แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอังคาร สัปดาห์ที่ 24 เทศกาลธรรมดา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 7:11-17)                                    

เวลานั้น พระเยซูเจ้าเสด็จไปที่เมืองหนึ่งชื่อนาอิน บรรดาศิษย์และประชาชนจำนวนมากติดตามพระองค์ไป เมื่อพระองค์เสด็จมาใกล้ประตูเมืองก็ทรงเห็นคนหามศพออกมา ผู้ตายเป็นบุตรคนเดียวของมารดาซึ่งเป็นม่าย ชาวเมืองกลุ่มใหญ่มาพร้อมกับนางด้วย เมื่อองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเห็นนางก็ทรงสงสารและตรัสกับนางว่า “อย่าร้องไห้ไปเลย” แล้วพระองค์เสด็จเข้าไปใกล้ ทรงแตะแคร่หามศพ คนหามก็หยุด พระองค์จึงตรัสว่า “หนุ่มเอ๋ย เราบอกเจ้าว่า จงลุกขึ้นเถิด” คนตายก็ลุกขึ้นนั่งและเริ่มพูด พระเยซูเจ้าจึงทรงมอบเขาให้แก่มารดา ทุกคนต่างมีความกลัวและถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า กล่าวว่า “ประกาศกยิ่งใหญ่ได้เกิดขึ้นในหมู่เรา พระเจ้าได้เสด็จมาเยี่ยมประชากรของพระองค์” และข่าวเรื่องนี้ก็แพร่ไปทั่วแคว้นยูเดียและทั่วอาณาบริเวณนั้น


ลก 7:11-17  เรื่องราวของแม่ม่ายที่นาอิน (เมืองหนึ่งซึ่งไม่ไกลจากนาซาเร็ธเท่าไรนัก) เป็นเรื่องที่พบได้ในพระวรารโดยนักบุญลูกาเท่านั้น อีกทั้งยังโดดเด่นตรงที่พระคริสตเจ้าทรงรักษาบุตรชายที่ป่วยของนางแม้นางมิได้ร้องขอ การทำให้เด็กชายนั้นกลับมีชีวิตเป็นการบอกล่วงหน้าถึงการกลับคืนพระชนมชีพจากความตายของพระคริสตเจ้าเองด้วย  

พระเจ้าทรงค่อยๆ เปิดเผยเรื่องการกลับคืนชีพตามลำดับ 

CCC ข้อ 994  ยิ่งกว่านั้น พระเยซูเจ้ายังทรงรวมความเชื่อเรื่องการกลับคืนชีพไว้กับพระบุคคลของพระองค์เองด้วย “เราเป็นการกลับคืนชีพและเป็นชีวิต” (ยน 11:25) พระเยซูเจ้าพระองค์เองจะทรงบันดาลให้ผู้ที่เชื่อในพระองค์กลับคืนชีพในวันสุดท้าย รวมทั้งผู้ที่กินพระกายและดื่ม  พระโลหิตด้วย พระองค์ประทานเครื่องหมายและประกันเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อทรงคืนชีวิตให้แก่ผู้ตายบางคน และดังนี้ก็ทรงแจ้งล่วงหน้าถึงการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ด้วยแม้ว่าการนี้จะอยู่ในอีกระดับหนึ่ง พระองค์ตรัสถึงเหตุการณ์พิเศษนี้เช่นเดียวกับเมื่อตรัสถึงเครื่องหมายของประกาศกโยนาห์ ถึงเครื่องหมายเรื่องพระวิหาร พระองค์ทรงแจ้งล่วงหน้าถึงการกลับคืนพระชนมชีพที่จะเกิดขึ้นในวันที่สามหลังจากที่จะทรงถูกประหารชีวิต    


ลก 7:12-14  พระคริสตเจ้าทรงหยุดขบวนแห่ศพเพื่อประทานความบรรเทาแก่มารดาของผู้ตายและทำให้บุตรชายของนางกลับมีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง ความทุกข์ของหญิงม่ายทวีมากขึ้นจากเหตุที่ว่าตั้งแต่นี้นางจะไม่มีทั้งสามีและบุตรเพื่อช่วยสนับสนุนในเรื่องต่างๆ อีกต่อไป ความรับผิดชอบในการดูแลคนยากไร้และผู้ขัดสนของสังคมในอันดับแรกเป็นของคนในครอบครัว หรือมิฉะนั้นก็พึ่งพาคนอื่นผู้มีน้ำใจดี และท้ายสุดคือสังคมต้องให้ความช่วยเหลือ  ทรงแตะแคร่หามศพ : เช่นเดียวกับการสัมผัสคนโรคเรื้อน พระคริสตเจ้าทรงกระทำสิ่งที่ทำให้พระองค์มีมลทิน ในการทำให้ชายหนุ่มนั้นกลับคืนชีพ ไม่เพียงแต่ทำให้พระองค์อยู่ในสภาพมีมลทินตามกฎหมายเท่านั้น (เช่น ความตายทางกายภาพ) แต่ยังแสดงอย่างชัดเจนถึงพระเทวภาพของพระองค์ด้วย    

ครอบครัวและสังคม

CCC ข้อ 2208 ครอบครัวจึงต้องดำเนินชีวิตให้สมาชิกของตนเรียนรู้ที่จะเอาใจใส่ต่อผู้อื่น  ดูแลเยาวชนและคนชรา คนเจ็บป่วยหรือพิการและยากจน มีหลายครอบครัวที่บางครั้งไม่อยู่ในสภาพที่อาจให้ความช่วยเหลือเช่นนี้ได้ บุคคลหรือครอบครัวอื่น รวมทั้งสังคมด้วย จึงจำเป็นต้องเข้ามาช่วยเหลือ “การปฏิบัติศาสนกิจที่บริสุทธิ์และไร้มลทินเฉพาะพระพักตร์พระเจ้าพระบิดาคือการเยี่ยมเด็กกำพร้าและหญิงม่ายที่มีความทุกข์ร้อน และการรักษาตนให้พ้นจากมลทินของโลก” (ยก 1:27)


ลก 7:16  ประกาศกยิ่งใหญ่ได้เกิดขึ้นในหมู่เรา : ในพันธสัญญาเดิม ประกาศกเอลียาห์และเอลีชาได้ปลุกคนตายให้กลับคืนชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทั้งสองกรณีล้วน เป็นบุตรคนเดียวของหญิงม่าย (1 พกษ 17:17-24; 2 พกษ 4:32-37) ดังนั้น ในที่นี้พระคริสตเจ้าจึงทรงถูกมองว่าเป็นประกาศกเพราะได้กระทำการอัศจรรย์ที่คล้ายคลึงกัน  พระเจ้าได้เสด็จมาเยี่ยมประชากรของพระองค์ : พระคัมภีร์ใช้สำนวนดังกล่าวนี้เพื่อให้ตระหนักว่าพระเจ้าทรงเป็นผู้กระทำการอัศจรรย์นั้น   

พระคริสตเจ้าทรงเป็นเสมือนนายแพทย์

CCC ข้อ 1503 การที่พระคริสตเจ้าทรงแสดงความเห็นใจต่อคนเจ็บป่วยและทรงรักษาโรคคนเจ็บป่วยชนิดต่างๆ หลายครั้งเป็นเครื่องหมายแสดงให้เห็นชัดเจนว่าพระเจ้าทรงมาเยี่ยมประชากรของพระองค์และพระอาณาจักรของพระเจ้าอยู่ใกล้เต็มทีแล้ว พระเยซูเจ้าไม่ทรงมีแต่เพียงอำนาจบำบัดรักษาเท่านั้น แต่ยังทรงมีอำนาจที่จะอภัยบาปด้วย พระองค์เสด็จมาเพื่อจะทรงบำบัดรักษามนุษย์ทั้งตัว คือทั้งร่างกายและวิญญาณ พระองค์ทรงเป็นนายแพทย์ที่คนเจ็บป่วยต้องการ ความเห็นอกเห็นใจที่ทรงมีต่อทุกคนที่กำลังทนทุกข์ก้าวไปไกลจนทำให้พระองค์ทรงเป็นหนึ่งเดียวกับเขาเหล่านั้น “เราเจ็บป่วย ท่านก็มาเยี่ยม” (มธ 25:36) ตลอดเวลาหลายศตวรรษที่ผ่านมา ความรักของพระองค์เป็นพิเศษต่อคนเจ็บป่วยไม่ได้หยุดยั้งที่จะปลุกให้บรรดาคริสตชนมีความเอาใจใส่เป็นพิเศษต่อผู้ที่ต้องทนทุกข์ทั้งในร่างกายหรือจิตใจ ความพยายามอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยที่จะช่วยเขาเหล่านี้เกิดจากความเอาใจใส่นี้เอง   

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)