แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 3 เทศกาลธรรมดา (วันอาทิตย์พระวาจาของพระเจ้า)

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว (มธ 4:12-23)                                      

เวลานั้น เมื่อพระเยซูเจ้าทรงทราบว่ายอห์นถูกจองจำ จึงเสด็จไปยังแคว้นกาลิลี ทรงออกจากเมืองนาซาเร็ธ มาประทับอยู่ที่เมืองคาเปอรนาอุม บนฝั่งทะเลสาบ ในดินแดนเผ่าเศบูลุนและนัฟทาลี ทั้งนี้ เพื่อให้พระดำรัสที่ตรัสไว้ทางประกาศกอิสยาห์ เป็นความจริงว่า 

ดินแดนเศบูลุนและนัฟทาลี เส้นทางไปสู่ทะเล ฟากโน้นของแม่น้ำจอร์แดน แคว้นกาลิลีแห่งบรรดาประชาชาติ ประชาชนที่จมอยู่ในความมืด ได้เห็นความสว่างยิ่งใหญ่ ผู้ที่อาศัยอยู่ในดินแดนและในเงาแห่งความตาย แสงได้ส่องขึ้นมาเหนือพวกเขาแล้ว

นับแต่นั้นมา พระเยซูเจ้าทรงเริ่มประกาศเทศนาว่า “จงกลับใจเถิด เพราะอาณาจักรสวรรค์อยู่ใกล้แล้ว” ขณะที่ทรงดำเนินไปตามชายฝั่งทะเลสาบกาลิลี พระองค์ทอดพระเนตรเห็นพี่น้องสองคนคือซีโมนที่เรียกว่าเปโตรกับอันดรูว์น้องชายกำลังทอดแห เขาเป็นชาวประมง พระองค์ตรัสสั่งว่า “จงตามเรามาเถิด เราจะทำให้ท่านเป็นชาวประมงหามนุษย์” เปโตรกับอันดรูว์ก็ทิ้งแหไว้ แล้วตามพระองค์ไปทันที เมื่อทรงดำเนินไปจากที่นั่น พระองค์ทอดพระเนตรเห็นพี่น้องอีกสองคนคือ ยากอบบุตรของเศเบดีและยอห์นน้องชายกำลังซ่อมแหอยู่ในเรือกับเศเบดีผู้บิดา พระองค์ทรงเรียกเขา ทันใดนั้น เขาก็ทิ้งเรือและบิดา แล้วตามพระองค์ไป 

พระองค์เสด็จไปทั่วแคว้นกาลิลี ทรงสั่งสอนในศาลาธรรม ทรงประกาศข่าวดีเรื่องพระอาณาจักร ทรงรักษาโรคและความเจ็บไข้ทุกชนิดของประชาชน


มธ 4:12-21  กลับใจ : ในภาษากรีกใช้คำว่า metanoia ซึ่งมีความหมายว่าการเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้งของจิตใจพร้อมด้วยการหันหลังให้แก่บาป พระคริสตเจ้าทรงเรียกผู้คนให้กลับใจ การตอบสนองโดยพระหรรษทานทำให้ผู้คนหันเหออกจากบาปและมีความชอบธรรม  พระอาณาจักรสวรรค์ : น.มัทธิวนิยมใช้วลีนี้แทนการใช้วลีที่ว่า "อาณาจักรของพระเจ้า"  พระอาณาจักรนี้หมายถึงความสุขนิรันดรที่พระเจ้าจะประทานให้แก่ประชากรที่พระองค์ทรงเรียก พันธกิจของพระคริสตเจ้าคือการสถาปนาพระอาณาจักรนี้ 

ความสุขของคริสตชน

CCC ข้อ 1720 พันธสัญญาใหม่ใช้วิธีพูดหลายอย่างเพื่อบรรยายถึงความสุขที่พระเจ้าทรงเรียกมนุษย์มารับ เช่น อาณาจักรสวรรค์ของพระเจ้าอยู่ใกล้แล้ว การเห็นพระเจ้า “ผู้มีใจบริสุทธิ์ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้เห็นพระเจ้า” (มธ 5:8) การเข้าร่วมยินดีกับองค์พระผู้เป็นเจ้า การเข้าไปพักผ่อนกับพระเจ้า “ที่นั่นเราจะพักผ่อนและจะแลเห็น เราจะแลเห็นและจะรัก เราจะรักและจะสรรเสริญ นี่คือสิ่งที่จะเป็นมาในที่สุดโดยไม่มีที่สิ้นสุด อะไรเล่าจะเป็นจุดหมายของเราถ้าไม่ใช่การไปถึงพระอาณาจักรที่ไม่มีวันจะจบสิ้น”

การประทานความชอบธรรม

CCC ข้อ 1989 งานแรกจากพระหรรษทานของพระจิตเจ้าก็คือ การกลับใจ ซึ่งทำให้เกิดการประทานความชอบธรรมตามข่าวดีที่พระเยซูเจ้าทรงแจ้งไว้ในตอนต้นของพระวรสาร “จงกลับใจเถิด เพราะอาณาจักรสวรรค์อยู่ใกล้แล้ว” (มธ 4:17) อาศัยพลังดลใจของพระหรรษทาน มนุษย์หันกลับมาหาพระเจ้าและปลีกตนออกจากบาป และดังนี้จึงรับการอภัยและความชอบธรรมจากเบื้องบน “การประทานความชอบธรรม […] ไม่เป็นแต่เพียงการให้อภัยบาปเท่านั้น แต่ยังเป็นการบันดาลความศักดิ์สิทธิ์และรื้อฟื้นมนุษย์ภายในด้วย”


มธ 4:18  อันดรูว์เกิดที่เมืองเบธไซดา ท่านเคยเป็นศิษย์ของยอห์น บับติสต์มาก่อนที่จะกลายเป็นผู้ติดตามพระคริสตเจ้า และได้พาเปโตรพี่ชายไปหาพระองค์ด้วย ตามธรรมประเพณีเชื่อกันว่า ท่านได้ประกาศพระวรสารในประเทศกรีซ และได้ถูกตรึงกางเขนเป็นรูปตัว X ในราวปี ค.ศ. 60    


มธ 4:19-21  จงตามเรามาเถิด... พระองค์ทรงเรียกเขา : บรรดาบุรุษที่ได้รับกระแสเรียกสู่การรับศีลบวชถูกเรียกแบบส่วนตัวจากพระคริสตเจ้า ในพิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ บิชอปและพระสงฆ์ต่างกระทำในนามของพระคริสตเจ้า ผู้ทรงเป็นศีรษะของพระกายทิพย์ คือพระศาสนจักร โดยอาศัยศีลล้างบาป คริสตชนทุกคนถูกเรียกให้มาเป็นศิษย์ ซึ่งแสดงออกด้วยการมุ่งสู่ความศักดิ์สิทธิ์และการประกาศข่าวดี

ทำไมต้องมีศาสนบริการของพระศาสนจักร

CCC ข้อ 878 ในที่สุด ศาสนบริการศีลศักดิ์สิทธิ์ของพระศาสนจักรยังมีลักษณะเฉพาะส่วนบุคคลด้วย ถ้าบรรดาศาสนบริกรของพระคริสตเจ้าทำงานร่วมกัน เขาก็ยังทำงานเป็นการส่วนตัวด้วย เขาแต่ละคนได้รับเรียกมาเป็นการส่วนตัว “ท่านจงตามเรามาเถิด” (ยน 21:22) เพื่อว่าในพันธกิจส่วนรวม เขาแต่ละคนจะได้เป็นพยานส่วนตัว รับผิดชอบเป็นการส่วนตัวเฉพาะพระพักตร์พระองค์ผู้ประทานพันธกิจให้เขาทำงาน “ในพระบุคคลของพระองค์” และเพื่อผู้อื่น “ข้าพเจ้าล้างท่านเดชะพระนามพระบิดา...” “ข้าพเจ้าอภัยบาปท่าน....”

CCC ข้อ 879 ศาสนบริการศีลศักดิ์สิทธิ์ในพระศาสนจักรจึงเป็นศาสนบริการที่ทำในพระนามพระคริสตเจ้า การนี้มีลักษณะเป็นส่วนตัวและส่วนรวม ลักษณะนี้สำเร็จเป็นจริงระหว่างคณะพระสังฆราชกับพระประมุขผู้สืบตำแหน่งของนักบุญเปโตร และในความสัมพันธ์ระหว่างความรับผิดชอบด้านอภิบาลของพระสังฆราชสำหรับพระศาสนจักรท้องถิ่นของตนกับความเอาใจใส่ส่วนรวมที่คณะพระสังฆราชต้องมีต่อพระศาสนจักรสากล

ฆราวาสผู้มีความเชื่อในพระคริสตเจ้า

CCC ข้อ 897 คำว่า “ฆราวาส” หมายถึงทุกคนผู้มีความเชื่อในพระคริสตเจ้า นอกจากผู้ได้รับศีลบวชขั้นใดขั้นหนึ่งและผู้อยู่ในสถานะนักพรตในพระศาสนจักร นั่นคือผู้มีความเชื่อในพระคริสตเจ้าผู้ร่วมในพระวรกายกับพระคริสตเจ้าโดยศีลล้างบาป มีส่วนในบทบาทสมณะ ประกาศก และกษัตริย์ของพระคริสตเจ้าตามวิธีการของตน และปฏิบัติพันธกิจของประชากรคริสตชนทั้งหมดในพระศาสนจักรและในโลกตามส่วนของตน”

กระแสเรียกของฆราวาส

CCC ข้อ 898 “โดยกระแสเรียกเฉพาะของตน บรรดาฆราวาสมีหน้าที่แสวงหาพระอาณาจักรของพระเจ้าโดยปฏิบัติและจัดการกิจการทางโลกตามพระประสงค์ของพระเจ้า […] กิจกรรมทางโลกทุกอย่างจึงเกี่ยวข้องเป็นพิเศษกับบรรดาฆราวาสซึ่งมีความสัมพันธ์กับเรื่องเหล่านี้อย่างใกล้ชิด เขาต้องอธิบายความหมายและจัดการให้กิจกรรมเหล่านี้ดำเนินไปและพัฒนายิ่งขึ้นตลอดเวลาตามแผนของพระคริสตเจ้าและเป็นการสรรเสริญพระผู้สร้างและพระผู้กอบกู้”

CCC ข้อ 899 บรรดาคริสตชนฆราวาสมีหน้าที่เป็นพิเศษที่จำเป็นจะต้องริเริ่มงานถ้าเป็นเรื่องของการค้นคว้าหาให้พบวิธีการต่างๆ เพื่อทำให้คำสอนและชีวิตคริสตชนแทรกซึมเข้าไปในสภาพความเป็นอยู่ด้านสังคม การเมืองและเศรษฐกิจ การริเริ่มเหล่านี้เป็นองค์ประกอบชีวิตของพระศาสนจักรตามปกติ “บรรดาคริสตชนผู้มีความเชื่อ โดยเฉพาะบรรดาฆราวาส อยู่ในแนวหน้าชีวิตของพระศาสนจักร อาศัยพวกเขานี้แหละพระศาสนจักรจึงเป็นหลักการชีวิตของสังคมมนุษย์ ดังนั้น เขาเหล่านี้โดยเฉพาะจึงต้องสำนึกอยู่เสมอให้ชัดเจนยิ่งๆ ขึ้นว่าตนไม่เพียงแต่อยู่ในพระศาสนจักรเท่านั้น แต่เป็นพระศาสนจักร นั่นคือ เป็นชุมชนคริสตชนในโลกภายใต้ปกครองของผู้เป็นพระประมุขร่วมกัน นั่นคือสมเด็จพระสันตะปาปาและบรรดาพระสังฆราชผู้มีความสัมพันธ์กับพระองค์ เขาทั้งหลายเป็นพระศาสนจักร”

CCC ข้อ 900 บรรดาฆราวาสโดยอำนาจของศีลล้างบาปและศีลกำลังได้รับมอบหมายงานธรรมทูตเช่นเดียวกับ คริสตชนผู้มีความเชื่อทุกคน เขามีหน้าที่และสิทธิทั้งเป็นการส่วนตัวและเมื่อร่วมกันเป็นหมู่คณะ มนุษย์ทุกคนทั่วโลกจะต้องรู้และยอมรับว่าเขาเป็นผู้ที่พระเจ้าทรงส่งมา บอกข่าวความรอดพ้นให้ทราบ หน้าที่นี้ยิ่งเร่งรัดมากขึ้นเพราะมวลมนุษย์จะได้ยินพระวรสารและรู้จักพระคริสตเจ้าได้ผ่านทางพวกเขาเท่านั้น กิจกรรมของเขาในชุมชนของพระศาสนจักร จึงจำเป็นจนกระทั่งว่าถ้าไม่มีกิจกรรมนี้แล้ว งานธรรมทูตของบรรดาผู้อภิบาลส่วนใหญ่ก็จะไม่อาจบรรลุถึงประสิทธิผลสมบูรณ์ได้

การที่ฆราวาสมีส่วนร่วมบทบาทสมณะของพระคริสตเจ้า

CCC ข้อ 901 “บรรดาฆราวาส ในฐานะที่ถวายตนแด่พระคริสตเจ้าและได้รับเจิมจากพระจิตเจ้า ย่อมได้รับเรียกและสั่งสอนเป็นพิเศษให้บังเกิดผลของพระจิตเจ้าอย่างอุดมสมบูรณ์ในตนอยู่เสมอ กิจการทุกอย่างที่เขาทำ การอธิษฐานภาวนา และงานธรรมทูต การดำเนินชีวิตสมรสและครอบครัว การงานประจำวัน การพักผ่อนจิตใจและร่างกาย ถ้าทำในพระจิตเจ้า ยิ่งกว่านั้น ความทุกข์ยากของชีวิตที่ต้องรับทนด้วยความพากเพียร ก็กลายเป็นเครื่องบูชาฝ่ายจิตซึ่งเป็นที่สบพระทัยพระเจ้าเดชะพระเยซูคริสตเจ้า (เทียบ 1 ปต 2:5) ซึ่งถวายอย่างศรัทธายิ่งในพิธีบูชาขอบพระคุณแด่พระบิดาพร้อมกับการถวายพระวรกายขององค์พระผู้เป็นเจ้า และดังนี้บรรดาฆราวาสในฐานะผู้ประกอบพิธีถวายคารวะอย่างศักดิ์สิทธิ์อยู่ทั่วทุกแห่งหนจึงถวายโลกทั้งหมดแด่พระเจ้า”

CCC ข้อ 902 ด้วยวิธีเฉพาะเป็นพิเศษ บรรดาบิดามารดาย่อมมีส่วนบทบาทใน “การบันดาลความศักดิ์สิทธิ์โดยดำเนินชีวิตสามีภรรยาด้วยจิตตารมณ์ของพระคริสตเจ้าและจัดให้บรรดาบุตรได้รับการศึกษาอบรมแบบคริสตชน”


มธ 4:22-25  อำนาจของพระคริสตเจ้าในการรักษาผู้ป่วยเป็นเครื่องหมายแห่งพระเทวภาพของพระองค์ และเป็นการทำให้คำทำนายของประกาศกอิสยาห์ในเรื่อง ผู้รับใช้ผู้รับทรมาน สำเร็จสมบูรณ์ไป

พระคริสตเจ้าทรงเป็นเสมือนนายแพทย์

CCC ข้อ 1503 การที่พระคริสตเจ้าทรงแสดงความเห็นใจต่อคนเจ็บป่วยและทรงรักษาโรคคนเจ็บป่วยชนิดต่างๆ หลายครั้งเป็นเครื่องหมายแสดงให้เห็นชัดเจนว่าพระเจ้าทรงมาเยี่ยมประชากรของพระองค์และพระอาณาจักรของพระเจ้าอยู่ใกล้เต็มทีแล้ว พระเยซูเจ้าไม่ทรงมีแต่เพียงอำนาจบำบัดรักษาเท่านั้น แต่ยังทรงมีอำนาจที่จะอภัยบาปด้วย พระองค์เสด็จมาเพื่อจะทรงบำบัดรักษามนุษย์ทั้งตัว คือทั้งร่างกายและวิญญาณ พระองค์ทรงเป็นนายแพทย์ที่คนเจ็บป่วยต้องการ ความเห็นอกเห็นใจที่ทรงมีต่อทุกคนที่กำลังทนทุกข์ก้าวไปไกลจนทำให้พระองค์ทรงเป็นหนึ่งเดียวกับเขาเหล่านั้น “เราเจ็บป่วย ท่านก็มาเยี่ยม” (มธ 25:36) ตลอดเวลาหลายศตวรรษที่ผ่านมา ความรักของพระองค์เป็นพิเศษต่อคนเจ็บป่วยไม่ได้หยุดยั้งที่จะปลุกให้บรรดาคริสตชนมีความเอาใจใส่เป็นพิเศษต่อผู้ที่ต้องทนทุกข์ทั้งในร่างกายหรือจิตใจ ความพยายามอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยที่จะช่วยเขาเหล่านี้เกิดจากความเอาใจใส่นี้เอง

  

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)