แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ สัปดาห์ที่ 6  เทศกาลธรรมดา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว (มธ 5:17-37)                                    

เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสว่า “จงอย่าคิดว่าเรามาเพื่อลบล้างธรรมบัญญัติหรือคำสอนของบรรดาประกาศก เรามิได้มาเพื่อลบล้าง แต่มาเพื่อปรับปรุงให้สมบูรณ์ เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ตราบใดที่ฟ้าและดินยังไม่สูญสิ้นไป แม้แต่ตัวอักษรหรือจุดเพียงจุดเดียวจะไม่ขาดหายไปจากธรรมบัญญัติจนกว่าทุกอย่างจะสำเร็จไป ดังนั้น ผู้ใดละเมิดธรรมบัญญัติเพียงข้อเดียว แม้เล็กน้อยที่สุดและสอนผู้อื่นให้ละเมิดด้วย จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ต่ำต้อยที่สุดในอาณาจักรสวรรค์ ส่วนผู้ที่ปฏิบัติและสอนผู้อื่นให้ปฏิบัติด้วย จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในอาณาจักรสวรรค์

เราบอกท่านทั้งหลายว่า ถ้าความชอบธรรมของท่านไม่ดีไปกว่าความชอบธรรมของบรรดาธรรมาจารย์และชาวฟาริสีแล้วท่านจะเข้าอาณาจักรสวรรค์ไม่ได้เลย

ท่านได้ยินคำกล่าวแก่คนโบราณว่า อย่าฆ่าคน ผู้ใดฆ่าคนจะต้องขึ้นศาล แต่เรากล่าวแก่ท่านว่า ทุกคนที่โกรธเคืองพี่น้อง จะต้องขึ้นศาล ผู้ใดกล่าวแก่พี่น้องว่า ‘ไอ้โง่’ ผู้นั้นจะต้องขึ้นศาลสูง ผู้ใดกล่าวแก่พี่น้องว่า ‘ไอ้โง่บัดซบ’ ผู้นั้นจะต้องถูกปรับโทษถึงไฟนรก ดังนั้น ขณะที่ท่านนำเครื่องบูชาไปถวายยังพระแท่น ถ้าระลึกได้ว่าพี่น้องของท่านมีข้อบาดหมางกับท่านแล้ว “จงวางเครื่องบูชาไว้หน้าพระแท่น กลับไปคืนดีกับพี่น้องเสียก่อน แล้วจึงค่อยกลับมาถวายเครื่องบูชานั้น จงคืนดีกับคู่ความของท่านขณะที่กำลังเดินทางไปศาลด้วยกัน มิฉะนั้น คู่ความจะมอบท่านแก่ผู้พิพากษา และผู้พิพากษาจะมอบท่านให้ผู้คุม ซึ่งจะขังท่านในคุก เราบอกความจริงแก่ท่านว่า ท่านจะออกจากคุกไม่ได้ จนกว่าท่านจะชำระหนี้จนเศษสตางค์สุดท้าย

ท่านได้ยินคำกล่าวที่ว่า อย่าล่วงประเวณี แต่เรากล่าวแก่ท่านทั้งหลายว่า ผู้ใดมองหญิงด้วยความใคร่ ก็ได้ล่วงประเวณีกับนางในใจแล้ว ถ้าตาขวาของท่านเป็นเหตุให้ท่านทำบาป จงควักมันทิ้งเสีย เพราะเพียงแต่เสียอวัยวะส่วนเดียว ยังดีกว่าปล่อยให้ร่างกายทั้งหมดของท่านตกนรก ถ้ามือขวาของท่านเป็นเหตุให้ท่านทำบาป จงตัดมันทิ้งเสีย เพราะเพียงแต่เสียอวัยวะส่วนเดียว ยังดีกว่าปล่อยให้ร่างกายทั้งหมดตกนรก มีคำกล่าวว่า ผู้ใดจะหย่ากับภรรยา ก็จงทำหนังสือหย่ามอบให้นาง แต่เรากล่าวแก่ท่านทั้งหลายว่า ผู้ใดที่หย่ากับภรรยา ยกเว้นกรณีแต่งงานไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ก็เท่ากับว่าทำให้นางล่วงประเวณี และผู้ใดที่แต่งกับหญิงที่ได้หย่าร้าง ก็ล่วงประเวณีด้วย

ท่านยังได้ยินคำกล่าวแก่คนโบราณว่า อย่าผิดคำสาบาน แต่จงทำตามที่ได้สาบานไว้ต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า แต่เราบอกท่านทั้งหลายว่า อย่าสาบานเลย อย่าอ้างถึงสวรรค์ เพราะเป็นที่ประทับของพระเจ้า อย่าอ้างถึงแผ่นดิน เพราะเป็นที่รองพระบาทของพระองค์ อย่าอ้างถึงกรุงเยรูซาเล็ม เพราะเป็นนครหลวงของพระมหากษัตริย์ อย่าอ้างถึงศีรษะของท่าน เพราะท่านไม่อาจเปลี่ยนผมสักเส้นให้เป็นดำเป็นขาวได้ ท่านจงพูดเพียงว่า ‘ใช่’ หรือ ‘ไม่ใช่’ คำพูดที่มากไปกว่านั้นมาจากมารร้าย” 


มธ 5:17-19  อย่าคิดว่าเรามาเพื่อลบล้าง... แต่มาเพื่อปรับปรุงให้สมบูรณ์ : พระคริสตเจ้าไม่ทรงมาเพื่อลบล้างธรรมบัญญัติ แต่เพื่อปรับปรุงและทำให้สมบูรณ์ขึ้น พระองค์ทรงทำให้ธรรมบัญญัติสมบูรณ์โดยทรงทำให้ทุกการกระทำเปี่ยมด้วยพระหรรษทานด้วยความรักอันยิ่งใหญ่ของพระองค์  ท่านได้ยินคำกล่าวที่ว่า... แต่เราบอกท่านว่า : พระคริสตเจ้าทรงย้ำถ้อยคำนี้หรือด้วยวาจาที่คล้ายกันนี้ เพื่ออธิบายถึงความจำเป็นทั้งมวลของธรรมบัญญัติ

พระเยซูเจ้าและธรรมบัญญัติ

CCC ข้อ 577 เมื่อทรงเริ่มการเทศน์บนภูเขา พระเยซูเจ้าทรงประกาศเตือนอย่างสง่าผ่าเผยอธิบายธรรมบัญญัติที่พระเจ้าประทานให้ในการทำพันธสัญญาครั้งแรกบนภูเขาซีนาย โดยทรงคำนึงถึงพระหรรษทานของพันธสัญญาใหม่ดังนี้ว่า “จงอย่าคิดว่าเรามาเพื่อลบล้างธรรมบัญญัติหรือคำสอนของบรรดาประกาศก เรามิได้มาเพื่อลบล้างแต่มาเพื่อปรับปรุงให้สมบูรณ์ เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ตราบใดที่ฟ้าและดินยังไม่สูญสิ้นไป แม้แต่ตัวอักษรหรือจุดเพียงจุดเดียวจะไม่ขาดหายไปจากธรรมบัญญัติ จนกว่าทุกอย่างจะสำเร็จไป ดังนั้น ผู้ใดละเมิดธรรมบัญญัติเพียงข้อเดียว แม้เล็กน้อยที่สุดและสอนผู้อื่นให้ละเมิดด้วย จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ต่ำต้อยในอาณาจักรสวรรค์ ส่วนผู้ที่ปฏิบัติและสอนผู้อื่นให้ปฏิบัติด้วย จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในอาณาจักรสวรรค์” (มธ 5:17-19)

ธรรมบัญญัติที่สมบูรณ์

CCC ข้อ 592 พระเยซูเจ้ามิได้ทรงลบล้างธรรมบัญญัติที่พระเจ้าประทานแก่อิสราเอลบนภูเขาซีนาย แต่ทรงปรับปรุงให้สมบูรณ์ ทรงปฏิบัติตามธรรมบัญญัติอย่างครบถ้วน เพื่อทรงเปิดเผยความหมายสุดท้าย และเพื่อทรงไถ่กู้การล่วงละเมิดธรรมบัญญัตินี้

ธรรมบัญญัติใหม่ หรือกฎแห่งพระวรสาร

CCC ข้อ 1967 กฎแห่งพระวรสารปรับปรุงให้ธรรมบัญญัติดั้งเดิมสมบูรณ์ขึ้น ขัดเกลา ก้าวข้ามและทำให้สมบูรณ์ ในบทเทศน์เรื่องความสุขแท้จริง กฎแห่งพระวรสารทำให้พระสัญญาสำเร็จไปโดยยกย่องและจัดไว้ให้มุ่งหา “พระอาณาจักรสวรรค์” กฎนี้มุ่งหาผู้ที่เตรียมพร้อมด้วยความเชื่อเพื่อจะไปรับความหวังใหม่นี้ เช่นผู้ยากจน สุภาพถ่อมตน เป็นทุกข์โศกเศร้า มีใจบริสุทธิ์ ถูกเบียดเบียน   เพราะพระคริสตเจ้า และดังนี้จึงขีดเส้นทางไปสู่พระอาณาจักรอย่างที่ไม่มีใครคาด

CCC ข้อ 1968 กฎแห่งพระวรสารทำให้ธรรมบัญญัติสมบูรณ์ คำเทศน์สอนขององค์พระผู้เป็นเจ้าไม่ได้ลบล้างข้อกำหนดเกี่ยวกับความประพฤติของธรรมบัญญัติดั้งเดิม และไม่ได้ทำให้ข้อกำหนดเหล่านี้ลดค่าลงเลย แต่ทำให้พลังที่ซ่อนเร้นอยู่ของข้อกำหนดเหล่านี้ปรากฏชัดเจนขึ้นและทำให้เกิดข้อเรียกร้องใหม่ๆ จากข้อกำหนดเหล่านี้ เปิดเผยความจริงทั้งหมดเกี่ยวกับพระเจ้าและมนุษย์ของข้อกำหนดเหล่านี้ กฎแห่งพระวรสารไม่เพิ่มข้อกำหนดใหม่ภายนอก และก้าวหน้าเข้าไปปรับปรุงจิตใจซึ่งเป็นรากของการกระทำต่างๆ  เมื่อมนุษย์ไม่ยอมรับสิ่งที่มีมลทิน เลือกสิ่งบริสุทธิ์ ที่ก่อให้เกิดความเชื่อ ความหวังและความรัก และคุณธรรมประการอื่นๆ พร้อมกับคุณธรรมเหล่านี้ด้วย  พระวรสารจึงนำธรรมบัญญัติให้บรรลุถึงความบริบูรณ์โดยเอาอย่างความดีบริบูรณ์ของพระบิดาเจ้าสวรรค์โดยยกโทษให้ศัตรูและอธิษฐานภาวนาให้ผู้ที่เบียดเบียน ตามแบบฉบับพระทัยกว้างของพระเจ้า

“พระอาจารย์ ข้าพเจ้าต้องทำ […] อะไร....?

CCC ข้อ 2053 พระองค์ยังทรงเสริมคำตอบแรกนี้อีกว่า “ถ้าท่านอยากเป็นคนดีอย่างสมบูรณ์ จงไปขายทุกสิ่งที่มีมอบเงินให้คนยากจน และท่านจะมีขุมทรัพย์ในสวรรค์ แล้วจงติดตามเรามาเถิด” (มธ 19:21) บัญญัติข้อนี้ไม่ลบล้างข้อแรก การติดตามพระคริสตเจ้ารวมบทบัญญัติทุกข้อ ธรรมบัญญัติไม่ถูกลบล้าง แต่เชิญชวนมนุษย์ให้พบธรรมบัญญัติในพระบุคคลของพระอาจารย์ซึ่งเป็นผู้ปรับปรุงธรรมบัญญัติให้สมบูรณ์ ใน         พระวรสารสหทรรศน์ทั้งสามฉบับ พระวาจาที่พระเยซูเจ้าทรงเรียกเศรษฐีหนุ่มให้เป็นศิษย์ติดตามพระองค์ด้วยความเชื่อฟังและปฏิบัติตามบทบัญญัติยังทรงเสริมการเรียกให้ปฏิบัติความยากจนและความบริสุทธิ์ คำแนะนำของพระวรสารแยกไม่ออกจากบทบัญญัติ


มธ 5:20 ทั้งบรรดาธรรมจารย์และชาวฟาริสีต่างก็รักษาบทบัญญัติแบบตามตัวอักษร แต่ไม่ได้รักษาจิตตารมณ์ของบทบัญญัตินั้น ซึ่งทั้งสองอย่างล้วนมีความจำเป็นสำหรับการรอดพ้น 

“พระอาจารย์ ข้าพเจ้าต้องทำ […] อะไร....?

CCC ข้อ 2054 พระเยซูเจ้าทรงยอมรับพระบัญญัติสิบประการมาเทศน์สอนอีก แต่ทรงย้ำถึงพลังของพระจิตเจ้าที่ทำงานในตัวบทของบัญญัติเหล่านี้ด้วย พระองค์ทรงประกาศสอนเรื่องความชอบธรรมที่ดีกว่าความชอบธรรมของบรรดาธรรมาจารย์และชาวฟาริสี รวมทั้งของคนต่างศาสนาด้วย พระองค์ทรงอธิบายข้อเรียกร้องต่างๆ ของธรรมบัญญัติเหล่านี้ทุกข้อ “ท่านได้ยินคำกล่าวแก่คนโบราณว่า อย่าฆ่าคน […] แต่เรากล่าวแก่ท่านว่า ทุกคนที่โกรธเคืองพี่น้องจะต้องขึ้นศาล” (มธ 5:21-22)


มธ 5:21-22 ในขณะที่พระบัญญัติประการที่ห้าห้ามการฆ่าคน พระบัญญัติของพระคริสตเจ้าห้ามการเกลียดชัง การโกรธ และความรุนแรงทุกรูปแบบ

“เพื่อพิพากษาผู้เป็นและผู้ตาย”

CCC ข้อ 678 ในการเทศน์สอนประชาชน พระเยซูเจ้าทรงประกาศถึงการพิพากษาในวาระสุดท้ายตามแบบของบรรดาประกาศก และยอห์นผู้ประกอบพิธีล้าง ในเวลานั้นวิธีดำเนินชีวิตของแต่ละคนและความลับในใจจะถูกเปิดเผยแจ้งชัด เวลานั้น ความไม่เชื่ออย่างผิดๆ ที่คิดว่าพระหรรษทานที่พระเจ้าประทานให้นั้นไม่มีค่าอะไรจะถูกพิพากษาลงโทษ ท่าทีของเราต่อพี่น้องเพื่อนมนุษย์จะเปิดเผยให้เห็นว่าเรารับหรือผลักไสไม่ยอมรับพระหรรษทานและความรักของพระเจ้า ในวันสุดท้าย พระเยซูเจ้าจะตรัสว่า “ท่านทำสิ่งใดต่อพี่น้องผู้ต่ำต้อยที่สุดของเราคนหนึ่ง ท่านก็ทำสิ่งนั้นต่อเรา” (มธ 25:40)

พยานยืนยันของประวัติศาสตร์ศักดิ์สิทธิ์

CCC ข้อ 2262 องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงกล่าวถึงพระบัญญัติประการนี้ในบทเทศน์บนภูเขา “อย่าฆ่าคน” (มธ 5:21) และยังทรงเพิ่มการห้ามไม่ให้โกรธ เกลียดชัง และแก้แค้นอีกด้วย ยิ่งกว่านั้น พระคริสตเจ้ายังทรงขอร้องให้ศิษย์ของพระองค์หันแก้มอีกข้างหนึ่งให้ด้วย ให้รักศัตรู พระองค์ไม่ทรงป้องกันพระองค์เองและยังตรัสให้เปโตรเอาดาบใส่ฝักเสียด้วย

การป้องกันตัวที่ถูกกฎหมาย

CCC ข้อ 2263 การป้องกันบุคคลหรือสังคมอย่างถูกต้องตามกฎหมายไม่ใช่ข้อยกเว้นข้อห้ามไม่ให้จงใจฆ่าผู้บริสุทธิ์ “การกระทำของคนหนึ่งที่ป้องกันตนเองอาจมีผลได้สองอย่าง อย่างหนึ่งคือการปกป้องชีวิตของตน ส่วนอีกอย่างหนึ่งก็คือการฆ่าผู้บุกรุก” “ไม่มีอะไรป้องกันไม่ให้การกระทำหนึ่งมีผลสองอย่าง ผลอย่างหนึ่งเป็นผลที่ต้องการให้เกิดขึ้น ส่วนอีกอย่างหนึ่งเกิดขึ้นโดยที่ผู้กระทำไม่ได้ตั้งใจให้เกิด”

CCC ข้อ 2264 ความรักต่อตนเองยังคงเป็นหลักการพื้นฐานของศีลธรรม ดังนั้นจึงเป็นการชอบธรรมที่จะรักษาสิทธิปกป้องชีวิตของตน ผู้ที่ปกป้องชีวิตของตนจึงไม่มีความผิดฐานฆ่าคนแม้ว่าเขาจำเป็นต้องทำกิจการที่ทำลายชีวิตของผู้จู่โจม “ถ้าผู้ใดใช้ความรุนแรงมากกว่าที่จำเป็นเพื่อปกป้องชีวิตของตน ก็เป็นการไม่ถูกต้อง แต่ถ้าเขาขับไล่ความรุนแรงแต่พอประมาณ ก็จะเป็นการป้องกันตัวอย่างถูกต้อง […] เพื่อความรอดพ้น (ของวิญญาณ) ไม่จำเป็นที่คนหนึ่งจะต้องละเว้นการป้องกันตนเองเพื่อจะหลีกเลี่ยงไม่ต้องฆ่าคนอื่น เพราะคนเราต้องปกป้องดูแลชีวิตของตนเองมากกว่าชีวิตของผู้อื่น”

CCC ข้อ 2265 การป้องกันตนเองอาจไม่เป็นเพียงสิทธิ แต่ยังเป็นหน้าที่สำคัญสำหรับผู้มีหน้าที่รับผิดชอบชีวิตของผู้อื่นด้วย การป้องกันผลประโยชน์ส่วนรวมเรียกร้องให้ผู้จู่โจมอย่างอยุติธรรมถูกกันไว้ไม่ให้ทำร้ายผู้อื่นได้ ด้วยเหตุผลนี้ ผู้มีอำนาจปกครองอย่างถูกต้องจึงมีสิทธิที่จะใช้อาวุธเพื่อขับไล่ผู้จู่โจมชุมชนที่อยู่ในความรับผิดชอบของตนด้วย

สันติภาพ

CCC ข้อ 2302 องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา เมื่อทรงเตือนถึงพระบัญญัติ “อย่าฆ่าคน” (มธ 5:21) ยังทรงขอร้องให้มีสันติภายในใจและทรงประณามความไม่ถูกต้องของความเกลียดชังด้วย ความโกรธ คือความปรารถนาจะแก้แค้น “การเรียกร้องให้มีการแก้แค้นเพราะความผิดของคนที่ควรถูกลงโทษเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง” แต่เป็นสิ่งน่าชมที่จะกำหนดการชดเชย “เพื่อแก้ไขนิสัยเลวๆ และเพื่อรักษาความยุติธรรม” ถ้าความโกรธก้าวไกลไปจนถึงต้องการฆ่าเพื่อนพี่น้องโดยจงใจหรือทำให้เขาบาดเจ็บสาหัส ก็เป็นการผิดหนักต่อความรัก เป็นบาปหนัก องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงกล่าวว่า “ทุกคนที่โกรธเคืองพี่น้องจะต้องขึ้นศาล” (มธ 5:22)

CCC ข้อ 2303 ความเกลียดชัง โดยจงใจเป็นความผิดต่อความรัก การเกลียดชังเพื่อนพี่น้องเป็นบาป เมื่อใครคนหนึ่งจงใจต้องการให้เขารับอันตราย การเกลียดชังเพื่อนพี่น้องเป็นบาปหนักเมื่อใครคนหนึ่งจงใจปรารถนาให้เขาได้รับความเสียหายอย่างหนัก “เรากล่าวแก่ท่านว่าจงรักศัตรู จงอธิษฐานภาวนาให้ผู้ที่เบียดเบียนท่าน เพื่อท่านจะได้เป็นบุตรของพระบิดาเจ้าสวรรค์...” (มธ 5:44-45)


มธ 5:22  สภาซันเฮดรินเป็นองค์กรศาลสูงสุดในอิสราเอล คำว่า ไฟนรก (ภาษาอาราเมอิกคือ “เกฮันนา”) มาจากภาษาฮีบรูที่แปลว่า "หุบเขาฮินโนม" ซึ่งเป็นหลุมที่ใช้เผาขยะตลอดเวลาอยู่ใกล้กรุงเยรูซาเล็ม เป็นการอธิบายแบบเปรียบเทียบถึงสถานที่ลงโทษซึ่งผู้ตายต้องทนทุกข์ทรมานเพราะบาปของพวกเขา  

นรก

CCC ข้อ 1036 ข้อความของพระคัมภีร์และคำสอนของพระศาสนจักรเรื่องนรกเป็นการเรียกร้องให้มีความรับผิดชอบที่มนุษย์ต้องใช้อิสรภาพโดยคำนึงถึงชะตากรรมนิรันดรของตน พร้อมกันนั้นยังเป็นการเร่งรัดเชิญชวนให้กลับใจอีกด้วย “จงเข้าทางประตูแคบ เพราะประตูและทางที่นำไปสู่หายนะนั้นกว้างขวาง คนที่เข้าทางนี้มีจำนวนมาก แต่ประตูและทางซึ่งนำไปสู่ชีวิตนั้นคับแคบ คนที่พบทางนี้มีจำนวนน้อย” (มธ 7:13-14) “เนื่องจากว่าเราไม่รู้วันเวลา องค์พระผู้เป็นเจ้าจึงทรงเตือนว่าเราจำเป็นต้องตื่นเฝ้าระวังตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อว่าเมื่อช่วงเวลาชีวิตในโลกนี้ของเราที่มีเพียงครั้งเดียวแล้ว เราจะได้เหมาะสมที่จะได้รับเชิญเข้าไปร่วมงานวิวาห์กับพระองค์และรวมอยู่ในจำนวนของบรรดาผู้ได้รับพระพรจากพระเจ้า ไม่ถูกสั่งเหมือนผู้รับใช้ที่เลวให้ต้องไปอยู่ในไฟนิรันดร ในที่มืดภายนอกที่จะมีแต่การร่ำไห้และขบฟันด้วยความขุ่นเคือง”


มธ 5:23-24  ก่อนที่บุคคลหนึ่งจะคืนดีกับพระเจ้า เขาต้องคืนดีกับเพื่อนมนุษย์เสียก่อน บทภาวนาขององค์พระผู้เป็นเจ้า คือบทข้าแต่พระบิดาฯ จะสามารถกลายเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อมีการคืนดีกับเพื่อนมนุษย์แล้วเท่านั้น ศีลอภัยบาปเป็นหนทางปกติ เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ที่หมายถึงการคืนดีกับพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์

“ท่านทั้งหลายจงรับไปกินเถิด” – การรับศีลมหาสนิท

CCC ข้อ 1388 เป็นการสอดคล้องกับความหมายของศีลมหาสนิทที่บรรดาผู้มีความเชื่อ ถ้าเขามีสภาพเตรียมตัวพร้อมตามที่พระศาสนจักรกำหนดไว้ จะรับศีลมหาสนิทเมื่อเขามาร่วมมิสซา “สภาสังคายนาส่งเสริมอย่างยิ่งให้สัตบุรุษมีส่วนร่วมในมิสซาอย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยรับพระวรกายขององค์พระผู้เป็นเจ้าที่ได้เสกในมิสซาเดียวกันเมื่อพระสงฆ์รับศีลแล้ว”

CCC ข้อ 1389 “พระศาสนจักรกำหนดข้อบังคับให้บรรดาผู้มีความเชื่อ ต้องร่วมพิธีกรรมในวันอาทิตย์และวันฉลอง และรับศีลอภัยบาปและรับศีลมหาสนิทอย่างน้อยปีละครั้ง ในเทศกาลปัสกาถ้าทำได้” เมื่อเตรียมตัวพร้อมแล้วด้วยศีลแห่งการคืนดี แต่พระศาสนจักรยังส่งเสริมอย่างแข็งขันให้บรรดาผู้มีความเชื่อรับศีลมหาสนิทในวันอาทิตย์และวันฉลอง หรือบ่อยกว่านั้นคือทุกๆ วันด้วย

CCC ข้อ 1390 พระคริสตเจ้าประทับอยู่ในศีลมหาสนิททั้งองค์ภายใต้รูปปรากฏแต่ละชนิด การรับศีลมหาสนิทภายใต้รูปปรากฏของขนมปังเท่านั้นก็ทำให้เรารับผลพระหรรษทานทั้งหมดของศีลมหาสนิทแล้ว เพราะเหตุผลด้านการอภิบาล รูปแบบการรับศีลมหาสนิทเช่นนี้จึงกำหนดไว้เป็นรูปแบบตามปกติในจารีตละติน “การรับศีลมหาสนิทมีรูปแบบเป็นเครื่องหมายสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ถ้ารับภายใต้รูปปรากฏทั้งของขนมปังและเหล้าองุ่น เพราะในการรับศีลมหาสนิทแบบนี้ เราเห็นเครื่องหมายว่าการรับศีลมหาสนิทเป็นงานเลี้ยงได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น” การรับศีลมหาสนิทในรูปแบบนี้ (ภายใต้รูปปรากฏทั้งสอง) เป็นรูปแบบตามปกติในจารีตตะวันออก

ศีลนี้มีชื่ออะไรบ้าง

CCC ข้อ 1424 ศีลนี้มีชื่อว่า ศีลการสารภาพบาป (Confessionis sacramentum) เพราะการสารภาพบาปของตนต่อหน้าพระสงฆ์เป็นองค์ประกอบสำคัญของศีลนี้ ในความหมายลึกๆ ศีลนี้ยังเป็น “การประกาศ” เป็นการยอมรับและสรรเสริญความศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าและพระเมตตากรุณาของพระองค์ต่อมนุษย์คนบาป

ศีลนี้มีชื่อว่า ศีลแห่งพระกรุณา (Indulgentiae sacramentum) เพราะเมื่อพระสงฆ์กล่าวสูตรอภัยบาป พระเจ้าก็ประทาน “พระกรุณา [...] และสันติภาพ” ให้แก่ผู้ที่เป็นทุกข์กลับใจ       

ศีลนี้มีชื่อว่า ศีลแห่งการคืนดี (Reconciliationis sacramentum) เพราะนำความรักของพระเจ้ามาให้คนบาปที่พระองค์ทรงคืนดีด้วย “จงยอมคืนดีกับพระเจ้าเถิด” (2 คร 5:20) ผู้ที่ดำเนินชีวิตด้วยความเมตตากรุณาจากความรักของพระเจ้า ย่อมพร้อมที่จะตอบสนองการเรียกขององค์พระผู้เป็นเจ้าที่ว่า “จงกลับไปคืนดีกับพี่น้องเสียก่อน” (มธ 5:24)

พระเยซูเจ้าทรงสอนให้อธิษฐานภาวนา

CCC ข้อ 2608 นับตั้งแต่บทเทศน์บนภูเขา พระเยซูเจ้าทรงเน้นเรื่องการกลับใจ เรื่องการคืนดีกับพี่น้องก่อนจะถวายเครื่องบูชาบนพระแท่นบูชา เรื่องความรักศัตรูและการอธิษฐานภาวนาสำหรับผู้ที่เบียดเบียน เรื่องการอธิษฐานภาวนาต่อพระบิดา “ในห้องส่วนตัว” (มธ 6:6) เรื่องการไม่พูดมาก ไม่พูดซ้ำซาก เรื่องการให้อภัยจากใจจริงในการอธิษฐานภาวนา เรื่องการแสวงหา   พระอาณาจักรด้วยใจจริง การกลับใจอย่างเต็มที่เยี่ยงบุตรเช่นนี้นำเราไปพบพระบิดา

ข้าแต่พระบิดา “ของข้าพเจ้าทั้งหลาย”

CCC ข้อ 2792 ในที่สุด ถ้าเราอธิษฐานภาวนาบท “ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย” เราย่อมออกจากความเป็นเอกเทศ เพราะว่าความรักที่เราได้รับมานั้นช่วยเราให้พ้นจากสภาพเช่นนี้ คำว่า “ของข้าพเจ้าทั้งหลาย” ตอนต้นของบทภาวนาบทข้าแต่พระบิดานี้ เช่นเดียวกับคำว่า “ข้าพเจ้าทั้งหลาย” (เรา) ในคำขอสุดท้ายสี่ข้อนั้น จึงไม่กีดกันผู้ใดออกไปเลย เพื่อให้เรากล่าวคำนี้ตามความจริง เราจะต้องเอาชนะการแตกแยกและการขัดแย้งกันเองให้ได้

“โปรดประทานอภัยแก่ข้าพเจ้า”... [โปรดยกหนี้ของเราให้แก่เรา]

CCC ข้อ 2841 คำวอนขอข้อนี้มีความสำคัญมาก จนกระทั่งว่าเป็นคำวอนขอเพียงข้อเดียวที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงกล่าวถึงอีกครั้งหนึ่งและทรงขยายความในบทเทศน์บนภูเขา ข้อเรียกร้องประการหลักของพระธรรมล้ำลึกแห่งพันธสัญญาข้อนี้เป็นไปไม่ได้สำหรับมนุษย์ “แต่สำหรับพระเจ้า ทุกอย่างเป็นไปได้” (มธ 19:26)

“เหมือนข้าพเจ้าให้อภัยแก่ผู้อื่น”

CCC ข้อ 2842  คำว่า “เหมือน” นี้ไม่ได้มีเพียงครั้งเดียวในคำสอนของพระเยซูเจ้า “ฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงเป็นคนดีอย่างสมบูรณ์ เหมือนกับที่พระบิดาเจ้าสวรรค์ของท่านทรงความดีอย่างสมบูรณ์เถิด” (มธ 5:48) “(ท่าน) จงเป็นผู้เมตตากรุณาดังที่พระบิดาของท่านทรงพระเมตตากรุณาเถิด” (ลก 6:36) “เราให้บทบัญญัติใหม่แก่ท่านทั้งหลาย ให้ท่านรักกัน เรารักท่านทั้งหลายอย่างไร ท่านก็จงรักกันอย่างนั้นเถิด” (ยน 13:34) การปฏิบัติตามพระบัญชาขององค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นไปไม่ได้ ถ้าเป็นเพียงการปฏิบัติตามพระแบบฉบับของพระเจ้าเพียงภายนอก แต่นี่เป็นเรื่องการมีส่วนความศักดิ์สิทธิ์ ความเมตตากรุณา และความรักของพระเจ้าอย่างมีชีวิตชีวา “จากส่วนลึกของจิตใจ” มีเพียงพระจิตเจ้า “ที่เราดำเนินชีวิต” (กท 5:25) ตามพระองค์เท่านั้น อาจทำให้ความรู้สึกนึกคิด “ของเรา” เป็นเหมือนกันกับความรู้สึกนึกคิดที่อยู่ในพระคริสต์เยซู เมื่อนั้นแหละ การให้อภัยหนึ่งเดียวกันจึงเป็นไปได้ เมื่อเรา “ให้อภัยกันดังที่พระเจ้าทรงให้อภัยท่านในองค์พระคริสตเจ้า” (อฟ 4:32)

CCC ข้อ 2843 พระวาจาให้อภัยขององค์พระผู้เป็นเจ้าจึงมีชีวิตขึ้นมาจากความรักนี้ที่รักจนถึงที่สุดนิทานอุปมาเรื่องผู้รับใช้ไร้เมตตา ซึ่งเป็นจุดยอดคำสอนขององค์พระผู้เป็นเจ้าสำหรับชุมชนพระศาสนจักรสรุปด้วยถ้อยคำว่า “พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์จะทรงกระทำต่อท่านทำนองเดียวกัน ถ้าท่านแต่ละคนไม่ยอมยกโทษให้พี่น้องจากใจจริง” อันที่จริง ที่นี่เอง ใน “ส่วนลึกของจิตใจ” ที่ทุกสิ่งถูกผูกไว้หรือถูกแก้ออก การไม่รู้สึกถูกทำร้ายจิตใจอีกต่อไปและลืมมันไปได้นั้นไม่อยู่ในอำนาจของเรา แต่ดวงใจที่ถวายตัวแด่พระจิตเจ้า ย่อมเปลี่ยนบาดแผลให้เป็นความเห็นอกเห็นใจและชำระความทรงจำให้สะอาด เปลี่ยนการถูกทำร้ายให้เป็นการวอนขอแทน

CCC ข้อ 2844 การอธิษฐานแบบคริสตชนแผ่ขยายไปถึงการให้อภัยแก่ศัตรู เปลี่ยนรูปของศิษย์ ทำให้มีลักษณะเหมือนพระอาจารย์ การให้อภัยเป็นจุดยอดหนึ่งของการอธิษฐานแบบคริสตชน เรารับผลของการอธิษฐานภาวนาได้ก็เมื่อเรามีความเห็นอกเห็นใจเหมือนกับพระทัยของพระเจ้าเท่านั้น การให้อภัยยังแสดงให้เห็นอีกด้วยว่าในโลกของเรานั้นความรักทรงพลังมากกว่าบาป บรรดามรณสักขีทั้งในอดีตและปัจจุบันเป็นพยานถึงเรื่องนี้ต่อพระเยซูเจ้า การให้อภัยเป็นเงื่อนไขพื้นฐานของการคืนดี ของบุตรพระเจ้ากับพระบิดาของเขาและการคืนดีระหว่างกันของมนุษย์

CCC ข้อ 2845การให้อภัยนี้ ซึ่งในสาระสำคัญเป็นคุณลักษณะของพระเจ้า ไม่มีขอบเขตและไม่มีขนาด ถ้าเป็นเรื่องของ “ความผิด” (“บาป” ตาม ลก 11:4 หรือ “หนี้” ตาม มธ 6:12 ในต้นฉบับภาษากรีก) พวกเราทุกคนล้วนเป็น “ลูกหนี้” เสมอ “อย่าเป็นหนี้ผู้ใด นอกจากเป็นหนี้ความรักซึ่งกันและกัน” (รม 13:8) ความสัมพันธ์ของพระตรีเอกภาพเป็นบ่อเกิด และมาตรการของความจริงในความสัมพันธ์ทุกรูปแบบ ความสัมพันธ์นี้ยังเป็นชีวิตในการอธิษฐานภาวนา โดยเฉพาะในพิธีบูชาขอบพระคุณ

“พระเจ้าไม่ทรงรับเครื่องบูชาของผู้ก่อให้เกิดการแตกแยก และทรงสั่งให้เขาละพระแท่นบูชากลับไปคืนดีกับพี่น้องเสียก่อน เพื่อจะได้มีใจสงบและอธิษฐานภาวนาขอให้พระเจ้าทรงพระกรุณาได้ ของถวายของเราที่มีค่ามากกว่าสำหรับพระเจ้าก็คือสันติและความสามัคคีกันฉันพี่น้องของเรา และการเป็นประชากรที่รวมเป็นหนึ่งเดียวกันด้วยเอกภาพของพระบิดาและพระบุตรและพระจิตเจ้า”


มธ 5:27-28  บาปผิดประเวณีคือกิจการทางเพศใดๆ ของชายหรือหญิงที่ได้แต่งงานแล้วกระทำต่อผู้มิใช่คู่สมรสของตน พระธรรมประเพณีสอนว่าพระบัญญัติประการที่หกกินความรวมไปถึงบาปทั้งหมดที่ผิดต่อศีลธรรมทางเพศ คือการล่วงประเวณี กิจกรรมรักร่วมเพศ การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง และบาปอื่นๆ ที่ผิดต่อความบริสุทธิ์ การล่วงประเวณีทางใจซึ่งเป็นความปรารถนากระทำกิจทางเพศที่ไม่ถูกต้องก็ถือว่าเป็นบาปหนักด้วยเช่นกัน ประกาศกโฮเชยาและเยเรมีย์เปรียบเทียบว่าการนมัสการพระเท็จเทียมถือว่าเป็นบาปผิดประเวณีด้วย (เทียบ ยรม 5:7; 13:27)

การสารภาพบาป

CCC ข้อ 1456 การสารภาพบาปต่อพระสงฆ์เป็นองค์ประกอบสำคัญของศีลอภัยบาป “ผู้กลับใจเป็นทุกข์ถึงบาปต้องสารภาพบาปหนักทุกข้อที่เขาสำนึกได้หลังจากได้เอาใจใส่พิจารณามโนธรรมแล้ว แม้จะเป็นบาปที่เป็นความลับที่สุดซึ่งได้ทำผิดต่อพระบัญญัติสองประการสุดท้ายด้วย บาปเหล่านี้บางครั้งทำให้วิญญาณบาดเจ็บหนักกว่า และเป็นอันตรายมากกว่าบาปที่ได้ทำไปอย่างเปิดเผยเสียด้วย” “เมื่อผู้มีความเชื่อในพระคริสตเจ้าพยายามสารภาพบาปทุกข้อที่เราระลึกได้ ก็ไม่ต้องสงสัยว่าเขาแสดงบาปทุกข้อเพื่อรับอภัยจากพระกรุณาของพระเจ้า ส่วนผู้ที่ทำอย่างอื่นและไม่ยอมสารภาพบาปบางข้อโดยรู้ตัว ก็ไม่เสนออะไรแก่พระทัยดีของพระเจ้าเพื่อจะรับอภัยบาปผ่านทางพระสงฆ์ ‘ถ้าคนป่วยอายที่จะแสดงบาดแผลแก่แพทย์ ยาก็ไม่อาจรักษาโรคที่มันไม่รู้จักได้’”  

“พระองค์ทรงสร้างเขาให้เป็นชายและหญิง....”

CCC ข้อ 2336 พระเยซูเจ้าเสด็จมาเพื่อทรงสถาปนาสิ่งสร้างให้มีความบริสุทธิ์เหมือนเมื่อแรกเริ่ม ในการเทศน์สอนบนภูเขาพระองค์ทรงอธิบายแผนการของพระเจ้าอย่างเคร่งครัด “ท่านได้ยินคำกล่าวว่า อย่าล่วงประเวณี แต่เรากล่าวแก่ท่านทั้งหลายว่า ผู้ใดมองหญิงด้วยความใคร่ ก็ได้ล่วงประเวณีกับนางในใจแล้ว” (มธ 5:27-28) มนุษย์ต้องไม่แยกสิ่งที่พระเจ้าทรงรวมไว้ ธรรมประเพณีของพระศาสนจักรเข้าใจพระบัญญัติประการที่หกว่าเป็นการรวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับสมรรถภาพทางเพศทั้งหมดของมนุษย์    

การเป็นชู้

CCC ข้อ 2380 การเป็นชู้ การมีชู้ คำนี้หมายถึงความไม่ซื่อสัตย์ของคู่สมรส เมื่อสองคน ที่อย่างน้อยคนหนึ่งแต่งงานแล้ว มีเพศสัมพันธ์กัน – แม้ไม่เป็นการถาวร - เขาย่อมเป็นชู้กัน พระคริสตเจ้าทรงประณามการเป็นชู้ แม้แต่เพียงปรารถนาจะทำเท่านั้นด้วย พระบัญญัติประการที่หกและพันธสัญญาใหม่ห้ามไม่ให้เป็นชู้กันโดยเด็ดขาด บรรดาประกาศกยังกล่าวถึงความหนักของบาปประการนี้ด้วย ท่านเหล่านี้เห็นว่าการเป็นชู้เป็นภาพของการนับถือรูปเคารพ    

CCC ข้อ 2381 การเป็นชู้เป็นความอยุติธรรมอย่างหนึ่ง ผู้ทำบาปนี้ บกพร่องการปฏิบัติหน้าที่ของตน เขาทำลายเครื่องหมายของพันธสัญญาซึ่งได้แก่พันธะของการสมรส เขาฝ่าฝืนสิทธิของคู่สมรสและทำร้ายสถาบันการสมรส ละเมิดคำสัญญาซึ่งเป็นพื้นฐานของสถาบันนี้ เขาทำให้ความดีของการให้กำเนิดชีวิตมนุษย์ตกอยู่ในอันตรายรวมทั้งยังทำร้ายผลประโยชน์ของบุตรซึ่งต้องการความสัมพันธ์ถาวรของบิดามารดา     

การต่อสู้เพื่อความบริสุทธิ์

CCC ข้อ 2523 ความสงบเสงี่ยมมีทั้งของความรู้สึกและของร่างกายด้วย เช่น ความสงบเสงี่ยมยังต่อต้านการดูรูปโป๊เปลือยอย่างสอดรู้สอดเห็นหรือการใช้รูปโป๊เปลือยเพื่อการโฆษณา หรือไปไกลกว่านั้นโดยเปิดเผยความลับที่ถูกฝากไว้ฉันมิตร ความสงบเสงี่ยมเป็นแรงบันดาลใจให้ดำเนินชีวิตที่ช่วยให้ต่อต้านความดึงดูดของแฟชั่นและแรงผลักดันของอุดมการณ์ที่นิยมกันอย่างกว้างขวาง    

CCC ข้อ 2524 ความสงบเสงี่ยมมีรูปแบบหลายหลากแตกต่างกันไปตามวัฒนธรรมต่างๆ ถึงกระนั้นความสงบเสงี่ยมที่ไหนไม่ว่ายังคงเป็นความสำนึกถึงศักดิ์ศรีทางจิตใจที่เป็นลักษณะเฉพาะของมนุษย์ เกิดมาจากการตื่นตัวของมโมธรรมของผู้เกี่ยวข้อง การสั่งสอนเด็กและเยาวชนให้มีความสงบเสงี่ยมจึงเป็นการส่งเสริมความเคารพต่อบุคคลมนุษย์

CCC ข้อ 2525 ความบริสุทธิ์แบบคริสตชนเรียกร้องให้บรรยากาศด้านสังคมบริสุทธิ์ด้วย จึงเรียกร้องการให้ข้อมูลทางอุปกรณ์สื่อสารมวลชนได้ระมัดระวังมีความเคารพและความพอดี การมีใจบริสุทธิ์ช่วยให้พ้นจากสื่อเร่งเร้าทางเพศที่กำลังขยายตัวและขจัดการแสดงบันเทิงที่ส่งเสริมความสอดรู้สอดเห็นที่ผิดศีลธรรมและการชอบดูภาพลามก

CCC ข้อ 2526 สิ่งที่เรียกว่า การปล่อยตัวทำตามใจในเรื่องศีลธรรม ตั้งอยู่บนความคิดที่ผิดเรื่องเสรีภาพของมนุษย์ เสรีภาพเช่นนี้จะมีได้เรียกร้องให้ตนเองมีการอบรมศึกษาในเรื่องกฎศีลธรรมเสียก่อน จึงจำเป็นต้องเรียกร้องให้ผู้รับผิดชอบการให้การศึกษาอบรมที่จะต้องให้เยาวชนได้รู้จักเคารพความจริง คุณสมบัติทางจิตใจและศักดิ์ศรีทางศีลธรรมและจิตวิญญาณของมนุษย์

CCC ข้อ 2527 “ข่าวดีของพระคริสตเจ้าเสริมสร้างชีวิตและอารยธรรมของมนุษย์ที่ตกในบาปแล้วอยู่เสมอ และยังต่อต้านและขจัดความผิดและความชั่วร้ายที่สืบเนื่องมาจากการประจญล่อลวงอยู่ตลอดเวลาของบาป ไม่เคยหยุดยั้งที่จะชำระและยกย่องความประพฤติของมวลประชากรให้สูงขึ้น สนับสนุนและส่งเสริมความงดงามของจิตใจและคุณสมบัติของประชาชนทุกยุคทุกสมัยให้ร่ำรวยยิ่งขึ้นจากภายในโดยคุณสมบัติจากเบื้องบน ประทานพลังจากภายใน บันดาลความมั่นคงและสมบูรณ์ในพระคริสตเจ้า”

มีใจบริสุทธิ์

CCC ข้อ 2528 “ผู้ใดมองหญิงด้วยความใคร่ก็ได้ล่วงประเวณีกับนางในใจแล้ว” (มธ 5:28)

CCC ข้อ 2529 พระบัญญัติประการที่เก้าปรามเราให้ระวังไม่ปรารถนาหรือมีความใคร่ทางเพศ

CCC ข้อ 2530 การต่อสู้กับความใคร่ทางเพศรวมไปถึงการชำระจิตใจและฝึกหัดการบังคับตน

CCC ข้อ 2531 การมีใจบริสุทธิ์ช่วยให้เราแลเห็นพระเจ้า และยังช่วยเราตั้งแต่เดี๋ยวนี้ให้มองเห็นทุกอย่างตามที่พระเจ้าทรงประสงค์

CCC ข้อ 2532 การมีใจบริสุทธิ์เรียกร้องให้มีการอธิษฐานภาวนา การฝึกฝนความบริสุทธิ์ มีเจตนาและวิสัยทัศน์ที่บริสุทธิ์

CCC ข้อ 2533 การมีใจบริสุทธิ์เรียกร้องให้มีความสงบเสงี่ยมซึ่งเป็นความรู้จักอดกลั้น การแต่งกายเรียบร้อยถูกกาลเทศะ ความสงบเสงี่ยมปกปักรักษาความรู้สึกนึกคิดภายในจิตใจของบุคคลด้วย


มธ 5:29-30  จงควักมันทิ้งเสีย : คำเตือนนี้กระตุ้นให้คริสตชนปฏิเสธอย่างเด็ดขาดทุกสิ่งที่แยกเขาออกจากพระเจ้า คริสตชนต้องทำงานอย่างหนัก หมายความว่าต้องต่อสู้กับการประจญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประจญในเรื่องความบริสุทธิ์ แบบอย่างของพระคริสตเจ้าเป็นการเตือนว่าทุกคนต้องเฝ้าระวังความรู้สึกต่างๆ ที่เป็นสาเหตุให้ทำบาป 

ความหมายของความเชื่อในพระเจ้าหนึ่งเดียว  

CCC ข้อ 226 เราต้องใช้สิ่งสร้างอย่างดี – ความเชื่อในพระเจ้าหนึ่งเดียวนำเราให้ใช้ทุกสิ่งที่ไม่ใช่พระเจ้าในแบบที่สิ่งสร้างเหล่านี้นำเราให้เข้าใกล้พระองค์ยิ่งขึ้น และให้เราแยกตนจากสิ่งสร้างเหล่านี้เพื่อมิให้มันนำเราให้หันเหออกจากพระองค์

“ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของข้าพเจ้า โปรดทรงนำไปจากข้าพเจ้าอะไรไม่ว่าที่ขัดขวางไม่ให้ข้าพเจ้าเข้าหาพระองค์

ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของข้าพเจ้า โปรดประทานแก่ข้าพเจ้าอะไรไม่ว่าที่นำข้าพเจ้าเข้าหาพระองค์

ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของข้าพเจ้า โปรดปลดเปลื้องข้าพเจ้าออกจากตนเอง และทำให้ข้าพเจ้าเป็นของพระองค์โดยสิ้นเชิง”   

นรก

CCC ข้อ 1034 พระเยซูเจ้าตรัสบ่อยๆ ถึง “เกเฮนนา – ขุมไฟที่ไม่รู้จักดับ” ที่สงวนไว้สำหรับผู้ที่ปฏิเสธไม่ยอมเชื่อและกลับใจจนถึงปลายชีวิตของตนเมื่อวิญญาณและร่างกายอาจถูกทำลายได้ พระเยซูเจ้าทรงใช้พระวาจารุนแรงแจ้งว่า “บุตรแห่งมนุษย์จะใช้ทูตสวรรค์มารวบรวม [...] ทุกคนที่ประกอบการอธรรมให้ออกจากพระอาณาจักร แล้วเอาไปทิ้งในกองไฟ” (มธ 13:41-42) และพระองค์จะทรงประกาศคำตัดสินลงโทษ “ท่านทั้งหลายที่ถูกสาปแช่ง จงไปให้พ้น ลงไปในไฟนิรันดร” (มธ 25:41)   


มธ 5:31-32  พระเจ้าทรงให้มีการแต่งงานเพื่อให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวอย่างแบ่งแยกมิได้ระหว่างชายหนึ่งและหญิงเดียว โดยการตั้งศีลสมรสและการยอมให้มีข้อยกเว้นที่อนุญาตให้หย่าร้างได้ภายใต้กฎของโมเสส พระคริสตเจ้าทรงยกระดับการแต่งงานสู่สภาวะดั้งเดิมตามจุดประสงค์ของพระเจ้า  ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย : นักวิชาการบางคนบอกว่าคำนี้หมายถึงการไม่ซื่อสัตย์ต่อคู่สมรส อีกบางคนโต้ว่าหมายถึงการแต่งงานที่ไม่ถูกต้อง เช่น ระหว่างญาติสนิท หรือระหว่างชาวยิวกับคนต่างศาสนา ในทั้งสองกรณีต่างก็ละเมิดธรรมบัญญัติ (เทียบ ลนต 18:7-13) อย่างไรก็ตามเมื่อมีการแต่งงานระหว่างชายหญิงคริสตชนแล้ว ก็ไม่สามารถแยกจากกันได้อีกนอกจากเมื่อสิ้นชีวิตเท่านั้น   

การกล่าวพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างไม่เหมาะสม  

CCC ข้อ 2150 พระบัญญัติประการที่สองห้ามการสาบานเท็จ การสาบานคือการนำพระเจ้ามาเป็นพยานในเรื่องที่ตนกล่าวยืนยัน เป็นการเรียกความสัตย์จริงของพระเจ้ามาเป็นประกันว่าตนพูดความจริง การสาบานนำพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้ามาใช้ “ท่านจะต้องยำเกรงองค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของท่าน ท่านจะต้องกราบไหว้พระองค์และสาบานโดยออกพระนามพระองค์เท่านั้น” (ฉธบ 6:13)    

CCC ข้อ 2151 เป็นหน้าที่ต่อพระเจ้า ที่จะไม่ยอมรับการสาบานเท็จ พระเจ้าในฐานะพระผู้เนรมิตสร้างและองค์พระผู้เป็นเจ้า ทรงเป็นกฎของความจริงทุกประการ ถ้อยคำของมนุษย์สอดคล้องหรือขัดแย้งกับพระเจ้าผู้ทรงเป็นความจริง การสาบาน ถ้าจริงและถูกต้อง เน้นว่าถ้อยคำของมนุษย์มีความสัมพันธ์กับความจริงของพระเจ้า การสาบานเท็จเรียกพระเจ้าให้มาเป็นพยานยืนยันคำมุสา    

CCC ข้อ 2152 ผู้ที่สัญญาด้วยการสาบาน โดยไม่มีเจตนาจะปฏิบัติตาม หรือหลังจากสัญญาโดยสาบานแล้วไม่ถือคำสัญญานั้น ก็เป็นผู้ทวนสาบาน (ผิดคำสาบาน) การทวนสาบานนับเป็นความผิดหนักเพราะขาดความเคารพต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าของคำพูดทั้งหลาย การผูกมัดตนเองด้วยคำสาบานว่าจะทำชั่วขัดกับความศักดิ์สิทธิ์แห่งพระนามของพระเจ้า    

CCC ข้อ 2153 พระเยซูเจ้าทรงอธิบายพระบัญญัติประการที่สองนี้ในบทเทศน์บนภูเขา “ท่านได้ยินคำกล่าวแก่คนโบราณว่า อย่าผิดคำสาบาน แต่จงทำตามที่ได้สาบานไว้ต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า แต่เราบอกท่านทั้งหลายว่า อย่าสาบานเลย [...] ท่านจงกล่าวเพียงว่า ‘ใช่’ หรือ ‘ไม่ใช่’ คำพูดที่มากไปกว่านั้นมาจากมารร้าย” (มธ 5:33-34, 37) พระเยซูเจ้าทรงสอนว่าคำสาบานทั้งหลายหมายถึงความสัมพันธ์กับพระเจ้าและเราต้องให้เกียรติแก่การประทับอยู่ของพระเจ้าและความจริงของพระองค์ในคำพูดทุกคำ เราต้องระวังตัวกล่าวอ้างถึงพระเจ้าแต่พอควรพร้อมกับให้ความเคารพต่อการประทับอยู่ของพระองค์ซึ่งเราเป็นพยานถึงหรือลบหลู่ในคำพูดทุกคำของเรา   

ดำเนินชีวิตในความจริง

CCC ข้อ 2466 ความจริงของพระเจ้าปรากฏชัดเจนอย่างสมบูรณ์ในพระเยซูคริสตเจ้า พระองค์ทรงเปี่ยมด้วยพระหรรษทานและความจริงทรงเป็น “แสงสว่างส่องโลก” (ยน 8:12) พระองค์ทรงเป็นความจริง ทุกคนที่เชื่อในพระองค์ไม่อยู่ในความมืด ศิษย์ของพระเยซูเจ้ายึดมั่นในพระวาจาของพระองค์เพื่อจะรู้ความจริงซึ่งจะช่วยให้เป็นอิสระและบันดาลให้ศักดิ์สิทธิ์ การติดตามพระเยซูเจ้าเป็นการดำเนินชีวิตเดชะพระจิตเจ้าแห่งความจริงที่พระบิดาทรงส่งมาในพระนามของพระองค์ผู้ทรงนำเราไปสู่ความจริงทั้งมวล” (ยน 16:13) พระเยซูเจ้าทรงสอนบรรดาศิษย์ให้รักความจริงโดยไม่มีเงื่อนไข “ท่านจงกล่าวเพียงว่า ‘ใช่’ หรือ ‘ไม่ใช่’” (มธ 5:37)    


มธ 5:33-37  ทุกๆ การสาบานล้วนวิงวอนขอให้พระเจ้าทรงเป็นพยาน ดังนั้นการสาบานเท็จจึงเป็นบาปหนัก พระคริสตเจ้าทรงเรียกร้องให้ผู้ติดตามพระองค์รักและปกป้องความจริงโดยไม่มีเงื่อนไข      

CCC ข้อ 2150 – 2153 อ่านเพิ่มเติมด้านบน (มธ 5:31-32)

CCC ข้อ 2466 อ่านเพิ่มเติมด้านบน (มธ 5:31-32)

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)