แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันพุธสัปดาห์ที่ 19 (ปีคู่)

บทอ่านจากพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว (มธ 18:15 – 20 )

เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสแก่บรรดาศิษย์ว่า“ถ้าพี่น้องของท่านทำผิด จงไปตักเตือนเขาตามลำพัง ถ้าเขาเชื่อฟัง ท่านจะได้พี่น้องกลับคืนมา ถ้าเขาไม่เชื่อฟัง จงพาอีกคนหนึ่งหรือสองคนไปด้วย คำพูดของพยานสองคนหรือสามคนจะได้จัดเรื่องราวให้เรียบร้อย ถ้าเขาไม่ยอมฟังพยาน จงแจ้งให้หมู่คณะทราบ ถ้าเขาไม่ยอมฟังหมู่คณะอีก จงปฏิบัติต่อเขาเหมือนเขาเป็นคนต่างศาสนา หรือคนเก็บภาษีเถิด” “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ทุกสิ่งที่ท่านจะผูกบนแผ่นดิน จะผูกไว้ในสวรรค์ และทุกสิ่งที่ท่านจะแก้บนแผ่นดิน ก็จะแก้ในสวรรค์ด้วย”  “เราบอกความจริงแก่ท่านอีกว่า ถ้าท่านสองคนบนแผ่นดินพร้อมใจกันอ้อนวอนขอสิ่งหนึ่งสิ่งใด พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์จะประทานให้ เพราะว่า ที่ใดมีสองหรือสามคนชุมนุมกันในนามของเรา เราอยู่ที่นั่นในหมู่พวกเขา”


มธ 18:15 – 20 ผู้มีความเชื่อถูกเรียกให้เข้าไปมีบทบาทหรือรู้จักตักเตือนกันฉันท์พี่น้องแก่บรรดาผู้มีความเชื่อด้วยกันที่ละเมิดกฎเกณฑ์ด้านศีลธรรม สิ่งนี้เป็นการกระทำที่ยิ่งใหญ่แห่งความรักในการช่วยผู้ที่หลงทางไปจากความจริง ทั้งในเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อหรือศีลธรรมก็ตาม โดยต้องกระทำด้วยความรอบคอบและความเมตตาอยู่เสมอ จงปฏิบัติต่อเขาเหมือนเขาเป็นคนต่างศาสนาหรือคนเก็บภาษีสำหรับท่านเถิด : ผลลัพธ์สุดท้ายของผู้ที่ปฏิเสธการนอบน้อมเชื่อฟัง ก็คือ การถูกแยกตัวออกไปจากพระศาสนจักร

คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก CCC ข้อ 817 โดยแท้จริง “ในพระศาสนจักรหนึ่งเดียวนี้ของพระเจ้า ก็เคยเกิดมีความแตกแยกกันแล้วนับตั้งแต่แรกเริ่ม ซึ่งนักบุญเปาโลอัครสาวกก็เคยกล่าวตำหนิอย่างรุนแรง ในศตวรรษต่อๆ มาก็ได้เกิดมีความแตกแยกกันอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น และกลุ่มคริสตชนไม่เล็กหลายกลุ่มก็ได้แยกตัวออกไปจากความสัมพันธ์อย่างสมบูรณ์กับพระศาสนจักรคาทอลิก และหลายครั้งมนุษย์ของทั้งสองฝ่ายก็ใช่ว่าจะไม่มีความผิดด้วย” รอยร้าวที่ทำให้เอกภาพของพระวรกายของพระคริสตเจ้าต้องเป็นบาดแผลนี้ (ซึ่งแยกได้เป็น มิจฉาทิฐิ การปฏิเสธละทิ้งความเชื่อ และศาสนเภท) ซึ่งล้วนเกิดจากความผิดของมนุษย์ทั้งสิ้น “ที่ใดมีบาป ที่ใดมีผู้คนจำนวนมาก ที่นั่นก็มีการแตกแยก ที่นั่นก็มีมิจฉาทิฐิ ที่นั่นก็มีความเห็นแตกต่างกัน แต่ที่ใดมีคุณธรรม ที่นั่นก็มีความสามัคคีปรองดอง มีเอกภาพ ที่รวมทุกคนผู้มีความเชื่อให้เป็นใจเดียวจิตเดียวกัน”

CCC ข้อ 822 “พระศาสนจักรทั้งหมด ทั้งผู้มีความเชื่อและผู้อภิบาลจำเป็นต้องสาละวนเอาใจใส่ในการรื้อฟื้นเอกภาพนี้” แต่เราก็ต้องมีความสำนึกด้วยว่า “ความตั้งใจศักดิ์สิทธิ์ที่จะรวบรวมคริสตชนทุกคนเข้ามาอยู่ในเอกภาพเดียวและพระศาสนจักรเดียวนี้เป็นภารกิจที่เกินกำลังและความสามารถของมนุษย์” ดังนั้น เราจึงตั้งความหวังทั้งหมดของเราไว้ “ในคำอธิษฐานภาวนาของพระคริสตเจ้าสำหรับพระศาสนจักร ในความรักของพระบิดาเจ้าต่อเรา และในพลังของพระจิตเจ้า”


มธ 18:18 เปโตรคือผู้ได้รับอำนาจที่จะผูกและแก้อำนาจนี้ได้ถูกส่งต่อไปยังบรรดาอัครสาวกทุกคนผู้ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับท่าน (มธ 16:18-19) ทุกวันนี้เราการนำอำนาจนี้ไปใช้ในเบื้องต้นในศีลแห่งการคืนดีหรือศีลอภัยบาป รวมทั้งในด้านกฎหมายและระเบียบการปกครองของพระศาสนจักรด้วย

CCC ข้อ 553 พระเยซูเจ้าทรงมอบอำนาจพิเศษแก่เปโตร “เราจะมอบกุญแจอาณาจักรสวรรค์ให้ท่าน ทุกสิ่งที่ท่านจะผูกบนแผ่นดินนี้ จะผูกไว้ในสวรรค์ด้วย ทุกสิ่งที่ท่านจะแก้ในแผ่นดินนี้ ก็จะแก้ในสวรรค์ด้วย” (มธ 16:19) “อำนาจถือกุญแจ” หมายถึงอำนาจดูแลบ้านของพระเจ้า คือพระศาสนจักรพระเยซูเจ้า “ผู้เลี้ยงแกะที่ดี” (ยน 10:11) ทรงยืนยันถึงบทบาทนี้หลังจากทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว “จงเลี้ยงดูแกะของเราเถิด” (ยน 21:15-17) อำนาจ “ผูกและแก้” จึงหมายถึงอำนาจที่จะอภัยบาป ที่จะตัดสินเรื่องคำสอนและระเบียบการปกครองในพระศาสนจักร พระเยซูเจ้าทรงมอบอำนาจนี้ให้แก่พระศาสนจักรผ่านทางการปฏิบัติงานของบรรดาอัครสาวก และโดยเฉพาะของเปโตร ซึ่งเป็นผู้เดียวที่ทรงเจาะจงมอบกุญแจพระอาณาจักรให้

CCC ข้อ 894 “บรรดาพระสังฆราชปกครองพระศาสนจักรท้องถิ่นที่เขาได้รับมอบหมายให้ดูแลในฐานะผู้แทนและผู้ช่วยของพระคริสตเจ้า โดยคำแนะนำ คำตักเตือน แบบอย่าง และโดยอำนาจหน้าที่ศักดิ์สิทธิ์ด้วย” ซึ่งเขาต้องใช้อำนาจนี้เพื่อเสริมสร้างด้วยจิตใจการรับใช้ ซึ่งเป็นจิตใจของพระอาจารย์ของเขา

CCC ข้อ 895 “อำนาจนี้ที่เขาใช้ปฏิบัติหน้าที่ของตนส่วนตัวในพระนามของพระคริสตเจ้าเป็นอำนาจเฉพาะตามปกติของเขาโดยตรง แม้ว่าในที่สุดแล้วการใช้อำนาจนี้ต้องถูกควบคุมโดยอำนาจสูงสุดของพระศาสนจักร” แต่ก็ต้องไม่คิดว่าบรรดาพระสังฆราชเป็นเพียงผู้แทนของสมเด็จพระสันตะปาปาที่อำนาจสามัญโดยตรงของพระองค์เหนือทั่วพระศาสนจักรไม่ยกเลิกอำนาจปกครองของบรรดาพระสังฆราช แต่ตรงกันข้าม ยังส่งเสริมและปกป้องด้วย พระสังฆราชต้องใช้อำนาจนี้ของตนร่วมกับพระศาสนจักรทั้งหมดโดยมีพระสันตะปาปาทรงคอยแนะนำ

CCC ข้อ 896 ผู้เลี้ยงแกะที่ดีจะต้องเป็นตัวอย่างและ “รูปแบบ” ของหน้าที่อภิบาลของพระสังฆราช พระสังฆราชต้องสำนึกถึงความอ่อนแอของตน “รู้จักเห็นใจผู้ที่ไม่รู้และหลงผิด ดูแลผู้อยู่ใต้ปกครองเสมือนบุตร […] ต้องไม้ปฏิเสธที่จะรับฟัง […] บรรดาผู้มีความเชื่อก็ต้องมีความใกล้ชิดกับพระสังฆราชเช่นเดียวกับที่พระศาสนจักรชิดสนิทกับพระคริสตเจ้า และเหมือนกับที่พระคริสตเจ้าทรงชิดสนิทกับพระบิดา” “ท่านทุกคนจงเชื่อฟังพระสังฆราชเช่นเดียวกับที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงเชื่อฟังพระบิดา และจงเชื่อฟังคณะสงฆ์เหมือนกับเชื่อฟังบรรดาอัครสาวก ท่านจงเคารพบรรดาสังฆานุกรเหมือนกับพระบัญชาของพระเจ้า อย่าให้ผู้ใดทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับพระศาสนจักรโดยแยกจากพระสังฆราชเลย”

CCC ข้อ 1444 เมื่อองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงให้บรรดาอัครสาวกมีส่วนในอำนาจอภัยบาปได้เช่นเดียวกับพระองค์ พระองค์ยังประทานให้เขามีอำนาจนำคนบาปเข้ามาคืนดีกับพระศาสนจักรได้ด้วย เหตุผลของบทบาทนี้ของเขาในพระศาสนจักรแสดงให้เห็นในพระวาจาที่พระคริสตเจ้าตรัสอย่างสง่าแก่    เปโตรว่า “เราจะมอบกุญแจอาณาจักรสวรรค์ให้ท่าน ทุกสิ่งที่ท่านจะผูกบนแผ่นดินนี้ จะผูกไว้ในสวรรค์ด้วย ทุกสิ่งที่ท่านจะแก้ในแผ่นดินนี้ ก็จะแก้ในสวรรค์ด้วย” (มธ 16:19) “เห็นได้ชัดว่าอำนาจผูกและแก้ที่ทรงมอบแก่เปโตรนี้พระองค์ยังทรงมอบแก่คณะอัครสาวกที่รวมอยู่กับประมุขของตนด้วย” (มธ 18:18; 28:16-20)”

CCC ข้อ 1445 คำว่า ผูก และ แก้ หมายความว่า ผู้ที่ท่านกันออกไปจากความสัมพันธ์กับท่านก็จะถูกกันออกไปจากความสัมพันธ์กับพระเจ้า ผู้ที่ท่านจะรับเข้ามามีความสัมพันธ์กับท่านอีก พระเจ้าก็จะทรงรับเข้ามามีความสัมพันธ์กับพระองค์ด้วย การคืนดีกับพระศาสนจักรแยกกันไม่ออกจากการคืนดีกับพระเจ้า


มธ 18:20 พระคริสตเจ้าทรงปรากฏพระองค์เองแก่เราด้วยวิธีต่างๆ อย่างหลากหลาย รวมถึงในการชุมนุมกันของบรรดาผู้มีความเชื่อ คือในพิธีบูชาขอบพระคุณ ในการโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ  ในศาสนบริกรของพระองค์บนพระแท่น ในพระวาจาของพระเจ้า และเมื่อใดก็ตามที่มีการชุมนุมกันของผู้มีความเชื่อเพื่อการสวดภาวนา พระองค์ทรงประทับอยู่ในรูปแบบที่พิเศษสุด ภายใต้รูปปรากฏของศีลมหาสนิท นี่คือศีลศักดิ์สิทธิ์ที่ยิ่งใหญ่ซึ่งทำให้เราได้รับทั้งพระกาย พระโลหิต พระวิญญาณ และพระเทวภาพของพระคริสตเจ้า

CCC ข้อ 832 “พระศาสนจักรของพระคริสตเจ้าอยู่จริงในทุกกลุ่มผู้มีความเชื่อจากแต่ละท้องถิ่นที่มาชุมนุมกันอย่างถูกต้อง พันธสัญญาใหม่เรียกกลุ่มชนเหล่านี้ที่มีความสัมพันธ์กับผู้อภิบาลของตนว่า “พระศาสนจักร” [...] บรรดาผู้มีความเชื่อมาชุมนุมกันในกลุ่มเหล่านี้โดยการประกาศสอนพระวรสาร และมีการเฉลิมฉลองพระธรรมลํ้าลึกการเลี้ยงอาหารคํ่าขององค์พระผู้เป็นเจ้า [...]พระคริสตเจ้าประทับอยู่ในชุมชนเหล่านี้ แม้บ่อยๆ เป็นเพียงชุมชนเล็กๆ และยากจน หรือกระจายกันอยู่ในที่ต่างๆ พระศาสนจักรหนึ่งเดียว ศักดิ์สิทธิ์ และสากลรวมกันอยู่ได้เดชะพระอานุภาพของพระองค์”

CCC ข้อ 833 เมื่อกล่าวถึง “พระศาสนจักรท้องถิ่น” หรือ “พระศาสนจักรเฉพาะ” ที่หมายถึง      “สังฆมณฑล”(dioecesis หรือ eparchia) เราก็เข้าใจว่าหมายถึงชุมชนผู้มีความเชื่อและศีลศักดิ์สิทธิ์ร่วมกันกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งพร้อมกับพระสังฆราชผู้ได้รับศีลบวชสืบตำแหน่งมาจากบรรดาอัครสาวก พระศาสนจักรท้องถิ่นเหล่านี้จัดตั้งขึ้น “ตามรูปแบบของพระศาสนจักรสากล พระศาสนจักรคาทอลิกหนึ่งเดียวและเป็นเอกลักษณ์ก็ดำรงอยู่ในพระศาสนจักรท้องถิ่นเหล่านี้”

CCC ข้อ 1088 “เพื่อทำให้งานยิ่งใหญ่นี้สำเร็จ พระคริสตเจ้าประทับอยู่เสมอในพระศาสนจักร โดยเฉพาะในการประกอบพิธีกรรม พระองค์ประทับในพิธีบูชามิสซา ทั้งในตัวของผู้ประกอบพิธี เพราะ“เป็นพระองค์เอง ซึ่งแต่ก่อนนั้นทรงถวายพระองค์บนไม้กางเขน บัดนี้ ยังทรงถวายพระองค์อาศัยศาสนบริการของพระสงฆ์” และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระองค์ประทับอยู่ภายใต้รูปปรากฏของศีลมหาสนิท พระองค์ยังประทับอยู่ในศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ด้วยพระอานุภาพ จนกระทั่งเมื่อผู้ใดประกอบพิธีศีลล้างบาป                   พระคริสตเจ้า เองก็ทรงประกอบพิธีศีลล้างบาป พระองค์ประทับอยู่ในพระวาจา เพราะเป็นพระองค์ที่ตรัส เมื่อมีผู้อ่านพระคัมภีร์ในพระศาสนจักร ในที่สุดพระองค์ยังประทับอยู่เมื่อพระศาสนจักรอธิษฐานภาวนาและขับร้องเพลงสดุดี เพราะพระองค์ทรงสัญญาว่า “ที่ใดมีสองหรือสามคนประชุมกันในนามของเรา เราอยู่ที่นั่นในหมู่พวกเขา” (มธ18:20)”

CCC ข้อ 1373 “พระคริสตเยซู ผู้สิ้นพระชนม์ ทั้งยังทรงกลับคืนพระชนมชีพ ประทับอยู่เบื้องขวาของพระเจ้าทรงวอนขอแทนเราอีกด้วย” (รม 8:34) ประทับอยู่หลายแบบในพระศาสนจักรของพระองค์  พระองค์ยังตรัสอีกว่า พระองค์ประทับอยู่เมื่อพระศาสนจักรอธิษฐานภาวนา “ที่ใดมีสองหรือสามคนชุมนุมกันในนามของเรา เราอยู่ที่นั่นในหมู่พวกเขา” (มธ 18:20) พระองค์ยังประทับอยู่ในผู้ยากจน คนเจ็บป่วย ผู้ถูกจองจำ ในศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ที่ทรงเป็นผู้แต่งตั้ง ในพิธีบูชามิสซาและในบุคคลศาสนบริกร แต่ “โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระองค์ประทับอยู่ภายใต้รูปปรากฏของศีลมหาสนิท”

CCC ข้อ 2689 กลุ่มอธิษฐานภาวนา หรือ “สำนักการอธิษฐานภาวนา” ทุกวันนี้เป็นเครื่องหมายและเป็นวิธีการรื้อฟื้นการอธิษฐานภาวนาในพระศาสนจักรถ้าได้รับการหล่อเลี้ยงจากบ่อเกิดของการอธิษฐานภาวนาแบบคริสตชนที่แท้จริง ความสนใจต่อความสนิทสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นเครื่องหมายของการอธิษฐานภาวนาแท้จริงในพระศาสนจักร

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)