วันพุธ สัปดาห์ที่ 3 เทศกาลปัสกา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 6:35-40)                                                                         

เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสกับเขาว่า “เราเป็นปังแห่งชีวิต ผู้ที่มาหาเราจะไม่หิว และผู้ที่เชื่อในเราจะไม่กระหายอีกเลย เราบอกท่านทั้งหลายแล้วว่า ท่านเห็นเราแล้ว แต่ไม่เชื่อ ทุกคนที่พระบิดาทรงมอบให้เรา จะมาหาเรา และผู้ที่มาหาเรา เราจะไม่ผลักไสไปเลย เพราะเราลงมาจากสวรรค์ มิใช่เพื่อทำตามใจของเรา แต่เพื่อทำตามพระประสงค์ของผู้ทรงส่งเรามา พระประสงค์ของผู้ทรงส่งเรามาก็คือ เราจะไม่สูญเสียผู้ใด ที่พระองค์ทรงมอบให้แก่เรา แต่จะให้ผู้นั้นกลับคืนชีพในวันสุดท้าย พระประสงค์ของพระบิดาของเราก็คือ ทุกคนที่เห็นพระบุตรแล้วเชื่อในพระบุตร จะมีชีวิตนิรันดร และเราจะให้เขากลับคืนชีพในวันสุดท้าย”


ยน 6:26-71 เราเรียกบทเทศน์ของพระคริสตเจ้านี้ว่า “ปาฐกถาเรื่องปังแห่งชีวิต” พระองค์ทรงใช้อัศจรรย์เรื่องการทวีขนมปังเพื่อเปิดเผยว่า พระองค์ทรงเป็นปังแห่งชีวิต ผู้เสด็จมาจากสวรรค์เพื่อหล่อเลี้ยงเราให้มีความเชื่อ ความหวัง และความรัก ทำให้เราร่วมแบ่งปันชีวิตของพระคริสตเจ้าได้อย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น ความศักดิ์สิทธิ์และการเป็นประจักษ์พยานถึงพระวรสารเรียกร้องให้เรามีความรักอย่างร้อนรนและการรับศีลมหาสนิทบ่อยๆ

“โปรดประทานอาหารประจำวันแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายในวันนี้”

  CCC ข้อ 2835 การวอนขอนี้และความรับผิดชอบที่มากับการวอนขอนี้ ยังใช้ได้กับความหิวอีกอย่างหนึ่งที่ทำร้ายชีวิตมนุษย์ “มนุษย์มิได้ดำรงชีวิตด้วยอาหารเท่านั้น แต่ดำรงชีวิตด้วยพระวาจาทุกคำที่ออกจากพระโอษฐ์ของพระเจ้า” (มธ 4:4) นั่นคือด้วยพระวาจาและพระจิตของพระองค์ คริสตชนทุกคนต้องใช้ความพยายามทุกอย่างเพื่อ “ประกาศข่าวดีแก่คนยากจน” ในโลกนี้มีหลายคนที่มีความหิว “ไม่ใช่หิวอาหารหรือหิวน้ำ แต่หิวที่จะฟังพระวาจา” (อมส 8:11)  เพราะฉะนั้น ความหมายพิเศษสำหรับคริสตชนของคำขอข้อสี่นี้จึงหมายถึงอาหารสำหรับชีวิต นั่นคือพระวาจาของพระเจ้าที่จะต้องรับด้วยความเชื่อ และพระกายของพระคริสตเจ้าที่เรารับในศีลมหาสนิท

  CCC ข้อ 2836 “ในวันนี้” ยังเป็นข้อความที่หมายถึงความไว้วางใจที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงสอนเราเราไม่อาจสรุปเรื่องนี้ได้เอง เพราะเกี่ยวข้องโดยเฉพาะกับพระวาจาและพระกายของพระบุตรของพระองค์ วลี “วันนี้” วลีนี้ไม่หมายความถึงเพียงเวลาของเราที่รู้จักตาย แต่เป็น “วันนี้” ของพระเจ้า “ถ้าท่านรับ (อาหารนี้) ทุกวัน ‘ทุกวัน’ ก็คือ ‘วันนี้’ สำหรับท่าน ถ้าพระคริสตเจ้าเป็นของท่าน ‘วันนี้’ พระองค์ก็ทรงกลับคืนพระชนมชีพสำหรับท่าน ‘ทุกวัน’ การนี้เป็นไปได้อย่างไร ‘ท่านเป็นบุตรของเรา วันนี้เราให้กำเนิดท่านแล้ว’ (สดด 2:7) ดังนั้น ‘วันนี้’ ก็คือวันที่พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพ”

  CCC ข้อ 2837  “ประจำวัน” คำนี้ในภาษากรีกว่า ‘epiousion’ ไม่มีใช้ที่อื่นในพันธสัญญาใหม่ ในความหมายบอกเวลา คำนี้เป็นการย้ำวลี “วันนี้” เพื่อย้ำให้เรายึดมั่นในความไว้วางใจ (ต่อพระเจ้า) “โดยไม่มีข้อยกเว้น” แต่ถ้าเข้าใจในความหมายเชิงคุณภาพก็หมายถึงสิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิต และมีความหมายกว้างกว่าสิ่งที่เพียงพอเพื่อการดำรงชีพ ถ้าเข้าใจความหมายตามตัวอักษร (epiousion = เหนือจำเป็น [super-substantiale, super-essential]) จึงมีความหมายโดยตรงถึงอาหาร (ที่จำเป็นสำหรับ) เลี้ยงชีวิต นั่นคือพระกายของพระคริสตเจ้า “โอสถบันดาลความไม่รู้จักตาย” ซึ่งถ้าไม่มี เราจะมีชีวิตในตัวเราไม่ได้ ในที่สุด ถ้านำคำนี้มารวมกับคำที่อยู่ก่อนหน้านั้น ความหมายเกี่ยวกับเมืองสวรรค์ก็ย่อมชัดเจน “วัน” ที่กล่าวถึงนี้ก็คือ “วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า” วัน “งานเลี้ยงของพระอาณาจักร” ที่ถูกกล่าวถึงล่วงหน้าแล้วในศีลมหาสนิท (หรือ “พิธีบูชาขอบพระคุณ”) ซึ่งเป็นการชิมลางของพระอาณาจักรที่จะมาถึง เพราะเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องถวายบูชาขอบพระคุณ “ทุกๆ วัน”

“ดังนั้น ศีลมหาสนิทจึงเป็นอาหารประจำวันของเรา […] พลังที่มาจากอาหารนี้ก็คือเอกภาพ เพื่อให้เราที่มารวมกันในพระกายของพระองค์ กลายเป็นส่วนพระวรกายของพระองค์ เป็นสิ่งที่เรารับมา […] และสิ่งที่ท่านได้ยินทุกๆ วันในวัด ก็เป็นอาหารประจำวัน และบทเพลงสรรเสริญที่ท่านได้ยินและเรียนรู้ก็เป็นอาหารประจำวันด้วย ทุกสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเดินทางของเราในโลกนี้” 

พระบิดาในสวรรค์ทรงเตือนพวกเราให้เป็นเสมือนบุตรเมืองสวรรค์ วอนขออาหารจากสวรรค์ พระคริสตเจ้า “ผู้ทรงเป็นอาหารที่หว่านไว้ในพระนางพรหมจารี ฟูขึ้นในร่างกาย ถูกนวดในพระทรมาน ถูกอบในพระคูหาเหมือนในเตาอบ ได้รับการปรุงรสในวัดต่างๆ ถูกนำมาวางไว้บนพระแท่นบูชาเป็นดังอาหารจากสวรรค์ทุกๆ วันสำหรับผู้มีความเชื่อทั้งหลาย”

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)