แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 1 เตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า (ปีคู่) 

บทอ่านจากพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก (มก 13:33-37) 

เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสกับบรรดาศิษย์ว่า “จงระวัง จงตื่นเฝ้าเถิด เพราะท่านทั้งหลายไม่รู้ว่าวันเวลานั้นจะมาถึงเมื่อไร เหมือนกับชายคนหนึ่งที่ก่อนจะเดินทางออกจากบ้านได้มอบอำนาจให้กับผู้รับใช้ ให้แต่ละคนมีงานของตนและยังสั่งคนเฝ้าประตูให้คอยตื่นเฝ้าไว้ ดังนั้น ท่านทั้งหลายจงตื่นเฝ้าเถิด เพราะท่านไม่รู้ว่าเจ้าของบ้านจะมาเมื่อไร อาจจะมาเวลาค่ำ เวลาเที่ยงคืน เวลาไก่ขัน หรือเวลารุ่งเช้า ถ้าเขากลับมาโดยไม่คาดคิด อย่าให้เขาพบท่านกำลังหลับอยู่ สิ่งที่เราบอกท่าน เราก็บอกทุกคนด้วยว่า จงตื่นเฝ้าเถิด”


มก 13:37 จงตื่นเฝ้าเถิด : คำกล่าวสุดท้ายนี้สรุปสาระสำคัญพื้นฐานของพระวรสารบทนี้ พระคริสตเจ้าทรงเตือนผู้มีความเชื่อให้เฝ้าระวัง และพร้อมอยู่เสมอที่จะพบกับบุตรแห่งมนุษย์เมื่อพระองค์จะเสด็จกลับมาอีกครั้งหนึ่ง การทำลายกรุงเยรูซาเล็มที่ใกล้เข้ามาและประเด็นเรื่องการพิพากษาในวันสิ้นโลกนั้น จะช่วยเป็นแรงกระตุ้นให้เจริญชีวิตอย่างซื่อสัตย์และพากเพียร

คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก CCC ข้อ 673 หลังการเสด็จสู่สวรรค์ การเสด็จกลับมาอย่างรุ่งโรจน์ของพระคริสตเจ้าก็ใกล้จะมาถึงแม้ว่าไม่ใช่ธุระของเรา “ที่จะรู้วันเวลาที่พระบิดาทรงกำหนดไว้โดยอำนาจของพระองค์” (กจ 1:7) เหตุการณ์ในวาระสุดท้ายนี้อาจเกิดขึ้นขณะใดก็ได้ แม้ว่าทั้งเหตุการณ์นี้รวมทั้งความทุกข์ยากต่างๆ ที่จะนำหน้ามานั้นยัง “จะมาไม่ถึง” ก็ตาม

CCC ข้อ 1014 พระศาสนจักรเตือนเราให้เตรียมตัวสำหรับเวลาที่เราจะตาย (ดังที่บทร่ำวิงวอนโบราณต่อนักบุญทั้งหลายกล่าวไว้ว่า “จากความตายฉับพลันโดยไม่คาดฝัน ขอช่วยให้พ้นเถิด พระเจ้าข้า”) ขอให้พระมารดาของพระเจ้าทรงภาวนาวอนขอเพื่อเรา “เมื่อจะตาย” (บท “วันทามารีย์”) พระศาสนจักรยังเตือนเราให้มอบตนแก่นักบุญโยเซฟผู้อุปถัมภ์ให้ตายดี “ดังนั้นในทุกการกระทำและความคิดท่านต้องคิดประหนึ่งว่าท่านจะต้องตายทันทีในขณะนี้ ถ้าท่านมีมโนธรรมที่ดี ท่านก็คงไม่ต้องกลัวความตายมากนัก น่าจะเป็นการดีที่จะระวังตัวหลีกหนีบาปมากกว่าที่จะหลีกหนีความตาย ถ้าท่านยังไม่เตรียมพร้อมในวันนี้ ท่านจะเตรียมพร้อมพรุ่งนี้ได้อย่างไร”   “ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า ขอพระองค์ทรงรับคำสรรเสริญเพราะความตายซึ่งเป็นเสมือนน้องสาวที่ไม่มีมนุษย์ที่ยังมีชีวิตคนใดอาจหนีพ้นได้ วิบัติแก่คนเหล่านั้นที่จะตายในบาปหนัก เขาเหล่านั้นเป็นสุข ผู้ที่ความตายพบเขากำลังปฏิบัติตามพระประสงค์ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของพระองค์ เพราะความตายครั้งที่สองจะไม่ทำร้ายเขา”

CCC ข้อ 2849 การต่อสู้เช่นนี้และชัยชนะเช่นนี้ย่อมเป็นไปไม่ได้นอกจากด้วยการอธิษฐานภาวนา อาศัยการอธิษฐานภาวนา พระเยซูเจ้าทรงพิชิตมารผจญตั้งแต่แรก รวมทั้งในการต่อสู้กับการทนทุกข์ทรมานครั้งสุดท้าย ในการวอนขอพระบิดาของเราครั้งนี้ พระคริสตเจ้าทรงรวมเราไว้กับการต่อสู้กับการทนทุกข์ครั้งสุดท้ายของพระองค์ด้วย มีการกล่าวอยู่ตลอดเวลาให้เรามีใจตื่นเฝ้าระวัง ร่วมกับการตื่นเฝ้าระวังของพระองค์ การตื่นเฝ้าเป็น “การคอยเฝ้าระวังจิตใจ” และพระเยซูเจ้าทรงวอนขอพระบิดาให้ทรงเฝ้ารักษาพวกเราไว้ในพระนามของพระองค์ พระจิตเจ้าทรงพยายามปลุกเร้าเราไว้ตลอดเวลาให้คอยตื่นเฝ้าเช่นนี้ คำขอข้อนี้มีความหมายจริงจังเป็นพิเศษในความสัมพันธ์กับการผจญในการต่อสู้ครั้งสุดท้ายของเราในโลกนี้ คำวอนขอข้อนี้วอนขอให้เรามีความยืนหยัดมั่นคงจนถึงวาระสุดท้าย “ดูเถิด เรามาเหมือนขโมย ผู้ที่ตื่นเฝ้า....ย่อมเป็นสุข” (วว 16:15)

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)