แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

0f6b93dd3ac787f5c03a07e605cf35b5เสรีภาพและมโนธรรม
         มนุษย์ไม่ใช่เครื่องจักรหรือเครื่องยนต์ที่จะทำอะไรได้ตามกฎเกณฑ์ที่วางไว้ในตัวของมันทุกอย่างเหมือนกับเครื่องที่ไม่มีน้ำใจของตนเองและความรู้ตัว มนุษย์มีพลังงานตามธรรมชาติที่นำมาใช้เพื่อทำอะไรหลายอย่าง มีความรู้ตัวว่าตนเองกำลังทำอะไร และทำเพื่ออะไร นอกจากนั้นยังมีน้ำใจเสรีที่สามารถเลือกทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ตามที่เขาเห็นชอบอีกด้วย เราคริสตชนรู้ว่าพระเจ้าทรงให้มนุษย์มีเสรีภาพและความสามารถเลือกสิ่งที่ต้องการทำได้ ในเวลาเดียวกันมนุษย์สามารถรู้และเข้าใจเป้าหมายของการกระทำของตน ดังนั้นความเข้าใจนี้ต้องนำมนุษย์ให้ประพฤติอย่างถูกต้อง กล่าวคือ ให้รู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด อะไรชอบธรรม อะไรชั่ว นอกนั้นสามารถรู้ตัวเมื่อได้กระทำดีและเมื่อได้กระทำชั่ว ความสามารถนี้เรียกว่า มโนธรรม (Conscience) มโนธรรมนี้ต้องแนะนำกิจการที่มนุษย์ทำ เพื่อจะให้เป็นกิจการที่ดีที่ถูก ที่เรียบร้อย แล้วต้องให้มนุษย์รู้ตัวและรู้สึกไม่สบายใจเมื่อทำสิ่งที่ชั่ว

     มโนธรรมนี้มีส่วนหนึ่งอยู่ในธรรมชาติของมนุษย์และเป็นพระคุณที่พระเจ้าทรงประทานให้ อีกส่วนหนึ่งมนุษย์สร้างขึ้นเองในใจ คือ มนุษย์เพิ่มความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของตนเอง หน้าที่ของตน ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า ความรู้เกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ช่วยมโนธรรมให้เข้าใจว่า สิ่งใดถูก สิ่งใดผิด ซึ่งได้แนะนำไปในทางที่ถูก ตรงกันข้าม คนใดคนหนึ่งไม่สนใจในการเพิ่มความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของตนและความเป็นอยู่ของตน ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับเพื่อนมนุษย์และกับพระเจ้า มโนธรรมของบุคคลนั้นอาจมืดมัวแลเสื่อมเสียไป ในที่สุดไม่สามารถแนะนำในทางดี และอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้มโนธรรมเสียคือ การยอมทำผิดบ่อยๆ โดยไม่ยอมฟังเสียงของมโนธรรม การที่ดื้อ ไม่ยอมฟังความรู้สึกภายในใจที่เตือนให้รู้ว่าทำผิด มันทำให้เสียงมโนธรรมค่อยๆ ดับไปในที่สุด มีบางคนไปถึงสภาพที่ว่าไม่มีความรู้สึกใดๆ ในการกระทำผิด ผู้อยู่ในสภาพนี้ก็ยากที่จะกลับใจ นอกจากพระเจ้าเท่านั้นจะให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ในบางกรณี ผู้มีนโนธรรมเสียนั้นไม่มีความผิด เช่น คนปัญญาอ่อน คนประสาทเสียหรือคนที่รับคำสอนมาผิดๆ อาจจะทำให้เขาคิดว่าบางสิ่งที่ถูกต้องเป็นความผิดและบางสิ่งที่ผิดกลายเป็นถูก คำสอนที่ผิดนี้อาจจะไม่มาจากอาจารย์หรือผู้สอนโดยเฉพาะ แต่มาจากความคิดทั่วไปของชาติหนึ่งหรือสังคมที่เขาอาศัยอยู่หรือกรณีแวดล้อม ในเมื่อเป็นเช่นนี้การที่มโนธรรมตัดสินไม่ถูกนั้นจะให้เสรีภาพของคนนั้นลดน้อยลง เขาอาจจะทำผิดโดยไม่รู้ตัวว่าผิด ดังนั้น เขาไม่มีบาป เพราะบาปหมายถึงการกระทำผิดโดยรู้ตัว และกระทำอย่างเสรีภาพ
         จำเป็นอย่างยิ่งที่เราพยายามเข้าใจให้ถูกต้องถึงเสรีภาพ ซึ่งบางคนอาจจะคิดว่าเสรีภาพคือทำตามใจชอบ แต่ความจริงเสรีภาพมีหลักในความรู้และต้องช่วยเราทำสิ่งที่ถูกต้อง อันดับแรกก็ต้องรู้ว่าสัตว์เดรัจฉานไม่มีเสรีภาพ เพราะขาดความรู้และความรู้ตัว ยกตัวอย่างสมมุติว่ามีใครให้เลือกเครื่องดื่มจากแก้วหนึ่งในสองแก้ว และบอกว่านี่แหละในแก้ว 2 ใบนี้แก้วหนึ่งมียาพิษอีกแก้วหนึ่งไม่มี สามารถเลือกดื่มแก้วไหนก็ได้ ถ้าหากว่าดื่มจากแก้วที่มีพิษก็ตาย เพื่อที่จะเลือกอย่างเสรีจำเป็นต้องรู้ก่อนว่าเครื่องดื่มแก้วไหนมีพิษ ถ้าเลือกโดยไม่รู้ ไม่มีเสรีภาพ จะตายโดยบังเอิญ ดังนั้นยิ่งมีความรู้และรู้ตัว ยิ่งมีเสรีภาพ หากว่ารู้ภาษาไทยภาษาเดียวเลือกไม่ได้มากนัก ถ้าพูดต้องพูดภาษาไทยเท่านั้น หรือถ้าหากว่ารู้ภาษาอังกฤษด้วย ภาษาฝรั่งเศส หรือภาษาอื่นๆ จะเลือกพูดภาษาไหนก็ได้
         สมัยก่อน เมื่อต้องการที่จะเดินทาง มีแต่การเดินเรือหรือนั่งเกวียนหรือขี่ม้า ปัจจุบันนี้ความรู้และความเจริญทำให้มนุษย์มีจักรยาน จักรยานยนต์ รถไฟ รถยนต์ เครื่องบิน เหล่านี้เป็นต้น ดังนั้นเราเลือกได้ นับได้ว่ามีเสรีภาพมากกว่าเมื่อก่อน เสรีภาพต้องให้เลือกสิ่งที่ถูกที่ดีเสมอ ถ้าเราเลือกสิ่งที่ไม่ถูก นับว่าเราโง่ไม่ใช่มีเสรีภาพ ยกตัวอย่างเช่น หากว่ารู้หลายภาษา ภาษาอังกฤษ ภาษาฝั่งเศส ภาษาอิตาเลียนและภาษาไทยและกำลังพูดกับผู้ที่รู้เพียงแต่ภาษาไทยเพียงภาษาเดียว หากต้องการให้เขาเข้าใจ จำเป็นต้องพูดภาษาไทย ถ้าเลือกพูดภาษาอิตาเลียนกับเขาการพูดนั้นก็ไร้ประโยชน์ อาจจะคิดว่าบ้าไปแล้ว นี่แหละแสดงว่าเสรีภาพต้องให้เลือกทำในสิ่งที่ถูกต้อง แต่ถ้าสมมุติว่าพูดกับคนที่รู้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ในเมื่อเราทั้งสองรู้ทั้งสองภาษา เราจะเลือกพูดภาษาใดกันก็ได้ เป็นสิ่งที่ถูกต้องทั้งสองภาษา การเปรียบเทียบเหล่านี้จะเห็นได้ชัดว่าเสรีภาพไม่ใช่ทำสิ่งที่ชอบ แต่การทำสิ่งที่ถูกต้องนั้นต่างหากที่แสดงว่าเรามีเสรีภาพแท้และเลือกได้ตามที่ชอบ ในเมื่อเลือกสิ่งหนึ่งระหว่างสิ่งที่ถูกต้องทั้งสองเหมือนกัน ดังนั้นบาปไม่แสดงว่าเรามีเสรีภาพและแสดงว่าเราไม่มีนำใจแข็งแรงพอเพื่อจะทำในสิ่งที่ถูก
     บุญและบาป มนุษย์มีชีวิตเพื่อจะทำงานและได้ผลงาน หากว่ามนุษย์ไม่ทำอะไร ไม่ทำดี ไม่ทำชั่ว เรียกว่าเป็นคนดีไม่ได้ การที่ไม่ทำความดีที่ควรจะทำก็ถือว่าเป็นความผิด ดังนั้น บาปมี 2 อย่าง คือ
1.    ผิดเพราะทำสิ่งที่ชั่ว ทำสิ่งต้องห้าม
2.    ไม่ได้ทำสิ่งที่จำเป็นต้องทำ เพื่อจะไปสู่เป้าหมายของตน
เราอ่านพระวรสารตอนที่พระเยซูเจ้าทรงอธิบายการพิพากษามนุษย์ทั้งหลาย เราอ่านพบว่าพระเยซูเจ้าลงโทษคนที่ไม่ยอมทำกิจเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ ในการพิพากษานั้นบางคนอาจจะรู้สึกแปลกใจว่าไม่มีการลงโทษในการที่ที่เขาทำสิ่งที่ชั่วช้า แต่กลับลงโทษเพราะเขาไม่ได้ช่วยเพื่อนมนุษย์ในเมื่อช่วยได้และสมควรจะช่วย
     กฎของธรรมชาติซึ่งเป็นกฎที่พระเจ้าทรงตั้งไว้ บังคับมนุษย์ให้ทำกิจการที่ดี การเปรียบเทียบอาจทำให้เราเข้าใจได้ดี สมมุติว่าเราซื้อนาฬิกาเรือนหนึ่ง หากว่านาฬิกาเรือนนั้นเดินช้าหรือเร็วไม่ตรงเวลาก็ยังพอใช้ได้ แต่นาฬิกาที่ใช้ไม่ได้คือนาฬิกาที่หยุดนิ่งไม่เดินเลย ทั้งนี้เพราะนาฬิกาเป็นเครื่องที่สร้างไว้เพื่อทำประโยชน์อย่างหนึ่งคือนับเวลา ไม่ถูกบ้าง ช้าบ้าง หรือเร็วบ้างก็ยังพอใช้ได้ แต่หยุดแล้วใช้ไม่ได้เลย มนุษย์เราก็เช่นเดียวกัน มีชีวิตอยู่เพื่อทำความดีและความดีแรกที่ต้องทำคือ รู้จักพระและช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้รู้จักพระด้วย (ภายหลังก็จะอธิบายว่ามนุษย์ประกอบด้วยวิญญาณและร่างกาย เพื่อช่วยใครคนหนึ่งสามารถรู้จักรักพระ หลายครั้งจำเป็นต้องช่วยเขาในความต้องการเกี่ยวกับชีวิตประจำวันฝ่ายร่างกาย) กิจการดีที่มนุษย์ต้องทำเราเรียกว่า บุญ กิจการดีที่มนุษย์ต้องทำนั้นแต่ไม่ยอมทำ ทำให้มนุษย์มีบาปและกิจการชั่วก็เป็นบาปอีกชนิดหนึ่ง
     เพื่อจะรู้ว่ามนุษย์ควรทำอะไร เราต้องศึกษากฎของพระเจ้า ซึ่งพระเจ้าตั้งไว้ในธรรมชาติของมนุษย์ นอกนั้นเพื่อจะไม่ให้มนุษย์เราหลงผิด ในการเข้าใจกฎธรรมชาตินี้ พระเจ้าทรงให้มนุษย์รู้จักกฎหมายของพระองค์บางข้อ ซึ่งเป็นข้อสำคัญที่สุดในความประพฤติของมนุษย์จากพระวาจาของพระเจ้าซึ่งเคยเขียนไว้ในพระคัมภีร์ เรามีแต่หลักใหญ่ๆเท่านั้น มีหลายสิ่งหลายอย่างที่มนุษย์ต้องเข้าใจ และพระเจ้าไม่ได้ตรัสเปิดเผยสิ่งเหล่านี้ เพราะผู้ใดก็ตามที่มีน้ำใจซื่อตรงจะเข้าใจได้อย่างแน่นอน เราคริสตชนมีความช่วยเหลืออีกอย่างหนึ่งคือคำสอนและคำแนะนำของพระศาสนจักร ซึ่งพระเยซูเจ้าทรงสัญญาไว้ว่าจะช่วยไม่ให้พระศาสนจักรหลงผิดในคำสอน เพื่อจะช่วยมนุษย์ให้ไปสู่เป้าหมายแห่งชีวิต

ที่มา: หนังสือความสว่างที่แท้จริง ซึ่งนำไปสู่ความรอด เล่ม 3