แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ สมโภชพระจิตเจ้า

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 14:15-26)                                                                                                      

เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสว่า “ถ้าท่านทั้งหลายรักเรา ท่านจะปฏิบัติตามบทบัญญัติของเรา และเราจะวอนขอพระบิดา แล้วพระองค์จะประทานผู้ช่วยเหลืออีกองค์หนึ่งให้ท่าน เพื่อจะอยู่กับท่านตลอดไป คือพระจิตแห่งความจริง ซึ่งโลกรับไว้ไม่ได้เพราะมองพระองค์ไม่เห็น และไม่รู้จักพระองค์ แต่ท่านทั้งหลายรู้จักพระองค์ เพราะพระองค์ทรงดำรงอยู่กับท่าน และอยู่ในท่าน เราจะไม่ทิ้งท่านทั้งหลายให้เป็นกำพร้า เราจะกลับมาหาท่าน ในไม่ช้า โลกจะไม่เห็นเรา แต่ท่านทั้งหลายจะเห็นเรา เพราะเรามีชีวิตและท่านก็จะมีชีวิตด้วย ในวันนั้นท่านจะรู้ว่า เราอยู่ในพระบิดาของเรา ท่านอยู่ในเรา และเราอยู่ในท่าน ผู้ที่มีบทบัญญัติของเราและปฏิบัติตาม ผู้นั้นรักเรา และผู้ที่รักเรา พระบิดาของเราก็จะทรงรักเขา และเราเองก็จะรักเขา และจะแสดงตนแก่เขา” 

ยูดาส มิใช่ยูดาส อิสคาริโอท ทูลพระองค์ว่า “พระเจ้าข้า ทำไมพระองค์ทรงต้องการแสดงพระองค์แก่พวกเรา แต่ไม่แสดงพระองค์แก่โลก” พระเยซูเจ้าตรัสตอบเขาว่า “ผู้ใดรักเรา ผู้นั้นจะปฏิบัติตามวาจาของเรา พระบิดาของเราจะทรงรักเขา พระบิดาจะเสด็จพร้อมกับเรามาหาเขา จะทรงพำนักอยู่กับเขา ผู้ที่ไม่รักเรา ก็ไม่ปฏิบัติตามวาจาของเรา วาจาที่ท่านได้ยินนี้ไม่ใช่วาจาของเรา แต่เป็นของพระบิดา ผู้ทรงส่งเรามา เราบอกสิ่งเหล่านี้ให้ท่านฟัง ขณะที่เรายังอยู่กับท่าน แต่พระผู้ช่วยเหลือคือพระจิตเจ้า ที่พระบิดาจะทรงส่งมาในนามของเรานั้นจะทรงสอนท่านทุกสิ่ง และจะทรงให้ท่านระลึกถึงทุกสิ่งที่เราเคยบอกท่าน 


ยน 14:15-31  สอนท่านทุกสิ่ง : พระคริสตเจ้าทรงสัญญาว่าพระบิดาจะทรงส่งพระจิตเจ้ามาเหนือบรรดาอัครสาวกเพื่อช่วยพวกเขาให้จดจำทุกสิ่งที่พระคริสตเจ้าทรงกระทำและทรงสอนได้ บรรดาผู้รักพระคริสตเจ้าก็จะได้รับความรักจากพระบิดาด้วยเช่นกันและจะกลายเป็นพระวิหารของพระจิตเจ้า พวกอัครสาวกได้เข้าใจสิ่งเหล่านี้เพียงเล็กน้อยแต่พระจิตเจ้าจะประทานปรีชาญาณและความกล้าหาญให้แก่พวกเขาหลังจากที่พระทรมาน การสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าได้สำเร็จไปแล้ว   

พันธกิจต่อเนื่องกันของพระบุตรและพระจิตเจ้า    

CCC ข้อ 690 พระเยซูทรงเป็นพระคริสตเจ้า “พระผู้ทรงรับเจิม” เพราะพระจิตเจ้าทรงเจิมพระองค์ และไม่ว่าอะไรที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ทรงรับสภาพมนุษย์ ก็ล้วนหลั่งไหลมาจากความบริบูรณ์นี้ ในที่สุด เมื่อพระคริสตเจ้าทรงได้รับพระสิริรุ่งโรจน์แล้ว พระองค์ก็จะประทับอยู่กับพระบิดาและสามารถส่งพระจิตเจ้ามายังผู้ที่เชื่อในพระองค์ได้ด้วย พระจิตเจ้าจะทรงแบ่งปันพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์แก่เขา ซึ่งหมายถึงพระจิตเจ้าผู้ประทานพระสิริรุ่งโรจน์แก่พระคริสตเจ้า ตั้งแต่นี้ไป พันธกิจร่วมกัน(ของพระคริสตเจ้าและของพระจิตเจ้า)ก็จะครอบคลุมทุกคนที่พระบิดาทรงรับเป็นบุตรบุญธรรมร่วมอยู่ในพระกาย(ทิพย์)ของพระบุตร การส่งพระจิตการรับเป็นบุตรบุญธรรมจะเป็นการรวมมนุษย์กับพระคริสตเจ้าและทำให้เขามีชีวิตในพระองค์

“การเจิมหมายความว่า....เราต้องคิดว่าไม่มีช่องว่างระหว่างพระบุตรกับพระจิตเจ้า เช่นเดียวกับไม่มีช่องว่างที่เรารู้สึกหรือคิดได้คั่นกลางอยู่ระหว่างผิวหนังกับน้ำมันที่เจิม ดังนั้นผู้ที่อยากจะสัมผัสกับพระคริสตเจ้าด้วยความเชื่อ จึงต้องเข้าไปสัมผัสกับน้ำมันที่เจิมเสียก่อน เพราะไม่มีส่วนใดของร่างกายที่ไม่สัมผัสกับพระจิตเจ้า ดังนั้น การจะประกาศว่าพระบุตรทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าจึงเกิดขึ้นได้จากผู้ที่รับพระจิตเจ้า พระองค์เสด็จจากทุกทิศมายังทุกคนที่เข้ามาหาพระองค์”  

พระวิหารแท้จริงของพระเจ้า

CCC ข้อ 1197 พระคริสตเจ้าทรงเป็นพระวิหารแท้จริงของพระเจ้า “เป็นที่ประทับแห่งพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์” อาศัยพระหรรษทานของพระเจ้า บรรดาคริสตชนก็กลายเป็นพระวิหารของพระจิตเจ้าเป็นศิลาที่มีชีวิตสร้างขึ้นเป็นพระศาสนจักร  

การให้ความเคารพนับถือต่อผู้ตาย

CCC ข้อ 2300 เราต้องจัดการกับศพของผู้ตายด้วยความเคารพและความรักโดยมีความเชื่อและความหวังในการกลับคืนชีพ การฝังศพผู้ตายเป็นงานแสดงความเมตตากรุณาด้านร่างกาย การกระทำเช่นนี้เป็นการให้เกียรติแก่บรรดาบุตรของพระเจ้าและวิหารของพระจิตเจ้า  

“เชิญเสด็จมา ข้าแต่พระจิตเจ้า”

CCC ข้อ 2671 รูปแบบการวอนขอพระจิตเจ้าตามธรรมประเพณีคือการวอนขอพระบิดาให้ประทานพระจิตเจ้าพระผู้บรรเทาให้เราผ่านทางพระคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา พระเยซูเจ้าทรงย้ำถึงการวอนขอนี้ในพระนามของพระองค์โดยเฉพาะเมื่อทรงสัญญาจะประทานพระจิตแห่งความจริงเป็นพระพรพิเศษแก่เรา แต่บทภาวนาถึงพระจิตเจ้าแบบซื่อ ๆ และโดยตรงที่สุดยังเป็นบทภาวนาที่ใช้กันมาเป็นธรรมประเพณี “เชิญเสด็จมา ข้าแต่พระจิตเจ้า” และธรรมประเพณีทางพิธีกรรมแต่ละธรรมประเพณีก็ยังขยายความบทนี้ในบทลำนำและบทเพลงสรรเสริญต่างๆ ด้วย เช่น “เชิญเสด็จมา ข้าแต่พระจิตเจ้า เชิญเสด็จมาสถิตในดวงใจสัตบุรุษ และทรงบันดาลให้ลุกร้อนด้วยไฟความรักของพระองค์” “ข้าแต่พระราชาแห่งสวรรค์ พระผู้ทรงบรรเทา พระจิตแห่งความจริง พระผู้ประทับอยู่ทั่วทุกแห่ง ทรงเติมเต็มทุกสิ่ง ข้าแต่ขุมทรัพย์แห่งความดีและบ่อเกิดแห่งชีวิต เชิญเสด็จมาประทับอยู่ในข้าพเจ้าทั้งหลาย โปรดทรงชำระข้าพเจ้าทั้งหลายให้ปลอดจากความแปดเปื้อน และทรงช่วยวิญญาณข้าพเจ้าทั้งหลายให้รอดพ้น พระองค์ผู้ทรงความดีทุกประการ”  


ยน 14:15  ถ้าท่านทั้งหลายรักเรา ท่านจะปฏิบัติตามบทบัญญัติของเรา : ความรักมิใช่เป็นเพียงคำพูดหรือความรู้สึกจากภายในเท่านั้น แต่เป็นความรักแท้จริงซึ่งแสดงออกด้วยการปฏิบัติ พระบัญญัติเหล่านี้ที่พระคริสตเจ้าทรงกล่าวถึงประกอบกันเป็นสาส์นแห่งพระวรสารทั้งครบ    

พระบัญญัติสิบประการในธรรมประเพณีของพระศาสนจักร

CCC ข้อ 2068 สภาสังคายนาแห่งเมืองเตร็นท์สอนว่าบรรดาคริสตชนและมนุษย์ที่ได้รับความชอบธรรมยังจำเป็นต้องปฏิบัติตามพระบัญญัติสิบประการนี้ สภาสังคายนาวาติกันที่ 2 ยังกล่าวย้ำอีกว่า “บรรดาพระสังฆราช ในฐานะผู้สืบตำแหน่งต่อจากบรรดาอัครสาวก ได้รับพันธกิจจากองค์พระผู้เป็นเจ้า […] ให้ไปสอนนานาชาติและประกาศข่าวดีให้มนุษย์ทั้งปวง เพื่อว่ามนุษย์ทุกคน อาศัยความเชื่อ ศีลล้างบาป และการปฏิบัติตามพระบัญญัติ จะได้บรรลุถึงความรอดพ้น” 

“ถ้าไม่มีเรา ท่านก็ทำอะไรไม่ได้เลย”

CCC ข้อ 2074 พระเยซูเจ้าตรัสว่า “เราเป็นเถาองุ่น ท่านทั้งหลายเป็นกิ่งก้าน ผู้ที่ดำรงอยู่ในเรา และเราดำรงอยู่ในเขา ก็ย่อมเกิดผลมาก เพราะถ้าไม่มีเรา ท่านก็ทำอะไรไม่ได้เลย” (ยน 15:5) ผลที่พระวาจานี้กล่าวถึงก็คือความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตที่เกิดจากความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้า เมื่อเราเชื่อในพระเยซูคริสตเจ้า ร่วมสัมพันธ์กับพระธรรมล้ำลึกของพระองค์และปฏิบัติตามพระบัญชาของพระองค์ พระองค์พระผู้ไถ่ก็เสด็จมาพบพระบิดาและพี่น้องของพระองค์ มารักพระบิดาและพี่น้องของเราในตัวเรา  เดชะพระจิตเจ้า พระบุคคลของพระองค์กลับเป็นกฎปฏิบัติที่มีชีวิตชีวาในตัวเรา “นี่คือบทบัญญัติของเรา ให้ท่านทั้งหลายรักกัน เหมือนดังที่เรารักท่าน” (ยน 15:12)  

แนวทางปฏิบัติ

CCC ข้อ 2075 “ข้าพเจ้าต้องทำความดีอะไรเพื่อจะมีชีวิตนิรันดร” – “ถ้าท่านอยากเข้าสู่ชีวิตนิรันดร ก็จงปฏิบัติตามบทบัญญัติเถิด”  


ยน 14:16-17  ผู้ช่วยเหลือ : ในบางครั้งคำนี้แปลว่า “ทนายผู้แก้ต่าง” ซึ่งแปลตามตัวอักษรว่า “ผู้ถูกเรียกให้มาอยู่ข้างตนเอง” พระจิตเจ้าทรงช่วยเหลือดังผู้วิงวอนแทนต่อพระเจ้า ผู้ทรงเป็นบ่อเกิดแห่งพลังในความเชื่อ และสอนให้รู้จักความจริง  พระองค์ทรงดำรงอยู่กับท่าน และอยู่ในท่าน : พระจิตเจ้าประทับอยู่และทรงปฏิบัติงานในพระศาสนจักรทั้งในแบบกลุ่มชนและในสมาชิกแต่ละคน ดังนี้จึงสามารถเรียกทั้งพระศาสนจักรและผู้รับศีลล้างบาปแต่ละคนได้ว่า “พระวิหารของพระจิตเจ้า” (เทียบ ยน 14:23) ด้วยการเป็นที่พำนักนี้เองผู้ที่มีความเชื่อในพระคริสตเจ้าจึงรู้จักพระจิตเจ้าเป็นอย่างดี บทเสริมของพิธีกรรมในวันเปนเตกอสเตจะรวมบทภาวนาอัญเชิญพระจิตเจ้าอยู่ด้วยคือ “เชิญเสด็จมาเถิด ข้าแต่พระจิตเจ้า โปรดทรงส่องแสงสว่างของพระองค์มาจากฟ้าสวรรค์”  

“ข้าพเจ้าเชื่อในพระจิตเจ้า”

CCC ข้อ 687 “ไม่มีผู้ใดล่วงรู้ถึงความคิดของพระเจ้า นอกจากพระจิตของพระเจ้า” (1 คร 2:11) บัดนี้พระจิตผู้ทรงเปิดเผยพระเจ้า ทรงเปิดเผยให้เรารู้จักพระคริสตเจ้า พระวจนาตถ์ทรงชีวิตของพระองค์ แต่มิได้ทรงสำแดงพระองค์เอง “พระองค์ตรัสทางประกาศก” ทรงบันดาลให้เราได้ยินพระวจนาตถ์ (หรือ “พระวาจา”) ของพระบิดา แต่เราไม่ได้ยินองค์พระจิตเจ้า เรารู้จักพระองค์เพียงในความเคลื่อนไหวที่ทรงใช้เพื่อเปิดเผยพระวจนาตถ์แก่เรา และเตรียมเราไว้เพื่อรับพระวจนาตถ์ด้วยความเชื่อ พระจิตแห่งความจริงผู้ “ทรงเปิดเผย” พระคริสตเจ้าแก่เรา  ไม่ตรัสโดยพระองค์เองการที่ทรงปิดบังพระเทวภาพของพระองค์เช่นนี้อธิบายให้เข้าใจว่าทำไม “โลกจึงรับพระองค์ไว้ไม่ได้ เพราะไม่เห็นพระองค์และไม่รู้จักพระองค์” แต่ผู้ที่เชื่อในพระคริสตเจ้านั้นรู้จักพระองค์ เพราะพระองค์ทรงดำรงอยู่กับเขา (ยน 14:17)  

พระนามอื่นของพระจิตเจ้า

CCC ข้อ 692 เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสล่วงหน้าและทรงสัญญาถึงการเสด็จมาของพระจิตเจ้า พระองค์ทรงเรียกพระจิตเจ้าว่า “Parakletos” ซึ่งแปลตามรากศัพท์ได้ว่า “ผู้ถูกเรียกให้มาช่วย” หรือ “ผู้ถูกเรียกให้มาอยู่ใกล้ๆ” (ภาษาละตินว่า “ad-vocatus”) (ยน 14:16,26; 16:7) คำ “parakletos” นี้มักจะแปลกันว่า “ผู้บรรเทา” (หรือ “ทนายแก้ต่าง”) และพระเยซูเจ้าก็ทรงเป็น “ผู้บรรเทา” (หรือ “ทนายแก้ต่าง”) คนแรก องค์พระผู้เป็นเจ้ายังทรงเรียกพระจิตเจ้าอีกว่า “พระจิตแห่งความจริง” 

พระเยซูคริสตเจ้า

CCC ข้อ 729  เมื่อถึงเวลาที่พระเยซูเจ้าจะทรงรับพระสิริรุ่งโรจน์เท่านั้น พระองค์ทรงสัญญาว่าพระจิตเจ้าจะเสด็จมา ทั้งนี้ก็เพราะว่าการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพจะเป็นการทำให้พระสัญญาแก่บรรดาบรรพบุรุษเป็นความจริง พระบิดาจะประทานพระจิตแห่งความจริง “พระผู้ช่วยเหลือ” (Parakletos) อีกองค์หนึ่งตามคำอธิษฐานของพระเยซูเจ้า พระบิดาจะประทานพระองค์ในพระนามของพระเยซูเจ้า พระเยซูเจ้าจะทรงส่งพระองค์มาจากพระบิดา เพราะพระองค์ทรงสืบเนื่องมาจากพระบิดา พระจิตเจ้าจะเสด็จมา เราจะรู้จักพระองค์ พระองค์จะอยู่กับเราตลอดไป จะทรงพำนักอยู่กับเรา จะทรงสอนทุกสิ่งแก่เรา และจะทรงช่วยให้เราระลึกถึงทุกสิ่งที่พระเยซูเจ้าได้ตรัสไว้และจะทรงเป็นพยานถึงพระองค์ พระจิตเจ้าจะทรงนำเราไปพบความจริงทุกข้อและจะทรงบันดาลให้พระคริสตเจ้าทรงรับพระสิริรุ่งโรจน์ พระองค์จะทรงแสดงให้โลกเห็นความหมายของบาป ของความถูกต้อง และของการตัดสิน 

ดำเนินชีวิตในความจริง

CCC ข้อ 2466 ความจริงของพระเจ้าปรากฏชัดเจนอย่างสมบูรณ์ในพระเยซูคริสตเจ้า พระองค์ทรงเปี่ยมด้วยพระหรรษทานและความจริงทรงเป็น “แสงสว่างส่องโลก” (ยน 8:12) พระองค์ทรงเป็นความจริง ทุกคนที่เชื่อในพระองค์ไม่อยู่ในความมืด ศิษย์ของพระเยซูเจ้ายึดมั่นในพระวาจาของพระองค์เพื่อจะรู้ความจริงซึ่งจะช่วยให้เป็นอิสระและบันดาลให้ศักดิ์สิทธิ์ การติดตามพระเยซูเจ้าเป็นการดำเนินชีวิตเดชะพระจิตเจ้าแห่งความจริงที่พระบิดาทรงส่งมาในพระนามของพระองค์ผู้ทรงนำเราไปสู่ความจริงทั้งมวล” (ยน 16:13) พระเยซูเจ้าทรงสอนบรรดาศิษย์ให้รักความจริงโดยไม่มีเงื่อนไข “ท่านจงกล่าวเพียงว่า ‘ใช่’ หรือ ‘ไม่ใช่’” (มธ 5:37) 

พระเยซูเจ้าทรงสอนให้อธิษฐานภาวนา

CCC ข้อ 2615 ยิ่งกว่านั้น เมื่อการอธิษฐานภาวนาของเรารวมกับการอธิษฐานภาวนาของพระเยซูเจ้าแล้ว พระบิดายังประทาน “ผู้ช่วยเหลืออีกองค์หนึ่ง […] เพื่อจะอยู่กับท่านตลอดไป คือพระจิตแห่งความจริง” (ยน 14:16-17) มิติใหม่ประการนี้ของการอธิษฐานภาวนาและเงื่อนไขปรากฏให้เห็นอยู่ตลอดคำปราศรัยอำลาของพระเยซูเจ้า ในพระจิตเจ้า การอธิษฐานภาวนาของคริสตชนเป็นความสัมพันธ์ความรักกับพระบิดา ไม่เพียงผ่านทางพระคริสตเจ้าเท่านั้น แต่ยังในพระองค์อีกด้วย “จนถึงบัดนี้ ท่านยังไม่ได้ขอสิ่งใดในนามของเราเลย จงขอเถิด แล้วท่านจะได้รับ เพื่อความยินดีของท่านจะสมบูรณ์” (ยน 16:24)  


ยน 14:18  เราจะไม่ทิ้งท่านทั้งหลายให้เป็นกำพร้า เราจะกลับมาหาท่าน : การประทับอยู่ฝ่ายจิตของพระคริสตเจ้ายังคงอยู่ในโลกนี้ต่อไปแม้หลังจากการเสด็จสู่สวรรค์ พระองค์ประทับอยู่ในพระศาสนจักร ในพระวาจา ในพิธีกรรม ในการภาวนาส่วนรวม และในศาสนบริกรสงฆ์ แต่โดยวิธีพิเศษหนึ่งเดียวพระองค์ประทับอยู่ด้วยพระวรกายและพระโลหิต พระวิญญาณและพระเทวภาพในศีลมหาสนิทภายใต้รูปปรากฏของปังและเหล้าองุ่นซึ่งถูกเก็บรักษาไว้ภายในตู้ศีลของทุกวัดคาทอลิก  

  ความสัมพันธ์ของเรากับพระธรรมล้ำลึกของพระเยซูเจ้า      

CCC ข้อ 521 พระคริสตเจ้าทรงบันดาลให้เราดำเนินชีวิตของเราในพระองค์ดังที่พระองค์ทรงดำเนิน และพระองค์ทรงดำเนินพระชนมชีพในเรา “โดยการรับสภาพเป็นมนุษย์ เราอาจกล่าวได้ว่าพระบุตรของพระเจ้าทรงร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับมนุษย์แต่ละคน” เราได้รับเรียกเพื่อให้มาเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ พระองค์ทรงทำให้เราเป็นเสมือนส่วนต่างๆ แห่งพระวรกายของพระองค์  เราจะได้มีส่วนร่วมการที่ทรงดำเนินพระชนมชีพในสภาพมนุษย์เพื่อเราและเป็นตัวอย่างของเรา “เราต้องพยายามทำให้สถานะและพระธรรมล้ำลึกของพระเยซูเจ้าสำเร็จเป็นจริงในตัวเรา และวอนขอพระองค์บ่อยๆ ให้พระธรรมล้ำลึกเหล่านี้สำเร็จเป็นจริงอย่างสมบูรณ์ในตัวเราและในพระศาสนจักรสากล.....เพราะพระบุตรของพระเจ้าทรงประสงค์ให้เราและพระศาสนจักรทั้งหมดมีส่วนในพระธรรมล้ำลึกเหล่านี้และทำให้พระธรรมล้ำลึกนี้แผ่ขยายไปในตัวเราและทั่วพระศาสนจักร...โดยพระหรรษทานที่ทรงประสงค์ประทานแก่เราเพื่อเราจะได้ทำให้พระธรรมล้ำลึกนี้บังเกิดผลตามพระประสงค์”  

พระศาสนจักรเป็นการร่วมชีวิตกับพระเยซูเจ้า

CCC ข้อ 788 เมื่อพระเยซูเจ้าไม่ทรงอยู่กับบรรดาศิษย์อย่างที่เราแลเห็นได้แล้ว พระองค์ก็มิได้ทรงละทิ้งเขาให้เป็นกำพร้า พระองค์ทรงสัญญาว่าจะทรงอยู่กับเขาตราบจนสิ้นพิภพ ทรงส่งพระจิตของพระองค์มาให้เขา ดังนี้ ความสัมพันธ์กับพระเยซูเจ้าก็ยิ่งจะเข้มข้นยิ่งขึ้น “เมื่อประทานพระจิตของพระองค์แก่เขา พระองค์ก็ทรงแต่งตั้งบรรดาพี่น้องที่ทรงเรียกมาจากนานาชาติ ให้เป็นเสมือนพระกายทิพย์ของพระองค์”  


ยน 14:22-23  โลกรู้จักพระคริสตเจ้าก็จริง แต่ผู้รู้จักพระคริสตเจ้าอย่างใกล้ชิดนั้นคือผู้ที่ตอบรับพระองค์ด้วยความรัก พระองค์ทรงเป็นความไพบูลย์ของการเปิดเผยของพระเจ้า และด้วยแสงสว่างแห่งความเชื่อเราสามารถเข้าใจถึงความจริงแห่งความเป็นพระเจ้าของพระองค์ได้  ยูดาส มิใช่ยูดาส อิสคาริโอท : พระวรสารฉบับอื่นใส่ชื่อว่ายูดาส อัครสาวกหรือธัดเดอัสเพื่อแยกว่าเขาไม่ใช่ยูดาสผู้ทรยศ   

พระราชกิจของพระเจ้าและพันธกิจของพระตรีเอกภาพ    

CCC ข้อ 260 จุดประสงค์สูงสุดของแผนการณ์กอบกู้ทั้งหมดของพระเจ้าคือการที่สิ่งสร้างทั้งปวงเข้ามารวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระตรีเอกภาพอย่างสมบูรณ์ แต่ทว่าตั้งแต่บัดนี้แล้วเราได้รับเรียกมาให้พระตรีเอกภาพประทับอยู่ด้วย เพราะองค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสว่า “ผู้ใดรักเรา ผู้นั้นจะปฏิบัติตามวาจาของเรา พระบิดาของเราจะทรงรักเขา พระบิดาจะเสด็จพร้อมกับเรามาหาเขา จะทรงพำนักอยู่กับเขา” (ยน 14:23) “ข้าแต่พระเจ้าของข้าพเจ้า พระตรีเอกภาพที่ข้าพเจ้ากราบนมัสการ โปรดช่วยข้าพเจ้าให้ลืมตนเองอย่างสมบูรณ์เพื่อจะวางตนในพระองค์ได้อย่างมั่นคงและมั่นใจประหนึ่งว่าวิญญาณข้าพเจ้าอยู่ในนิรันดรภาพแล้ว ขออย่าให้สิ่งใดมารบกวนสันติของข้าพเจ้าและดึงข้าพเจ้าไปจากพระองค์ ข้าแต่พระเจ้าของข้าพเจ้าผู้ไม่ทรงเปลี่ยนแปลง แต่ขอให้เวลาทุกขณะนำข้าพเจ้าเข้าในพระธรรมล้ำลึกของพระองค์ลึกซึ้งยิ่งขึ้น โปรดบันดาลให้วิญญาณข้าพเจ้าอยู่ในสันติ โปรดให้วิญญาณข้าพเจ้าเป็นสวรรค์ของพระองค์ เป็นที่ประทับซึ่งทรงรักของพระองค์ เป็นที่พักผ่อนของพระองค์ โปรดอย่าให้ข้าพเจ้าทอดทิ้งพระองค์ไว้โดดเดี่ยวที่นั่นเลย แต่ขอให้ข้าพเจ้าอยู่ที่นั่นกับพระองค์อย่างสมบูรณ์ ให้ข้าพเจ้าตื่นเฝ้าพระองค์อย่างสมบูรณ์ด้วยความเชื่อ กราบนมัสการพระองค์อย่างสมบูรณ์ มอบตนเองให้ทรงเนรมิตสร้างอย่างสมบูรณ์”  

การกลับคืนพระชนมชีพเป็นเหตุการณ์โลกุตระ (transcendent event) 

CCC ข้อ 647 เพลงประกาศสมโภชปัสกาคืนวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ที่ขึ้นต้นเป็นภาษาละตินว่า “Exsultet”ขับร้องว่า “คืนนี้ช่างเป็นคืนแสนสุขแท้ เป็นคืนเดียวที่ได้รับพระพรให้รู้กำหนดเวลาที่พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพจากแดนผู้ตาย”อันที่จริง ไม่มีผู้ใดเป็นพยานที่เห็นการกลับคืนพระชนมชีพโดยตรงและไม่มีผู้นิพนธ์พระวรสารท่านใดกล่าวถึงรายละเอียดของเหตุการณ์นี้ ไม่มีผู้ใดกล่าวได้ว่าพระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพอย่างไร ประสาทสัมผัสของเรายิ่งไม่อาจเข้าถึงสาระสำคัญที่สุดของเหตุการณ์นี้ คือการผ่านไปยังชีวิตอีกแบบหนึ่งได้เลย การกลับคืนพระชนมชีพเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เห็นได้จากเครื่องหมายที่ว่าพระคูหาว่างเปล่าและบรรดาอัครสาวกพบพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพได้แล้วจริงๆ ถึงกระนั้น เหตุการณ์นี้ก็ยังอยู่เหนือและยิ่งใหญ่กว่าประวัติศาสตร์ ยังคงเป็นหัวใจของธรรมล้ำลึกแห่งความเชื่ออยู่ต่อไป เพราะเหตุนี้  พระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วจึงไม่ทรงสำแดงพระองค์แก่โลก แต่ทรงสำแดงพระองค์แก่บรรดาศิษย์ “แก่ผู้ที่เดินทางจากแคว้นกาลิลีมายังกรุงเยรูซาเล็มพร้อมกับพระองค์ และบัดนี้เขาทั้งหลายเป็นพยานยืนยันถึงพระองค์ต่อหน้าประชาชน” (กจ 13:31)    

CCC ข้อ 2615 อ่านเพิ่มเติมด้านบน (ยน 14:16-17)    


ยน 14:23  เราจะ... พำนักอยู่กับเขา : ผู้ที่รักพระคริสตเจ้าและปฏิบัติพระบัญญัติของพระองค์ พระตรีเอกภาพจะพำนักอยู่ในวิญญาณของเขาโดยอาศัยพระหรรษทาน ด้วยเหตุผลนี้เองร่างกายของเราจึงถูกเรียกว่าพระวิหารของพระจิตเจ้า   

CCC ข้อ 260 อ่านเพิ่มเติมด้านบน (ยน 14:22-23)   

CCC ข้อ 2615 อ่านเพิ่มเติมด้านบน (ยน 14:16-17)    

   


ยน 14:26  ห้าสิบวันหลังจากที่พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพจากความตาย พระจิตเจ้าได้เสด็จมาเหนือบรรดาอัครสาวกในวันเปนเตกอสเต พระองค์ทรงส่องสว่างและสั่งสอนพวกเขาเกี่ยวกับทุกสิ่งที่พวกเขายังเข้าใจไม่ชัดเจนในระหว่างการปฏิบัติศาสนบริการของพระคริสตเจ้า ประทานพละกำลังแก่พวกเขาในการอธิบายและเทศน์สอนพระวาจาของพระเจ้า ประทานความอดทนและกำลังใจในการเผชิญหน้ากับการเบียดเบียนและความยากลำบาก อำนาจสั่งสอนของพระศาสนจักรอยู่ภายใต้การนำของพระจิตเจ้า ดังนั้นพระวรสารของพระคริสตเจ้าที่ถูกเทศน์สอนจึงสอดคล้องกับพระดำริของพระองค์โดยปราศจากความผิดพลั้งใดๆ สำหรับทุกยุคทุกสมัย โดยทางพระศาสนจักรพระจิตเจ้าทรงทำให้พระคริสตเจ้าประทับอยู่และทำให้การพลีบูชาแห่งความรอดพ้นในพิธีกรรมกลับกลายเป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศีลมหาสนิท   

อำนาจสอนของพระศาสนจักร (Magisterium Ecclesiae)

CCC ข้อ 85 “หน้าที่ที่จะตีความหมายพระวาจาของพระเจ้าที่บันทึกไว้และที่ได้รับถ่ายทอดต่อกันมาทางวาจาได้อย่างถูกต้องนั้น พระศาสนจักรผู้มีอำนาจสอนเท่านั้นได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่นี้ และใช้อำนาจนี้ในพระนามของพระเยซูคริสตเจ้า” ซึ่งได้แก่พระสังฆราชที่มีความสัมพันธ์กับพระสังฆราชแห่งกรุงโรมผู้สืบตำแหน่งของนักบุญเปโตร     

CCC ข้อ 86 “อำนาจสั่งสอนนี้มิได้อยู่เหนือพระวาจาของพระเจ้า แต่รับใช้พระวาจา สอนแต่ความจริงที่ได้รับถ่ายทอดมา ในฐานะที่ความจริงนี้ได้รับมอบมาจากพระเจ้าโดยมีพระจิตเจ้าทรงช่วยเหลือ ผู้มีอำนาจสอนจึงต้องรับฟังพระวาจาด้วยความศรัทธา เก็บรักษาพระวาจาไว้ด้วยความเคารพ และอธิบายพระวาจาด้วยความซื่อสัตย์ และตักตวงเอาความจริงทุกข้อจากคลังแห่งความเชื่อหนึ่งเดียวนี้มาแสดงให้เห็นว่าเป็นข้อความจริงที่พระเจ้าทรงเผยให้เราต้องเชื่อ”   

CCC ข้อ 87 บรรดาผู้มีความเชื่อซึ่งระลึกถึงพระวาจาที่พระคริสตเจ้าตรัสกับบรรดาอัครสาวกว่า “ผู้ใดฟังท่าน ผู้นั้นฟังเรา” (ลก 10:16) ยอมรับคำสั่งสอนและกฎเกณฑ์ที่บรรดาผู้อภิบาลมอบให้เขาในรูปแบบต่างๆ อย่างว่านอนสอนง่าย    

พระจิตเจ้าทรงเปิดเผยพระบิดาและพระบุตร

CCC ข้อ 243 ก่อนฉลองปัสกา พระเยซูเจ้าทรงแจ้งให้บรรดาสาวกรู้ว่าพระองค์จะทรงส่ง “พระผู้บรรเทา” (หรือ “พระผู้แก้ต่าง”) มา คือพระจิตเจ้า พระจิตเจ้าพระองค์นี้ซึ่งทรงปฏิบัติพระภารกิจตั้งแต่ทรงเนรมิตสร้างโลกแล้ว หลังจากนั้นยัง “ดำรัสทางประกาศก”[47] บัดนี้พระจิตเจ้าจะประทับอยู่กับและในบรรดาศิษย์ เพื่อทรงสอนพวกเขา และนำเขา “ไปสู่ความจริงทั้งมวล” (ยน 16:13) ดังนั้น พระจิตเจ้าจึงทรงเป็นอีกพระบุคคลหนึ่งที่ทรงได้รับการเปิดเผยว่าทรงมีความสัมพันธ์กับพระเยซูเจ้าและกับพระบิดา    

CCC ข้อ 244 จุดเริ่มนิรันดรของพระจิตเจ้าได้รับการเปิดเผยจากการที่พระองค์ท่านถูกส่งมาในกาลเวลา พระบิดาทรงส่งพระจิตเจ้ามายังบรรดาอัครสาวกและพระศาสนจักรในพระนามของพระบุตรและจากองค์พระบุตรโดยตรงหลังจากที่พระบุตรเสด็จกลับไปหาพระบิดาแล้ว การส่งพระบุคคลของพระจิตเจ้าลงมาหลังจากที่พระเยซูเจ้าทรงได้รับพระสิริรุ่งโรจน์แล้วเป็นการเปิดเผยพระธรรมล้ำลึกเรื่องพระตรีเอกภาพโดยสมบูรณ์    

พันธกิจของพระจิตเจ้า

CCC ข้อ 263 พันธกิจของพระจิตเจ้า ซึ่งพระบิดาทรงส่งมาในพระนามของพระบุตรและพระบุตรทรงส่งมา “จากพระบิดา” (ยน 15:26) คือทรงเปิดเผยว่าทรงเป็นพระเจ้าหนึ่งเดียวกันกับ พระบิดาและพระบุตร “ทรงรับการถวายสักการะและพระสิริรุ่งโรจน์ร่วมกับพระบิดาและพระบุตร”    

พระเยซูคริสตเจ้า

CCC ข้อ 729 เมื่อถึงเวลาที่พระเยซูเจ้าจะทรงรับพระสิริรุ่งโรจน์เท่านั้น พระองค์ทรงสัญญาว่าพระจิตเจ้าจะเสด็จมา ทั้งนี้ก็เพราะว่าการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพจะเป็นการทำให้พระสัญญาแก่บรรดาบรรพบุรุษเป็นความจริง พระบิดาจะประทานพระจิตแห่งความจริง “พระผู้ช่วยเหลือ” (Parakletos) อีกองค์หนึ่งตามคำอธิษฐานของพระเยซูเจ้า พระบิดาจะประทานพระองค์ในพระนามของพระเยซูเจ้า พระเยซูเจ้าจะทรงส่งพระองค์มาจากพระบิดา เพราะพระองค์ทรงสืบเนื่องมาจากพระบิดา พระจิตเจ้าจะเสด็จมา เราจะรู้จักพระองค์ พระองค์จะอยู่กับเราตลอดไป จะทรงพำนักอยู่กับเรา จะทรงสอนทุกสิ่งแก่เรา และจะทรงช่วยให้เราระลึกถึงทุกสิ่งที่พระเยซูเจ้าได้ตรัสไว้และจะทรงเป็นพยานถึงพระองค์ พระจิตเจ้าจะทรงนำเราไปพบความจริงทุกข้อและจะทรงบันดาลให้พระคริสตเจ้าทรงรับพระสิริรุ่งโรจน์ พระองค์จะทรงแสดงให้โลกเห็นความหมายของบาป ของความถูกต้อง และของการตัดสิน   

พระจิตเจ้าทรงเชิญชวนให้ระลึกถึงพระธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้า

CCC ข้อ 1099 พระจิตเจ้าและพระศาสนจักรร่วมงานด้วยกันเพื่อให้พระคริสตเจ้าและผลงานไถ่กู้ของพระองค์ปรากฏในพิธีกรรม พิธีกรรมเป็นการระลึกถึงพระธรรมล้ำลึกแห่งความรอดพ้น โดยเฉพาะพิธีบูชาขอบพระคุณ และคล้ายๆ กันในศีลศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ด้วย พระจิตเจ้าผู้ทรงชีวิตทรงให้พระศาสนจักรระลึกถึงทุกสิ่งที่พระคริสตเจ้าทรงกระทำไว้    

CCC ข้อ 1100  พระวาจาของพระเจ้า ก่อนอื่น พระจิตเจ้าทรงปลุกชุมชนที่ประกอบพิธีกรรมให้ระลึกถึงเหตุการณ์การไถ่กู้ ประทานชีวิตแก่พระวาจาที่รับการประกาศให้เป็นที่ยอมรับและถูกนำมาใช้ในชีวิต “พระคัมภีร์มีความสำคัญอย่างยิ่งในการประกอบพิธีกรรม เพราะพระคัมภีร์เป็นที่มาของบทอ่านที่อ่านและอธิบายในบทเทศน์ และของเพลงสดุดีที่ใช้ขับร้อง คำอธิษฐานภาวนา บทวอนขอ และบทเพลงสรรเสริญในพิธีกรรม ล้วนได้รับแรงบันดาลใจและเจตนารมณ์จากพระคัมภีร์ทั้งสิ้น กิจกรรมและสัญลักษณ์ต่างๆ ในพิธีกรรมก็ได้รับความหมายมาจากพระคัมภีร์ด้วย”   

CCC ข้อ 1101 พระจิตเจ้าประทานความเข้าใจพระวาจาของพระเจ้าด้านจิตใจแก่ผู้อ่านและผู้ฟังตามสภาพจิตใจของเขา อาศัยถ้อยคำ การกระทำและสัญลักษณ์ที่รวมกันเป็นโครงสร้างของการประกอบพิธีกรรม พระจิตเจ้าทรงจัดให้บรรดาผู้มีความเชื่อและศาสนบริกรมีความสัมพันธ์ที่มีชีวิตกับพระคริสตเจ้า พระวจนาตถ์และภาพลักษณ์ของพระบิดา เพื่อความหมายของสิ่งต่างๆ ที่เขาได้ฟัง ได้พิจารณาและกระทำในการประกอบพิธีจะได้ซึมซาบเข้าไปในชีวิต    

การประกอบพิธีศีลสมรส

CCC ข้อ 1623 ธรรมประเพณีของพระศาสนจักรละตินเข้าใจว่าคู่สมรส ในฐานะศาสนบริกรพระหรรษทานของพระคริสตเจ้า เป็นผู้ประกอบพิธีศีลสมรสแก่กันเมื่อแสดงความสมัครของตนต่อหน้าพระศาสนจักร ส่วนในธรรมประเพณีของพระศาสนจักรจารีตตะวันออก พระสงฆ์ – พระสังฆราชหรือพระสงฆ์ – เป็นพยานถึงการแสดงความสมัครใจที่คู่สมรสแสดงให้เห็น แต่การอวยพรจากพระสงฆ์หรือพระสังฆราชก็จำเป็นด้วยเพื่อให้พิธีมีผลใช้บังคับ    

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)