แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันพฤหัสบดีสัปดาห์ที่ 1 (ปีคู่) ฉลอง น.ฟรังซิสเซเวียร์

บทอ่านจากพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก (มก 16:15-20)   

เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสกับเขาว่า “ท่านทั้งหลายจงออกไปทั่วโลก ประกาศข่าวดีให้มนุษย์ทั้งปวง ผู้ที่เชื่อและรับศีลล้างบาปก็จะรอดพ้น ผู้ที่ไม่เชื่อจะถูกตัดสินลงโทษ ผู้ที่เชื่อจะทำอัศจรรย์เหล่านี้ได้ คือจะขับไล่ปีศาจในนามของเรา จะพูดภาษาใหม่ๆ ได้ จะจับงูได้ และถ้าดื่มยาพิษก็จะไม่ได้รับอันตราย เขาจะปกมือเหนือคนเจ็บ คนเจ็บเหล่านั้นก็จะหายจากโรคภัย”

      เมื่อพระเยซู องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสดังนี้แล้ว พระเจ้าทรงรับพระองค์ขึ้นสู่สวรรค์ ให้ประทับ ณ เบื้องขวา บรรดาศิษย์ก็แยกย้ายกันออกไปเทศนาสั่งสอนทั่วทุกแห่งหน องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงทำงานร่วมกับเขา และทรงรับรองคำสั่งสอนโดยอัศจรรย์ที่ติดตามมา


มก 16:15-18 พระคริสตเจ้าทรงส่งบรรดาศิษย์ของพระองค์ให้ออกไปเทศน์สอนให้กับนานาชาติ และมอบศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งการไถ่กู้ของพระองค์ให้แก่พวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการโปรดศีลล้างบาป การทำอัศจรรย์ต่างๆ ของบรรดาศิษย์นั้นเป็นการแสดงถึงเครื่องหมายว่านั่นเป็นพระอานุภาพของพระคริสตเจ้าที่ทรงกระทำโดยผ่านทางพวกเขา

คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก CCC ข้อ 75 “พระคริสตเจ้าผู้ทรงทำให้การเผยความจริงของพระเจ้าผู้สูงสุดสำเร็จบริบูรณ์ในพระองค์ ทรงมีพระบัญชาให้บรรดาอัครสาวกไปประกาศพระวรสารที่ทรงสัญญาไว้โดยทางบรรดาประกาศก และพระองค์ทรงกระทำให้สำเร็จไป ทั้งยังทรงประกาศด้วยพระโอษฐ์เองด้วย บรรดาอัครสาวกจะต้องประกาศว่าข่าวดีนั้นเป็นแหล่งที่มาของความจริงทั้งปวงที่นำความรอดพ้นมาให้ และเป็นระเบียบศีลธรรมสำหรับมนุษย์ทุกคน พร้อมกันนั้นท่านยังต้องนำพระพรของพระเจ้ามาแบ่งปันให้มวลมนุษย์ด้วย”

CCC ข้อ 748 “เพราะพระคริสตเจ้าทรงเป็นแสงสว่างส่องนานาชาติ สภาสังคายนาสากลครั้งนี้ที่พระจิตเจ้าทรงเรียกมาชุมนุมกันจึงปรารถนาอย่างยิ่งที่จะให้แสงเจิดจ้าของพระองค์ ซึ่งฉายอยู่บนใบหน้าของพระศาสนจักร ได้ส่องสว่างมนุษย์ทุกคนโดยประกาศข่าวดีแก่มวลมนุษย์” ถ้อยคำเหล่านี้เริ่มต้น “ธรรมนูญสัจธรรมเรื่องพระศาสนจักร” ของสภาสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 ดังนั้น  สภาสังคายนาจึงแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าข้อความเชื่อเรื่องพระศาสนจักรนั้นขึ้นอยู่กับข้อความเชื่อเกี่ยวกับพระเยซูคริสตเจ้า พระศาสนจักรไม่มีแสงสว่างอื่นใดนอกจากแสงสว่างของพระคริสตเจ้า  ซึ่งเป็นเสมือนแสงสว่างของดวงจันทร์ที่สะท้อนแสงของดวงอาทิตย์ ตามภาพเปรียบเทียบที่บรรดาปิตาจารย์ชอบใช้ 

CCC ข้อ 1507 หลังจากทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงรื้อฟื้นพันธกิจประการนี้โดยตรัสว่า “ในนามของเรา […] เขาจะปกมือเหนือคนเจ็บ คนเจ็บเหล่านั้นก็จะหายจากโรคภัย” (มก 16:17-18) และทรงรับรองพันธกิจนี้โดยเครื่องหมายอัศจรรย์ต่างๆ ที่พระศาสนจักรกระทำโดยเรียกขานพระนามของพระองค์ เครื่องหมายอัศจรรย์เหล่านี้แสดงให้เห็นโดยเฉพาะว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็น “พระเจ้าผู้ทรงช่วยให้รอดพ้น”


มก 16:15 การส่งบรรดาอัครสาวกของพระคริสตเจ้าให้ออกไปนั้นมีความเป็นสากล กล่าวคือ เพื่อนำสารแห่งพระวรสารไปสู่คนทั้งโลก ในการออกไปเทศน์สอนนี้ พระองค์ได้ทรงสัญญาว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากพระจิตเจ้า ผู้ประทานกำลังและการทรงนำในการทำภารกิจนี้ให้สำเร็จสมบูรณ์ พันธกิจการส่งออกไปของบรรดาอัครสาวกนั้นยังคงเป็นหน้าที่หลักของพระศาสนจักร ซึ่งนำโดยบรรดาบิชอป ผู้สืบตำแหน่งต่อจากบรรดาอัครสาวก ร่วมกับบรรดาพระสงฆ์และสังฆานุกร ในฐานะผู้ร่วมงานศาสนบริการ ส่วนบรรดาฆราวาสถูกเรียกให้มีส่วนร่วมในพันธกิจของบรรดาอัครสาวกโดยอาศัยการพูด และดำรงชีวิตอยู่ในความซื่อสัตย์ต่อพระคริสตเจ้า และต่อพระศาสนจักรของพระองค์ ตามสถานภาพของพวกเขา 

CCC ข้อ 888 บรรดาพระสังฆราช พร้อมกับบรรดาพระสงฆ์ผู้ช่วยของท่าน “ก่อนอื่นมีหน้าที่ประกาศข่าวดีของพระวรสารของพระเจ้าแก่ทุกคน” ตามพระบัญชาขององค์พระผู้เป็นเจ้า ท่านเหล่านี้ “เป็นผู้ประกาศความเชื่อ นำศิษย์ใหม่ๆ เข้ามาหาพระคริสตเจ้า และเป็นผู้สั่งสอนความเชื่อของบรรดาอัครสาวกอย่างแท้จริงโดยอำนาจของพระคริสตเจ้าที่ได้รับมา”

      CCC ข้อ 889 พระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็นความจริงทรงประสงค์ให้พระศาสนจักรมีส่วนร่วมในความไม่รู้จักหลงผิดของพระองค์ เพื่อทรงรักษาพระศาสนจักรไว้ให้มีความเชื่อถูกต้องตามที่ได้รับสืบทอดมาจากบรรดาอัครสาวก ประชากรของพระเจ้า “ยึดมั่นในความเชื่ออย่างไม่ผิดพลั้งอาศัย ‘ความสำนึกในความเชื่อเหนือธรรมชาติ’ โดยมีผู้มีอำนาจสั่งสอนของพระศาสนจักรคอยแนะนำ”

CCC ข้อ 897 คำว่า “ฆราวาส” หมายถึงทุกคนผู้มีความเชื่อในพระคริสตเจ้า นอกจากผู้ได้รับศีลบวชขั้นใดขั้นหนึ่งและผู้อยู่ในสถานะนักพรตในพระศาสนจักร นั่นคือผู้มีความเชื่อในพระคริสตเจ้าผู้ร่วมในพระวรกายกับพระคริสตเจ้าโดยศีลล้างบาป มีส่วนในบทบาทสมณะ ประกาศก และกษัตริย์ของพระคริสตเจ้าตามวิธีการของตน และปฏิบัติพันธกิจของประชากรคริสตชนทั้งหมดในพระศาสนจักรและในโลกตามส่วนของตน”

CCC ข้อ 898 “โดยกระแสเรียกเฉพาะของตน บรรดาฆราวาสมีหน้าที่แสวงหาพระอาณาจักรของพระเจ้าโดยปฏิบัติและจัดการกิจการทางโลกตามพระประสงค์ของพระเจ้า […] กิจกรรมทางโลกทุกอย่างจึงเกี่ยวข้องเป็นพิเศษกับบรรดาฆราวาสซึ่งมีความสัมพันธ์กับเรื่องเหล่านี้อย่างใกล้ชิด เขาต้องอธิบายความหมายและจัดการให้กิจกรรมเหล่านี้ดำเนินไปและพัฒนายิ่งขึ้นตลอดเวลาตามแผนของพระคริสตเจ้าและเป็นการสรรเสริญพระผู้สร้างและพระผู้กอบกู้”

  CCC ข้อ 899 บรรดาคริสตชนฆราวาสมีหน้าที่เป็นพิเศษที่จำเป็นจะต้องริเริ่มงานถ้าเป็นเรื่องของการค้นคว้าหาให้พบวิธีการต่างๆ เพื่อทำให้คำสอนและชีวิตคริสตชนแทรกซึมเข้าไปในสภาพความเป็นอยู่ด้านสังคม การเมืองและเศรษฐกิจ การริเริ่มเหล่านี้เป็นองค์ประกอบชีวิตของพระศาสนจักรตามปกติ

              “บรรดาคริสตชนผู้มีความเชื่อ โดยเฉพาะบรรดาฆราวาส อยู่ในแนวหน้าชีวิตของพระศาสนจักร อาศัยพวกเขานี้แหละพระศาสนจักรจึงเป็นหลักการชีวิตของสังคมมนุษย์ ดังนั้น เขาเหล่านี้โดยเฉพาะจึงต้องสำนึกอยู่เสมอให้ชัดเจนยิ่งๆ ขึ้นว่าตนไม่เพียงแต่อยู่ในพระศาสนจักรเท่านั้น แต่เป็นพระศาสนจักร นั่นคือ เป็นชุมชนคริสตชนในโลกภายใต้ปกครองของผู้เป็นพระประมุขร่วมกัน นั่นคือสมเด็จพระสันตะปาปาและบรรดาพระสังฆราชผู้มีความสัมพันธ์กับพระองค์ เขาทั้งหลายเป็นพระศาสนจักร”

  CCC ข้อ 900 บรรดาฆราวาสโดยอำนาจของศีลล้างบาปและศีลกำลังได้รับมอบหมายงานธรรมทูตเช่นเดียวกับ คริสตชนผู้มีความเชื่อทุกคน เขามีหน้าที่และสิทธิทั้งเป็นการส่วนตัวและเมื่อร่วมกันเป็นหมู่คณะ มนุษย์ทุกคนทั่วโลกจะต้องรู้และยอมรับว่าเขาเป็นผู้ที่พระเจ้าทรงส่งมา บอกข่าวความรอดพ้นให้ทราบ หน้าที่นี้ยิ่งเร่งรัดมากขึ้นเพราะมวลมนุษย์จะได้ยินพระวรสารและรู้จักพระคริสตเจ้าได้ผ่านทางพวกเขาเท่านั้น กิจกรรมของเขาในชุมชนของพระศาสนจักร จึงจำเป็นจนกระทั่งว่าถ้าไม่มีกิจกรรมนี้แล้ว งานธรรมทูตของบรรดาผู้อภิบาลส่วนใหญ่ก็จะไม่อาจบรรลุถึงประสิทธิผลสมบูรณ์ได้

CCC ข้อ 977 องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราทรงผูกมัดการอภัยบาปเข้ากับความเชื่อและศีลล้างบาป “ท่านทั้งหลายจงออกไปทั่วโลก ประกาศข่าวดีให้มนุษย์ทั้งมวล ผู้ที่เชื่อและรับศีลล้างบาปก็จะรอดพ้น” (มก 16:15-16) ศีลล้างบาปเป็นศีลแรกและสำคัญที่สุดของการอภัยบาป เพราะศีลนี้รวมเรากับพระคริสตเจ้าผู้ทรงยอมสละพระชนมชีพเพราะบาปของเรา และทรงกลับคืนพระชนมชีพเพื่อให้เราเป็นคนชอบธรรม เพื่อ “ให้เราดำเนินชีวิตแบบใหม่” (รม 6:4)


มก 16:16 ผู้ที่เชื่อและรับศีลล้างบาปก็จะรอดพ้น : ในการมอบหมายพันธกิจของพระองค์ให้แก่บรรดาอัครสาวกนั้น พระคริสตเจ้าทรงเชื่อมโยงการให้อภัยบาปเข้ากับศีลล้างบาปและความเชื่อด้วย ความเชื่อคือสิ่งจำเป็นสำหรับความรอดพ้น และศีลล้างบาปคือศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งความเชื่อ โดยการติดตามพระวาจาของพระคริสตเจ้า พระศาสนจักรได้สอนมาอย่างต่อเนื่องว่า ศีลล้างบาปจำเป็นสำหรับการรอดพ้น “ศีลล้างบาปจำเป็นสำหรับผู้ที่ได้รับฟังการประกาศพระวรสารแล้วและมีโอกาสที่จะขอรับศีลนี้” (CCC ข้อ 1257) โดยทางภายในพระศาสนจักรเท่านั้นที่ศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งการไถ่กู้ซึ่งถูกก่อตั้งขึ้นโดยพระคริสตเจ้าทำให้ผู้มีความเชื่อสามารถพบปะกับพระคริสตเจ้าได้อาศัยวิถีทางที่ดีที่สุดเท่าที่สามารถโดยทางศีลศักดิ์สิทธิ์

CCC ข้อ 161 ความเชื่อในพระเยซูคริสตเจ้าและในพระองค์ผู้ทรงส่งพระองค์ท่านมาเพื่อช่วยเราให้รอดพ้น เป็นสิ่งที่จำเป็นที่เราต้องมีเพื่อรับความรอดพ้นนี้ “เพราะ ‘ถ้าไม่มีความเชื่อแล้ว จะเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้าไม่ได้เลย’ (ฮบ 11:6) ดังนั้น จึงไม่มีผู้ใดจะเข้ามามีส่วนร่วมกับบรรดาบุตรของพระองค์ได้โดยไม่ได้รับความชอบธรรม และไม่มีผู้ใดนอกจาก ‘ผู้ที่ยืนหยัดจนถึงวาระสุดท้าย’ (มธ 10:22; 24:13) ที่จะได้รับชีวิตนิรันดร”

CCC ข้อ 183 ความเชื่อจำเป็นสำหรับความรอด องค์พระผู้เป็นเจ้าเองทรงยืนยันว่า “ผู้ที่เชื่อและรับศีลล้างบาปก็จะรอดพ้น ผู้ที่ไม่เชื่อจะถูกตัดสินลงโทษ” (มก 16:16)

CCC ข้อ 1253 ศีลล้างบาปเป็นศีลแห่งความเชื่อ แต่ความเชื่อเรียกร้องให้มีชุมชน ผู้มีความเชื่อในพระคริสตเจ้าแต่ละคนมีความเชื่อได้ก็ในความเชื่อของพระศาสนจักรเท่านั้น ความเชื่อที่จำเป็นสำหรับศีลล้างบาปไม่ใช่ความเชื่อที่สมบูรณ์และเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว แต่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่ถูกเรียกมาเพื่อพัฒนาตนให้เติบโตขึ้น (ในพิธีรับศีลล้างบาป) พระสงฆ์ผู้ประกอบพิธีถามผู้สมัครรับศีลหรือพ่อแม่อุปถัมภ์ว่า “ท่านขออะไรจากพระศาสนจักรของพระเจ้า” และเขาตอบว่า “ขอความเชื่อ”

  CCC ข้อ 1254 ความเชื่อในทุกคนที่รับศีลล้างบาปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเด็กทารกหรือผู้ใหญ่ ต้องเติบโตขึ้นหลังจากรับศีลล้างบาป เพราะเหตุนี้ ทุกปีในพิธีตื่นเฝ้าปัสกา พระศาสนจักรจึงมีพิธีรื้อฟื้นคำสัญญาศีลล้างบาปการเตรียมตัวรับศีลล้างบาปเพียงแต่นำมาถึงธรณีของชีวิตใหม่เท่านั้น ศีลล้างบาปเป็นต้นธารของชีวิตใหม่ในพระคริสตเจ้าซึ่งชีวิตคริสตชนทั้งหมดหลั่งไหลออกมาจากพระองค์

  CCC ข้อ 1255 ความช่วยเหลือของบิดามารดามีความสำคัญมาก เพื่อให้พระหรรษทานแห่งศีลล้างบาปพัฒนาขึ้นได้ ในเรื่องนี้ บิดามารดาอุปถัมภ์ก็มีบทบาทด้วย เขาต้องเป็นผู้มีความเชื่อเข้มแข็ง เหมาะสมและพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้ที่เพิ่งรับศีลล้างบาปในการเดินทางแห่งชีวิตคริสตชน บทบาทของพ่อแม่อุปถัมภ์เป็นหน้าที่แท้จริงในพระศาสนจักร ชุมชนพระศาสนจักรท้องถิ่นทั้งชุมชนมีส่วนรับผิดชอบในการอธิบายและรักษาพระหรรษทานที่ได้รับจากศีลล้างบาป

CCC ข้อ 1256 ศาสนบริกรผู้ประกอบพิธีศีลล้างบาปตามปกติคือพระสังฆราช พระสงฆ์ และในพระศาสนจักรละติน แม้สังฆานุกรด้วย ในกรณีจำเป็น ทุกคน แม้แต่ผู้ที่ยังไม่ได้รับศีลล้างบาปด้วย ถ้ามีเจตนาตามที่กำหนดไว้ ก็อาจประกอบพิธีศีลล้างบาปได้โดยใช้สูตรเรียกขานพระตรีเอกภาพ เจตนาที่จำเป็นต้องมีก็คือความปรารถนาที่จะทำสิ่งที่พระศาสนจักรทำเมื่อประกอบพิธีล้างบาป พระศาสนจักรพบเหตุผลของการทำเช่นนี้ได้ในพระประสงค์ของพระเจ้าที่ทรงประสงค์ให้ทุกคนได้รอดพ้น และในความจำเป็นของศีลล้างบาปเพื่อจะรอดพ้นได้ 

CCC ข้อ 1257 องค์พระผู้เป็นเจ้าเองทรงยืนยันว่าศีลล้างบาปจำเป็นสำหรับความรอดพ้น[56] พระองค์ยังประทานพระบัญชาให้บรรดาศิษย์ไปประกาศข่าวดีและล้างบาปแก่ชนทุกชาติ[57] ศีลล้างบาปจำเป็นสำหรับผู้ที่ได้รับฟังการประกาศพระวรสารแล้วและมีโอกาสที่จะขอรับศีลนี้[58] พระศาสนจักรไม่รู้จักวิธีการอื่นเพื่อจะเข้าไปรับความสุขนิรันดรได้อย่างมั่นใจนอกจากโดยศีลล้างบาป ดังนั้น พระศาสนจักรจึงระวังที่จะไม่ละเลยพันธกิจที่ได้รับมาจากองค์พระผู้เป็นเจ้าเพื่อทำให้ทุกคนที่อาจรับศีลล้างบาปได้เกิดใหม่ “จากน้ำและพระจิตเจ้า” พระเจ้าทรงผูกมัดความรอดพ้นไว้กับศีลล้างบาป แต่พระองค์ไม่ทรงถูกผูกมัดโดยศีลศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์


มก 16:17-18 เครื่องหมายและอัศจรรย์ต่างๆ ที่กระทำโดยพระคริสตเจ้าและบรรดาศิษย์ของพระองค์นั้น แสดงอย่างชัดเจนถึงพระอาณาจักรของพระเจ้า และพลังแห่งการรักษาของพระคริสตเจ้าที่ทำงานผ่านทางศาสนบริกรของพระองค์ บรรดาศิษย์สามารถทำปฏิบัติงานเช่นนั้น เพราะพวกเขากระทำในพระนามของพระองค์ “ดังนั้น อัศจรรย์ของพระคริสตเจ้าและบรรดานักบุญ ประกาศก การเติบโตของพระศาสนจักรและความศักดิ์สิทธิ์ ความอุดมสมบูรณ์และความมั่นคงของเธอ สิ่งเหล่านี้คือเครื่องหมายที่แน่นอนของการเปิดเผยอันศักดิ์สิทธิ์ ปรับให้เข้ากับความฉลาดของทุกคน พวกเขาเป็นแรงจูงใจของความน่าเชื่อถือซึ่งแสดงให้เห็นว่าการยอมรับความเชื่อนั้น ไม่ได้เป็นแรงกระตุ้นของจิตใจที่มืดบอด” (Dei Filius,3: DS 3008-3010; เทียบ มก 16:20; ฮบ 2:4) แต่ค่อนข้างสมเหตุสมผล

CCC ข้อ 434 การกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้าทำให้พระนามของพระเจ้า “ผู้ทรงช่วยให้รอดพ้น” ได้รับสิริรุ่งโรจน์ เพราะนับตั้งแต่เวลานั้นพระนามเยซูแสดงอานุภาพของพระนามอย่างสมบูรณ์ “พระนามนี้ประเสริฐกว่านามอื่นใดทั้งสิ้น” (ฟป 2:9-10) บรรดาจิตชั่วเกรงกลัวพระนามของพระองค์ และบรรดาศิษย์ของพระองค์ก็ทำอัศจรรย์ในพระนามนี้ เพราะไม่ว่าเขาทั้งหลายจะขออะไรจากพระบิดาในพระนามของพระองค์ พระบิดาก็ประทานให้

CCC ข้อ 670 นับตั้งแต่การเสด็จสู่สวรรค์แล้ว แผนการของพระเจ้ากำลังบรรลุถึงการสำเร็จเป็นจริง ขณะนี้เรากำลังอยู่ใน “วาระสุดท้าย” (1 ยน 2:18) “วาระสุดท้ายของโลกมาถึงเราแล้ว และการรื้อฟื้นโลกก็ถูกกำหนดไว้โดยไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้อีก และกำลังดำเนินการอยู่บ้างแล้วในโลกนี้ เพราะพระศาสนจักรก็มีความศักดิ์สิทธิ์แท้จริงแล้วในโลก แม้จะยังไม่สมบูรณ์” พระอาณาจักรของพระคริสตเจ้าแสดงตนแล้วโดยทางเครื่องหมายอัศจรรย์ ซึ่งติดตามการประกาศพระอาณาจักรนี้ทางพระศาสนจักร

CCC ข้อ 699 “มือ” (หรือ “พระหัตถ์”) พระเยซูเจ้าทรงปกพระหัตถ์รักษาคนเจ็บป่วย และอวยพระพรเด็กๆ บรรดาอัครสาวกจะทำเช่นเดียวกันในพระนามของพระองค์ ยิ่งกว่านั้น พระเจ้ายังประทานพระจิตเจ้าอาศัยการปกมือของบรรดาอัครสาวก จดหมายถึงชาวฮีบรูกล่าวถึง “การปกมือ” ว่าเป็น “คำสอนพื้นฐาน” สำคัญเรื่องหนึ่งของตน พระศาสนจักรยังรักษาเครื่องหมายนี้ซึ่งแสดงถึงการประทานพลังของพระจิตเจ้าไว้ในพิธี “epiclesis” (= การอัญเชิญพระจิตเจ้า) ของศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ

CCC ข้อ 1507 อ่านเพิ่มเติมด้านบน (มก 16:15-18)

CCC ข้อ 1673 เมื่อพระศาสนจักรวอนขอต่อหน้าสาธารณะและวอนขอเดชะพระนามของพระเยซู คริสตเจ้าอย่างเป็นทางการให้บุคคลหนึ่งหรือสิ่งหนึ่งได้รับการปกป้องจากอิทธิพลของปีศาจและพ้นจากอำนาจปกครองของมัน เราเรียกกิจการเช่นนี้ว่าการขับไล่ปีศาจ (exorcismus) พระเยซูเจ้าเคยทรงปฏิบัติกิจกรรมนี้ และพระศาสนจักรก็มีอำนาจและหน้าที่ขับไล่ปีศาจด้วย ในพิธีศีลล้างบาปก็มีการประกอบพิธีขับไล่ปีศาจในรูปแบบธรรมดา พิธีขับไล่ปีศาจอย่างสง่า ที่เรียกว่า “magnus exorcismus” นั้น พระสงฆ์ไม่อาจประกอบพิธีได้นอกจากจะได้รับอนุญาตจากพระสังฆราชเสียก่อน ในเรื่องนี้  จำเป็นต้องดำเนินการอย่างรอบคอบโดยปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่พระศาสนจักรกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด การขับไล่ปีศาจมีเจตนาที่จะขับไล่ปีศาจหรือช่วยให้พ้นจากอิทธิพลของปีศาจโดยอาศัยอำนาจด้านจิตวิญญาณที่พระเยซูเจ้าทรงมอบไว้แก่พระศาสนจักรของพระองค์ กรณีของความเจ็บป่วย โดยเฉพาะความเจ็บป่วยทางจิต เป็นกรณีที่แตกต่างกันอย่างมาก (จากการถูกปีศาจสิง) การบำบัดรักษากรณีเช่นนี้จึงเป็นเรื่องของวิทยาการทางการแพทย์ จึงสำคัญมากที่ก่อนจะประกอบพิธีขับไล่ปีศาจจะต้องรู้ให้แน่ว่าเป็นเรื่องของการถูกปีศาจสิงและไม่ใช่ความเจ็บป่วยทางจิต

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)