แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ สมโภชพระนางมารีย์ พระชนนีพระเจ้า

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 2:16-21)                             

ขณะนั้น คนเลี้ยงแกะจึงรีบไปและพบพระนางมารีย์ โยเซฟ และพระกุมารซึ่งบรรทมอยู่ในรางหญ้า เมื่อคนเลี้ยงแกะเห็น ก็เล่าเรื่องที่เขาได้ยินมาเกี่ยวกับพระกุมาร ทุกคนที่ได้ยินต่างประหลาดใจในเรื่องที่คนเลี้ยงแกะเล่าให้ฟัง ส่วนพระนางมารีย์ทรงเก็บเรื่องทั้งหมดเหล่านี้ไว้ในพระทัยและยังทรงคำนึงถึงอยู่ คนเลี้ยงแกะกลับไปโดยถวายพระพรและสรรเสริญพระเจ้าในเรื่องต่างๆ ที่พวกเขาได้ยินและได้เห็น ตามที่ทูตสวรรค์บอกไว้

เมื่อครบกำหนดแปดวัน ถึงเวลาที่พระกุมารจะต้องทรงเข้าสุหนัต เขาถวายพระนามพระองค์ว่าเยซู เป็นพระนามที่ทูตสวรรค์ให้ไว้ก่อนที่พระองค์จะทรงปฏิสนธิ์ในพระครรภ์ของพระมารดา


ลก 2:8-20  ทูตสวรรค์ได้อธิบายให้บรรดาคนเลี้ยงแกะฟังว่า การบังเกิดของพระคริสตเจ้าหมายความว่า พระองค์ทรงเป็นพระเจ้า พระผู้ไถ่กู้ ทรงเป็นพระเมสสิยาห์ที่รอคอยกันมาเป็นเวลานาน ไม่มีใครคาดคิดว่าพระเมสสิยาห์จะเสด็จมายังอิสราเอลดังทารกน้อยที่บังเกิดอย่างยากจนในคอกสัตว์ แต่ด้วยความยากจนเช่นนี้เองที่พระสิริรุ่งโรจน์ของสวรรค์ได้ถูกเปิดเผยให้ปรากฏ  

พระคริสตเจ้า “กับทูตสวรรค์ทั้งมวลของพระองค์”

  CCC ข้อ 333 นับตั้งแต่การรับสภาพมนุษย์จนถึงการเสด็จสู่สวรรค์ พระชนมชีพของพระวจนาตถ์ผู้รับสภาพมนุษย์มีทูตสวรรค์คอยนมัสการและรับใช้อยู่ตลอดเวลา เมื่อพระเจ้า “ทรงส่งพระโอรสองค์แรกมาสู่โลกมนุษย์ พระองค์ตรัสว่า ‘ให้ทูตสวรรค์ทั้งหลายของพระเจ้ากราบนมัสการพระองค์เถิด’” (ฮบ 1:6) บทเพลงสรรเสริญของบรรดาทูตสวรรค์ในการสมภพของพระคริสตเจ้ายังคงดังก้องอยู่ตลอดมาในการขับร้องสรรเสริญของพระศาสนจักร “พระสิริรุ่งโรจน์จงมีแด่พระเจ้าในสวรรค์สูงสุด...” (ลก 2:14) บรรดาทูตสวรรค์คอยปกป้องพระเยซูเจ้าในปฐมวัย คอยปรนนิบัติรับใช้พระองค์ในถิ่นทุรกันดาร มาปลอบโยนเมื่อพระองค์ทรงทนทุกข์ในสวนเกทเสมนี ถ้าทรงประสงค์ พระองค์อาจทรงได้รับความช่วยเหลือจากทูตสวรรค์ให้พ้นจากเงื้อมมือของบรรดาศัตรู เช่นเดียวกับที่อิสราเอลเคยได้รับในอดีตด้วย บรรดาทูตสวรรค์ยังนำข่าวดีมาบอก ให้บรรดาคนเลี้ยงแกะรู้เรื่องการที่พระเจ้าเสด็จมาบังเกิดเป็นมนุษย์ และประกาศข่าวการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าให้บรรดาศิษย์รู้ บรรดาทูตสวรรค์จะปรากฏมาประกาศการเสด็จกลับมาของพระคริสตเจ้า และมารับใช้พระองค์ในการพิพากษามวลมนุษย์

ทรงปฏิสนธิเดชะพระจิตเจ้า.....

CCC ข้อ 486 พระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระบิดาทรงปฏิสนธิเป็นมนุษย์ในพระครรภ์ของพระนางมารีย์พรหมจารี ทรงเป็น “พระคริสตเจ้า” นั่นคือทรงรับเจิมจากพระจิตเจ้า ตั้งแต่แรกเริ่มที่ทรงความเป็นอยู่อย่างมนุษย์ แม้ว่าการแสดงความจริงประการนี้ค่อยๆ ปรากฏตามลำดับ แก่บรรดาผู้เลี้ยงแกะ แก่โหราจารย์ แก่ยอห์นผู้ประกอบพิธีล้าง แก่บรรดาศิษย์ ดังนั้น พระชนมชีพทั้งหมดของพระเยซูคริสตเจ้าจะแสดงให้ปรากฏว่า “พระเจ้าทรงเจิมพระเยซูเจ้าชาวนาซาเร็ธด้วยพระอานุภาพเดชะพระจิตเจ้า” (กจ 10:38)

พระชนมชีพทั้งหมดของพระคริสตเจ้าเป็นพระธรรมล้ำลึก

CCC ข้อ 515 พระวรสารเขียนขึ้นโดยคนรุ่นแรกๆ ที่เข้ามารับความเชื่อ และต้องการแบ่งปันความเชื่อนี้แก่ผู้อื่น เมื่อเขารู้โดยอาศัยความเชื่อว่าพระเยซูเจ้าคือใครแล้ว เขาก็อาจแลเห็นและช่วยให้ผู้อื่นแลเห็นร่องรอยพระธรรมล้ำลึกเกี่ยวกับพระองค์ในพระชนมชีพบนแผ่นดินนี้ของพระองค์ได้ชัดเจน ทุกสิ่งทุกอย่างในพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า ทุกสิ่งทุกอย่าง นับตั้งแต่ผ้าอ้อมที่หุ้มห่อพระวรกายเพื่อทรงสมภพ จนถึงน้ำองุ่นเปรี้ยวเมื่อทรงรับทรมาน ผ้าห่อพระศพในพระคูหา เมื่อทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว ล้วนเป็นเครื่องหมายถึงพระธรรมล้ำลึกของพระองค์ พระภารกิจและการอัศจรรย์ที่ทรงกระทำ พระวาจาที่ตรัสล้วนเปิดเผยว่า “ในพระองค์นั้นพระเทวภาพบริบูรณ์สถิตอยู่ในสภาพมนุษย์ที่สัมผัสได้” (คส 2:9) ดังนี้ มนุษยภาพของพระองค์จึงปรากฏเป็นเสมือน “ศีลศักดิ์สิทธิ์” นั่นคือ เครื่องหมายและเครื่องมือที่พระเทวภาพของพระองค์ทรงใช้นำความรอดพ้นมาประทานแก่มนุษยชาติ และปรากฏให้เห็นในพระชนมชีพในโลกนี้ นำเราเข้าไปสัมผัสกับพระธรรมล้ำลึกที่เรามองเห็นไม่ได้ว่าทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้าและทรงรับพันธกิจมากอบกู้มนุษยชาติให้รอดพ้น

สัญลักษณ์ของพระจิตเจ้า

CCC ข้อ 695 “การเจิม”  การใช้น้ำมันเจิมยังหมายถึงพระจิตเจ้า จนกลายเป็นคำที่มีความหมายเดียวกันด้วย ในพิธีรับคริสตชนใหม่ การเจิมเป็นเครื่องหมายของศีลกำลัง ซึ่งในพระศาสนจักรตะวันออกเรียกว่า “การเจิมน้ำมันคริสมา” แต่เพื่อจะเข้าใจความหมายทั้งหมดของการนี้ ก่อนอื่นจำเป็นต้องกลับไปยังการเจิมครั้งแรกที่พระจิตเจ้าทรงบันดาลให้ คือการเจิมของพระเยซูเจ้า พระคริสตเจ้า (“พระเมสสิยาห์” ในภาษาฮีบรู) หมายถึง “ผู้รับเจิม”ของพระจิตเจ้า ในพันธสัญญาเดิมมี “ผู้รับเจิม” อยู่หลายคน กษัตริย์ดาวิดทรงเป็น “ผู้รับเจิม” พิเศษ แต่พระเยซูเจ้าทรงเป็น “ผู้รับเจิม” พิเศษสุดของพระเจ้า พระธรรมชาติมนุษย์ที่พระบุตรทรงรับมานั้น “ได้รับเจิมทั้งหมดจากพระจิตเจ้า” พระเยซูเจ้าทรงได้รับแต่งตั้งจากพระจิตเจ้าเป็น “พระคริสตเจ้า”  พระนางมารีย์พรหมจารีทรงปฏิสนธิพระคริสตเจ้าเดชะพระจิตเจ้าผู้ทรงใช้ทูตสวรรค์มาแจ้งข่าวเมื่อทรงประสูติว่าทรงเป็นพระคริสตเจ้า และยังดลใจผู้เฒ่าสิเมโอนให้เข้ามาในพระวิหารเพื่อจะได้เห็นพระคริสต์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า พระคริสตเจ้าทรงรับพระจิตเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม และพระพลังของพระจิตเจ้าออกจากพระคริสตเจ้าเมื่อพระองค์ทรงรักษาโรคและประทานความรอดพ้น ในที่สุด พระจิตเจ้ายังทรงปลุกพระเยซูเจ้าให้กลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย บัดนี้พระเยซูเจ้าผู้ทรงได้รับแต่งตั้งเป็น “พระคริสตเจ้า” (ผู้รับเจิม) โดยสมบูรณ์ในสภาพมนุษย์ที่มีชัยชนะเหนือความตาย ทรงหลั่งพระจิตเจ้าอย่างอุดมบริบูรณ์จนกระทั่งว่า “บรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์” ร่วมกับพระธรรมชาติมนุษย์ของพระบุตรพระเจ้า “เป็นผู้ใหญ่เต็มที่ตามมาตรฐานความสมบูรณ์ของพระคริสตเจ้า”  (อฟ 4:13) หรือเป็น “พระคริสตเจ้าสมบูรณ์” ตามสำนวนของนักบุญออกัสติน


ลก 2:16  คนเลี้ยงแกะจึงรีบไป : ข่าวสารที่พวกเขาได้รับนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมากจนทำให้พวกเขาต้องออกเดินทางในทันที แบบอย่างของคนเลี้ยงแกะสอนเราเกี่ยวกับความสำคัญของการให้พระเจ้ามาเป็นอันดับแรกในชีวิตของเรา และแสวงหาพระองค์ด้วยสิ้นสุดจิตใจ

พระคริสตเจ้า

CCC ข้อ 437 ทูตสวรรค์แจ้งข่าวการสมภพของพระเยซูเจ้าว่าเป็นการสมภพของพระเมสสิยาห์ที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้แก่อิสราเอล “วันนี้ในเมืองของกษัตริย์ดาวิด พระผู้ไถ่ประสูตรเพื่อท่านแล้ว พระองค์คือพระคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้า” (ลก 2:11) ตั้งแต่แรกแล้ว พระองค์ทรงเป็น “ผู้ที่พระบิดาทรงบันดาลให้ศักดิ์สิทธิ์และทรงส่งมาในโลก” (ยน 10:36) เป็น “ผู้ศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งปฏิสนธิในพระครรภ์พรหมจารีของพระนางมารีย์ พระเจ้าทรงเรียกโยเซฟให้มารับพระนางมารีย์ผู้ทรงครรภ์แล้วเป็นภรรยา เพราะ “เด็กที่ปฏิสนธิในครรภ์ของนางนั้นมาจากพระจิตเจ้า” (มธ 1:20) เพื่อให้พระเยซูเจ้า “ที่ขานพระนามว่า ‘พระคริสตเจ้า’” จะได้เกิดจากภรรยาของโยเซฟ อยู่ในลำดับวงศ์ตระกูลพระเมสสิยาห์ของกษัตริย์ดาวิด (มธ 1:16)


ลก 2:19 พระนางมารีย์ทรงเก็บ... ไว้ในพระทัย : พระนางมารีย์ทรงครุ่นคิดถึงเรื่องเหล่านั้นที่ยังไม่สามารถเข้าใจทั้งหมดได้ (เทียบ ลก 2:51) โดยอาศัยการรำพึงภาวนา เราสามารถเข้าใจได้มากขึ้นถึงความยิ่งใหญ่ของธรรมล้ำลึกแห่งความเชื่อ นักวิชาการบางคนตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ข้อความนี้บ่งบอกว่า อาจเป็นพระนางมารีย์เองที่ทรงเป็นผู้เล่าเรื่องราวปฐมวัยของพระคริสตเจ้าให้แก่นักบุญลูกาก็เป็นได้

ความเข้าใจความเชื่อต้องเติบโตขึ้น

CCC ข้อ 94 อาศัยความช่วยเหลือของพระจิตเจ้า ความเข้าใจเนื้อหาสาระและถ้อยคำของคลังความเชื่ออาจเติบโตขึ้นได้ในชีวิตของพระศาสนจักร

- “ด้วยการรำพึงและศึกษาของบรรดาผู้มีความเชื่อที่เก็บรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ในจิตใจ” โดยเฉพาะ “การค้นคว้าทางเทววิทยา […] ซึ่งพยายามค้นคว้าหาความรู้ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นถึงความจริงที่ได้รับการเปิดเผยจากพระเจ้า”

- “อาศัยความเข้าใจลึกซึ้งเกี่ยวกับความจริงทางจิตใจที่ (ผู้มีความเชื่อ) มีประสบการณ์”

- “พระวาจาของพระเจ้าย่อมเพิ่มพูนขึ้นพร้อมกับผู้อ่าน”

พระเยซูเจ้าทรงอธิษฐานภาวนา

CCC ข้อ 2599 เมื่อพระบุตรของพระเจ้าทรงเป็นพระบุตรของพระนางพรหมจารีแล้วยังทรงเรียนรู้ที่จะอธิษฐานภาวนาตามพระทัยมนุษย์ของพระองค์ด้วย พระองค์ทรงเรียนรู้สูตรการอธิษฐานภาวนาจากพระมารดาของพระองค์ที่ทรงเก็บ “กิจการยิ่งใหญ่” ทั้งหมดของพระผู้ทรงสรรพานุภาพไว้ในพระทัยของพระนาง พระองค์ทรงอธิษฐานภาวนาโดยถ้อยคำและตามจังหวะการอธิษฐานภาวนาของประชากรของพระองค์ในศาลาธรรมที่เมืองนาซาเร็ธและในพระวิหาร แต่การอธิษฐานภาวนาของพระองค์ออกมาจากบ่อเกิดที่ลึกซึ้งกว่านั้น ดังที่เมื่อทรงพระชนมายุสิบสองพรรษาทรงเผยให้เรารู้สึกได้ “ลูกต้องทำธุรกิจของพระบิดาของลูก” (หรือ “ลูกต้องอยู่ในบ้านของพระบิดาของลูก”) (ลก 2:49) ที่นี่ความใหม่ของการอธิษฐานภาวนาเมื่อเวลาที่กำหนดมาถึงแล้วเริ่มได้รับการเปิดเผย นั่นคือ การอธิษฐานภาวนาในแบบของบุตร ที่พระบิดาทรงรอคอยจะได้รับจากบรรดาบุตรของพระองค์ และในที่สุดพระบุตรเพียงพระองค์เดียวในพระธรรมชาติมนุษย์จะทรงทำให้เป็นชีวิตแท้จริงพร้อมกับมวลมนุษย์และเพื่อมวลมนุษย์


ลก 2:21-24 พระคริสตเจ้าทรงรับพิธีเข้าสุหนัตในวันที่แปดหลังการบังเกิดของพระองค์ เป็นเหตุการณ์ที่เฉลิมฉลองในปฏิทินพิธีกรรมของอัฐมวารพระคริสตสมภพ คือในวันที่ 1 มกราคม การเข้าสุหนัตเป็นเครื่องหมายแห่งการเข้าร่วมพันธสัญญาของอิสราเอลในฐานะลูกหลานของอับราฮัม (เทียบ ลก 1: 59–66) ในทำนองเดียวกัน ตามกฎหมายของชาวยิว บิดามารดาของพระคริสตเจ้าได้นำพระองค์ไปที่พระวิหารหลังจากที่พระองค์ทรงบังเกิดได้สี่สิบวัน เพื่อทำพิธีชำระมลทินและการถวายบุตรหัวปี การชำระมลทินของหญิงหลังจากการคลอดบุตรนั้นเป็นสิ่งจำเป็นก่อนที่นางจะไปนมัสการในพระวิหารหรือแตะต้องสิ่งของศักดิ์สิทธิ์อีกครั้งหนึ่ง โดยต้องมีการถวายเครื่องบูชาด้วยลูกแกะ นกเขาหนึ่งคู่หรือนกพิราบสองตัว ที่จริงแล้วในกรณีของการปฏิสนธิของพระนางมารีย์และการประสูติของพระคริสตเจ้านั้นมิได้ทำให้พระนางมีมลทินภายใต้ธรรมบัญญัติ แต่พระนางก็ได้ปฏิบัติตามธรรมบัญญัติ พิธีถวายบุตรชายคนแรกเป็น “การไถ่กู้เชิงสาธารณะ” ที่จำเป็นสำหรับบุตรชายหัวปีของชนทุกเผ่า นอกเหนือจากชนเผ่าเลวี บิดามารดาจะถวายลูกชายของตนแด่พระเจ้าในเชิงสัญลักษณ์ และซื้อบุตรคืนด้วยการถวายเงินเล็กน้อย การถวายพระคริสตเจ้าในพระวิหารเป็นข้ อรำพึงที่สี่ในพระธรรมล้ำลึกแห่งความปีติยินดีของการสวดสายประคำ และมีการเฉลิมฉลองตามปฏิทินพิธีกรรมในวันที่สี่สิบหลังจากวันพระคริสตสมภพ คือในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ การฉลองนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การเสกเทียน (“ มิสซาเสกเทียน”) เพื่อเน้นว่าพระคริสตเจ้าทรงเป็นแสงสว่างของโลก ตามคำทำนายของซิเมโอน ด้วยเหตุนี้เทียนที่ได้รับการเสกในวันนี้จึงมีการนำไปใช้ตลอดทั้งปี

พระเยซูเจ้า

CCC ข้อ 435 พระนามเยซูเป็นศูนย์กลางของคำอธิษฐานภาวนาของคริสตชน คำภาวนาทางพิธีกรรมทุกบทล้วนลงท้ายด้วยสูตรว่า “อาศัยพระบารมีพระเยซูคริสตเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้าทั้งหลาย” บท “วันทามารีย์” มีจุดยอดอยู่ที่คำว่า “และพระเยซูโอรสของท่านทรงได้รับพระพรยิ่งนัก” บทภาวนายกจิตใจของคริสตชนตะวันออกที่เรียกว่า “บทภาวนาเยซู” (Jesus prayer) มีข้อความว่า “ข้าแต่พระเยซูคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้า โปรดทรงพระเมตตาข้าพเจ้าคนบาปเถิด” คริสตชนจำนวนมาก อย่างเช่นนักบุญโยนออฟอาร์ค สิ้นใจขณะที่ออกพระนาม “เยซู” จากปากของตน

พระธรรมล้ำลึกปฐมวัยของพระเยซูเจ้า

CCC ข้อ 527 การรับพิธีสุหนัตของพระเยซูเจ้าในวันที่แปดหลังจากทรงสมภพ เป็นเครื่องหมายว่าพระองค์ทรงเข้ามาเป็นลูกหลานของอับราฮัม เป็นสมาชิกของประชากรที่พระเจ้าทรงทำพันธสัญญาด้วย ทรงอยู่ใต้ธรรมบัญญัติ เพื่อทรงมีส่วนร่วมในคารวกิจของอิสราเอลตลอดพระชนมชีพของพระองค์ เครื่องหมายนี้บอกล่วงหน้าถึงศีลล้างบาป ซึ่งเป็นเสมือน “พิธีสุหนัตที่มาจากพระคริสตเจ้า”

CCC ข้อ 529 การถวายพระกุมารเยซูในพระวิหาร แสดงว่าพระองค์ทรงเป็นบุตรคนแรกที่เป็นขององค์พระผู้เป็นเจ้าโดยแท้จริง พร้อมกับท่านผู้เฒ่าสิเมโอนและประกาศกหญิงอันนา ประชากรอิสราเอลทั้งหมดรอคอยจะพบกับพระผู้ไถ่ของตน – ธรรมประเพณีพิธีกรรมของจารีตไบแซนไทน์ใช้ชื่อเรียกเหตุการณ์นี้ว่า “การพบ” –  พระเยซูเจ้าทรงได้รับการยอมรับว่าเป็น  พระเมสสิยาห์ที่มนุษยชาติรอคอยมาเป็นเวลานาน เป็น “แสงสว่างส่องนานาชาติ” และเป็น “สิริรุ่งโรจน์สำหรับอิสราเอล” แต่ก็ยังทรงเป็น “เครื่องหมายแห่งการต่อต้าน” อีกด้วยดาบแห่งความทุกข์ที่ท่านสิเมโอน กล่าวพยากรณ์แก่พระนางมารีย์ยังแจ้งถึงการถวายพระองค์อีกประการหนึ่ง ซึ่งเป็นการถวายองค์อย่างสมบูรณ์หนึ่งเดียว คือการถวายองค์บนไม้กางเขนซึ่งจะนำความรอดพ้นที่พระเจ้า “ทรงจัดเตรียมไว้สำหรับนานาประชาชาติ” มาให้มวลมนุษย์

พระเยซูเจ้าและพระวิหาร

CCC ข้อ 583 เช่นเดียวกับบรรดาประกาศกที่มาก่อนหน้าพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงแสดงความเคารพอย่างลึกซึ้งต่อพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม ที่นั่น โยเซฟและพระนางมารีย์นำพระองค์ไปถวายหลังจากทรงสมภพได้สี่สิบวัน เมื่อทรงพระชนมายุสิบสองพรรษาพระองค์ทรงตัดสินพระทัยค้างอยู่ในพระวิหารเพื่อทรงเตือนบิดามารดาให้ระลึกว่าพระองค์จำเป็นต้องทำธุรกิจของ พระบิดา ทุกปีในช่วงเวลาที่ทรงพระชนมชีพซ่อนเร้น พระองค์เสด็จขึ้นไปที่นั่นอย่างน้อยในเทศกาลปัสกา ช่วงเวลาที่ทรงเทศน์สอนประชาชนดูเหมือนจะถูกกำหนดโดยช่วงเวลาที่เสด็จขึ้นไปกรุงเยรูซาเล็มในโอกาสฉลองสำคัญของชาวยิว

การอธิบายความหมายขั้นตอนต่างๆ ของพิธีกรรม

CCC ข้อ 1245 การอวยพรอย่างสง่า ปิดพิธีศีลล้างบาป ถ้าเป็นพิธีศีลล้างบาปของทารกที่เพิ่งเกิด พิธีอวยพรมารดาของเด็กมีความสำคัญเป็นพิเศษ

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)