แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

ศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งการรักษา :
ศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งการแสดงความสำนึกผิดและศีลเจิมคนไข้
    เราทุกคนเป็นคนบาป และเมื่อเราทำบาป ความเข้มแข็งของจิตเราก็ลดลง เรากลายเป็นผู้เหินห่างจากพระเจ้า จากคนอื่นๆ และแม้แต่ตัวตนที่แท้จริงของเรา  แต่บางทีเราไม่สบายกาย  ร่างกายของเราเจ็บป่วยด้วยเชื้อโรค, ความอ่อนแอตามวัย หรือการบาดเจ็บอย่างรุนแรง  พระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าของเราทรงมอบเครื่องหมายแห่งความรักของพระองค์ที่ทรงพลังไว้ให้เราถึง 2 อย่างเพื่อช่วยเหลือเราในยามทุกข์ยากเช่นนี้   พระองค์ทรงรับรู้ถึงความเจ็บป่วยทั้งด้านวิญญาณและร่างกายของเรา และพระองค์ทรงมาช่วยฟื้นฟูเราให้แข็งแรง   ทุกวันนี้พระคริสตเจ้ายังทรงทำงานด้านการรักษาของพระองค์ผ่านทางศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งการแสดงความสำนึกผิดและศีลเจิมคนไข้

อะไรคือรากฐานทางพระคัมภีร์ของศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งการแสดงความสำนึกผิด?
(CCC 1440-1445)
    พระเยซูเจ้าเสด็จมาเพื่อยกโทษบาปและรักษาความสัมพันธ์ที่บาดเจ็บอันเนื่องมาจากบาป พระองค์ทรงมอบอำนาจให้พระศาสนจักรเพื่อดำเนินงานศาสนบริการของพระองค์ด้านการรักษา, การให้อภัยและการคืนดีเมื่อพระองค์ทรงสั่งบรรดาอัครสาวกให้ยกโทษบาปในพระนามของพระองค์ ดังนี้
        “จงรับพระจิตเจ้าเถิด
        ท่านทั้งหลายอภัยบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นก็ได้รับการอภัย
        ท่านทั้งหลายไม่อภัยบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นก็ไม่ได้รับการอภัยด้วย”
                                    (ยน20:23)

ชื่อเรียกศีลศักดิ์สิทธิ์นี้ตามที่สืบทอดกันมามีอะไรบ้าง?
(CCC1422-1429; 1486)
    ศีลศักดิ์สิทธิ์นี้ตามปกติเป็นที่รู้จักในนามของศีลอภัยบาปหรือศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งการคืนดี ชื่อเรียกอย่างธรรมดาทีเดียวก็คือ ศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งการสารภาพบาป(Confession) เพราะเหตุว่าเราต้องสารภาพบาปของเราในการรับศีลศักดิ์สิทธิ์นี้  เราเรียกว่า ศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งการการแสดงความสำนึกผิด(Penance) (เป็นคำหนึ่งที่หมายถึง “การกลับใจ”(Conversion) เพราะมันเป็นสิ่งช่วยเหลืออย่างหนึ่งในกระบวนการแสดงความเสียใจต่อสิ่งที่กระทำผิด ซึ่งเริ่มจากการรู้สึกเสียใจที่ได้ทำบาป,และเข้าสู่การยอมรับผิดสำหรับความบาปนั้นอย่างเห็นได้, การกระทำที่เป็นการปรับปรุงความประพฤติ, และการตั้งใจว่าจะไม่ทำบาปอีก  ศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งการคืนดี (Reconciliation)หมายถึง “การหันกลับมาหากัน” คำเรียกนี้เน้นถึงความจำเป็นของเราที่จะต้องแก้ไขความสัมพันธ์ระหว่างเรากับพระเจ้าและกับบุคคลอื่นที่ได้รับความเสียหายเพราะบาปของเรา  ศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งการสารภาพบาป (Confession) รับผิดชอบความมุ่งหมาย 2 ส่วนในการฉลองการให้อภัยบาปของเรา นั่นคือเราสารภาพ(ยอมรับ)ความบาปของเรา และสารภาพ(กล่าวว่าเราเชื่อใน) พลังการรักษาจากพระเมตตาของพระเจ้า
องค์ประกอบสำคัญของศีลอภัยบาปคืออะไร?
(CCC 1450-1460)
    ศีลอภัยบาปเกี่ยวข้องกับการกระทำ 3 อย่างของผู้ที่สำนึกผิด ได้แก่ ความสำนึกผิด(contrition), การสารภาพบาป(confession), และการใช้โทษบาป(penance) รวมกับคำกล่าวอภัยบาปที่พระสงฆ์ประกาศ   ขั้นตอนแรกที่สำคัญมากซึ่งต้องปฏิบัติก่อนเข้าไปรับศีลอภัยบาปคือ การพิจารณาความบาปอย่างดีด้วยมโนธรรมโดยอาศัยพระจิตเจ้าช่วยเปิดเผยความบาปต่างๆในชีวิตของเรา  การทำความเข้าใจข้อความในพระคัมภีร์เช่น บทเทศน์บนภูเขา หรือพระบัญญัติ 10 ประการเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการพิจารณาความบาป
ความสำนึกผิดคืออะไร?
(CCC 1451-1454)
    ความสำนึกผิด คือ “ความเสียใจอย่างจริงใจและเกลียดชังบาปที่ได้กระทำ พร้อมทั้งตั้งใจว่าจะไม่ทำบาปอีก” (กฤษฎีกาเรื่อง การใช้โทษบาป ข้อ 6)  ความสำนึกผิดเป็นหัวใจของการกลับใจ ซึ่งนำเรากลับไปหาพระเจ้าผู้ทรงเป็นบิดาที่รักและให้อภัยเรา  ความสำนึกผิดทำให้เราสามารถรับศีลศักดิ์สิทธิ์นี้ด้วยความยินดีและความหวังว่าจะเป็นบุตรของพระเจ้า
ทำไมต้องสารภาพบาป?
(CCC 1455-1458)
    การสารภาพบาปเป็นสัญลักษณ์ภายนอกอย่างหนึ่งที่แสดงถึงความเสียใจที่อยู่ภายใน  โดยการสารภาพบาป  เราจะพบชุมชนคริสตชนในตัวของพระสงฆ์และเผชิญหน้ากับสภาพที่เป็นบาปของตัวเราเองในสายพระเนตรของพระเจ้า  การสารภาพบาปบังคับให้ต้องเปิดเผยบาปด้วยซึ่งก็เป็นการเน้นถึงลักษณะแท้จริงของการสารภาพบาปที่ต้องเกี่ยวข้องกับสังคม  เราควรสารภาพบาปของเราโดยจดจำพระเมตตาที่เปี่ยมด้วยความรักของพระเป็นเจ้าไว้ในใจ
    พระศาสนจักรเรียกร้องให้เราสารภาพบาปหนักโดยต้องบอกจำนวนครั้งและชนิดของบาปที่ได้กระทำ อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง  ศีลอภัยบาปเป็นวิธีการที่เรียบง่ายวิธีเดียวสำหรับคริสตชนคาทอลิกที่สำนึกถึงบาปหนักจะได้กลับคืนดีกับพระเจ้าและพระศาสนจักร  ในศีลศักดิ์สิทธิ์ประการนี้ พระคริสตเจ้าบอกกับทุกคนเป็นรายบุคคลว่า “เราให้อภัยท่าน จงไปในสันติสุขเถิด”
    พระศาสนจักรไม่ได้บังคับเกี่ยวกับการสารภาพบาปเบา แต่เราก็ควรรับศีลอภัยบาปสำหรับบาปเบาด้วย เพราะการสารภาพบาปในศีลศักดิ์สิทธิ์ช่วยให้เราสามารถพินิจพิเคราะห์เรื่องบาปของตนได้ดีขึ้น, ทำให้เราเข้ากันได้กับพระคริสตเจ้าและใกล้ชิดกับพระจิตเจ้าผู้ทรงเรียกเรามาสู่ความศักดิ์สิทธิ์ และการขอความช่วยเหลือจากศีลศักดิ์สิทธิ์นี้บ่อยๆ จะช่วยขจัดบาปให้หมดไปจากชีวิตของเราได้ โดยการรับฟังคำแนะนำจากพระสงฆ์ที่เราไปสารภาพบาป
คุณค่าของการกระทำเพื่อใช้โทษบาปคืออะไร?
(CCC 1468-1570)
    ถ้าเรามีการกลับใจอย่างแท้จริง  เราจะต้องการชดเชยสำหรับบาปของเรา, ปรับปรุงการดำเนินชีวิตของเรา และแก้ไขความเสียหายต่างๆที่เกิดขึ้นจากเรา  พระสงฆ์จะกำหนดการใช้โทษบาปเพื่อช่วยเราแก้ไขความเสียหายที่เกิดขึ้นหรือเป็นการแก้ไขด้านวิญญาณในส่วนที่เป็นบาปของเรา  เราควรยอมรับและกระทำการใช้โทษบาปเหล่านี้ด้วยความยินดี ตัวอย่างเช่น การภาวนา, การทำกิจการที่ดี, หรือการหาวิธีสานความสัมพันธ์ที่เสียไปให้กลับดีโดยเร็ว เป็นต้น
การอภัยบาปคืออะไร?
(CCC 1449)
    พระสงฆ์ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของพระคริสตเจ้า และประกาศถ้อยคำที่เป็นการอภัยบาปในนามของพระศาสนจักร  เมื่อพระสงฆ์ปกมือเหนือศีรษะของผู้สารภาพบาปและกล่าวข้อความว่า “ข้าพเจ้าอภัยบาปท่านในนามของพระบิดา, และพระบุตรและพระจิต”  นั่นคือองค์พระคริสตเจ้าเองกำลังประทานเครื่องหมายซึ่งเราผู้เป็นมนุษย์ต้องการเพื่อจะได้รู้ว่าเราได้รับการอภัยแล้ว
มโนธรรมแบบคริสตชนเป็นอย่างไร?
(CCC 1776-1782; 1795-1797)
    มโนธรรมเป็นการพิจารณาที่ขึ้นอยู่กับความเป็นจริงที่เกี่ยวกับการกระทำของมนุษย์ ว่าจะถูกต้องเหมาะสมหรือไม่กับกฎของพระเจ้าที่ถูกจารึกไว้ในหัวใจ” (The Splendor of Truth, ข้อ 59)เป็นวิจารณญาณที่ช่วยให้เรารู้ว่าอะไรที่เราต้องทำหรือไม่ควรทำ เช่น รักและทำสิ่งที่ดี ยิ่งไปกว่านั้นคือหลีกหนีบาป  การพิจารณาด้วยมโนธรรมยังประเมินการกระทำที่ได้ทำไปแล้วด้วย  หลักการสำคัญ 2 ประการ ที่ต้องจำไว้เมื่อเกี่ยวข้องกับการตัดสินความถูกผิดคือ ประการแรกเราต้องสร้างมโนธรรมของเราอย่างถูกต้อง  ประการที่สองเราต้องปฏิบัติตามมโนธรรมของเรา
เราสร้างมโนธรรมของเราให้ถูกต้องได้อย่างไร?
(CCC 1783-1789; 1798; 1802)
    หน้าที่ที่จะต้องเชื่อฟังมโนธรรมของคนคนหนึ่ง เน้นย้ำความจำเป็นที่ต้องสร้างมันอย่างถูกต้อง  เราทุกคนทำผิดและบางครั้งเราก็ตั้งใจที่จะไม่เลือกสิ่งที่ดี  ความเขลาซึ่งก็คือการไม่รู้จักสิ่งดีที่ควรทำและสิ่งไม่ดีที่ควรหลีกเลี่ยงอาจเป็นสาเหตุทำให้เราสร้างวิจารณญาณที่ผิด  อารมณ์ต่างๆ สามารถทำให้มโนธรรมมืดมัว(มีปัญหา) เพราะมันจะยั่วยวนให้เราทำสิ่งต่างๆตามอารมณ์ที่เราชอบ  และถ้าสิ่งที่เราคิดจะทำสอดคล้องกับสิ่งที่คนอื่นกำลังทำก็อาจทำให้การตัดสินใจของเราสับสนได้  การระมัดระวังในการพัฒนามโนธรรมให้เข้มแข็งจำเป็นต้องดำเนินชีวิตตามศีลธรรม
ขั้นตอนต่างๆ ในการสร้างมโนธรรมที่ดี
1.    ค้นหาความจริง   เรื่องราวเป็นอย่างไรมีใครบ้างที่เกี่ยวข้อง ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร
2.    ตรวจสอบแรงจูงใจของคุณ   ทำไมคุณถึงต้องการทำสิ่งนั้น
3.    คิดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น   สิ่งที่ทำ(หรือไม่ได้ทำ)จะมีผลกระทบอย่างไรกับคุณ, คนอื่นๆ,  หรือสังคมโดยส่วนรวม  แล้วถ้าทุกคนทำสิ่งนี้จะมีผลอย่างไร
4.    พิจารณาทางเลือก   เลือกทำแบบอื่นได้หรือไม่
5.    กฎหมายมีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไร   พิจารณาทั้งกฎหมายพระศาสนจักรและกฎหมายบ้านเมือง  กฎหมายไม่คัดค้านมโนธรรม และในความเป็นจริงกฎหมายช่วยสร้างมโนธรรมได้อย่างดีเยี่ยม  วิธีหนึ่งที่จะเข้าใจกฎหมายก็คือ การฟังผลลัพธ์ที่ได้จากการทำความเข้าใจเรื่องความถูกผิด หรือความเห็นในเรื่องความถูกผิดของคนกลุ่มหนึ่ง(มโนธรรมของกลุ่ม)
6.    มีเหตุผลอะไรในการทำ   เพราะเราเป็นคนที่มีสติปัญญา เราต้องใช้มันในการตัดสินใจทำสิ่งที่ถูกต้อง ถามตัวคุณเองว่ามีเหตุผลอะไรในการตัดสินใจทำ
7.    จากประสบการณ์ของคุณและของคนอื่นๆ มีความคิดเห็นอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้
8.    พระเยซูเจ้าจะทำอย่างไรในเรื่องนี้   สิ่งที่กระทำนี้เป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับมาตรฐานความรักของพระเยซูเจ้า  พระคัมภีร์พันธสัญญาใหม่มีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไร  พระเยซูเจ้าทรงเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบที่สุดในเรื่องการเชื่อฟังพระเจ้า  จงค้นหาความปรารถนาของพระองค์และแบบอย่างของพระองค์ก่อนการตัดสินใจในเรื่องใด
9.    อะไรคือคำสอนพระศาสนจักร   คาทอลิกที่จริงใจจะคิดว่าการขอคำปรึกษาและการติดตามคำสอนที่เชื่อถือได้ในเรื่องศีลธรรมเป็นความรับผิดชอบสำคัญเช่นเดียวกับการเรียนจากนักเทววิทยาผู้เชี่ยวชาญและคุณครูอื่นๆในพระศาสนจักร  มีข้อคำสอนด้านศีลธรรมที่เป็นประโยชน์มากมาย นอกเหนือจากที่ปรากฏชัดเจนในข้อกำหนดทางกฎหมายของพระศาสนจักร ซึ่งสามารถช่วยคุณให้เข้าใจเรื่องราวของมโนธรรมได้ง่ายขึ้น
10.    ภาวนาเพื่อขอคำแนะนำ   พระเจ้าจะทรงช่วยคุณถ้าคุณขอร้อง
11.    ยอมรับว่าในบางครั้งคุณก็ทำบาปและอาจเป็นผู้ผิด
12.    ปฏิบัติตามมโนธรรมของคุณ   มันมักจะเป็นความผิดเสมอ เมื่อกระทำในลักษณะที่ขัดแย้งกับมโนธรรมซึ่งได้ถูกสร้างมาอย่างดี
บาปคืออะไร?
(CCC 1846-1853; 1870-1873)
    บาป คือ ความล้มเหลวในการรักตัวเอง ผู้อื่นและพระเจ้า  มันเป็นการทำลายความรักตามพันธสัญญา  หากไม่มีความคิดที่มีเหตุผลเรื่องบาปแล้ว มนุษย์ก็ดูเหมือนมีความจำเป็นน้อยมากที่จะต้องมีพระเยซูเจ้าผู้ไถ่เราจากบาป  เราพูดถึงบาปเพื่อเน้นถึงความเชื่อมั่นของเราว่า พระเจ้าทรงให้อภัยบาปเราและพระเยซูเจ้าเองได้ทรงช่วยเราให้พ้นจากผลของมัน
บาปกำเนิดคืออะไร?
(CCC 190; 197; 416-417)
    บาปกำเนิด หมายถึง สภาพการแตกแยกที่มนุษย์ทุกคนได้รับมาตั้งแต่เกิด  ประสบการณ์ของมนุษย์โดยทั่วไปดูเหมือนจะยืนยันคำสอนคาทอลิกว่าเราเกิดมาในสภาพที่มีบาป  นั่นคือการอยู่ในสภาพที่อ่อนแอ และถ้าถูกปล่อยไว้โดยไม่มีการรักษา ก็จะนำไปสู่บาปส่วนตัวได้  ศีลล้างบาปแก้ไขสถานการณ์นี้โดยรวมเราเข้ากับพระคริสตเจ้าและกับพระศาสนจักรของพระองค์ เพื่อเราจะได้คืนดีกับพระเจ้า
บาปส่วนตัวคืออะไร?
(CCC 1854)
    บาปส่วนตัวหรือบาปแท้ คือ การกระทำ, คำพูด, ความคิด, หรือความต้องการใดๆที่เกิดขึ้นโดยเสรีและรู้ตัว ซึ่งเป็นเหตุให้เราห่างจากบัญญัติแห่งความรักของพระเจ้า  มันอาจถูกมองเป็นการทำให้ความสัมพันธ์ที่เป็นความรักของเรากับพระบิดาอ่อนแอลงและถูกตัดขาด  บาปทำลายภาระหน้าที่จากศีลล้างบาปของเราที่ต้องทำให้แผ่นดินของพระเจ้าเกิดขึ้นในโลกนี้ เพราะเป็นข้อผูกพันที่เรามีต่อพระเจ้าและต่อคนอื่น
บาปเบาคืออะไร?
(CCC 1862-1866;1865-1876)
    ตามความเชื่อที่สืบต่อกันมา บาปเบา หมายถึงการกระทำและทัศนคติใดๆ ที่ไม่ได้ช่วยเราให้มีความสัมพันธ์ในความรักของเรากับพระเจ้ามากขึ้น แต่อาจทำให้ความสัมพันธ์นั้นอ่อนแอลง  จุดหมายของเราคือการได้อยู่ร่วมกับพระเจ้าอย่างสมบูรณ์  โดยที่ทิศทางของเราควรเป็นแบบมีความใกล้ชิดกับพระเจ้ามากขึ้นในทุกๆ วัน  บาปเบาเกี่ยวพันกับเรื่องราวที่มีความร้ายแรงน้อยกว่าบาปหนัก  หรือเกิดขึ้นเมื่อบุคคลไม่ไตร่ตรองอย่างรอบคอบหรือยินยอมในสิ่งที่เขาหรือเธอกำลังทำอยู่  บาปทุกชนิดมีผลทางสังคมตามมาคือ มักจะมีผู้คนได้รับผลกระทบจากสิ่งที่เราทำอยู่เสมอ

บาปหนักคืออะไร?
(CCC 1855-1861; 1874)
    บาปหนัก คือการเก็บเอาทัศนคติที่ไม่ดีหรือการกระทำบางอย่างที่ร้ายแรง ซึ่งทำลายความสัมพันธ์แห่งความรักระหว่างพระเจ้ากับผู้กระทำบาปไว้กับตัว  ในบาปหนัก คนคนหนึ่งปฏิเสธพระเจ้า, พระบัญญัติของพระเจ้า และพันธสัญญาแห่งความรักที่พระเจ้าทรงมอบให้โดยเสรีและรู้ตัว  แต่รักตนเองหรือความเป็นจริงบางอย่างที่ถูกสร้างขึ้นอย่างขัดแย้งกับพระประสงค์ของพระเจ้า
    การกระทำของบุคคลหนึ่งจะได้ชื่อว่าบาปหนัก เพราะมีปัจจัยครบ 3 ประการคือ  ประการแรกการกระทำหรือทัศนคติต้องเกี่ยวข้องกับความรุนแรง เช่น การฆาตกรรม การละทิ้งศาสนา หรือการมีชู้   ประการที่สองบุคคลต้องรู้ตัวดีว่าสิ่งที่เขาหรือเธอทำนั้นเป็นบาป   เราจะไม่มีความผิดในขั้นบาปหนักสำหรับการทำบางอย่างที่เราไม่รู้ว่ามันผิด   ประการที่สามสำหรับบาปหนักคือ บุคคลหนึ่งมีเจตนายอมรับความชั่วร้ายนั้น  จิตวิทยาสมัยใหม่บอกเราว่า มีอำนาจและแรงผลักดันอยู่มากมายที่จะจำกัดเสรีภาพของเรา  อย่างไรก็ตาม มนุษย์ก็ยังมีเสรีภาพอยู่บ้างและสามารถกระทำความผิดที่ร้ายแรงและโดยเจตนา  หน้าที่ของเราคือหลีกเลี่ยงสถานการณ์เหล่านั้น ซึ่งอาจจะจำกัดเสรีภาพของเราและกั้นเราไม่ให้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง
อะไรคือบทบาทของการคืนดี?
(CCC 1468-1470; 1496)
    ตั้งแต่โบราณเราเรียกผู้ที่หันหลังให้กับความรักของพระเจ้าและตัดขาดความสัมพันธ์กับพระองค์ว่า “ผู้อยู่ในบาปหนัก”  ผู้ที่ทำบาปต้องสำนึกผิดเพื่อแก้ไขสถานการณ์ โดยการกลับมาหาพระเจ้า, ยอมรับความบกพร่องของเขาหรือเธอ, และยอมรับว่าจำเป็นต้องได้รับการอภัย
    คาทอลิกฉลองศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งการคืนดี โดยถือว่าศีลศักดิ์สิทธิ์นี้ได้ให้ความรักของพระเจ้าที่ให้อภัยโทษและรักษาเรา   จุดประสงค์ของนิทานเปรียบเทียบของพระเยซูเจ้าเรื่อง ลูกล้างผลาญ (ลก 15:11-31) แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าเราจะทำอะไรหรือเราทำบ่อยแค่ไหน   ความรักของพระเจ้าสำหรับเรามีอยู่ในศีลศักดิ์สิทธิ์นี้เสมอ ขอเพียงเราสำนึกผิด นั่นคือหันกลับมาหาพระเจ้าและยอมรับความรักของพระองค์  สิ่งที่เป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดในหลักศีลธรรมของคริสตชนก็คือ ตอบรับต่อความรักของพระเจ้า, ให้ความรักนั้นฉายแสงอยู่เหนือเราและดำเนินชีวิตเป็นดั่งแสงที่ส่องไปยังผู้อื่น
อะไรคือรากฐานทางพระคัมภีร์ของศีลเจิมคนไข้?
(CCC 1499-1510; 1526)
    พระเยซูคริสต์ทรงเป็นผู้รักษา พระองค์ทอดพระเนตรผู้เจ็บป่วยท่ามกลางหมู่กลุ่มของพระองค์ และช่วยเหลือเขาอย่างครบถ้วนทั้งร่างกายและจิตใจ  การรักษาเป็นเครื่องหมายสำคัญอย่างหนึ่งของการเริ่มต้นอาณาจักรพระเจ้า  งานบริการด้านการรักษาของพระเยซูเจ้าควรได้รับการพิจารณาเพื่อจะได้เข้าใจเรื่องการให้อภัยบาปของพระองค์ รวมถึงการประกาศของพระองค์เกี่ยวกับพระอาณาจักรของพระเจ้าและความจำเป็นที่จะต้องกลับใจ
    พระเยซูเจ้าทรงสั่งให้บรรดาอัครสาวกส่งข่าวสารของพระองค์และปฏิบัติพันธกิจของพระองค์ต่อไป ดังนั้น พระศาสนจักรในยุคแรกจึงฉลองและประกาศข่าวดีเรื่องการช่วยให้รอดพ้นโดยดำเนินงานบริการด้านการรักษาของพระเยซูเจ้าต่อมา  จดหมายของนักบุญยากอบให้รากฐานทางพระคัมภีร์สำหรับศีลเจิมคนไข้ ซึ่งเป็นเครื่องหมายแสดงความรัก ดังนี้
ท่านใดเจ็บป่วย จงเชิญบรรดาผู้อาวุโสของพระศาสนจักรให้มาอธิษฐานภาวนาเพื่อผู้ป่วย เจิมน้ำมันผู้นั้นในพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้า คำอธิษฐานภาวนาด้วยความเชื่อจะช่วยผู้ป่วยให้รอดชีวิต องค์พระผู้เป็นเจ้าจะทรงโปรดให้ผู้ป่วยลุกขึ้น และถ้าเขาเคยกระทำบาป เขาก็จะได้รับการอภัย ดังนั้นจงสารภาพบาปแก่กัน และจงอธิษฐานให้กันเพื่อท่านจะหายจากโรค
                                        ยก5:14-16
การประกอบพิธีศีลเจิมคนไข้ทำอย่างไร?
(CCC 1517-1519)
    ปัจจุบันพิธีศีลเจิมคนไข้ไม่ได้มีขึ้นสำหรับคนที่กำลังจะตายเท่านั้น แต่สำหรับผู้ที่กำลังเจ็บป่วยด้วย  ในการประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์นี้ได้มีความพยายามให้ชุมชนคริสตชนช่วยภาวนาอย่างจริงจังด้วย (อาทิเช่น ครอบครัว เพื่อนฝูง และชุมชนวัดของผู้ป่วย) ยังแนะนำให้มีการปกมือ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ทางพระคัมภีร์ที่หมายถึงการสัมผัสของพระเยซูเจ้า และการประทานความเข้มแข็ง, ความรักและการให้อภัยของพระจิตเจ้า
    พิธีการเน้นย้ำความจำเป็นที่ผู้ป่วยต้องเอาชนะความอ้างว้าง อันเนื่องมาจากความเจ็บไข้และความทุกข์ทรมาน  พิธีการในปัจจุบันยังกระตุ้นให้ตัวผู้ป่วยเองมีบทบาทมากขึ้น โดยการขอศีลศักดิ์สิทธิ์ด้วยตัวเอง ไม่ต้องให้ผู้อื่นขอให้  ในความหมายนี้ ศีลเจิมคนไข้จึงมีความเกี่ยวข้องกับกระแสเรียกของคริสตชนให้เป็นพยานยืนยันถึงพระเจ้า นั่นคือคนไข้บอกกับคริสตชนในชุมชนว่าเขาหรือเธอยังต้องไว้ใจในความรักและความช่วยเหลือจากพระเจ้า
อะไรคือผลของศีลเจิมคนไข้?
(CCC 1520-1523; 1527; 1532)
    ความเจ็บปวดและความทุกข์ยากอาจทำให้เราเดือดร้อนและทำให้ความเชื่อในพระเจ้าผู้ทรงรักและห่วงใยอ่อนแอลง  พระเจ้าทรงทำให้เรามั่นใจในการดูแลและความเอาใจใส่ของพระองค์ ด้วยการใช้ศีลศักดิ์สิทธิ์นี้ท่ามกลางชุมชนคริสตชน  พระองค์ทรงหยิบยื่นการอภัยโทษของพระองค์และทำให้ผู้ป่วยเข้มแข็งขึ้นด้วยการรักษาวิญญาณ และบางครั้งก็เป็นการรักษาร่างกาย และโดยศีลศักดิ์สิทธิ์นี้ พระเยซูเจ้าทรงเชื้อเชิญเราให้รวมความเจ็บป่วยซึ่งอาจถึงความตายไว้กับธรรมล้ำลึกแห่งความทรมาน, ความตาย และการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ ซึ่งก็คือธรรมล้ำลึกปัสกาที่ได้รับชัยชนะเพื่อเป็นความรอดพ้นตลอดนิรันดรสำหรับเรา  ศีลศักดิ์สิทธิ์นี้เตือนชุมชนด้วยว่า พวกเขาต้องคอยสนับสนุนและสนใจบรรดาพี่น้องชายหญิงในทุกเวลาที่มีความจำเป็น
ศีลเจิมคนไข้มีขั้นตอนการปฏิบัติอย่างไร?
(CCC 1513; 1517-1519; 1524-1525)
    โดยแบบแผนทั่วไป การประกอบพิธีศีลเจิมคนไข้ถูกจัดขึ้นเพื่อบุคคลคนหนึ่ง ในช่วงที่ป่วยหนักหรือก่อนเข้ารับการผ่าตัดที่เสี่ยงอันตรายมาก  ถ้าเป็นไปได้ ครอบครัวและญาติมิตรควรจะอยู่ด้วย และยังมีแนวโน้มที่จะประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์นี้ภายในพิธีมิสซา
    พิธีศีลเจิมคนไข้เริ่มด้วยการกล่าวทักทาย, การพรมน้ำเสก, พิธีการสารภาพความผิด และวจนพิธีกรรมภาคบทอ่านจากพระคัมภีร์ ซึ่งเป็นการระลึกถึงอำนาจการรักษาขององค์พระผู้เป็นเจ้า ทุกคนที่อยู่ ณ ที่นั้นร่วมกันสวดบทเร้าวิงวอนเพื่อผู้ป่วย หลังจากที่พระสงฆ์วางมือบนผู้ป่วยที่จะรับการเจิม  ท่านจะเสกน้ำมันแล้วเจิมที่หน้าผากและที่มือทั้งสองข้างของผู้ป่วย พระสงฆ์กล่าวว่า :
โดยอาศัยการเจิมอันศักดิ์สิทธิ์นี้ ขอองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้เปี่ยมด้วยความรักและความกรุณา ทรงช่วยท่านด้วยพระหรรษทานของพระจิต อาเมน  ขอองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงปล่อยท่านให้เป็นอิสระจากบาป ทรงช่วยให้ปลอดภัยและเข้มแข็งขึ้น อาเมน
    หลังจากนั้นต่อด้วยบทภาวนาหลังการเจิม และบทข้าแต่พระบิดา การมอบศีลมหาสนิท แล้วจบพิธีด้วยการอวยพรสุดท้าย