แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันศุกร์สัปดาห์ที่ 19 (ปีคู่)

บทอ่านจากพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว (มธ 19:3-12)

เวลานั้น ชาวฟาริสีบางคนเข้ามาเพื่อจับผิดพระเยซูเจ้า ทูลถามว่า “เป็นการถูกต้องหรือไม่ ที่ชายจะหย่าร้างกับภรรยาเนื่องด้วยเหตุใดก็ตาม” พระองค์ทรงตอบว่า “ท่านไม่ได้อ่านพระคัมภีร์หรือว่าเมื่อแรกนั้นพระผู้สร้างทรงสร้างมนุษย์ให้เป็นชายและหญิง และตรัสว่า ดังนี้ ชายจะละบิดามารดาไปสนิทอยู่กับภรรยาของตนและชายหญิงจะเป็นเนื้อเดียวกัน เขาจึงไม่เป็นสองอีกต่อไป แต่เป็นเนื้อเดียวกัน ดังนั้น สิ่งที่พระเจ้าทรงรวมกันไว้ มนุษย์อย่าได้แยกเลย”

ชาวฟาริสีจึงทูลถามว่า “แล้วทำไมโมเสสจึงสั่งให้ชายทำหนังสือหย่าร้าง แล้วหย่าร้างได้” พระองค์ตรัสว่า “เพราะใจดื้อแข็งกระด้างของท่าน โมเสสจึงยอมอนุญาตให้หย่าร้างได้ แต่เมื่อแรกเริ่มนั้น หาเป็นเช่นนี้ไม่ เราบอกท่านทั้งหลายว่า ผู้ใดหย่าร้างภรรยาและแต่งงานกับอีกคนหนึ่ง เขาก็ทำผิดประเวณี เว้นแต่ในกรณีแต่งงานไม่ถูกต้อง”

บรรดาศิษย์ทูลพระองค์ว่า “ถ้าสภาพของสามีกับภรรยาเป็นเช่นนี้ ก็ไม่ควรจะแต่งงานเลย” พระองค์ตรัสว่า “ไม่ใช่ทุกคนเข้าใจคำสอนนี้ คนที่เข้าใจคือคนที่พระเจ้าประทานให้ เพราะว่า บางคนเป็นขันทีตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา บางคนถูกมนุษย์ทำให้เป็นขันที และบางคนทำตนเป็นขันทีเพราะเห็นแก่อาณาจักรสวรรค์ ผู้ที่เข้าใจได้ ก็จงเข้าใจเถิด”


มธ 19:1-9 คำสอนของพระคริสตเจ้าได้ทำให้การแต่งงานได้รับการฟื้นฟูกลับสู่ความหมายดั้งเดิมเสียใหม่และกำหนดให้เป็นพันธะตลอดชีวิตสำหรับชายและหญิง

ชายและหญิง : โดยธรรมชาติแล้ว การแต่งงานและความรักในชีวิตสมรสนั้นดำรงอยู่เพื่อความดีของคู่สมรสและเพื่อวัตถุประสงค์ที่จะให้กำเนิดและเลี้ยงดูบุตร โดยทางการให้กำเนิดนี้ สามีและภรรยาเข้ามีส่วนร่วมในงานสร้างของพระเจ้า 

ไม่เป็นสองอีกต่อไป แต่เป็นเนื้อเดียวกัน : พระคริสตเจ้าทรงยืนยันว่าการแต่งงาน คือ การที่ชายและหญิงรวมเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างแยกออกจากกันไม่ได้ (ปฐก 2:24) ในแบบที่ทั้งคู่มอบตนเองให้แก่กันและกันอย่างสมบูรณ์และอย่างยกเลิกไม่ได้

สิ่งที่พระเจ้าทรงรวมกันไว้ มนุษย์อย่าได้แยกเลย : ดังนั้นพระศาสนจักรจึงสอนว่าหลักสำคัญของการแต่งงานแบบคริสตชน คือ ความเป็นหนึ่งเดียวและการแยกออกจากกันไม่ได้ ซึ่งการแต่งงานนั้นมีทั้งเป้าหมายของการรวมเป็นหนึ่งเดียวกันและการให้กำเนิดบุตรด้วย 

ศีลสมรส มอบพระหรรษทานที่ทำให้คู่สมรสมีความเข้มแข็งและช่วยชำระให้การเป็นหนึ่งเดียวของพวกเขานั้นบริสุทธิ์ อีกทั้งทำให้คำมั่นสัญญาและความรักต่อกันและกันของพวกเขานั้นลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น

คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก CCC ข้อ 1643 “ความรักของคู่สมรสรวมทุกสิ่งที่ทุกส่วนของบุคคลหนึ่งแทรกแซงเข้าไปไว้ในตัว – การเรียกร้องของร่างกายและสัญชาติญาณ พลังความรู้สึกและความรัก ความปรารถนาของจิตใจและเจตนา –ความรักนี้มุ่งหาเอกภาพที่เป็นส่วนตัวที่สุด คือเอกภาพที่นอกจากความสัมพันธ์เป็นเนื้อเดียวกันแล้วยังไม่ทำอะไรอื่นนอกจากใจเดียวจิตเดียวกัน เอกภาพนี้จึงเรียกร้องไม่ให้มีการแยกจากกันได้ และเรียกร้องความซื่อสัตย์ของการมอบตนแก่กันอย่างที่สุดและนำไปสู่การให้กำเนิดชีวิต พูดสั้นๆ เรากำลังกล่าวถึงคุณสมบัติตามธรรมชาติของความรักฉันสามีภรรยา แต่ยังมีความหมายใหม่ซึ่งไม่เพียงแต่ชำระและทำให้ความรักนี้มั่นคงเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมให้คุณสมบัติเหล่านี้สูงขึ้นจนกลายเป็นการประกาศถึงคุณค่าที่เป็นคุณค่าเฉพาะของคริสตชนด้วย”

CCC ข้อ 1644 ความรักของคู่สมรสโดยธรรมชาติแล้วเรียกร้องเอกภาพและการไม่มีวันยกเลิกได้ซึ่งครอบคลุมชีวิตทั้งหมดของเขาทั้งส่วนตัวและในสังคม “ดังนั้น สิ่งที่พระเจ้าทรงรวมกันไว้ มนุษย์อย่าได้แยกเลย” (มธ 19:6)167 คู่สมรส “ได้รับเรียกมาให้เติบโตขึ้นตลอดเวลาในความสัมพันธ์ระหว่างกันโดยความซื่อสัตย์ประจำวันต่อคำสัญญาในการสมรสที่จะมอบตนแก่กันโดยสมบูรณ์” การร่วมชีวิตกันเยี่ยงมนุษย์นี้รับการชำระและความสมบูรณ์จากความสัมพันธ์ในพระเยซูคริสตเจ้าที่พระองค์ประทานให้จากศีลสมรส ความสัมพันธ์นี้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นโดยชีวิตความซื่อสัตย์ต่อกันและการร่วมรับศีลมหาสนิทด้วยกัน

CCC ข้อ 1654 คู่สมรสที่พระเจ้าไม่ได้โปรดให้มีบุตรก็ยังอาจดำเนินชีวิตคูที่มีความหมายแบบมนุษย์และคริสตชนที่สมบูรณ์ได้ การสมรสของเขายังอาจมีคุณค่าจากผลของความรัก การต้อนรับเพื่อนพี่น้องและชีวิตการอุทิศตน

CCC ข้อ 2364 คู่สมรสทั้งสองคนร่วมกันสร้าง “การร่วมชีวิตและความรักของสามีภรรยาตามที่พระผู้สร้างทรงตรากฎหมายกำหนดไว้ การร่วมชีวิตเช่นนี้ตั้งอยู่บนพันธสัญญาแห่งการสมรส หรือการแสดงเจตนาของตนโดยไม่มีวันเลิกถอนได้” ทั้งสองคนมอบตนแก่กันอย่างสมบูรณ์ตลอดไป เขาไม่เป็นสองคนอีกต่อไปแต่รวมเป็นเนื้อเดียวกัน พันธสัญญาที่คู่สมรสทั้งสองคนได้ทำไว้กำหนดข้อบังคับให้เขารักษาไว้เป็นหนึ่งเดียวและไม่อาจลบล้างได้ “สิ่งที่พระเจ้าทรงรวมกันไว้ มนุษย์อย่าแยกเลย” (มก 10:9)

CCC ข้อ 2380 การเป็นชู้ การมีชู้ คำนี้หมายถึงความไม่ซื่อสัตย์ของคู่สมรส เมื่อสองคน ที่อย่างน้อยคนหนึ่งแต่งงานแล้ว มีเพศสัมพันธ์กัน – แม้ไม่เป็นการถาวร - เขาย่อมเป็นชู้กัน พระคริสตเจ้าทรงประณามการเป็นชู้ แม้แต่เพียงปรารถนาจะทำเท่านั้นด้วย พระบัญญัติประการที่หกและพันธสัญญาใหม่ห้ามไม่ให้เป็นชู้กันโดยเด็ดขาด บรรดาประกาศกยังกล่าวถึงความหนักของบาปประการนี้ด้วย ท่านเหล่านี้เห็นว่าการเป็นชู้เป็นภาพของการนับถือรูปเคารพ

CCC ข้อ 2381 การเป็นชู้เป็นความอยุติธรรมอย่างหนึ่ง ผู้ทำบาปนี้ บกพร่องการปฏิบัติหน้าที่ของตน เขาทำลายเครื่องหมายของพันธสัญญาซึ่งได้แก่พันธะของการสมรส เขาฝ่าฝืนสิทธิของคู่สมรสและทำร้ายสถาบันการสมรส ละเมิดคำสัญญาซึ่งเป็นพื้นฐานของสถาบันนี้ เขาทำให้ความดีของการให้กำเนิดชีวิตมนุษย์ตกอยู่ในอันตรายรวมทั้งยังทำร้ายผลประโยชน์ของบุตรซึ่งต้องการความสัมพันธ์ถาวรของบิดามารดา

CCC ข้อ 2382 พระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเน้นยํ้าถึงพระประสงค์ของพระผู้เนรมิตสร้างซึ่งทรงประสงค์ให้การสมรสยกเลิกไม่ได้ พระองค์ทรงยกเลิกการยกเว้นที่แทรกเข้ามาในพันธสัญญาเดิมระหว่างผู้ที่รับศีลล้างบาปแล้ว “การสมรสที่ถูกต้องตามกฎหมายและสมบูรณ์ด้วยเพศสัมพันธ์ (ratum et consummatum) แล้วไม่มีอำนาจมนุษย์และเหตุผลใดๆ นอกจากความตายอาจลบล้างได้”


มธ 19:6 จากพระคัมภีร์ตอนอื่นพบว่าความสัมพันธ์ของ การแต่งงานได้ถูกใช้เป็นภาพเปรียบเทียบของความสัมพันธ์ระหว่างพระคริสตเจ้าและพระศาสนจักรของพระองค์ นักบุญเปาโลได้อธิบายเทววิทยาของพระศาสนจักรว่าเป็นดังพระวรกายของพระคริสตเจ้า อันเป็นเอกลักษณ์ที่สะท้อนถึงความหมายของประโยคที่ว่า “ไม่เป็นสองอีกต่อไป แต่เป็นเนื้อเดียวกัน” ของความเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างสามีและภรรยาในศีลสมรส 

CCC ข้อ 796 เอกภาพของพระคริสตเจ้าและพระศาสนจักร ของศีรษะและส่วนต่างๆ ของร่างกาย ยังหมายความว่าทั้งสองมีความแตกต่างกันในความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้ด้วย เรากล่าวถึงเรื่องนี้โดยใช้ภาพลักษณ์ของเจ้าบ่าวและเจ้าสาว ความคิดเรื่องพระคริสตเจ้าทรงเป็นเจ้าบ่าวของพระศาสนจักรนี้ได้รับการจัดเตรียมไว้โดยบรรดาประกาศก และยอหน์ผู้ทำพิธีล้างได้ประกาศแจ้งให้ทุกคนได้ทราบ องค์พระผู้เป็นเจ้ายังตรัสถึงพระองค์เองว่าทรงเป็น “เจ้าบ่าว” (มก 2:19) นักบุญเปาโลอัครสาวกกล่าวถึงพระศาสนจักรและผู้มีความเชื่อแต่ละคนซึ่งเป็นส่วนต่างๆ ของพระวรกายว่าเขา “ถูกหมั้น” เหมือนเจ้าสาวไว้กับพระคริสต์องค์    พระผู้เป็นเจ้าเพื่อเป็นจิตใจเดียวกันกับพระองค์ พระศาสนจักรเป็นเสมือนเจ้าสาวไร้มลทินของ “ลูกแกะไร้มลทิน” ที่พระคริสตเจ้าทรงรักทรงมอบพระองค์สำหรับพระศาสนจักร เพื่อ “ทรงบันดาลให้พระศาสนจักรศักดิ์สิทธิ์” (อฟ 5:26) พระองค์ทรงมีความสัมพันธ์กับพระศาสนจักรด้วยพันธะนิรันดรและไม่ทรงเลิกเอาพระทัยใส่ต่อพระศาสนจักรเช่นเดียวกับที่ทรงเอาพระทัยใส่ต่อพระวรกายของพระองค์เอง “พระคริสตเจ้าครบพระองค์ ประกอบด้วยศีรษะและพระวรกาย เป็นพระคริสตเจ้าองค์เดียวที่รวมมนุษย์ไว้หลายคน […] ไม่ว่าศีรษะพูด หรือส่วนของร่างกายพูด ก็เป็นพระคริสตเจ้าที่ตรัส พระองค์ตรัสในฐานะพระบุคคลที่เป็นศีรษะ พระองค์ตรัสในฐานะพระบุคคลที่เป็นพระวรกาย พระคัมภีร์กล่าวไว้ว่าอย่างไร ‘ทั้งสองคนจะเป็นเนื้อเดียวกัน ธรรมลํ้าลึกประการนี้ยิ่งใหญ่นัก ข้าพเจ้าหมายถึง พระคริสตเจ้ากับพระศาสนจักร’ (อฟ 5:31-32) พระองค์ยังตรัสในพระวรสาร อีกว่า ‘ดังนั้น เขาจึงไม่เป็นสองอีกต่อไป แต่เป็นเนื้อเดียวกัน’ (มธ 19:6) ท่านก็รู้แล้วว่าที่จริง (ทั้งสามีและภรรยา) เป็นสองคน แต่ก็รวมเป็นคนเดียวกันเมื่อแต่งงาน […] พระองค์ตรัสว่าทรงเป็น ‘เจ้าบ่าว’ ในฐานะที่ทรงเป็นศีรษะ และตรัสว่าทรงเป็น ‘เจ้าสาว’ ในฐานะที่ทรงเป็นพระวรกาย”

CCC ข้อ 1605 พระคัมภีร์ยืนยันว่าชายและหญิงถูกเนรมิตสร้างมาเพื่อกันและกัน “มนุษย์อยู่เพียงคนเดียวนั้นไม่ดีเลย” (ปฐก 2:18) หญิงซึ่งเป็น “เนื้อจากเนื้อ” ของชาย ซึ่งหมายความว่า ‘เท่ากับเขาอยู่ใกล้ชิดอย่างยิ่งกับเขา’ นั้น พระเจ้าจึงประทานให้เป็น “ผู้ช่วย” ของเขา และดังนี้จึงเป็นผู้แทนพระเจ้าผู้ทรงเป็นความช่วยเหลือสำหรับเรา “เพราะฉะนั้น ชายจะละบิดามารดาของตนไปผูกพันกับภรรยา และทั้งสองคนจะเป็นเนื้อเดียวกัน” (ปฐก 2:24) องค์พระผู้เป็นเจ้าเองก็ทรงชี้ให้เห็นว่าข้อความนี้หมายความว่าเอกภาพของทั้งสองชีวิตไม่มีวันยกเลิกได้เมื่อทรงเตือนให้ระลึกว่าพระประสงค์ของพระผู้เนรมิตสร้างนี้มีมาตั้งแต่ “เมื่อแรกเริ่ม” แล้ว “เขาจึงไม่เป็นสองอีก่อไป แต่เป็นเนื้อเดียวกัน” (มธ 19:6)

CCC ข้อ 2380 (อ่านเพิ่มเติมด้านบน มธ 19:1-9)


มธ 19:10-11 ก็ไม่ควรจะแต่งงานเลย : คำสอนของพระคริสตเจ้าเรื่องการแยกกันไม่ได้ของการแต่งงานนี้ ทำให้บรรดาศิษย์ของพระองค์เองก็เกิดความสับสนด้วย เพราะสำหรับพวกเขาดูเหมือนว่าพันธสัญญาตลอดชีวิตนั้นเป็นไปไม่ได้ อย่างไรก็ตาม พระคริสตเจ้าได้ทรงประทานพระหรรษทานและความเข้มแข็งที่จำเป็นสำหรับสามีและภรรยา เพื่อให้พวกเขาสามารถรักษาความเป็นหนึ่งเดียวและความเชื่อไว้ได้จนกว่าจะสิ้นชีวิต

CCC ข้อ 1615 การกล่าวยํ้าอย่างชัดเจนว่าพันธะการสมรสไม่มีวันจะลบล้างได้นั้นอาจทำให้หลายคนมีความข้องใจและเห็นว่าการเรียกร้องเช่นนี้แทบจะปฏิบัติไม่ได้ ถึงกระนั้นพระเยซูเจ้าก็มิได้ทรงกำหนดให้คู่สมรสต้องแบกภาระหนักเกินกำลังจนแบกไม่ไหว หนักกว่าธรรมบัญญัติของโมเสสพระองค์เสด็จมาเพื่อทรงรื้อฟื้นระเบียบของการเนรมิตสร้างตั้งแต่แรกเริ่มที่ได้ถูกบาปรบกวน พระองค์จึงประทานกำลังและพระหรรษทานเพื่อดำเนินชีวิตการสมรสตามมาตรการใหม่ของพระอาณาจักรของพระเจ้า สามีภรรยาที่ดำเนินชีวิตตามพระคริสตเจ้า สละตนเอง แบกไม้กางเขนของตน จะสามารถ “เข้าใจ” ความหมายดั้งเดิมของการสมรสและดำเนินชีวิตตามความหมายนี้ได้อาศัยความช่วยเหลือของพระคริสตเจ้า พระ             หรรษทานของการสมรสแบบคริสตชนนี้เป็นผลจากไม้กางเขนของพระคริสตเจ้าซึ่งเป็นบ่อเกิดของชีวิตคริสตชนทั้งหมด


มธ 19:12 พระเจ้าทรงเชื้อเชิญเราสู่วิถีชีวิตแห่งการมอบตนเอง หากเราต้องการที่จะพบความสุข ดังนั้น พระองค์ทรงเป็นผู้ก่อตั้งทั้งศีลสมรส และพันธกรณีสัญญาที่จะรักษาความบริสุทธิ์หรือการถือพรหมจรรย์เพื่อพระอาณาจักรของพระเจ้า แต่ละสถานภาพชีวิตเช่นนี้ ต่างก็ยืนยันถึงคุณค่าของชีวิตอีกแบบหนึ่ง ดังที่นักบุญยอห์น คริซอสโตมได้กล่าวไว้ว่า “ ใครที่หมิ่นประมาทการสมรส ก็เท่ากับหมิ่นประมาทเกียรติของการถือพรหมจรรย์ด้วย และใครที่ยกย่องการสมรส ก็ทำให้การถือพรหมจรรย์เป็นที่น่านับถือและสุกใสมากยิ่งขึ้นด้วย” (De virg., 10, 1: PG 48,540) พระคริสตเจ้าทรงเรียกคริสตชนบางคนให้ติดตามพระองค์ในชีวิตของการถือพรหมจรรย์แบบนักบวชสตรีผู้รับเจิม บิชอป พระสงฆ์ หรือฆราวาส ที่ยอมสละความสุขและความยินดีของชีวิตแต่งงานและครอบครัว เพื่อมุ่งเจริญชีวิตเฉพาะเพื่อพระคริสตเจ้าแต่ผู้เดียวเท่านั้น โดยทางพระคุณยิ่งใหญ่แห่งการถือพรหมจรรย์ ท่านเหล่านั้นได้มอบตนเองด้วยอิสระที่ยิ่งใหญ่กว่าเพื่อรับใช้พระคริสตเจ้าและเพื่อนมนุษย์ การถือพรหมจรรย์เพื่อพระอาณาจักรสวรรค์นั้นเป็นรูปแบบของดวงใจที่มุ่งให้องค์พระคริสตเจ้าเป็นศูนย์กลางเดียวของชีวิตของเขาเท่านั้น

  CCC ข้อ 992 พระเจ้าทรงค่อยๆ เปิดเผยเรื่องการกลับคืนชีพของบรรดาผู้ตายแก่ประชากรของพระองค์ ความหวังว่าร่างกายของผู้ตายจะกลับคืนชีพเป็นผลที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจากความเชื่อว่าพระเจ้าทรงเนรมิตสร้างมนุษย์ทั้งหมดทุกส่วน ทั้งวิญญาณและร่างกาย พระผู้เนรมิตสร้างสวรรค์และแผ่นดินทรงเป็นผู้ทรงรักษาพันธสัญญาของพระองค์กับอับราฮัมและเชื้อสายของเขาอย่างซื่อสัตย์ด้วย ความเชื่อเรื่องการกลับคืนชีพจะเริ่มแสดงให้เห็นในมุมมองทั้งสองนี้ บรรดามรณสักขีมัคคาบีประกาศความเชื่อนี้ขณะที่กำลังถูกทรมานว่า “กษัตริย์จอมจักรวาลจะทรงบันดาลให้เรากลับคืนชีพมีชีวิตตลอดไป เพราะเราได้ตายเพื่อธรรมบัญญัติของพระองค์” (2 มคบ 7:9) “ตายด้วยนํ้ามือมนุษย์เป็นสิ่งสวยงามเมื่อมีความหวังว่าพระเจ้าจะประทานชีวิตให้อีก” (2 มคบ 7:14)

  CCC ข้อ 1579 โดยปกติแล้ว ศาสนบริกรที่รับศีลบวชทุกคนของพระศาสนจักรละติน ยกเว้นสังฆานุกรถาวร ย่อมถูกเลือกจากบรรดาบุรุษผู้มีความเชื่อที่ยังเป็นโสดและตั้งใจจะถือโสด “เพราะเห็นแก่อาณาจักรสวรรค์” (มธ 19:12) เขาได้รับเรียกเพื่อจะได้ถวายตนโดยไม่แบ่งแยกแด่องค์พระผู้เป็นเจ้าและเพื่องานของพระองค์ เขาถึงมอบถวายตนทั้งหมดแด่พระเจ้าและมนุษย์ทุกคน การถือโสดเป็นเครื่องหมายของชีวิตใหม่นี้เพื่อศาสนบริกรของพระศาสนจักรจะได้มอบถวายตนด้วยใจยินดีประกาศเรื่องพระอาณาจักรของพระเจ้าอย่างแจ้งชัด

CCC ข้อ 1618 พระคริสตเจ้าทรงเป็นศูนย์กลางของชีวิตคริสตชนทั้งหมด ความสัมพันธ์กับพระองค์จึงมีความสำคัญมากกว่าความสัมพันธ์อื่นๆ ทั้งหมดด้านครอบครัวหรือสังคม นับตั้งแต่สมัยแรกของพระ ศาสนจักรแล้ว มีชายและหญิงหลายคนที่ได้สละผลดียิ่งใหญ่ของการสมรสเพื่อติดตามลูกแกะไปทุกแห่งที่พระองค์เสด็จ เพื่อจะได้สาละวนในการงานขององค์พระผู้เป็นเจ้าหาวิธีทำให้พระองค์พอพระทัย เพื่อออกไปพบเจ้าบ่าวเมื่อพระองค์เสด็จมา พระคริสตเจ้าทรงเรียกบางคนให้ตามเสด็จพระองค์ในชีวิตชนิดที่พระองค์เองทรงเป็นแบบอย่าง “บางคนเป็นขันทีตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา บางคนถูกทำให้เป็นขันที และบางคนทำตนเป็นขันทีเพราะเห็นแก่อาณาจักรสวรรค์ ผู้ที่เข้าใจได้ ก็จงเข้าใจเถิด” (มธ 19:12)

CCC ข้อ 1620 ทั้งสองสิ่งนี้ล้วนมาจากองค์พระผู้เป็นเจ้า คือศีลสมรสและการถือพรหมจรรย์เพื่อพระอาณาจักรพระเจ้า พระองค์ประทานความหมายแก่ทั้งสองสิ่งนี้และประทานพระหรรษทานที่จำเป็นเพื่อดำเนินชีวิตในสภาพดังกล่าวตามพระประสงค์ของพระองค์ คุณค่าของการถือพรหมจรรย์เพื่อพระอาณาจักร และความหมายแบบคริสตชนของการสมรสนั้นแยกกันไม่ได้และเกื้อกูลกัน “ใครที่ประณามการสมรส เขาก็ตีค่าพรหมจรรย์น้อยลงด้วย ใครที่ยกย่องการสมรส เขาก็ทำให้การถือพรหมจรรย์เป็นที่น่านับถือยิ่งขึ้นด้วย เพราะเมื่อสิ่งหนึ่งดูเหมือนว่าดีเมื่อเทียบกับสิ่งที่เลวกว่า สิ่งนั้นก็ไม่ใช่ว่าดีมากนัก แต่สิ่งที่ทุกคนเห็นว่าดีกว่าสิ่งใดๆ นั้นย่อมเป็นสิ่งที่ดีเลิศ”

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)