แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอังคาร สัปดาห์ที่ 1 เทศกาลมหาพรต

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว (มธ 6:7-15)                                             

เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสกับบรรดาศิษย์ว่า “เมื่อท่านอธิษฐานภาวนา จงอย่าพูดซ้ำเหมือนคนต่างศาสนา เขาคิดว่าถ้าเขาพูดมากพระเจ้าจะทรงสดับฟัง อย่าทำเหมือนเขาเลย เพราะพระบิดาของท่านทรงทราบแล้วว่าท่านต้องการอะไร ก่อนที่ท่านจะขอเสียอีก ดังนั้น ท่านทั้งหลายจงอธิษฐานภาวนาดังนี้

‘ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย พระองค์สถิตในสวรรค์

พระนามพระองค์จงเป็นที่สักการะ พระอาณาจักรจงมาถึง

พระประสงค์จงสำเร็จในแผ่นดิน เหมือนในสวรรค์

โปรดประทานอาหารประจำวันแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายในวันนี้

โปรดประทานอภัยแก่ข้าพเจ้า เหมือนข้าพเจ้าให้อภัยแก่ผู้อื่น

โปรดช่วยข้าพเจ้าไม่ให้แพ้การประจญ แต่โปรดช่วยให้พ้นจากความชั่วร้ายเทอญ’

เพราะถ้าท่านให้อภัยผู้ทำความผิด พระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์ ก็จะประทานอภัยแก่ท่านด้วย แต่ถ้าท่านไม่ให้อภัยผู้ทำความผิด พระบิดาของท่านก็จะไม่ประทานอภัยแก่ท่านเช่นเดียวกัน” 


มธ 6:1-13 พระคริสตเจ้ามักตรัสสอนถึงเรื่องการอดอาหาร การสวดภาวนาและการให้ทานว่า เป็นการปฏิบัติศาสนกิจที่น่ายกย่อง อย่างไรก็ตาม พระองค์ทรงสอนว่าการกระทำที่มองเห็นได้แต่ละอย่างเหล่านี้อาจกลายเป็นเรื่องหน้าไหว้หลังหลอกได้ หากไม่ได้ทำด้วยความรักต่อพระเจ้า ด้วยจิตที่สำนึกผิดจากภายในและการกลับใจ

การกลับใจภายใน

CCC ข้อ 1430 เช่นเดียวกับในสมัยของบรรดาประกาศกแล้ว การที่พระเยซูเจ้าทรงเรียกร้องให้กลับใจและเปลี่ยนชีวิตนั้น ก่อนอื่นไม่มุ่งถึง “การสวมผ้ากระสอบและโปรยเถ้าบนศีรษะ” การจำศีลอดอาหารและทรมานกาย แต่มุ่งโดยเฉพาะถึงการเปลี่ยนความคิดภายใน การเป็นทุกข์กลับใจ ถ้าไม่มีการกลับใจภายในเช่นนี้ กิจการภายนอกที่แสดงความทุกข์ถึงบาปก็ไร้ผลและเป็นการมุสา ตรงกันข้าม การกลับใจภายในย่อมเป็นแรงผลักดันให้แสดงเครื่องหมายออกมาภายนอกเป็นท่าทางและกิจการแสดงการกลับใจ

การเป็นทุกข์กลับใจมีหลายรูปแบบในชีวิตคริสตชน

CCC ข้อ 1434 การเป็นทุกข์กลับใจภายในของคริสตชนอาจมีวิธีแสดงออกต่างๆ ได้หลายรูปแบบ พระคัมภีร์และบรรดาปิตาจารย์เน้นโดยเฉพาะถึงสามรูปแบบ คือ การจำศีลอดอาหาร การอธิษฐานภาวนา และการให้ทาน ซึ่งแสดงการกลับใจในความสัมพันธ์กับตนเอง ความสัมพันธ์กับพระเจ้า และความสัมพันธ์กับผู้อื่น ควบคู่กับการชำระอย่างสมบูรณ์ที่ศีลล้างบาปหรือการเป็นมรณสักขีนำมาให้ พระคัมภีร์และบรรดาปิตาจารย์ยังกล่าวถึงวิธีการอื่นที่อาจช่วยให้ได้รับอภัยบาปได้ด้วย เช่น ความพยายามที่จะคืนดีกับเพื่อนพี่น้อง การร่ำไห้เสียใจที่ได้ทำบาป ความเอาใจใส่ต่อความรอดพ้นของเพื่อนพี่น้อง การภาวนาขอของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ (หรือ “นักบุญ”) การแสดงเมตตาจิตซึ่ง “ลบล้างบาปได้มากมาย” (1 ปต 4:8)

ธรรมบัญญัติใหม่ หรือ กฎแห่งพระวรสาร

CCC ข้อ 1968 กฎแห่งพระวรสารทำให้ธรรมบัญญัติสมบูรณ์ คำเทศน์สอนขององค์พระผู้เป็นเจ้าไม่ได้ลบล้างข้อกำหนดเกี่ยวกับความประพฤติของธรรมบัญญัติดั้งเดิม และไม่ได้ทำให้ข้อกำหนดเหล่านี้ลดค่าลงเลย แต่ทำให้พลังที่ซ่อนเร้นอยู่ของข้อกำหนดเหล่านี้ปรากฏชัดเจนขึ้นและทำให้เกิดข้อเรียกร้องใหม่ๆ จากข้อกำหนดเหล่านี้ เปิดเผยความจริงทั้งหมดเกี่ยวกับพระเจ้าและมนุษย์ของข้อกำหนดเหล่านี้ กฎแห่งพระวรสารไม่เพิ่มข้อกำหนดใหม่ภายนอก และก้าวหน้าเข้าไปปรับปรุงจิตใจซึ่งเป็นรากของการกระทำต่างๆ  เมื่อมนุษย์ไม่ยอมรับสิ่งที่มีมลทิน เลือกสิ่งบริสุทธิ์ ที่ก่อให้เกิดความเชื่อ ความหวังและความรัก และคุณธรรมประการอื่นๆ พร้อมกับคุณธรรมเหล่านี้ด้วย  พระวรสารจึงนำธรรมบัญญัติให้บรรลุถึงความบริบูรณ์โดยเอาอย่างความดีบริบูรณ์ของพระบิดาเจ้าสวรรค์โดยยกโทษให้ศัตรูและอธิษฐานภาวนาให้ผู้ที่เบียดเบียน ตามแบบฉบับพระทัยกว้างของพระเจ้า

CCC ข้อ 1969 ธรรมบัญญัติใหม่ปฏิบัติศาสนกิจ เช่นการให้ทาน การอธิษฐานภาวนาและจำศีลอดอาหาร โดยจัดให้กิจการเหล่านี้มุ่งไปหา “พระบิดา […] ผู้ทรงหยั่งรู้ในที่ลับ” ผิดกับผู้ที่ต้องการ “ให้ใครๆ เห็น” บทภาวนาของธรรมบัญญัติใหม่นี้ก็คือบท “ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย”


มธ 6:7  จงอย่าพูดซ้ำ : บทภาวนาที่เรียบง่ายที่สุดคือ การวอนขอในพระนามของพระเยซูเจ้า การกล่าวย้ำพระนามของพระองค์ การอธิษฐานภาวนาด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์และถ่อมตนนั้นมิใช่เป็นการพูดซ้ำด้วยวลีที่ว่างเปล่า อย่างไรก็ตามการกล่าวคำซ้ำๆ กันโดยปราศจากความตั้งใจและความศรัทธาแห่งความรักย่อมมีค่าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

พระบัญญัติสิบประการในธรรมประเพณีของพระศาสนจักร

CCC ข้อ 2067 พระบัญญัติสิบประการกล่าวถึงข้อเรียกร้องของความรักต่อพระเจ้าและต่อเพื่อนมนุษย์ พระบัญญัติสามประการแรกเกี่ยวข้องกับความรักต่อพระเจ้า และพระบัญญัติอีกเจ็ดประการเกี่ยวข้องกับความรักต่อเพื่อนมนุษย์ “เนื่องจากบัญญัติความรักมีอยู่สองประการ ที่องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสว่าธรรมบัญญัติและ (คำสอนของ) ประกาศกทั้งหมดขึ้นอยู่ฉันใด […] พระเจ้าจึงประทานพระบัญญัติสิบประการไว้บนศิลาจารึกสองแผ่นด้วยฉันนั้น พระบัญญัติสามประการเขียนไว้บนศิลาแผ่นหนึ่ง และเจ็ดประการเขียนไว้บนอีกแผ่นหนึ่ง”

CCC ข้อ 2068 สภาสังคายนาแห่งเมืองเตร็นท์สอนว่าบรรดาคริสตชนและมนุษย์ที่ได้รับความชอบธรรมยังจำเป็นต้องปฏิบัติตามพระบัญญัติสิบประการนี้ สภาสังคายนาวาติกันที่ 2 ยังกล่าวย้ำอีกว่า “บรรดาพระสังฆราช ในฐานะผู้สืบตำแหน่งต่อจากบรรดาอัครสาวก ได้รับพันธกิจจากองค์พระผู้เป็นเจ้า […] ให้ไปสอนนานาชาติและประกาศข่าวดีให้มนุษย์ทั้งปวง เพื่อว่ามนุษย์ทุกคน อาศัยความเชื่อ ศีลล้างบาป และการปฏิบัติตามพระบัญญัติ จะได้บรรลุถึงความรอดพ้น”

การอธิษฐานภาวนาต่อพระเยซูเจ้า

CCC ข้อ 2668 การเรียกขานพระนามศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้าเป็นหนทางซื่อที่สุดที่ทุกคนจะอธิษฐานภาวนาได้ตลอดเวลา การเรียกขานพระนามที่เอาใจใส่ทำซ้ำด้วยความถ่อมตนอยู่บ่อยๆ เช่นนี้ย่อมไม่สูญหายไป “ในการพูดพร่ำ” (มธ 6:7) แต่เป็นการ “ยึดพระวาจาไว้ด้วยความพากเพียรจนเกิดผล” การอธิษฐานภาวนาเช่นนี้ทำได้ “ตลอดเวลา” เพราะไม่ใช่การทำงานหนึ่งซ้อนกับอีกงานหนึ่ง แต่เป็นการทำงานเดียวกัน คือการรักพระเจ้า งานนี้เป็นพลังบันดาลใจและปรับปรุงกิจการทุกอย่างในพระเยซูคริสตเจ้า

บทข้าแต่พระบิดา

CCC ข้อ 2776 บทข้าแต่พระบิดาเป็นการภาวนายอดเยี่ยมของพระศาสนจักร เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้ของชั่วโมงสำคัญในพิธีกรรมทำวัตร และของศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับพิธีรับผู้สมัครเป็นคริสตชน ได้แก่ศีลล้างบาป ศีลกำลังและศีลมหาสนิท   บทภาวนาบทนี้ยังแทรกอยู่ในพิธีบูชาขอบพระคุณ แสดงให้เห็นลักษณะ “อันตกาล” ของคำขอต่างๆ ของบทภาวนาบทนี้ ขณะที่รอคอยองค์พระผู้เป็นเจ้า “จนกว่าพระองค์จะเสด็จมา” (1 คร 11:26)


มธ 6:8 ถึงแม้ว่าพระเจ้าพระบิดาทรงทราบดีถึงความต้องการของทุกคนอยู่แล้ว แต่พระองค์ก็ทรงปรารถนาให้เราเข้าหาพระองค์ด้วยการอธิษฐานภาวนา เนื่องจากพระองค์ทรงต้องการให้เราซึ่งเป็นบุตรเข้าไปหาพระองค์ในฐานะที่ทรงเป็นบ่อเกิดแห่งความดีทั้งมวล การอธิษฐานภาวนาเป็นการให้คำตอบส่วนตัวของเราต่อพระเจ้า

พระเยซูพระเมสสิยาห์ทรงเป็นบุตรของพระเจ้า

CCC ข้อ 43 ถ้าเปโตรสามารถรับรู้ลักษณะโลกุตระของการที่พระเยซูพระเมสสิยาห์ทรงเป็นบุตรของพระเจ้าได้นั้นก็เพราะว่าพระองค์เองทรงแสดงให้ท่านเห็นอย่างชัดเจน ต่อหน้าสภาซันเฮดริน เมื่อบรรดาผู้กล่าวโทษพระองค์ถามว่า “ดังนั้น ท่านเป็นบุตรของพระเจ้าใช่ไหม” พระเยซูเจ้าทรงตอบว่า “ท่านพูดเองนะว่าเราเป็น” (ลก 22:70) เป็นเวลานานก่อนหน้านั้นแล้วพระองค์ตรัสว่าทรงเป็น “บุตร” ซึ่งรู้จักพระบิดา แตกต่างจาก “ผู้รับใช้” ซึ่งพระเจ้าทรงเคยส่งมาหาประชากรอิสราเอลก่อนหน้านั้น ทรงอยู่เหนือกว่าบรรดาทูตสวรรค์ พระองค์ทรงแยกการทรงเป็นบุตรของพระเจ้าจากการที่บรรดาสาวกเป็นโดยไม่เคยตรัสเลยว่า “พระบิดาของพวกเรา” นอกจากเพื่อทรงสั่งเขาว่า “ท่านทั้งหลายจงอธิษฐานภาวนาดังนี้ ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย” (มธ 6:9) และยังทรงเน้นความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่าง “พระเจ้าของเราและพระเจ้าของท่านทั้งหลาย” (ยน 20:17)

ทำไมเราจึงบ่นที่พระเจ้าไม่ทรงฟังเรา

CCC ข้อ 2736 เราเชื่อมั่นหรือเปล่าว่า “เราไม่รู้ว่าเราควรจะต้องอธิษฐานภาวนาขอสิ่งใด” (รม 8:26) เราวอนขอพระเจ้าให้ประทาน “สิ่งที่ดีสำหรับเรา” หรือเปล่า เพราะพระบิดาทรงทราบแล้วว่าเราต้องการสิ่งใดก่อนที่เราจะขอจากพระองค์เสียอีก แต่พระองค์ทรงคอยให้เราวอนขอ เพราะศักดิ์ศรีการเป็นบุตรของพระองค์อยู่ในความเป็นอิสระเสรีของเขา ดังนั้น เราจึงต้องอธิษฐานภาวนาพร้อมกับพระจิตแห่งอิสรภาพของพระองค์ เพื่อเราจะได้รู้พระประสงค์แท้จริงของพระองค์


มธ 6:9-13 บทภาวนาขององค์พระผู้เป็นเจ้า คือบทภาวนาของธรรมบัญญัติใหม่ และบทที่อยู่ในพระวรสารของนักบุญมัทธิวนั้นได้ถูกใช้ในคารวกิจพิธีกรรม บทภาวนานี้คือ “ข้อสรุปของพระวรสารทั้งครบ” (Origen, De orat., 1) เป็นการแสดงออกถึงสิ่งที่เราควรปรารถนาและสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง มีการสวดบทภาวนาขององค์พระผู้เป็นเจ้าในพิธีบูชาขอบพระคุณ ในพิธีกรรมทำวัตร ในการสวดสายประคำ ในหลายพิธีกรรมอื่นๆ และในจารีตกิจศรัทธาต่างๆ ด้วย 

CCC ข้อ 1969 อ่านเพิ่มเติมด้านบน (มธ 6:1-13) 

พระเยซูเจ้าทรงสอนให้อธิษฐานภาวนา

  CCC ข้อ 2621 เมื่อทรงสอนบรรดาศิษย์ พระเยซูเจ้าทรงสอนเขาให้อธิษฐานภาวนาด้วยใจบริสุทธิ์ ด้วยความเชื่อมั่นอย่างมีชีวิตชีวา ด้วยความกล้าเยี่ยงบุตร พระองค์ทรงเรียกและเชิญชวนเขาให้ถวายคำวอนขอของตนแด่พระเจ้าเดชะพระนามของพระองค์ พระเยซูคริสตเจ้าเองก็ทรงฟังคำอธิษฐานภาวนาที่เราทูลขอต่อพระองค์ด้วย

CCC ข้อ 2759 – 2802 

บท “ข้าแต่พระบิดา”

CCC ข้อ 2857   คำวอนขอสามข้อแรกของบท “ข้าแต่พระบิดา” กล่าวถึงพระสิริรุ่งโรจน์ของพระบิดา นั่นคือ ขอให้พระนามจงเป็นที่สักการะ ขอให้พระอาณาจักรมาถึง ขอให้พระประสงค์สำเร็จไป ส่วนคำขอสี่ข้อที่เหลือแสดงความปรารถนาของเรา เกี่ยวข้องกับชีวิตของเรา ทูลขอให้มีอาหารหล่อเลี้ยง หรือทูลขอให้ทรงบำบัดรักษาเราให้พ้นจากบาป และเกี่ยวข้องกับการที่เราต้องต่อสู้เพื่อความดีจะได้มีชัยชนะเหนือความชั่ว

CCC ข้อ 2858 เมื่อทูลขอว่า “พระนามพระองค์จงเป็นที่สักการะ” เราก็เข้าร่วมกับแผนการของพระเจ้า เพื่อทำให้พระนาม – ที่ทรงเปิดเผยแก่โมเสส แล้วยังทรงเปิดเผยในพระเยซูเจ้า – ได้รับการสักการะจากเราและในตัวเรา เช่นเดียวกับในชนทุกชาติและในมนุษย์แต่ละคน

CCC ข้อ 2859 ในคำวอนขอข้อสอง พระศาสนจักรคิดถึงการเสด็จกลับมาของพระคริสตเจ้าและโดยเฉพาะการที่พระอาณาจักรของพระเจ้าจะมาถึงในวาระสุดท้าย พระศาสนจักรยังวอนขอให้พระอาณาจักรของพระเจ้าได้เติบโตขึ้น “วันนี้” ในชีวิตของเราด้วย

CCC ข้อ 2860 ในคำวอนขอข้อสาม เราวอนขอพระบิดาของเราให้ทรงรวมความปรารถนาของเราเข้ากับพระประสงค์ของพระบุตรที่ทรงประสงค์ให้แผนการของพระบิดาที่จะให้มนุษย์ทุกคนได้รับความรอดพ้นสำเร็จไปในชีวิตของโลก

CCC ข้อ 2861 ในคำวอนขอข้อสี่ เมื่อกล่าวว่า “โปรดประทาน... แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย” เรามีความสัมพันธ์ร่วมกับเพื่อนพี่น้องของเรา แสดงความไว้วางใจของเราเยี่ยงบุตรต่อพระบิดาในสวรรค์ “อาหาร (ของเรา)” หมายถึงอาหารหล่อเลี้ยงชีวิตของเราในโลกนี้เพื่อทุกคนจะได้มีอาหารที่จำเป็นเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิต และยังหมายถึงอาหารที่จำเป็นสำหรับชีวิต คือพระวาจาของพระเจ้าและพระวรกายของพระคริสตเจ้า (ในศีลมหาสนิท) ด้วย  เราต้องรับอาหารนี้ “ประจำวัน” ใน “วันนี้” ของพระเจ้า เป็นอาหารที่จำเป็นอย่างยิ่ง จากงานเลี้ยงในพระอาณาจักรสวรรค์ ที่ศีลมหาสนิทเป็นการเกริ่นล่วงหน้าถึงงานเลี้ยงนี้

CCC ข้อ 2862 คำวอนขอข้อห้าวอนขอพระกรุณาของพระเจ้าสำหรับความผิดที่เราได้ทำ พระกรุณานี้ไม่อาจเข้าไปในใจของเราได้นอกจากว่าเราได้เรียนรู้ที่จะให้อภัยแก่ศัตรูของเราตามพระฉบับแบบของพระคริสตเจ้าและได้รับความช่วยเหลือจากพระองค์เสียก่อน

CCC ข้อ 2863 เมื่อกล่าวว่า “โปรดช่วยข้าพเจ้าไม่ให้แพ้การผจญ” (หรือตามตัวอักษรว่า “อย่านำข้าพเจ้าทั้งหลายเข้าไปในการผจญ”) เราวอนขอพระเจ้าอย่าปล่อยให้เราเข้าไปในหนทางที่จะนำไปหาบาป คำวอนขอข้อนี้ขอให้เรามีจิตที่รู้จักแยกแยะและทรงพลัง วอนขอพระหรรษทานที่จะระวังตัวและยืนหยัดมั่นคงจนถึงที่สุด

  CCC ข้อ 2864 ในคำวอนขอข้อสุดท้าย “แต่โปรดช่วยให้พ้นจากความชั่วร้ายเทอญ” คริสตชนวอนขอพระเจ้าพร้อมกับพระศาสนจักรให้ชัยชนะที่พระคริสตเจ้าทรงได้รับมาแล้ว “ต่อเจ้าแห่งโลกนี้” คือจากปีศาจ ทูตสวรรค์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพระเจ้าโดยตรงและต่อแผนงานความรอดพ้นของพระองค์นั้น ได้เป็นที่ปรากฏอย่างชัดเจน

CCC ข้อ 2865 โดยคำสุดท้าย “อาเมน” เราแสดงความปรารถนา “ขอให้เป็นเช่นนี้” ต่อคำวอนขอของเราทั้งเจ็ดข้อว่า “สาธุ – ขอให้เป็นเช่นนี้เทอญ”


มธ 6:9  ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย พระองค์สถิตในสวรรค์ : พระคริสตเจ้าทรงสอนบรรดาศิษย์ของพระองค์ให้ขานพระนามพระเจ้าว่า “พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย” ต่อมาพระองค์ได้ทรงแยกแยะความเป็นบุตรหนึ่งเดียวของพระองค์กับพระบิดาจากการเป็นบุตรพระเจ้าของเราเอง โดยตรัสแยกแยะถึงพระเจ้าว่า “พระบิดาของท่าน” และ “พระบิดาของเรา” ความเป็นบุตรพระเจ้าซึ่งมาจากการเข้าร่วมเป็นกายเดียวกันของเราในพระวรกายของพระคริสตเจ้าโดยทางศีลล้างบาป ทำให้เรากลายเป็นบุตรบุญธรรมของพระเจ้า  บทภาวนาขององค์พระผู้เป็นเจ้า คือบทภาวนาทางการของพระศาสนจักร  พระนามพระองค์จงเป็นที่สักการะ : พระเจ้าคือแหล่งที่มาของความดีทั้งมวล และเราวอนขอให้พระนามของพระองค์ได้เป็นที่รู้จักและได้รับการสักการะ พระบัญญัติประการที่สองสอนให้เราปฏิบัติต่อพระนามของพระองค์ด้วยความเคารพและความคารวะอย่างสูงสุด 

พระผู้ทรงสรรพานุภาพ

CCC ข้อ 268 จากคุณลักษณะทั้งมวลของพระเจ้า บทยืนยันความเชื่อกล่าวถึงเพียงสรรพานุภาพของพระองค์เท่านั้น การประกาศเรื่องนี้สำคัญมากสำหรับชีวิตของเรา เราเชื่อว่าพระอานุภาพนี้ครอบคลุมทุกสิ่ง เพราะพระเจ้าผู้ทรงเนรมิตสร้างสรรพสิ่ง ทรงปกครองทุกสิ่ง ทรงทำทุกสิ่งได้ (เราเชื่อว่า) พระอานุภาพนี้เปี่ยมด้วยความรัก เพราะพระเจ้าทรงเป็นพระบิดาของเรา (พระอานุภาพนี้) ยังลึกลับ เพราะความเชื่อเท่านั้นอาจแยกแยะความรักนี้ได้ ในเมื่อ “(พระอานุภาพนี้) แสดงออกเต็มที่เมื่อมนุษย์มีความอ่อนแอ” (2 คร 12:9)

CCC ข้อ 443 อ่านเพิ่มเติมด้านบน (มธ 6:8)

“ข้าแต่พระบิดา”

CCC ข้อ 2783 ดังนี้ บทภาวนาขององค์พระผู้เป็นเจ้าเปิดเผยให้เรารู้จักตนเอง พร้อมกับเปิดเผยให้เรารู้จักพระบิดา “มนุษย์เอ๋ย ท่านไม่กล้าเงยหน้าขึ้นมองท้องฟ้า ท่านทอดสายตามองแผ่นดิน และท่านก็ได้รับพระหรรษทานของพระคริสตเจ้าทันที บาปทั้งหมดของท่านได้รับการอภัย จากผู้รับใช้ที่เลว ท่านกลายเป็นบุตรที่ดี […] ดังนั้น จงเงยหน้าขึ้นหาพระบิดา ซึ่งได้ชำระล้างทำให้ท่านเกิดใหม่ จงเงยหน้าขึ้นหาพระบิดาผู้ทรงไถ่ท่านโดยทางพระบุตร และจงกล่าวว่า ‘ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย’ […] แต่อย่าเรียกร้องอะไรเป็นพิเศษสำหรับตนเอง พระองค์ทรงเป็นพระบิดาเฉพาะของพระคริสตเจ้าเท่านั้น แต่ทรงเป็นพระบิดาสำหรับเราทุกคนเป็นส่วนรวม เพราะทรงให้กำเนิดแก่พระบุตรเพียงพระองค์เดียว แต่ทรงเนรมิตสร้างพวกเรา ข้าพเจ้าและท่านจงกล่าวว่า ‘ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย’ อาศัยพระหรรษทาน เพื่อท่านจะสมเป็นบุตรได้” 

CCC ข้อ 2784 พระพรการรับเป็นบุตรบุญธรรมที่พระองค์ประทานให้เปล่านี้เรียกร้องให้เรากลับใจและมีชีวิตใหม่อยู่ตลอดเวลา การอธิษฐานภาวนาต่อพระบิดาของเราจึงต้องพัฒนาคุณสมบัติพื้นฐานสองประการ ประการแรกได้แก่ ความปรารถนาและตั้งใจจะเป็นเหมือนพระองค์ เราถูกเนรมิตสร้างมาตามภาพลักษณ์ของพระองค์ พระหรรษทานคืนภาพลักษณ์นี้ให้แก่เรา เราจึงต้องตอบสนองพระหรรษทานนี้ “เมื่อเราเรียกพระเจ้าเป็นพระบิดา เราก็ต้องปฏิบัติตนเหมือนกับบุตรของพระองค์”  “ใครๆ ที่มีจิตใจโหดร้ายและไร้เมตตาไม่อาจเรียกพระเจ้าผู้ทรงพระเมตตาเป็นพระบิดาได้ เพราะเขา ไม่รักษาลักษณะความเมตตากรุณาที่อยู่ในพระบิดาเจ้าสวรรค์ไว้”

CCC ข้อ 2803-2815 


มธ 6:10  พระอาณาจักรจงมาถึง : เราควรมีความปรารถนาทั้งในเรื่องการสถาปนาและการขยายพระอาณาจักรของพระเจ้าบนโลกนี้ ซึ่งเป็นพระอาณาจักรแห่งความสันติ ความชื่นชมยินดี ความจริง และชีวิต สามารถเกิดขึ้นได้โดยการรับเอากายเป็นมนุษย์ของพระคริสตเจ้า และจะบรรลุความสมบูรณ์เมื่อถึงวาระสุดท้าย  พระประสงค์จงสำเร็จ... เหมือนในสวรรค์ : คริสตชนควรพยายามปรับความปรารถนาของตนให้สอดคล้องกับพระประสงค์ของพระคริสตเจ้า ผู้ทรงดำเนินตามพระประสงค์ของพระบิดาอย่างสมบูรณ์แบบ

การอธิษฐานเพื่อวอนขอ

CCC ข้อ 2632 การวอนขอของคริสตชนมีศูนย์กลางอยู่ที่ความปรารถนาและการแสวงหาพระอาณาจักรที่มาถึงตามคำสอนของพระเยซูเจ้า ต้องมีลำดับความสำคัญในการวอนขอ ก่อนอื่นต้องวอนขอพระอาณาจักร  แล้วจึงวอนขอสิ่งที่จำเป็นสำหรับรับพระอาณาจักรนี้ และเพื่อร่วมงานกับการมาถึงของพระอาณาจักร การร่วมงานนี้กับพันธกิจของพระคริสตเจ้าและของพระจิตเจ้า ซึ่งบัดนี้ยังเป็นพันธกิจของพระ ศาสนจักรด้วย จึงเป็นสาระสำคัญของการอธิษฐานภาวนาของกลุ่มคริสตชนสมัยอัครสาวกเช่นกัน การอธิษฐานภาวนาของเปาโล อัครสาวกผู้ยิ่งใหญ่ เปิดเผยให้เรารู้ว่าความเอาใจใส่ของพระเจ้าต่อกลุ่มคริสตชนทุกแห่งต้องเป็นพลังบันดาลใจของการอธิษฐานภาวนาของคริสตชน ผู้ที่รับศีลล้างบาปแล้วทุกคนร่วมงานให้พระอาณาจักรมาถึงโดยการอธิษฐานภาวนา

การอธิษฐานภาวนาของพระศาสนจักร

CCC ข้อ 2771 ในพิธีบูชาขอบพระคุณ บทข้าแต่พระบิดายังแสดงลักษณะอันตกาล (escalological) ของคำวอนขอต่างๆ ให้ปรากฏด้วย บทภาวนาบทนี้ยังเป็นการวอนขอ “ของยุคสุดท้าย” โดยเฉพาะด้วย คือขอความรอดพ้นของช่วงเวลาที่พระจิตเจ้าทรงเริ่มหลั่งไว้ให้แล้วและจะสำเร็จบริบูรณ์เมื่อองค์พระผู้เป็นเจ้าจะเสด็จกลับมา คำวอนขอต่อพระบิดาของเราแตกต่างจากคำวอนขอของพันธสัญญาเดิม อิงอยู่แล้วกับพระธรรมล้ำลึกแห่งความรอดพ้นที่สำเร็จไปแล้วครั้งเดียวสำหรับตลอดไปในพระคริสตเจ้าผู้ทรงถูกตรึงกางเขนและกลับคืนพระชนมชีพ

CCC ข้อ 2816-2827 


มธ 6:11  โปรดประทานอาหารประจำวันแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายในวันนี้ : ในความหมายด้านกายภาพ พระคริสตเจ้าทรงเรียกให้ทุกคนวางใจอย่างเต็มเปี่ยมในพระบิดา ผู้ทรงจัดเตรียมทุกอย่างไว้เพื่อความต้องการของเราทุกคน ส่วนในความหมายฝ่ายจิตนั้น เราวอนขอปังแห่งชีวิต คือองค์พระคริสตเจ้าเอง ผู้ประทับอยู่ทุกวันในพระวาจาของพระองค์ด้วยวิธีที่ไม่เหมือนใคร อย่างแท้จริงและอย่างครบถ้วนในศีลมหาสนิท 

เทศกาลทางพิธีกรรม

CCC ข้อ 1163 “พระศาสนจักรมารดาศักดิ์สิทธิ์ถือว่าตนมีหน้าที่จะต้องเฉลิมฉลองระลึกถึงงานช่วยมนุษย์ให้รอดพ้นของพระคริสตเจ้า ผู้เป็นทรงเป็นเสมือนเจ้าบ่าวของตน ในวันที่กำหนดไว้ระหว่างปี ดังนั้น ทุกสัปดาห์ในวันที่เรียกว่า “วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า” พระศาสนจักรจึงรำลึกถึงการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า ซึ่งพระศาสนจักรยังเฉลิมฉลองพร้อมกับการทรงรับทรมานของพระองค์อีกปีละครั้งในวันสมโภชปัสกา พระศาสนจักรยังนำพระธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้ามาตีแผ่ตลอดเวลาทั้งปี […] พระศาสนจักรระลึกถึงพระธรรมล้ำลึกการไถ่กู้เช่นนี้ เพื่อเปิดให้ผู้มีความเชื่อได้รับผลกิจการช่วยมนุษย์ให้รอดพ้นและพระบารมีขององค์พระผู้เป็นเจ้าซึ่งเป็นเสมือนขุมทรัพย์ล้ำค่า และทำให้ขุมทรัพย์เหล่านี้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ เขาจะได้รับสัมผัสและรับพระหรรษทานที่ช่วยให้รอดพ้นอย่างเต็มเปี่ยม”

CCC ข้อ 1164  นับตั้งแต่สมัยธรรมบัญญัติของโมเสสแล้ว ประชากรของพระเจ้ารู้จักวันฉลองต่างๆ ที่กำหนดไว้ตายตัว เริ่มตั้งแต่ฉลองปัสกา เพื่อระลึกถึงกิจการน่าพิศวงต่างๆ ของพระเจ้าพระผู้ไถ่กู้ เพื่อจะได้ขอบพระคุณพระองค์สำหรับกิจการเหล่านี้ จะได้จดจำไว้และสั่งสอนอนุชนรุ่นใหม่ให้ดำเนินชีวิตสอดคล้องกับเหตุการณ์เหล่านี้ ในสมัยของพระศาสนจักร ซึ่งอยู่ระหว่างปัสกาของพระคริสตเจ้าที่สำเร็จสำหรับตลอดไปแล้วกับความสำเร็จสมบูรณ์ของปัสกานี้ในพระอาณาจักรของพระเจ้า พิธีกรรมที่ประกอบในวันต่างๆ ที่กำหนดไว้ก็มีลักษณะความใหม่ของพระธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม

CCC ข้อ 1165 เมื่อพระศาสนจักรเฉลิมฉลองพระธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้า มีคำหนึ่งที่เน้นคำอธิษฐานภาวนา คือคำว่า “วันนี้” คำภาวนาที่สะท้อนบทภาวนาที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงสอนไว้ และสะท้อนการเชื้อเชิญของพระจิตเจ้า คำว่า “วันนี้” นี้ของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์ที่เชิญมนุษย์ให้เข้าไปก็คือ “เวลา” แห่งปัสกาของพระเยซูเจ้าผู้ทรงอยู่เหนือกาลเวลาและทรงนำประวัติศาสตร์

“ชีวิตเปิดอยู่สำหรับทุกสิ่ง และทุกสิ่งเต็มไปด้วยแสงสว่างนิรันดร ตะวันออกแห่งตะวันออกปกคลุมจักรวาล และพระองค์ผู้ทรงถือกำเนิดก่อนดาวประจำรุ่ง พระคริสตเจ้าผู้ทรงอมตและยิ่งใหญ่ทรงส่องแสงเหนือจักรวาลมากกว่าดวงอาทิตย์ ดังนั้นวันยาวนาน นิรันดรและไม่มีวันดับจึงเป็นวันเจิดจ้าสำหรับเราผู้เชื่อในพระองค์ เป็นปัสกาล้ำลึก”

“พระเยซูเจ้าเสด็จสู่สวรรค์ประทับเบื้องขวาพระเจ้า พระบิดาผู้ทรงสรรพานุภาพ”

CCC ข้อ 659 เราเรียนรู้ที่จะอธิษฐานภาวนาในบางขณะที่เราฟังพระวาจาขององค์พระผู้เป็นเจ้า และมีส่วนร่วมพระธรรมล้ำลึกปัสกาของพระองค์ แต่พระองค์ประทานพระจิตของพระองค์ให้เราเสมอ ในเหตุการณ์ต่างๆ ของแต่ละวัน เพื่อให้การอธิษฐานภาวนาเกิดขึ้น คำสอนของพระเยซูเจ้าเรื่องการอธิษฐานภาวนายังพบได้ในแนวเดียวกันกับคำสอนเรื่องพระญาณเอื้ออาทร เวลาอยู่ในพระหัตถ์ของพระบิดา  เราพบพระองค์ได้เสมอในปัจจุบัน ไม่ใช่เมื่อวานนี้หรือพรุ่งนี้ “ท่านทั้งหลายจงฟังพระสุรเสียงของพระองค์ในวันนี้เถิด อย่าทำใจให้แข็งกระด้าง” (สดด 95:7-8)

CCC ข้อ 2828-2837


มธ 6:12  โปรดประทานอภัย...แก่ผู้อื่น : การคืนดีกับพระเจ้าเรียกร้องให้เราคืนดีกับเพื่อนมนุษย์เสียก่อน เราซึ่งเป็นหนี้บุญคุณพระเจ้าอย่างมากมาย จะไม่สามารถรับการอภัยและความเมตตาจากพระเจ้าได้อย่างเต็มที่ นอกจากเราจะให้อภัยและแสดงความเมตตาต่อผู้อื่น พระคริสตเจ้าทรงพัฒนาคำอธิษฐานภาวนานี้ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นในบทเทศน์บนภูเขา (เทียบ มธ 5:23-24; 6:14-15)

ข้าแต่พระบิดา “ของข้าพเจ้าทั้งหลาย”

CCC ข้อ 2792 ในที่สุด ถ้าเราอธิษฐานภาวนาบท “ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย” เราย่อมออกจากความเป็นเอกเทศ เพราะว่าความรักที่เราได้รับมานั้นช่วยเราให้พ้นจากสภาพเช่นนี้ คำว่า “ของข้าพเจ้าทั้งหลาย” ตอนต้นของบทภาวนาบทข้าแต่พระบิดานี้ เช่นเดียวกับคำว่า “ข้าพเจ้าทั้งหลาย” (เรา) ในคำขอสุดท้ายสี่ข้อนั้น จึงไม่กีดกันผู้ใดออกไปเลย เพื่อให้เรากล่าวคำนี้ตามความจริง เราจะต้องเอาชนะการแตกแยกและการขัดแย้งกันเองให้ได้

CCC ข้อ 2838-2845


มธ 6:13  โปรดช่วยข้าพเจ้าไม่ให้แพ้การประจญ : หมายถึง “อย่าปล่อยให้เรายอมแพ้ต่อการประจญ” หรือ “อย่าปล่อยให้เราต้องรับการประจญโดยลำพัง”  โปรดช่วยให้พ้นจากความชั่วร้าย : ความชั่วร้ายหมายความรวมถึงทั้งการประจญล่อลวงให้ตกในบาป และทั้งซาตานซึ่งเป็นผู้หลอกลวงและเจ้าแห่งความชั่วร้าย การปกป้องจากสิ่งชั่วร้ายนั้นรวมความถึงการปกป้องจากความชั่วร้ายทุกประการ เพื่อให้ประชากรของพระเจ้ามานะพากเพียรในความหวังอย่างซื่อสัตย์ ที่จะได้อยู่เฉพาะพระพักตร์พระเจ้าในพระอาณาจักรสวรรค์

“พระอาณาจักรจงมาถึง”

CCC ข้อ 2821 คำวอนขอนี้ได้รับการสนับสนุนจากการอธิษฐานภาวนาของพระเยซูเจ้าและพระเจ้าทรงฟังในการอธิษฐานภาวนาของพระคริสตเจ้า ที่มีอยู่และเกิดผลในพิธีบูชาขอบพระคุณ และบังเกิดผลในชีวิตใหม่ตามคำสอนเรื่องความสุขแท้จริง

CCC ข้อ 2846 – 2854 

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)