แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันจันทร์ สัปดาห์ที่ 1 เทศกาลมหาพรต 

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว (มธ 25:31-46)                                    

เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสกับบรรดาอัครสาวกว่า “เมื่อบุตรแห่งมนุษย์จะเสด็จมาในพระสิริรุ่งโรจน์พร้อมกับบรรดาทูตสวรรค์ พระองค์จะประทับเหนือพระบัลลังก์อันรุ่งโรจน์ บรรดาประชาชาติจะมาชุมนุมกันเฉพาะพระพักตร์ พระองค์จะทรงแยกเขาออกเป็นสองพวก ดังคนเลี้ยงแกะแยกแกะออกจากแพะ ให้แกะอยู่เบื้องขวา ส่วนแพะอยู่เบื้องซ้าย แล้วพระมหากษัตริย์จะตรัสแก่ผู้ที่อยู่เบื้องขวาว่า ‘เชิญมาเถิด ท่านทั้งหลายที่ได้รับพระพรจากพระบิดาของเรา เชิญมารับอาณาจักรเป็นมรดกที่เตรียมไว้ให้ท่านแล้วตั้งแต่สร้างโลก เพราะว่าเมื่อเราหิว ท่านให้เรากิน เรากระหาย ท่านให้เราดื่ม เราเป็นแขกแปลกหน้า ท่านก็ต้อนรับ เราไม่มีเสื้อผ้า ท่านก็ให้เสื้อผ้าแก่เรา เราเจ็บป่วย ท่านก็มาเยี่ยม เราอยู่ในคุก ท่านก็มาหา’

บรรดาผู้ชอบธรรมจะทูลถามว่า ‘พระเจ้าข้า เมื่อใดเล่าข้าพเจ้าทั้งหลายเห็นพระองค์ทรงหิว แล้วถวายพระกระยาหาร หรือทรงกระหาย แล้วถวายให้ทรงดื่ม เมื่อใดเล่าข้าพเจ้าทั้งหลายเห็นพระองค์ทรงเป็นแขกแปลกหน้า แล้วต้อนรับ หรือทรงไม่มีเสื้อผ้า แล้วถวายให้ เมื่อใดเล่าข้าพเจ้าทั้งหลายเห็นพระองค์ประชวรหรือทรงอยู่ในคุกแล้วไปเยี่ยม’ พระมหากษัตริย์จะตรัสตอบว่า ‘เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ท่านทำสิ่งใดต่อพี่น้องผู้ต่ำต้อยที่สุดของเราคนหนึ่ง ท่านก็ทำสิ่งนั้นต่อเรา’

แล้วพระองค์จะตรัสกับพวกที่อยู่เบื้องซ้ายว่า ‘ท่านทั้งหลายที่ถูกสาปแช่ง จงไปให้พ้น ลงไปในไฟนิรันดรที่ได้เตรียมไว้ให้ปีศาจและพรรคพวกของมัน เพราะว่า เมื่อเราหิว ท่านไม่ให้อะไรเรากิน เรากระหาย ท่านไม่ให้อะไรเราดื่ม เราเป็นแขกแปลกหน้า ท่านก็ไม่ต้อนรับ เราไม่มีเสื้อผ้า ท่านก็ไม่ให้เสื้อผ้า เราเจ็บป่วยและอยู่ในคุก ท่านก็ไม่มาเยี่ยม’ พวกนั้นจะทูลถามว่า ‘พระเจ้าข้า เมื่อไรเล่าที่ข้าพเจ้าทั้งหลายเห็นพระองค์ทรงหิว ทรงกระหาย ทรงเป็นแขกแปลกหน้า หรือไม่มีเสื้อผ้า เจ็บป่วย หรืออยู่ในคุก และไม่ได้ช่วยเหลือ’ พระองค์จะตรัสตอบว่า ‘เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ท่านไม่ได้ทำสิ่งใดต่อผู้ต่ำต้อยของเราคนหนึ่งท่านก็ไม่ได้ทำสิ่งนั้นต่อเรา’ แล้วพวกนี้ก็จะไปรับโทษนิรันดร ส่วนผู้ชอบธรรมจะไปรับชีวิตนิรันดร”


มธ 25:31-46 เราเรียกการกระทำเพื่อตอบสนองความจำเป็นของผู้อื่นทั้งฝ่ายร่างกายหรือฝ่ายจิตใจว่า “กิจเมตตา” สิ่งเหล่านี้เป็นการขยายผลของบัญญัติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดข้อที่สองคือ จงรักเพื่อนมนุษย์ อุปมาเรื่องแพะกับแกะนี้ได้มอบบทสอนอันทรงพลังว่า เรามีหน้าที่ช่วยเหลือและดูแลเอาใจใส่ต่อบรรดาผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ อันที่จริง เราจะถูกตัดสินตามการกระทำว่าได้ช่วยเหลือผู้อื่นทั้งในด้านวัตถุและด้านจิตใจมากน้อยเพียงใด ธรรมประเพณีของพระศาสนจักรได้สอนเกี่ยวกับกิจเมตตาฝ่ายกาย 7 ประการ (ให้อาหารแก่ผู้ที่หิวโหย ให้น้ำแก่ผู้กระหาย ให้เสื้อผ้าแก่ผู้ไม่มีนุ่งห่ม ให้ที่พักแก่ผู้ไร้ที่อยู่ เยี่ยมผู้ต้องขัง เยี่ยมผู้ป่วย ร่วมงานฝังศพ) และกิจเมตตาฝ่ายจิต 7 ประการ (ตักเตือนคนบาป สอนคนที่ไม่รู้ ให้คำแนะนำแก่ผู้สงสัย อดทนต่อผู้กระทำผิด ให้อภัยผู้ทำความผิด บรรเทาใจทุกข์ยาก ภาวนาสำหรับผู้เป็นและผู้ตาย)

ความรักต่อผู้ยากไร้

CCC ข้อ 2447 งานเมตตากรุณาเป็นกิจการแสดงความรักที่เราช่วยเหลือเพื่อนพี่น้องของเราเมื่อเขามีความต้องการทางร่างกายและจิตใจ การสั่งสอน ให้คำแนะนำ ปลอบโยน ให้กำลังใจเป็นงานเมตตากรุณาด้านจิตใจ เช่นเดียวกับการให้อภัยและความพากเพียรอดทน งานเมตตากรุณาด้านร่างกายส่วนมากประกอบด้วยการเลี้ยงดูผู้หิวโหย ให้ที่อยู่แก่ผู้ไม่มีที่อาศัย ให้เสื้อผ้าแก่ผู้ไม่มี เยี่ยมเยียนคนเจ็บป่วยและผู้ถูกจองจำ ฝังศพผู้ตาย ในบรรดางานเหล่านี้ การให้ทานแก่ผู้ยากไร้ นับว่าเป็นงานแสดงความรักต่อเพื่อนพี่น้องเป็นพิเศษประการหนึ่ง การทำเช่นนี้ยังเป็นการงานแสดงความยุติธรรมที่พอพระทัยพระเจ้าด้วย  “ใครมีเสื้อสองตัว จงแบ่งตัวหนึ่งให้กับคนที่ไม่มี คนที่มีอาหารก็จงทำเช่นเดียวกัน” (ลก 3:11)  “ถ้าจะให้ดีแล้ว จงให้สิ่งที่อยู่ภายในเป็นทานเถิด แล้วทุกสิ่งก็จะสะอาดสำหรับท่าน” (ลก 11:41) “ถ้าพี่น้องชายหญิงคนใดขัดสนเครื่องนุ่งห่ม และไม่มีอาหารประจำวัน แล้วท่านคนหนึ่งพูดกับเขาว่า ‘จงไปเป็นสุขเถิด ขอให้อบอุ่นและอิ่มเถิด’ แต่มิได้ให้สิ่งที่จำเป็นสำหรับร่างกายแก่เขา จะมีประโยชน์ใดเล่า” (ยก 2:15-16)

พระคริสตเจ้า “กับทูตสวรรค์ทั้งมวลของพระองค์”

CCC ข้อ 331 พระคริสตเจ้าทรงเป็นศูนย์กลางของบรรดาทูตสวรรค์ ทูตสวรรค์เหล่านี้เป็นของพระองค์ “เมื่อบุตรแห่งมนุษย์จะเสด็จมาในพระสิริรุ่งโรจน์พร้อมกับบรรดาทูตสวรรค์...” (มธ 25:31) บรรดาทูตสวรรค์เหล่านี้เป็นของพระองค์ เพราะได้รับการเนรมิตสร้างมาโดยทางพระองค์และในพระองค์ “เพราะสรรพสิ่งทั้งในสวรรค์และบนแผ่นดิน ทั้งที่แลเห็นได้และไม่อาจแลเห็นได้ เทพนิกรบัลลังก์ เทพนิกรนาย เทพนิกรเจ้าและเทพนิกรอำนาจ ล้วนถูกสร้างโดยพระองค์ทั้งสิ้น ทุกสิ่งถูกเนรมิตขึ้นโดยพระองค์และเพื่อพระองค์” (คส 1:16) บรรดาทูตสวรรค์ยังเป็นของพระองค์มากกว่านั้น เพราะพระองค์ทรงสร้างมาให้เป็นผู้ส่งสารแผนการความรอดพ้นที่พระองค์ทรงนำมาให้ “ทูตสวรรค์ทั้งหลายเป็นเพียงจิตที่มีหน้าที่รับใช้พระเจ้า พระองค์ทรงส่งมารับใช้ผู้ที่จะต้องได้รับความรอดพ้นมิใช่หรือ” (ฮบ 1:14)

CCC ข้อ 332 ตั้งแต่การเนรมิตสร้างแล้ว บรรดาทูตสวรรค์ปรากฏอยู่ตลอดช่วงเวลาประวัติศาสตร์ความรอดพ้น คอยแจ้งทั้งจากใกล้และไกลให้มนุษย์รู้ถึงความรอดพ้นและคอยรับใช้ปฏิบัติตามแผนการนี้ของพระเจ้า บรรดาทูตสวรรค์เป็นผู้ปิดสวนอุทยานไม่ให้มนุษย์เข้าไปได้ คอยปกป้องภัยให้โลท คอยช่วยเหลือนางฮาการ์และบุตรให้พ้นภัย ยับยั้งอับราฮัมไว้ไม่ให้ฆ่าบุตร ทำหน้าที่รับใช้พระเจ้าในการประทานธรรมบัญญัติแก่มนุษย์ เป็นผู้นำประชากรของพระเจ้า แจ้งข่าวการเกิด การเรียก คอยช่วยเหลือบรรดาประกาศก นี่เป็นเพียงตัวอย่างบางประการเท่านั้น ในที่สุด ทูตสวรรค์กาเบรียลยังบอกข่าวการเกิดของผู้นำหน้าพระผู้ไถ่ และแจ้งข่าวการประสูติของพระเยซูเจ้าอีกด้วย

เพื่อพิพากษาผู้เป็นและผู้ตาย

CCC ข้อ 678 ในการเทศน์สอนประชาชน พระเยซูเจ้าทรงประกาศถึงการพิพากษาในวาระสุดท้ายตามแบบของบรรดาประกาศก และยอห์นผู้ประกอบพิธีล้าง ในเวลานั้นวิธีดำเนินชีวิตของแต่ละคนและความลับในใจจะถูกเปิดเผยแจ้งชัด เวลานั้น ความไม่เชื่ออย่างผิดๆ ที่คิดว่าพระหรรษทานที่พระเจ้าประทานให้นั้นไม่มีค่าอะไรจะถูกพิพากษาลงโทษ ท่าทีของเราต่อพี่น้องเพื่อนมนุษย์จะเปิดเผยให้เห็นว่าเรารับหรือผลักไสไม่ยอมรับพระหรรษทานและความรักของพระเจ้า ในวันสุดท้าย พระเยซูเจ้าจะตรัสว่า “ท่านทำสิ่งใดต่อพี่น้องผู้ต่ำต้อยที่สุดของเราคนหนึ่ง ท่านก็ทำสิ่งนั้นต่อเรา” (มธ 25:40)

  CCC ข้อ 679 พระคริสตเจ้าทรงเป็นเจ้านายของชีวิตนิรันดร ในฐานะพระผู้กอบกู้โลก พระองค์ทรงมีสิทธิเต็มที่ที่จะพิพากษาการกระทำและความคิดในใจของมนุษย์อย่างเด็ดขาด พระองค์ “ทรงได้สิทธิ” นี้มาโดยไม้กางเขนของพระองค์ พระบิดายัง “ทรงมอบการพิพากษาทั้งหมดให้พระบุตร” ด้วย (ยน 5:22) พระบุตรเสด็จมามิใช่เพื่อตัดสินลงโทษ แต่เพื่อโลกจะได้รับความรอดพ้น และเพื่อประทานชีวิตที่ทรงมีให้ (แก่โลก) ผู้ที่ไม่ยอมรับพระหรรษทานในชีวิตนี้ก็พิพากษาตัดสินตนเองแล้ว เขาจะรับผลตามงานที่เขาทำ และถ้าเขาปฏิเสธไม่ยอมรับพระจิตเจ้าแห่งความรักเขาก็ยังจะตัดสินลงโทษตนเองตลอดนิรันดรด้วย

นรก

CCC ข้อ 1033 เราไม่อาจเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าได้นอกจากเราจะได้เลือกที่จะรักพระองค์โดยอิสระเสรี แต่เราก็ไม่อาจรักพระเจ้าได้ถ้าเราทำบาปหนักผิดต่อพระองค์ ต่อเพื่อนพี่น้องของเรา หรือต่อตัวเราเอง “ผู้ใดไม่มีความรักย่อมดำรงอยู่ในความตาย ทุกคนที่เกลียดชังพี่น้องของตนย่อมเป็นฆาตกร และท่านก็รู้ว่าไม่มีฆาตกรคนใดมีชีวิตนิรันดรอยู่ในตน” (1 ยน 3:14-15) องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเตือนเราว่าเราจะถูกแยกจากพระองค์ถ้าเราละเลยไม่ตอบสนองความต้องการเรื่องสำคัญๆ ของบรรดาผู้ยากจนและผู้ต่ำต้อยซึ่งเป็นพี่น้องของพระองค์ การที่เราตายในบาปหนักโดยไม่ได้เป็นทุกข์กลับใจจากบาปนั้นและไม่ยอมรับความรักทรงพระกรุณาของพระเจ้าหมายความว่า เพราะการเลือกของเราโดยอิสระเสรีเราจะคงแยกจากพระองค์ตลอดนิรันดร สภาพการแยกตนเองจากความสัมพันธ์กับพระเจ้าและกับบรรดาผู้มีความสุขในสวรรค์เช่นนี้ได้ชื่อเรียกว่า “นรก”

  CCC ข้อ 1034 พระเยซูเจ้าตรัสบ่อยๆ ถึง “เกเฮนนา – ขุมไฟที่ไม่รู้จักดับ” ที่สงวนไว้สำหรับผู้ที่ปฏิเสธไม่ยอมเชื่อและกลับใจจนถึงปลายชีวิตของตนเมื่อวิญญาณและร่างกายอาจถูกทำลายได้ พระเยซูเจ้าทรงใช้พระวาจารุนแรงแจ้งว่า “บุตรแห่งมนุษย์จะใช้ทูตสวรรค์มารวบรวม [...] ทุกคนที่ประกอบการอธรรมให้ออกจากพระอาณาจักร แล้วเอาไปทิ้งในกองไฟ” (มธ 13:41-42) และพระองค์จะทรงประกาศคำตัดสินลงโทษ “ท่านทั้งหลายที่ถูกสาปแช่ง จงไปให้พ้น ลงไปในไฟนิรันดร” (มธ 25:41)

CCC ข้อ 1035 คำสอนของพระศาสนจักรยืนยันว่ามีนรกและนรกนี้คงอยู่ตลอดนิรันดร วิญญาณของผู้ที่ตายในสถานภาพบาป หลังจากความตายก็ลงไปในนรกและรับการทรมานของนรก คือ “ไฟนิรันดร” ทันที โทษโดยเฉพาะของนรกอยู่ที่การแยกตลอดนิรันดรจากพระเจ้า ในพระองค์เพียงผู้เดียวเท่านั้นมนุษย์อาจมีชีวิตและความสุขที่เขาถูกเนรมิตสร้างมาเพื่อรับและที่เขาปรารถนาได้

  CCC ข้อ 1036 ข้อความของพระคัมภีร์และคำสอนของพระศาสนจักรเรื่องนรกเป็นการเรียกร้องให้มีความรับผิดชอบที่มนุษย์ต้องใช้อิสรภาพโดยคำนึงถึงชะตากรรมนิรันดรของตน พร้อมกันนั้นยังเป็นการเร่งรัดเชิญชวนให้กลับใจอีกด้วย “จงเข้าทางประตูแคบ เพราะประตูและทางที่นำไปสู่หายนะนั้นกว้างขวาง คนที่เข้าทางนี้มีจำนวนมาก แต่ประตูและทางซึ่งนำไปสู่ชีวิตนั้นคับแคบ คนที่พบทางนี้มีจำนวนน้อย” (มธ 7:13-14) “เนื่องจากว่าเราไม่รู้วันเวลา องค์พระผู้เป็นเจ้าจึงทรงเตือนว่าเราจำเป็นต้องตื่นเฝ้าระวังตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อว่าเมื่อช่วงเวลาชีวิตในโลกนี้ของเราที่มีเพียงครั้งเดียวแล้ว เราจะได้เหมาะสมที่จะได้รับเชิญเข้าไปร่วมงานวิวาห์กับพระองค์และรวมอยู่ในจำนวนของบรรดาผู้ได้รับพระพรจากพระเจ้า ไม่ถูกสั่งเหมือนผู้รับใช้ที่เลวให้ต้องไปอยู่ในไฟนิรันดร ในที่มืดภายนอกที่จะมีแต่การร่ำไห้และขบฟันด้วยความขุ่นเคือง”

CCC ข้อ 1037 พระเจ้าไม่ทรงกำหนดล่วงหน้าไว้ก่อนว่าผู้ใดต้องไปอยู่ในนรก เพราะสำหรับการไปอยู่ในนรกได้นี้จำเป็นต้องมีการจงใจหันเหไปจากพระเจ้า (บาปหนัก) และดื้อดึงอยู่ในสภาพนั้นจนถึงที่สุด ในพิธีกรรมบูชาขอบพระคุณและในบทภาวนาประจำวันของบรรดาผู้มีความเชื่อ พระศาสนจักรวอนขอพระเมตตาของพระเจ้าผู้ไม่ทรงประสงค์ “ให้ผู้ใดต้องพินาศ แต่ทรงประสงค์ให้ทุกคนกลับใจเปลี่ยนวิถีชีวิต” (2 ปต 3:9) “ข้าแต่พระเจ้า โปรดกรุณารับเครื่องบูชานี้ที่ข้าพเจ้าทั้งหลายถวายร่วมกับข้ารับใช้ทั้งมวล โปรดบันดาลให้เกิดสันติสุขในยุคนี้ โปรดช่วยข้าพเจ้าทั้งหลายให้พ้นจากโทษนิรันดร ได้ร่วมอยู่ในจำนวนผู้ได้รับเลือกสรร”

การพิพากษาครั้งสุดท้าย

CCC ข้อ 1038 การกลับคืนชีพของบรรดาผู้ตาย “ทั้งผู้ชอบธรรมและคนอธรรม” (กจ 24:15) จะมาถึงก่อนการพิพากษาครั้งสุดท้าย แล้วจะถึง “เวลาที่ทุกคนในหลุมศพจะได้ยินพระสุรเสียง […] [ของบุตรแห่งมนุษย์] และจะออกมา ผู้ที่ได้ทำความดีจะกลับคืนชีพมารับชีวิตนิรันดร ส่วนผู้ที่ทำความชั่วก็จะกลับคืนชีวิตมารับโทษทัณฑ์” (ยน 5:28-29) แล้วพระคริสตเจ้า “จะเสด็จมาในพระสิริรุ่งโรจน์พร้อมกับบรรดาทูตสวรรค์ […] บรรดาประชาชาติจะมาชุมนุมกันเฉพาะพระพักตร์ พระองค์จะทรงแยกเขาออกเป็นสองพวกดังคนเลี้ยงแกะแยกแกะออกจากแพะ ให้แกะอยู่เบื้องขวา ส่วนแพะอยู่เบื้องซ้าย […] แล้วพวกนี้ก็จะไปรับโทษนิรันดร ส่วนผู้ชอบธรมจะไปรับชีวิตนิรันดร” (มธ 25:31-33,46)

การให้ความสำคัญแก่บุคคลมนุษย์

CCC ข้อ 1932 หน้าที่ทำตนเป็นเพื่อนพี่น้องของผู้อื่นและรับใช้เขาอย่างจริงจังเป็นเรื่องเร่งด่วนยิ่งขึ้น ถ้าเขาต้องการความช่วยเหลือมากขึ้นไม่ว่าเพราะเหตุผลใด “ทุกครั้งที่ท่านทำสิ่งใดต่อพี่น้องผู้ต่ำต้อยที่สุดของเราคนหนึ่ง ท่านก็ทำสิ่งนั้นต่อเรา” (มธ 25:40)

ความต่อผู้ต่ำต้อย

CCC ข้อ 2463 ทำไมเราจึงแลไม่เห็นลาซารัส ยาจกผู้หิวโหยของเรื่องเปรียบเทียบในเพื่อนมนุษย์จำนวนมากที่ไม่มีอาหาร บ้านพัก ที่อยู่อาศัย ทำไมเราจึงไม่ได้ยินพระเยซูเจ้าตรัสว่า “ท่านไม่ได้ทำสิ่งใดต่อผู้ต่ำต้อยของเราคนหนึ่ง ท่านก็ไม่ได้ทำสิ่งนั้นต่อเรา” (มธ 25:45)


มธ 25:31 การเสด็จกลับมาครั้งที่สองของพระคริสตเจ้า การกลับคืนชีพจากความตาย การพิพากษาครั้งสุดท้าย สวรรค์และนรกนิรันดร ล้วนเป็นข้อความเชื่อของพระศาสนจักร

CCC ข้อ 678-379 อ่านเพิ่มเติมด้านบน (มธ 25:31-46)

เพื่อทรงพิพากษาผู้เป็นและผู้ตาย

CCC ข้อ 682 เมื่อพระคริสตเจ้าผู้ทรงพระสิริรุ่งโรจน์เสด็จมาเพื่อทรงพิพากษาผู้เป็นและผู้ตาย พระองค์จะทรงเปิดเผยความคิดลึกลับภายในจิตใจ และจะทรงตอบแทนแก่ทุกคนตามการกระทำของเขา และตามการที่เขายอมรับพระหรรษทานหรือปฏิเสธไม่ยอมรับ 

การพิพากษาครั้งสุดท้าย

CCC ข้อ 1038 อ่านเพิ่มเติมด้านบน (มธ 25:31-46)

CCC ข้อ1039 พระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็นความจริงจะทรงทราบแจ้งชัดถึงความจริงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของมนุษย์แต่ละคนกับพระเจ้า การพิพากษาครั้งสุดท้ายจะเปิดเผยกิจการที่แต่ละคนได้ทำหรือละเว้นไม่ได้ทำตลอดช่วงเวลาของชีวิตในโลกนี้ รวมถึงผลสุดท้ายที่ตามมาด้วย “ทุกสิ่งที่คนชั่วทำและไม่รู้ถูกบันทึกไว้ เมื่อพระเจ้าของเราจะเสด็จมา พระองค์จะไม่ทรงนิ่งเงียบ (สดด 50:3) […] แล้วพระองค์จะทรงหันไปยังผู้ที่อยู่เบื้องซ้าย ตรัสว่า ‘เราได้จัดผู้ต่ำต้อยที่สุดของเราไว้ให้ท่านในโลก เราเป็นศีรษะ เรานั่งอยู่เบื้องขวาพระบิดาในสวรรค์ แต่ร่างกายส่วนต่างๆ ของเรายังลำบากอยู่ในโลกนี้ เขามีความขัดสนในโลก สิ่งใดที่ท่านให้แก่ร่างกายส่วนต่างๆ ของเราคงมาถึงศีรษะด้วย ถ้าท่านรู้ว่าเมื่อเราได้จัดให้ผู้ต่ำต้อยที่สุดของเรามีความขัดสน เราได้แต่งตั้งเขาให้เป็นผู้นำกิจการของท่านมาเก็บไว้ในขุมทรัพย์ของเรา แต่ท่านไม่ได้วางสิ่งใดไว้ในมือของเขาเลย เพราะฉะนั้นท่านจึงไม่ได้พบอะไรต่อหน้าเรา’”

CCC ข้อ 1040 การพิพากษาครั้งสุดท้ายจะเกิดขึ้นเมื่อพระคริสตเจ้าจะเสด็จกลับมาอย่างรุ่งโรจน์ พระบิดาเท่านั้นทรงทราบวันเวลา พระองค์เท่านั้นทรงตัดสินว่าการนี้จะมาถึงเมื่อไร เวลานั้นพระองค์จะทรงประกาศพระวาจาสุดท้ายถึงประวัติศาสตร์ทั้งหมดผ่านทางพระเยซูคริสตเจ้าพระบุตรของพระองค์ เราจะรู้ถึงความหมายสุดท้ายของงานเนรมิตสร้างทั้งหมดและแผนงานการกอบกู้ทั้งหมด และเราจะเข้าใจแนวทางต่างๆ ที่พระญาณเอื้ออาทรของพระองค์ทรงนำทุกสิ่งไปถึงจุดหมายสุดท้าย การพิพากษาครั้งสุดท้ายจะเปิดเผยพระยุติธรรมของพระเจ้าเกี่ยวกับความอยุติธรรมทุกอย่างที่สิ่งสร้างต่างๆ ได้ทำไว้ และเปิดเผยว่าความรักของพระองค์นั้นแข็งแรงกว่าความตาย

CCC ข้อ 1041 การรู้ถึงเรื่องการพิพากษาเชิญชวนให้กลับใจขณะที่พระเจ้ายังประทาน “เวลาที่เหมาะสม” และ “วันแห่งความรอดพ้น” (2 คร 6:2) ให้มนุษย์อยู่อีก ความรู้นี้ชวนให้เกิดความยำเกรงศักดิ์สิทธิ์ต่อพระเจ้า ผลักดันให้สร้างความยุติธรรมเพื่อเข้าในพระอาณาจักรของพระเจ้า ประกาศแจ้ง “ความหวังที่ให้ความสุข” (ทต 2:13) เรื่องการเสด็จกลับมาขององค์พระผู้เป็นเจ้า พระองค์จะเสด็จมา “เพื่อรับพระสิริรุ่งโรจน์ในหมู่ผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ และเพื่อให้ทุกคนที่มีความเชื่อได้ชมพระพักตร์ด้วยความพิศวง” (2 ธส 1:10)


มธ 25:35  เมื่อเราหิว ท่านให้เรากิน... : พระคริสตเจ้าผู้ทรงบังเกิดมาอย่างยากจน และทรงรับความทรมานของมนุษย์ ทรงระบุตัวตนของพระองค์ว่าเป็นผู้ยากจนและขัดสน พระองค์ประทับอยู่ใน “พี่น้องชายหญิงที่ต่ำต้อยที่สุด” ในแบบพิเศษ ความเมตตากรุณาและการดูแลเอาใจใส่ต่อผู้ที่ทนทุกข์ทรมานของพระองค์นั้นยังคงดำเนินต่อไปในชีวิตของบรรดาผู้ติดตามพระองค์

พระแจ้งข่าวดีเรื่องอาณาจักรของพระเจ้า

CCC ข้อ 544 พระอาณาจักรนี้เป็นอาณาจักรของคนยากจนและต่ำต้อย นั่นคือเป็นของคนเหล่านั้นที่รับพระอาณาจักรด้วยจิตใจถ่อมตน พระเจ้าทรงส่งพระเยซูเจ้ามา “ประกาศข่าวดีแก่คนยากจน” (ลก 4:18) พระองค์ทรงประกาศว่าคนเหล่านี้ย่อมเป็นสุข “เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา” (มธ 5:3) พระบิดาทรงโปรดที่จะเปิดเผยเรื่องที่ถูกปิดบังไว้จากผู้มีปรีชาและรอบรู้ให้แก่ “บรรดาผู้ต่ำต้อย” เหล่านี้ พระเยซูเจ้าทรงร่วมชีวิตของผู้ยากจนนับตั้งแต่ทรงสมภพในรางหญ้าจนถึงไม้กางเขน ทรงมีประสบการณ์ความหิวโหย ความกระหาย และความขัดสน ยิ่งกว่านั้น  พระองค์ยังทรงกระทำพระองค์เป็นหนึ่งเดียวกับคนยากจนทุกชนิดและทรงกำหนดให้ความรักต่อคนเหล่านี้เป็นเงื่อนไขที่ผู้หนึ่งจะเข้าในพระอาณาจักรของพระองค์ได้

พระคริสตเจ้าประทับอยู่ในศีลมหาสนิทเดชะพระวาจาและพระอานุภาพของพระจิตเจ้า

CCC ข้อ 1373  “พระคริสตเยซู ผู้สิ้นพระชนม์ ทั้งยังทรงกลับคืนพระชนมชีพ ประทับอยู่เบื้องขวาของพระเจ้า ทรงวอนขอแทนเราอีกด้วย” (รม 8:34) ประทับอยู่หลายแบบในพระศาสนจักรของพระองค์ พระองค์ยังตรัสอีกว่าพระองค์ประทับอยู่เมื่อพระศาสนจักรอธิษฐานภาวนา “ที่ใดมีสองหรือสามคนชุมนุมกันในนามของเรา เราอยู่ที่นั่นในหมู่พวกเขา” (มธ 18:20) พระองค์ยังประทับอยู่ในผู้ยากจน คนเจ็บป่วย ผู้ถูกจองจำ ในศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ที่ทรงเป็นผู้แต่งตั้ง ในพิธีบูชามิสซา และในบุคคลศาสนบริกร แต่ “โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระองค์ประทับอยู่ภายใต้รูปปรากฏของศีลมหาสนิท”

พระคริสตเจ้าทรงเป็นเสมือนนายแพทย์

CCC ข้อ 1503 การที่พระคริสตเจ้าทรงแสดงความเห็นใจต่อคนเจ็บป่วยและทรงรักษาโรคคนเจ็บป่วยชนิดต่างๆ หลายครั้งเป็นเครื่องหมายแสดงให้เห็นชัดเจนว่าพระเจ้าทรงมาเยี่ยมประชากรของพระองค์และพระอาณาจักรของพระเจ้าอยู่ใกล้เต็มทีแล้ว พระเยซูเจ้าไม่ทรงมีแต่เพียงอำนาจบำบัดรักษาเท่านั้น แต่ยังทรงมีอำนาจที่จะอภัยบาปด้วย พระองค์เสด็จมาเพื่อจะทรงบำบัดรักษามนุษย์ทั้งตัว คือทั้งร่างกายและวิญญาณ พระองค์ทรงเป็นนายแพทย์ที่คนเจ็บป่วยต้องการ ความเห็นอกเห็นใจที่ทรงมีต่อทุกคนที่กำลังทนทุกข์ก้าวไปไกลจนทำให้พระองค์ทรงเป็นหนึ่งเดียวกับเขาเหล่านั้น “เราเจ็บป่วย ท่านก็มาเยี่ยม” (มธ 25:36) ตลอดเวลาหลายศตวรรษที่ผ่านมา ความรักของพระองค์เป็นพิเศษต่อคนเจ็บป่วยไม่ได้หยุดยั้งที่จะปลุกให้บรรดาคริสตชนมีความเอาใจใส่เป็นพิเศษต่อผู้ที่ต้องทนทุกข์ทั้งในร่างกายหรือจิตใจ ความพยายามอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยที่จะช่วยเขาเหล่านี้เกิดจากความเอาใจใส่นี้เอง


มธ 25:46  แล้วพวกนี้ก็จะไปรับโทษนิรันดร ...ชีวิตนิรันดร : ถ้าเราไม่สามารถเห็นพระคริสตเจ้าในผู้ที่หิวโหย ผู้ที่ไร้บ้าน ผู้ป่วย ผู้ที่ไม่รู้ และผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ ถ้าหากเราไม่ยอมตอบสนองด้วยความเมตตากรุณาและกิจเมตตาต่างๆแล้ว พระองค์ก็จะไม่ทรงยอมรับเราเป็นสมาชิกในฝูงแกะของพระองค์ด้วยเช่นกันองค์พระผู้เป็นเจ้าของเราทรงทำให้เห็นชัดเจนว่า เราต้องได้รับการตัดสินที่เคร่งครัด สำหรับบาปต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการละเลยการทำความดี

CCC ข้อ 1033 อ่านเพิ่มเติมด้านบน (มธ 25:31-46)

ความรักต่อผู้ยากไร้

CCC ข้อ 2443 พระเจ้าทรงอวยพระพรผู้ให้ความช่วยเหลือต่อผู้ยากไร้และทรงตำหนิผู้ที่ไม่ยอมทำเช่นนี้ “ผู้ใดขออะไรจากท่าน ก็จงให้ อย่าหันหลังให้ผู้ที่มาขอยืมสิ่งใดจากท่าน” (มธ 5:42) “ท่านได้รับมาโดยไม่เสียค่าตอบแทน ก็จงให้เขาโดยไม่รับค่าตอบแทนด้วย” (มธ 10:8) พระเยซูเจ้าจะทรงยอมรับผู้ที่ทรงเลือกสรรจากการที่เขาปฏิบัติต่อผู้ยากจน ในเมื่อการที่ “คนยากจนได้รับการประกาศข่าวดี” (มธ 11:5) เป็นเครื่องหมายการประทับอยู่ของพระคริสตเจ้า

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)