แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันพฤหัสบดีสัปดาห์ที่ 26  (ปีคู่)  

บทอ่านจากพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว ( มธ 18:1-5)

ขณะนั้น บรรดาศิษย์เข้ามาเฝ้าพระเยซูเจ้า ทูลถามว่า “ผู้ใดยิ่งใหญ่ที่สุดในอาณาจักรสวรรค์” พระเยซูเจ้าทรงเรียกเด็กเล็กๆ คนหนึ่งให้มายืนอยู่กลางกลุ่มพวกเขา แล้วตรัสว่า “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ถ้าท่านไม่กลับเป็นเหมือนเด็กเล็กๆ ท่านจะเข้าอาณาจักรสวรรค์ไม่ได้เลย ดังนั้น ผู้ใดที่ถ่อมตนลงเป็นเหมือนเด็กเล็กๆ คนนี้ ผู้นั้นจะยิ่งใหญ่ที่สุดในอาณาจักรสวรรค์ ผู้ใดต้อนรับเด็กเล็กๆ เช่นนี้ในนามของเรา ผู้นั้นต้อนรับเรา”


       มธ 18:1-4 การกลายเป็น “เหมือนเด็กเล็กๆ” เพื่อจะเข้าในพระอาณาจักรสวรรค์นั้น ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นคนที่ไม่บรรลุวุฒิภาวะหรือไร้เดียงสา แต่หมายถึงการกลายเป็น “ผู้เล็กน้อย” ที่ปลูกฝังความสุภาพถ่อมตนภายในจิตใจ และรู้จักวางใจในพระเจ้า

  คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก CCC ข้อ 526 “การกลับเป็นเด็ก” ในความสัมพันธ์กับพระเจ้าเป็นเงื่อนไขเพื่อจะเข้าพระอาณาจักรได้ เพื่อจะทำเช่นนี้ได้ จึงจำเป็นต้องถ่อมตน กลายเป็นคนไม่มีความสำคัญ ยิ่งกว่านั้นยังจำเป็นต้อง “เกิดใหม่” (ยน 3:7) คือเกิดจากพระเจ้า เพื่อใครคนหนึ่งจะเป็นบุตรของพระเจ้าได้ พระธรรมล้ำลึกการสมภพของพระคริสตเจ้าจะสำเร็จสมบูรณ์ก็เมื่อพระคริสตเจ้า “จะปรากฏอยู่ในเราอย่างชัดเจน” การสมภพของพระเยซูเจ้าจึงเป็นพระธรรมล้ำลึกแห่ง “การแลกเปลี่ยนน่าพิศวง” นี้ “การแลกเปลี่ยนเช่นนี้น่าพิศวงจริง พระผู้เนรมิตสร้างมนุษยชาติทรงรับร่างกายที่มีชีวิตมาบังเกิดจากพระนางพรหมจารี และเมื่อทรงถ่อมพระองค์สมภพเป็นมนุษย์ พระองค์ก็ประทานพระเทวภาพของพระองค์ให้แก่เรา” 

  CCC ข้อ 2785 นอกจากนั้น เรายังต้องกลับใจทำตนให้มีใจถ่อมตนและวางใจในพระองค์ กลับเป็น “เหมือนเด็กเล็กๆ” (มธ 18:3) เพราะพระบิดาทรงเปิดเผยพระองค์ “แก่บรรดาผู้ตํ่าต้อย” (มธ 11:25) การอธิษฐานภาวนาเป็นสภาพ “ที่เกิดขึ้นจากการพิศเพ่งดูเพียงพระเจ้า และจากความรักกระตือรือร้น ที่ทำให้จิตใจมุ่งหาความรักของพระเจ้า และสละตนให้มีความใกล้ชิด สนทนากับพระองค์ด้วยความศรัทธาเป็นพิเศษเหมือนสนทนากับบิดาของตน” “‘ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย’ เมื่อออกพระนามนี้ ความรักย่อมปลุกตัวขึ้น – จะมีอะไรเป็นที่รักของบุตรมากกว่าบิดา? – ความรักที่วอนขอก็ปลุกตัวขึ้นด้วย […] พร้อมกับความรู้สึกว่าเราจะได้รับตามที่เรากำลังจะวอนขอ […] มีอะไรเล่าที่พระองค์จะไม่ประทานให้บุตรที่วอนขอ ในเมื่อก่อนหน้านั้นพระองค์ได้ประทานให้เขาเป็นบุตรแล้ว”


           มธ 18:5-9 ข้อความนี้แสดงถึงความจริงจังของการหลีกเลี่ยงการเป็นที่สะดุดและโอกาสของการทำบาปด้วย

        CCC ข้อ 2284 การชักนำให้ผู้อื่นทำบาปเป็นท่าทีหรือวิธีปฏิบัติที่นำผู้อื่นให้ทำผิด ผู้ชักนำให้ผู้อื่นทำบาปก็เป็นผู้ผจญเพื่อนพี่น้องให้ทำผิด การนี้ทำให้คุณธรรมและความถูกต้องได้รับความเสียหาย อาจชักนำเพื่อนพี่น้องให้รับความตายด้านจิตใจได้ การชักนำให้ผู้อื่นทำบาปนับเป็นความผิดหนักถ้าโดยการกระทำหรือการละเว้นดังกล่าวจงใจนำผู้อื่นให้ทำผิดหนัก

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)