แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันศุกร์ สัปดาห์ที่ 16 เทศกาลธรรมดา (ฉลอง น.มารีย์ ชาวมักดาลา)

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 20:1, 11-18)                                                       

เช้าตรู่วันต้นสัปดาห์ขณะที่ยังมืด มารีย์ชาวมักดาลาออกไปที่พระคูหา ก็เห็นหินถูกเคลื่อนออกไปจากพระคูหาแล้วมารีย์ยังคงยืนร้องไห้อยู่นอกพระคูหา ขณะที่ร้องไห้นั้น นางก้มลงมองในพระคูหา ก็เห็นทูตสวรรค์สององค์สวมเสื้อขาวนั่งอยู่ตรงที่ที่เขาวางพระศพของพระเยซูเจ้าไว้ องค์หนึ่งนั่งอยู่ทางเบื้องพระเศียร อีกองค์หนึ่งนั่งอยู่ทางเบื้องพระบาท ทูตสวรรค์ทั้งสององค์ถามนางว่า “นางเอ๋ย ร้องไห้ทำไม” นางตอบว่า “เขานำองค์พระผู้เป็นเจ้าของดิฉันไปแล้ว ดิฉันไม่รู้ว่า เขานำพระองค์ไปไว้ที่ใด” เมื่อตอบดังนี้แล้ว นางก็หันกลับมา และเห็นพระเยซูเจ้าทรงยืนอยู่ที่นั่น แต่ไม่รู้ว่าเป็นพระเยซูเจ้า พระองค์ตรัสถามนางว่า “นางเอ๋ย ร้องไห้ทำไม กำลังแสวงหาผู้ใด” นางคิดว่าพระองค์เป็นคนสวน จึงตอบว่า “นายเจ้าขา ถ้าท่านนำพระองค์ไป ช่วยบอกดิฉันว่าท่านนำพระองค์ไปไว้ที่ไหน ดิฉันจะได้ไปนำพระองค์กลับมา” พระเยซูเจ้าตรัสเรียกนางว่า “มารีย์” นางจึงหันไป ทูลพระองค์เป็นภาษาฮีบรูว่า “รับโบนี” ซึ่งแปลว่า พระอาจารย์ พระเยซูเจ้าตรัสกับนางว่า “อย่าหน่วงเหนี่ยวเราไว้เลย เพราะเรายังไม่ได้ขึ้นไปเฝ้าพระบิดา แต่จงไปหาพี่น้องของเรา และบอกเขาว่า เรากำลังขึ้นไปเฝ้าพระบิดาของเรา และพระบิดาของท่านทั้งหลาย ไปเฝ้าพระเจ้าของเรา และพระเจ้าของท่านทั้งหลาย” มารีย์ ชาวมักดาลาจึงไปแจ้งข่าวกับบรรดาศิษย์ว่า “ดิฉันได้เห็นองค์พระผู้เป็นเจ้าแล้ว” และเล่าเรื่องที่พระองค์ตรัสกับนาง


ยน 20:1-31 โดยการปรากฏพระองค์ให้แก่บรรดาศิษย์ พระคริสตเจ้าทรงเปิดเผยพระวรกายอันรุ่งโรจน์ของพระองค์ เป็นพระวรกายเดิมที่บรรดาศิษย์เคยเห็น แต่ด้วยคุณสมบัติใหม่คือ อยู่เหนือกาลเวลา สถานที่ และขีดจำกัดด้านวัตถุ

พระคูหาว่างเปล่า

  CCC ข้อ 640 “ทำไมท่านมองหาผู้เป็นในหมู่ผู้ตายเล่า พระองค์มิได้ประทับอยู่ที่นี่ พระองค์ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว” (ลก 24:5-6) ในบรรดาเหตุการณ์ของวันปัสกา รายละเอียดประการแรกที่พบได้ก็คือ พระคูหาว่างเปล่า เรื่องนี้ในตัวเองไม่เป็นข้อพิสูจน์โดยตรง การที่พระศพของพระคริสตเจ้าไม่อยู่ในพระคูหาอาจได้รับคำอธิบายอย่างอื่นก็ได้  ถึงกระนั้นพระคูหาที่ว่างเปล่าก็ยังเป็นเครื่องหมายสำคัญสำหรับทุกคน การที่บรรดาศิษย์พบพระคูหาว่างเปล่าก็เป็นก้าวแรกเพื่อจะยอมรับความจริงเรื่องการกลับคืนพระชนมชีพ โดยเฉพาะในกรณีของบรรดาสตรีผู้ศักดิ์สิทธิ์ แล้วในกรณีของเปโตร ศิษย์ “ที่พระเยซูเจ้าทรงรัก” (ยน 20:2) ยืนยันว่าตนเข้าไปในพระคูหา ได้เห็น “ผ้าพันพระศพวางอยู่ที่พื้น” (ยน 20:6) และมีความเชื่อ ข้อความนี้ชวนให้คิดว่าขาได้พบว่าการที่พระวรกายไม่อยู่แล้วในพระคูหาว่างเปล่าไม่อาจเป็นการกระทำของมนุษย์ได้ และพระเยซูเจ้ามิได้เพียงแต่ทรงกลับมาทรงพระชนมชีพเหมือนมนุษย์ทั่วไปดังเช่นในกรณีของลาซารัส

การแสดงองค์ของพระเยซูเจ้าหลังจากทรงคืนพระชนมชีพ

  CCC ข้อ 641 มารีย์ชาวมักดาลาและบรรดาสตรีผู้ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งตั้งใจมาที่พระคูหาเพื่อชโลมพระศพของพระเยซูเจ้า ที่ถูกฝังอย่างเร่งรีบเพราะวันสับบาโตเริ่มแล้วตั้งแต่เย็นวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นคนกลุ่มแรกที่พบพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว ดังนี้ บรรดาสตรีเหล่านี้จึงเป็นคนแรกที่บอกข่าวการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าแก่บรรดาอัครสาวกเอง หลังจากนั้นพระเยซูเจ้าทรงแสดงพระองค์ ก่อนอื่นแก่เปโตร แล้วจึงทรงแสดงพระองค์แก่อัครสาวกสิบสองคน ดังนั้นเปโตรที่พระคริสตเจ้าทรงเรียกมาให้เสริมความเชื่อของบรรดาพี่น้องจึงเห็นพระองค์ผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพก่อนพี่น้องคนอื่น และบรรดาศิษย์ก็ประกาศตามคำยืนยันของเขาว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วจริงๆ และทรงสำแดงพระองค์แก่ซีโมน” (ลก 24:34)

  CCC ข้อ 642 เหตุการณ์ใดๆ ไม่ว่าที่เกิดขึ้นในช่วงวันฉลองปัสกานี้ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับอัครสาวกแต่ละคน– โดยเฉพาะกับเปโตร – ในการก่อสร้างยุคใหม่ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อเช้าวันปัสกา ในฐานะพยานถึงพระผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ ท่านเหล่านี้จึงยังคงเป็นเสมือนฐานศิลาของพระศาสนจักรของพระองค์ ความเชื่อของชุมชนผู้มีความเชื่อกลุ่มแรกตั้งมั่นอยู่บนการเป็นพยานยืนยันของบางคนที่บรรดาคริสตชนรู้จักดีในสมัยนั้น และส่วนใหญ่ก็ยังมีชีวิตอยู่ในหมู่พวกเขาด้วย บรรดา “พยานถึงการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า” ก่อนอื่นหมดจึงได้แก่เปโตรและอัครสาวกทั้งสิบสองคน แต่ก็ไม่เพียงแต่เขาเหล่านี้เท่านั้น เปาโลยังกล่าวถึงกลุ่มบุคคลที่มีจำนวนมากกว่าห้าร้อยคนที่พระเยซูเจ้าทรงแสดงพระองค์แก่พวกเขาพร้อมกัน โดยเฉพาะแก่ยากอบและแก่อัครสาวกทุกคน

  CCC ข้อ 643 ต่อหน้าพยานเหล่านี้ เป็นไปไม่ได้ที่จะอธิบายการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าว่าไม่ได้อยู่ในระบบทางกายภาพ และไม่ยอมรับว่าการกลับคืนพระชนมชีพเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะเห็นได้ว่าความเชื่อของบรรดาศิษย์ได้ถูกทดสอบอย่างหนักจากพระทรมานและการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนของพระอาจารย์ ทั้งๆ ที่พระองค์ทรงแจ้งไว้ล่วงหน้าแล้ว ความสะเทือนใจที่เกิดจากพระทรมานนี้หนักหนาสาหัสจนว่าบรรดาศิษย์ (อย่างน้อยบางคนในพวกเขา) มิได้เชื่อทันทีเมื่อได้รับข่าวการกลับคืนพระชนมชีพ แทนที่จะเล่าว่ากลุ่มบรรดาศิษย์มีประสบการณ์เข้าฌานชิดสนิทกับพระเจ้า พระวรสารทุกฉบับกล่าวว่า พวกเขารู้สึกท้อแท้  (“ใบหน้าเศร้าหมอง” - ลก 24:17) และมีความกลัว ดังนั้น เขาจึงไม่เชื่อบรรดาสตรีผู้ศักดิ์สิทธิ์ที่กลับมาจากพระคูหา และคิดว่าถ้อยคำของพวกเธอ “เป็น เรื่องเหลวไหล” (ลก 24:11) เมื่อพระเยซูเจ้าทรงแสดงพระองค์แก่บรรดาอัครสาวกสิบเอ็ดคนตอนเย็นวัน  ปัสกา พระองค์จึง “ทรงตำหนิพวกเขาที่ไม่ยอมเชื่อและมีใจแข็งกระด้างเพราะไม่ยอมเชื่อผู้ที่เห็นพระองค์เมื่อทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว” (มก 16:14)

  CCC ข้อ 644 แม้เมื่ออยู่ต่อหน้าพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพจริงๆ แล้ว บรรดาศิษย์ก็ยังมีความสงสัย เห็นว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เขาคิดว่าตนกำลังเห็นผี “เขายินดีและแปลกใจจนไม่อยากเชื่อ” (ลก 24:41) โทมัสก็มีความสงสัยต้องการพิสูจน์เหมือนกัน และในโอกาสที่ทรงสำแดงพระองค์เป็นครั้งสุดท้ายในแคว้นกาลิลีที่ มัทธิวเล่าไว้ “บางคนยังสงสัยอยู่” (มธ 28:17) ดังนั้น สมมุติฐานที่คิดว่าการกลับคืนพระชนมชีพเป็น “ผล” ที่เกิดจากความเชื่อ (หรือความงมงาย) ของบรรดาอัครสาวกจึงไม่สมเหตุผล ตรงกันข้าม ความเชื่อของพวกเขาถึงการกลับคืนพระชนมชีพเกิดขึ้น – โดยอิทธิพลของพระหรรษทาน – จากประสบการณ์โดยตรงกับพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ

สภาพความเป็นมนุษย์ของพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว

  CCC ข้อ 645 เมื่อทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว พระเยซูเจ้าทรงมีความสัมพันธ์โดยตรงกับบรรดาศิษย์ผ่านการสัมผัส และเสวยพระกระยาหาร พระองค์ทรงเชิญเขาเช่นนี้ให้รับรู้ว่าพระองค์ไม่ทรงเป็นเพียงจิต (หรือ “ผี”) แต่โดยเฉพาะเพื่อเขาจะได้เห็นว่าพระกายที่กลับคืนชีพของพระองค์ที่เขาพบนี้เป็นพระกายเดียวกันกับพระกายที่เคยรับทรมานและถูกตรึงบนไม้กางเขน เพราะยังมีร่องรอยของพระทรมานปรากฏอยู่ถึงกระนั้น พระวรกายแท้จริงนี้ก็มีคุณสมบัติใหม่ของพระวรกายรุ่งโรจน์พร้อมกันด้วย พระวรกายนี้ไม่ถูกจำกัดอยู่ในเวลาและสถานที่อีกต่อไป แต่สามารถไปอยู่ที่ใดและเมื่อใดก็ได้ตามพระประสงค์ เพราะพระธรรมชาติมนุษย์ของพระองค์ไม่อาจถูกจำกัดอยู่ในโลกอีกต่อไปและอยู่ในปกครองของพระบิดาเจ้าเท่านั้น และเพราะเหตุนี้ พระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วจึงทรงอิสระอย่างยิ่งที่จะทรงสำแดงพระองค์ตามที่ทรงประสงค์ เช่นในรูปของคนสวนหรือ “ในรูปอื่น” (มก 16:12) ที่แตกต่างจากรูปที่บรรดาศิษย์เคยรู้จัก ทั้งนี้เพื่อปลุกความเชื่อของพวกเขานั่นเอง

“พระเยซูเจ้าเสด็จสู่สวรรค์ประทับเบื้องขวาพระเจ้า พระบิดาผู้ทรงสรรพานุภาพ”

  CCC ข้อ 659 “เมื่อพระเยซู องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสดังนี้แล้ว พระเจ้าทรงรับพระองค์ขึ้นสู่สวรรค์ให้ประทับณ เบื้องขวา” (มก 16:19) พระกายของพระคริสตเจ้าทรงพระสิริรุ่งโรจน์นับตั้งแต่ทรงกลับคืนพระชนมชีพ ดังที่สภาพใหม่เหนือธรรมชาติแสดงให้เห็นว่าจะทรงสภาพเช่นนี้ตลอดไป แต่ระหว่างช่วงเวลาสี่สิบวันที่ทรงดื่มและเสวยพระกระยาหารอย่างเป็นกันเองกับบรรดาศิษย์สอนพวกเขาเรื่องพระอาณาจักร พระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ยังคงซ่อนอยู่ในรูปร่างของมนุษย์ธรรมดาทั่วไป การสำแดงพระองค์ครั้งสุดท้ายของพระเยซูเจ้าจบสิ้นลงเมื่อสภาพมนุษย์ของพระองค์เข้าไปรับพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าอย่างเด็ดขาดโดยมีเมฆเป็นเครื่องหมาย ในสวรรค์ ที่พระองค์ประทับเบื้องขวาของพระเจ้านับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นอกจากนั้นพระองค์ยังทรงสำแดงองค์โดยวิธีพิเศษเป็นการยกเว้นแก่เปาโล “ผู้เป็นเสมือนเด็กที่คลอดก่อนกำหนด” ด้วย เป็นการแสดงพระองค์ครั้งสุดท้ายและแต่งตั้งเขาให้เป็นอัครสาวก


ยน 20:1 วันต้นสัปดาห์ : วันอาทิตย์คือวันที่พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพ ด้วยเหตุผลนี้ พระศาสนจักรจึงได้ตระหนักว่า วันอาทิตย์คือวันของพระเจ้า และได้กำหนดให้เป็นวันนมัสการพระเจ้าด้วยพิธีบูชาขอบพระคุณ ในช่วงของพระศาสนจักรยุคแรกเริ่มก่อนที่บรรดาคริสตชนจะแยกตัวออกมาจากศาสนายูดาห์อย่างสมบูรณ์นั้น พวกเขาได้ไปนมัสการพระเจ้าที่พระวิหารและตามศาลาธรรมในวันสับบาโต หลังจากนั้นจึงค่อยพบปะกันเพื่อเฉลิมฉลองพิธีบิปังที่บ้านของพวกเขาในวันถัดมา ซึ่งก็คือวันอาทิตย์นั่นเอง เนื่องจากวันอาทิตย์เป็นวันแรกของสัปดาห์ จึงชวนให้ระลึกถึงวันแรกแห่งการเนรมิตสร้าง และนี่เองจึงเป็นความหมายของการสร้างใหม่ในพระคริสตเจ้า

วันที่(พระคริสตเจ้า)ทรงกลับคืนพระชนมชีพ – การเนรมิตสร้างใหม่

  CCC ข้อ 2174 พระเยซูเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพ “เช้าตรู่ของวันต้นสัปดาห์” (มก 16:2) ในฐานะที่เป็น “วันที่หนึ่ง” วันที่พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพจึงชวนให้เราคิดถึงการเนรมิตสร้างครั้งแรก ในฐานะที่ “วันที่แปด” ที่ตามหลังวันสับบาโต วันนี้จึงหมายถึงการเนรมิตสร้างครั้งใหม่ที่เริ่มขึ้นโดยการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า กลายเป็นวันแรกของวันทั้งหลาย สำหรับคริสตชน เป็น “วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า” (dies Dominica, he kyriake hemera) หรือ “Dominica” “เมื่อถึงวันอาทิตย์ พวกเราก็มาชุมนุมพร้อมกัน เพราะว่าวันนี้เป็นวันแรก [หลังวันสับบาโตของชาวยิวและยังเป็นวันแรก] ที่พระเจ้าทรงแยกวัตถุจากความมืด ทรงเนรมิตสร้างโลก และเพราะว่าพระเยซู คริสตเจ้า พระผู้ไถ่ของเราทรงกลับคืนพระชนมชีพในวันเดียวกันด้วย”

วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า

  CCC ข้อ 2190 วันสับบาโต ซึ่งระลึกถึงการเนรมิตสร้างโลกสำเร็จลง ถูกแทนโดยวันอาทิตย์ ซึ่งระลึกถึงการเนรมิตสร้างใหม่ที่เริ่มจากการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า

  CCC ข้อ 2191 พระศาสนจักรเฉลิมฉลองการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าในวันที่แปด ซึ่งสมควรแล้วที่จะรับนามว่า “วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า” (dies Domini – Dominica)

  CCC ข้อ 2192 “วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า – หรือ วันอาทิตย์ – […] ต้องถือว่าเป็นวันฉลองสำคัญกว่าเพื่อนในพระศาสนจักรสากล และเป็นวันฉลองบังคับ” “ในวันอาทิตย์และวันฉลองบังคับอื่นๆ บรรดาผู้มีความเชื่อจะต้องไปร่วมพิธีมิสซา”

  CCC ข้อ 2193 “นอกจากนั้น ในวันอาทิตย์และวันฉลองบังคับอื่นๆ บรรดาผู้มีความเชื่อ […] ยังต้องหยุดงานและธุรกิจอื่นๆ ที่ขัดขวางไม่ให้ถวายคารวกิจแต่พระเจ้า ขัดกับความยินดีของวันขององค์พระผู้เป็นเจ้า หรือไม่อนุญาตให้พักผ่อนร่างกายและจิตใจได้”

  CCC ข้อ 2194 ระเบียบการเรื่องวันอาทิตย์ช่วยให้ทุกคน “มีโอกาสพักผ่อนและมีเวลาว่างเพียงพอสำหรับชีวิตครอบครัว เพื่อประกอบกิจกรรมทางวัฒนธรรมและศาสนาได้ด้วย”

  CCC ข้อ 2195 คริสตชนแต่ละคนต้องหลีกเลี่ยงที่จะขอร้องโดยไม่จำเป็นให้ผู้อื่นทำงานที่อาจขัดขวางไม่ให้เขาถือกฎวันขององค์พระผู้เป็นเจ้าได้


ยน 20:11-18  นักบุญเกรโกรีแห่งนิสซาสอนว่า “พระเจ้าทรงอนุญาตให้ผู้ที่มีใจบริสุทธิ์สามารถมองเห็นและรู้จักพระองค์” (De Beatitudinibus, 6) มารีย์ ชาวมักดาลา คือศิษย์คนหนึ่งของพระคริสตเจ้าที่ยอห์นได้กล่าวถึงว่า เธอคือหนึ่งในบรรดาสตรีที่ได้อยู่แทบเชิงไม้กางเขน ลูกาได้บรรยายถึงเธอว่า เป็นหญิงที่ถูกปิศาจสิงและที่พระเยซูเจ้าได้ทรงรักษาให้หาย ความจริงใจของเธอในการแสวงหาพระคริสตเจ้าหลังจากที่พบว่า พระคูหาว่างเปล่านั้น ทำให้เธอได้รับรางวัลด้วยการพบกับพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ ศิษย์ของพระคริสต์คือ บรรดาผู้ที่อาจดูว่ามีความอ่อนแอตามประสามนุษย์ แต่ก็ได้รับการเยียวยารักษาจากพระองค์ อุทิศตนในการติดตามพระองค์ และกลายเป็นประจักษ์พยานแห่งพระเมตตารักของพระองค์

  CCC ข้อ 640, 641 (อ่านเพิ่มเติมด้านบน ยน 20:1-31)


  ยน 20:14 ด้วยสภาวะที่รุ่งโรจน์ของพระคริสตเจ้า ทำให้มารีย์ ชาวมักดาลาไม่สามารถจำพระองค์ได้ในทันทีทันใด จนกระทั่งถึงตอนที่พระคริสตเจ้าตรัสกับนาง

  CCC ข้อ 645 (อ่านเพิ่มเติมด้านบน (ยน 20:1-31))

“พระเยซูเจ้าเสด็จสู่สวรรค์ประทับเบื้องขวาพระเจ้า พระบิดาผู้ทรงสรรพานุภาพ”

  CCC ข้อ 660 เราเห็นลักษณะพระสิริรุ่งโรจน์ที่ยังซ่อนเร้นของพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วจากพระวาจาที่ตรัสกับมารีย์ชาวมักดาลาว่า “เรายังไม่ได้ขึ้นไปเฝ้าพระบิดา แต่จงไปหาพี่น้องของเราและบอกเขาว่า เรากำลังขึ้นไปเฝ้าพระบิดาของเราและพระบิดาของท่านทั้งหลาย ไปเฝ้าพระเจ้าของเราและพระเจ้าของท่านทั้งหลาย” (ยน 20:17) ข้อความนี้แสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างพระสิริรุ่งโรจน์ของพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพกับพระสิริรุ่งโรจน์ของพระคริสตเจ้าผู้ทรงได้รับศักดิ์ศรียกย่องให้   ประทับเบื้องขวาของพระบิดา การเสด็จสู่สวรรค์จึงเป็นทั้งเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์และเหตุการณ์โลกุตระที่หมายถึงการข้ามจากสภาพหนึ่งไปยังอีกสภาพหนึ่งด้วย


ยน 20:17 จงไปหาพี่น้องของเรา : เพื่อทำให้แผนการของพระบิดาสำเร็จไป พระคริสตเจ้าประทานปัจฉิมโอวาทแก่บรรดาอัครสาวกแล้วจึงเสด็จสู่สวรรค์ และดังนี้พระจิตเจ้าจึงเสด็จมาอยู่เหนือพวกเขา เฉพาะเมื่อพระคริสตเจ้าได้กลับไปหาพระบิดาแล้วเท่านั้น พระองค์จึงจะพาเรากลับไปหาพระบิดาด้วยเช่นกัน เมื่อการไถ่กู้ได้สำเร็จบริบูรณ์แล้ว จึงมีความเป็นไปได้ที่จะมีส่วนร่วมในชีวิตของพระคริสตเจ้า ผ่านทางพระหรรษทานอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งจะทำให้เรากลายเป็นลูกของพระเจ้าและรับมรดกแห่งชีวิตนิรันดร พระบิดาของเราและพระบิดาของท่าน พระคริสตเจ้าและบรรดาผู้ที่เชื่อในพระองค์จะมีพระบิดาองค์เดียวกันอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม พระคริสตเจ้าเป็นพระบุตรของพระเจ้าโดยธรรมชาติ และพวกเราคือบุตรบุญธรรมของพระองค์ โดยทางศีลล้างบาปและพระคุณของพระจิตเจ้า

พระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระเจ้า

  CCC ข้อ 443 ถ้าเปโตรสามารถรับรู้ลักษณะโลกุตระของการที่พระเยซูพระเมสสิยาห์ทรงเป็นบุตรของพระเจ้าได้นั้นก็เพราะว่าพระองค์เองทรงแสดงให้ท่านเห็นอย่างชัดเจน ต่อหน้าสภาซันเฮดรินเมื่อบรรดาผู้กล่าวโทษพระองค์ถามว่า “ดังนั้น ท่านเป็นบุตรของพระเจ้าใช่ไหม?” พระเยซูเจ้าทรงตอบว่า “ท่านพูดเองนะว่าเราเป็น” (ลก 22:70) เป็นเวลานานก่อนหน้านั้นแล้วพระองค์ตรัสว่าทรงเป็น “บุตร” ซึ่งรู้จักพระบิดาแตกต่างจาก “ผู้รับใช้” ซึ่งพระเจ้าทรงเคยส่งมาหาประชากรอิสราเอลก่อนหน้านั้น ทรงอยู่เหนือกว่า บรรดาทูตสวรรค์ พระองค์ทรงแยกการทรงเป็นบุตรของพระเจ้าจากการที่บรรดาสาวกเป็นโดยไม่เคยตรัสเลยว่า “พระบิดาของพวกเรา” นอกจากเพื่อทรงสั่งเขาว่า “ท่านทั้งหลายจงอธิษฐานภาวนาดังนี้ ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย” (มธ 6:9) และยังทรงเน้นความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่าง “พระเจ้าของเราและพระเจ้าของท่านทั้งหลาย” (ยน 20:17)

ความหมายและความสำคัญด้านการไถ่กู้ของการกลับคืนพระชนมชีพ

  CCC ข้อ 654 พระธรรมลํ้าลึกปัสกามีเหตุผลสองประการ พระคริสตเจ้าสิ้นพระชนม์เพื่อช่วยกอบกู้เราให้พ้นจากบาป เมื่อทรงกลับคืนพระชนมชีพพระองค์ก็ทรงเปิดทางให้เราเข้าไปรับชีวิตใหม่ ชีวิตใหม่นี้ก็คือการบันดาลความชอบธรรมโดยเฉพาะ ซึ่งทำให้เรากลับเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้า “พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย […] ฉันใด เราก็จะดำเนินชีวิตแบบใหม่ด้วยฉันนั้น” (รม 6:4) การบันดาลความชอบธรรมประกอบด้วยความตายต่อบาปและการมีส่วนอีกครั้งหนึ่งในพระหรรษทาน การนี้ยังทำให้เราเป็นบุตรบุญธรรม (ของพระเจ้า) อีกด้วยเพราะทำให้มนุษย์กลับเป็นพี่น้องของพระคริสตเจ้าดังที่พระเยซูเจ้าทรงเรียกบรรดาศิษย์หลังจากทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วว่า “จงไปแจ้งข่าวแก่พี่น้องของเรา” (มธ 28:10) พี่น้องไม่ใช่โดยธรรมชาติ แต่เพราะพระหรรษทานที่พระเจ้าประทานให้ เพราะการเป็นบุตรบุญธรรมนี้ทำให้เรามีส่วนร่วมโดยแท้จริงในชีวิตของพระบุตรเพียงพระองค์เดียว ชีวิตนี้ได้รับการเปิดเผยอย่างสมบูรณ์ในการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์

“พระเยซูเจ้าเสด็จสู่สวรรค์ประทับเบื้องขวาพระเจ้า พระบิดาผู้ทรงสรรพานุภาพ”

  CCC ข้อ 660 เราเห็นลักษณะพระสิริรุ่งโรจน์ที่ยังซ่อนเร้นของพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วจากพระวาจาที่ตรัสกับมารีย์ชาวมักดาลาว่า “เรายังไม่ได้ขึ้นไปเฝ้าพระบิดา แต่จงไปหาพี่น้องของเราและบอกเขาว่า เรากำลังขึ้นไปเฝ้าพระบิดาของเราและพระบิดาของท่านทั้งหลาย ไปเฝ้าพระเจ้าของเราและพระเจ้าของท่านทั้งหลาย” (ยน 20:17) ข้อความนี้แสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างพระสิริรุ่งโรจน์ของพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพกับพระสิริรุ่งโรจน์ของพระคริสตเจ้า ผู้ทรงได้รับศักดิ์ศรียกย่องให้ประทับเบื้องขวาของพระบิดา การเสด็จสู่สวรรค์จึงเป็นทั้งเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์และเหตุการณ์โลกุตระที่หมายถึงการข้ามจากสภาพหนึ่งไปยังอีกสภาพหนึ่งด้วย

“พระองค์สถิตในสวรรค์”

  CCC ข้อ 2795 สัญลักษณ์ของสวรรค์ชวนให้เราหันไปคิดถึงพระธรรมล้ำลึกเรื่องพันธสัญญาที่เราดำเนินชีวิตอยู่เมื่อเราอธิษฐานภาวนาต่อพระบิดาของเรา พระองค์สถิตในสวรรค์ ที่ประทับของพระองค์ บ้านของพระบิดาจึงเป็น “บ้านเกิดเมืองนอน” ของเรา บาปทำให้เราถูกเนรเทศจากแผ่นดินแห่งพันธสัญญาและการกลับใจทำให้เรากลับไปหาพระบิดา กลับไปสวรรค์ ดังนั้นสวรรค์และแผ่นดินจึงคืนดีกันในพระคริสตเจ้า เพราะพระบุตร “ได้เสด็จลงมาจากสวรรค์” เพียงพระองค์เดียว และพระองค์ทรงบันดาลให้เราไปสวรรค์พร้อมกับพระองค์ อาศัยไม้กางเขน การกลับคืนพระชนมชีพ และการเสด็จสู่สวรรค์ของพระองค์

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)