แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันเสาร์สัปดาห์ที่ 23 (ปีคู่)

บทอ่านจากพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 6:43-49)

 เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสกับบรรดาศิษย์ว่า“ต้นไม้ที่เกิดผลไม่ดีย่อมไม่ใช่ต้นไม้พันธุ์ดี หรือต้นไม้พันธุ์ไม่ดีย่อมไม่ให้ผลดีเช่นกัน เรารู้จักต้นไม้แต่ละต้นได้จากผลของต้นไม้นั้น เราย่อมไม่เก็บผลมะเดื่อเทศจากพงหนาม หรือเก็บผลองุ่นจากกอหนาม คนดีย่อมนำสิ่งที่ดีออกจากขุมทรัพย์ที่ดีในใจของตน ส่วนคนเลวย่อมนำสิ่งที่เลวออกมาจากขุมทรัพย์ที่เลวของตน เพราะปากย่อมกล่าวสิ่งที่อัดอั้นอยู่ในใจออกมา

     ทำไมท่านจึงเรียกเราว่า ‘ข้าแต่พระเจ้า ข้าแต่พระเจ้า’ แต่ไม่ปฏิบัติตามที่เราบอกทุกคนที่มาหาเราย่อมฟังคำของเราและนำไปปฏิบัติ เราจะชี้ให้ท่านทั้งหลายเห็นว่า เขาเปรียบเสมือนผู้ใด เขาเปรียบเสมือนคนที่สร้างบ้าน เขาขุดหลุม ขุดลงไปลึก และวางรากฐานไว้บนหิน เมื่อเกิดน้ำท่วม น้ำในแม่น้ำไหลมาปะทะบ้านหลังนั้น แต่ทำให้บ้านนั้นสั่นคลอนไม่ได้ เพราะบ้านหลังนั้นสร้างไว้อย่างดี แต่ผู้ที่ฟังและไม่ปฏิบัติตาม ก็เปรียบเสมือนคนที่สร้างบ้านไว้บนพื้นดินโดยไม่มีรากฐาน เมื่อน้ำในแม่น้ำไหลมาปะทะ บ้านนั้นก็พังทลายลงทันที และเสียหายมาก”


 ลก 6:47-49 เราต้องไม่เพียงแต่ฟังพระวาจาของพระเจ้าเท่านั้น แต่เราต้องนำพระวาจานั้นไปภาวนาด้วยความตั้งใจที่จะนำไปสู่การปฏิบัติด้วย พระวาจาของพระเจ้าจะต้องเป็นแกนหลักของชีวิตภาวนาของเรา คนก่อสร้างที่ไม่สร้างบ้านให้อยู่บนรากฐานที่มั่นคงก็เปรียบเสมือนคนที่ไม่ตอบรับพระวาจาของพระเจ้าในชีวิตประจำวันของพวกเขา

 CCC ข้อ 1802 พระวาจาของพระเจ้าเป็นแสงสว่างส่องก้าวเดินของเรา เราจึงต้องใช้ความเชื่อและการอธิษฐานภาวนาทำให้พระวาจานี้เป็นของตนและนำมาใช้ในทางปฏิบัติ นี่จึงเป็นวิธีการเสริมสร้างมโนธรรม

 CCC ข้อ 2587 หนังสือเพลงสดุดีเป็นหนังสือที่พระวาจาของพระเจ้ากลายเป็นคำอธิษฐานภาวนาของมนุษย์ในหนังสือเล่มอื่นๆ ของพันธสัญญาเดิมนั้น “ถ้อยคำประกาศถึงกิจการ[ที่พระเจ้าทรงกระทำเพื่อมนุษย์] และอธิบายข้อเร้นลับในกิจการเหล่านั้น” ส่วนในหนังสือเพลงสดุดีถ้อยคำของผู้นิพนธ์เพลงสดุดีกล่าวถึงผลงานที่ช่วยให้รอดพ้นของพระเจ้าโดยขับร้องถึงผลงานเหล่านี้ถวายพระองค์พระจิตเจ้าองค์เดียวกันทรงเป็นพลังบันดาลพระทัยของพระเจ้าและบันดาลการตอบสนองของมนุษย์ พระคริสตเจ้าจะทรงรวมทั้งสองสิ่งนี้เข้าไว้ด้วยกัน ในพระองค์ บทเพลงสดุดียังคงไม่เลิกสอนเราให้อธิษฐานภาวนา

 CCC ข้อ 2665 การอธิษฐานภาวนาของพระศาสนจักร ซึ่งได้รับการหล่อเลี้ยงจากพระวาจาของ   พระเจ้าและการประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ สอนเราให้อธิษฐานภาวนาต่อพระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้า แม้ว่าการอธิษฐานภาวนาของพระศาสนจักรส่วนใหญ่จะมุ่งหาพระบิดา ก็ยังมีสูตรบทภาวนาจำนวนหนึ่งในทุกธรรมประเพณีทางพิธีกรรมที่มุ่งหาพระคริสตเจ้าด้วย เพลงสดุดีบางบทที่ในปัจจุบันได้รับการปรับใช้ตามสถานการณ์ในการอธิษฐานภาวนาของพระศาสนจักร และพันธสัญญาใหม่ยังเชิญชวนให้เราใช้คำพูดกล่าวเพลงสดุดีเหล่านี้ และคิดคำนึงในใจให้เป็นการอธิษฐานภาวนาเรียกหาพระคริสตเจ้า เช่น ข้าแต่พระบุตรของพระเจ้า ข้าแต่พระวจนาตถ์ของพระเจ้า ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า ข้าแต่พระผู้ไถ่กู้ ลูกแกะพระเจ้า ข้าแต่พระมหากษัตริย์ ข้าแต่พระบุตรสุดที่รักข้าแต่พระบุตรของพระนางพรหมจารี ข้าแต่ผู้อภิบาลที่ดี ชีวิตของข้าพเจ้าทั้งหลาย แสงสว่างของข้าพเจ้าทั้งหลาย ความหวังของข้าพเจ้าทั้งหลาย การกลับคืนชีพของข้าพเจ้าทั้งหลายมิตรของมวลมนุษย์ ฯลฯ

 CCC ข้อ 2766 แต่พระเยซูเจ้ามิได้ทรงทิ้งสูตรไว้ให้เรากล่าวซํ้าแบบเครื่องจักร เช่นเดียวกับในบทภาวนาโดยเปล่งเสียงทั้งหลาย พระจิตเจ้าทรงสอนบรรดาบุตรของพระเจ้าโดยทางพระวจนาตถ์ของพระเจ้าให้อธิษฐานภาวนาต่อพระบิดา พระเยซูเจ้าประทานไม่เพียงแต่ถ้อยคำของบทภาวนาในฐานะบุตรให้แก่เราเท่านั้น พระองค์ยังประทานพระจิตเจ้าเพื่อให้บทภาวนานั้นเป็น “จิตและชีวิต” (ยน 6:63) ยิ่งกว่านั้น บทภาวนาของเรามีลักษณะเป็นคำภาวนาของบุตรและเป็นไปได้ก็เพราะพระบิดา “ทรงส่งพระจิตของพระบุตรลงมาในดวงใจของเรา พระจิตผู้ตรัสด้วยเสียงดังว่า ‘อับบา พระบิดาเจ้า’” (กท 4:6) เนื่องจากว่าบทภาวนาของเราอธิบายถึงความปรารถนาของเราเฉพาะพระพักตร์พระบิดา พระบิดา “ผู้ทรงสำรวจจิตใจของมนุษย์ ทรงทราบความปรารถนาของพระจิตเจ้า เพราะว่า พระจิตเจ้า ทรงอธิษฐานเพื่อบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ตามพระประสงค์ของพระเจ้า” (รม 8:27) บทภาวนาตอ่ พระบิดาของเราจึงแทรกอยู่ในพันธกิจล้ำลึกของพระบุตรและพระจิตเจ้า

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)