แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

Israel ๑๙๐๙๑๖ 0470 resize

แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ได้จัด “แสวงบุญแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ ณ ประเทศอิสราเอล” ระหว่างวันที่ 7 - 14 กันยายน 2019 ทำให้พ่อมีโอกาสร่วมเดินทางกับ พระคุณเจ้าสิริพงษ์ จรัสศรี คุณพ่อพงศ์เทพ ประมวลพร้อม คุณพ่อทัศมะ กิจประยูร ผู้จัดการแผนกคริสตศาสนธรรมกรุงเทพ พร้อมกับคณะครูคำสอน พี่น้องสัตบุรุษ และคุณนวลฉวี คู่วิรัตน์ รวม 54 คน ร่วมเดินทางไปด้วยกัน

คืนวันเสาร์ที่ 7 กันยายน 2019 พร้อมกันที่สนามบินสุวรรณภูมิ เดินทาง 11 ชั่วโมงถึงสนามบินเบนกูเรียน กรุงเทลอาวิฟ ประเทศอิสราเอล เวลาประมาณ 7 โมงเช้า แต่เมืองไทยประมาณ 11 โมงเช้า เวลาที่อิสราเอลช้ากว่าเมืองไทย 4 ชั่วโมง
กระเป๋าเดินทางของ คุณพ่อ ทัศนะ และครู 2 คน ยังมาไม่ถึงกรุงเทลอาวิฟ

สถานที่แรก ของวันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน 2019 คือ เมือง เอน การิม ถวายมิสซาฉลองแม่พระบังเกิด ณ วัด นักบุญยอหน์ บัปติสต์ เป็นสถานที่แม่พระเสด็จมาเยี่ยมนางเอลีซาเบ็ธ (ลก 1 : 39-46) มีวัดตรงสถานที่เกิดของนักบุญ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 5 แต่สมัยครูเสด ได้ถูกทำลาย วัดปัจจุบันสร้างใน ค.ศ. 1885  มีนักบวชคณะฟรันซิสกันดูแล ที่กำแพงมีบทมักนีฟีกัต หลายภาษาครับ

ตำบลเบธานี
หลังอาหารเที่ยงเราเดินทาง 1 ชั่วโมง ทางตะวันออกของกรุงเยรูซาเล็ม ประมาณ 3 กิโลเมตร เยี่ยมบ้านของ ลาซารัส มาร์ธา และมารีย์ (ลก 10 : 38-42) เราดูที่หีบน้ำมันมะกอก เป็นหีบไม่ใหญ่มาก พ่ออ่าน (ยน 11 : 1-44) เรื่องพระเยซูทำอัศจรรย์ ให้ลาซารัสกลับคืนชีพ พระเยซูเจ้าทรงรักครอบครัวนี้มาก
พ่อนำพระคัมภีร์และหนังสือ 2 เล่มเรื่อง แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ โดยคุณพ่อ วรยุทธ กิจบำรุง (ค.ศ. 2002)   และเหตุเกิดที่แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ โดยคุณพ่อ อนุชา ไชยเดช (พ.ศ. 2553 / ค.ศ. 2010)  ติดตัวมาด้วยครับ
5 โมงเย็นเข้าที่พัก Jerusalem Gate Hotel คืนนี้นอนหลับสบายแน่ครับ เพราะบนเครื่องนั่งหลับ 11 ชั่วโมงไม่สบาย
สุขสันติสุขแด่ทุกคน ที่ฉลองวันเกิดแม่พระ มีแม่พระเป็นผู้อุปถัมภ์ และซิสตอร์คณะมารีอา บัมปีน่า ครับ

ฟ. วีระ อาภรณ์รัตน์
จากเยรูซาเล็ม

ทุกวันใหม่ มีพระสัญญา
วันจันทร์ที่ 9 กันยายน 2019 เช้าวันใหม่ สมาชิกทั้ง 54 คน ขับร้องเพลง “พระสัญญา” ขอบคุณพระเจ้า และถวายครอบครัว ที่เมืองไทยในพระพร

วัดนักบุญอันนา
มารดาของแม่พระ เป็นสถานที่เกิดของแม่พระ มีธงชาติฝรั่งเศสโบกสะพัด เพราะกษัตริย์นโปเลียนที่ 3 ช่วยทำสงคราม ใน ค.ศ. 1856 จึงได้รับการบูรณะ และมอบให้ “คณะ White Fathers” ดูแล คุณพ่อ มาจากคานาดา พูดฝรั่งเศส และอังกฤษ

สระน้ำเบเธสดา (บ้านแห่งความเมตตา)
ที่พระเยซูเจ้าทรงทำอัศจรรย์ รักษาคนพิการ 38 ปี ที่ชาวยิวสมัยนั้น เชื่อว่า เมื่อน้ำกระเพื่อม แสดงว่าเทวดาลงมา ใครลงไปคนแรก จะหายจากโรคภัยไข้เจ็บ (ยน 5 : 1-9)

สถาบัน Ecce Homo
อยู่บนทางที่พระเยซูเจ้าแบบไม้กางเขน (Via Dolorosa) สถานที่ 1 ทรงถูกตัดสินประหารชีวิต เราถวายมิสซาที่นี่ เวลา 11:00 น. พระคุณเจ้า สิริพงษ์ เป็นประธาน และคุณพ่อ พงศ์เทพ นำเดินรูป 14 ภาคในวัด รำพึงได้ 11 ภาคต้องจบเพราะตอน 12:00 น. มีอีกกลุ่มหนึ่งมารอถวายมิสซาเหมือนกันครับ
ซ. มาการ์แรต อธิการบ้าน (คณะซิสเตอร์แห่งซีออน) มากล่าวต้อนรับ และเป็นที่ ที่คุณพ่อ สมเกียรติ ตรีนิกร พาหลายคนมาพัก และศึกษาพระคัมภีร์ที่นี่
เราพบ คุณพ่อ อธุวัช สิงห์สา มาเรียน 1 เดือนที่นี่ด้วย
หลังอาหารเที่ยง เราเดินไปตามทางที่ พระเยซูเจ้าทรงแบกไม้กางเขน จนถึงกัลวาลีโอ มีขายของพื้นเมือง แต่หยุดซื้อไม่ได้ เพราะต้องใช้เวลามาก

วัดพระคูหาศักดิ์สิทธิ์
มีผู้จารึกแสวงบุญจากอิตาลี และหลายแห่งต้องไปเข้าแถวรอ 1 ชั่วโมง เพื่อเข้าไปนมัสการและภาวนา
และไปบนเนิน ตรงสถานที่ถูกตรึงกางเขน เห็นรูปแม่พระมหาทุกข์ และลงมาตรงสถานที่วางพระศพ (ก่อนจะนำไปไว้ในพระคูหา)
แต่ละสถานที่ อยู่ในความดูแล ของนิกายคอปติก อาร์มีเนี่ยน เอธิโอเปียน คาทอลิก
เรามาถ่ายรูปตรงบันไดหน้าวัด และนั่งพักเอาแรง ดูผู้คนจากที่ต่างๆ มาแสวงบุญที่นี่

กำแพงร้องไห้
เป็นสักการะสถานของชาวยิว พวกเขาไม่มีวิหาร มีแต่ศาลาธรรม เพราะวิหารถูกทำลาย และส่วนวิหารเดิม อยู่ในเขตของชาวมุสลิม
เวลาเข้าไป ต้องแยก ชาย-หญิง พ่อชอบไปดูพวกเขาอ่านพระคัมภีร์ มีพระคัมภีร์เยอะมาก ให้อ่าน และสะดวก
วันนี้เราเดินเยอะมาก แต่เราเดินกันหลายคน มีแบ่งเป็นกลุ่มย่อยๆ เพื่อดูแลกัน ไม่ให้ใครหลงทาง เดินช้า เดินเร็ว ก็เดินไปด้วยกัน ไม่มีใครหลง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ฟ. วีระ อาภรณ์รัตน์
เยรูซาเล็ม - เบธเลเฮม

วันอังคารที่ 10 กันยายน 2019
ชีวิตเป็นพระพร เมื่อขึ้นรถ ออกเดินทาง เราร้องเพลงพระสัญญา และเดินทางขึ้นเนินเขาศิโยน
1. มุ่งหน้าสู่ วัดแม่พระนิทรา “Church of Dormition” หรือเรียก วัดแม่พระบรรทม (ตามคำแปลของ คุณพ่อวรยุทธ) ระลึกถึงการสิ้นใจของแม่พระ
มีบางคน ถามว่า แม่พระสิ้นใจ ราวอายุเท่าไหร่? น่าจะราว 50 ปี นะครับ

2. ห้องอาหารค่ำมื้อสุดท้าย
พระเยซูเจ้าทรงตั้งศีลมหาสนิท ศีลบวช และ กจ 1 : 13  กล่าวว่า บรรดาอัครสาวก ขึ้นไปยัง “ห้องชั้นบน” ในวันเปนเตกอสเต วันเกิดของพระศาสนจักร เราอ่านพระคัมภีร์ตอนนี้ และขอบคุณ “350 ปี มิสซังสยาม”

3. เยี่ยมหลุมศพของดาวิด
ดูชาวยิวสวด และอ่านพระคัมภีร์ เวลาเข้าไป แยกส่วนของผู้ชาย และผู้หญิง ครับ

4. วัดนักบุญเปโตรไก่ขัน
อยู่ตรงสถานที่เคยเป็นบ้านของสมณะคายาฟาส ตามพระวรสาร (มาระโก 14 : 53-72) “ก่อนไก่จะขันสองครั้ง ท่านจะปฏิเสธเราสามครั้ง”

เราลงไปดู ที่คุมขังพระเยซูชั้นล่าง ที่ถูกเยาะเย้ย และทนทรมานทั้งคืน  เรารำพึง บทสดุดีที่ 88 ด้วยกัน ทำให้เข้าใจพระองค์มากขึ้น ซาบซึ้ง...สงสาร...กินใจมาก

5. หลังอาหารเที่ยง เดินทางไปทุ่งของผู้เลี้ยงแกะ ในเขตเมืองเบธเลเฮม (สัมผัสความแตกต่าง ของเขตปกครองชาวยิว และของปาเลสไตน์)
อ่าน ลูกา 2 : 8-20  คนเลี้ยงแกะ

6. วัดนักบุญแคเทอรีน ชาวอเล็กซันเดรีย
พรหมจารีย์ และมรณะสักขี เป็นวัดของผู้นำจารึกแสวงบุญชาวปาเลสไตน์ คุณพ่อพงศ์เทพ เป็นประธานมิสซา เป็นวัดของเราคาทอลิก คณะฟรังซิสกัน ดูแล

หน้าวัด มีรูปนักบุญเยโรม เกิด ค.ศ. 347 เป็นผู้แปลพระคัมภีร์ จากภาษากรีก และภาษาฮีบรู เป็นภาษาละติน เพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจง่ายขึ้น ท่านเสียชีวิต วันที่ 30 กันยายน ค.ศ. 420 ปีหน้า จึงครบ 1600 ปีมรณกรรมของท่าน ผู้กล่าวว่า “การไม่รู้จักพระคัมภีร์ คือ การไม่รู้จักพระคริสตเจ้า”

7. วัดพระกุมารบังเกิด
อยู่ในความดูแล ของนิกายกรีก ออร์โธดอกซ์ เราต้องเข้าแถวรอคิว เข้าไปนมัสการ ตรงที่พระเยซูเจ้าทรงบังเกิด เค้าทำเป็นดาว ที่พื้นใต้พระแท่น

8. บ่ายวันนี้ เรามีโอกาสไปซื้อศาสนภัณฑ์ ร้านสหกรณ์ของคาทอลิก ประมาณ 55 ครอบครัว เพื่อช่วยเหลือพวกเขาด้วย จะได้ทำศาสนภัณฑ์ และขายได้...อยู่ได้ พวกเราหาของฝากจากเบธเลเฮม... กลับบ้าน

เย็นวันนี้ คุณนวลฉวี จัดของขวัญวันเกิดให้ คุณวรล อินทะสันตา และคุณจิโรจน์ แจ่มฤกษ์แจ้งโดยมี คุณพ่อพงศ์เทพ กล่าวอวยพร

ขอบคุณพระ ที่วันนี้เราเห็นว่า ชีวิตเป็นพระพร คุณพ่อพงศ์เทพ เทศน์ว่า เราต้องมีประสบการณ์ตรงในเรื่องนี้ ชีวิตคริสตชน เป็นพระพรแก่กันและกัน

ฟ. วีระ อาภรณ์รัตน์
กรุงเยรูซาเล็ม

เยรูซาเล็ม...ทะเลตาย
วันพุธที่ 11 กันยายน 2019
เราค้างที่เยรูซาเล็ม 3 คืนแล้วครับ ขอบคุณพระเจ้า เมื่อขึ้นรถ ขับร้องเพลง “พระสัญญา”
1. รถโค้ช พาเราไป เบธฟายี สถานที่พระเยซูเจ้า แห่ใบลาน โดยใช้ลูกลา (ลก 19 : 29-38) เพดานเหนือพระแทนมีรูปนี้
ที่กำแพงนอกวัด มีข้อความว่า “การนบนอบแบบตาบอดของพระเยซูเจ้า ต่อพระประสงค์ของพระบิดา เพื่อเข้ากรุงเยรูซาเล็มอย่างสุภาพ ด้วยการนั่งบนหลังลา ทั้งๆที่รู้ว่า การเสด็จอย่างราชาครั้งนี้ จะนำพาพระองค์ ไปถูกตรึงไม้กางเขน การนบนอบแบบตาบอด นำความรอด บนภูเขากลโกธา การนบนอบเช่นนี้ บังเกิดผลมาในสมัยปัจจุบัน”

2. วัดข้าแต่พระบิดา
พระเยซูเจ้าทรงสอนบรรดาศิษย์ ให้สวดบทข้าแต่พระบิดา (ดู มธ 6 : 7-13) ที่กำแพงวัดนี้ มีบทข้าแต่พระบิดา บนผนังวัดที่กำแพงด้านใน เราไปสวดภาษาไทยที่นั่นพร้อมกัน

3. วัดพระเยซูเจ้ากรรแสง
คุณพ่อทัศมะ กิจประยูร เป็นประธานมิสซาในสวนนอกวัด เราทำอะไรให้พระเยซูกรรแสงบ้างไหม จะทำอะไรให้พระองค์ภูมิใจได้

4. เยริโก
นั่งรถลงใต้ไปประมาณ 1 ชั่วโมง ถึงเยริโก มีอินทผาลัม เราเห็นต้นมะเดื่อ เรื่องชาวสะมาเรียใจดี (ลก 10 : 29-37)  ไกด์บอกว่า เป็นเมืองเก่าที่สุดในโลกเมืองหนึ่ง อ่านเรื่องของ ศักเคียส (ลก 19 : 1-10)

5. แม่น้ำจอร์แดน
ระลึกถึง นักบุญยอหน์ ทำพิธีล้างให้พระเยซูเจ้า ตอนมีพระชนมายุ ราว 30 พรรษา (ลก 3 : 23)

6. กุมราน (Qumran) หลังอาหารเที่ยง เดินทางต่อไป ชมสถานที่ สมัยนักบุญยอกน์บัปติส เข้ากลุ่มแสวงหา และชำระตนให้บริสุทธิ์ ประมาณ 29 ก่อน ค.ศ.
และเรื่องราวของคนเลี้ยงแพะ ค้นพบไหเก็บม้วนพระคัมภีร์ 8 ใบ ซึ่งเป็นหลักฐานด้านพระคัมภีร์

7. ทะเลตาย (Dead Sea)
อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 1300 ฟุต มีความหนาแน่นเฉพาะมาก 26%  เค็มกว่าน้ำทะเลมาก จนทำให้ไม่มีสิ่งมีชีวิตอยู่เลย และเราลอยตัวบนน้ำได้ แต่ห้ามเข้าตา
เราอยู่จนถึง 6 โมงเย็น และซื้อศาสนภัณฑ์ที่นี่ มากพอสมควร ราคาไม่แพง
 เดินทางกลับโรงแรมเยรูซาเล็ม โดยสวัสดิภาพ

แม่น้ำจอร์แดน เชื่อมทะเลสาบกาลิลี (ภาคเหนือ) มาสู่ทะเลตาย (ภาคใต้) จากน้ำจืด มาสู่ที่ต่ำสุด กลายเป็นน้ำเค็ม...ขออย่าให้ลูกเป็นคนเค็มเลย

ฟ. วีระ อาภรณ์รัตน์
กรุงเยรูซาเล็ม

เยรูซาเล็ม...กาลิลี
วันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน 2019

ชีวิตเป็นพระพร...เป็นการเดินทาง เราออกเดินทางจากเยรูซาเล็ม ขึ้นเหนือ ประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง ถึงกาลิลี

1. อารามของกลุ่มวิถีคริสตชน (Domus Galilaeae)
บ้านกาลิลี เป็นสถานอบรมของ Neo-Cathchume-Nal Way สำหรับบรรดาพระสังฆราช  พระสงฆ์สามเณร และสมาชิก ทันสมัยมาก มีวัตถุประสงค์ สร้างสัมพันธ์ระหว่างชาวคริสต์ และชาวยิว เน้นพระวาจา ศีลมหาสนิท และชุมชน

2. วัดทับกา (Tabgha) สถานที่พระเยซูเจ้าทรงทำอัศจรรย์ ทวีขนมปัง 5 ก้อนปลา 2 ตัว (มก 6 : 35-44)

3. ภูเขาแห่งมหาบุญลาภ (มธ 5 : ลก 6 : 20-26)
สถานที่ทรงสอน ความสุขแท้ 8 ประการ มีคุณค่า เสริมพระบัญญัติ 10 ประการ เราถวายมิสซานอกวัด ลมแรงครับ

4. วัดนักบุญเปโตร
ที่พระเยซูเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพ ทรงประจักษ์ มาหานักบุญเปโตรกับเพื่อนที่จับปลาทั้งคืน ไม่ได้อะไรเลย แต่พระเยซูเจ้า สั่งให้เหวี่ยงแห ตอนเช้า...จับปลาได้ 153 ตัว และที่สุด ทรงถามเปโตรว่า “ท่านรักเราไหม” (ดู ยน 21 : 1-17) ในที่สุด พระองค์ตรัสให้เลี้ยงดูแกะของพระองค์

5. เมืองคาเปอร์นาอุม
เมืองของพระเยซูเจ้า ดังที่นักบุญมัทธิว (เรียกใน มธ 9 : 1) มีสถานที่สำคัญ 2 แห่ง คือ 1. บ้านแม่ยายของเปโตร (ลก 4 : 38-39) 2. ศาลาธรรม (ลก 4 : 33) สร้างตั้งแต่ศตวรรษแรกๆ

6. ล่องเรือในทะเลสาบกาลิลี (45 นาที) เมื่อไปกลางทะเลสาบ ลมยิ่งแรง เราร่วมเต้นเพลงของอิสราเอล 1 เพลง และอ่านพระวรสาร ลูกา 8 : 22-25 เรื่องพระเยซูเจ้าทรงทำให้พายุสงบ ยามใดมีมรสุมชีวิต เราต้องร้องขอให้พระองค์ทรงช่วยครับ

7. เข้าพักที่ Club Hotel Tiberias มีชาวสเปญ ชาวญี่ปุ่น หลายชาติมาแสวงบุญเช่นเดียวกัน

8. ตอนเช้าที่เรานั่งรถมากาลิลี คุณพ่อพงศ์เทพ ได้เชิญ 8-9 คน มาแนะนำตัว และแบ่งปันสิ่งที่ประทับใจใน 3-4 วันนี้ ซึ่งบางคนได้รับศีลล้างบาป ตอนโต ไปเรียนพระคัมภีร์กับคุณพ่อพงศ์เทพ ที่ศูนย์คำสอนกรุงเทพ ได้จัดเป็นประจำ เมื่อมาแสวงบุญในแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ ก็ประทับใจ เข้าใจพระคัมภีร์ยิ่งขึ้น

9. ขอบคุณทุกคน ที่แบ่งปันความประทับใจ ขอให้เราเป็นศิษย์ธรรมทูต และร่วมสร้างอาณาจักรพระเจ้า ณ แผ่นดิน SHALOM

ฟ. วีระ อาภรณ์รัตน์
ทะเลสาบกาลิลี

ภูเขาทาบอร์...นาซาเร็ธ
วันศุกร์ที่ 13 กันยายน 2019
พวกเราชอบที่พัก อาหาร และบรรยากาศที่กาลิลี   มากกว่าที่เยรูซาเล็ม อากาศดี ไม่มีฝน
1. ภูเขาทาบอร์
สูงจากที่ราบ 588 เมตร นั่งรถโค้ชไปประมาณ 35 นาที และรอคิวแท็กซี่ คันละ 10-13 คน วันนี้มีผู้จาริกมาก หลายชาติ หลายภาษา ต่างมุ่งหน้าไปเยี่ยม วัดที่พระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์แก่ เปโตร ยอห์น และยากอบ (ดู ลก 9 : 28-36)  คณะฟรังซิสกันดูแลที่นี่

2. หมู่บ้านคานา
อยู่ไม่ไกลจากนาซาเร็ธ มีชื่อเสียง เพราะพระเยซูเจ้าทรงทำอัศจรรย์ เปลี่ยนน้ำเป็นเหล้าองุ่น (ดู ยน 2 : 1-12)
เราเห็นโอ่งหินใบหนึ่ง จุน้ำได้ประมาณ 100 ลิตร  มีชาวฟิลิปปินส์มาทำพิธีรื้อฟื้นการแต่งงาน ผมจึงเชิญสามี-ภรรยา และคนที่แต่งงานแล้ว มารื้อฟื้นการแต่งงาน และสวดให้พวกเขา “รักกันจนกว่าชีวิตจะหาไม่” แล้วมีโอกาสซื้อศาสนภัณฑ์ และชิมเหล้าองุ่น

3. นาซาเร็ธ
จากคานา ไปนาซาเร็ธไม่นานครับ เป็นเมืองสำคัญของ “ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้า” พระองค์ทรงใช้ชีวิตตลอด 30 ปี ทำงานเป็นช่างไม้ เหมือนนักบุญโยเซฟ เราทานอาหารเที่ยง จึงไปเยี่ยมวัด

4. อาสนวิหารแม่พระรับสาร แบ่งเป็น 2 ส่วน : 1. ถ้ำที่ทูตสวรรค์แจ้งข่าวแด่แม่พระ (ลก 1 : 28-38)  2. วัดใหญ่ชั้นบน คณะฟรังซิสกัน สร้างช่วง ค.ศ. 1960-1968  ใหญ่โต สง่างาม เราถวายมิสซาที่พระแท่นใหญ่ พระคุณเจ้าสิริพงษ์ เป็นประธานพิธี เวลา 15:00 น. ต่อจากเราก็มี 2 กลุ่ม มาจองมิสซาที่นี่ด้วย

5. วัดนักบุญโยเซฟ
อยู่ไม่ไกลจากอาสนวิหาร เราเดินผ่านอาราม บ้านพักของคณะฟรังซิสกัน ไปดูบ้านของนักบุญโยเซฟ และมีวัดสร้างบนสถานที่เดิม ผมดูบอร์ดประชาสัมพันธ์ ตารางมิสซา มีมิสซาภาษาอาหรับด้วย มีสวดสายประคำ มีนมัสการศีลมหาสนิท สัปดาห์ละครั้ง เวลา 20:30-21:30 น.

6. เราเดินทางไปหน้าวัด อาสนวิหาร เพราะมีรูปแม่พระ และศิลปะต่างๆ ติดกำแพง จากประเทศต่างๆ และจากไทยแลนด์ด้วย เราร้องเพลงวันทาพระราชินี (Salve Regina) พร้อมกัน แล้วจึงเดินทางกลับที่พัก

7. คุณนวลฉวี อับรอดทัวร์  ได้ทำเกียรติบัตร รับรองการเดินทางมาแสวงบุญ วันที่ 8-14 กันยายน 2019 ให้ทุกคน เป็นที่ระลึก

8. มีสมาชิกลืมกระเป๋าไว้ที่ร้าน ก่อนขึ้นลง-ทาบอร์  พอมาถึงรถ นึกขึ้นได้ รีบวิ่งกลับไปดูกับคุณนวลฉวี พบว่าทำตกอยู่ใต้โต๊ะ  ซึ่งมีคนมาก อัศจรรย์ที่พบ

9. เราติดตามข่าวดี ที่มีแถลงการเสด็จเยือนไทย ของโป๊ปฟรังซิส วันที่ 20-23 พฤศจิกายน 2019 นี้

ขอบคุณพระเจ้า ที่ทุกคนมีความสุข “ทุกวันใหม่ มีพระสัญญา ทุกเวลา มีความหวัง”

ฟ. วีระ อาภรณ์รัตน์
จากกาลิลี อิสราเอล

14  กันยายน
ฉลองเทิดทูนไม้กางเขน
(The Exaltation of the Holy Cross, feast)

ธรรมล้ำลึกปัสกาของพระเยซูคริสตเจ้าเป็นทั้งแหล่งที่มาและคำมั่นสัญญาของชีวิตนิรันดร และเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ที่สูงส่งที่แฝงไว้ถึงสิริรุ่งโรจน์ของธรรมล้ำลึกทั้งหมดนี้ ก็คือไม้กางเขน ซึ่งแขวนการไถ่ให้รอดของโลกนี้ไว้ ชัยชนะของไม้กางเขนเหนือบาปและความตายถูกรวบยอดอยู่ที่นี่ และทั้งหมดของชัยชนะ ของความยินดีต่อชัยชนะนี่แหละที่พระศาสนจักรทำการเฉลิมฉลองวันนี้

 วันฉลองนี้แต่ต้นเลยรู้กันในชื่อนี้ ซึ่งหมายถึงการยกย่องเชิดชูไม้กางเขน ยังมีนัยหมายถึง "วางไว้บนที่สูง เพราะมีความสำคัญสูงส่ง"  "การยกขึ้น"  การฉลองนี้มีความสำคัญต่อบรรดาผู้มีความเชื่อ 4 ประการด้วยกัน กล่าวคือ

ประการแรก หมายถึง การยกกางเขนขึ้นบนเนินเขากัลวารีโอในวันศุกร์นั้น ซึ่งแม้ว่าจะรวมไว้ด้วยเรื่องการทนทุกข์ทรมานใหญ่หลวง และความอับอาย แต่กระนั้น ก็เป็นการถวายบูชาด้วยความรักที่ทรงมีต่อพระบิดา และด้วยความรักที่พระบิดาทรงมีต่อมวลมนุษย์ การถูกยกตั้งขึ้นสูงเปรียบประดุจว่าพระเยซูเจ้าทรงทำให้ไม้กางเขนเป็นเหมือนธรรมาสน์ที่ทรงเทศนา โดยพระวาจาและพระฉบับแบบ เป็นคำเทศนาที่สะเทือนอารมณ์มากที่สุดตลอดช่วงพระภารกิจบนแผ่นดินนี้ - พระองค์ทรงอภัยและทรงมอบพระองค์ให้ - ทุกๆบาดแผลของพระองค์หลั่งไหลพระหรรษทานออกมา จากด้านข้างพระวรกายทรงให้กำเนิดพระศาสนจักร และก่อนลมหายใจสุดท้ายพระองค์ทรงมอบพระมารดาของพระองค์ให้เป็นของขวัญแก่มวลมนุษยชาติ คือ พระแม่มารีย์ ไม้กางเขนจึงเป็นเครื่องหมายถึงชัยชนะของพระองค์โดยแท้จริง ไม้ในแนวตั้งเชื่อมมนุษย์กับพระเจ้า ไม้ส่วนที่พาดในแนวนอนเชื่อมมนุษย์กับมนุษย์และโดยไม่แยกออกไปจากพระเจ้า

ประการที่สอง หมายถึง การตั้งไม้กางเขนขึ้นในวัดพระคูหาศักดิ์สิทธิ์ซึ่งทำในปี ค.ศ. 326 โดยนักบุญเฮเลนา พระมารดาแห่งพระจักรพรรดิคอนสแตนติน ได้ค้นพบไม้กางเขน 3 อันบนเขากัลวารีโอ อัศจรรย์เกิดขึ้นโดยการให้คนง่อยสัมผัสไม้กางเขนทั้งสาม ช่วยให้พิสูจน์ได้ว่า ไม้กางเขนไหนเป็นกางเขนแท้ของพระเยซูเจ้า ต่อมา พระนางนำกางเขนนั้นมาตั้งไว้ในพระราชวังที่กรุงโรม ซึ่งพระนางได้เปลี่ยนให้กลายเป็นวัดแห่งไม้กางเขนศักดิ์สิทธิ์ ต้องขอบคุณในความพยายามของพระนาง พระธาตุชิ้นส่วนของไม้กางเขนนี้ได้กระจายไปอยู่ในทุกภาคส่วนของอาณาจักรคริสต์  ส่วนหนึ่งของเนื้อไม้กางเขนแท้ถูกเก็บรักษาไว้ในกรุงเยรูซาเล็ม แต่ในปี 614 ชาวเปอร์เซียมารุกราน กษัตริย์เปอร์เซียที่ได้ชัยชนะได้นำพระธาตุไม้กางเขนแท้บรรจุในกล่องเงินไปยังอิหร่าน พอถึงปี 629 เมื่อจักรพรรดิเฮราคลิอุสยึดเปอร์เซียได้ จึงเอาพระธาตุกลับคืนมา ทีแรกไว้ที่กรุงคอนสแตนติโนเปิล ต่อมาไว้ที่กรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งที่นี่มีการตั้งขึ้นเพื่อให้มีการนมัสการอย่างเป็นทางการ ช่วงนี้วันฉลองนี้ก็ถูกนำมารวมไว้กับพระศาสนจักรที่กรุงโรมด้วย

 ประการที่สาม หมายความว่าสัญลักษณ์แห่งชัยชนะของไม้กางเขนในที่สุดแล้วคือการพิพากษาตัดสิน พระเยซูเจ้าได้ตรัสกับนิโคเดมัสว่า "...โมเสสยกรูปงูขึ้นในถิ่นทุรกันดารฉันใด บุตรแห่งมนุษย์ก็จะต้องถูกยกขึ้นฉันนั้น เพื่อทุกคนที่มีความเชื่อในพระองค์ จะมีชีวิตนิรันดร" (ยน 3 : 14-15) ดุจดังเช่นวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ที่ไม้กางเขนได้แบ่งฝูงชนที่อยู่บนเนินเขากัลวาริโอออกเป็น 2 กลุ่ม ก็จะเป็นเช่นนั้นในวันสุดท้าย "เวลานั้น เครื่องหมายของบุตรแห่งมนุษย์จะปรากฏบนท้องฟ้า" (มธ 24 : 30) เราทุกคนจะรู้ว่าที่สำหรับเราจะอยู่ทางขวา หรือทางซ้าย

 ประการสุดท้าย หมายถึงการที่ผู้มีความเชื่อทุกๆคนจะยอมรับไม้กางเขนของพระคริสต์ และการอุทิศตนต่อไม้กางเขนของพระองค์ กางเขนจะมีที่อันสมเกียรติในใจของคริสตชนทุกคน เป็นเสมือนบ้านและสถานสำหรับสักการบูชา ด้วยสำคัญมหากางเขนนี้เราทำก่อนเริ่มต้นกิจการต่างๆ  จริงๆแล้ว เราทำอะไรก็ตาม เราทำโดยมีส่วนร่วมแบกกางเขนของพระคริสตเจ้า และนั่นเองจึงมีส่วนร่วมในการไถ่กู้โลกให้รอด

(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา  หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ  J.K. Mausolfe)

วันเสาร์ที่ 14 - วันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน 2019
มักดาลา...เทลอาวีฟ...สุวรรณภูมิ

เริ่มวันใหม่ เราขอบคุณพระทุกวัน และขับร้องเพลง”พระสัญญา”  วันนี้ฉลองวันเทิดทูนไม้กางเขน  และวันเกิดของคุณจิโรจน์ แจ่มฤกษ์แจ้ง เวลาบ่าย 3 โมง คุณพ่อพงศ์เทพ นำสวด “พระเมตตา”

1. เมืองมักดาลา
เป็นเมืองที่ประชาชนในสมัยพระเยซูเจ้า มีฐานะดี สังเกตุจากซากบ้านเรือน กว้างใหญ่ มีสระในบ้าน นักบุญมารีย์ ชาวมักดาลา ที่โป๊ปฟรังซิส กำหนดให้วันที่ 22 กรกฎาคม เป็นวันฉลอง ให้เกียรตินักบุญสตรีอีกองค์หนึ่ง เพราะเธอมีปีศาจ 7 ตน ดังที่มีอ้างอิงในพระวรสาร (ดู ลก 8 : 2)
แต่เธอก็รักพระเยซูเจ้ามาก และเป็นพยานแรก ถึงการกลับคืนพระชนม์ชีพของพระองค์ จึงมีวัด (สมัยใหม่) สวยงามมาก (ยน 20 : 1-18) สถานที่ตรงนี้ วาติกันกำลังสร้างอาคารที่พักสำหรับผู้แสวงบุญ

2. เมืองไฮฟา - สวนบาไฮ
เดินทางต่อประมาณ 1 ชั่วโมงถึงไฮฟา (ริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียน) เป็นเมืองใหญ่อันดับ 3 ของอิสราเอล และชมสวนบาไฮ ลัทธิใหม่

3. อารามดาราสมุทร (Stella Maris Monastery)
ถวายมิสซาสุดท้ายในอิสราเอล ครั้งนี้ คุณพ่อพงศ์เทพ เป็นประธาน ไม้กางเขน มีพระเมตตาแก่เรา ขอเพียง “ลูกวางใจในพระองค์”

เราเยี่ยมวัด มีสถานที่สำคัญของประกาศกเอลียาห์ แข่งกับบรรดาประกาศกของพระบาอัล 450 คน บนภูเขาการ์เมล (ดู 1 พกษ : 18-19) เราอุดหนุนรูป (แทนจำพวก) แม่พระแห่งภูเขาการ์แมล ไปฝากพี่น้องที่บ้าน

4. เมืองเซซาเรีย เมืองโบราณ
ชมภาพยนตร์สารคดี 10 นาที ตอน 14.15 น. แล้วเดินชมโรงมหรสพโรมันกลางแจ้ง สนามแข่งม้าโบราณ ริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียน กษัตริย์เฮโรด มหาราช เป็นผู้สร้าง กาลเวลาผ่านไป และแผ่นดินไหว 2 ครั้ง ทำให้เหลือซาก เป็นอนุสรณ์ที่เคยยิ่งใหญ่ในอดีต  ของอาณาจักรโรมัน

5. เมืองยัฟฟา (Jaffa)
เป็นเมืองท่าอยู่ในเทลอาวีฟ นักบุญเปโตรเคยมาประกาศข่าวดีที่นี่ ดังที่มีกล่าวในหนังสือกิจการสาวก บทที่ 9-10 ทำให้ทาปิทา กลับมีชีวิต

เราแวะเข้าไปในวัด กำลังมีมิสซาแต่งงานของชาวฟิลิปปินส์ มีชาวฟิลิปปินส์ร่วมพิธี 80-90 คนเห็นจะได้

6. สนามบินเบ็นกูเรียน กรุงเทลอาวิฟ
ในรถ เราขอบคุณพระเจ้า ที่โปรดให้เราปลอดภัย มีความรู้เกี่ยวกับพระคัมภีร์มากขึ้น รักพระวาจากมากขึ้น ขอบคุณกันและกัน ขอบคุณศูนย์คริสตศาสนธรรมกรุงเทพ ที่เปิดโอกาสให้ครูคำสอน 26 คน มาจาริกแสวงบุญครั้งนี้ ตลอดจนพี่น้องอีก 24 คนที่รวมมาจาริกครั้งนี้

เราจัดกระเป๋าคนละ 1 กระเป๋าไม่เกิน 23 กิโลกรัม ยกเว้นของผู้นำกลุ่ม 3 คน ได้คนละ 2 ใบ ใบละ 23 กิโลกรัม ผ่านได้ทุกคน ปลอดภัย ขึ้นเครื่อง 20.20 น. เครื่องบิน AL นำเราถึงสนามบินสุวรรณภูมิ บ้านเรา เวลา 12.30 น. โดยสวัสดิภาพ

7. อิสราเอล ได้ชื่อว่า “Holy Land”
เป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ ที่เกิดของ ศาสนายิว คริสต์ และอิสลาม สำหรับเรา เป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ เพราะพระเยซูเจ้า ผมเชื่อว่าทุกประเทศ เป็นพิเศษ ประเทศไทย เราน่าอยู่กว่า อุดมสมบูรณ์กว่า เขียวสดชื่นกว่า เรามานำคำสอนของพระเยซูเจ้า มาปฏิบัติ ช่วยให้ครอบครัวและชุมชนของเรา ศักดิ์สิทธิ์ เตรียมรับเสด็จโป๊ปฟรังซิสครับ

ฟ. วีระ อาภรณ์รัตน์
กรุงเทพ