แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันพุธ สัปดาห์ที่ 6 เทศกาลธรรมดา

พระวรสาตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก (มก 8:22-26)            

เวลานั้น พระเยซูเจ้าเสด็จมาพร้อมกับบรรดาศิษย์ถึงเมืองเบธไซดา มีผู้นำคนตาบอดคนหนึ่งมาขอให้พระองค์ทรงสัมผัส พระองค์ทรงจูงคนตาบอดออกไปนอกหมู่บ้าน ทรงใช้พระเขฬะแตะตาของเขา ทรงปกพระหัตถ์เหนือเขา ตรัสถามเขาว่า “ท่านเห็นอะไรไหม” เขาเงยหน้าขึ้น ทูลตอบว่า “ข้าพเจ้าเห็นผู้คนเหมือนกับต้นไม้เดินไปเดินมา” พระองค์ทรงวางพระหัตถ์แตะตาของเขาอีก เขาก็เห็นชัด และหายเป็นปกติ มองเห็นทุกอย่างได้ชัดเจน พระเยซูเจ้าทรงส่งเขากลับบ้าน ตรัสว่า “อย่าเข้าไปในหมู่บ้าน”  


มก 8:18-26  มีตา... แต่ไม่ได้ยิน : สำนวนเชิงโวหารนี้มีความสำคัญเป็นพิเศษในกรณีของการรักษาคนใบ้หูหนวก (เทียบ มก 7:31-37) และตามด้วยพระวรสารตอนที่เกี่ยวกับการรักษาคนตาบอด (เทียบ มก 8: 22-26) เรื่องการรักษาคนตาบอดเป็นการเปรียบเทียบกับการเดินทางแห่งความเชื่อของเรา พระคริสตเจ้าทรงรักษาเราจากความมืดบอดทางวิญญาณ จนกว่าเราจะสามารถเห็นพระองค์ในทุกสถานการณ์และเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวันของเรา (เทียบ มก 7:33)

  เครื่องหมายและสัญลักษณ์

  CCC ข้อ 1151 เครื่องหมายที่พระคริสตเจ้าทรงรับมา พระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงใช้สิ่งสร้างเป็นเครื่องหมายเพื่อทรงสอนพระธรรมล้ำลึกเรื่องพระอาณาจักรของพระเจ้า ทรงใช้วัตถุหรือการกระทำแบบสัญลักษณ์เป็นเครื่องหมายเมื่อทรงรักษาโรคหรือเทศน์สอน พระองค์ทรงให้ความหมายใหม่แก่เหตุการณ์และเครื่องหมายต่างๆ ในพันธสัญญาเดิม โดยเฉพาะการอพยพและฉลองปัสกา เพราะพระองค์ทรงเป็นความหมายของเครื่องหมายเหล่านี้ทั้งหมด

  พระคริสตเจ้าทรงเป็นเสมือนนายแพทย์

  CCC ข้อ 1504 พระเยซูเจ้าทรงขอร้องคนเจ็บป่วยให้มีความเชื่อ ทรงใช้เครื่องหมายเพื่อบำบัดรักษา เช่นทรงใช้พระเขฬะ การปกพระหัตถ์ ทรงป้ายโคลนและสั่งให้ไปล้างออก บรรดาคนเจ็บป่วยพยายามสัมผัสพระองค์ “เพราะมีพระอานุภาพออกจากพระองค์รักษาทุกคนให้หายโรค” (ลก 6:19) ดังนั้น ในศีลศักดิ์สิทธิ์ พระคริสตเจ้ายังคงทรง “สัมผัส” เพื่อบำบัดรักษาพวกเรา

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)