก

      แต่ทูตสวรรค์กล่าวแก่เขาว่า “เศคาริยาห์ อย่ากลัวเลย พระเจ้าทรงฟังคำอธิษฐานของท่านแล้ว เอลีซาเบธภรรยาของท่านจะให้กำเนิดบุตรชายคนหนึ่ง ท่านจะตั้งชื่อเขาว่ายอห์น ท่านจะมีความชื่นชมยินดีและคนจำนวนมากจะยินดีที่เขาเกิดมา

      เพราะว่าเขาจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่เฉพาะพระพักตร์องค์พระผู้เป็นเจ้า เขาจะไม่ดื่มเหล้าองุ่นหรือสุราเมรัยเลย เขาจะรับพระจิตเจ้าเต็มเปี่ยมตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา เขาจะนำบุตรหลานของอิสราเอลจำนวนมากกลับมายังองค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของเรา

      เขาจะมีจิตใจและพลังของประกาศกเอลียาห์มาเตรียมรับการเสด็จมาของพระองค์ เพื่อทำให้บิดาคืนดีกับบุตรและทำให้ผู้ไม่เชื่อฟังกลับมีจิตสำนึกของผู้ชอบธรรม เป็นการเตรียมประชากรให้พร้อมที่จะรับเสด็จองค์พระผู้เป็นเจ้า” เศคาริยาห์จึงถามทูตสวรรค์ว่า “ข้าพเจ้าจะแน่ใจเรื่องนี้ได้อย่างไร ข้าพเจ้าชราแล้ว และภรรยาของข้าพเจ้าก็อายุมากแล้วด้วย” ทูตสวรรค์จึงตอบว่า “ข้าพเจ้าคือกาเบรียล ซึ่งเฝ้าอยู่เฉพาะพระพักตร์พระเจ้า พระองค์ทรงใช้ข้าพเจ้ามาพูดกับท่านและนำข่าวดีนี้มาแจ้งให้ท่านทราบ แต่ท่านไม่เชื่อคำของข้าพเจ้า ซึ่งจะเป็นจริงเมื่อถึงเวลากำหนด ดังนั้น ท่านจะเป็นใบ้จนถึงวันที่เหตุการณ์นี้จะเป็นจริง” ขณะนั้น ประชาชนกำลังคอยเศคาริยาห์อยู่ รู้สึกประหลาดใจที่เขาอยู่ในพระวิหารนาน เมื่อเขาออกมาและพูดไม่ได้ ประชาชนจึงเข้าใจว่าเขาเห็นนิมิตในพระวิหาร เขาทำได้เพียงแสดงท่าทาง แต่พูดไม่ได้

      เมื่อหมดวาระทำหน้าที่ในพระวิหารแล้ว เศคาริยาห์ก็กลับไปบ้าน ต่อมาไม่นานนางเอลีซาเบธภรรยาของเขาก็ตั้งครรภ์ นางเก็บตัวอยู่ในบ้านเป็นเวลาห้าเดือน นางกล่าวว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงกระทำเช่นนี้เพื่อข้าพเจ้า บัดนี้พระองค์พอพระทัยช่วยข้าพเจ้าให้พ้นจากความอับอายที่ข้าพเจ้ามีต่อหน้าคนทั้งหลายแล้ว”


ลก 1:5 เอลีซาเบธเป็นญาติของมารีย์ (เทียบ ลก 1:36) ในฐานะบุตรของเศคาริยาห์และเอลีซาเบธ ยอห์น บัปติสต์ จึงเป็นญาติของพระคริสตเจ้าและสมณะด้วย (เทียบ ลก 1:1-24)

คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก CCC ข้อ 717 “พระเจ้าทรงส่งชายผู้หนึ่งมา เขาชื่อยอห์น” (ยน 1:6) ยอห์น “ได้รับพระจิตเจ้า” เต็มเปี่ยม “ตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์ของมารดา” (ลก 1:15) จากพระคริสตเจ้าที่พระนางพรหมจารีมารีย์เพิ่งทรงปฏิสนธิเดชะพระจิตเจ้า ดังนี้ “การเยี่ยมเยียน” นางเอลีซาเบธของพระนางมารีย์จึงเป็นการที่พระเจ้าทรงเยี่ยมเยียนประชากรของพระองค์


ลก 1:5-80 นักบุญลูกาได้เริ่มต้นพระวรสารของท่าน ด้วยเรื่องราวเหตุการณ์ที่นำไปสู่การบังเกิดของพระคริสตเจ้าและชีวิตปฐมวัย ซึ่งบ่อยครั้งเรียกว่า เรื่องราวในวัยเด็ก ท่านได้วางเรื่องเล่าไว้ในบริบททางประวัติศาสตร์ และได้ใส่รายละเอียดที่พระวรสารเล่มอื่นไม่ได้เขียนไว้ รวมถึงการบังเกิดของยอห์น บัปติสต์ ด้วย  (เทียบ ลก 1:5-25, 57-80); เรื่องราวการแจ้งข่าวการประสูติของพระเยซูเจ้า (เทียบ ลก 1:26-38); พระนางมารีย์เสด็จเยี่ยมนางเอลีซาเบธ (เทียบ ลก 1:39-56); บทเพลงสรรเสริญของพระนางมารีย์ (มักนีฟีกัต)  (เทียบ ลก 1:46-55); บทเพลงของเศคาริยาห์ หรือที่เรียกว่า Benedictus (เทียบ ลก 1:68-79); และบทเพลงของสิเมโอน ที่เรียกว่า Nunc Dimittis  (เทียบ ลก 2:29-32)

CCC ข้อ 1171 ปีพิธีกรรมเป็นการอธิบายแง่มุมต่างๆ ของพระธรรมล้ำลึกปัสกาประการเดียว ความคิดนี้ใช้ได้โดยเฉพาะกับวันฉลองต่างๆในชุดที่เกี่ยวข้องกับการรับสภาพมนุษย์ของพระวจนาตถ์ (การแจ้งสารพระคริสตสมภพ พระคริสต์ทรงสำแดงองค์) ซึ่งระลึกถึงจุดเริ่มของความรอดพ้นของเราและสื่อเหตุการณ์แรกๆ ของพระธรรมล้ำลึกปัสกาให้เรารับรู้


ลก 1:5-38 เหตุการณ์ที่ทูตสวรรค์กาเบรียลแจ้งข่าวแก่เศคาริยาห์ ในบางแง่มุมนั้นเป็นเหมือนการบอกล่วงหน้าถึงเรื่องราวของการแจ้งข่าวการประสูติของพระเยซูเจ้า ซึ่งมีปรากฏให้เห็นในบทต่อไป ทั้งเศคาริยาห์และพระนางมารีย์ต่างก็เป็นผู้มีความเชื่อและชอบธรรม ทั้งสองท่านได้รับการแจ้งข่าวจากทูตสวรรค์ถึงเรื่องการตั้งครรภ์อย่างน่าอัศจรรย์ และถึงบทบาทที่บุตรของท่านทั้งสองนั้นมีต่อประวัติศาสตร์แห่งความรอดพ้น และท่านทั้งสองต่างก็ประหลาดใจต่อข่าวสารที่ได้รับนั้นด้วย อย่างไรก็ตามสิ่งที่แตกต่างคือ เศคาริยาห์เกิดความสงสัย เนื่องจากภรรยาของท่านนั้นชรามากแล้ว ในขณะที่พระนางมารีย์นั้นเชื่อในทูตสวรรค์ ถึงแม้ว่าพระนางประหลาดใจว่าการตั้งครรภ์จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ในขณะที่เศคาริยาห์ขอเครื่องหมายสำคัญ พระนางมารีย์ไม่ได้ร้องขอเช่นนั้น แต่จะได้รับเครื่องหมายอย่างแน่นอน ทูตสวรรค์กาเบรียลได้แจ้งข่าวการบังเกิดทั้งของยอห์น ซึ่งเป็นประกาศกคนสุดท้ายและยิ่งใหญ่ที่สุดของการเสด็จมาของพระเมสสิยาห์ และการบังเกิดของพระเยซูเจ้าเอง 

CCC ข้อ 332 ตั้งแต่การเนรมิตสร้างแล้ว บรรดาทูตสวรรค์ปรากฏอยู่ตลอดช่วงเวลาประวัติศาสตร์ความรอดพ้น คอยแจ้งทั้งจากใกล้และไกลให้มนุษย์รู้ถึงความรอดพ้นและคอยรับใช้ปฏิบัติตามแผนการนี้ของพระเจ้า บรรดาทูตสวรรค์เป็นผู้ปิดสวนอุทยานไม่ให้มนุษย์เข้าไปได้ คอยปกป้องภัยให้โลท คอยช่วยเหลือนางฮาการ์และบุตรให้พ้นภัย ยับยั้งอับราฮัมไว้ไม่ให้ฆ่าบุตร ทำหน้าที่รับใช้พระเจ้าในการประทานธรรมบัญญัติแก่มนุษย์ เป็นผู้นำประชากรของพระเจ้า แจ้งข่าวการเกิด การเรียก คอยช่วยเหลือบรรดาประกาศก นี่เป็นเพียงตัวอย่างบางประการเท่านั้น ในที่สุด ทูตสวรรค์กาเบรียลยังบอกข่าวการเกิดของผู้นำหน้าพระผู้ไถ่ และแจ้งข่าวการประสูติของพระเยซูเจ้าอีกด้วย


ลก 1:7 สามีภรรยาคู่นี้ไม่มีบุตร : ในโลกแห่งพันธสัญญาเดิมเชื่อกันว่า การไม่มีบุตรมักถูกมองว่าเป็นความอับอายและเป็นเครื่องหมายแห่งความไม่พอพระทัยของพระเจ้า เช่นเดียวกับสตรีคนสำคัญหลายคนในพันธสัญญาเดิม เอลีซาเบธจะได้รับพระพรโดยการมีบุตร อาศัยความช่วยเหลือของพระเจ้า โดยทางข่าวสารของทูตสวรรค์ แม้ว่าเธอจะเป็นหมันและชราแล้วก็ตาม พระศาสนจักรตระหนักดีว่าภาวะมีบุตรยากเป็นกางเขนสำหรับคู่สมรสหลายๆ คู่ แต่พึงระวังว่าคู่สมรสจะต้องใช้วิธีการที่ถูกต้องตามหลักศีลธรรมเท่านั้นสำหรับการตั้งครรภ์และ/หรือการรับเด็กเข้าสู่ครอบครัว 

CCC ข้อ 2374 เป็นความทุกข์ใหญ่หลวงของคู่สมรสที่พบว่าตนเป็นหมัน อับรามทูลพระเจ้าว่า “พระองค์จะประทานสิ่งใดแก่ข้าพเจ้า ถ้าข้าพเจ้ายังคงไม่มีบุตร...” (ปฐก 15:2) นางราเคลร้องบอกยาโคบสามีว่า “ให้ดิฉันมีลูกบ้างเถิด มิฉะนั้นดิฉันจะตาย” (ปฐก 30:1)


  CCC ข้อ 2375 การค้นคว้าที่ตั้งใจลดความเป็นหมันให้น้อยลงควรได้รับการส่งเสริมสนับสนุนถ้าทำไปเพื่อรับใช้ “บุคคลมนุษย์ เพื่อรับใช้สิทธิของมนุษย์ที่ไม่อาจล่วงละเมิดได้ และเพื่อผลดีทั้งหมดของเขาตามแผนการและพระประสงค์ของพระเจ้า”

  CCC ข้อ 2376 เทคนิคที่สนับสนุนการแตกแยกโดยยอมให้บุคคลที่ไม่ใช่คู่สมรสเข้ามาเกี่ยวข้อง (การบริจาคอสุจิหรือไข่ การอุ้มบุญ) เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง เทคนิคเหล่านี้ (การผสมเทียม การใช้ไข่หรือสุจิของบุคคลภายนอก) เป็นการล่วงละเมิดสิทธิของบุตรที่จะเกิดมาจากบิดาและมารดาที่เขารู้จักและมีความสัมพันธ์กันด้วยการสมรส เป็นการล่วงละเมิดสิทธิ “ของคู่สมรสที่จะเป็นพ่อหรือแม่ได้เพียงโดยอีกคนหนึ่งเท่านั้น”

  CCC ข้อ 2377 ถ้าใช้เทคนิคเหล่านี้ภายในขอบเขตของคู่สมรสเท่านั้น (การผสมเทียมภายนอก) อาจมีความผิดน้อยกว่า แต่ในด้านศีลธรรมก็ยังเป็นที่ยอมรับไม่ได้ เป็นการแยกกิจกรรมทางเพศออกจากการให้กำเนิด กิจกรรมที่ทำให้บุตรเกิดมาเช่นนี้ไม่ใช่กิจกรรมที่บุคคลสองคนมอบตนให้แก่กัน “แต่นำเอาชีวิตและเอกลักษณ์ของตัวอ่อนมนุษย์ให้มามอบไว้ในอำนาจของแพทย์หรือนักชีววิทยา และดังนี้กำหนดให้เทคโนโลยีมีอำนาจเหนือต้นกำเนิดและชะตากรรมของบุคคลมนุษย์ อำนาจเช่นนี้โดยธรรมชาติของตนขัดกับศักดิ์ศรีและความเท่าเทียมกันที่บิดามารดาและบุตรต้องมีอยู่ร่วมกัน” “หากพิจารณาในด้านศีลธรรม การให้กำเนิดชีวิตเช่นนี้ขาดความสมบูรณ์ของตนเพราะไม่ได้ตั้งใจให้เป็นผลจากเพศสัมพันธ์หรือของกิจกรรมที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับความสัมพันธ์ของคู่สมรส […] นอกจากนั้น ความเคารพต่อพันธะที่แทรกอยู่ในความหมายของการมีเพศสัมพันธ์และความเคารพต่อเอกภาพของผู้มีชีวิตที่เป็นมนุษย์เท่านั้นทำให้มีการให้กำเนิดที่สอดคล้องกับศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์”

  CCC ข้อ 2378 บุตรไม่ใช่เป็นหนี้อะไรที่ต้องจ่าย แต่เป็นของประทาน “ของประทานประเสริฐสุดของการสมรส” ก็คือบุคคลมนุษย์ เราต้องไม่คิดว่าบุตรเป็นทรัพย์สินชิ้นหนึ่ง ซึ่งเป็นความคิดที่ชวนให้อ้างถึง “สิทธิที่จะมีบุตร” ในเรื่องนี้ บุตรเท่านั้นมีสิทธิจริงๆ คือสิทธิ “ที่จะมีความเป็นอยู่ในฐานะผลที่มาจากกิจกรรมแสดงความรักแบบคู่สมรสของบิดามารดา และเขายังมีสิทธิที่จะได้รับความเคารพในฐานะที่เป็นบุคคลหนึ่งนับตั้งแต่เวลาที่เขาปฏิสนธิ”

  CCC ข้อ 2379 พระวรสารแสดงให้เห็นว่าการเป็นหมันไม่มีบุตรไม่ใช่เป็นสิ่งเลวร้ายอย่างเด็ดขาด คู่สมรสที่แม้จะใช้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ที่ถูกต้องทุกอย่างแล้วก็ยังไม่มีบุตร ควรจะร่วมใจกับไม้กางเขนขององค์พระผู้เป็นเจ้าซึ่งเป็นบ่อเกิดของความอุดมสมบูรณ์ฝ่ายจิตทุกประการ เขาอาจแสดงความใจกว้างของตนโดยรับอุปถัมภ์บุตรที่ถูกทอดทิ้งและปฏิบัติหน้าที่ยากลำบากเพื่อให้บริการแก่ผู้อื่นก็ได้


ลก 1:10-13 ถวายกำยาน : บรรดาสมณะจะต้องเข้าไปถวายกำยานในพระวิหารและอธิษฐานภาวนาในเวลาถวายกำยานช่วงเช้าและช่วงเย็น หรือที่เรียกว่า “ชั่วโมงภาวนา” สำหรับสมณะหลายคนในสมัยนั้นถือว่า การได้เข้าไปถวายกำยานในพระวิหารถือว่าเป็นเกียรติครั้งหนึ่งในชีวิต ชื่อ ยอห์น : แปลว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า (YHWH) ทรงโปรดปราน” สะท้อนให้เห็นถึงความโปรดปรานที่พระเจ้าประทานให้กับพ่อแม่ที่ยังไม่มีบุตร 

CCC ข้อ 2581 สำหรับประชากรของพระเจ้า พระวิหารน่าจะต้องเป็นสถานที่ให้การอบรมเพื่อการอธิษฐานภาวนา การแสวงบุญ งานฉลอง การถวายเครื่องบูชา พิธีถวายบูชาเวลาเย็น การถวายกำยาน ขนมปัง “ตั้งถวาย”  ทุกสิ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเครื่องหมายของความศักดิ์สิทธิ์และพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าผู้สูงสุด แต่ก็ประทับอยู่ใกล้ชิดกับมนุษย์ด้วย ทุกสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการเชิญชวนและเป็นหนทางของการอธิษฐานภาวนา แต่จารีตพิธีต่างๆ หลายครั้งก็ดึงดูดประชากรให้สนใจประกอบเพียงพิธีกรรมภายนอกมากเกินไป การอบรมความเชื่อและการกลับใจจึงเป็นกิจกรรมที่จำเป็นด้วย การนี้เป็นพันธกิจของบรรดาประกาศกทั้งก่อนและหลังการถูกเนรเทศไปเป็นเชลยที่กรุงบาบิโลน


ลก 1:14-17 ทูตสวรรค์บอกล่วงหน้าถึงภารกิจของประกาศกที่ยอห์น บัปติสต์จะต้องกระทำ  รับพระจิตเจ้าเต็มเปี่ยม : ยอห์นได้รับการเตรียมสำหรับหน้าที่ประกาศกของท่านด้วยพระหรรษทานตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา แหล่งที่มาของพระพรรษทานของเขาคือองค์พระคริสตเจ้าเอง ผู้ทรงปฏิสนธิอาศัยพระจิตเจ้าองค์เดียวกันในครรภ์ของพระมารดาของพระองค์  เขาจะมีจิตใจและพลังของประกาศกเอลียาห์... เป็นการเตรียมประชากร : ในพันธสัญญาเดิม ประกาศกมาลาคีได้ทำนายไว้ว่า ประกาศกคนหนึ่งที่เหมือนเอลียาห์จะกลับมาอีกครั้งหนึ่งเพื่อเทศน์สอนถึงการกลับใจ รวบรวมเผ่าพันธุ์ของอิสราเอล รักษาครอบครัวที่แตกแยกและเตรียมผู้คนต้อนรับการเสด็จมาของพระเมสสิยาห์ (เทียบ มลค 3: 1; 4: 5-6) ยอห์น บัปติสต์ ไม่ใช่เป็นประกาศกเอลียาห์กลับชาติมาเกิด แต่เขาเป็นผู้ทำให้ภารกิจของประกาศกเอลียาห์บรรลุผลอย่างสมบูรณ์

CCC ข้อ 523 พระเจ้าทรงส่งนักบุญยอห์นผู้ทำพิธีล้างเป็นผู้นำหน้าคนสุดท้ายขององค์พระผู้เป็นเจ้าเพื่อเตรียมทางให้พระองค์ท่าน ท่านยอห์นในฐานะ “ประกาศกของพระผู้สูงสุด” (ลก 1:76) ยิ่งใหญ่กว่าบรรดาประกาศกทั้งหลาย และเป็นประกาศกคนสุดท้าย เป็นผู้เริ่มประกาศข่าวดี (หรือพระวรสาร) ตั้งแต่จากครรภ์มารดาแล้วท่านต้อนรับการเสด็จมาของพระคริสตเจ้า และมีความยินดีที่ได้เป็นเสมือน “เพื่อนเจ้าบ่าว” (ยน 3:29) ซึ่งได้รับนามว่า “ลูกแกะของพระเจ้า ผู้ทรงลบล้างบาปของโลก” (ยน 1:29) ท่าน “มีจิตใจและพลังของประกาศกเอลียาห์” (ลก 1:17) นำหน้าพระเยซูเจ้า เป็นพยานยืนยันถึงพระองค์โดยการเทศน์สอน โดยประกอบพิธีล้างให้ประชาชนกลับใจ และในที่สุดโดยการเป็นมรณสักขีของท่านด้วย

CCC ข้อ 696 “เพลิง” – ขณะที่น้ำหมายถึงการเกิดและความอุดมสมบูรณ์ของชีวิตที่พระเจ้าประทานแก่เราในพระจิตเจ้า เพลิงหรือไฟก็เป็นสัญลักษณ์ของพลังเปลี่ยนแปลงของพระจิตเจ้า ประกาศกเอลียาห์ซึ่ง “เป็นเหมือนไฟ วาจาของเขาเผาผลาญเหมือนคบไฟ” (บสร 48:1) ได้อธิษฐานภาวนาวอนขอไฟจากสวรรค์ลงมาเผาเครื่องบูชาบนภูเขาคาร์แมล ซึ่งเป็นรูปแบบของพระจิตเจ้าที่ทรงเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งที่ทรงสัมผัส ยอห์นผู้ทำพิธีล้างซึ่ง “จะ ‘มีจิตใจ’ และพลังของประกาศกเอลียาห์มาเตรียมรับการเสด็จมาขององค์พระผู้เป็นเจ้า” (ลก 1:17) แจ้งข่าวถึงพระคริสตเจ้าว่าพระองค์คือผู้ที่ “จะทำพิธีล้างด้วยพระจิตเจ้าและด้วยไฟ” (ลก 3:16) คือด้วยพระจิตเจ้าที่พระคริสตเจ้าเคยตรัสถึงว่า “เรามาเพื่อจุดไฟในโลก เราปรารถนาอย่างยิ่งที่จะให้โลกนี้ลุกเป็นไฟ” (ลก 12:49) เช้าวันเปนเตกอสเต พระจิตเจ้าเสด็จลงมาประทับเหนือบรรดาศิษย์ใน “เปลวไฟ” ลักษณะเหมือนลิ้น และโปรดให้เขาได้รับพระองค์เต็มเปี่ยม[31] ธรรมประเพณีด้านชีวิตจิตจะยังรักษา “เพลิง” ที่มีความหมายอย่างมากนี้เป็นสัญลักษณ์ของการกระทำของพระจิตเจ้าไว้ตลอดไป “อย่าดับไฟของพระจิตเจ้า” (1 ธส 5:19)

CCC ข้อ 716 ประชากร “ผู้ถ่อมตน” (หรือ “ยากจน”) ต่ำต้อยและอ่อนโยนที่วางใจต่อแผนการของพระเจ้าของตนอย่างเต็มเปี่ยม ผู้ที่รอคอยความยุติธรรมไม่ใช่จากมนุษย์ แต่จากพระเมสสิยาห์ ในที่สุดเป็นผลงานซ่อนเร้นยิ่งใหญ่ของพระจิตเจ้าตลอดเวลาแห่งพระสัญญาเพื่อเตรียมรับการเสด็จมาของพระคริสตเจ้า คุณค่าจิตใจของคนเหล่านี้ที่พระจิตเจ้าทรงชำระและส่องสว่างแล้วมีแสดงอยู่ในบทเพลงสดุดี ในคนยากจนเหล่านี้ พระจิตเจ้าทรงเตรียม “ประชากรให้พร้อมที่จะรับเสด็จองค์พระผู้เป็นเจ้า”

CCC ข้อ 717 อ่านเพิ่มเติมด้านบน (ลก 1:3)

CCC ข้อ 718 ยอห์นเป็น “(ประกาศก)เอลียาห์ที่จะต้องมา” ไฟของพระจิตเจ้าพำนักอยู่ในเขาและบันดาลให้เขา “นำหน้า” องค์พระผู้เป็นเจ้าผู้เสด็จมา ในยอห์นผู้นำหน้า(พระเมสสิยาห์)พระจิตเจ้าทรงบันดาลให้ “การเตรียมประชากรที่พร้อมจะรับเสด็จองค์พระผู้เป็นเจ้า” สำเร็จไป (ลก 1:17)

CCC ข้อ 724 ในพระนางมารีย์ พระจิตเจ้าทรงสำแดงให้เห็นว่าพระบุตรของพระบิดาทรงบังเกิดจากหญิงพรหมจารีคนหนึ่ง พระนางทรงเป็นเหมือนพุ่มไม้ลุกเป็นไฟที่พระเจ้าทรงสำแดงพระองค์ในยุคสุดท้าย พระนางทรงได้รับพระจิตเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม ทรงสำแดงพระวจนาตถ์ในความต่ำต้อยของธรรมชาติมนุษย์และทรงบันดาลให้คนยากจน และชนต่างชาติเป็นชนกลุ่มแรกที่มารับรู้เรื่องนี้

CCC ข้อ 2684 ในความสัมพันธ์กับบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ ตลอดเวลาในประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักรได้มีการพัฒนา แนวชีวิตจิต (spiritualities) หลายแบบด้วยกัน พรพิเศษส่วนตัวของพยานคนหนึ่งถึงความรักของพระเจ้าต่อมวลมนุษย์อาจได้รับการถ่ายทอดมา เช่น “จิตตารมณ์” ของประกาศกเอลียาห์ถูกถ่ายทอดแก่เอลีชา และแก่ยอห์นผู้ทำพิธีล้าง เพื่อบรรดาศิษย์จะได้มีส่วนใน   จิตตารมณ์นี้ด้วย แนวชีวิตจิตแบบหนึ่งยังอาจเกิดขึ้นได้จากการรวมกันของขบวนการต่างๆด้านพิธีกรรมและเทววิทยา และเป็นพยานถึงการนำความเชื่อเข้าสู่วัฒนธรรมในสภาพแวดล้อมเฉพาะของสังคมและประวัติศาสตร์ของผู้คน แนวชีวิตจิตแบบต่างๆ ของคริสตชนมีส่วนในธรรมประเพณีการอธิษฐานภาวนาที่มีชีวิตชีวาและเป็นผู้นำที่จำเป็นสำหรับบรรดาผู้มีความเชื่อ แนวชีวิตจิตเหล่านี้ แม้จะมีคุณสมบัติแตกต่างกันอย่างมาก ก็ล้วนเป็นแสงสว่างบริสุทธิ์เดียวกันของพระจิตเจ้า “พระจิตเจ้าเป็นที่อยู่ของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์จริงๆ และผู้ศักดิ์สิทธิ์ก็เป็นที่ประทับเฉพาะของพระจิตเจ้าด้วย เพราะเขามอบตนเพื่ออยู่กับพระเจ้า จึงได้ชื่อว่าที่ประทับของพระองค์”

 

ลก 1:19 กาเบรียล : ในภาษาฮีบรูชื่อนี้แปลว่า “พระเจ้าทรงเป็นพละกำลังของข้าพเจ้า” ท่านคืออัครเทวดา ผู้ซึ่งต่อมาได้ปรากฏแก่พระนางมารีย์เพื่อแจ้งข่าวว่าพระนางคือผู้ที่ถูกเลือกสรรให้เป็นมารดาของพระเมสสิยาห์

CCC ข้อ 335 ในพิธีกรรม พระศาสนจักรร่วมใจกับบรรดาทูตสวรรค์เพื่อนมัสการถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าผู้ทรงศักดิ์สิทธิ์ที่สุด เชิญชวนบรรดาทูตสวรรค์ให้มาช่วยเหลือ (เช่นในบทภาวนา In paradisum deducant te angeli…  [“ขอให้บรรดาทูตสวรรค์นำท่านเข้าสวรรค์...”] ในพิธีกรรมปลงศพ หรือใน “บทเพลงสรรเสริญของบรรดาเครูบ” ในพิธีกรรมจารีตไบเซนไตน์) และยังจัดให้มีการระลึกถึงทูตสวรรค์บางองค์เป็นพิเศษด้วย (เช่นนักบุญมีคาเอล นักบุญกาเบรียล นักบุญราฟาเอล และบรรดาทูตสวรรค์ผู้อารักขา)

CCC ข้อ 430 “เยซู” ในภาษาฮีบรูแปลว่า “พระเจ้าทรงช่วยให้รอดพ้น” เมื่อทูตสวรรค์กาเบรียลมาแจ้งข่าว ท่านถวายพระนามให้พระองค์ว่า “เยซู” ซึ่งในเวลาเดียวกันก็แสดงถึงพันธกิจของพระองค์ด้วย ในเมื่อไม่มีใคร “อภัยบาปได้ นอกจากพระเจ้าเท่านั้น” (มก 2:7) พระองค์จึง “จะทรงช่วยประชากรของพระองค์ให้รอดพ้นจากบาป” (มธ 1:21) ในพระเยซูเจ้าพระบุตรนิรันดรของพระองค์ ผู้ทรงรับสภาพมนุษย์ ดังนี้ ในพระเยซูเจ้า พระเจ้าจึงทรงเริ่มประวัติศาสตร์ของพระองค์ที่จะทรงช่วยมนุษย์ให้รอดพ้นขึ้นมาใหม่


ลก 1:25 ช่วยข้าพเจ้าให้พ้นจากความอับอายที่ข้าพเจ้ามีต่อหน้าคนทั้งหลาย : การที่เอลิซาเบธเป็นหมันนั้น ถูกหลายคนมองว่า นั่นเป็นเครื่องหมายที่แสดงว่า พระเจ้าไม่ทรงพอพระทัย ดังนั้นการตั้งครรภ์ของนางจึงเป็นเครื่องหมายแห่งพระพรของพระเจ้า

CCC ข้อ 2374 อ่านเพิ่มเติมด้านบน (ลก 1:7)

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)